“เราตายได้ พระพุทธศาสนาตายไม่ได้”
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร)

จากปณิธานอันมุ่งมั่นของพระเถระรูปหนึ่ง สู่การขับเคลื่อนพระธรรมจักรสู่โลกกว้างอย่างเงียบๆ ในยุคสมัยของท่านก่อเกิดวัดในต่างประเทศกว่า ๕๐๐ วัด จากการสร้างพระธรรมทูตจิตอาสาออกเผยแผ่ธรรมตามรอยพระพุทธเจ้าในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช จนกระทั่งพระพุทธศาสนาหยั่งรากลงดินในยุโรป ดังคำกล่าวของท่านว่า วันหนึ่งดอกบัวจะบานกลางหิมะ…เป็นจริงแล้วในวันนี้

ข้าพเจ้าเป็นลูกศิษย์ของพระอาจารย์ พระมหาเทอด ญาณวชิโร (อดีตพระราชกิจจาภรณ์) ตลอดเวลาที่ผ่านมา นอกจากคำสอนของท่านซึ่งผ่านการปฏิบัติของท่านอย่างเด็ดเดี่ยวมาตลอดชีวิต ทั้งจากการบ่มเพาะของครูบาอาจารย์ที่เป็นพระป่า และ ตามรอยพระอุปัชฌาย์อาจารย์ของท่านคือ ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร) ข้าพเจ้าจึงได้ฟังเรื่องการทำงานของท่านเจ้าประคุณหลวงพ่อสมเด็จฯ จากท่าน ทำให้เห็นว่า ภาระธุระอันหนักที่อยู่บนบ่าทั้งสองของท่าน ก็คือ การทำงานตามปณิธานของหลวงพ่อสมเด็จฯ และพระพุทธเจ้านั่นเอง

ในช่วงเวลาของการทำงานสื่อสารมวลชนของข้าพเจ้าประมาณ ๓๐ ปี ได้เดินทางแสวงหาครูบาอาจารย์ และปฏิบัติธรรมอยู่หลายสำนัก ติดตามการทำงานเผยแผ่ของพระสงฆ์มากมาย ซึ่งในที่สุด ข้าพเจ้าก็เห็นว่า การขับเคลื่อนของพระพุทธศาสนาอย่างรวดเร็วเพื่อให้ทันกับการแแก้ไขปัญหาทุกข์ที่ถาโถมของผู้คนบนผืนแผ่นดินไทยนั้น มีท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ เป็นหลักสำคัญในการสนับสนุนการทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระสงฆ์ให้ทันท่วงทีกับสถานการณ์อันเลวร้ายของภัยธรรมชาติมานับครั้งไม่ถ้วน รวมไปถึงการประสานสิบทิศเพื่อสมานสามัคคีของพระสงฆ์ทุกสายให้เป็นหนึ่งเดียว ก็มีหลวงพ่อสมเด็จฯ อยู่ตรงนั้นเสมอ

จึงไม่น่าแปลกใจว่า ในยุคสมัยของท่านกับภาระธุระบทบาทของผู้นำสงฆ์ในช่วงเวลาจำเป็น ได้สร้างพระภิกษุรุ่นใหม่มากมายให้มีกำลังใจในการบวชเรียนปฏิบัติส่วนตน และศึกษาเล่าเรียนที่ไม่ขัดกับพระธรรมวินัย เพื่อช่วยเหลือคนทุกข์ให้ทันเวลา โดยมีท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ คอยผลักดันการทำงานของพระภิกษุให้ขับเคลื่อนไปอย่างรวดเร็ว โดยการสร้างพระธรรมทูตจิตอาสาในหลายๆ ประเทศขึ้นมาเพื่อรองรับความต้องการพระสงฆ์ในประเทศนั้นๆ ด้วย

