“ดาว” เป็นเด็กหนุ่มจังหวัดสุรินทร์  ชีวิตของเขาคลุกคลีกับท้องนามาตั้งแต่เกิด  แม่บอกกับดาวเสมอ

        “ตั้งใจเรียนนะลูก  จะได้ไม่ต้องมาลำบากเหมือนแม่” 

        และวันนี้เป็นวันที่เขาจะต้องไปตามฝัน  วันที่นกน้อยจากบ้านนาอย่างดาวจะโผบินออกจากรวงรังจังหวัดสุรินทร์  บินเพื่อไปศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีที่กรุงเทพมหานคร 

        แม่บอกอะไรบางอย่างกับดาวในวันที่หิ้วกระเป๋าออกจากบ้าน  คำของแม่อยู่ในใจดาวเสมอ

เขาตัดสินใจเลือกเรียนคอมพิวเตอร์  ด้วยความที่อยู่กับท้องนามาเกือบตลอดทั้งชีวิต  เขาจึงคิดว่านี่เป็นศาสตร์ที่จะทำให้เขาไม่ต้องลำบากเหมือนแม่  เขาจะได้ทำงานในห้องแอร์กับอุปกรณ์ทันสมัย  ปีแรกผ่านไปวิชาพื้นฐานถูกเรียนไปเกือบหมด  พอขึ้นปีสองก็ถึงเวลาที่ต้องยืนยันการตัดสินใจในการเลือกวิชาเอก  เขายังหนักแน่นและใช้ชีวิตอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ต่อไป  อาจเป็นด้วยความไม่เคยชิน  ทำให้เขารู้สึกเหมือนถูกจำกัดด้วยอะไรบางอย่าง  ก็สายตาและชีวิตไม่เคยอยู่ในที่แคบ ๆ   แบบนี้มาก่อน 

        เขาเริ่มตั้งคำถามกับตัวเอง 

ว่านี่คือสิ่งที่เป็นตัวเขาจริง ๆ หรือไม่ 

        ด้วยความไม่แน่ใจเขาลองห่างกันกับคอมพิวเตอร์ดูบ้าง  และวันหนึ่งเขาก็ได้คำตอบ  ว่าชีวิตเขาอยู่ได้โดยที่ไม่ต้องใช้คอมพิวเตอร์  แต่ชีวิตเขาอยู่ไม่ได้ถ้าไม่ได้กินข้าว  ข้าวที่เขาคุ้นเคยและรู้จักดีมากกว่าคอมพิวเตอร์ที่เรียนมาสองปีด้วยซ้ำ  หรือรากของเราคือเกษตรกรรม  ไม่ใช่การวิ่งตามเทคโนโลยี 

        วันรุ่งขึ้นเขาตัดสินใจทำเรื่องขอย้ายสาขาวิชามาเรียนเกษตร  แม้ว่าจะต้องเพิ่มระยะเวลาเรียน  ทำให้เขาไม่จบพร้อมรุ่นเดียวกันก็ตาม  แต่คำของแม่ก็ช่วยให้เขามั่นใจในการตัดสินใจครั้งนี้

ระหว่างเรียนเขากลับไปเยี่ยมแม่บ้าง  ความรู้สึกของเขาเหมือนได้กลับบ้าน  บ้านที่มีแต่ความอบอุ่นและบรรยากาศของความรัก  ที่สำคัญเขารู้สึกเหมือนได้กลับไปเจอเพื่อน  เพื่อนที่เขาผูกพันและคลุกคลีมาตั้งแต่เกิด  เพื่อนที่สวยงามเสมอไม่ว่าเขาจะไปในฤดูปลูก  ฤดูออกรวง  หรือฤดูเก็บเกี่ยว  เมื่อวันเวลาผ่านไปเขายังใส่ใจกับการศึกษา 

จนสุดท้ายวันรับปริญญาก็มาถึง  อาจารย์ท่านหนึ่งบอกกับเขาตอนที่ไปกราบลากลับบ้านหลังงานรับปริญญาว่า  “การรับปริญญาหาใช่การสิ้นสุด  แต่หากคือจุดเริ่มต้นในการสร้างคุณค่าให้สมกับปริญญาที่ได้รับ”

        ทันใดนั้น 

พลันคำของแม่ก็เข้ามาในความคิด

        เขากลับบ้านและนึกถึงคำของอาจารย์เสมอ   กลับไปเจอแม่  กลับไปเจอเพื่อนเก่าคือต้นข้าวและท้องนา  ในขณะที่เขากำลังคิดว่าจะสร้างคุณค่าให้ปริญญาที่ได้รับมาแล้วติดหราอยู่ข้างฝาบ้านได้อย่างไร  แม่ก็ยกสำรับกับข้าวที่ทำเสร็จใหม่ ๆ  มาวางไว้ตรงหน้า  กินข้าวหอมมะลิที่ลอยมาทำให้เขาแทบอดใจรอไม่ไหว  “ลองชิมดูข้าวจานนี้  นี่แม่ปลูกเองเลยนะ  ไม่ใช้สารเคมี  ลองดูว่าเป็นยังไง”  เขาไม่รีรอเริ่มตักข้าวใส่ปากแล้วค่อย ๆ เคี้ยวก่อนจะกลืนลงท้อง  และเขาได้คำตอบกับสิ่งที่กำลังครุ่นคิด  นี่ไง  ข้าวในจานนี่ไง  ในเมื่อเรามีของดี  เราก็ควรทำให้มันดี  เพื่อมอบสิ่งดี ๆ ที่เรามีให้แก่กัน

        เขาเริ่มใช้ความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมา  พัฒนาข้าวหอมมะลิที่ปลูกด้วยกระบวนการอินทรีย์ไม่มีสารเคมีมาเกี่ยวข้อง  ในแบบที่แม่ได้ทดลองริเริ่มไว้  เริ่มนำผลผลิตไปให้ผู้คนที่เขารู้จักลองรับประทาน  และคนที่เขาไม่ลืมก็คือ  อาจารย์ที่เคยไปกราบลาในวันนั้น  และสิ่งที่เขาได้รับกลับมาคือประโยคว่า

“ก็อร่อยดีนี่ 

ทำไมดาวไม่ทำขายล่ะ ?”

