การให้อภัย  แก้ไขปัญหาได้ทุกเรื่อง โดย พระมหาสรายุทธ โรจนญาโณ

จากคอลัมน์ “เขียนโลกทะลุธรรม” หน้าธรรมวิจัย นสพ. คมชัดลึก วันอังคารที่ ๒๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๖๐

         ปัจจุบันนี้ทุกสิ่งล้วนดำเนินไปอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะทั้งด้านเทคโนโลยี  หรือการคมนาคมขนส่ง  แต่ในความรวดเร็วและสะดวกสบายนั้น ก็เป็นจุดหนึ่งที่ทำให้เกิดความวุ่นวายจนทำให้มนุษย์ขาดการใส่ใจสิ่งรอบข้าง  จนบางครั้ง  ไม่ได้สังเกตเลยว่าบุคคลผู้ที่อยู่รอบตัวเรา เขารู้สึกอย่างไร  ทำให้ปัญหาเล็กๆ  ไม่ได้รับการแก้ไข จนลุกลามเป็นปัญหาที่ใหญ่ขึ้น  

ดังนั้น ในความวุ่นวายรอบด้าน  หากเราทุกคนให้ความสำคัญกับการให้  ก็จะเป็นการเริ่มแก้ไขปัญหาร่วมกัน  เพราะขึ้นชื่อว่าการให้นั้น  ไม่เพียงผู้รับรู้สึกดีแล้ว  ผู้ให้ก็ได้รับความสุขเช่นเดียวกัน  เป็นความสุขใจ ความอิ่มเอิบที่พรั่งพรูครุกกรุ่นในจิตใจ ของทั้งสองฝ่าย อันจะนำความสงบสุขมาสู่สังคม  

สำหรับการให้นั้น  การให้อภัย ถือเป็นการให้ที่ยิ่งใหญ่อย่างยิ่ง เพราะผู้ที่สามารถให้อภัยได้  ต้องมีความเสียสละ ยอมลดอคติและความโกรธที่นำความขุ่นมัวซึ่งฝังในจิตใจของตัวเองออกไป  แล้วยื่นความอบอุ่นให้กันผ่านรอยยิ้มและใบหน้า ซึ่งผู้รับก็รับรู้ไออุ่นได้ด้วยการแสดงออกนั้น  โดยไม่ต้องพูดคำใดๆ เลย  ถ้าผู้คนทั้งในปัจจุบันและในอดีต   ยึดหลักแห่งการให้อภัยในการประคองชีวิตแล้ว สงครามหรือการทะเลาะต่างๆ จะไม่เกิดขึ้น

ยกเลิกการโกรธเคืองแล้วมาแบ่งปันการให้อภัยกันดีกว่า…  

ดังเช่น  เหตุการณ์ในเวลาเร่งด่วน เมื่อครั้งอาตมาเดินทางโดยแท็กซี่ไปมหาวิทยาลัย แล้วรถที่อาตมานั่งอยู่เกิดอุบัติเหตุชนกับรถปิกอัพ  ทันใดที่เสียงโครมดังขึ้น  ต่างฝ่ายต่างเดินลงจากรถ แล้วแสดงความห่วงใยซึ่งกันและกัน ภาพที่เห็นทำให้อาตมาภาพเกิดความประทับใจ  ซึ่งผลที่ตามมาคือ ทั้งสองฝ่ายเจรจากันเสร็จอย่างรวดเร็ว และขยับรถเข้าข้างทางเพื่อหลีกทางให้ผู้สัญจรเดินทางไปโดยสะดวก  ผิดต่างจากหลายเหตุการณ์ในข่าวที่ทั้งสองฝ่ายลงมาแล้วมีเรื่องทะเลาะกันและนำความเดือดร้อนมาสู่เพื่อนร่วมทางจากปัญหารถติด  

ใจความสำคัญของทั้งสองเหตุการณ์นี้อยู่ที่คำว่า  ให้อภัย

เราจึงควรให้ความสำคัญกับการให้อภัยกันมากโดยการ  เริ่มเป็นผู้ที่รู้จักให้อภัยก่อน  แล้วแนะนำคนอื่นด้วยการส่งต่อการให้อภัยกันให้กระจายออกไป  ในที่สุดเราก็จะได้รับการให้อภัยจากคนอื่นเช่นกัน

