เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น บ้านเรามีประเพณีทำบุญถึงบรรพบุรุษ ซึ่งเรียกชื่อแตกต่างกันตามภูมิภาค เช่น บุญเดือนสิบ บุญข้าวสาก บุญสารทเดือนสิบ บุญตานก๋วยสลาก หรือ แซนโดนตาล แต่ทั้งหมดนั้นมีความหมายตรงกันก็คือ การทำบุญเพื่ออุทิศให้กับผู้วายชนม์ ซึ่งก็มีบางคนค้านว่า พ่อแม่ผม เป็นคนดีไม่มีทางไปเกิดเป็นเปรตแน่นอนผมไม่ต้องทำก็ได้ เป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อนไปจากวัตถุประสงค์ของบุญประเพณีนี้ ซึ่งเป็นคติโบราณมุ่งให้เราเป็นคนที่มีความกตัญญูกตเวทีและบำเพ็ญทานบารมี ไม่ใช่ว่าพ่อแม่เราจะไปเกิดในที่ไม่ดี แต่เป็นการฝึกฝนจิตใจของเราเองเป็นฐานแห่งการละความตระหนี่  เติมความเมตตากรุณามุ่งเอื้อเฟื้อเพื่อมนุษย์ด้วยกัน สร้างความมั่นคงให้กับครอบครัวและชุมชน

ควันหลงจากบุญเดือนสิบ

โดย พระมหาประสิทธิ์ ญาณปฺปทีโป

เพราะกิจกรรมดังกล่าว เป็นเหตุให้คนในครอบครัวมารวมกันทำบุญ ชุมชนรวมกันในวัดด้วยจิตใจที่มุ่งบุญกุศลร่วมกัน ไม่ใช่เพื่อบันเทิงหลงระเริงในการสังสรรค์ไปกับอบายมุขหรือเครื่องเมาที่ทำให้เกิดความประมาณ ประเพณีบุญนี้จึงเป็นต้นทุนทางวัฒนธรรมที่ส่งเสริมความรักความสามัคคีของคนในครอบครัวและชุมชน

ฐานการคิดเกี่ยวกับที่มาของประเพณีดังกล่าวมาจากพระพุทธศาสนา มีเรื่องที่หลายคนน่าจะได้เคยฟังมาเยอะ แต่จะลองเล่าเรื่องรองที่ไม่ค่อยได้ยินใครพูดถึงใน

“นันทาเปตวัตถุ”

เกี่ยวกับบุพกรรมของนางนันทาเปรต

เรื่องมีอยู่ว่า อุบาสกท่านหนึ่งชื่อนันทเสน ได้เจอกับนางเปรตตนหนึ่งจึงได้ถามว่า “ท่านมีผิวพรรณดำ มีรูปร่างน่าเกลียด ตัวขรุขระดูน่ากลัว มีตาเหลืองเขี้ยวงอกออกเหมือนหมู เราไม่เข้าใจว่าท่านเป็นมนุษย์?

นางเปรตตอบว่า  “ข้าแต่ท่านนันทเสน เมื่อก่อน ฉันชื่อนันทา เป็นภรรยาของท่าน ได้กรรมอันลามกไว้จึงจากโลกนี้ไปสู่เปตโลก”

นันทเสนถามว่า “ท่านทำกรรมชั่วอะไรไว้ด้วยกาย วาจา ใจ เพราะวิบากแห่งกรรมอะไรท่านจึงไปจากโลกนี้สู่เปตโลก?”

 นางเปรตนั้นตอบว่า ​“เมื่อก่อนฉันเป็นหญิงดุร้าย หยาบคาย ไม่เคารพท่าน พูดคำชั่วหยาบกะท่าน จึงไปจากโลกนี้สู่เปตโลก”

นันทเสนกล่าวว่า  “เอาละ เราจะให้ผ้านุ่งแก่ท่าน ขอท่านจงนุ่งผ้านี้แล้วจงมา เราจักนำท่าน ไปสู่เรือน ท่านไปเรือนแล้วจักได้ผ้า ข้าวและน้ำ ทั้งจักได้ชมบุตรและลูกสะใภ้ของท่าน”

นางเปรตกล่าวว่า “ ผ้านั้นถึงท่านจะให้ที่มือของฉัน ด้วยมือของท่าน ก็ย่อมไม่สำเร็จประโยชน์แก่ฉัน ขอท่านจงเลี้ยงดูภิกษุทั้งหลายผู้สมบูรณ์ด้วยศีลปราศจากราคะ เป็นพหูสูต ให้อิ่มหนำด้วยข้าวและน้ำ แล้วอุทิศส่วน กุศลไปให้ฉัน เมื่อท่านทำอย่างนั้น ฉันจักมีความสุข สำเร็จความปรารถนาทั้งปวง”

