
เล่าสู่กันฟังวันที่ “พาพระวิทยากรกลับบ้าน”
เพราะพ่อแม่คือนักเสียสละคนสำคัญ
โดย พระมหาขวัญชัย กิตฺติเมธี ป.ธ.๙, ดร.

หลังจากจบโครงการพระวิทยากรกระบวนธรรม ภาคเหนือ รุ่น ๑ ที่จังหวัดน่าน ระหว่างวันที่ ๒๐-๒๖ มีนาคม พ.ศ.๒๕๖๑ รวม ๗ วัน ๖ คืน โดยคณะสงฆ์จังหวัดน่าน ร่วมกับสถาบันพัฒนาพระวิทยากร สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมฯ วัดสระเกศ
เราเดินทางกลับด้วยรถตู้คันเดิมที่เคยใช้เดินทางมาระยะทางกว่า ๖ ร้อยกว่ากิโลเมตรถ้าเดินทางอย่างต่อเนื่องก็ร่วม ๙ ชั่วโมง และมีพระวิทยากรอีกส่วนก็กลับรถทัวร์ที่ท่านยังจดจำตอนขามาได้ว่า “ถ้ากลับด้วยรถทัวร์แบบนี้กว่าจะฟื้นตัวก็เกือบ ๓-๔ วัน”
แต่เนื่องจากช่วงนี้เป็นช่วงกีฬาโดยจังหวัดน่านเป็นผู้จัด เราจึงเลือกไม่ได้ เพราะรถทัวร์ที่ดีหน่อยจะถูกจองหมดก่อนนานแล้ว
และที่สำคัญที่เราเลือกจะเดินทางกันในรูปแบบนี้ทั้งที่สามารถเลือกทางที่สบายกว่าก็ได้ ไม่ใช่อะไรอย่างอื่นนอกจากเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย แม้จะเบียดเสียดกัน ไม่สะดวกสบายนักสำหรับพระนักทำงาน แต่เป้าหมายของผู้เป็นพระวิทยากรที่เรามักจะเตือนตัวเองและผู้เข้าอบรมเสมอคือ “เพื่อพระพุทธศาสนา” เป็นหลัก ไม่ใช่เพื่อความสุขสบายของตน จึง “ต้องทำตัวง่าย” คือ เดินทางง่าย อยู่ง่าย ฉันง่าย เข้ากับคนง่าย วางตัวเรียบง่าย แต่ต้องไม่มักง่าย หรือไปไหนต้องเป็นเสมือนผึ้งที่ดอมดมดอกไม้ แต่ไม่ทำให้ดอกไม้เสียหาย
หลังจากเราออกเดินทางมาส่งพระวิทยากรส่วนหนึ่งที่กลับด้วยรถทัวร์แล้วแวะชมเมืองน่าน มีวัดภูมินทร์ เป็นต้น เราก็ออกเดินทางต่อโดยมีเป้าหมายคือกำแพงเพชร เพื่อทำอะไรสำคัญบางอย่างคือ “ส่งพระวิทยากรกลับบ้าน” (ภาคใต้มีโครงการนำชาวพุทธกลับบ้าน เลยถือโอกาสนำชื่อมาอ้างถึง) โดยไม่มีอะไรมาก แค่อยากรู้จักโยมพ่อโยมแม่ที่ถือว่า “เป็นนักเสียสละคนสำคัญ” เพราะคงไม่มีพ่อแม่คนไหนที่จะยอมให้ลูกชายมาบวช ยิ่งบางครอบครัวก็มีลูกชายคนเดียว (อย่างพระวิทยากรหลายรูปที่เรากำลังจะไปส่งท่านกลับบ้าน) และยิ่งบวชนาน ผู้เป็นแม่ยิ่งทำใจยากสุด
(ถ้าใครอ่านธรรมบทหรือพระไตรปิฎกจะรู้ว่าการบวชลูกชายวัยยังเด็กหรือหนุ่มนั้นถือเป็นฝันร้ายของพ่อแม่ที่ต้องการสืบทอดวงศ์ตระกูล มอบทรัพย์มรดก และดูแลกันในยามแก่เฒ่า จนถึงขนาดพระเจ้าสุทโธทนะขอให้พระพุทธองค์บัญญัติว่าใครจะบวชต้องให้พ่อแม่อนุญาตก่อน แต่ก็มีลูกๆ หลายคนที่ไม่ยอมให้ลูกบวช ลูกบางคนไม่ยอมกินข้าวปลา พ่อแม่เห็นภาพนั้นทนไม่ไหวจึงยอม แม้อย่างนั้นก็ยังคงมีหวังว่าลูกจะสึกออกมา ฟังถึงตรงนี้ก็เข้าใจหัวอกผู้เป็นแม่ได้เป็นอย่างดี)
เมื่อเราทำหน้าที่เป็นพระวิทยากร
แม้จะทำหน้าที่อื่นได้สมบูรณ์ ได้พัฒนา
และช่วยเหลือเยียวยาคนอื่นมากมายอย่างไร
แต่จะไม่สมบูรณ์เลย ถ้าเราลืมพ่อแม่และครอบครัว…

ที่สำคัญเวลาพระวิทยากรมาเยี่ยมโยมพ่อโยมแม่ อย่ามาคนเดียว ต้องมาหลายๆ รูป “ทำไมนะหรือ” เพราะโยมแม่มักจะน้อยใจว่า “พระลูกชายลืมแม่แล้วกระมัง จึงไม่เคยมาเยี่ยมเลย”
ถ้ามีสหธรรมมิก คือ มีพระมาด้วยกันหลายๆ รูป จะได้ช่วยบอกท่านได้ว่า พระลูกชายไปทำงานอะไรมา ช่วยบอก ช่วยเล่า ท่านจะฟังอย่างเข้าใจในความเสียสละของพระลูกชายและผู้เป็นพ่อเป็นแม่ที่ให้พระท่านได้ทำหน้าที่เพื่อพระพุทธศาสนา
และเท่าที่ประสบมาพอโยมพ่อโยมแม่ได้ฟัง มีทั้งรอยยิ้มและน้ำตากลับมาเสมอ

เล่าสู่กันฟังวันที่ “พาพระวิทยากรกลับบ้าน” เพราะพ่อแม่คือนักเสียสละคนสำคัญ
โดย พระมหาขวัญชัย กิตฺติเมธี ป.ธ.๙, ดร.
จากคอลัมน์ ท่องเที่ยวโลกกะธรรม (หน้าพระไตรสรณคมน์ นสพ.คมชัดลึก วันพฤหัสบดีที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๖๒ )

วัดสระเกศ