          เช่นเดียวกับเรื่องอื่นๆ  ถ้าเราอยากจะบอกใครให้รู้จักการให้อภัย  หรืออยากจะเปลี่ยนแปลงใครก็ตามให้ไปในทิศทางที่ดีขึ้น   เราต้องเริ่มการกระทำนั้นด้วยตัวเราเองก่อน  ถ้าอยากจะมีความสุขก็เริ่มจากตัวเอง  เริ่มจากการเป็นผู้ให้   โดยปรารถนาเพียงให้ความร้อนรนจากความโกรธลดลง หรือหายไป  ให้โดยปรารถนาให้เพื่อนมนุษย์ประสบสุขจากการที่ไม่มีอะไรเผาลนจิตใจ  แล้วช่วยกันนำเอาพลังจากการให้อภัยกระจายสู่เพื่อนมนุษย์ให้มากขึ้น ไปละลายความโกรธในใจ ซึ่งเป็นเหมือนการปิดกันความสุขของตัวเอง  ยิ่งนานก็ยิ่งกัดกร่อนคุณธรรมในใจ

เมื่อเราเริ่มให้อภัย จะเป็นจุดเริ่มต้นของการแบ่งปันความสุข ให้เพื่อนมนุษย์เรื่อยไปและตลอดไป

พระมหาประสิทธิ์ ญาณปฺปทีโป ดร.,
พระมหาประสิทธิ์ ญาณปฺปทีโป ดร.,

การให้อภัย  แก้ไขปัญหาได้ทุกเรื่อง โดย พระมหาสรายุทธ โรจนญาโณ จากคอลัมน์ “เขียนโลกทะลุธรรม” หน้าธรรมวิจัย นสพ. คมชัดลึก วันอังคารที่ ๒๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๖๐

คือบทความแรก จากพระนักเขียนที่ผ่านการอบรมในโครงการ “พระนักเขียน” จากสถาบันพัฒนาพระวิทยากร สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ ที่จัดขึ้น ๒ ครั้งในปีพ.ศ.๒๕๖๐

จึงขอนำมารำลึกความทรงจำเมื่อวันวาน กว่าที่จะมาเป็นคัมภีร์พระวิทยากร “หลักสูตรพระวิทยากรกระบวนธรรม” เล่มนี้ที่ใช้เวลาการบ่มเพาะกว่า ๑๐ ปี ซึ่งโครงการ “พระนักเขียน” เป็นหนึ่งในหลักสูตรของพระวิทยากรกระบวนธรรม ที่สร้างสรรค์พระนักเขียนบทความวิชาการ และบทความธรรมะออกสู่สื่อสาธารณะมาอย่างต่อเนื่องทั้งสื่อในกระแสหลักตามหนังสือพิมพ์ นิตยสาร และพ็อกเก็ตบุ๊ค ตลอดจนสื่อโซเซียลมีเดียต่างๆ เพื่อเป็นเสียงแห่งธรรมในการช่วยเหลือผู้คนให้พ้นจากทุกข์จากความบีบคั้นต่างๆ ของชีวิตมาโดยตลอด

ดังที่ พระมหาประสิทธิ์ ญาณปฺปทีโป ดร., เขียนเล่าผ่านสื่อไว้ตอนหนึ่งว่า

พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร ในขณะนั้น
พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร ในขณะนั้น

เมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๖๐ เวลาประมาณ ๙.๐๐ น. พระราชกิจจาภรณ์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร เป็นประธานเปิดโครงการ “พระนักเขียน” หลักสูตรการเขียนบทความวิชาการด้านพระพุทธศาสนา  ณ  วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร  ซึ่งท่านได้กล่าวถึงความเป็นมาของการทำหลักสูตรพระนักเขียนต่อเนื่องจนมีผลงานของพระที่ผ่านการอบรมปรากฏทั้งในหนังสือพิมพ์และได้หนังสือ  ก่อนจะก้าวมาสู่หลักสูตรการเขียนบทความวิชาการด้านพระพุทธศาสนา เพื่อให้พระสงฆ์ได้มีทักษะในการเขียนเชิงวิชาการ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการเผยแผ่และนำเสนอความรู้ความคิดในเชิงวิชาการ  

