อาจกล่าวได้ว่า หากไม่มีเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร) วันนี้ คงไม่มีพระหนุ่มเณรน้อยที่สละทางโลกมุ่งสู่ทางธรรมได้มากมหาศาลในยุคสมัยที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งการสร้างพระที่มีลมหายใจเพื่อสืบสอดพระพุทธศาสนา มีผลต่อความร่มเย็นในหัวใจของผู้คนบนโลกอย่างอเนกอนันต์ในปัจจุบัน และอนาคตกาล

ด้วยการทำงานอย่างเงียบๆ ของท่าน ตลอดชีวิตของท่านในร่มกาสาวพัสตร์จนลมหายใจสุดท้ายมาเยือน หลวงพ่อสมเด็จฯ ใช้เวลาทั้งหมดเพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนา จึงไม่น่าแปลกใจว่า ในวันสลายสรีรสังขารท่าน เมื่อวันที่ ๙ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ จึงมีพระมาร่วมส่งสรีรสังขารท่านคืนสู่ธรรมชาติอย่างมากมายที่สุดในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาในแผ่นดินไทยก็เป็นไปได้

“เราตายได้​ พระพุทธศาสนา​ ตายไม่ได้”

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร)

๙ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕ น้อมรำลึกวันสลายสรีรสังขารหลวงพ่อเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร)

วันอาทิตย์ที่ ๙ มีนาคม ๒๕๕๗ เวลา ๑๗.๐๐ นาฬิกา

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ แทนพระองค์ในการพระราชทานเพลิงศพสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) อดีตประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช และอดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร

๙ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕ ที่ผ่านมา ครบรอบ ๘ ปี วันคล้ายวันพระราชทานเพลิงศพเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร) อดีตประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เจ้าอาวาสวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร และเป็นเวลา ๙ ปีแห่งการมรณภาพ ในวันเสาร์ที่ ๑๐ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๖

เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนพระธรรมจักร พระพุทธศาสนาไทยสู่ต่างประเทศในสากลโลก โดยเชื่อมสัมพันธ์ไปถึงยุโรป อเมริกา ฯลฯ ในยุคสมัยที่ท่านยังเป็นพระหนุ่ม โดยจาริกธรรมไปด้วยกัน ๓ รูป กับสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) และ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)  สร้างตำนานการจาริกธรรมของสามสมเด็จฯ ไว้ในความทรงจำของพุทธบริษัทไม่เสื่อมคลาย

ในความทรงจำของพุทธบริษัทนั้นในมุมหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งก็คือ การสร้างศาสนทายาทประดิษฐานสันติธรรมไว้ในใจของผู้คนบนโลก ประดุจน้ำฝนอันฉ่ำเย็นที่เมื่อตกลงที่ใด ที่นั่นเมล็ดพันธุ์ย่อมงอกงาม และเติบโต เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรให้คลายทุกข์ร้อนทางใจจนถึงขั้นดับทุกข์ทางใจจนสนิทไม่มีส่วนเหลือได้ ฉันนั้น ด้วยการที่ท่านสนับสนุนและส่งเสริมการบวชเรียนของพระเณรอย่างเต็มกำลังความสามารถ อาจกล่าวได้ว่า ในยุคสมัยของท่าน พระพุทธศาสนา งอกงาม เติบโต และเบ่งบานในใจของผู้คนมากมายมหาศาล แทบทุกครอบครัวที่มีบุตรชายทั่วประเทศไทย โดยเฉพาะบุตรหลานชาวนาที่ลำบากตรากตรำมาตลอดชีวิต ด้วยเห็นทุกข์ในสังสารวัฏ ล้วนมุ่งตรงสู่การบวชเรียน ณ สำนักวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร กรุงเทพฯ เพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนา เป็นเนื้อนาบุญของโลก เร่งความเพียรบนเส้นทางอริยมรรค ในนามของพระสงฆ์ หนึ่งในพระรัตนตรัย ที่ค้ำจุนพระพุธศาสนาไว้ให้ยั่งยืนตราบนานเท่านาน

มากไปกว่านั้น บทบาทการเชื่อมสัมพันธ์พระพุทธศาสนาไปถึงมหายาน สาธารณรัฐประชาชนจีน และศาสนสัมพันธ์กับศาสนาต่างๆ ทั่วโลก ท่านเป็นอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยในยุคที่กำลังหาทิศทางในการก้าวไปข้างหน้าเพื่อรับใช้สังคม โดยสร้างหลักสูตรเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่มีบทบาทในการสร้างพระสงฆ์รุ่นใหม่อย่างเข้าใจปัญหาของโลก เพื่อนำพระธรรมมาประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหาผู้คนอย่างสมสมัย

ดังบทหนึ่งในหนังสือ “วิถีแห่งผู้นำ” สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร) เรียบเรียงโดย พระครูอมรโฆสิต(ปรีชา สาเส็ง) ดังนี้

เปิดวิสัยทัศน์ธรรมสู่วิสัยทัศน์โลก 

พระพุทธศาสนาแผ่ไพศาล  และกลับมาหาฟื้นฟูคุณธรรม  จริยธรรมของพระพุทธศาสนา รากฐานเดิมของสังคมไทย

วิธีการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ตามรอยพระพุทธเจ้า

               เจ้าประคุณสมเด็จฯ ให้ความสำคัญกับการศึกษา  พระเณรต้องเรียน  เรียนอะไรก็ได้  ที่ไม่ขัดต่อพระธรรมวินัย  เพราะพระเณรจะเป็นผู้รักษาพระศาสนา  และเน้นให้ทำงานช่วยกันปลูกจิตสำนึกด้านคุณธรรม จริยธรรม และศีลธรรมให้กับเยาวชนและประชาชนในชาติ  ซึ่งหนทางนี้เท่านั้น  จะช่วยให้เกิดความมั่นคงแก่พระศาสนา  จึงเป็นจุดเริ่มต้นการจัดตั้ง 

                “สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคง  แห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์” 

               แม้ในยามที่ร่างกายโรยแรง  เริ่มชราภาพลง  แต่ข่าวคราวที่พระสงฆ์สามเณรและชาวพุทธ ถูกฆ่าที่ภาคใต้  กลับเพิ่มความรุนแรงมากขึ้น  พระธรรมทูตอาสา ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้  จำนวน ๒๖๐ รูป  ในสตูล  สงขลา  ยะลา  นราธิวาส  และปัตตานี  จึงถูกก่อตั้งขึ้นตามดำริของเจ้าประคุณสมเด็จฯ  เพื่อปลุกจิตสำนึกให้พระสงฆ์ร่วมกันทำงานในพื้นที่เสี่ยงภัย  นับตั้งแต่ ปี พ.ศ.๒๕๕๓ เป็นต้นมา

เจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้ประทานโอวาทแก่พระธรรมทูตอาสาว่า

“หากไม่มีพระสงฆ์ในพื้นที่  ชาวพุทธก็หมดที่พึ่ง…ก็ชื่อว่า พระพุทธศาสนาได้หมดไปแล้ว  ขอให้ทุกองค์หนักแน่น  มั่นคง  อยู่เป็นกำลังใจให้ชาวพุทธ  ถึงแม้วันหนึ่งวันใดข้างหน้า  พระพุทธศาสนาจะหมดไปจาก ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้  ก็ขอให้วันนั้น  มีพระสงฆ์เดินออกจากพื้นที่เป็นคนสุดท้าย”

