จาริกธรรมสกอตแลนด์ ตอนที่ ๔ โดย พระใบฎีกาคทาวุธ คเวสกธมฺโม
จาริกธรรมสกอตแลนด์ ตอนที่ ๔ โดย พระใบฎีกาคทาวุธ คเวสกธมฺโม

จาริกธรรมสกอตแลนด์ตอนที่ ๑ ถึงตอนที่ ๓ ที่ผ่านมานั้น พระใบฎีกาคทาวุธ คเวสกธมฺโม กล่าวถึงต้นเหตุแห่งการเดินทางในครั้งนี้ ส่วนในจาริกธรรมสกอตแลนด์ ตอนที่ ๔ เล่าถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างทางกว่าจะถึงจะสกอตแลนด์     

จาริกธรรมสกอตแลนด์ ตอนที่ ๔

“กว่าจะถึงสกอตแลนด์”

ความแตกต่างทำให้เราเรียนรู้ที่จะเข้าใจกันและกัน

โดย พระใบฎีกาคทาวุธ คเวสกธมฺโม

           การออกเดินทางไปสกอตแลนด์ในครั้งนี้ของอาตมาถือว่าเป็นการเดินทางไกลที่สุดของชีวิต และเป็นครั้งแรกที่จะมีโอกาสไปสัมผัสดินแดนอันมีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนานเป็นพันๆ ปี ก็ได้พยายามศึกษาขั้นตอนการเดิน พร้อมทั้งการต่อเครื่องบิน จากสนามบินสุวรรณภูมิ – ดูไบ และดูไบ – เอดินบะระ สกอตแลนด์ จนถึงด่านตรวจคนเข้าเมือง แม้ว่าศึกษาข้อมูลมาระดับหนึ่งแล้ว แต่พอเจอสถานการณ์จริงก็เกือบจะเอาตัวไม่รอดเหมือนกัน

           ก่อนจะขึ้นเครื่องในใจก็เกิดมีความกังวลเล็กน้อยเพราะมีอดีตที่ไม่ค่อยดีนักกับการเดินทางไปต่างประเทศคือ ประเทศญี่ปุ่น และประเทศมาเลเซีย มีปัญหาติดตรงด่านตรวจคนเข้าเมือง แต่โชคดีเดินทางครั้งนี้มีเพื่อนสหธรรมิกไปด้วย และท่านก็เคยเดินทางในเส้นทางนี้มาแล้วครั้งหนึ่ง

           เมื่อเดินทางออกจากสุวรรณภูมิถึงดูไบต้องต่อเครื่องมีเวลาอยู่ประมาณ ๒ ชั่วโมง ลงเครื่องแล้ว ต้องรีบเดินไป get เพื่อจะได้ขึ้นเครื่องเดินทางต่อ แต่การจะไปต่อเครื่องมันก็ไม่ง่ายอย่างที่คิด กล่าวคือ เพื่อนสหธรรมิกที่เคยเดินทางมาแล้วครั้งหนึ่งเล่าว่า ครั้งก่อนตอนต่อเครื่องมันไม่ได้ซับซ้อนเหมือนครั้งนี้เลย แต่ครั้งนี้ค่อนข้างซับซ้อนและมึนงงมาก

           เรื่องมีอยู่ว่าเมื่อลงเครื่องแล้ว ผ่านตรงด่านตรวจสัมภาระโดยเครื่องสแกนรีบเดินไปดูตรงตารางเที่ยวบินระหว่างดูไบ-เอดินบะระ และเมื่อทราบว่าต้องไปต่อเครื่องที่ get A18 ซึ่งการเดินไปหา get A18 ค่อนข้างซับซ้อนและลึกลับมาก เดินขึ้นลิฟท์ ลงลิฟท์ สลับกับการเดินในในตัวอาคารที่ลงจากเครื่อง และใช้เวลา ๓ – ๕ นาที เพื่อนั่งรถไฟต่อไปอีกอาคาร ลงจากรถไฟแล้วก็เดิน และขึ้นลิฟท์ พอลงลิฟท์ ช่วงนี้แหล่ะมึนงงมาก เพราะไม่รู้ว่าจะเดินไปไหนต่อ