จากนั้น พระมหาสมพงษ์  สนฺตจิตฺโต ดร. วิทยากร ได้นำเข้าสู่กระบวนการอบรมเพื่ออย่างเป็นขั้นตอนและมีส่วนร่วมกระตุ้นให้ผู้เข้าอบรมได้คิดและนำเสนอ ประเด็นที่จะเขียนจากพื้นฐานความรู้และความสนใจของตนเอง  พร้อมทั้งเรียนรู้หลักการ โครงสร้าง และเทคนิคการเขียนบทความ

และภาคค่ำ ดร.ลำพอง  กลมกูล วิทยากรอีกท่านได้มาขมวดปมกระชับประเด็น  ทำให้ผู้เข้าอบรมได้หัวข้อและประเด็นที่จะเขียนบทความได้ทุกรูป  ก่อนจะยุติกระบวนการอบรมที่เวลา ๒๐.๓๐ น.

พระมหาประสิทธิ์ ญาณปฺปทีโป ดร.,
พระมหาประสิทธิ์ ญาณปฺปทีโป ดร.,

พระมหาประสิทธิ์ ญาณปฺปทีโป ดร., อธิบายภาพรวมของโครงการพระนักเขียนหลักสูตรการเขียนบทความวิชาการด้านพระพุทธศาสนา จัดโดย  สถาบันพัฒนาพระวิทยากร สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์  วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร ระหว่างวันที่ ๑๖ – ๑๗ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๖๐ ณ วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร มีผู้เข้าอบรมจำนวน ๒๐ รูป

ทั้งนี้ สถาบันพัฒนาพระวิทยากร ร่วมกับ กลุ่มเพื่อชีวิตดีงาม ภายใต้สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ ได้จัดอบรมเชิงปฎิบัติการ “การเขียนบทความทั่วไป” ซึ่งเป็นอีกหนึ่งหลักสูตรพระนักเขียนของสถาบันพัฒนาพระวิทยากร โดยได้จัดขึ้นในวันที่ ๒๓-๒๔ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๖๐ ณ ศาลาหลวงพ่อโชคดี วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร (วัดภูเขาทอง) โดยรับสมัคร พระภิกษุ สามเณร ที่จบนักธรรมศึกษาเอกขึ้นไป ที่ชอบในการเขียนบทความ และอยากจะพัฒนาตนเองให้มีทักษะในด้านนี้ยิ่งๆขึ้นไป

โดยมี กำหนดการอบรมเชิงปฏิบัติการโครงการพัฒนาศักยภาพพระสงฆ์ด้านการเขียน(โครงการพระนักเขียน) “การเขียนบทความวิชาการทางพระพุทธศาสนา” วันที่ ๑๖-๑๗  สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ ณ  ศาลาหลวงพ่อโชคดี  วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ในครั้งนั้น ดังนี้

วันพุธที่ ๑๖  สิงหาคม  พ.ศ.๒๕๖๐ เวลา ๐๘.๐๐ น. ลงทะเบียน เวลา ๙.๐๐ น. พระราชกิจจาภรณ์ ประธานในพิธี  นำบูชาพระรัตนตรัย  และกล่าวให้โอวาทเปิดโครงการ เวลา  ๐๙.๑๕ น. บรรยายเรื่อง “หลักเบื้องต้นในการเขียนบทความวิชาการ” เวลา  ๑๑.๐๐  น. ซักถามข้อสงสัย เวลา  ๑๑.๓๐ น. ฉันเพล

เวลา ๑๓.๐๐ น. บรรยายเรื่อง  “เทคนิคการเขียนบทความทางวิชาการ(มือใหม่)” เวลา ๑๔.๓๐ น. ปฏิบัติการเกี่ยวกับการเขียนบทความนำเสนอวิทยากร เวลา ๑๖.๓๐ น. ซักถามประเด็นข้อสงสัย เวลา  ๑๘.๐๐  น. ทำวัตรเย็น เวลา  ๑๘.๓๐ น. ฝึกปฏิบัติการเกี่ยวกับการเขียนบทความ