               นับเป็นแสงแห่งจิตวิญญาณความมั่นคงพระพุทธศาสนา  แสงสุดท้าย  ที่เจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้ถ่ายทอดจิตวิญญาณความรักในพระพุทธศาสนา ผ่านพระธรรมทูตอาสา  อันเป็นอมตะวาจาที่ตรึงใจเหล่าพุทธบุตร  ผู้ทำหน้าที่พระธรรมทูตอาสา  ไปตราบนานเท่านาน

               ความสำเร็จของการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศทั่วโลก  จนพระพุทธศาสนาเบ่งบานกลางหิมะในโลกตะวันตกอย่างแข็งแกร่ง  เกิดจากการวางรากฐานที่สำคัญของเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ผู้ริเริ่มการเผยแผ่พระพุทธศาสนาไปทั่วโลก  ริเริ่มการสร้างวัดไทยในต่างประเทศ และริเริ่มให้มีการฝึกอบรมพระธรรมทูตไปประจำ ณ วัดไทยในต่างประเทศ  เป็นเหตุให้พระสงฆ์ผู้ปฏิบัติหน้าที่เป็นพระธรรมทูตได้ยึดเป็นแนวทางอันเดียวกัน  เป็นที่มาแห่งความสำเร็จของงานพระศาสนาในต่างประเทศ  นับได้ว่า  เจ้าประคุณสมเด็จฯ เป็นผู้เปิดวิสัยทัศน์ธรรมสู่วิสัยทัศน์โลก  ทำให้พระพุทธศาสนาแผ่ไพศาลไป  เป็นที่พักพิงทางด้านจิตใจแก่ชาวไทย  และประชาชนในต่างประเทศ

เรื่องราวทั้งหมดเหล่านี้  จะถูกจดจำ เล่าขานถ่ายทอดสืบต่อกัน จนกลายเป็นตำนาน จากตำนานกลายเป็นประวัติศาสตร์  จากประวัติศาสตร์กลายเป็นความทรงจำของโลก

               ที่สุดแล้ว นามของพระมหาเถระท่านนี้ ก็จะถูกจารึกบนหน้าประวัติศาสตร์แห่งความทรงจำของโลก  ในนามผู้นำพระพุทธศาสนาไปประดิษฐานยังแผ่นดินตะวันตกอันไกลโพ้น ตลอดไป

แนวคิดในความคิดของหลวงพ่อสมเด็จฯ

               ในวิธีการมองของหลวงพ่อสมเด็จ โดยลักษณะวิธีคิดมุมมองของท่าน  ทำอย่างไรจึงจะให้พระสงฆ์ในพื้นที่  ทำงานในพื้นที่  จากที่มีความพยายามเอาพระสงฆ์จากนอกพื้นที่เข้ามาทำงานในพื้นที่  อันนั้นก็เป็นส่วนหนึ่งของความพยายาม  แต่ส่วนสำคัญก็คือ  ส่วนที่จะได้ผลในพื้นที่นั้นๆ ก็เอาพระสงฆ์ในพื้นที่นั่นแหละทำงานในพื้นที่  เพราะพระสงฆ์ในพื้นที่จะเข้าใจในวัฒนธรรมการเป็นอยู่  วิธีคิด  วิถีชีวิต  ทั้งภาษาและวัฒนธรรมต่างๆ  

เพราะฉะนั้น ถ้าจะทำงาน  การรักษาพระพุทธศาสนาในชายแดนใต้ให้ได้ผล  ก็คือให้พระในพื้นที่ทำงานในพื้นที่ให้ได้  จึงเป็นที่มาของการฝึกอบรมพระธรรมทูตอาสาชายแดนใต้ขึ้นมา  จากเดิมที่มีความพยายามส่งพระจากนอกพื้นที่เขามา  ซึ่งอาจจะเจอปัญหาความไม่เข้าใจทั้งภาษา  และวัฒนธรรม  การยอมรับอะไรต่างๆ ส่วนรูปที่ทำงานได้ผลก็มี  แต่ว่าโดยมากก็จะเจอปัญหาเรื่องที่กล่าวคือภาษา  วัฒนธรรม หรือเข้ากับวัฒนธรรมท้องถิ่นไม่ได้

เพราะฉะนั้น  หลวงพ่อสมเด็จฯจึงมองว่า  ก็ให้พระในพื้นที่นั่นแหละ  ทำงานในพื้นที่  ท่านเข้าใจในภาษาวัฒนธรรม  แนวคิด  วิธีการแสดงออกต่างๆ  จะสื่อสารกันได้ง่าย  เราจึงฝึกท่านขึ้นมา  ฝึกจากอะไร การไปฝึกนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าไปฝึกท่าน  แต่ในความเป็นจริงคือ  ไปชวนท่านคิด  ไปชวนท่านทำงาน ท่านอยู่ในพื้นที่ท่านควรจะทำงาน  ท่านอยากทำงานอะไร  ไม่ใช่เราไปคิดแทนท่าน  เอางานไปให้ท่านทำ  ไม่ใช่เราคิด  เขียนโครงการแล้วเอาไปให้ท่านทำ  

ผู้ก่อตั้งพระธรรมทูตอาสาที่ส่งไปนี้  ไปฟังความคิดเห็นของท่าน  ไปฟังปัญหาของท่าน  ท่านส่งไปฟังปัญหาของเขา  ไปฟังความคิดเห็นเขา  ไปให้เขาปรับทุกข์ให้เราฟัง  พอปรับทุกข์ให้เราฟังแล้ว  ก็ถามท่านว่า  ท่านอยากทำอะไร  ท่านคิดว่า  ท่านอยากทำไรอะไร  อยากแก้ไขอย่างไร  เสร็จแล้วเราก็ไปเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยท่าน  ในการทำในสิ่งที่ท่านอยากทำ  เช่น การก่อตัวพระธรรมทูตอาสา ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้  ก็เป็นความต้องการของท่าน  เป็นความต้องการที่ท่านอยากจะมีองค์กรที่มันเหนียวแน่นขึ้นมา  แล้วทำอย่างไรท่านถึงจะทำงานร่วมกันได้  อย่างเช่นเชื่อมกันทำงานทั้งหมดใน ๕ จังหวัด  มันเหมือนกับว่าในจังหวัดนี้ก็สามารถที่จะรู้ข่าวคราวในจังหวัดนั้น  จังหวัดโน้นได้  รู้ความเป็นไปได้ตลอด  โดยเชื่อมกันแบบนี้  พูดภาษาเดียวกัน  กินอาหารแบบเดียวกัน  มีวัฒนธรรมแบบเดียวกัน  การเป็นอยู่แบบเดียวกัน

