น้อมเศียรเกล้า อาจาริยบูชา

๘๗ ปีชาตกาล

 ๑๒ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๗๙ – ๑๒ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖

๙ ปีแห่งการละสังขาร

๒๓ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ – ๒๓ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖

หลวงพ่อคำเขียน สุวณฺโณ

“ความไม่ประมาท” จากหลวงพ่อคำเขียน

โดย พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล

หลวงพ่อคำเขียน สุวณฺโณ

ละสังขารคืนสู่ธรรมชาติอย่างสงบ

ที่กุฏิวัดป่าสุคะโต จังหวัดชัยภูมิ

เมื่อวันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๕๗ เวลา ๐๔.๕๙ น.

สิริอายุรวม ๗๘ ปี ๔๖ พรรษา

จากเว็บไซต์ วัดป่าสุคะโต <pasukato.org>

การอาพาธและการมรณภาพของหลวงพ่อคำเขียน

เป็นสิ่งเตือนใจให้เราตระหนักว่า ความเจ็บป่วยและความตายเป็นเรื่องธรรมดา สักวันหนึ่งเราก็จะต้องเจ็บป่วยและตายเช่นกัน  แต่ในเวลาเดียวกันหลวงพ่อคำเขียนก็ได้สอนเราด้วยการทำให้ดูอยู่ให้เห็นเป็นตัวอย่างตลอด ๗ เดือนที่ผ่านมาว่า แม้เจ็บป่วย แต่ก็ป่วยแค่กาย ใจไม่ป่วยนั้น เป็นไปได้

และเมื่อถึงคราวต้องตาย ก็พร้อมรับความตาย จิตใจไม่หวั่นไหว เพราะเห็นว่าเป็นธรรมดา ดังท่านกล่าวเตือนใจพวกเราในช่วงท้าย ๆ ว่า “จะตายก็เป็นเช่นนั้นเอง”  จะทำเช่นนั้นได้ก็ต้องทำกิจสำคัญให้เสร็จสิ้น ไม่มีอะไรคั่งค้างให้เป็นกังวล ขณะเดียวกันก็ต้องหมั่นฝึกจิตให้รู้จักปล่อยวาง เมื่อระยะสุดท้ายมาถึง  ก็ไม่มีอะไรที่ต้องหวงแหนหรือห่วงกังวล พร้อมปล่อยวางทุกสิ่ง รวมทั้งทรัพย์สมบัติและคนรัก ยิ่งปล่อยวางความยึดติดในตัวตนจน “ไม่เป็นอะไรกับอะไร” อย่างที่หลวงพ่อเน้นอยู่เสมอ ความตายก็จะไม่น่ากลัวอีกต่อไป

เรื่องแบบนี้ต้องทำเสียแต่วันนี้ จะปล่อยปละละเลย หรือประมาทไม่ได้เลย เพราะความตายเกิดขึ้นกับเราได้ทุกเวลา หากไม่เตรียมตัวแต่เนิ่น ๆ เมื่อความตายมาถึง ก็จะทุรนทุราย กระสับกระส่าย ต่อสู้ผลักไสความตาย  ทำให้จิตเป็นอกุศล หากอกุศลยังครอบงำจนถึงจิตสุดท้าย ก็จะไปอบายอย่างแน่นอน

การเจริญสติ และการทำสมาธิ เป็นเรื่องสำคัญ

การทำสมาธิด้วยการน้อมจิตจดจ่อที่อวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย เช่น ลมหายใจ ช่วยให้จิตไม่รับรู้ทุกขเวทนาที่เกิดขึ้น จะเรียกว่าลืมปวดก็ได้ ดังนั้นแม้กายจะปวด แต่ใจไม่ปวดตามไปด้วย  ผลพลอยได้อีกประการหนึ่งคือ เมื่อจิตมีสมาธิ  จะมีสารบางตัวหลั่งออกมา ช่วยบรรเทาทุกขเวทนาทางกายได้ ดังนั้นผู้ป่วยที่ทำสมาธิได้ดี จะไม่ถูกความเจ็บปวดบีบคั้นมากนัก

