เมื่อวันที่ ๑๕ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๖๗ ที่ผ่านมา พระเดชพระคุณพระปัญญาวชิราภรณ์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร , พระอาจารย์เทอด ญาณวชิโร และ พระครูสิริวิหารการ เมตตาเยี่ยมเยือนให้กำลังใจคณะสงฆ์พุทธสถานฮ่องธรรม และให้กำลังใจสามเณรโครงการบรรพชาสามเณรพุทธศากยบุตร “ฮ่องธรรม ฮ่องคำอิสาน” ในการ “ฝึกฝนกาย พัฒนาจิตใจ สร้างบุญบารมี” โครงการบรรพชาสามเณรฤดูร้อน ซึ่งจัดขึ้้นตั้งแต่วันที่ ๓๑ มีนาคม – ๑๙ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๖๗
ณ พุทธสถานฮ่องธรรม ตำบลทุ่งไชย อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ
การเรียนรู้เพื่อเพิ่มทักษะแห่งการใช้ชีวิตในกระแสของความสงบจากการบวชเรียน เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีคือการควบคุมจิตใจของตนเองให้เป็นกุศล ไม่เบียดเบียนใคร ไม่คิดห่มเหงใคร และสิ่งสำคัญ ไม่ลดทอนความตั้งใจของใคร ตั้งมั่นในความเพียร สิ่งเหล่านี้เรียกว่า “สร้างบุญ สร้างบารมี ฮ่มธรรม ฮ่องคำอิสาน”
ในธรรมนิพนธ์เรื่อง “ลูกผู้ชายต้องบวช” เรียบเรียงโดย ญาณวชิระ : อดีตพระราชกิจจาภรณ์ (พระอาจารย์เทอด ญาณวชิโร) ท่านได้อธิบายเรื่อง อานิสงส์ของการบวชไว้ดังนี้
คุณมารดาบิดามีค่ายิ่ง
การบวช คือ การตอบแทนคุณบิดามารดา
เรามักได้ยินคนพูดกันจนคุ้นหูว่า “เกิดเป็นลูกผู้ชายชาวพุทธชาติหนึ่งต้องบวช” ทั้งๆ ที่ไม่รู้ว่าทำไมเกิดเป็นลูกผู้ชายจึงต้องบวช คำพูดนี้เป็นคำพูดของชาวไทยที่นับถือพระพุทธศาสนา ผ่านความเปลี่ยนแปลงของชีวิต จนเกิดประสบการณ์ รู้เห็นความเป็นไปของสังคม เข้าใจความเป็นจริงของชีวิต จึงต้องการทำสิ่งงดงามที่สุดให้แก่ชีวิต และให้แก่ผู้ที่ได้ชื่อว่า “พ่อกับแม่” แม้ลูกผู้ชายหลายคนจะให้เหตุผลของการบวชว่า ตั้งใจบวชให้พ่อแม่ก็ตาม
แต่แท้ที่จริง การบวชในพระพุทธศาสนา
ย่อมสำเร็จประโยชน์แก่ตัวผู้บวชนั่นเองเป็นเบื้องต้น
หลายคนบอกว่า หากการบวช คือ การทำความดีเพื่อพ่อแม่ สำหรับลูกผู้ชายคนหนึ่ง ถ้าเราเป็นคนดีอยู่แล้ว เป็นคนมีระเบียบวินัย ตั้งใจศึกษาเล่าเรียน มีความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ไม่เป็นอันธพาลสร้างความเดือดร้อนให้แก่สังคม ไม่เที่ยวเตร่ดึกดื่นทำให้พ่อแม่เป็นห่วงเป็นกังวล จนกินไม่ได้นอนไม่หลับเช่นนี้ ก็ไม่จำเป็นต้องบวช เพราะอย่างไรก็เป็นคนดีอยู่แล้ว