เพราะฉะนั้นวิธีคิดของคิดก็คือ  ในวิสัยทัศน์ หรือมุมมองของท่านก็คือว่า  เอาคนในพื้นที่  เอาพระในพื้นที่ทำงานในที่ของท่าน  ความรักหวงแหนในพื้นที่  ในท้องถิ่นมีทุนเดิมอยู่แล้ว  ความต้องการอยากจะช่วยให้คนคลายทุกข์  คือตัวเองก็มีทุกข์อยู่แล้ว  และก็เห็นคนอื่นทุกข์  คนของตัวเองก็มีปัญหาอยู่แล้ว  เพราะอยู่ตรงนั้น  ก็เห็นคนอื่นมีปัญหา  เพราะฉะนั้นก็อยากแก้ปัญหา

เป็นผู้ที่มีกิจพระศาสนาทุกลมหายใจ  ขณะนั่งไปในรถท่านนึกอะไรได้เกี่ยวกับงานพระศาสนา ท่านก็จะบอกว่า  ให้ช่วยจำด้วยนะ  ถึงวัดแล้วเตือนท่านด้วย  จากนั้นท่านจะทำโน้ตไว้ที่โต๊ะทำงานหน้าห้อง ซึ่งท่านจะเดินผ่านเข้าออกประจำ  ให้มองเห็นได้  จากนั้น  ถ้าท่านจะมอบหมายงานให้พระรูปใดไปจัดการ “สั่งงานแล้ว ให้ปฏิบัติทันที ผลเป็นอย่างไร ต้องรายงานทุกครั้ง”

เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร) อดีตประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช  ได้ปรารภถึงสถานการณ์ของสังคม  มีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว  และสิ่งสำคัญ คือภัยคุกคามที่เกิดขึ้นต่อสังคมไทย  โดยมุ่งไปที่สถาบันหลักของชาติ  ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของชนชาติไทย คือ  สถาบันชาติ  พระศาสนา  พระมหากษัตริย์  อันมีความผูกพัน  ประสานเป็น ๓ สถาบันหลักของชาติ เป็นฐานรองรับว่าให้คงความเป็นชาติไทยตลอดมา

ปัจจุบัน  สังคมไทยมีความอ่อนแอ  ผู้คนในชาติเกิดแนวคิดที่หลากหลาย  มีข้อโต้แย้งกันมากขึ้น ประกอบกับสถานการณ์ของสังคม  ที่ต้องต่อสู้ดิ้นรนทุกวิถีทาง  จึงปรากฏประหนึ่งว่า  ผู้คนในสังคมไม่เห็นความสำคัญของคุณธรรม  จริยธรรมของพระพุทธศาสนา  ว่าเป็นรากฐานเดิมของสังคมไทย

กำเนิดสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม ฯ         

               สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคง แห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์  ก่อกำเนิดขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๕๑  ในเดือนธันวาคม  อันเป็นเดือนมหามงคลสมัย  วันเฉลิมพระชนพรรษา  แห่งสมเด็จบรมบพิตร  พระราชสมภารเจ้า  พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  รัชกาลที่ ๙  ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ  โดยมีสมมติฐานการจัดตั้งมาจาก  พื้นฐานของสังคมไทยที่มีความเจริญมั่งคง  วัฒนาสถาพร  มีวัฒนธรรมแห่งความเป็นชนชาติ  จนถึงปัจจุบัน  สืบเนื่องมาจากคุณธรรม จริยธรรม แห่งพระพุทธศาสนา

เจ้าประคุณสมเด็จฯ เล็งเห็นภัยอันจะเกิดแก่สถาบันหลักของชาติดังกล่าว  เพื่อให้ทันกับภาวการณ์ของการเปลี่ยนแปลง  จึงได้จัดตั้งโครงการภายใต้ชื่อว่า  “โครงการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคง แห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์”  ขึ้นมา  ให้เป็นหน่วยงานของคณะสงฆ์โดยมติมหาเถรสมาคม  ในการสนับสนุนการดำเนินภารกิจด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนาเชิงรุก  ให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ  เป็นผู้สนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการ  และให้มีคณะกรรมการดำเนินงานคณะหนึ่งเป็นการเฉพาะ  เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการปฏิบัติงาน  และบรรจุวัตถุประสงค์ของโครงการ อย่างมีประสิทธิภาพ  โดยมีสำนักงานตั้งอยู่ที่ ณ ศาลาเฉลิมพระเกียรติฯ  ภายในบริเวณพระบรมบรรพต (ภูเขาทอง)  วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร  ถนนจักรพรรดิพงษ์  แขวงบ้านบาตร  เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร  และให้มีศูนย์ส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมฯ  ในภูมิภาคต่างๆ  เป็นเครือข่ายการทำงานประกอบด้วย  คณะพระวิทยากรที่ให้การอบรม  เน้นทั้งเชิงรุกคุณภาพและเชิงปริมาณ โดยแบ่งคณะวิทยากร เป็น ๒ แนวทาง คือ

พระวิทยากรกระบวนธรรม  เป็นการเน้นให้คำปรึกษา  ฟื้นฟู  เยียวยาจิตใจ  ดำเนินการโดย  กลุ่มเพื่อชีวิตดีงาม  ทำหน้าที่ในการการอบรมเชิงคุณภาพ  ใช้รูปแบบวิทยากรกระบวนการ  ตามหลักพุทธจิตวิทยากร  นันทนาการ  เพื่อไม่ให้เกิดความน่าเบื่อในการเข้ารับการอบรม  แล้วใช้กระบวนการจิตวิทยา กลุ่มปรับทัศนคติและพฤติกรรม  โดยได้นำหลักการสอนตามหลักไตรสิกขามาประยุกต์ใช้กับหลักจิตวิทยาการให้คำปรึกษาทั้งรายกลุ่มและรายบุคคล  ผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกคนจะมีส่วนร่วมในการทำงานของกิจกรรมอย่างเต็มที่

พระวิทยากรบรรยายธรรม  เป็นการเผยแผ่หลักคำสอนที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน  การทำงาน  และการเรียน  ดำเนินการโดย กลุ่มใต้ร่มพุทธธรรม  ทำหน้าที่ในการอบรมเชิงปริมาณและคุณภาพ  เน้นการเคลื่อนที่เข้าหากลุ่มเป้าหมายไปบรรยายในสถาบันศึกษา  หน่วยงาน  หรือองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน  ไม่จำกัดเวลา  จำนวนบุคคล  กลุ่มบุคคล  และสถานที่  โดยกิจกรรมปรับไปตามความเหมาะสมของผู้เข้ารับการฝึกอบรม  ถือเป็นการสร้างสรรค์ผลงานผ่านประสบการณ์ กระบวนการฝึกอบรมที่มีคุณภาพพร้อมให้มีการสอดคล้องกับชุมชน และสังคมไปพร้อมๆ กัน

การดำเนินงานของสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมฯ   

               ดังนั้น  การทำงานของสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมฯ  เพื่อเป็นไปตามเป้าหมายในการพัฒนาศักยภาพของพระวิทยากรให้มีความสอดคล้องกับความต้องการของสังคม  และสถานการณ์ของบ้านเมือง  จึงต้องการขยายงานเพื่อสร้างพระวิทยากร  สร้างนักเผยแผ่  สร้างพระธรรมทูตอาสา  ตามแนวทางในการครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศ  เพื่อให้การดำเนินงานของสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์  เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ  และพัฒนาพระวิทยากร  เพื่อสนับสนุนในการดำเนินการกิจด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนาเชิงรุกของคณะสงฆ์ตามมติมหาเถรสมาคม

