น้อมถวายความอาลัย ๑ ปีแห่งการจากไป ๑๘ มกราคม พ.ศ.๒๕๖๓
พระครูประโชติรัตนานุุรักษ์
“พระครูประโชติรัตนานุรักษ์ หรือ พระอาจารย์สว่าง …ท่านเป็นพระสงฆ์รูปหนึ่งที่มีบทบาทหลากหลาย เป็นเจ้าคณะผู้ปกครอง พระนักพัฒนา พระธรรมทูตอาสาผู้นำจิตวิญญาณ เป็นพระของชาวบ้าน เป็นพระของชุมชนที่เข้าได้กับทุกคน ทุกศาสนา ท่านพูดนายูได้ ท่านรักการปลูกต้นไม้ ท่านใช้พื้นที่ของวัดที่อุดมสมบูรณ์ด้วยป่าจัดกิจกรรมตลอดมา ทั้งงานปฏิบัติธรรม ค่ายกิจกรรมเยาวชน ทั้งพุทธ และมุสลิม”
ความดี คืออนุสาวรีย์ชีวิต
โดย พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท วัดทองนพคุณ คลองสาน กรุงเทพฯ
ทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์ความรุนแรง ทำให้เกิดความสูญเสียกับใครก็ตาม จะมีความสะเทือนใจ และเจ็บปวดใจเป็นที่สุด แล้วพ่อแม่ญาติพี่น้องคนที่เคารพรักเขาจะเจ็บปวดขนาดไหน ยิ่งเป็นเป็นคนที่รู้จักมักคุ้น เคารพ ศรัทธา รู้ว่าท่านยืนหยัดทำหน้าที่เพื่อใคร ยิ่งเจ็บปวดใจหาอะไรมาเปรียบมิได้
ข่าวการมรณภาพของพระครูประโชติรัตนานุรักษ์ เจ้าอาวาสวัดรัตนานุภาพ เจ้าคณะอำเภอสุไงปาดี และประธานเครือข่ายพระธรรมทูตอาสาจังหวัดนราธิวาส กับผู้ช่วยเจ้าอาวาส รวม ๒ รูป ยังความเศร้าสลดใจมาสู่พระสงฆ์ ชาวพุทธทั่วประเทศ
ผู้เขียนได้รู้จักพระครูประโชติฯ หรือพระอาจารย์สว่าง ผ่านการทำงานในฐานะที่ท่านเป็นพระสงฆ์รูปหนึ่งที่มีบทบาทหลากหลาย เป็นเจ้าคณะผู้ปกครอง พระนักพัฒนา พระธรรมทูตอาสาผู้นำจิตวิญญาณ เป็นพระของชาวบ้าน เป็นพระของชุมชนที่เข้าได้กับทุกคน ทุกศาสนา ท่านพูดนายูได้ ท่านรักการปลูกต้นไม้ ท่านใช้พื้นที่ของวัดที่อุดมสมบูรณ์ด้วยป่า จัดกิจกรรมตลอดมา ทั้งงานปฏิบัติธรรม ค่ายกิจกรรมเยาวชน ทั้งพุทธ มุสลิม
ทุกครั้งที่อยู่ใกล้ท่านจะเกิดความอุ่นใจ
ท่านมีความเยือกเย็น
ท่านเป็นผู้ที่ยิ้มแย้มเสมอ
ใบหน้าท่านเปื้อนยิ้มเปี่ยมเมตตา แม้จะรู้จักท่านไม่กี่ปี แต่ท่านก็เหมือนพี่ เหมือนครูอาจารย์ ท่านเป็นคนตัวเล็ก แต่มีหัวใจเด็ดเดี่ยว รักความยุติธรรม ท่านทำงานนึกถึงส่วนรวมเป็นที่ตั้ง เป็นห่วงคนอื่นมากกว่าตนเอง เสียสละยืนหยัดทำหน้าที่ทั้งๆ ที่รู้ว่า เสี่ยง จะเกิดอะไรขึ้นกับชีวิตของตนเองก็ยอม
ขอนำคำพูดของท่านที่ได้สนทนาพูดคุยในหลายครั้ง หลายโอกาสที่ได้ไปจำวัดที่วัดท่าน เดินทางร่วมกัน ทำงานร่วมกัน บางช่วงบางตอนเคยเขียนเล่าลงในหนังสือพิมพ์คมชัดลึก คอลัมน์จาริกบ้าน จารึกธรรมมาแล้ว แต่จะขอนำมาลงไว้เพื่อจะได้เป็นแนวทางในการสานต่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาตามปณิธานของท่าน