แต่ความดีของลูกตามที่กล่าวนั้น ไม่ใช่ความหวังสุดท้ายที่พ่อแม่ต้องการ พ่อแม่ทุกคนรักลูก ไม่อยากเห็นลูกลำบาก และล้วนหวังที่จะเห็นลูกเป็นคนดี มีความเจริญก้าวหน้าในชีวิต
การที่ลูกเจริญเติบโตโดยปราศจากแขนขาพิกลพิการ ไม่เป็นอันธพาลสร้างความเดือดร้อนให้สังคม การเห็นลูกสำเร็จการศึกษา มีความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน มีหลักฐานมั่นคง พออุ่นใจได้ว่าลูกจะไม่ลำบากเดือดร้อน สิ่งเหล่านี้เป็นความหวังของผู้ที่ได้ชื่อว่า “พ่อแม่” แต่ความหวังสูงสุด อันเป็นความหวังสุดท้าย คือ การที่จะได้เห็นผ้าเหลืองห่มกายลูกชาย ภายใต้ร่มเงาพระพุทธศาสนา
หากมีลูกชาย ชาวไทยที่นับถือพระพุทธศาสนา จึงมักตั้งความหวังลึกๆ ไว้ในใจเสมอว่า วันหนึ่งจะได้ยินจากปากลูกชายว่า “ผมจะบวชให้พ่อกับแม่”
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้หญิงที่ได้ชื่อว่า “แม่” มักมีความเชื่อว่า การบวชในพระพุทธศาสนานั้น เป็นการสร้างบุญครั้งยิ่งใหญ่ เป็นการสร้างบุญที่แม่ไม่สามารถสัมผัสได้ เมื่อรู้ว่าได้ลูกชาย จึงหวังที่จะให้ลูกได้บวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา เพราะความรู้สึกที่ว่า ลูกชายบวชก็เหมือนแม่ได้บวชด้วย
ความหวังนี้ ก่อตัวขึ้นอย่างเงียบๆ ภายใต้จิตใจที่เต็มเปี่ยมด้วยศรัทธาที่มีต่อหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา และพลังแห่งความรักความเมตตาไร้ขอบเขต ไร้พรมแดน ตั้งแต่วันแรกที่ลูกชายลืมตาดูโลก
แม่บางคนอาจจะรอวันนี้จนแก่ชรา จึงได้เห็นผ้าเหลืองห่มตัวลูกชาย บางคนอาจรอมาทั้งชีวิตก็ยังไม่มีโอกาสได้เห็นชายผ้าเหลืองลูกชาย
ลูกชายบางคนปล่อยให้แม่รอจนแก่ชราจึงบวชให้แม่บางคนบวชเมื่อแม่จากไปโดยที่แม่ไม่มีโอกาสได้เห็นผ้าเหลืองของลูกชาย
อานิสงส์ของการบวช
เหตุที่มีคำกล่าวว่า ลูกผู้ชายต้องบวช เพราะการบวชเป็นการตอบแทนบุญคุณพ่อแม่อย่างสูงสุด เป็นการทำความหวังสุดท้ายของพ่อแม่ให้บริบูรณ์ นอกเหนือจากความหวังที่ต้องการให้ลูกเป็นคนดี มีความเจริญก้าวหน้าในชีวิต ในหน้าที่การงาน มีความปลอดภัยในชีวิต
การมีโอกาสเกิดเป็นลูกผู้ชาย ภายใต้ร่มเงาพระพุทธศาสนา ถือว่าเป็นความโชคดีของชีวิต เป็นความโชคดีที่ลูกผู้ชายอีกหลายพันล้านไม่มีโอกาสสัมผัสได้ ยิ่งถ้ามีโอกาสได้บวชเรียนในพระพุทธศาสนา ดำเนินชีวิตอย่างพุทธบุตร ผู้แสวงหาความสงบ แม้ชั่วระยะเวลาหนึ่งของชีวิต มากบ้าง น้อยบ้าง ตามโอกาส ยิ่งเป็นช่วงชีวิตที่งดงามควรค่าแก่การจดจำ ยากที่จะลืมได้