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๕ ตรี (๓) และวรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.๒๕๐๕ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕  ประกอบคำสั่งประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช  ประกาศ เมื่อวันที่ ๑ เดือน ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๑  และมติมหาเถรสมาคม ที่ ๔๑๖/๒๕๕๖ ในคราวประชุมมหาเถรสมาคม ครั้งที่ ๒๐/๒๕๕๖  เห็นชอบให้สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์  เป็นหน่วยงานของคณะสงฆ์ในการสนับสนุนในการดำเนินการกิจด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนาเชิงรุก  จึงได้มีนโยบายแผนการทำงานของสำนักงาน  ดังนี้

               ๑.การดำเนินการในด้านประชาสัมพันธ์

                   ๑.๑ ได้ตั้งกลุ่มผลิตสื่อธรรมะภายใต้ชื่อ  “จริยธรรม แชนแนลสื่ออาสา นำธรรมดี”  เพื่อให้เยาวชนจิตอาสาร่วมกันผลิตและเผยแผ่สื่อธรรมะผ่านระบบออนไลน์

๑.๒ ได้สนับสนุนให้เยาวชนจิตอาสา  ผลิตบทเพลงธรรมะเพื่อใช้ในประกอบการอบรมในโอกาสต่างๆ ภายใต้ชื่อกลุ่ม “จริยธรรม มิวสิค”

๑.๓ ได้จัดทำช่องทางการประชาสัมพันธ์ผ่านมือถือสมาร์ทโฟน  ภายใต้ชื่อโครงการ “จริยธรรม แอปพลิเคชัน” แอปฯ ที่นำวัดมาไว้บนมือถือ

๑.๔ ได้จัดทำ “จริยธรรม อาร์ต” ดำเนินการโดยกลุ่ม “ต้นธารศิลป์” เพื่อสนับสนุนด้านศิลปวัฒนธรรม  แนวพุทธศิลป์

๑.๕ ได้ผลิตสื่อ แอนิเมชันในวันสำคัญต่างๆทางศาสนา ในชื่อ “จริยธรรม แอนิเมชัน” เพื่อให้เยาวชน  ประชาชน  และผู้สนใจทั่วไป  เข้าใจวันสำคัญทางศาสนาได้ง่ายยิ่งขึ้น

๑.๖ ได้จัดตั้งกลุ่มเขียนหนังสือธรรมะ  บทความ  ข่าว  สำหรับเผยแผ่ธรรมะ  ในวาระต่างๆภายใต้ชื่อกลุ่ม “จริยธรรม บุ๊ค”

๑.๗ ได้ออกแบบการ์ตูนตุ๊กตา  “น้องคุณธรรม น้องจริยธรรม และน้องศีลธรรม” เพื่อแทนค่าความหมายของคำว่า “คนดี” ให้เห็นเป็นรูปธรรมที่สามารถสัมผัสได้  อันจะเป็นการกระตุ้นเตือนใจให้เกิดอนุสฺสติ  มีจิตสำนึกในการตั้งตน  และอยู่ในความดีงามตลอดไป

               ๒.การดำเนินการด้านส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และเผยแผ่ธรรมะ

 ๒.๑ ได้ร่วมกับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ  จัดทำโครงการ  “อบรมคุณธรรม จริยธรรม  ข้าราชการบรรจุใหม่  ของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ”

๒.๒ ได้ร่วมกับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ  จัดโครงการ  “อบรมข้าราชการระดับกลาง สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ”

๒.๓ ได้จัดกิจกรรมเฉลิมฉลอง  เพื่อเข้าสู่ปีพุทธชยันตี ๒๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า                   

๒.๔ ได้จัดโครงการประกวดภาพยนตร์สั้น “จริยธรรมชอร์ตฟิล์ม” ครั้งที่ ๑ เพื่อให้เยาวชนมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์ผลงานธรรมะผ่านภาพยนตร์  เกิดแนวความคิดในการนำหลักธรรมมาใช้ในชีวิตประจำวัน

๒.๕ ได้ร่วมกับกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ  ออกแบบหลักสูตร “ผู้นำศาสนาเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและเสริมสร้างความสมานฉันท์”  เพื่อส่งเสริมให้พระสงฆ์  และประชาชนได้มีส่วนร่วมในการสร้างความสมานฉันท์ให้สังคมตั้งแต่ระดับล่าง คือ หมู่บ้านหรือชุมชน

๒.๖ ได้ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ออกแบบหลักสูตรการอบรมป้องกันการทุจริตในทุกระดับ โดยใช้กลไกทางศาสนาแก้ปัญหาคอร์รัปชัน

๒.๗ ได้จัดโครงการและออกแบบหลักสูตรอบรม “โรงเรียนต้นแบบคุณธรรม จริยธรรมในฝันของครอบครัว”

๒.๘ ได้จัดโครงการ “อบรมข้าราชการในสังกัดกรุงเทพมหานคร

๒.๙ ได้จัดโครงการ “อบรมบุคลากรที่ปฏิบัติงานด้านสาธารณสุข”

๒.๑๐ สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมฯ ได้ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงวัฒนธรรม สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ จัดทำโครงการ “นำครูเข้าวัดปฏิบัติธรรม”

๒.๑๑ ได้ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ จัดทำโครงการ “นำนักเรียนเข้าวัดปฏิบัติธรรม”

๒.๑๒ ได้จัดโครงการ “ยุวทูตพุทธชยันตี” สำหรับยุวชนผู้ตั้งใจใฝ่ความดี โดยการคัดเลือกให้เป็นตัวอย่างของยุวชนที่ดี

๒.๑๓ ได้จัดโครงการประกวดภาพยนตร์สั้น “จริยธรรมชอร์ตฟิล์ม”  ภายใต้หัวข้อ “พุทธชยันตี ๒๖๐๐ ปีแห่งการตรัสรู้”  เพื่อให้เยาวชนมีส่วนร่วมในโอกาสเฉลิมฉลองพุทธชยันตี ๒๖๐๐ ปีแห่งการตรัสรู้  เกิดแนวคิดในการนำธรรมะไปประยุกต์มาใช้ในชีวิตประจำวัน

๒.๑๔ ได้จักโครงการ “อบรมพระนักเขียน พุทธชยันตี เขียนความดีสู่สังคม”

๒.๑๕ ได้จัดโครงการ “พระธรรมทูตอาสา ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้”

๒.๑๖ ได้จัดโครงการ “ อบรมพระวิทยากร สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม”

๒.๑๗ ได้จัดทำโครงการ “ลานธรรม ต้านยาเสพติด” โดยร่วมกับสถานีตำรวจนครบาลสำราญราษฎร์

๒.๑๘ ได้จัดทำ “สารคดีส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม” โดยนักศึกษาจิตอาสา

๒.๑๙ ได้จัดโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ หลักสูตร “การบริหารโครงการ” ให้แก่พระวิทยากร ประจำสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมฯ

๒.๒๐ ได้จัดโครงการ “อุปสมบท เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ภายใต้ชื่อโครงการ “สันติธรรม”