วันพฤหัสบดีที่ ๑๗  สิงหาคม พ.ศ.๒๕๖๐ เวลา  ๐๘.๓๐  น. กิจกรรมที่ ๑  การตั้งชื่อเรื่อง เวลา ๐๙.๓๐ น. กิจกรรมที่ ๒  การเขียนบทคัดย่อและบทนำ เวลา  ๑๐.๓๐ น. กิจกรรมที่ ๓  การเขียนเนื้อหา เวลา  ๑๑.๓๐ น.   ฉันเพล เวลา  ๑๓.๐๐  น. กิจกรรมที่ ๔  การเขียนบทสรุป เวลา  ๑๔.๓๐  น. กิจกรรมที่ ๕  การสะท้อนคิดจากการเรียนรู้สู่การปฏิบัติ เวลา  ๑๕.๓๐  น. ซักถามประเด็นข้อสงสัย เวลา  ๑๖.๓๐ น. พระราชกิจจาภรณ์ ประธานในพิธี   นำบูชาพระรัตนตรัย  ผู้ผ่านการอบรมรับใบประกาศและกล่าวให้โอวาทปิดโครงการ โดยกำหนดการอาจเปลี่ยนแปลงได้เพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้เข้าอบรม และผู้เข้าอบรมต้องนำคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คและปลั๊กไฟส่วนตัวมาด้วยทุกรูป อีกทั้งผู้เข้าอบรมควรเตรียมเรื่องที่สนใจอยากเขียน หรือ ข้อมูลจากงานวิจัยที่สนใจหรือกำลังทำอยู่ เพื่อต่อยอดสู่การพัฒนาทำเป็นบทความวิชาการ ได้ไวขึ้น

หลังจากนั้น บทความที่พระเขียน จากโครงการพระนักเขียนก็ได้รับการตีพิมพ์ผ่านคอลัมน์ เขียนโลกทะลุธรรม , เขียนธรรมสื่อถึงโลก , คอลัมน์ ธรรมลิขิต โดย พระครูสมุห์สุพัฒน์ อนาลโย ,เย็นกายสุขใจ โดย พระมหาธนเดช ธมฺมปญฺโญ , เรียงถ้อยร้อยธรรม โดย พระครูใบฎีกามงคล วชิรปญฺโญ กลุ่มใต้ร่มพุทธธรรม ในหน้าธรรมวิจัย นสพ.คมชัดลึก ทุกวันอังคาร เป็นธรรมทาน

และอีกหลายๆ คอลัมน์ ในหน้า “หมายเหตุพระไตรสรณคมน์” อาทิ จาริกบ้านจารึกธรรม โดย พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท , ท่องเที่ยวโลกกะธรรม โดย พระมหาขวัญชัย กิตติเมธี ป.ธ.๙.ดร., โชคดีที่มีพระ โดย พระมหาประสิทธิ ญาณปฺปทีโป ดร., เขียนจดหมายถึงพระพุทธเจ้า โดย พระใบฎีกาคทาวุธ คเวสกธมฺโม จากกลุ่ม เพื่อชีวิตดีงาม ใน นสพ.คมชัดลึกทุกวันพฤหัสบดี เป็นธรรมทาน มาอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งถึงสิ้นปีพ.ศ.๒๕๖๒

ปัจจุบัน พระสงฆ์ที่ผ่านโครงการ “พระนักเขียน” จากสถาบันพัฒนาพระวิทยากร สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ ก็ยังคงเขียนบทความธรรมะเยียวยาจิตใจผู้คนให้พ้นจากกองทุกข์มาจนถึงทุกวันนี้ในสื่อต่างๆ ทั้งในกระแสและสื่อโซเซียลอย่างทุ่มเทมาโดยตลอด

ทั้งหมดนี้ เพราะความเมตตา กรุณา และความเสียสละชีวิตเพื่อธรรมของท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ที่มุ่งมั่นในการสนับสนุนสร้างสรรค์ ผลักดันให้เกิดโครงการ “พระนักเขียน” และหลักสูตร “พระวิทยากรกระบวนธรรม” ขึ้น เพื่อรับใช้สังคม

ตามรอยปฏิปทาองค์หลวงพ่อสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศ อดีตประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ในการสืบทอดพระพุทธศาสนาโดยการเผยแผ่เชิงรุก ผ่านพระธรรมทูตเชิงรุกไปทั่วประเทศและทั่วโลก ซึ่งได้ช่วยเหลือผู้คนที่ทุกข์ยากมากมายโดยไม่อาจวัดเป็นจำนวนได้ แต่สามารถสัมผัสได้ถึงความสงบเย็นของจิตใจและความเข้าใจในอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตาของผู้ที่ผ่านการอบรมได้

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here