บางคนเชื่อว่า การบวช ๗ วัน ๑๕ วัน ๑ เดือน เป็นสัญญาณบอกให้รู้ว่า อายุพระศาสนาสั้นเข้า เป็นยุคที่พระศาสนาเสื่อม แต่ถ้ามองกลับกัน ตราบใดที่ยังมีคนบวช ๗ วัน ๑๕ วัน ๑ เดือน ติดต่อกันไม่ขาดสาย ตราบนั้น พระพุทธศาสนาก็ไม่มีวันเสื่อมสลาย สีแห่งผ้ากาสาวพัสตร์ จะยังสงบเย็นเหลืองอร่ามโลกตลอดไป
ในอีกด้านหนึ่ง ผู้ที่ผ่านการบวชเรียนเขียนอ่าน ๗ วัน ๑๕ วัน ๑ เดือน หรือ ๑ พรรษา เมื่อลาสิกขากลับไปดำเนินชีวิตอย่างชาวบ้าน เขาเหล่านั้นก็ล้วนผ่านเส้นทางธรรมมาแล้ว ย่อมมีหลักให้กับชีวิต สามารถประคับประคองตนให้อยู่ในกรอบแห่งชีวิตที่ดีงามได้ เป็นลูกก็เป็นลูกที่ดีของพ่อแม่ เป็นสามีก็เป็นสามีที่ดีของภรรยา เป็นพลเมืองก็เป็นพลเมืองที่ดีของประเทศชาติ เป็นหลักในการเผยแผ่ธรรมะ เป็นกำลังในการสืบทอดพระศาสนา และเป็นปราการที่แข็งแกร่งในการปกป้องคุ้มครองพระพุทธศาสนา
เขาจะเป็นคนที่มีความอดทนเข้มแข็ง
และกล้าแกร่ง
แม้ในยามเผชิญช่วงเวลาแห่งความยากลำบากของชีวิต
ธรรมนิพนธ์ เรื่อง “ลูกผู้ชายต้องบวช” เรียบเรียงโดย ญาณวชิระ
: อดีตพระราชกิจจาภรณ์ (พระอาจารย์เทอด ญาณวชิโร)
การบวชในพระพุทธศาสนา เป็นการเจริญรอยตามแบบอย่างองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้พระองค์ทรงเป็นโอรสกษัตริย์ แต่พระองค์กลับเสียสละทุกอย่างออกบวช เพื่อแสวงหาหนทางที่จะนำไปสู่ความหลุดพ้นจากความทุกข์ ในที่สุดก็ได้ตรัสรู้ตามที่ทรงประสงค์
พระองค์อาศัยพระมหากรุณาอันยิ่งใหญ่ ออกเทศนาสั่งสอนผู้คนให้รู้ความเป็นจริงของชีวิต และวิธีการที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาของชีวิต สูงสุดจนถึงความดับทุกข์อย่างสิ้นเชิง มีผู้ศรัทธาเลื่อมใสขอบวชตามพระพุทธองค์เป็นจำนวนมาก แม้ผู้ที่บวชในปัจจุบัน ก็ชื่อว่าบวชตามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ในทางพระพุทธศาสนา แสดงเรื่องการบวชไว้ว่า เป็นสิ่งที่ให้สำเร็จประโยชน์ได้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับการประพฤติปฏิบัติด้วยกาย วาจา ใจโดยตรง
การบวชทำให้ชีวิตและสังคมงดงาม
ชีวิตภายใต้ร่มผ้ากาสาวพัสตร์เป็นชีวิตที่งดงาม และเต็มไปด้วยพลังแห่งการสร้างสรรค์สิ่งดีงาม ชีวิตภายใต้ร่มผ้ากาสาวพัสตร์จึงเป็นชีวิตที่ผู้คนทั้งหลายต้องการให้ลูกหลานเข้าไปสัมผัส เพราะวิถีของนักบวชคือ การฝึกฝนอบรมตน ขัดเกลากิเลสให้เบาบาง สูงสุดเพื่อทำกิเลสให้สิ้นไป แม้จะบวชไม่นานนัก และยังไม่อาจกระทำในสิ่งสุดได้ในชาตินี้ แต่สิ่งที่ได้อานิสงส์หลังจากการลาสิกขาคือ มีคนนับหน้าถือตาในสังคม เนื่องจากผู้ที่ผ่านการบวชเรียนเขียนอ่านแล้ว เชื่อว่าจะเป็นคนดีน่าคบค้าสมาคม เมื่อคบเข้าแล้วก็เป็นที่หวัง หรืออบอุ่นใจได้ว่าจะไม่ทำให้ชื่อเสียงเกียรติยศเสียหาย และเป็นที่พึ่งแก่กันและกันได้ตลอดไป