๒.๒๑ ได้จัดสร้างพระพุทธปฏิมากร เพื่อเป็นที่ระลึกในงานเฉลิมฉลองพุทธชัยตี ๒๖๐๐ ปีแห่งการตรัสรู้

๒.๒๒ ได้ร่วมกับบริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด  จัดโครงการประกวดจัดบอร์ดนิทรรศการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม  หัวข้อ “พุทธชยันตี ๒๖๐๐ ปีแห่งการตรัสรู้”  ในระดับประเทศ  ชิงโล่ประทาน เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์  ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช

๒.๒๓ ได้จัดโครงการ “พุทธชยันตี ๒๖๐๐ ปี”  อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ  สู่ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตขอนแก่น

               ๓. ด้านส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมฯ ในระดับนานาชาติ

                              ได้จัดพิธีมอบรางวัล “Awakening Leadership Award” และประกาศเกียรติคุณแก่ผู้นำชาวพุทธ กว่า ๘๕ ประเทศทั่วโลก ณ องค์การสหประชาชาติ (UN) โดยมีเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เป็นประธาน

ก่อตั้งสถาบันพัฒนาพระวิทยากร 

               นโยบายการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระธรรมทูตอาสา  สร้างบทบาทการให้บริการทางสังคมของพระสงฆ์  เพื่อการพัฒนาจิตใจของประชาชน  คือ  การให้คำแนะนำทางด้านจิตใจ  เป็นที่ปรึกษาเกี่ยวกับปัญหาชีวิตต่างๆ  และเป็นที่พึ่งให้ความสุขทางใจ  ส่งเสริมการศึกษาของประชาชนและเยาวชน  ช่วยพัฒนาชุมชนให้เป็นแผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง  ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา  ผู้ประนีประนอม  ส่งเสริมความสามัคคีในหมู่บ้านได้  ประกอบกับการวางแผนโครงสร้างแนวทางในการทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาเชิงรุก

โดยการจัดตั้งสำนักพัฒนาพระวิทยากรเพื่อสร้างกระบวนการในการทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน  เนื่องจากในการพัฒนาประเทศนั้น  จำเป็นต้องเริ่มจากการพัฒนาด้านมนุษย์ก่อน  ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๒ (ปี ๒๕๖๐ – ๒๕๖๔)  ยุทธศาสตร์ที่ ๑ ซึ่งเน้นการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทุนมนุษย์  และการพัฒนานั้นมุ่งเน้นการพัฒนาเรื่องคุณธรรม  จริยธรรม  ตามคำกล่าวของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร  ปฏิบัติหน้าที่สานักงานเลขาธิการสภาปฏิรูปแห่งชาติไว้ในวาระพัฒนาที่ ๔ เรื่องระบบค่านิยม  คุณธรรมจริยธรรม  เพื่อความเป็นพลเมืองที่ดีและมนุษย์ที่สมบูรณ์, ว่า

“การปฏิรูปประเทศ  ต้องปฏิรูปที่ตัวคน  ปฏิรูปที่ตัวคน  ต้องปฏิรูปที่พฤติกรรมของคน  ปฏิรูปถ่ายทอดภาษาได้ตรงกับผู้อ่าน  จึงเป็นการช่วยสร้างความเข้าใจในด้านคุณธรรมจริยธรรมได้อีกทางหนึ่ง  พฤติกรรมของคนต้องพัฒนาระบบค่านิยมคุณธรรมและจริยธรรมที่กำกับพฤติกรรมของคน”

สถาบันพัฒนาศักยภาพพระวิทยากร  ภายใต้กำกับการของสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมและความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์  ได้ขยายงานตามมติมหาเถรสมาคม ที่ ๔๑๒/๒๕๕๖ ที่เห็นชอบให้สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคง แห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ กรุงเทพมหานคร  เป็นหน่วยงานของคณะสงฆ์ในการสนับสนุน  การดำเนินภารกิจด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนาเชิงรุก  ซึ่งเป็นสำนักงานที่เกิดขึ้นเพื่อสิ่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมโดยตรง  และสิ่งสำคัญที่จะพัฒนาคุณธรรม  จริยธรรมในคนได้  ต้องเริ่มจากการสร้างพระวิทยากรที่มีความรู้  ความสามารถ  และอุดมการณ์ในการเผยแผ่คุณธรรม จริยธรรมเสียก่อน

 ในการนี้จึงได้จึดให้มีโครงการพระวิทยากรกระบวนธรรม ภาคทฤษฎี  เพื่อมุ่งพัฒนาพระภิกษุให้มีความรู้ทางพุทธศาสนาในการนำไปประยุกต์ใช้  มีทักษะในการปฏิบัติการเข้าค่ายคุณธรรม  การบรรยาย และการเผยแผ่ทั้งผ่านการใช้สื่อสารออนไลน์  และการเขียน  และสร้างอุดมการณ์ในการเผยแผ่  อีกทั้งยังเป็นการการสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างพระวิทยากรทุกภูมิภาค  ให้มีความสามัคคี  อันจะส่งผลให้เครือข่ายการทำงานของพระวิทยากรมีความเข้มแข็งในการทำงานเผยแผ่พระศาสนาต่อไป

การสืบทอดพระพุทธศาสนา  

               สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมฯ  ให้ทีมที่ลงไปทำงานในทุกพื้นที่มีความเข้าใจและมุ่งมั่นในสิ่งที่ทำร่วมกัน  ให้มีความรักและปรารถนาดี  การวางหลักการ  การวางแผน  การแสวงหาคนที่เหมาะกับกิจกรรม  มีความเสียสละ  รักและอยากจะช่วยประสานกับข้าราชการ  เจ้าหน้าที่สำนักพุทธฯ  ส่วนบ้านเมืองอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง  ต้องอาศัยหลายคนเข้ามาช่วย  โดยใช้วิธีการบรรยาย  อธิบายธรรมะให้คนเข้าใจและสามารถนำไปปฏิบัติตามได้

ซึ่งบูรพาจารย์ทางพระพุทธศาสนา  ได้นำพาปฏิบัติในการรักษา  และสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน  ปรากฏเป็นความมั่นคงของพระพุทธศาสนาตราบทุกวันนี้  เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร) อดีตประธานกิตติมศักดิ์สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคง แห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์  เป็นพระมหาเถระรูปหนึ่ง  ที่มีความมุ่งมั่นในการจรรโลงรักษาและเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้วัฒนาสถาพรในประเทศไทยและขยายไปทั่วโลก  จึงได้กำหนดให้มีสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคง แห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ ขึ้นมา

การพัฒนาคุณภาพของพระสงฆ์ในการสืบทอดพระพุทธศาสนาที่พระมหาเถระ  และบูรพาจารย์ท่านมีความรู้ภูมิธรรม  มีความองอาจ  ความสง่างาม  ความมีน้ำใจ  และความเสียสละของท่านทั้งหลายจะเป็นปราการอันแข็งแกร่งให้กับพระพุทธศาสนา  และจะเป็นทิฏฐานุคติให้พระสงฆ์รุ่นหลังได้ดำเนินตาม

