เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) , เจ้าประคุณสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญโญ) และ พระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) (ปัจจุบัน สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์)
พระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) (ปัจจุบัน สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์) ,
เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ)
และ เจ้าประคุณสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญโญ)

ในปี พ.ศ. ๒๕๑๕  เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์เดินทางไปสังเกตการณ์พระพุทธศาสนาตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ในสหรัฐอเมริกา  ตามคำนิมนต์ของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา โดยคณะผู้ร่วมเดินทาง ประกอบด้วย เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) วัดสระเกศฯ เป็นหัวหน้าคณะ, เจ้าประคุณสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์  (ช่วง วรปุญโญ) วัดปากน้ำภาษีเจริญ และ พระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) (ปัจจุบัน สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์) วัดญาณเวศกวัน ได้เกิดการวางรากฐานพระพุทธศาสนา และเกิดวัดไทยขึ้นทั่วประเทศสหรัฐอเมริกา

การเดินทางไปปฏิบัติศาสนกิจในดินแดนฝั่งตะวันตก ไกลออกไปถึงสหรัฐอเมริกา นับเป็นการเดินทางเผยแผ่พระพุทธศาสนารอบโลก ที่ไกลที่สุด เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเผยแผ่พระศาสนาของคณะสงฆ์ รวมระยะเวลาเดินทางถึง ๘๐ วัน ใน ๑๑ ประเทศ ประกอบด้วย ประเทศญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส  เนเธอร์แลนด์ เบลเยี่ยม เยอรมนี เดนมาร์ก สวิสเซอร์แลนด์ อิตาลี  กรีก และอินเดีย

รำลึกวันวาน …มโนปณิธาน พระราชกิจจาภรณ์ฺ (เทอด ญาณวชิโร)

ตอน “พระพุทธศาสนา” ประทีปแห่งปัญญาในสากลโลก 

โดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์

         เมื่อมีพระอุปัชฌาย์ในต่างประเทศมากขึ้น ย่อมทำให้มีการบวชเรียนมากขึ้นเป็นลำดับ เพราะความทุกข์นั้นไม่ว่าใครจะนับถือศาสนาอะไรหรือไม่นับถือศาสนาอะไรเลยก็ตาม ย่อมต้องประสบพบเจอเป็นธรรมดา เนื่องจากทุกขสัจจ์เป็นสากลโลก การดับทุกข์ด้วยอริยมรรคก็เป็นสากลธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบเมื่อสองพันหกร้อยกว่าปีก่อนจนถึงวันนี้ ซึ่งใครๆ จะนำไปปฏิบัติก็ได้โดยไม่ต้องเปลี่ยนศาสนา เพราะสิ่งที่พระพุทธองค์ทรงค้นพบคือความจริงอันประเสริฐ การบวชเรียนและการปฏิบัติเจริญวิปัสสนากรรมฐานเป็นหนทางอันประเสริฐที่จะช่วยให้เราที่รู้ทุกข์แล้ว และเห็นทุกข์แล้วให้ไปถึงเป้าหมายคือการดับทุกข์โดยสิ้นเชิง พระพุทธศาสนาจึงเป็นนวัตกรรมทางจิตที่ล้ำสมัย เหนือกาลเวลามาโดยตลอด   

ซึ่งจากการหลวงพ่อสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) เดินทางไปต่างประเทศเพื่อสร้างศาสนทายาท โดยริเริ่มศาสนสัมพันธ์ สร้างวัดไทยในต่างประเทศ และริเริ่มให้มีการฝึกอบรมพระธรรมทูตไปประจำ ณ วัดไทยในต่างประเทศมากว่า ๖๐ ปี อันมีแรงบันดาลใจจากเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทยมหาเถร) ผู้เป็นพระอาจารย์ จนมาถึงการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในยุโรป และสหรัฐอเมริกา

ในหนังสือ “ชีวิตและความคิด สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) พระมหาเถระผู้เป็นประวัติศาสตร์ความทรงจำพระพุทธศาสนาโลก” ตอนหนึ่งเล่าว่า โดยเฉพาะในประเทศสแกนดิเนเวีย เป็นดินแดนที่ที่ไม่น่าจะมีพระสงฆ์ไปสร้างวัดไทยได้ เนื่องจากสภาพภูมิประเทศและสภาพภูมิอากาศค่อนข้างเหน็บหนาว ถูกปกคลุมไปด้วยหิมะเกือบตลอดทั้งปี  

“เจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้ยึดเอาประเทศเนเธอร์แลนด์เป็นจุดเริ่มต้นในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในแถบสแกนดิเนเวีย โดยมีความเชื่อมั่นว่า แม้สภาพภูมิอากาศประเทศในแถบนี้จะหนาวเหน็บเกือบตลอดทั้งปี แต่สภาพจิตใจของคนในแถบนี้กลับอ่อนโยน จึงเกิดความเชื่อมั่นว่า พระพุทธศาสนาน่าจะเจริญได้ในสแกนดิเนเวีย จึงชักธงธรรมจักรขึ้นเหนือหน้าต่างที่พัก เป็นสัญลักษณ์ว่า พระพุทธศาสนาเริ่มหยั่งรากฝังลึกลงบนดินแดนแห่งนี้แล้ว ทำให้วัดไทยเกิดขึ้นในเวลาต่อมา อาทิ วัดพุทธาราม เนเธอร์แลนด์ วัดพุทธาราม กรุงสตอกโฮล์ม วัดพุทธาราม เฟรดิก้า ประเทศสวีเดน วัดไทยนอร์เวย์ ประเทศนอร์เวย์ วัดไทยเดนมาร์ก วัดไทยฟินแลนด์ กรุงเฮลชิงกิ  วัดไทยเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี วัดไทยไอซแลนด์ วัดไทยในสกอตแลนด์ และวัดไทยเบลเยี่ยม ซึ่งขยายวัดออกไปอีกถึง ๓ วัดในลักซัมเบิร์ก ในเวลาต่อมา