ชีวิตที่ผ่านการบวชเรียนเขียนอ่านฝึกอบรมจิตใจ เป็นชีวิตที่งดงามด้วยความดี น่าคบค้าสมาคม นอกจากผู้ที่ผ่านการบวชจะทำชีวิตของตนเองให้งดงามแล้ว ยังทำให้สังคมงดงามด้วย
การบวชทำให้จิตใจงดงาม
ชีวิตภายใต้ร่มผ้ากาสาวพัสตร์ เป็นชีวิตที่เพียรพยายามเอาชนะจิตใจตัวเอง เป็นชีวิตที่ฝึกทวนกระแสจิต ถ้าโกรธก็จะไม่โกรธจนระงับไม่ได้ ถ้าเกลียดก็จะไม่เกลียดจนผูกใจเจ็บอาฆาตพยาบาทปองร้าย จนนำไปสู่การเข่นฆ่าทำลายล้างซึ่งกันและกัน
ถ้าจิตใจไม่มีข้อมูลขยะ คือ ความวิตกกังวลใดๆ ที่เป็นไปในทางที่ไม่ดี ไม่มีไฟ คือ ความโกรธ ความเกลียด ความอาฆาตพยาบาท ความอิจฉาริษยา เป็นต้น แผดเผาให้รุ่มร้อน จิตใจจะสงบทำให้เกิดความสงบเย็นได้ในระดับหนึ่ง
คนที่ผ่านการบวชมาแล้ว เท่ากับผ่านการฝึกกลั่นกรองไม่ให้ความกังวลเข้ามาสู่จิต ฝึกรับข้อมูลจริงและทิ้งข้อมูลขยะ ที่ถูกส่งผ่านเข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ป้องกันไม่ให้ข้อมูลขยะ คือ ความโกรธเกลียด อาฆาต พยาบาท และวิตกกังวล เป็นต้น เข้ามาแผดเผาจิตใจ
ผู้ที่ผ่านการบวช และได้รับการฝึกหัดขัดเกลาที่ดี จึงเป็นคนมีความละเอียดสุขุม เป็นคนมองโลกในแง่ดี มองโลกตามความเป็นจริง มีความยับยั้งชั่งใจ ซึ่งมาจากพื้นฐานจิตใจที่งดงาม
การบวชช่วยขัดเกลาอุปนิสัยให้อ่อนโยน
ชีวิตภายใต้ร่มผ้ากาสาวพัสตร์ เป็นชีวิตที่มุ่งไปสู่การทำลายกิเลสให้หมดสิ้นไป ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดของหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา แม้เป้าหมายนั้นอาจอยู่ห่างไกล และก้าวไปได้ยาก ในความรู้สึกของชาวบ้าน ถึงอย่างนั้น การบวชก็เป็นการฝึกหัดขัดเกลาจิตใจให้อ่อนโยนงดงาม ไม่หยาบกระด้าง ไม่ก้าวร้าวรุนแรง มีความโอบอ้อมอารี เห็นอกเห็นใจผู้อื่น ซึ่งเมื่อบวชแล้วนอกจากจะได้เห็นใจตนเอง ยังได้เห็นอกเห็นใจผู้อื่นด้วย
เป้าหมายที่เกี่ยวกับจิตใจและการละกิเลส เป็นประโยชน์โดยตรงต่อจิตใจของผู้บวช ถึงแม้จะไม่สามารถทำลายกิเลสลงได้อย่างราบคาบ แต่การบวชก็เป็นการสร้างบารมี เพื่อความสมบูรณ์แห่งจิตยิ่งขึ้นในภายหน้า ทำให้ได้เห็นใจตนเอง คือได้เห็นความรู้สึกนึกคิดของตนเองชัดเจนมากยิ่งขึ้น เนื่องจากชีวิตภายใต้ร่มผ้ากาสาวพัสตร์ มีเวลาในการปฏิบัติฝึกหัดขัดเกลาจิตมาก จึงมีโอกาสได้เห็นตัวตนที่แท้จริงว่าเราเป็นคนอย่างไร ทำให้ความก้าวร้าวรุนแรงในจิตใจลดน้อยลง จิตใจที่ผ่านการฝึกหัดเช่นนี้เป็นจิตที่อ่อนโยนละเอียดประณีต