อีกวิธีหนึ่งคือการเจริญสติ ซึ่งหมายถึงการรับรู้ความปวด โดยไม่ยึดติดถือมั่นในความปวดนั้น เรียกว่า “เห็น”ความปวด แต่ ไม่ “เป็น”ผู้ปวด  วิธีนี้ก็ช่วยให้เราอยู่กับความเจ็บปวดได้โดยใจไม่ทุกข์   หากสติไม่มากพอที่จะดูทุกขเวทนาด้วยความรู้สึกเฉย ๆ หรือวางใจเป็นกลางต่อความเจ็บปวด ก็ใช้สติมาดูหรือรู้ทันอาการของใจก็ได้ เช่น เห็นความโกรธ หรือความหงุดหงิดของใจขณะที่เกิดทุกขเวทนา วิธีนี้ช่วยให้ใจกลับมาเป็นปกติ แม้กายยังปวดอยู่ จะเรียกว่าปล่อยวางความปวดก็ได้

ปัญญาในระดับวิปัสสนา เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ช่วยให้ใจไม่ทุกข์ได้  อาทิ ปัญญาที่เห็นว่าแท้จริงไม่มี “ตัวฉัน” มีแต่รูปกับนาม หรือกายกับใจเท่านั้น  ดังนั้นเมื่อกายปวด ก็ไม่ได้สำคัญมั่นหมายว่า “กูปวด” เพราะเห็นว่ากายเท่านั้นที่ปวด หรือเห็นความปวดเกิดขึ้นกับกาย แต่ใจไม่ปวดด้วย 

ดังมีเรื่องเล่าว่า คราวหนึ่งหลวงปู่บุดดา ถาวโรต้องเข้าโรงพยาบาลเพื่อผ่าตัดนิ่ว  หลังจากผ่าตัดเสร็จ หลวงปู่ก็พูดว่า “ค่อยยังชั่วแล้ว ไม่เป็นไรแล้ว” หมอและพยาบาลพากันแปลกใจ ถามหลวงปู่ว่า ท่านไม่รู้สึกเจ็บเลยหรือ  คนอื่นผ่าตัดน้อยกว่าหลวงปู่ ยังแสดงอาการเจ็บปวดมากกว่า  หลวงปู่ทำอย่างไรถึงไม่เจ็บ หลวงปู่ตอบว่า

“ร่างกายของหลวงปู่ก็เหมือนกัน

ทำไมมันจะไม่เจ็บ 

แต่จิตใจต่างหากที่ไม่ได้เจ็บป่วยไปกับร่างกายด้วยเท่านั้น”

                สำหรับคนทั่วไปที่ไม่ได้เตรียมจิตฝึกใจไว้เลย เมื่อถูกความเจ็บปวดบีบคั้นในวาระสุดท้าย  จะรู้สึกทุกข์ทรมาน กระสับกระส่าย จิตเกิดโทสะ ซึ่งอาจทำให้จิตสุดท้ายเป็นอกุศล พาไปอบายได้  อย่างไรก็ตามครูบาอาจารย์บางท่านได้ชี้ว่า ก่อนตายจิตจะไม่รับรู้อาการทางกายใด ๆ ซึ่งรวมถึงความเจ็บปวดด้วย  แม้กระนั้นใจก็ยังเป็นทุกข์ได้หากมีความห่วงหาอาลัยหรือรู้สึกผิดติดค้างใจ 

ดังนั้นหากไม่รู้จักปล่อยวาง  จิตสุดท้ายก็จะเป็นอกุศล และผลักให้ไปสู่ทุคติได้  ดังนั้นหากต้องการตายสงบหรือตายดี การฝึกจิตให้มีสมาธิ สติ และปัญญา จึงเป็นสิ่งสำคัญมาก

พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล

ประวัติหลวงพ่อคำเขียน สุวณฺโณ (จากเว็บไซต์ วัดป่าสุคะโต <pasukato.org>)

“หลวงพ่อเทียนสอนให้รู้สึกตัวอยู่เสมอ

กำหนดรู้ไปกับการสร้างจังหวะ

และไม่ให้เข้าไปอยู่กับความสงบ”

ลวงพ่อคำเขียน สุวณฺโณ เกิดที่บ้านหนองเรือ ตำบลหนองเรือ (ชื่อเดิมว่าตำบลบ้านเม็ง) อำเภอหนองเรือ (เดิมอยู่ในเขตอำเภอเมือง) จังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ ๑๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ ตรงกับวันพุธ แรม ๙ ค่ำ เดือน ๙ ปีชวด โยมพ่อชื่อ นายสมาน เหล่าชำนิ โยมแม่ชื่อ นางเฮียน แอมปัชฌาย์ (เหล่าชำนิ) มีพี่น้องรวม ๗ คน