           จึงได้ถามทางเป็นภาษาอังกฤษแบบทักษะไม่แข็งแรง ใช้มือทำท่าทางประกอบ พร้อมยื่นข้อมูลคือภาพถ่ายตารางเที่ยวบิน getA 18 และตั๋วเครื่องบินให้ดูก็ยังไม่รู้ทางเดินไป getn A 18 อีก ซึ่งช่วงนี้ใช้เวลาประมาณ ๑๐ นาทีในการเดินวนไป วนมาอยู่ที่เดิม ก็เดินไปเจอทางตรงมุมหนึ่งที่เงียบสงัดไม่มีคนเดินผ่านไป ผ่านมาเหมือนทางเดินอื่น ๆ แต่มองไปเห็นคำว่า getA 18 มีสัญลักษ์บอกให้ขึ้นลิฟท์และลงไปด้านล่าง ก็เลยลองเดินไปตามนั้นในที่สุดก็เจอตรง getA 18

           เหตุการณ์ที่ทำให้ใจเสียก็เกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อถึง get A18 ระหว่างรอเช็คอินขึ้นเครื่อง เห็นขึ้นตรงหน้าจอตรงเช็คอินแจ้งว่าคนที่จะเดินทางไปเอดินบะระ สกอตแลนด์ ให้เข้าไปเช็คอินเพื่อขึ้นเครื่องได้ เมื่อไปต่อแถวถึงคิวตอนเจ้าหน้าที่พูดเป็นประโยคภาษาอังกฤษ เพื่อสื่อสารว่าเที่ยวบินของคุณไม่ใช่รอบนี้ ให้รอก่อน แต่ทักษะภาษาอังกฤษของอาตมาแบบที่บ้านเราพูดกันสเนกฟิต ๆ งู ๆ ปลา ๆ จึงทำให้อาตมาเข้าใจว่าการเดินทางของอาตมามีปัญหา ไม่สามารถเดินทางต่อไปได้ ความรู้สึกระหว่างนั้นหนักใจเลยจะทำไงดี ทำอะไรไม่ถูกเลย แต่พอมานั่งนึกทบทวนประโยคที่เขาพูดอีกทีโดยมีคำว่า now not และ Next flight จึงถึงบ้างอ้อทันทีว่ารอบนี้ยังไม่ใช่เที่ยวบินของเรา ให้รอรอบต่อไป

           เมื่อถึงเวลาเจ้าหน้าที่เรียกให้เช็คอินขึ้นเครื่อง ครั้งนี้ก็เดินไปต่อแถวด้วยความมั่นใจ เมื่อถึงคิวตนเองก็เดินเข้าไปหาเจ้าหน้าที่ ประโยคแรกที่เจ้าหน้าที่พูดขึ้นว่า “สวัสดีครับ” ความรู้สึกตอนนั้นใจโล่งใจและดีใจมาก เพราะคิดว่าคงไม่มีปัญหาอะไรอีกแน่นอน เพราะเขารู้ว่าเราเป็นคนไทยด้วยคงจะไม่ถามภาษาอังกฤษอะไร และก็เป็นเช่นนั้นจริงด้วย เมื่อผ่านตรงเช็คอินแล้ว ได้ขึ้นรถบัสเพื่อไปขึ้นเครื่องเป็นภาพที่งดงามมากทุกคนต่อคิวขึ้นรถบัส ไม่มีภาพของความวุ่นวาย แย่งกันขึ้นรถเลย เมื่อนั่งรถบัสไปถึงตรงขึ้นเครื่อง ระหว่างลงจากรถบัสก็ได้เห็นภาพทุกคนในรถบัสต่อคิวกันลงจากรถบัสเป็นแถวอย่างสวยงาม ๓ ถึง ๔ แถว มีประตูลงเพียงทางเดียว แต่ละแถวสลับกันลงด้วยความเป็นระเบียบ เรียบร้อยและงดงามที่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ

           หลังจากนั้นก็ได้ด้ขึ้นเครื่อง และเดินทางถึงสนามบินเอดินบะระ สกอตแลนด์ รู้สึกตื่นเต้นกับสถานที่ใหม่ ๆ สิ่งใหม่ ๆ ที่จะได้เรียนรู้ และที่สำคัญคือเกิดความกังวลใจว่าตรงด่านตรวจคนเข้าเมืองจะมีอะไรไหม เพราะมีปมที่เคยมีปัญหาตลอดเวลาเดินไปปฏิบัติศาสนกิจที่ประเทศญี่ปุ่น และประเทศมาเลเซียที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ซึ่งครั้งนี้ก็เช่นกันก็มีเหตุการณ์ที่ทำให้เสียขวัญสุด ๆ เลย แต่ก็มั่นใจว่าที่สุดแล้วมันก็ต้องผ่านไปได้ด้วยดี เพราะเราเดินทางมาโดยถูกต้องตามกฎหมาย ถ้ามีปัญหาก็คงจะตรงแต่สื่อสารกับเจ้าหน้าที่ไม่รู้เรื่อง เพราะอ่อนภาษาอังกฤษ โดยเรื่องมีอยู่ว่า