การบวชเป็นการสนองความหวังดีของพ่อแม่
ชีวิตภายใต้ร่มผ้ากาสาวพัสตร์ ได้ชื่อว่าเป็นการตอบแทนบุญคุณพ่อแม่ เพราะพ่อแม่เห็นว่าเป็นทางที่จะช่วยเสริมชีวิตลูกให้ดีขึ้น เสริมบุญ เสริมบารมี เสริมจิตใจ เสริมความเจริญก้าวหน้า เสริมเกราะป้องกันจากผู้จองเวร ฯลฯ โดยเฉพาะส่งเสริมทางด้านจิตใจ เช่น พ่อแม่เห็นว่าลูกเป็นคนไม่ละเอียดอ่อน ใจร้อน วู่วาม หุนหันพลันแล่น เจ้าโทสะ ไม่รู้จักบาปบุญคุณโทษ ก็ต้องการให้ลูกเป็นคนสุขุมเยือกเย็น รู้จักยับยั้งชั่งใจ จึงอยากให้บวชในพระพุทธศาสนา เพื่ออบรมขัดเกลาจิตใจให้เย็นลง เป็นการแสดงถึงความปรารถนาดีของพ่อแม่ เมื่อลูกได้บวช จึงกล่าวได้ว่า เป็นการตอบสนองความปรารถนาดีของพ่อแม่
ลูกที่รู้จักตอบสนองความปรารถนาดีพ่อแม่นั้น ถือได้ว่าเป็นการตอบแทนพระคุณท่านอีกทางหนึ่ง เมื่อลูกบวช พ่อแม่เกิดความเบาใจและยังมีโอกาสได้ทำบุญทำทาน มีโอกาสได้เข้าวัดสวดมนต์ฟังเทศน์รักษาศีล หรือที่ทำอยู่แล้วก็ได้ทำมากขึ้นเป็นพิเศษ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นแก่พ่อแม่ ล้วนมาจากการบวชของลูก เท่ากับว่าลูกเป็นสื่อให้พ่อแม่ได้ทำบุญ
คนไทยจึงถือกันว่า ลูกบวชแล้วทำให้พ่อแม่เกาะชายผ้าเหลืองขึ้นสวรรค์ เพราะเมื่อลูกบวชแล้ว ทำให้พ่อแม่มีโอกาสได้ทำบุญให้ทานรักษาศีล สวดมนต์ไหว้พระเจริญภาวนามากขึ้นเป็นพิเศษ ในขณะที่ลูกบวชเป็นพระ จิตใจพ่อแม่ก็อยู่กับลูกตลอดเวลา
การบวชเป็นการสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา
ชีวิตภายใต้ร่มผ้ากาสาวพัสตร์ เป็นชีวิตที่ช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา เพราะช่วงเวลาที่เข้าไปบวชเรียนอยู่ในพระพุทธศาสนา ต้องใช้ชีวิตอย่างสมถะ สงบเสงี่ยมเรียบง่าย ไม่กล่าวร้าย ไม่ว่าร้าย ไม่ทำร้ายใครๆ เป็นผู้ที่ละเว้นในสิ่งที่ไม่ควรไม่เหมาะสม
การดำเนินชีวิตเช่นนี้ ชื่อว่าเป็นการสืบต่อพระพุทธศาสนาให้ยืนยาวออกไป เพื่อเป็นประโยชน์แก่คนในรุ่นหลัง แม้ชั่วระยะเวลาของการบวช ๗ วัน ๑๕ วัน เดือนหนึ่ง หรือพรรษาหนึ่ง ก็เป็นการนำชีวิตเข้าไปสืบต่อพระศาสนานั่นเอง
พ่อแม่ก็ชื่อว่า ได้สืบต่ออายุพระศาสนาด้วย เพราะชีวิตของลูกเป็นชีวิตที่มีพ่อแม่เป็นเจ้าของ เลือดและเนื้อที่เจริญเติบโตอยู่ในร่างกายของลูก ก็เป็นเลือดเนื้อจากอกของพ่อแม่ ได้นำไปต่ออายุพระศาสนา การต่ออายุพระศาสนาด้วยการบวชเรียนเขียนอ่านของลูก จึงมีอานิสงส์มาถึงพ่อแม่ผู้ให้กำเนิด