ในระหว่างที่เดินทางข้ามฝั่งมาเลเซีย เจอแม่น้ำที่กั้นระหว่างเขตแดนไทยมาเลเซีย ด่านสุไหงโก-ลก ท่านชี้ให้ดูแล้วก็พลางพูดว่า ท่านมหาตอนเด็กๆ บ้านผมอยู่แถวนี้แหละ แม่น้ำสายนี้แหละผมกระโดดเล่นทุกวัน แถวนี้เป็นแหล่งทำมาหากินของผม
ท่านเล่าให้ฟังอีกว่า ผมเกิดที่นี่ พ่อแม่ปู่ย่าตายายผมเป็นคนที่นี่นราธิวาส ผมเรียนที่นี่ สมัยที่เรียนมีชาวพุทธสองคน แต่ทุกคนเป็นเพื่อน เป็นพี่น้องกัน
“ไม่ว่าจะศาสนาไหน เราไปมาหาสู่กัน เราก็ไปบ้านเขา เขาก็มาบ้านเรา ผมภูมิใจที่สุด ครั้งหนึ่งได้ไปเลี้ยงอาหารรุ่นน้องที่โรงเรียน ไปเยี่ยมครูสอน ไปเยี่ยมผู้อำนวยการ เป็นความสุขที่หาอะไรมาเปรียบไม่ได้ เพราะนี่คือบ้านเกิดของผม บ้านที่ผมรัก”
เมื่อครั้งที่ไปเยือนวัดรัตนานุภาพ ท่านก็ได้พาเดิมชมวัด แล้วก็เล่าประวัติความเป็นมาของการก่อสร้างถาวรวัตถุให้ฟัง ท่านเล่าด้วยความภูมิใจ
“ชีวิตผมเกิดมาชาติหนึ่ง ได้สร้างวัดด้วยตนเองถวายเป็นพุทธบูชา ผมมาอยู่ที่นี่ (บ้านโคกโก) ตั้งแต่ยังไม่มีอะไร เริ่มบุกเบิกเป็นสำนักสงฆ์ ผมเริ่มสร้างศาลาหลังแรกคือ ศาลาการเปรียญ หรือศาลาโรงธรรม ใช้ชื่อว่า ศาลาธรรมานุภาพ แล้วก็สร้างศาลาโรงฉัน ใช้ชื่อว่า ศาลาสังฆานุภาพ สิ่งที่ผมจะสร้างเป็นสิ่งสุดท้าย ซึ่งไม่นานก็คงแล้วเสร็จ คือ พระอุโบสถ เป็น ”พุทธานุภาพ” รวมทั้งหมดเข้าด้วยกัน เป็นที่มาของชื่อ วัดรัตนานุภาพ”
แต่ก็น่าเสียดาย ท่านกำหนดงานปิดทองฝังลูกนิมิตในเดือน พฤษภาคม ศกนี้ ตอนที่ท่านเดินทางมาดูลูกนิมิตบริวาร ๑,๒๕๐ ลูก และพระประธานชั้นล่างของพระอุโบสถ (ที่พระครูสิริฯร่วมกับคณะเป็นเจ้าภาพ) ที่จังหวัดนครราชสีมา ผู้เขียนก็ได้ร่วมเดินทางไปด้วย ท่านยังบอกว่า “ท่านมหา ผมไม่ได้หยิ่งนะ จะร่วมบุญลูกนิมิตต้องลงไปทำเองที่วัดรัตนานุภาพนะ แล้วท่านก็หัวเราะ”
ท่านเล่าให้ฟังว่า ในชีวิต ผมไม่อยากได้ยินคำว่า มีวัดร้างในพื้นที่ที่ผมอยู่ เคยมีช่วงหนึ่ง มีวัดหนึ่งชาวบ้านไม่มีที่พึ่ง อยากทำบุญ อยากฟังธรรม แต่ไม่มีพระ ผมคุยกับชาวบ้านโคกโกว่า วันพระ ช่วงเช้าจะไปที่โน้นให้ชาวบ้านได้ทำบุญ ต้องเดินเท้าไปแต่ช่วงเย็นของอีกวัน ไปถึงก็ดึก ตื่นเช้ามาชาวบ้านทำบุญเสร็จ ก็ต้องรีบเดินทางกลับมาให้ทันเพลที่วัดโคกโก เพราะชาวบ้านรออยู่
“ท่านมหาลองนึกภาพดู มีวัดแต่ไม่มีพระอยู่ เจ็บปวดใจนะ คนเฒ่าคนแก่มาวัด เห็นจีวรตากหน้าศาลาก็ยังอุ่นใจ ถ้าไม่มีพระสงฆ์ทำหน้าที่ นั่นหมายถึงลมหายใจของพระพุทธศาสนาหมดไปแล้ว”
ท่านพูดย้ำให้ฟังตลอดว่า พระพุทธศาสนาเป็นสิ่งที่รักสูงสุดของผม ลมหายใจที่มีอยู่ขอถวายเป็นพุทธบูชา และขอทำความดีเพื่อพระพุทธศาสนาจนกว่าจะสิ้นลมหายใจ ผมรู้ว่าทำหน้าที่ตรงนี้เสี่ยง สักวันต้องเป็นอย่างนี้ แต่มันคือบ้านผม บ้านที่ผมรัก
