๑๙ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๗ เวลา ๑๖.๐๐ น.
จารึกไว้ในประวัติศาสตร์
“เราตายได้ พระพุทธศาสนาตายไม่ได้”
เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ)
พระพุทธศาสนา คือ ขวัญแห่งแผ่นดิน
พิธีอัญเชิญหิรัญบัฏ พัดยศ และเครื่องประกอบสมณศักดิ์ พระราชาคณะเจ้าคณะรอง
ถวายแด่ พระพรหมสิทธิ (ธงชัย สุขญาโณ)
อัญเชิญสัญญาบัตร พัดยศ ถวายแด่พระศรีคุณาภรณ์ (บุญทวี ปญฺญาวํโส)
และถวายสัญญาบัตร พัดยศ แด่ พระครูสิริวิหารการ (สมจิตร จิตฺตธมฺโม)
ณ พระอุโบสถวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร
ขบวนอัญเชิญได้เข้าสู่พระอุโบสถ โดยมีพระเดชพระคุณพระธรรมโพธิมงคล เจ้าอาวาสวัดสระเกศฯ พระเถรานุเถระ พร้อมด้วยคณะศิษยานุศิษย์ร่วมพิธีจำนวนมาก จนเต็มพระอุโบสถ
จากนั้น นายพิชิต ชื่นบาน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี อ่านประกาศราชกิจจานุเบกษา สถาปนาสมณศักดิ์ และพระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์ เจ้าหน้าที่สำนักอาลักษณ์และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ อัญเชิญหิรัญบัฎ พร้อมเครื่องประกอบสมณศักดิ์ ถวายแด่พระพรหมสิทธิ เจ้าหน้าที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ถวายสัญญาบัตรแด่พระพรหมสิทธิ และ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ถวายพัดยศแด่พระพรหมสิทธิ
ต่อจากนั้น เจ้าหน้าที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ถวายสัญญาบัตรแด่ พระศรีคุณาภรณ์ และผู้อำนวยการ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ถวายพัดยศแด่พระศรีคุณาภรณ์
และเจ้าหน้าที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ถวายสัญญาบัตรแด่พระครูสิริวิหารการ และผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ถวายพัดยศแด่พระครูสิริวิหารการ พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ เจริญชัยมงคลคาถาฯ
ขอน้อมกราบถวายความยินดี
ด้วยความเคารพอย่างยิ่ง
พระเดชพระคุณ พระพรหมสิทธิ
อาจารย์เจ้าคุณ พระศรีคุณาภณ์
อาจารย์ พระครูสิริวิหารการ
ผู้เขียนได้มาทำงานในนามกลุ่มเพื่อชีวิตดีงาม สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมฯ วัดสระเกศ ในช่วงท้ายของหลวงพ่อ เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) ผู้ให้อมตะวาจาอันเป็นกำลังใจยิ่ง แก่พระสงฆ์ผู้ทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาว่า
“เราตายได้ พระพุทธศาสนาตายไม่ได้”
เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ)
พระเดชพระคุณ หลวงพ่อพระพรหมสิทธิ (ธงชัย สุขญาโณ) พระผู้สืบทอดปณิธานหลวงพ่อเจ้าประคุณสมเด็จฯ พระผู้เป็นศูนย์รวมใจ เป็นหลักใจของพระนักเผยแผ่ ผู้ให้โอกาสพระหนุ่มเณรน้อยได้ทำหน้าที่เผยแผ่ อย่างใจกว้าง อบอุ่นหัวใจอันหาประมาณมิได้
คุณสมบัติ วิสัยทัศน์ของพระเดชคุณฯ ได้ถูกส่งต่อมาจากเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) ผู้มองโลกกว้างผู้เชื่อมคณะสงฆ์ไทย มหายาน จีน เกาหลี ญี่ปุ่น และคณะสงฆ์ทั่วโลกให้เป็นเลือดเนื้อเดียวกัน คือ พระธรรมวินัย อันเป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าพระองค์เดียวกัน
เจ้าประคุณสมเด็จฯ ก็ได้สืบทอดมาจากบูรพาจารย์ คือ เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทยมหาเถระ) เจ้าพระคุณผู้ช่ำชองในการสื่อสาร มีความชำนาญในการสื่อสารภาษาอังกฤษ ภาษาญี่ปุ่น ภาษาจีน และภาษาฝรั่งเศล เวลามีแขกบ้านแขกเมืองเข้าเฝ้า เจ้าพระคุณจะสนทนา สื่อสารเอง โดยไม่ใช้ล่าม
พระเดชพระคุณ พระพรหมสิทธิเข้าใจความเปลี่ยนไปของโลกสมัยใหม่ เข้าถึงใจคน เข้าถึงใจพระหนุ่มเณรน้อย ให้โอกาสในการทำงาน เข้าใจโลก เป็นผู้เชื่อมธรรมเข้าหาโลกสมัยใหม่
พระเดชพระคุณ พระพรหมสิทธิ ผู้ได้รับมรดกแนวคิด อุดมการณ์ จึงเป็นผู้เชื่อมคณะสงฆ์นานาชาติ ชาวพุทธนานาชาติให้เป็นเนื่อเดียวกัน เวลาที่ท่านปรากฏกายในนานาชาติ จึงเป็นสัญลักษณ์ของความเบิกบานใจ ความอิ่มเอมใจ และความสุขใจ
อาจารย์เจ้าคุณ พระศรีคุณาภณ์ (บุญทวี ปญฺญาวํโส)
อาจารย์เจ้าคุณศรีฯ พระผู้ดูแลอุปัฏฐาก ใกล้ชิดหลวงพ่อสมเด็จฯ ในช่วงที่หลวงพ่อสมเด็จฯ เป็นเสาหลักพระศาสนาก็มีทีมงาน มีเลขาคอยสนองงานหลวงพ่อสมเด็จฯหลายรูป
แต่ในช่วงปลายชีวิตหลวงพ่อสมเด็จฯๆทำงานตรากตรำเพื่อพระพุทธศาสนามายาวนาน คณะสงฆ์จึงเห็นสมควรที่มอบหน้าที่อุปัฏฐากดูแลหลวงพ่อสมเด็จฯ ให้แก่อาจารย์เจ้าคุณศรีฯ เจ้าคุณศรีฯได้อุทิศชีวิต เพื่อดูแลหลวงพ่อสมเด็จฯ ด้วยความเรียบร้อยดีงามทุกอย่าง
อาจารย์เจ้าคุณศรีฯ ท่านเมตตาเล่าให้ฟังว่า หลวงพ่อสมเด็จฯเวลาท่านคิดงานอะไร ท่านก็คอยให้จด นั่งรถท่านคิดอะไรออก ท่านก็บอกให้จด กลับถึงกุฏิก็กราบเรียนถวายท่าน ว่ามีเรื่องอะไรบ้าง ช่วงเวลาจำวัด ก็จะนอนหันศีรษะไปทางเตียงท่าน ดึกดื่นเที่ยงคืน ถ้าท่านพูดบอกอะไรก็คอยจด
ท่านเล่าให้ฟังอีกว่า บางวันตื่นขึ้นมาตีสอง เห็นหลวงพ่อสมเด็จฯยื่นมองที่หน้าต่างไปที่ยอดเจดีย์ภูเขาทอง ก็ต้องลุกขึ้นคอยดูว่าท่านจะสั่งอะไร เช้ามาก็กราบเรียนถวายท่านถึงตารางงาน
