เรียนรู้ความเป็นมา วันสำคัญในพระพุทธศาสนาด้วยหัวใจ…

ขันติและสามัคคีธรรม… รำลึกวันอัฏฐมีบูชา

วันนี้เป็นวันพระ

วันอาทิตย์ที่ ๒๖ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๖๒ แรม ๘ ค่ำ เดือน ๖ เป็นอีกหนึ่งวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา คือวันอัฏฐมีบูชา เป็นวันที่ตรงกับวันถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระแห่งองค์พระบรมศาสดา อันเป็นที่เคารพสักการะอย่างสูงของชาวพุทธและชาวโลก

หลังจากพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานใต้ต้นสาละ ในคืนวันพระจันทร์เต็มดวง ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ได้ ๘ วัน ในปีพ.ศ.๑ หรือประมาณสองพันหกร้อยหกสิบสามปีก่อน (โดยในประเทศไทยจะนับพุทธศักราชแรกหลังจากพุทธปรินิพานไป ๑ ปี )  ก็มีการทำพิธี ณ มกุฏพันธนเจดีย์ เมืองกุสินารา แคว้นมัลละ ประเทศอินเดีย

ในพุทธประวัติเล่าว่า ในกาลนั้น เจ้ามัลลกษัตริย์ ได้จัดพิธีบูชาด้วยของหอม ดอกไม้ และเครื่องดนตรีทุกชนิด ที่มีอยู่ในเมืองกุสินาราตลอด ๗ วันเพื่อจัดเตรียมถวายพระเพลิงในวันแรม ๘ ค่ำเดือน ๖ ในสัปดาห์ต่อมา…และให้เจ้ามัลละระดับหัวหน้า ๘ คน สรงเกล้า นุ่งห่มผ้าใหม่ อัญเชิญพระสรีระไปทางทิศตะวันออกของพระนคร เพื่อถวายพระเพลิง

จากนั้น ก็ให้เจ้ามัลละระดับหัวหน้า ๔ คน พยายามจุดไฟที่เชิงตะกอน แต่ก็ไม่อาจทำให้ไฟติดได้ ทั้งที่ได้ทำตามคำของพระอานนท์เถระ ที่ให้ห่อพระสรีระพระพุทธเจ้าด้วยผ้าใหม่แล้วซับด้วยสำลี แล้วใช้ผ้าใหม่ห่อทับอีก ทำเช่นนี้จนหมดผ้า ๕๐๐ คู่ แล้วเชิญลงในรางเหล็กที่เติมด้วยน้ำมัน แล้วทำจิตกาธานด้วยดอกไม้จันทน์ และของหอมทุกชนิด

ในการนี้ พระอนุรุทธะ จึงแจ้งว่า “เพราะเทวดามีความประสงค์ให้รอพระมหากัสสปะ และภิกษุหมู่ใหญ่ ๕๐๐ รูป ผู้กำลังเดินทางมาเพื่อถวายบังคมพระบาทเสียก่อน ไฟก็จะลุกไหม้หลังจากนั้น ”

ขอขอบคุณภาพ นวกะรุ่นโพธิ ๗ โดยสถาบันพระวิทยากร วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร

เนื่องจากเทวดากลุ่มนี้ เคยเป็นโยมอุปัฏฐากของพระเถระ และพระสาวกผู้ใหญ่มาก่อน จึงไม่ยินดีที่ไม่เห็นพระมหากัสสปะอยู่ในพิธี และเมื่อภิกษุหมู่ ๕๐๐ รูป โดยมีพระมหากัสสปะเป็นประธานเดินทางมาพร้อมกัน ณ ที่ถวายพระเพลิง แล้ว ไฟจึงลุกโชนขึ้นเองโดยไม่ต้องมีใครจุด

หลังจากที่ไฟเผาไหม้พระพุทธสรีระพระบรมศาสดาดับมอดลงแล้ว บรรดากษัตริย์มัลละทั้งหลายจึงได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุทั้งหมด ใส่ลงในหีบทองคำแล้วนำไปรักษาไว้ภายในนครกุสินารา ส่วนเครื่องบริขารต่าง ๆ ของพระพุทธเจ้าได้มีการอัญเชิญไปประดิษฐานตามที่ต่าง ๆ อาทิ