หากเราทั้งหลายยังเชื่อมั่นในวิถีทางของพระพุทธองค์  หยัดยืนการทำงานด้วยความเด็ดเดี่ยว  กล้าแกร่ง  และปฏิบัติร่วมกันอยู่เช่นนี้  พระศาสนาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  ก็ชื่อว่าจะยังดำรงอยู่เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ชาวโลก

               โครงการอบรมพระวิทยากรเพื่อทำงานด้านเผยแผ่  ได้ดำเนินฝึกอบรมโครงการอบรมพระวิทยากรกระบวนธรรม  เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน  สร้างเครือข่ายขับเคลื่อนงานเผยแผ่พระศาสนาเชิงรุกทั่วประเทศ  จึงเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะจัดทำโครงการต่อเนื่อง  เพื่อให้พระวิทยากรกระบวนธรรมได้ลงไปทำงานเผยแผ่ในพื้นที่ทุกภูมิภาคของประเทศไทย  ได้มีโอกาสมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงาน และถอดบทเรียนร่วมกัน  อันจะเป็นการนำไปต่อยอดในการทำงานเผยแผ่ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น  เป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างพระวิทยากรทุกภูมิภาคให้มีความสามัคคี  อันจะส่งผลให้เครือข่ายการทำงานของพระวิทยากรมีความเข้มแข็งในการทำงานเผยแผ่พระศาสนาต่อไป

การจัดการความรู้ทางพุทธศาสนา      

               การจัดการความรู้ทางพุทธศาสนา  มีหลักเกณฑ์และการวางแผนในการให้การอบรมเผยแผ่หลักธรรมคำสอนใช้เครื่องมือสื่อสาร  เช่น  โทรศัพท์  คอมพิวเตอร์ในการเผยแผ่  อุปกรณ์เครื่องมือสื่อสาร ในการผลิตสื่อให้สอดคล้องกับยุคสมัย  ในการถ่ายทอดความรู้ให้เหมาะสมกับแต่ละท้องถิ่น  แต่ละวัย  และมีการทำงานเชิงรุกในการเผยแผ่หลักธรรมคำสอนเกี่ยวกับความรู้ทางพระพุทธศาสนา

การสร้างภูมิปัญญาในการพัฒนาประเทศ  โดยเฉพาะหนังสือที่เพิ่มหลักการด้านคุณธรรมจริยธรรม  ตามคำกล่าวของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร  ปฏิบัติหน้าที่สานักงานเลขาธิการสภาปฏิรูปแห่งชาติ ว่า “การปฏิรูปประเทศ  ต้องปฏิรูปที่ตัวคน  ปฏิรูปที่ตัวคนต้องปฏิรูปที่พฤติกรรมของคนปฏิรูปถ่ายทอดภาษาได้ตรงกับผู้อ่าน  จึงเป็นการช่วยสร้างความเข้าใจในด้านคุณธรรมจริยธรรมได้อีกทางหนึ่ง  พฤติกรรมของคนต้องพัฒนาระบบค่านิยมคุณธรรม และจริยธรรมที่กำกับพฤติกรรมของคน” 

และตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ ๑๑ พ.ศ. ๒๕๕๕ -๒๕๕๙ ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  สำนักนายกรัฐมนตรี  กล่าวถึง  “คนไทยส่วนใหญ่มีปัญหาด้านคุณธรรมจริยธรรม  โดยผลการวิจัยและการสำรวจต่างๆ พบว่าปัญหาสำคัญที่สุด คือ ความซื่อสัตย์สุจริต และการทุจริตคอร์รัปชัน  โดยเห็นว่าต้องส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมในสังคมไทยเร่งด่วน”

ฉะนั้น  การส่งเสริมให้เกิดนักเขียนทางศาสนา  ที่มีองค์ความรู้และขยายความรู้ได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม  มีเนื้อหาที่น่าสนใจเหล่านี้  จึงควรนำมาวิเคราะห์ถึงเนื้อหาที่เน้นไปที่หลักคุณธรรม จริยธรรม  และศึกษารูปแบบวิธีการเขียน  ภาษาที่เข้ากันได้กับสังคมในยุคปัจจุบัน

สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์  ได้ขยายงานการดำเนินภารกิจด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนาเชิงรุก  ได้ดำเนินการอบรมพระวิทยากรทั่วประเทศ  ที่ผ่านมามีการจัดโครงการพระนักเขียนขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๕๔ เป็นต้นมา  เพื่อสร้างศักยภาพพระวิทยากรให้มีประสิทธิภาพในการเขียนธรรมะเพื่อการเผยแผ่  และจากโครงการในปีที่ผ่านมา  ผู้ผ่านการอบรมได้สร้างผลงานเขียนอย่างต่อเนื่อง  และยังเป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างพระวิทยากรทุกภูมิภาค  ให้มีความสามัคคี  อันจะส่งผลให้เครือข่ายการทำงานของพระวิทยากรมีความเข้มแข็งในการทำงานเผยแผ่พระศาสนาสืบต่อไป  ในการนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะมีการจัดอบรมพระนักเขียนต่อไป

สรุปได้ว่า  การทำงานด้านนโยบายการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระธรรมทูตอาสา  ในการให้บริการทางสังคมของพระสงฆ์  เพื่อการพัฒนาจิตใจของประชาชน  คือ การให้คำแนะนำทางด้านจิตใจ เป็นที่ปรึกษาเกี่ยวกับปัญหาชีวิตต่าง ๆ  และเป็นที่พึ่งให้ความสุขทางใจ  ส่งเสริมการศึกษาของประชาชนและเยาวชน  ช่วยพัฒนาชุมชนให้เป็นแผ่นดินธรรม  แผ่นดินทอง  ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา  ผู้ประนีประนอม ส่งเสริมความสามัคคีในหมู่บ้านได้

การทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา ๕  จังหวัดชายแดนใต้      

               การมีส่วนร่วมของประชาชนในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา  ประกอบด้วย  ด้านการรับฟัง  ด้านการร่วมกิจกรรม  และด้านการนำไปปฏิบัติ

๑. ด้านการรับฟัง  การแก้ปัญหา  ทำให้คนเกิดความรู้สึกสามารถที่จะเดินตาม  เครือข่ายจึงเกิดขึ้นมากในพื้นที่  โดยการประชาสัมพันธ์  ออกสื่อออนไลน์  ออกเฟซบุ๊ก  ทุกวันนี้พระธรรมทูตอาสามีกลุ่มไลน์ กลุ่มเฟซบุ๊กอยู่  เวลาไปทำงานอบรมเผยแผ่ตรงไหน  เราจะทำประชาสัมพันธ์งานของพระในการทำคุณงามความดีไปด้วย   แต่ส่วนใหญ่ไม่คอยได้ออกเผยแผ่  ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อในกระแส  เท่าที่สังเกตดู  เรื่องที่ไม่ดีส่วนใหญ่จะออกสื่อ  อยากจะฝากทางไลน์  ทางเฟซบุ๊กพระธรรมทูตอาสาว่า  ไปทำอะไร  ตรงไหน จะได้รู้  ให้ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ  การทำงานเผยแผ่ หรืองานสงเคราะห์ต่างๆ  ก็เป็นการลงทุนปัจจัยที่ญาติโยมถวายมา  ตามกิจกรรมต่างๆ ทางศาสนา  พระธรรมทูตอาสาเองไม่ได้เก็บเป็นปัจจัยส่วนตัวเลย  