ท่านเล่าให้ฟังถึงการใช้จีวรของหลวงพ่อสมเด็จฯ เวลาครองจีวรไปงานข้างนอก หลวงพ่อจะใช้จีวรที่มีความใหม่ สีเหมือนกันทั้งชุด
เมื่อสีเริ่มตกเริ่มเก่า หลวงพ่อก็จะใช้ห่มภายในวัด ไปทำวัด ทำกิจกรรมภายในวัด จนเก่า หรือมีอะไรสีอะไรติดที่จีวร หลวงพ่อก็จะใช้ห่มภายกุฏิ หรือห้องนอน ไม่ให้ใครเห็น จะไม่ห่มไปภายนอก ใช้จนจีวรขาด ไม่สามารถจะใช้ได้ ถ้าฝืนไหนขาด ท่านก็ใช้วิธีเอาผ้าใหม่ไปชักหลายๆรอบ ให้มีสีอันเดียวกันกับชุดเก่า แล้วพับสอดไว้ในชุดเก่า เพราะหลวงพ่อสมเด็จฯ จะไม่ยอมใช้ชุดใหม่ หลวงพ่อใช้แบบประหยัดมาก
วันนี้เป็นบุญของชีวิตอีกวันหนึ่ง อาจารย์เจ้าคุณศรีฯ ได้เมตตาให้เข้ากราบพระ กราบพระอัฐิซึ่งเดิมเป็นห้องพระหลวงพ่อสมเด็จฯ ได้เห็นโต๊ะหมู่ที่สวยงามไม่เคยได้เห็นมาก่อน ได้เห็นสุพรรณบัตร ได้เห็นหิรัญบัตรฯ
ได้กราบเตียงนอนของหลวงพ่อสมเด็จฯ ได้เห็นตู้เก็บจีวรหลวงพ่อสมเด็จฯ ซึ่งมีจีวรเรียงไว้เป็นชุดพร้อมเขียนว่า เป็นชุดอะไร ซึ่งเขียนด้วยลายมืออาจารย์เจ้าคุณศรีฯ
ห้องหลวงสมเด็จฯ เป็นห้องที่หลวงพ่อสมเด็จฯอยู่ตั้งแต่เป็นสามเณร จนถึงดำรงตำแหน่งประธานคณะผู้ปฏิหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช หลวงพ่อสมเด็จไม่เคยเปลี่ยนห้องเลยน้อมกราบเป็นบุญของชีวิต ที่ได้รับรู้เรื่องราว
อาจารย์ พระครูสิริวิหารการ (สมจิตร จิตฺตธมฺโม)
พระอาจารย์ผู้เป็นหลักใจให้กับพระวิทยาการ พระอาจารย์ผู้เป็นแบบอย่างของการวางใจให้อยู่เหนือทุกข์ทั้งปวงที่มากระทบได้ แม้ในวันที่ท่านประสบทุกข์ เข้าไปปฏิบัติธรรมในเรือนจำ ท่านก็ยังให้กำลังใจ ให้ความห่วงใยต่อคนที่อยู่ภายนอก
”ท่านมหาฝากบอกทุกคนด้วย
ไม่ต้องเป็นห่วงผม
ธรรมะที่ผมได้เคยกล่าวให้กำลังใจกับทุกคน
ผมได้เอามาใช้หมดทุกข้อแล้ว
ฝากบอกคณะคุณครู
ฝากบอกโยมที่เป็นห่วงด้วยนะ ว่าไม่ต้องเป็นห่วง“
อาจารย์ พระครูสิริวิหารการ (สมจิตร จิตฺตธมฺโม)
มีครั้งหนึ่งไปเยี่ยมท่าน ท่านเล่าแบบขำๆ อย่างมีอารมณ์ขันว่า
“ท่านมหา เวลาที่ผมอยู่ข้างใน ได้ทานอะไรที่ชอบ ผมนึกถึงท่านมหา อยากให้ท่านมหาได้ทานอะไรที่ชอบเหมือนผมบ้าง“
ฟังท่านพูดจบ เสียงหัวเราะ ร้อยยิ้มของท่าน ก็ถูกส่งผ่านช่องกระจกออกมาให้ผู้เขียน ท่านมีกำลังใจที่เข้มแข็งมาก ตั้งใจจะไปให้กำลังใจท่าน กลับได้กำลังใจจากท่านอย่างเต็มเปี่ยม
เคยถามท่านว่า พระอาจารย์มีวิธีกำจัดความกลัว และความกังวลอย่างไรบ้างครับ
“ท่านมหาความกลัว ผมว่าเป็นเรื่องปกตินะ มันมีได้ เพียงแต่เราต้องควบคุมมันให้มีไม่มาก ถ้ามีมากเราจะไม่กล้าทำอะไร ส่วนความกังวลผมมองว่า มันเหมือนเราใช้ดอกเบี้ยโดยที่ไม่ได้กู้หนี้ยืมสิน เราอย่าไปใช้ดอกเบี้ยให้เปล่าประโยชน์ โดยที่เราไม่ได้กู้เลย”