           “ถึงด่านตรวจคนเข้าเมืองที่สนามบินเอดินบะระอาตมาก็ได้ต่อคิวอยู่แถวที่ ๒ ถ้านับจากฝั่งซ้ายมือ ระหว่างที่ถึงคิวตนเองจะเดินเข้าไปหาเจ้าหน้าที่เพื่อสแกนนิ้วมือกับเจ้าหน้าที่ หรือถ้าเจ้าหน้าที่สงสัยอะไรก็จะถาม เจ้าหน้าที่คนที่เดินดูความเรียบร้อยตรงแถวก็ได้บอกให้อาตมาเดินเข้าไปพบเจ้าหน้าที่ อาตมาก็รีบเดินเข้าไป แต่เจ้าหน้าที่ตรงช่องอาตมาต่อแถวโบกมือปฏิเสธไม่ให้อาตมาเข้าไป และก็เรียกคนที่อยู่ด้านหลังอาตมาเข้าไปแทน พร้อมกับชี้มือบอกให้ไปต่อแถวใหม่ที่อยู่ข้าง ๆ ซึ่งตอนนั้นก็ขวัญเสียมากเกิดอะไรขึ้น เราก็ต่อแถวเข้าคิวตามปกติ อยากจะถามให้รู้เรื่องว่าปฏิเสธออาตมาทำไมแต่ภาษาอังกฤษก็ไม่แข็งแรง ก็เลยต้องไปต่อใหม่อีกแถวที่อยู่ด้านข้างฝั่งซ้ายมือ และก็ต้องไปต่อจากท้ายแถวซึ่งยาวมาก

         ระหว่างที่ยืนรออยู่ท้ายแถวที่มาต่อคิวใหม่อยู่สักพักหนึ่ง อาตมาก็เริ่มยิ้มได้ เมื่อได้ยินเสียงจากเจ้าหน้าที่ตรงช่องอาตมาต่อคิวพร้อมใช้มือส่งสัญญาให้อาตมาเข้าไปหาโดยแซงคิวขึ้นไปเลย เมื่อไปถึงเขาก็ถามอยู่หลายประโยคก็ตอบได้บ้างตอบแบบเป็นศัพท์ไปเลยเขาก็เข้าใจ และเขาก็ถามว่าสามารถพูดภาษาอังกฤษได้ไหมพร้อมรอยยิ้มที่เป็นมิตร ก็เลยตอบไปว่าพูดได้เล็กน้อย (a little bit) เจ้าหน้าที่ก็ยิ้ม หลังจากดำเนินการทุกอย่างกับเจ้าหน้าที่เสร็จแล้วเจ้าหน้าที่ก็ยกมือไหว้พร้อมรอยยิ้มที่เป็นกัลยาณมิตร และก็เดินไปรับกระเป๋าเดินทางมุ่งหน้าสู่วัดธรรมปทีป พร้อมกับยัง งง ๆ เพราะสงสัยอยู่ว่าทำไมเจ้าหน้าที่คนนั้นเขาถึงปฏิเสธเราแล้วท่านที่กำลังอ่านอยู่สงสัยและคิดเหมือนอาตมาไหมว่าเขาปฏิเสธอาตมาเพราะอะไร

           อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่เดินทางจากสนามบินสุวรรณภูมิจนถึงสนามบินเอดินบะระทำให้ได้เรียนรู้หลายอย่างระหว่างสองข้างทางที่พบเจอมีดังนี้

           ๑) อย่าไปจมปักอยู่กับอดีต กล่าวคือ อาตมารู้ตัวเลยว่าสิ่งที่กังวลใจที่สุดคือตรงด่านตรวจคนเข้าเมือง เพราะมีปมใจเคยมีปัญหาตรงด่านตรวจคนเข้าเมือง แต่สิ่งสำคัญเราต้องอยู่กับปัจจุบัน ทำปัจจุบันให้ดี อดีตมีดีอยู่อย่างเดียวคือสิ่งไหนที่ผิดพลาดนำมาเป็นบทเรียนของชีวิต สิ่งไหนดีงามนำมาเป็นกำลังใจให้ก้าวเดินต่อไป และสาเหตุที่ทำให้เราทุกข์เพราะไม่อยู่กับปัจจุบันคือไปจมปักอยู่กับอดีตและฟุ้งซ้านไปกับเรื่องในอนาคตที่ยังมาไม่ถึง