ครั้งหนึ่งที่ท่านได้เดินทางขึ้นมาร่วมงานที่ดอยสูง ณ อาศรมบ้านดอกแดง อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ ท่านบอกว่า “ที่นี่มีความลำบากเป็นอย่างมาก แต่ไม่เสี่ยง ที่ภาคใต้ไม่ลำบาก แต่มีความเสี่ยงเป็นอย่างมาก
“จากการได้ลงทำกิจกรรมจาริกบุญ จารึกธรรมในพื้นที่การทำงานของพระมหา ดร.ฐานันดร ทำให้เห็นความอดทน ความพยายาม ความตั้งใจในการทำงานเผยแผ่ของท่าน พื้นที่ที่ไปมีความลำบากเป็นอย่างมาก แต่ไม่เสี่ยง ที่ภาคใต้ไม่ลำบาก แต่มีความเสี่ยงเป็นอย่างมาก พูดถึงความลำบาก ในการจาริกไปให้โยมได้มีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง เป็นการยากเหมือนกันกว่าชาวบ้านจะได้เจอพระ มีความเหมือนและความต่าง ความเหมือนคือ พระหายาก ”
ท่านประทับใจวันแรกที่มาถึงอาศรมบ้านดอกแดง อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ แล้วได้ขึ้นไปสำรวจพื้นที่ ได้ไปที่ยอดดอย ๓๖๐ องศา พระมหา ดร.ฐานันดร ท่านบอกว่า เป็นการขึ้นมาปฐมนิเทศโครงการและชี้เป้าหมายในการลงชุมชน
“ผมมีความรู้สึกว่า เราได้ขึ้นมาปักธงธรรมนำชัย เพราะว่าการทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาเราจะต้องมองเห็น ๓๖๐ องศา การขึ้นดอยมองจากข้างล่างขึ้นไปยอด ทำให้ท้อ แต่ถ้ามองไปที่ก้าวเดินในแต่ละก้าว ๆ ทำให้มีความหวังที่จะไปสู่จุดหมายที่ตั้งไว้ เหมือนการทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา ไม่ว่าจะที่ภาคเหนือหรือภาคใต้ ก็เหมือนการขึ้นสู่ยอดดอย แม้จะลำบาก เหน็ดเหนื่อยขนาดไหน แต่ถ้าขึ้นไปสู่ยอดดอยได้แล้ว ก็ทำให้มีความหวังที่จะเห็นแสงสว่าง ทำให้พระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งของผู้คน”
ผู้เขียนเคยได้พูดคุยกับท่านถึงกำลังใจ แรงบันดาลใจในการทำงานยืนหยัดเพื่อชาวบ้าน เพื่อชุมชน ท่านได้เล่าให้ฟังว่า มีแรงบันดาลใจในการทำหน้าที่ เมื่อครั้งหนึ่งคณะพระธรรมทูตอาสา ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้มากราบเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ผู้ดำริให้จัดตั้งพระธรรมทูตอาสาขึ้น แล้วเจ้าประคุณฯ ก็ได้ให้โอวาท มีความตอนหนึ่งว่า
“เราตายได้ พระพุทธศาสนาตายไม่ได้ หากไม่มีพระสงฆ์ในพื้นที่ชาวพุทธก็หมดที่พึ่ง แม้วันใดวันหนึ่งข้างหน้า พระพุทธศาสนา ชาวพุทธจะอยู่ไม่ได้จริงๆ ก็ขอให้พระสงฆ์เดินออกจากพื้นที่เป็นคนสุดท้าย”
ทำให้ในปัจจุบันนี้หลายรูปได้ทำลายกำแพงแห่งความกลัวไป เหลือไว้แต่หัวใจที่เสียสละด้วยความศรัทธาในพระพุทธศาสนา ตามปณิธานของเจ้าประคุณสมเด็จฯ