ท่านเคยเล่าให้ฟังถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า ท่านมหาเวลาที่เราประสบทุกข์ ประสบเคราะห์กรรม เรามองแต่เหตุการณ์ที่เราเป็นผู้ถูกกระทำในปัจจุบันนี้นะ
“ผมนึกถึงเรื่องมาติกมาตา ที่พระสงฆ์รูปหนึ่งท่านระลึกชาติได้ ระลึกถึงเรื่องที่ท่านถูกกระทำแล้วท่านก็หยุดแล้วก็กล่าวว่า ฉิบหายแล้ว คนนี้เคยกระทำกรรมแก่เรา
แต่ถ้าระลึกอีกแค่ชาติเดียว ท่านก็จะพบว่า คนนี้ก็เคยกระทำสิ่งที่เป็นบุญคุณต่อเรา ก็คือเคยบริจาคชีวิตช่วยเหลือเรา แต่ท่านไม่ระลึก ระลึกแต่ชาติที่ตัวเองถูกกระทำ“
ผู้เขียนฟังจบก็รับรู้ได้เลยว่า ท่านวางใจต่อสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างผู้ให้อภัยได้จริงๆ
ตลอดระยะเวลา ๖ ปีที่ผ่านมาดูเหมือนท้องฟ้าจะมืดครึ้มในยามค่ำคืน มีเมฆหมอกเต็มไปหมด แต่เมื่อแสงเงินแสงทองปรากฏความจริงขึ้น กลับทำให้ทองฟ้าสว่างสไหวพร้อมที่จะให้แสงแห่งอรุณในวันใหม่เกิดขึ้น ยังประโยชน์ให้เกิดขึ้นแก่มวลมนุษยชาติ แก่พระศาสนามากมาย ทั้งยังเป็นการประกาศเกียรติคุณของบูรพาจารย์ ของสำนักให้กลับมาสว่างสไหวเช่นเดิม ดังปณิธานที่อยู่ในใจของทุกรูปว่า
“ขุนเขาย่อมมีวันทลาย
สายน้ำย่อมมีวันเปลี่ยนทาง
แต่ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง”
น้อมกราบถวายความยินดี ด้วยความเคารพอย่างยิ่ง
พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท
๒๐ พฤษภาคม ๒๕๖๗
กำหนดการ
พิธีอัญเชิญหิรัญบัฏ พัดยศ และเครื่องประกอบสมณศักดิ์ พระราชาคณะเจ้าคณะรอง
ถวายแด่พระพรหมสิทธิ (ธงชัย สุขญาโณ)
อัญเชิญสัญญาบัตร พัดยศ ถวายแด่พระศรีคุณาภรณ์ (บุญทวี ปญฺญาวํโส)
และถวายสัญญาบัตร พัดยศ แด่พระครูสิริวิหารการ (สมจิตร จิตฺตธมฺโม)
วันอาทิตย์ที่ ๑๙ เดือน พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๗ เวลา ๑๖.๐๐ น.
ณ พระอุโบสถวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร
เวลา ๑๕.๓๐ น.
พระสงฆ์ และพุทธศาสนิกชน พร้อม ณ พระอุโบสถวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร
– เจ้าหน้าที่สำนักอาลักษณ์และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ และเจ้าหน้าที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ตั้งขบวนอัญเชิญหิรัญบัฏ, เครื่องประกอบสมณศักดิ์, สัญญาบัตร และพัดยศ ณ ลานโพธิ์ลังกา หน้าพระอุโบสถวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร
เวลา ๑๖.๐๐ น.