หนังสือ “วิถีแห่งผู้นำ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร)” เล่มนี้ เป็นบันทึกสรุปร่องรอยการเดินทางตั้งแต่ต้นจนละสังขารของท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ที่บอกเล่าที่มาของปฏิปทาและปฐมเหตุของการก่อเกิดความเป็นผู้นำในตัวท่าน อันเป็นประดุจจุดเชื่อมต่อพระพุทธศาสนาจากอินเดียสู่ประเทศไทย และขับเคลื่อนธรรมจักรจากไทยไปทั่วโลกอย่างเข้าใจง่ายในวิถีสมณะจากครูบาอาจารย์รุ่นต่อรุ่น ด้วยการเรียบเรียงของพระอาจารย์พระครูอมรโฆสิต (ปรีชา สาเส็ง ) แห่งวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร หนึ่งในพระลูกศิษย์ผู้ดูแลท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ตั้งแต่ยังเป็นสามเณรจนกระทั่งในช่วงสุดท้ายก่อนมรณภาพ ซึ่งท่านได้เมตตาให้นำเนื้อหาของหนังสือที่เตรียมจัดพิมพ์เป็นธรรมทานเล่มนี้มาลงในเว็บไซต์เป็นธรรมทานมาระยะหนึ่งก่อน ข้าพเจ้าจึงได้มีโอกาสอ่านมาตั้งแต่ต้นจนจบ และท่านยังกรุณาให้ข้าพเจ้าเขียนคำอนุโมทนาลงในหนังสืออีกด้วย

นับเป็นบุญกุศลอันยิ่งใหญ่ในชีวิตของข้าพเจ้าในช่วงอายุจะหกสิบปีแล้ว ที่ได้ถวายงานรับใช้พระพุทธศาสนาเป็นบุญกุศล ผ่านการทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาอย่างมุ่งมั่นทุกด้านของพระเถระและพระอาจารย์ทุกท่านที่ได้ช่วยกันรวบรวมบันทึกอันล้ำค่าซึ่งเป็นต้นธารของความคิดก่อนปรากฏเป็นผลงานทางธรรมของบูรพาจารย์ทางพระพุทธศาสนา ซึ่งเพียรตามรอยพระพุทธเจ้าอย่างไร้ตัวตน ฝากไว้ในสื่อออนไลน์และบรรณพิภพ เพื่อให้คนรุ่นนี้และคนรุ่นหน้าที่ได้แวะเวียนเข้ามาศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาบนผืนแผ่นดินไทยในยุคกึ่งพุทธกาล เพื่อเป็นกำลังใจในการก้าวเดินต่อไปบนเส้นทางสู่การพ้นทุกข์นี้ด้วยกำลังสติ สมาธิ และปัญญาที่ก่อเกิดภายในจิตใจตนจนสามารถเป็นผู้นำจิตตนเองไปสู่ความดับความทุกข์ในใจได้ในที่สุด

“คำอนุโมทนา” กว่าจะมาเป็นหนังสือ “วิถีแห่งผู้นำ สมเด็จพระพุฒจารย์ (เกี่ยว อุปเสนมหาเถร)” : พระครูอมรโฆสิต (ปรีชา สาเส็ง เรียบเรียง)

คำอนุโมทนา

การเดินทางของพระพุทธศาสนาบนผืนแผ่นดินไทย ในสมัยกึ่งพุทธกาล  เมื่อจะกล่าวถึงพระเถระผู้เสียสละตน เพื่อชาติ พระพุทธศาสนา และสถาบันพระมหากษัตริย์  ซึ่งทำงานอยู่ข้างหลังของความสำเร็จในการสร้างพุทธบุตรในการบวชเรียนไม่ให้ขาดสายเพื่อเป็นการสืบทอดพระพุทธศาสนาผ่านพระสงฆ์ผู้เป็นเนื้อนาบุญของโลกให้ฝึกตนจนกว่าจะพบความสงบเย็น และถ่ายทอดบทบาทของพระสงฆ์ในการช่วยเหลือเกื้อกูลคนทุกข์ตามรอยพระพุทธเจ้าได้มากมหาศาลแล้ว ก็จะต้องระลึกถึงท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ)   หนึ่งล่ะ

และหากจะเล่าถึงการเปลี่ยนแปลงของผู้คนที่ได้รับการเกื้อกูลให้หายทุกข์ทางใจจากพระธรรมผ่านพระสงฆ์ที่ท่านสร้างขึ้น  ตามรอยพระธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงวางไว้เป็นหลักใจให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้และนำมาฝึกปฏิบัติตนจนสิ้นทุกข์นั้น  ก็คงเล่าไม่หมด

และนั่นคือสิ่งที่เราไม่ค่อยได้รับรู้กันว่า เบื้องหลังความเติบโตและสงบเย็นของสังฆมณฑลอันนำมาสู่ความสงบเย็นของสังคมนั้น มีพระเถระรูปหนึ่งผู้มุ่งมั่นทำงานอย่างเงียบๆ ในการสนับสนุนการศึกษาและการทำงานของพระเณรอย่างใกล้ชิดประดุจพ่อแม่และเป็นทั้งครูบาอาจารย์  ทำให้การงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาในทุกด้านตลอดชีวิตของท่านมีพลังขับเคลื่อนในทุกภาคส่วนของสังคม และสามารถช่วยเพื่อนมนุษย์มากมายให้ก้าวผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากได้  ก็เพราะท่านมีปณิธานในการสืบทอดพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้าว่า

