กราบขอบพระคุณ ภาพจาก เพจวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร
ใกล้ถึงช่วงเวลาส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ที่ได้รับวัฒนธรรมมาจากตะวันตกแล้ว สำหรับวัฒนธรรมไทยเรา ซึ่งมีรากฐานทางพระพุทธศาสนาก็นำสมัยเสมอ ดังเช่น ในยุคสมัยที่เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) เป็นเจ้าอาวาส วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร และประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ท่านได้ริเริ่มการสวดมนต์ข้ามปีขึ้นมา รายละเอียดเป็นอย่างไร . ..
เมื่อครั้งที่พระอาจารย์เทอด ญาณวชิโร ดำรงสมณศักดิ์ พระราชกิจจาภรณ์ ท่านเมตตาเขียน เรื่องของการสวดมนต์ข้ามปี ให้กับ หนังสือพิมพ์คมชัดลึก เป็นธรรมทาน และจากที่บันทึกไว้ใน มโนปณิธาน อดีตพระราชกิจจาภรณ์ เรื่อง “ตำนานพระอัฏฐารส และมหาสมัยสูตร”… กำเนิดการสวดมนต์ข้ามปีที่ภูเขาทอง โดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์ หน้าธรรมวิจัย หนังสือพิมพ์คมชัดลึก วันอังคารที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๖๒
จึงขอนำมารำลึกความทรงจำเพื่อที่เราจะได้เข้าใจที่มา และอานิสงส์ของการสวดมนต์ข้ามปี ที่จะทำให้เรามีส่วนร่วมในการเฉลิมฉลองปีใหม่ด้วยการเจริญพระพุทธมนต์ด้วยความเข้าใจ เป็นการรำลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ ที่เมตตาและกรุณาต่อสรรพชีวิตในการมอบแนวทางแห่งสันติของชีวิตมาให้ชาวโลกอยู่ร่วมกันอย่างร่มเย็น และเพื่อให้เราพบพุทธิปัญญาที่จะนำจิตเราให้ก้าวไปสู่ความพ้นทุกข์ในสังสารวัฏตามรอยพระองค์ท่านและพระอริยสาวกทั้งหลายที่กรุณาบันทึกพระพุทธมนต์จากพระโอษฐ์ไว้ในพระไตรปิฎก และอรรถกถา โดยผ่านการปฏิบัติมาอย่างอุกฤษฏ์ เสียสละชีวิตมานับไม่ถ้วนเพื่อรักษาธรรมไว้อย่างบริบูรณ์และต่อเนื่องจนผ่านกาลเวลากว่าสองพันหกร้อยปี …
การสวดมนต์ข้ามปีนั้นเป็นประเพณีนิยมของชาวไทยมาแต่เดิม โดยก่อนสิ้นปี พระสงฆ์จะไปเจริญพระพุทธมนต์บทนพเคราะห์ที่กรมประชาสัมพันธ์ จากนั้น ก็จะรอเวลาเที่ยงคืนเพื่อเจริญพระพุทธมนต์บทชัยมงคลคาถา ออกอากาศไปทั่วประเทศ ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย
ต่อมา ในปีพุทธศักราช ๒๕๔๗ เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ได้นำคณะสงฆ์วัดสระเกศ ประกอบพิธีเจริญพระพุทธมนต์ข้ามปีขึ้น ณ พระอุโบสถ วัดสระเกศ โดยอนุวัติตามโบราณพระราชประเพณีแห่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ เคยประกอบพิธีในช่วงเทศกาลสงกรานต์ อันเป็นประเพณีปีใหม่ของไทยที่มีมาแต่เดิม