ผ้าไตรจีวร อัญเชิญไปประดิษฐานที่แคว้นคันธาระ

บาตร อัญเชิญไปประดิษฐานที่เมืองปาฏลีบุตร เป็นต้น

และเมื่อบรรดากษัตริย์จากแคว้นต่าง ๆ ได้ทราบว่าพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานที่นครกุสินารา จึงได้ส่งตัวแทนไปขอแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ เพื่อนำกลับมาสักการะยังแคว้นของตน แต่ก็ถูกกษัตริย์มัลละปฏิเสธ จึงทำให้ทั้งสองฝ่ายขัดแย้งและเตรียมทำสงครามกัน แต่ในสุดเหตุการณ์ก็มิได้บานปลาย เนื่องจาก “โทณพราหมณ์” ผู้เป็นบัณฑิต เป็นทิศาปาโมกข์อาจารย์ สอนไตรเภทแก่กษัตริย์ทั้งหลาย  ได้เข้ามาเป็นตัวกลางเจรจาไกล่เกลี่ย เพื่อยุติความขัดแย้งโดยประกาศว่า

ขอขอบคุณภาพ นวกะรุ่นโพธิ ๗ โดยสถาบันพระวิทยากร วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร

“ข้าแต่ท่านผู้เป็นจอมเหนือเศียรเกล้าแห่งประชาราษฎร์ทั้งหลาย แท้จริงทุก ๆ ท่าน ก็มิใช่สักการะ เคารพ บูชา พระผู้มีพระภาคเจ้า โดยฐานที่พระองค์เป็นกษัตริย์ที่สูงโดยชาติ หรือสูงโดยเกียรติ ยศ ศักดิ์ และทรัพย์สมบัติแต่ประการใดเลย แต่เราทั้งหลายสักการะ เคารพบูชา พระผู้มีพระภาคเจ้า โดยธรรม ด้วยความเชื่อถือในธรรม ที่พระองค์ทรงประทานไว้ทั่วกัน ก็ธรรมทั้งหลายที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประทานไว้นั้น

พระองค์ทรงสรรเสริญขันติ ความอดทน อหิงสา ความไม่เบียดเบียน

และสามัคคีความพร้อมเพรียงกัน

อันเป็นธรรมทรงคุณค่าอันสูง ควรที่คนทั้งหลายจะพึงปฏิบัติทั่วกัน

“เมื่อเป็นดังนั้นแล้ว เหตุอันใดเล่า เราจะพึงวิวาทกัน…ข้อนั้น ไม่เป็นการสมควรเลย เพราะฉะนั้น ขอท่านทั้งหลาย จงสามัคคีปรองดองกันเถิด ขอทุกท่านจงมีส่วนได้พระบรมสารีริกธาตุ ของพระผู้มีพระภาคเจ้าอัญเชิญไปสักการะจงทั่วกันเถิด ขอพระบรมสารีริกธาตุที่เคารพบูชาอันสูง จงแพร่หลายออกไปยังพระนครต่าง ๆ เพื่อเป็นที่สักการะ เคารพ บูชาของมหาชนทั้งปวงเถิด”

เมื่อโทณพราหมณ์ได้สดับ คำยินยอมพร้อมเพรียงของกษัตริย์ทั้งปวงเช่นนั้น ก็ให้เปิดประตูเมืองกุสินารา อัญเชิญกษัตริย์ทั้งปวงเข้ามาในภายใน แล้วให้อัญเชิญไปประชุม ณ ที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุให้กษัตริย์ทั้งปวงพร้อมกันถวายอภิวาทสมตามมโนรถ

ขณะนั้น พระบรมสารีริกธาตุ อันทรงพรรณพิลาศงามโอภาสด้วยรัศมี ซึ่งปรากฏอยู่ในพระหีบทอง เฉพาะพระพักตร์ ได้เตือนพระหฤทัยกษัตริย์ทั้งปวง ให้ระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระผู้มีพระภาค กษัตริย์ทั้งปวงจึงได้ทรงกรรแสงปริเทวนาการต่าง ๆ ครั้งนั้น โทณพราหมณ์เห็นกษัตริย์ทั้งหลายมัวแต่โศกศัลย์รันทดอยู่เช่นนั้น จึงได้หยิบพระทันตธาตุ คือ พระเขี้ยวแก้วขึ้นซ่อนไว้ในมวยผม แล้วจัดการตักตวงพระบรมสารีริกธาตุด้วยทะนานทอง ถวายกษัตริย์ทั้ง ๘ พระนคร ซึ่งประทับอยู่ ณ ที่นั้น ได้พระนครละ ๒ ทะนานเท่า ๆ กันพอดี รวมพระบรมธาตุทั้งสิ้นเป็น ๑๖ ทะนานด้วยกัน