           ๒) ความสำคัญของภาษาอังกฤษ ณ ปัจจุบันนี้ เราปฏิเสธไม่ได้ว่าภาษาอังกฤษได้เข้ามามีบทบาทต่อวิชีวิตของคนในสังคมโลก และถือว่าเป็นภาษาของมนุษยชาติไปแล้วก็ว่าได้ หากเรามีทักษะทางด้านภาษาอังกฤษก็จะสามารถเปิดโลกทัศน์ ได้เห็นและรับความรู้อันหลากหลายอีกมากมายที่จะเป็นประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตหรือหน้าที่การงานในยุคปัจจุบัน

           ๓) เรียนรู้วัฒนธรรมที่แตกต่าง กล่าวคือ จารีตประเพณี หรือสิ่งที่คนในแต่ละสังคมได้ประพฤติปฏิบัติย่อมแตกต่างกันไป แต่ถ้าเราเรียนรู้และเข้าใจในความแตกต่างทางศาสนา เชื้อชาติ จะทำให้มนุษยชาติอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติภาพ เช่น เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองทักทายด้วยความคำว่า “สวัสดีครับ” หรือ “ยกมือไหว้แบบชาวพุทธเพราะรู้ว่าเราเป็นพระสงฆ์” สิ่งเหล่านี้ชี้ให้เห็นถึงการเข้าใจในความแตกต่างทางวัฒนธรรมและความเคารพในความต่างของกันและกัน ตลอดจนพร้อมที่จะเรียนรู้วัฒนธรรมที่แตกต่างเพื่อให้ทุกอย่างผ่านไปด้วยดี

           ๔) สนามบินดูไบ จากการจัดอันดับ ๑๐๐ อันดับแรกของท่าอากาศยานโลก ปี ค.ศ.๒๐๑๙ (พ.ศ.๒๕๖๒) ในปีนี้เอง จากการโหวตของผู้ที่เดินทางทั่วโลก สนามบินดูไบอยู่อันดับที่ ๒๔ ของโลก (ที่มาของข้อมูล www.worldairportawards.com) ซึ่งเป็นสนามบินที่ถูกจัดอย่างเป็นระบบ สะอาด สวยงาม สะดวก ทันสมัยใหม่ เป็นต้น

จาริกธรรมสกอตแลนด์ ตอนที่ ๔ โดย พระใบฎีกาคทาวุธ คเวสกธมฺโม
จาริกธรรมสกอตแลนด์ ตอนที่ ๔ โดย พระใบฎีกาคทาวุธ คเวสกธมฺโม

           ดังนั้น จะเห็นว่าการเดินทางครั้งนี้ดูหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะเลวร้าย หรือมีปัญหา จะว่าอาตมาเหมือนเด็กบ้านนอกเข้าเมืองกรุงก็ว่าได้ แต่ก็ผ่านมาได้ด้วยดี ทุกอย่างที่เราพบเห็นและเกิดขึ้นไม่มีผิดถูก แต่มันคือการเรียนรู้ ชีวิตของเราต้องพร้อมที่จะเรียนรู้อยู่เสมอ ควบคู่กับการเรียนรู้ใจของเราเองด้วย ทำใจของเราให้ดีให้งาม ชีวิตเราก็จะพบแต่สิ่งดีงาม เพราะใจเป็นใหญ่ ใจเป็นประธาน ใจเป็นที่ตั้ง ทุกอย่างสำเร็จได้ด้วยใจ

           และตอนนี้อาตมาก็ได้เดินทางถึงวัดธรรมปทีป เมืองเอดินบะระ สกอตแลนด์ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ช่วง ๑๐ กว่าวันที่ผ่านมาก็ได้ใช้เวลากับการไปดำเนินการต่าง ๆ และเรียนรู้ ปรับตัว กลับการใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ จาริกธรรมสกอตแลนด์ตอนต่อไปจะได้เล่าถึง “เมื่อถึงสกอตแลนด์” ว่าอาตมาได้ไปดำเนินการ และเกิดอะไรขึ้นบ้าง

หากท่านผู้ที่ติดตามอ่านคอลัมน์นี้อยากรู้ หรือทราบอะไรในสกอตแลนด์ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม แจ้งมาได้ทาง E-Mail katavoot2529@hotmail.com จะได้นำมาเล่าสู่กันฟังต่อไป

พระใบฎีกาคทาวุธ คเวสกธมฺโม ผู้เขียน

คอลัมน์ เขียนธรรมสื่อถึงโลก

นสพ. คมชัดลึก หน้าธรรมวิจัย วันอังคารที่ ๒๕ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๖๒)

โดย พระใบฎีกาคทาวุธ คเวสกธมฺโม กลุ่มเพื่อชีวิตดีงาม หัวหน้าฝ่ายวิชาการ สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม เพื่อความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศฯ

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here