วันนี้วันพระ วันอาทิตย์ที่ ๒๙ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๖ ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๓

บททดสอบ
ศักยภาพของมนุษย์ สะท้อนให้เห็น

ค่าแห่งคำอธิษฐาน

การตั้งความปรารถนาอย่างแน่วแน่
ที่จะทำเรื่องใดเรื่องหนึ่งให้บรรลุเป้าหมาย
เป็นเรื่องของใจที่มุ่งมั่นจะทำเรื่องที่กำหนดไว้ให้สำเร็จ
จะสำเร็จได้หรือไม่นั้น อยู่ที่การลงมือทำด้วยตนเอง.

วิบากกรรม และการสร้างบารมี

จากชาดกชีวิตของ “สุเมธดาบส”  ทำให้น่าคิดว่า เหตุใด การอธิษฐานจึงทรงพลัง แต่ทำไมจึงยาวนานถึงเพียงนั้นจึงจะบรรลุผล  
              นี่เองเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ที่พระพุทธเจ้าหลังการตรัสรู้  ทรงอธิบายเรื่อง “กฎแห่งกรรม” และวิบากกรรม ไว้อย่างชัดเจน  และสิ่งนี้เองที่ทำให้การอธิษฐานทรงพลังไม่เปลี่ยนแปลงและต้องใช้เวลากว่าจะบรรลุผลตามเหตุปัจจัยของกรรม วิบาก ผนวกกับการสร้างบารมีไปอีกหลายภพชาติ
              การอธิษฐานจึงมีความสำคัญตรงนี้  คือ ต้องมุ่งมั่นและกระทำจริง ไม่ย่อท้อ ขณะเดียวกันก็ต้องรักษาศีล ทำบุญกุศล เจริญสติ สมาธิ จนกว่าจะเกิดวิปัสสนาปัญญา คือ เห็นทุกอย่างตามความเป็นจริงด้วยปัญญาที่ปรากฏในจิต  การบำเพ็ญเพียรอย่างไม่ลดละเป็นการสร้างบารมี  คือกำลังใจให้กับตนเองไปเรื่อย ๆ ให้มั่นคง 
              การอธิษฐานจึงเป็นจุดเชื่อมโยงระหว่างเรากับสิ่งปรารถนาให้มาบรรจบกันด้วยการปฏิบัติตัวของเราเอง โดยมีบารมี หรือ กำลังใจจากผู้ที่เราศรัทธาจะเป็นแบบอย่าง หรือไอดอล เป็นแรงเสริมหนุนนำ  ดังสุเมธดาบสที่มีพระทีปังกรพุทธเจ้า เป็นต้นแบบ พร้อมที่จะทำทุกอย่างเพื่อที่จะเป็นอย่างพระองค์ท่านในอนาคต  แม้ว่าจะใช้เวลายาวนานเพียงใดก็ตาม  หากคำอธิษฐานอันทรงพลังยังอยู่ และข้ามภพชาติไปกับท่านด้วย
              พลังอันยิ่งใหญ่นี้  มีกำลังใจจากสิ่งที่เราศรัทธาเป็นตัวช่วยให้เราฮึกเหิม กล้าหาญ ไม่กลัว ไม่ท้อ ที่จะก้าวต่อไปจนกว่าจะบรรลุสิ่งที่เราปรารถนา  การอธิษฐานจึงมีความสำคัญมาก ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยที่เราจะมองข้าม
              หากเรามีความมุ่งหวังที่จะทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้สำเร็จ เช่นเดียวกับสุเมธดาบส หรือ ใครสักคนที่เป็นต้นแบบของเราอยู่  หลังการอธิษฐาน  การเรียนรู้ชีวิตของผู้ที่เราศรัทธาก็จะตามมา พร้อมด้วยความพากเพียงอย่างเต็มกำลังในวิถีของเราเอง  เมื่อได้รับผลเป็นที่น่าพอใจทีละเล็กทีละน้อย เราก็จะมีกำลังใจที่จะฝ่าฟันอุปสรรคทั้งปวงเพื่อไปถึงเป้าหมายให้ได้  แม้จะต้องเกิด-ตาย อีกหลายร้อยหลายพันหลายหมื่นชาติก็ตาม
              มาทำความเข้าใจกับความหมายของคำว่า “อธิษฐาน” กันให้ชัดเจนก่อนจะไปต่อ
              “อธิษฐาน”  ในภาษาบาลีเขียนว่า “อธิฏฺฐาน” (อะ-ทิด-ถา-นะ) มาจาก อธิ + ฐาน ซ้อน ฏ = อธิฏฺฐาน  แปลตามศัพท์ว่า ความตั้งใจแน่วแน่, การตัดสินใจ และ/หรือ ความตกลงใจ
              “อธิฏฺฐาน – อธิษฐาน” ตามความหมายเดิมคือ ความตั้งใจมั่น, การตัดสินใจเด็ดเดี่ยว, ความตั้งใจมั่นแน่วที่จะทำการให้สำเร็จบรรลุจุดหมาย, ความตั้งใจหนักแน่นเด็ดเดี่ยวว่าจะทำการนั้นๆ ให้สำเร็จ และมั่นคงแน่วแน่ในทางดำเนินจนกว่าจะบรรลุจุดมุ่งหมายของตน 
              นอกจากนี้ “อธิษฐาน” ยังเป็นบารมีอย่างหนึ่ง เรียกว่า อธิษฐานบารมี (อะ-ทิด-ถา-นะ-บา-ระ-มี) ซึ่งเป็นหนึ่งในทศบารมีที่พระโพธิสัตว์บำเพ็ญเพียรก่อนที่จะตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณในชาติที่ ๑๑ เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า