เมื่อนันทเสนอุบาสกรับคำแล้ว ได้ให้ทานเป็นอันมาก คือ ข้าว น้ำ ของกิน ของเคี้ยว ผ้า เสนาสนะ ร่ม ของหอม ดอกไม้ และรองเท้าต่างๆ และเลี้ยงดูภิกษุทั้งหลายผู้สมบูรณ์ด้วยศีล ปราศจากราคะเป็นพหูสูตให้อิ่มหนำด้วยข้าวและน้ำ แล้วอุทิศส่วนกุศลไปให้นางนันทา ข้าว น้ำ และเครื่องนุ่งห่มอันเป็นวิบาก ย่อมบังเกิดในทันตานั้นนั่นเอง นี้เป็นผลแห่งทักษิณา ในขณะนั้นนั่นเอง นางเปรตนั้นมี   ร่างกายบริสุทธิ์สะอาด นุ่งห่มผ้าอันดีมีค่ายิ่งกว่าผ้าแคว้นกาสี ประดับด้วยวัตถาภรณ์อันวิจิตรเข้าไปหาสามี

นันทเสนอุบาสกจึงถามว่า

ดูกรนางเทพธิดา ท่านมีวรรณะงามยิ่งนักส่องสว่างไสวไปทั่วทุกทิศ  สถิตอยู่ดุจดาวประกายพฤกษ์ ท่านมีวรรณะงามเช่นนี้ อิฐผลย่อม  สำเร็จแก่ท่านในวิมานนี้ และโภคะทุกสิ่งทุกอย่างอันเป็นที่รักแห่งใจย่อมเกิดแก่ท่านเพราะกรรมอะไร ดูกรนางเทพธิดาผู้มีอานุภาพมาก  ฉันขอถามท่าน เมื่อท่านเกิดเป็นมนุษย์ได้ทำบุญอะไร อนึ่ง ท่านมีอานุภาพ  รุ่งเรืองและมีรัศมีสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอย่างนี้ เพราะกรรมอะไร?”

นางนันทาเทพธิดาตอบว่า

​“ข้าแต่ท่านนันทเสน เมื่อก่อน ฉันชื่อนันทาเป็นภรรยาของท่าน ได้ทำกรรมชั่วช้าจึงไปจากมนุษยโลกนี้สู่เปตโลก ฉันอนุโมทนาทานที่ท่านให้แล้วจึงเป็นผู้ไม่มีภัยแต่ที่ไหนๆ ดูกรคฤหบดี ขอท่านพร้อมด้วยญาติทั้งปวงจงมีอายุยืนนานเถิด ดูกรคฤหบดี ท่านประพฤติธรรมและให้ทานในโลกนี้แล้ว จะเข้าถึงถิ่นฐานอันไม่เศร้าโศก ปราศจากธุลี อันเป็นที่อยู่ของท้าววสวัสดี ท่านกำจัดมลทิน คือ ความตระหนี่พร้อมด้วยรากแล้ว อันใครๆ ไม่ติเตียนได้ จักเข้าถึงโลกสวรรค์”

อยากชวนสังเกตแบบนี้ว่า เปรตไม่ได้รับบุญที่เราทำ เราเองได้บุญอันนั้น แต่เปรตจะได้รับบุญเพราะได้อนุโมทนากับบุญที่เราทำ เรียกว่า อนุโมทนามัย บุญสำเร็จได้ด้วยการอนุโมทนา ถึงที่สุดแล้วเปรตก็ต้องทำบุญเอง คืออนุโมทนาด้วยตนเอง บุญที่เกิดก็ด้วยสิ่งที่ตนทำ และเมื่อได้อนุโมทนาแล้วส่วนแห่งบุญก็ปรากฏผล พ้นจากทุกข์ถึงความสุขในทันที

และบางคนก็ถามอีกว่า ทำไมต้องเป็นลูกหลานหรือญาติทำบุญให้ ไม่ต้องคิดไปไกลเลยนะ เราลองคิดเอาใกล้ๆ ว่าระหว่างลูกเราทำอาหารธรรมดาๆ ให้เรารับประทาน กับลูกคนอื่นทำอาหารอย่างแพงให้เรารับประทาน เราจะรู้สึกภูมิใจกับลูกเรา หรือลูกคนอื่นมากกว่ากัน

พระพุทธเจ้าจึงบอกว่า “ร่มเงาของญาตินั้นร่มเย็นที่สุด

“ควันหลงจากบุญเดือนสิบ”

โดย พระมหาประสิทธิ์ ญาณปฺปทีโป

จากคอลัมน์ โชคดีที่มีพระ

(หน้าพระไตรสรณคมน์ นสพ.คมชัดลึก วันพฤหัสบดีที่ ๒๖ กันยายน พ.ศ.๒๕๖๒)

“ควันหลงจากบุญเดือนสิบ” โดย พระมหาประสิทธิ์ ญาณปฺปทีโป
คอลัมน์ โชคดีที่มีพระ หน้าพระไตรสรณคมน์ นสพ.คมชัดลึก วันพฤหัสบดีที่ ๒๖ กันยายน พ.ศ.๒๕๖๒

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here