“เราตายได้ พระพุทธศาสนาตายไม่ได้”

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร)

และอะไรคือที่มาของปณิธานอันเข้มข้นเช่นนั้น   เนื้อหาในหนังสือ “วิถีแห่งผู้นำ : สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร) ” เล่มนี้ มีคำตอบ ซึ่งผ่านการเรียบเรียง โดย พระอาจารย์พระครูอมรโฆสิต (ปรีชา สาเส็ง) แห่งวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร  ได้ถ่ายทอดที่มาของความคิด ปฏิปทาของท่านเจ้าประคุณหลวงพ่อสมเด็จฯ ออกมาให้ผู้อ่านได้เข้าใจถึงหลักคิด และหลักการปฏิบัติของท่านว่ามีที่มาอย่างไร  โดยเล่าเรื่องประวัติของท่านและวัตรปฏิบัติของท่านที่เดินตามรอยปฏิปทาพระอุปัชฌาย์อาจารย์ของท่าน คือ ท่านเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทยมหาเถระ)

ผู้อ่านจะได้เรียนรู้ที่มาของความคิด ผ่านบริบทต่างๆ   เพื่อนำพระธรรมมาปรับใช้แก้ปัญหาทุกเรื่อง  ซึ่งเนื้อหาอ่านง่าย แต่ละบทเป็นการเล่าเรื่องย่อและสรุป ตัดสลับไปมาระหว่างเกร็ดชีวิตวิถีพระ และที่มาของหลักคิดก่อนที่จะมาเป็นวิถีแห่งผู้นำ ที่ทำให้ธรรมะจากพระพุทธเจ้าทรงค้นพบ  ได้นำมาออกมารับใช้สังคมอย่างมีพลัง นำสมัย และทันสมัยในทุกการเปลี่ยนแปลงของโลก 

พระพุทธศาสนาในยุคสมัยของท่านจึงมีชีวิตชีวา ตอบรับกับการแก้ปัญหาทุกข์ของชีวิตตั้งแต่เกิดจนตายอย่างชนิดที่นำมาใช้ได้ทันท่วงที  โดยผ่านพุทธบุตรผู้สร้างสรรค์โครงการมากมายเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์และสังคมให้พบกับปัญญาในตนจนสามารถดับทุกข์ในใจตนเองได้

ดังพระพุทธพจน์ว่า  “อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน” และเมื่อตนเป็นที่พึ่งของตนได้แล้ว การช่วยเหลือผู้อื่นตามกำลังก็ตามมา สังฆมณฑลที่อุดมไปด้วยปัญญา  มิตรไมตรีและการแบ่งปัน คือการสร้างสรรค์สังคมที่ประกอบไปด้วย มนุษย์ สัตว์ และต้นไม้ ให้อยู่ร่วมกันอย่างเกื้อกูลกัน มีกำลังใจในการก้าวต่อไปบนเส้นทางที่ยากลำบากจนกว่าจะถึงเป้าหมายที่แต่ละชีวิต แต่ละคนตั้งความหวังไว้ บนเส้นทางแห่งโพธิญาณ คือ การดับทุกข์ทางใจ นั่นเอง

 ขอกราบขอบพระคุณและกราบนมัสการพระอาจารย์ พระมหาเทอด ญาณวชิโร และพระครูอมรโฆสิต (ปรีชา สาเส็ง) ที่เมตตาให้ข้าพเจ้าเขียนคำอนุโมทนาหนังสือที่บรรจุพลังแห่งความเมตตาของบุรพาจารย์ อันเปี่ยมล้นด้วยคุณค่าทางจิตใจเล่มนี้  เพื่อเพิ่มกำลังสติปัญญาในการดับทุกข์ในใจตนให้ได้ เช่นกัน

           กราบอนุโมทนา และกราบนมัสการ

           มนสิกุล โอวาทเภสัชช์

           ๒๗ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๖

“คำอนุโมทนา” กว่าจะมาเป็นหนังสือ “วิถีแห่งผู้นำ สมเด็จพระพุฒจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร)” : พระครูอมรโฆสิต (ปรีชา สาเส็ง เรียบเรียง)

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here