พอมีงานที่ไหนที่พระธรรมทูตอาสาต้องไปช่วยเหลือให้ทันท่วงที  ก็รวบรวมชาวบ้านเหมารถไปช่วยกัน  บางครั้งก็ดูงานที่อื่น  วัดอื่น  จังหวัดอื่น  อำเภออื่น  เพื่อให้เขาได้เห็นว่าข้างนอกที่อื่นเขาเป็นอย่างไรบ้าง   พูดง่ายๆ ให้ได้เปิดหูเปิดตาว่าข้างนอกเขาเป็นยังไง  ทำให้เราดึงใจเขามาว่าข้างนอกเขาไปถึงไหนแล้ว  ทำให้เขาอยากจะมีส่วนร่วมกันทางศาสนา  ปีหนึ่งๆ พาญาติโยมออกไปหลายเที่ยว  ปลูกจิตสำนึกในเรื่องเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่  ไม่ว่าคนไทยพุทธหรือพระสงฆ์ถูกกระทำจากเหตุการณ์ที่ไม่สงบ  พระธรรมทูตอาสาจะชักชวนชาวบ้านให้เขาไปกัน  ไม่วันรดน้ำศพก็วันฌาปนกิจ  ปลูกจิตสำนึกคนไทยไม่ทิ้งกันนี้คือการนำประชาชนมาร่วมในงานเผยแผ่

๒. ด้านการร่วมกิจกรรม  จัดกิจกรรมทุกอย่างที่มีในวัด  อาทิ วันพระก็มีเทศน์  มีสวดมนต์  วันสำคัญก็จัดงานมีเทศน์  มีสวดมนต์  มีเวียนเทียน  ประเพณีลากพระที่กำลังทำอยู่ก็ให้โยมในหมู่บ้านมาช่วยกันประกอบเรือพระใครว่างก็มา  มาช่วยทำที่ช่วยได้  ทอดกฐิน  ทอดผ้าป่า  ใครจะขัดแย้งกับใครไม่เป็นไร  แต่ว่าให้มาช่วยวัด  จะโกรธจะเกลียดกัน  ไม่มีปัญหา  พระเป็นคนกลางไม่เข้าข้างใคร  โครงการเยี่ยมพระพบปะโยม  ก็เพื่อให้เรากับชาวบ้านชาวพุทธได้มีส่วนทำบุญร่วมกัน  ฆราวาสต่างถิ่น  ต่างหมู่มาเจอกันในงานบุญ  ได้ใกล้ชิดกัน แตะมือกัน  ให้กำลังใจกัน  เป็นญาติธรรม  ก็ให้เขารับรู้ถึงความปรารถนาดีของพระ  การเอาใจใส่ของพระต่อญาติโยมเป็นความเมตตาเสมอกัน  และเมื่อพระเราสื่อสารออกไปยังโลกกว้าง  แม้คนที่เราไม่ได้ไปเยี่ยมโดยตรง  แต่ก็ได้รับรู้ถึงสิ่งที่พระเราทำมันก็น้อมใจเขา  คนที่เราเข้าถึงก็ง่ายเมื่อเขามีสุขมีทุกข์  พระเราไปเยี่ยม  เราใส่ใจ  เราแสดงออก  เขาพร้อมที่จะรับฟังสิ่งที่พระบอก  สิ่งที่พระสอนเขาได้กำลังใจ  ส่วนคนที่อยู่ภายนอก  เห็นสิ่งที่เราทำหลายคนก็อยากเข้าช่วย  เข้ามาร่วมมือ  เพราะรับทราบสิ่งที่เราทำนั้นดีงามต่อใจของผู้คน  พระเราก็เปิดโอกาสให้เขามีส่วนร่วม  ซึ่งมีทั้งชาวพุทธที่อยู่ใกล้และอยู่ไกลมาสื่อสารด้วย  และก็เปิดช่องทางให้มาร่วมกิจกรรมเผยแผ่และสงเคราะห์ชาวบ้านกันด้วย  ก็เป็นการยึดให้ประชาชนพี่น้องชาวพุทธมีส่วนร่วมในการทำงานการเผยแผ่ด้วย  พูดคุยบอกต่อๆ กัน  นำญาติโยมไปสวดมนต์  เด็กของแต่ละวัดไปรวมกัน  ไปทำกิจกรรมกันที่เป็นการเผยแผ่อย่างหนึ่ง

บางครั้งไปเยี่ยมชาวบ้าน  ไปเยี่ยมโรงเรียน  ไปเยี่ยมครู ทหาร ตำรวจ  พระธรรมทูตอาสาเราก็ทำ หรืออาจจะบรรยายธรรมแค่ลง Facebook เล็กๆ น้อยๆ ชาวบ้านที่เห็นเราทำ  เขาเห็นว่าเราเสียสละ  เรามีใจที่จะช่วยอย่างเต็มกำลัง  พูดง่ายๆ คือถึงเป็นส่วนเล็กๆ ในพื้นที่  อย่างน้อยเขาก็เห็นความสำคัญตรงนี้  เพราะชาวบ้านเขาเห็นถึงความเสียสละ  เขาก็อยากมีส่วนร่วมกับเราเอง  เช่นว่าการบริจาคสิ่งของข้าวสารอาหารแห้งให้เราได้ต่อยอดในการทำงาน  นี่สิ่งที่เขาก็เห็นความสำคัญขึ้นมาเอง  คือการทำงานเชิงประจักษ์ให้เขาเห็นกับตาเขาเอง  มันก็จะเกิดผลดี  คือเขาจะพูดปากต่อปาก 

เช่น  พระธรรมทูตอาสาไปเยี่ยมคนแก่คนป่วยคนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุความไม่สงบ  พอพระเราไป  เขาก็จะพูดโฆษณาประชาสัมพันธ์เขาเองว่า  พระรูปนี้ได้ไปเยี่ยม  และไปให้กำลังใจ  เพราะฉะนั้นคนที่เขามีกำลังทรัพย์พอเขาเห็น  ก็จะเข้ามาสนับสนุน  อย่างเช่นล่าสุดลง Facebook  ลงเรื่องการทำงานพระธรรมทูตอาสา

๓. ด้านการนำไปปฏิบัติ  พระธรรมทูตอาสาทำด้วยใจ  ทำให้เขาเห็นเอง  เขาก็เห็นว่าเราทำจริงมีประโยชน์ต่อสังคม  ต่อพื้นที่ที่เราทำ  แล้วเขาก็จะมีส่วนร่วมกับพระเราเอง  ใช้วิธีการให้  ให้ธรรมะ  ให้ความคิด  ให้ความรู้สึกเขาถึงที่  หรือมีสิ่งของก็ให้เขา  แบ่งปันเขาไป  ทำให้เขาเห็นว่าพุทธศาสนามีเป็นตัวช่วยทั้งร่างกาย  จิตใจและความคิด  พอทำให้เขารู้จัก  ให้เขาได้มักคุ้นแล้ว  รู้ว่าเราไม่เป็นภัยแล้ว  เขาก็จะรับรู้เรื่องราวเหล่านั้น  และเขาก็จะเรียนรู้จากพระเราและนำไปใช้  นำวิธีการให้การช่วยเหลือไปต่อยอดตามความสามารถของเขา  เช่น พระเลี้ยงไก่  วันพระก็แจกจ่ายไข่  พอตอนเช้าเขาก็ทำกับข้าวมาถวายเป็นบุญร่วมกัน  พอเขาไว้ใจ  เชื่อใจพระแล้ว  เราก็สามารถสอนธรรมะให้เขาเข้าใจได้