และ ในปีพุทธศักราช ๒๕๔๙ กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ได้เห็นความสำคัญของการสวดมนต์ข้ามปี จึงได้ร่วมกับคณะสงฆ์วัดสระเกศ จัดสวดมนต์ข้ามปีขึ้นอย่างเป็นทางการ และ ต่อมา คณะสงฆ์มีความเห็นร่วมกันว่า การสวดมนต์ข้ามปีเป็นที่นิยมของประชาชนอย่างแพร่หลาย และเป็นค่านิยมที่งดงาม ควรแก่การส่งเสริม ที่ประชุมมหาเถรสมาคม เมื่อเดือนธันวาคม ๒๕๕๓ ณ ตำหนักสมเด็จฯ วัดสระเกศ จึงได้มีมติให้วัดทุกวัดจัดสวดมนต์ข้ามปี โดยมีสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเป็นศูนย์กลางการอำนวยการ และให้วัดเจ้าคณะจังหวัดเป็นศูนย์กลางการสวดมนต์ของจังหวัดนั้น ๆ
สำหรับวัดสระเกศนั้น เป็นวัดที่เกี่ยวข้องกับความร่มเย็นเป็นสุขของประเทศชาติบ้านเมืองมาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ด้วยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ ได้ประกอบพิธีเจริญพระพุทธมนต์ที่บริเวณสระน้ำวัดสะแก ซึ่งเป็นที่ตั้งวัดสระเกศในปัจจุบัน เป็นเวลา ๓ วัน ๓ คืน จากนั้นจึงประกอบพิธีมูรธาภิเษก ก่อนปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์ผ่านพิภพเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี
ภายหลังเมื่อสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์แล้ว ทรงเปลี่ยนนาม “วัดสะแก” เป็น “วัดสระเกศ” เพื่อเฉลิมพระเกียรติให้ต้องตามสถานที่ที่พระองค์ประกอบพิธีมูรธาภิเษก วัดสระเกศจึงถือได้ว่า เป็นจุดเริ่มต้นแห่งการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ และราชวงศ์จักรี
คณะสงฆ์วัดสระเกศได้รักษาประเพณีการเจริญพระพุทธมนต์ เพื่อประกอบพิธีทำน้ำพระพุทธมนต์ในวาระที่สำคัญ ตามโบราณพระราชประเพณีแห่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ สืบต่อมา
ครั้นถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ พระองค์โปรดฯ ให้มีการฟื้นฟูพิธีเจริญพระพุทธมนต์ บทมหาสมัยสูตร ให้มีระเบียบแบบแผนมากขึ้น โดยโปรดฯ ให้ประกอบพิธีที่พระวิหารพระอัฏฐารส วัดสระเกศ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ อันเป็นเทศกาลปีใหม่ตามธรรมเนียมโบราณของชาวไทย เพื่อนำน้ำพระพุทธมนต์ไปแจกจ่ายให้กับประชาชน ได้นำไปประพรมให้ลูกหลานบ้านเรือน เรือกสวนไร่นา ให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุข
ก่อนหน้าที่ชาวไทยกำหนดเอาวันสงกรานต์เป็นวันขึ้นปีใหม่ พิธีเจริญพระพุทธมนต์บทมหาสมัยเป็นพิธีสวดมนต์ใหญ่ประจำปี เนื่องในวาระขึ้นปีใหม่ ถือว่าเป็นพิธีที่สำคัญที่ทางบ้านเมืองจะต้องร่วมกันจัดขึ้นเพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคล และเกิดความร่มเย็นเป็นสุขแก่อาณาประชาราษฎร์ สำหรับประชาชนในท้องถิ่นต่างๆ พอถึงวันสงกรานต์ต่างก็จัดให้มีพิธีสวดมหาสมัยขึ้นในหมู่บ้านหรือชุมชนของตนเช่นกัน แตกต่างกันไปตามความนิยมของท้องที่นั้นๆ