ขณะที่โทณพราหมณ์กำลังตักตวงพระบรมธาตุถวายกษัตริย์ทั้งหลายอยู่นั้น ท้าวสักกะอมรินเทวราช ทราบด้วยทิพย์จักษุว่า โทณพราหมณ์ลอบหยิบเอาพระทันตธาตุเบื้องขวา หรือ พระเขี้ยวแก้วซ่อนไว้ในมวยผม (หรือ ผ้าโพกศีรษะ)  จึงทรงดำริว่า

“กำลังโทณพราหมณ์ ไม่สามารถจะทำที่สักการบูชาเชิดชูพระบรมธาตุนั้นให้สมเกียรติอันสูงได้ สมควรจะเอาไปประดิษฐานไว้ยังเทวโลก ให้เทวดาและพรหมทั้งหลายสักการบูชาเถิด”

ครั้นดำริแล้วก็แฝงพระกายลงมาหยิบเอาพระทันตธาตุ เชิญลงสู่พระโกษทองน้อย ยกขึ้นทูลพระเศียรเกล้า อัญเชิญไปบรรจุไว้ที่ พระจุฬามณีเจดีย์ ณ สุราลัยเทวสถาน

( ในคัมภีร์สุมังคลวิลาสินียังระบุอีกว่า เหตุที่ท้าวสักกะมาหยิบพระทันตธาตุจากผ้าโพกผมของโทณพราหมณ์ไปนั้น ทรงมีพระดำริว่าพระเขี้ยวแก้วเบื้องขวานั้นเป็นปัจจัยแห่งการตรัสสอนอริยสัจ ๔ เพื่อตัดความสงสัยของบรรดาสัตว์โลก จึงทรงนำพระทันตธาตุจากผ้าโพก บรรจุไว้ในผอบทองคำ นำไปประดิษฐาน ณ พระจุฬามณีเจดีย์)

ส่วนในปรมัตถทีปนีกล่าวต่อมาว่า ท้าวสักกะศรัทธาพระเจดีย์องค์นี้อย่างมาก มักจะเสด็จบูชาเนืองๆ…

ขอขอบคุณภาพ นวกะรุ่นโพธิ ๗ โดยสถาบันพระวิทยากร วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร

ฟัน จึงเป็นหนึ่งในมูลกรรมฐาน ๕ คือ  

ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง (เกสา โลมา นะขา ทันตา ตะโจ)

ที่พระพุทธเจ้าอนุญาตให้พระอุปัชฌาย์ใช้สอนพระบวชใหม่ให้พิจารณาเนืองๆ

หรือให้บริกรรมกลับไปกลับมา เพื่อให้จิตเพ่งอยู่กับคำบริกรรมข้างต้น เมื่อจิตผูกอยู่กับคำบริกรรมเป็นกระแสไม่ขาดสาย เรียกว่า วสี จิตก็ตัดความฟุ้งซ่านไปตามความคิดต่างๆ นานา ทำให้จิตมีที่อยู่อาศัย คือ มีสติอยู่กับกายนี้ พระพุทธเจ้าก็ให้พิจารณากายคตาสติในสติปัฏฐานสี่ ในหมวดกายให้เห็นกายในกาย เห็นกายเป็นอสุภกรรมฐานตั้งแต่ปลายผมลงไปจนถึงปลายเท้า และจากปลายเท้าขึ้นมาจนถึงศีรษะ มีหนังหุ้มอยู่เป็นที่สุดรอบ เป็นสิ่งปฏิกูลทั้งสิ้น ไม่มีอะไรน่าเอาน่าเป็นเลยสักอย่างเดียว (จากหนังสือ “ลูกผู้ชายต้องบวช” โดย ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) )

ขอขอบคุณภาพ นวกะรุ่นโพธิ ๗ โดยสถาบันพระวิทยากร วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร

วันนี้จึงเป็นวันที่ควรรำลึกถึงพระพุทธคุณ ๓ ประการ คือ

ระปัญญาธิคุณ พระบริสุทธิคุณ และพระกรุณาธิคุณ

เป็นพุทธานุสสติ ธรรมานุสติและสังฆานุสติ ให้เราได้ตระหนักรู้ถึงวันเวลาที่เหลืออยู่จะทำสิ่งใดจึงจะเกิดประโยชน์สูงสุดกับชีวิตตนและเกื้อกูลผู้อื่นตามรอยบาทพระศาสดา