ท่านเป็นบุตรคนที่สาม เมื่อท่านอายุย่างเข้า ๑๐ ขวบ บิดาและมารดาของท่านได้ย้ายไปอยู่บ้านหนองแก อำเภอแก้งคร้อ จังหวัดชัยภูมิ ทำการบุกเบิกที่ทำกิน ประกอบอาชีพทำไร่ทำนา ชีวิตวัยเด็กของท่านเหมือนกับเด็กไทยในชนบททั่วไปที่ครอบครัวทำเกษตรกรรม มีอาชีพทำนา ทำสวน ทำไร่ และเลี้ยงสัตว์ ครอบครัวสามารถพึ่งพาตนเองได้ ถึงแม้ไม่มี เงินก็ไม่เดือดร้อน เพราะมีข้าว ปลา อาหาร ผัก ผลไม้ รวมถึงมียาสมุนไพรอยู่รอบบ้าน และเลี้ยงวัว เลี้ยงควายไว้ใช้แรงงาน

ท่านใช้ชีวิตวัยเด็กคลุกคลีกับการงานเหล่านี้อยู่กับครอบครัวแต่ไม่มีโอกาสได้เที่ยวเล่นสนุกสนานเช่นเด็กทั่วไป เนื่องจากบิดาของท่านเสียชีวิตตั้งแต่ท่านอายุได้ประมาณ ๑๐ ขวบ ประกอบกับพี่ของท่าน ๒ คนไปอยู่กับปู่และย่า ท่านจึงต้องรับผิดชอบการงานแทนบิดาของท่าน….

ท่านบวชเป็นสามเณรเมื่ออายุได้ ๑๕ ปี หลังจากบวชอยู่ได้ประมาณสองปีก็จำต้องลาสิกขา ออกไปช่วยงานของครอบครัวอย่างเต็มที่ ด้วยความจริงจังกับงานและขยันหมั่นเพียรอย่างสม่ำเสมอนี้เอง ทำให้ท่านเป็นที่ยกย่องของคนในหมู่บ้าน  ในช่วงเวลานั้นเองท่านได้ศึกษาเล่าเรียนวิชาคาถาอาคม ทำน้ำมนต์ ปัดรังควาน ไล่ผี และรักษาคนป่วยไปด้วย

ฉะนั้นทุกคืนก่อนนอนท่านต้องสวดมนต์ ภาวนา บริกรรม ท่องคาถาอาคมต่างๆ จนคล่องแคล่ว เกิดความชำนาญ จนสามารถใช้วิชาเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี ยามชาวบ้านเดือดร้อนท่านได้เข้าทำการช่วยเหลือ นับตั้งแต่เจ็บไข้ได้ป่วย ไล่ผี คลอดบุตร ตลอดจนผูกข้อมือให้เด็ก จนเป็นที่เรียกขานกันในหมู่บ้านว่า ท่านเป็นหมอธรรม

ก่อนมาปฏิบัติธรรมในสายหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ ท่านได้ฝึกสมาธิแบบพุทโธ เมื่อปฏิบัติมาเป็นเวลานานจึงทำให้จิตสงบได้บ้าง แต่ก็ยังไม่เป็นที่พอใจนัก เมื่ออายุย่างเข้า ๓๐ ปี หลังจากมีครอบครัวมาได้ ๗-๘ ปี ท่านได้เริ่มแสวงหาครูบาอาจารย์ที่แนะนำเรื่องสมาธิ วิปัสสนา ตามแนวทางอื่น ๆ ที่เหมาะสมกับตัวท่านบ้าง 

  เมื่อปลายปี พ.ศ. ๒๕๐๙ ท่านมีโอกาสได้ไปศึกษา และปฏิบัติธรรมกับหลวงพ่อเทียนที่ป่าพุทธยาน จังหวัดเลย หลวงพ่อเทียนสอนให้สร้างจังหวะและเดินจงกรม ท่านเคยฝึกหัดมาแบบพุทโธ โดยนั่งนิ่งๆ และสามารถเข้าถึงความสงบได้อย่างว่องไว ทำให้ไม่ชอบการสร้างจังหวะ แต่หลวงพ่อเทียนสอนไม่ให้สงบแต่เพียงอย่างเดียว สอนให้รู้สึกตัวอยู่เสมอ กำหนดรู้ไปกับการสร้างจังหวะ และไม่ให้เข้าไปอยู่กับความสงบ