        เขาพัฒนาคุณภาพของข้าวหอมมะลิต่อมาเรื่อย ๆ  จนได้คุณภาพคงที่ด้วยกระบวนการที่รักษามาตรฐานไว้ได้  ถึงเวลาที่เขาจะต้องออกแบบบรรจุภัณฑ์และที่สำคัญเขาต้องตราข้าวหอมมะลิของตนเอง  เขายังนึกไม่ออกว่าจะตั้งชื่อตราสินค้าว่าอะไร  ในขณะที่เขากำลังเอานอนก่ายหน้าผากอยู่ในกระท่อมนั้น  ก็มองเห็นนกตัวหนึ่ง  มันเหมือนจะบินมาไกลอย่างเหนื่อยล้า  และมาเกาะที่กิ่งไม้  และบินไปที่ต้นหญ้า  ซ้ำไปซ้ำมาอย่างนี้  นั่นสินะ  นกไม่ว่าจะบินสูงและไกลแค่ไหน  ก็ต้องอาศัยกิ่งไม้และต้นหญ้าอยู่ดี  และสิ่งที่กล่าวมานี้เป็นผลผลิตที่ได้ชีวิตจากพื้นดิน  หรือนี่คือสิ่งที่แม่บอกกับเขา 

สิ่งที่แม่ย้ำเสมอ ๆ ว่า 

คิดจะบิน 

อย่าลืมดินที่เคยเดิน”

        วันรุ่งขึ้นเขาไปดำเนินการจดสิทธิบัตรข้าวหอมมะลิของเขา  พร้อมตราสินค้า  ก่อนกลับเขาแวะนำใบสิทธิบัตรเข้ากรอบ  และสิ่งที่เขาอย่างแรกคือนำมันมาติดไว้ข้างฝา  ข้างหน้าปริญญาใบนั้น  เพราะเขาเชื่อว่าสิ่งนี้ได้ทำหน้าที่ของมันตามที่แม่และอาจารย์บอกอย่างสมบูรณ์แล้ว นั่นคือ สิทธิบัตรข้าวหอมมะลิอินทรีย์  ตรา  “ดาวเคียงดิน”

คุณค่า ปริญญาบัตร เขียนโดย พระมหาธนเดช ธมฺมปญฺโญ

หมายเหตุ : เกี่ยวกับบทความเรื่องนี้ ตีพิมพ์เป็นธรรมทานครั้งแรกในชื่อว่า “คิดจะบิน อย่าลืมดินที่เคยเดิน” เขียนโดย พระมหาธนเดช ธมฺมปญฺโญ ในคอลัมน์ เย็นกายสุขใจ หน้าธรรมวิจัย นสพ.คมชัดลึก วันอังคารที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๖๐

ครั้งนั้น พระอาจารย์พระมหาธนเดช ธมฺมปปญโญ ผู้เขียน ตั้งชื่อบทความนี้ไว้ตอนแรกว่า “คุณค่าปริญญาบัตร” เมื่อเวลาผ่านไป กลับมาอ่านอีกครั้ง และอีกครั้ง ก็เห็นว่า ชื่อแรกที่พระอาจารย์ท่านตั้งไว้งดงามมากๆ และเนื้อหาก็ให้กำลังใจกับผู้คนได้มากมาย แม้วันเวลาจะผ่านไป แต่ความทุกข์ใจ ความทุกข์จากเศรษฐกิจไม่ขยับในยุคโควิดครองโลกเช่นนี้ นับวันยิ่งหนักขึ้น หนทางเดียวก็คือ อย่าท้อ และแสวงหาหนทางสร้างสรรค์ในการยังชีพให้เจอ แล้วก้าวต่อไปด้วยกัน จึงกราบขอนิมนต์บทความของพระอาจารย์พระมหาธนเดช ธมฺมปญโญ มาลงในเว็บไซต์เป็นธรรมทานอีกครั้ง

และขอกราบขอบพระคุณภาพถ่ายโดย พระมหาปฐมพงศ์ ญาาณวํโส จริยธรรมแชนแนล สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ

"คิดจะบิน อย่าลืมดินที่เคยเดิน" เขียนโดย พระมหาธนเดช ธมฺมปญฺโญ จาก คอลัมน์ เย็นกายสุขใจ (หน้าธรรมวิจัย นสพ.คมชัดลึก วันอังคารที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๖๐)
“คิดจะบิน อย่าลืมดินที่เคยเดิน” เขียนโดย พระมหาธนเดช ธมฺมปญฺโญ จาก คอลัมน์ เย็นกายสุขใจ (หน้าธรรมวิจัย นสพ.คมชัดลึก วันอังคารที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๖๐)

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here