              ใน “ความนำ จากทศชาติ สู่ ทศบารมี” จากหนังสือ “ทศชาติ ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง” ฉบับ ญาณวชิระ อธิบาย “อธิษฐานบารมี” ไว้ตอนหนึ่งว่า 
              “ อธิษฐานบารมี  คือการบำเพ็ญบารมีด้วยความตั้งใจมั่น การตัดสินใจเด็ดเดี่ยว  วางจุดหมายแห่งการกระทำของตนไว้แน่นอน  แล้วดำเนินไปตามสิ่งที่ตั้งใจไว้  การอธิษฐานที่จะเป็นเหตุให้ได้บรรลุผลที่พึงประสงค์นั้น ต้องมีวิริยะ คือ ความเพียรพยายามอยู่ร่ำไป ไม่ท้อถอย มีขันติ คือ ความอดทน มีสัจจะ คือ ความจริงใจ และรักษาความตั้งใจ ไว้อย่างมุ่งมั่น ไม่หวั่นไหว 
              “ลักษณะอธิษฐานธรรม ต้องประกอบด้วยปัญญา สิ่งนั้น ต้องเป็นจริง และมีความจริงใจ ซื่อตรง ต่อสิ่งที่อธิษฐาน  สิ่งที่ต้องอธิษฐานไว้ เป็นเป้าหมายสูงสุด คือ อธิษฐานให้สามารถพ้นทุกข์ได้  
              “เมื่อพระพุทธเจ้า ยังไม่ได้ตรัสรู้ ยังเป็นพระโพธิสัตว์ ทรงบำเพ็ญอธิษฐานบารมีอย่างแรงกล้า ตามลำดับ ดังนี้
              (๑) อธิษฐานบารมี อธิษฐานใจ ตั้งมั่นไว้ เพื่อให้ได้พระโพธิญาณ รักษาคำอธิษฐานเพื่อพระโพธิญาณ ยิ่งกว่ารักษาทรัพย์สมบัติ เมื่อต้องบำเพ็ญอธิษฐานบารมี เพื่อพระโพธิญาณแล้ว   แม้จะต้องเสียสละทรัพย์สมบัติไป ก็ไม่ยอมละทิ้งปณิธานที่ตั้งมั่นอธิษฐานไว้ 
              (๒) อธิษฐานอุปบารมี อธิษฐานใจ ตั้งมั่นไว้ เพื่อให้ได้พระโพธิญาณ รักษาคำอธิษฐานเพื่อพระโพธิญาณ  ยิ่งกว่ารักษาอวัยวะ ร่างกาย เมื่อต้องบำเพ็ญอธิษฐานอุปบารมี เพื่อพระโพธิญาณแล้ว แม้จะต้องเสียสละอวัยวะ ร่างกายไป ก็ไม่ยอมละทิ้งปณิธานที่ตั้งมั่นอธิษฐานไว้ 

              (๓) อธิษฐานปรมัตถบารมี การอธิษฐานใจ ตั้งมั่นไว้ เพื่อให้ได้พระโพธิญาณ รักษาคำอธิษฐาน เพื่อพระโพธิญาณ ยิ่งกว่ารักษาชีวิต เมื่อต้องบำเพ็ญอธิษฐานปรมัตถบารมี เพื่อพระโพธิญาณแล้ว   แม้จะต้องสละชีวิตไป ก็ไม่ยอมละทิ้งปณิธานที่ตั้งมั่นอธิษฐานไว้ 
              ดังที่ปรากฏใน “เนมิราชชาดก” ซึ่งพระโพธิสัตว์บำเพ็ญอธิษฐานบารมี  พระโพธิสัตว์ เสวยพระชาติเป็นพระเจ้าเนมิราช เป็นผู้มั่นคงในการให้ทาน ทรงเบญจศีลเป็นนิจ  สมาทานอุโบสถทุกวันปักษ์  ทรงแสดงธรรมให้ทราบทางสวรรค์  สอนอาณาประชาราษฎร์ให้กลัวนรก  พระอินทร์ทรงพอพระทัยถึงกับให้มาตลีเทพบุตรนำราชรถไปรับพระเจ้าเนมิราช เพื่อไปเที่ยวชมเมืองนรกและเมืองสวรรค์  เพื่อยืนยันว่า นรกสวรรค์มีจริง บาปบุญคุณโทษตามกฎแห่งกรรมมีจริง และการเสวยผลจากการกระทำดี และไม่ดี คือ วิบากกรรมมีจริง  ในกาลต่อมา เมื่อพระเจ้าเนมิราชพระเกศาหงอกแล้ว จึงได้เสด็จออกบรรพชา 
              การเสด็จออกบรรพชาของพระเจ้าเนมิราช เป็นการตอกย้ำถึงด้วยแรงแห่งการอธิษฐานข้ามภพชาติของสุเมธดาบสมาโดยตลอดสายแห่งการเกิดในวัฏสงสารเพื่อลดภพชาติให้สั้นลงในที่สุด

ค่าแห่งคำอธิษฐาน ๒. วิบากกรรม และการสร้างบารมี เรียบเรียงโดย พระครูอมรโฆสิต (ปรีชา สาเส็ง)

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here