พระธรรมทูตอาสาจึงจำเป็นจะต้องออกไปหาชุมชน ไม่จำกัดกาล  ไม่มีการนัดหมาย  ในการออกเยี่ยมบ้าน  ออกเยี่ยมตามค่ายทหารเหมือนที่ทำอยู่  ไม่มีการเรียกรวมแต่จะไปถึงบ้าน  ซึ่งเป็นสิ่งที่เยียวยาจิตใจได้มาก  เพราะบางบ้านมีข้อจำกัด  การจะมีส่วนร่วม  ต้องมีการทำงานเชิงรุกให้พระธรรมทูตอาสาเหมือนที่มี โครงการธรรมะเยี่ยมโยม  และธรรมะเยียวยาใจ ๓ จังหวัดชายแดนใต้   มี ๒ กลุ่มที่กำลังทำ  พระธรรมทูตอาสาเราต้องเข้าหา  ถ้ารอให้โยมมา  โดยเฉพาะ ๓ จังหวัดชายแดนภายใต้เป็นไปได้ยาก

การจัดตั้งเครือข่าย  การจัดตั้งกลุ่มในการทำงานเป็นกลุ่มๆ เป็นส่วนๆ เช่น  ดูว่าในส่วนไหนผู้คนมีส่วนร่วมได้ก็จัดตั้งเป็นองค์กร  เป็นเครือข่ายขึ้นมา  และก็ใช้เครือข่ายเชื่อมโยงกัน  ดึงคนที่มีศักยภาพแต่ละด้านเข้ามา  อย่างเช่นกรณีของกลุ่มศิลปินที่มีความรู้ความสามารถทางด้านศาสนา  มีจิตสาธารณะก็จัดกลุ่มขึ้นมาและให้การสนับสนุน  กลุ่มนักเขียน  กลุ่มนักคิดและเยาวชนที่ทำกิจกรรมกับชุมชน  ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมโดยการจัดตั้งเครือข่าย 

และการจะให้มีเครือข่ายเพิ่มขึ้น  ต้องใช้หลักความเป็นผู้มีกัลยาณมิตรเป็นตัวนํา  เมื่อพระธรรมทูตอาสาไปในสถานที่ใด  จะต้องมีหลักธรรมแห่งกัลยาณมิตร  เพื่อจะไปแนะนําประชาชนได้ทุกชนชั้น  ทําหน้าที่เป็นพระสาวกเผยแผ่หลักธรรมคําสั่งสอนของพระพุทธเจ้า  สร้างความคุ้นเคย  สนิทสนมกับประชาชนทุกหมู่เหล่า  ให้คําปรึกษาในเรื่องต่างๆ ได้

สรุปได้ว่า การมีส่วนร่วมของประชาชนในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา  ในการรับฟัง ร่วมกิจกรรม และนำไปปฏิบัติ  โดยการจัดกิจกรรมสร้างเครือข่ายจิตสาธารณะ  ทำให้เขาเห็นว่าพุทธศาสนามีเป็นตัวช่วยทั้งร่างกาย  จิตใจและความคิด

ทั้งหมดนี้ เป็นเพียงส่วนเล็กๆ ของการทำงานอันยิ่งใหญ่ ภายใต้ร่มกาสาวพัสตร์ของคณะสงฆ์ไทย โดยมีพระเถระผู้เต็มเปี่ยมไปด้วยความเมตตากรุณา และความคิดสร้างสรรค์ในการประยุกต์ธรรมให้นำสมัย

เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร) เป็นมากกว่าผู้นำทางความคิด เพราะท่านลงมือปฏิบัติไปพร้อมๆ กับคณะศิษย์ของท่าน สำนักวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร เป็นวัดที่มีวัตรปฏิบัติเข้มข้นตามพระธรรมวินัย อีกทั้งยังจัดทำวัตรสวดมนต์วันละ ๓ เวลา เพราะท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ต้องการสนับสนุนส่งเสริมพระเณรได้เล่าเรียนในมหาวิทยาลัยของสงฆ์จนถึงที่สุดที่แต่ะรูปจะทำได้ หลายรูปอาจกลับไม่ทันทำวัตรสวดมนต์เย็น ท่านจึงจัดทำวัตรสวดมนต์ค่ำ เพื่อพระเณรอยู่ในเส้นทางพระธรรมวินัยตลอด ๒๔ ชั่วโมงในแต่ละวัน

ในภาคการปฏิบัติของพระสงฆ์ในยุคสมัยของท่าน ไดหล่อหลอมปฏิปทาอันเข้มข้มข้นจากท่าน ที่มุ่งมั่นในการทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาจนสามารถสละชีวิตเพื่อธรรมได้ พระสงฆ์มีความอาจหาญทางธรรม ทั้งในการปฏิบัติธรรม บรรยายธรรม แสดงธรรม หรือเรียกว่ามีความสามารถทั้งปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธ จนก่อเกิดผลทั้งส่วนตนและสังคม ทุกวัยที่ได้รับการศึกษา อบรม และปฏิบัติธรรมในคอร์สต่างๆ สามารถนำธรรมะไปใช้กับชีวิตได้ทุกขณะ ทุกลมหายใจเข้าออก จนเรียกว่า หายใจเข้า หายใจออกเป็นธรรม เป็นธรรมะที่เหนือกาลเวลา อกาลิโก

ดังที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบเมื่อสองพันหกร้อยกว่าปีก่อน หลังการตรัสรู้อริยสัจสี่ประการ หรือ ความจริงอันประเสริฐสี่ประการ คือ ทุกข์ สมุทัย (เหตุให้เกิดทุกข์) นิโรธ (การที่ทุกข์ดับ หรือการดับทุกข์) และ มรรค หนทางในการดับทุกข์ย่างสิ้นเชิง คือ อริยมรรค ๘ ประการ โดยหลักธรรมทั้งหมดในพระไตรปิฏก คณะพระวิทยากรกระบวนธรรม และพระวิทยากรบรรยายธรรมที่เกิดขึ้นจาก สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ โดยมีเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ปผลักดัน สนับสนุน ส่งเสริมอย่างเต็มกำลังความสามารถก็ยังคงทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาอย่างมุ่งมั่นมาจนถึงปัจจุบัน

๙ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕ รำลึก “วิถีแห่งผู้นำ” ๘ ปีผ่านไป วันคล้ายวันพระราชทานเพลิงศพ หลวงพ่อสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร) ผู้สร้างตำนานพระพุทธศาสนาไทยไปสู่โลกกว้างอย่างมั่นคง เรียบเรียงโดย พระครูอมรโฆสิต(ปรีชา สาเส็ง)

กราบขอบพระคุณ ภาพถ่ายจาก สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ และ วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร กรุงเทพฯ

^

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here