นอกจากนั้น เพราะการบวชของลูกชาย ยังได้ชื่อว่า ทำให้พ่อแม่เป็นญาติพระศาสนาด้วย
อานิสงส์ของการบวชตามคติโบราณ
อานิสงส์ของการบวชเพื่อตอบแทนค่าน้ำนมของมารดาบิดานี้คนโบราณแสดงอุปมาไว้ว่า
ถึงแม้มีบุคคลผู้ทรงฤทธิ์เหาะไป เก็บดอกไม้จากป่าอันกว้างใหญ่ไพศาล มาสักการบูชาองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตั้ง ๑,๐๐๐ องค์ กระทำอยู่อย่างนี้ทุกวันมิได้ขาดตลอดกาล อานิสงส์นั้นจะนำมาเปรียบกับการได้บวชในพระพุทธศาสนาไม่ได้เลย หรือแม้จะถวายจตุปัจจัยทั้ง ๔ คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และยารักษาโรค แด่พระพุทธเจ้าถึงโกฏิองค์อานิสงส์นั้นจะนำมาเปรียบกับการได้บวช ในพระพุทธศาสนาไม่ได้เลย หรือ ถึงแม้จะมีมหาเศรษฐีจัดสร้างพระพุทธรูปให้เต็มห้วงจักรวาลนี้ แล้วกระทำการสักการะด้วยแก้วทั้ง ๗ ประการ กองประมาณเท่าภูเขาสูงหลายร้อยหลายพันโยชน์ อานิสงส์นั้นจะนำมาเปรียบกับการได้บวช ในพระพุทธศาสนาไม่ได้เลย
และหากจะมีเทพบุตรองค์หนึ่งเป็นผู้มีฤทธานุภาพมาก เสกเอาพื้นปฐพีอันหนาได้สองแสนสี่หมื่นโยชน์มาขยี้ทำให้เป็นผงใช้แทนหมึก แล้วเอามหาสมุทรลึกแปดหมื่นสี่พันโยชน์มาละลาย เอาภูเขาสิเนรุสูงถึงแปดหมื่นสี่พันโยชน์เป็นปากกาสำหรับเขียน เอาท้องฟ้าอันราบเรียบกว้างใหญ่ไพศาลหาที่สุดมิได้ เป็นสมุดจดจารึกบันทึกผลบุญของบุคคลผู้ได้บวชในพระพุทธศาสนา เขียนด้วยปากกาคือภูเขา จนสิ้นหมึกคือพื้นพสุธา สิ้นกระแสชลคือมหาสมุทร ขีดเขียนไปจนหมดหนังสือคือท้องฟ้า จะพรรณนาคุณการบวชให้หมดนั้น ไม่มี
การบวชมีอานิสงส์มากเท่านั้นจะตอบแทนได้ คนโบราณใช้โวหารแสดงอุปมาไว้ เพื่อเป็นสิ่งเปรียบเทียบให้เห็นความยิ่งใหญ่ของพระคุณพ่อแม่
โครงการบรรพชาสามเณรฤดูร้อน
๓๑ มีนาคม – ๑๙ เมษายน ๒๕๖๗
ณ พุทธสถานฮ่องธรรม ตำบลทุ่งไชย อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ จัดโดย พระมหาติ่ง มหิสฺสโร,ดร. ประธานสงฆ์ / ประธานมูลนิธิบุญพระศาสนาสงเคราะห์,พระมหาสิทธิชัย สิทฺธิญาโณ วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร กรุงเทพ และ พระบุรินทร์ ฐานสมฺปนฺโน สำนักสงฆ์ พุทธสถานฮ่องธรรม อีสาน
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ พระมหาติ่ง มหิสฺสโร,ดร. ๐๘๓-๗๒๙๘๒๙๗
ประธานสงฆ์ / ประธานมูลนิธิบุญพระศาสนาสงเคราะห์