– ขบวนอัญเชิญหิรัญบัฏ, เครื่องประกอบสมณศักดิ์, สัญญาบัตร และพัดยศเข้าสู่พระอุโบสถวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร
– ประธาน ฯ จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย
– ประธาน ฯ กราบพระรัตนตรัย
– ประธาน ฯ เปิดกรวยถวายเครื่องราชสักการะเบื้องหน้าพระบรมฉายาลักษณ์
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว / ถวายความเคารพ
– นั่ง ณ เก้าอี้
– เจ้าหน้าที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ อาราธนาศีล
– ประธานสงฆ์ ให้ศีล จบแล้ว
– เจ้าหน้าที่สำนักอาลักษณ์และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ อัญเชิญหิรัญบัฏ พร้อมเครื่องประกอบสมณศักดิ์ ถวายแด่พระพรหมสิทธิ
– เจ้าหน้าที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ถวายสัญญาบัตรแด่พระพรหมสิทธิ
– ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ถวายพัดยศแด่พระพรหมสิทธิ
– ลำดับต่อจากนั้น
– เจ้าหน้าที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ถวายสัญญาบัตรแด่พระศรีคุณาภรณ์
– ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ถวายพัดยศแด่พระศรีคุณาภรณ์
– ลำดับต่อจากนั้น
– เจ้าหน้าที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ถวายสัญญาบัตรแด่พระครูสิริวิหารการ
– ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ถวายพัดยศแด่พระครูสิริวิหารการ
– ในขณะนั้น พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ เจริญชัยมงคลคาถา เสร็จแล้ว
– ผู้มีเกียรติถวายเครื่องไทยธรรมแด่พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา
– พระสงฆ์ทั้งนั้น อนุโมทนา
– พระพรหมสิทธิ ถวายอดิเรก
– ประธาน ฯ กรวดน้ำ รับพร
– เสร็จพิธี –
– พระพรหมสิทธิ มอบของที่ระลึก
– คณะสงฆ์วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร ประกอบพิธีสามีจิกรรมถวายพระพรหมสิทธิ
เวลา ๑๗.๐๐ น.
– ตั้งขบวนอัญเชิญหิรัญบัฏ เครื่องประกอบสมณศักดิ์ สัญญาบัตร และพัดยศออกจากพระอุโบสถ ผ่านลานโพธิ์ลังกา ด้านหน้าพระอุโบสถ ถนนเส้นกลางวัด
หยุด ณ พระตำหนักสมเด็จพระสังฆราชญาโณทยมหาเถระ
– จัดตั้งประดิษฐานบนโต๊ะหมู่บูชา
– พระพรหมสิทธิ จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย
– กราบพระรัตนตรัย
– พระพรหมสิทธิ จุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยเบื้องหน้าพระแท่นประดิษฐานพระอัฐิเจ้าพระคุณสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ญาโณทยมหาเถระ)
– พระพรหมสิทธิ, พระศรีคุณาภรณ์ และพระครูสิริวิหารการ ถวายพานธูปเทียนแพ กระทำสามีจิกรรมเบื้องหน้าพระแท่นประดิษฐานพระอัฐิเจ้าพระคุณสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ญาโณทยมหาเถระ) และ เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (อุปเสณมหาเถระ) พร้อมบูรพาจารย์วัดสระเกศ
– เจ้าหน้าที่ลาดผ้ารองโยง
– เจ้าหน้าที่ลาดผ้าภูษาโยง
– พระพรหมสิทธิ และผู้มีเกียรติทอดผ้าไตรบังสุกุล
– พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ พิจารณาผ้าไตรบังสุกุล
– พระสงฆ์ทั้งนั้น อนุโมทนา
– กรวดน้ำ รับพร
– เสร็จแล้ว
– ตั้งขบวนอัญเชิญสัญญาบัตร และพัดยศ ออกจากพระตำหนักสมเด็จพระสังฆราช ญาโณทยมหาเถระ เข้าสู่ศาลาการเปรียญ
– จัดตั้งประดิษฐานบนโต๊ะหมู่บูชา
– พระพรหมสิทธิ, พระศรีคุณาภรณ์ และพระครูสิริวิหารการ ถวายพานธูปเทียนแพ กระทำสามีจิกรรมเบื้องหน้าแท่นประดิษฐานรูปเหมือนเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ)
– ผู้มีเกียรติ พุทธศาสนิกชน และคณะศิษยานุศิษย์ ถวายมุทิตาแด่พระพรหมสิทธิ
– มอบของที่ระลึก
– เป็นอันเสร็จพิธี –