“วัดพุทธาราม เนเธอร์แลนด์ นับได้ว่า เป็นวัดไทยแห่งแรกในยุโรป และเป็นศูนย์ฝึกพระธรรมทูตให้รู้จักวิธีการดำรงชีวิตในประเทศแถบสแกนดิเนเวีย จากนั้น พระธรรมทูตก็จะถูกส่งออกไปปฏิบัติศาสนกิจตามประเทศต่างๆ ในแถบนี้” 

         การสร้างพระธรรมทูตไปจำพรรษาตามวัดต่างๆ ในต่างประเทศก็เพื่อการช่วยเหลือคนทุกข์ในประเทศนั้นๆ ให้สามารถมีหลักการปฏิบัติแก้ทุกข์ในใจตนจนกว่าจะสามารถพึ่งตนเองได้ในที่สุด แล้วใครจะได้อะไรเล่า ถ้าไม่ใช่ความร่มเย็นที่ปรากฏในจิตใจของมนุษยชาติในโลกเองที่เป็นบ่อเกิดแห่งสันติสุขต่อไปตลอดกาลนาน

           ดังที่ท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในครั้งนั้นเล่าให้ฟังเป็นเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยในการเตรียมพระธรรมทูตไปปฏิบัติศาสนกิจในต่างประเทศว่า ที่วัดสระเกศฯ เวลามีเณรเพิ่งบวช หรือพระใหม่ หลวงพ่อสมเด็จฯ เวลาได้รับกิจนิมนต์ไปฉันภัตตาหารที่โรงแรมแม่น้ำ ซึ่งอาหารส่วนใหญ่เป็นอาหารนานาชาติ หลวงพ่อสมเด็จฯ ก็จะนิมนต์พระเณรที่บวชใหม่ไปฉันด้วย

           “อาตมาเมื่อครั้งเป็นสามเณรเตรียมบวชพระที่วัดสระเกศฯ เพิ่งมาจากอุบลราชธานี ตอนมาอยู่วัดสระเกศฯ ใหม่ ๆ หลวงพ่อสมเด็จฯ ก็พาไปฉันบ้างตามโอกาสที่ชาวบ้านและลูกศิษย์ท่านนิมนต์ ท่านจะสอนพระเณรให้ใช้ช้อนส้อม และอุปกรณ์การฉันที่หลากหลายบนโต๊ะอาหาร รวมทั้งสอนด้วยว่าผลไม้ชนิดไหนต้องฉันอย่างไร บางอย่างต้องปอกเปลือกวิธีการปอกอย่างไร มีส้มบางชนิดฉันทั้งเปลือกได้ด้วยท่านก็สอนให้ฉันทั้งผล มิให้เปิ่นหรือต้องเคอะเขินเวลาไปเป็นพระธรรมทูตในต่างประเทศแล้วชาวบ้านเขานิมนต์ไปฉันตามร้านอาหารต่างๆ ก็ถือว่าเป็นการให้เกียรติวัฒนธรรมของเขา  บาตรเราก็เตรียมไปติดตัวอยู่แล้วเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ แต่ว่าในบางโอกาสที่ชาวบ้านเขาสะดวกในวัฒนธรรมของเขาที่ไม่ขัดต่อพระธรรมวินัย เราก็ไปเกื้อกูลได้ตามเหตุปัจจัย จะว่าไปที่โรงแรมแม่น้ำก็เป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างพระธรรมทูตเชิงปฏิบัติไปต่างประเทศทั่วโลกมากมายหลายรูปมาตลอดกว่าสามสิบปีมาแล้วก็ว่าได้”

ขอขอบคุณ ภาพจาก สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม
และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศฯ

            การเกื้อกูลกันระหว่างบ้าน วัด ชุมชน เป็นบวรจึงเป็นดั่งสายธารที่ช่วยกันขับเคลื่อนธรรมจักรไปเผยแผ่ยังต่างประเทศทั่วโลกได้อย่างงดงาม เป็นพุทธบริษัทที่ไร้ตัวตนในการจุดประทีปแห่งธรรมเล็กๆ นำพระพุทธศาสนาไปประดิษฐานในใจผู้คนบนโลก ก็เพื่อสันติสุขอันสงบเย็นของประชาชาตินั่นเอง

รำลึกวันวาน มโนปณิธาน พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

“พระพุทธศาสนา” ประทีปแห่งปัญญาในสากลโลก 

หน้าธรรมวิจัย นสพ.คมชัดลึก วันอังคารที่ ๖ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๖๒

โดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here