คำสอนของหลวงพ่อเทียนนี้ สวนทางกับวิธีที่ท่านฝึกหัดมา ทำให้บางทีท่านไม่อยากทำ เกิดความรู้สึกคัดค้านอยู่ในใจ แต่ในที่สุดท่านก็ตกลงทำ เพราะอย่างไรก็ตั้งใจมาปฏิบัติแล้ว จึงทดลองดู โดยพยายามทวนความรู้สึกเดิม ตั้งใจสร้างจังหวะ เพื่อปลูกสติสัมปชัญญะ และสร้างสติ จากนั้นจึงเริ่มต้นปฏิบัติไปเรื่อยๆ 

” ในการปฏิบัตินั้น เมื่อเริ่มคิด ให้กลับมาอยู่กับการสร้างจังหวะ จะเกิดความสงบ ความรู้สึกตัว ไม่เข้าไปอยู่ในความสงบ รู้กาย รู้ใจ ชัดขึ้น มีสติสัมปชัญญะมากขึ้น รู้ทันต่อการเคลื่อนไหว รู้ทันต่อใจ ที่คิด เกิดปัญญาญาณขึ้นมา รู้เรื่องรูป เรื่องนาม เรื่องกาย เรื่องใจ ตามความเป็นจริง เป็นลำดับไปจนจบอารมณ์รูปนามเบื้องต้น”

จากนั้นจิตใจของท่านได้เปลี่ยนไป พ้นจากภาวะเดิม ความลังเลสงสัยหมดไป ได้รู้เรื่องสมถะ และเรื่องวิปัสสนา ท่านรู้สึกว่าความทุกข์ที่มีอยู่หมดไป ๖๐ เปอร์เซ็นต์ จึงมั่นใจในคำสอนหลวงพ่อเทียนมาก จนไม่สนใจต่อความรู้เดิมที่มีอยู่

คาถาอาคมเครื่องรางของขลังที่เคยเรียนมานั้น ท่านเริ่มเห็นว่าเป็นเรื่องสมมติ พิธีรีตองต่าง ๆ ที่เคยยึดมั่นถือมั่นนั้นก็เริ่มวางได้ มีความเชื่อในการกระทำ รู้เรื่องบุญ เรื่องบาป เรื่องนรก เรื่องสวรรค์ รู้เรื่องศาสนา พุทธศาสนา พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

ท่านมีความรู้สึกเหมือนว่า แบกของหนักมา ๑๐๐ กิโลกรัม พอเกิดปัญญาญาณขึ้น น้ำหนักที่แบกนั้นหายไป ๖๐ กิโลกรัมทันที

ท่านจึงคิดไปว่า เมื่อทำเพียงเท่านี้ ความทุกข์ที่มียังหลุดไปได้ถึงเพียงนี้ หากทำให้มากกว่านี้ จะเป็นอย่างไร ทำให้ท่านคิดปฏิบัติต่อไป และมีความมั่นใจต่อการเจริญสติสัมปชัญญะแบบเคลื่อนไหว จนในที่สุดท่านไม่คิดแสวงหาครูบาอาจารย์ และไม่แสวงหาวิธีปฏิบัติตามแนวทางอื่นอีกเพราะได้บทเรียนที่สมบูรณ์แบบที่สุดในชีวิต

ในช่วงที่ยังมีชีวิต ท่านประจำอยู่วัดป่าสุคะโต อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ และได้ดูแลวัดภูเขาทอง บ้านท่ามะไฟหวาน และวัดป่ามหาวัน(ภูหลง) ด้วย ซึ่งทั้งสองวัดอยู่ไม่ไกลจากวัดป่าสุคะโตนัก หลวงพ่อคำเขียนละสังขารคืนสู่ธรรมชาติอย่างสงบ ที่กุฏิวัดป่าสุคะโต เมื่อวันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๕๗ เวลา ๐๔.๕๙ น. สิริอายุรวม ๗๘ ปี ๔๖ พรรษา

“ความไม่ประมาท” จากหลวงพ่อคำเขียน โดย พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here