การทำหน้าที่รักษาลมหายใจของพระพุทธศาสนาในพื้นที่ของสีแดงของจังหวัดชายแดนภาคใต้ แม้จะต้องแลกด้วยชีวิต เลือดเนื้อ ลมหายใจท่านก็ยอม ผู้เขียนพึงได้รู้จากการบอกเล่าในเฟซบุ๊กของพระอาจารย์รูปหนึ่งว่า ท่านเคยถูกไอ้โม่งชุดดำเข้าไปก่อเหตุในวัด ๒ ครั้ง แต่ท่านก็หลบหนีออกมาได้ ถึงแม้ท่านจะถูกตามเอาชีวิต แต่ท่านไม่เคยปริปากบอกใคร ถ้าจะตายก็ขอตายที่บ้านเกิด
ปณิธานที่ได้ท่านเล่าให้เพื่อนร่วมอุดมการณ์กลุ่มถักทอสันติภาพ ซึ่งพระอาจารย์รูปหนึ่งได้ถ่ายทอดคำพูดของท่านออกมาให้ทุกคนรับรู้ถึงความหนักแน่น ความเด็ดเดี่ยวของหัวใจท่าน ซึ่งท่านได้กล่าวไว้ว่า
“ไม่ตายไม่ขอเลิกทำความดี ผมไม่หนี ผมถือว่าตรงนี้เป็นแผ่นดินไทย ปูย่าตายายผมเป็นคนพุทธ เกิดตรงนี้ ขอตายตรงนี้”
และส่วนหนึ่งบทให้สัมภาษณ์ของพระครูประโชติฯกับนักข่าว
นักข่าว : หลวงพี่ ทำไมไม่ย้ายไปสงขลา
ท่านพระครู : ถ้าผมย้ายไป ใครจะเป็นหลักชาวพุทธที่นี้
นักข่าว : หลวงพี่ไม่กลัวหรอ
ท่านพระครู : กลัว แต่ที่นี่ก็คือบ้าน
นักข่าว : เวลากลัวหลวงพี่ทำยังไง
ท่านพระครู : อาตมาเคยอ่านพุทธพจน์บทหนึ่ง ไม่รู้จำผิดหรือป่าว แล้วใช้มาตลอดคือ มีชีวิตอยู่วันเดียวแล้วทำประโยชน์ ยังมีคุณค่ามากกว่ามีชีวิตอยู่ร้อยปีแต่ไม่ได้ทำประโยชน์อะไร ถ้าอาตมาตายก็ขอให้ได้ภูมิใจว่าไม่ตายเปล่า ตายเพราะได้ทำประโยชน์ให้พระศาสนาจริงๆ แม้มันจะไม่มีใครเห็นก็ตาม
ไม่รู้อะไรที่หล่อหลอมให้ท่านเป็นท่าน เป็นพระครูประโชติรัตนานุรักษ์ หรือพระอาจารย์สว่างอย่างที่เป็นอยู่ ไม่รู้จะหาพระอย่างท่านได้ที่ไหน ไม่รู้จะใช้เวลาเท่าไหร่ที่จะสร้างพระอย่างท่านได้ หลายคนคงจะจดจำท่านในฐานะพระผู้เสียสละ พระนักพัฒนา พระผู้เป็นที่พึ่งให้กับชาวบ้าน ให้กับชุมชน หลายคนอาจจะจดจำท่านในฐานะพุทธบุตรผู้ยอมสละชีวิตเพื่อพระพุทธศาสนา หลายคนอาจจะจดจำท่านในฐานะครูแห่งสันติที่สอนด้วยชีวิต
สิ่งที่ท่านสร้างสิ่งที่ท่านทำมาตลอดชีวิตมีหลายอย่างที่ยังไม่สำเร็จสมบูรณ์ คือ งานยกช่อฟ้า ปิดทองฝังลูกนิมิต และผูกพัทธสีมาอุโบสถ ซึ่งท่านกำหนดจัดในเดือน ๖-๑๒ พฤษภาคม ศกนี้ และการซื้อที่ดินขยายพื้นที่ของวัด ครั้งหนึ่งในระหว่างที่นั่งรถไฟด้วยกัน ท่านเคยเล่าให้ฟังว่า ท่านมหา ถ้าผมจะตายผมต้องเก็บเงินให้ได้สองแสนบาท ผมถึงจะตายได้ แล้วท่านก็หัวเราะ ผมไม่อยากให้คนที่อยู่ลำบากในการหาเงินจัดงานศพผม และผมอยากจะตั้งกองทุนรักษาพระสงฆ์อาพาธของอำเภอสุไหงปาดี ที่เล่ามาก็เพียงแต่อยากจะบอกต่อปณิธานที่ท่านตั้งใจอยากจะทำให้กับแผ่นดิน และพระพุทธศาสนาตามที่ท่านได้ทำมาตลอดชีวิตของท่านจนถึงลมหายใจสุดท้าย