ดังที่พระบรมสารีริกธาตุของพระองค์ได้สอนธรรมอย่างเอกอุ หลังจากที่ไฟเผาไหม้พระพุทธสรีระพระบรมศาสดาดับมอดลงในวันนั้น

ขันติธรรมและสามัคคีธรรม นี้เองเป็นบรมธรรมอันยิ่งใหญ่ที่พระองค์ทรงสรรเสริญและปรารถนาให้ผู้คนได้ตระหนักถึงความอดทนทวนกระแสกิเลสในการฝึกตน ขณะเดียวกันก็ให้มีความสามัคคีในหมู่สงฆ์ ในสาราณียธรรม ๖ ประการ  เพื่อก้าวพ้นความทุกข์นานัปการ โดยมีสังฆะที่เกื้อกูลกันด้วยความรักและความเมตตา

ดังพุทธภาษิตว่า กัลยาณมิตรเป็นทั้งหมดของพรหมจรรย์ฺ

ขอขอบคุณภาพ นวกะรุ่นโพธิ ๗ โดยสถาบันพระวิทยากร วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร

หมายเหตุ : DHAMMA NOTE

สาราณียธรรม ๖ ประการ หมายถึง ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความระลึกถึงกัน ถือว่าเป็นธรรมที่เป็นพลังในการสร้างความสามัคคี มีอยู่ ๖ ข้อ ดังนี้

๑.  กายกรรม อันประกอบด้วยเมตตา คือ การกระทำทางกายที่ประกอบด้วยเมตตา เช่นการให้การอนุเคราะห์ช่วยเหลือและเอื้อเฟื้อต่อผู้อื่น ไม่รังแกทำร้ายผู้อื่น 

๒.  วจีกรรม  อันประกอบด้วยเมตตา คือ การมีวาจาที่ดี สุภาพ อ่อนหวาน พูดมีเหตุผล ไม่พูดให้ร้ายผู้อื่นทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน 

๓.  มโนกรรมอัน ประกอบด้วยเมตตา คือ ความคิดที่ประกอบด้วยเมตตาทั้งต่อหน้าและลับหลัง เป็นการคิดดีต่อกันไม่คิดอิจฉาริษยาหรือไม่คิดมุ่งร้ายพยาบาท หากทุกคนคิดแล้วปฏิบัติเหมือนกันความสามัคคีก็จะเกิดขึ้นในสังคม 

๔.  สาธารณโภคี คือ การรู้จักแบ่งสิ่งของให้กันและกันตามโอกาสอันควร เพื่อแสดงความรักความหวังดีของผู้ที่อยู่ในสังคมเดียวกัน 

๕.  สีลสามัญญตา คือ ความรักใคร่สามัคคี รักษาศีลอย่างเคร่งครัดเหมาะสมตามสถานะของตนมีความประพฤติสุจริตปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของหมู่คณะ ไม่เอารัดเอาเปรียบผู้อื่น 

๖.  ทิฏฐิสามัญญตา คือ การมีความเห็นร่วมกัน ไม่เห็นแก่ตัว รู้จักเคารพและรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นร่วมมือร่วมใจในการสร้างสรรค์สังคมให้เกิดความสงบ

ธรรม ๖ ประการ ที่ผู้ใดได้ประพฤติจะเกิดความสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน  เกื้อกูลกันไม่ทะเลาะวิวาทกัน  อันจะเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดความรักความสามัคคีกันตลอดไป    แม้แต่ฆราวาสก็นำมาปรับใช้ได้ในชีวิตประจำวัน ทั้งในครอบครัว กับเพื่อนฝูงและการทำงานเพื่อความรุ่งเรืองทั้งทางโลกและทางธรรม

กราบขอบพระคุณพระอาจารย์พระมหาปฐมพงษ์ ถ่ายภาพ

ขอกราบขอบพระคุณภาพถ่ายที่งดงามจากสถาบันพระวิทยากร วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร และทุกข้อมูลจากที่ต่างๆ ที่ช่วยกันทำให้เห็นภาพรวมว่า พระพุทธองค์ทรงมีพระเมตตาต่อสรรพชีวิตเพียงใด และเราจะเดินไปจนสุดทางทุกข์ได้อย่างมีทิศทางและเป้าหมายที่ชัดเจน

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here