ต่อมา ทางราชการบ้านเมืองกำหนดวันขึ้นปีใหม่ จากวันสงกรานต์ไปใช้ตามความนิยมของสากล เพื่อให้สอดคล้องกับนานาประเทศ พิธีเจริญพระพุทธมนต์บทมหาสมัยก็ลดความสำคัญลง และเริ่มเลือนหายไปจากวิถีชีวิตของคนไทย
การที่รัชกาลที่ ๓ โปรดฯ ให้ประกอบพิธีเจริญพระพุทธมนต์บทมหาสมัยที่พระวิหารพระอัฏฐารส วัดสระเกศ ด้วยพระองค์ทรงปรารภว่า พระอัฏฐารส เป็นพระพุทธรูปที่เกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์ในมหาสมัยสูตร สืบเนื่องมาจากพระประยูรญาติของพระพุทธองค์เกิดความแตกแยกกันอย่างรุนแรง จนถึงขั้นยกกองทัพมาประจันหน้าจะทำสงครามกัน เพราะแบ่งผลประโยชน์เรื่องน้ำไม่ลงตัว พระพุทธองค์จึงเสด็จมาห้ามทัพ ทำให้สงครามแย่งน้ำยุติลง
พระอัฏฐารส เป็นพระพุทธรูปปางประทับยืน ศิลปะสกุลช่างสมัยสุโขทัยตอนต้น อายุไม่น้อยกว่า ๗๐๐ ปี หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ทั้งองค์ โดยไม่มีการเชื่อมต่อ มีความสูงถึง ๒๑ ศอก ๑ นิ้ว นับว่าเป็นการหล่อพระพุทธรูปด้วยโลหะ ที่มีขนาดสูงใหญ่ที่สุดเป็นครั้งแรก ในประวัติศาสตร์ชนชาติไทย เดิมประดิษฐานอยู่วัดวิหารทอง เมืองพิษณุโลก ซึ่งเป็นวัดประจำพระราชวังจันทน์ อันเป็นที่ประทับของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ต่อมา รัชกาลที่ ๓ ดำริที่จะให้มีพระอัฏฐารสไว้ประจำพระนคร จึงโปรดฯ ให้ไปเสาะหาตามกรุงสุโขทัย และกรุงศรีอยุธยา ปรากฏว่าชำรุดมาก และได้ไปพบที่วัดวิหารทอง เมืองพิษณุโลก จึงได้อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ที่พระวิหารวัดสระเกศ กรุงเทพมหานคร
ธรรมเนียมการสร้างพระอัฏฐารส
พระพุทธรูปยืนไว้ประจำพระนคร ของพระมหากษัตริย์ไทยในอดีต
เพื่อให้บ้านเมืองสงบสุขปราศจากสงคราม
ป้องกันความแตกแยกของคนในชาติ
ให้คนในชาติเกิดความรักความสามัคคี
และให้ประเทศชาติสถิตสถาพรมั่นคงยั่งยืนนาน
ประหนึ่งพระพุทธปฏิมากรประทับยืนสถิตสถาพรเป็นนิรันดร์
กราบขอบพระคุณ ภาพถ่ายจาก สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ฺ วัดสระเกศ ฯ
เมื่อครั้งย้ายพระอัฏฐารสมากรุงเทพนั้น ได้ล่องแพมาตามคลองน้ำ เนื่องจากพระอัฏฐารสมีขนาดใหญ่จึงกดทับแพให้จมน้ำมองเห็นเฉาะองค์พระ คนก็ลืออันว่าพระลอยน้ำ ผ่านมาถึงไหน ประชาชนสองฝากฝั่งที่ทราบข่าวก็มารอรับเป็นจำนวนมาก จนมาถึงท่าที่จะขึ้นที่กรุงเทพ ปรากฏว่ามีประชาชนหลั่งไหลมาดูพระลอยน้ำและมาช่วยกันชักพระขึ้นเป็นจำนวนมาก ว่ากันว่าคนที่มาเหลือจะคณานับได้ จนเป็นคำพูดติดปากว่า มีคนถึงสามแสนคน ย่านที่ชักพระอัฏฐารสขึ้นจากท่าน้ำเรียกว่า “ย่านสามแสน” ต่อมา จึงกลายเป็น “สามเสน” ซึ่งเป็นชื่อย่านในปัจจุบัน
ต่อมา เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ ให้จัดมีพิธีเจริญพระพุทธมนต์รับปีใหม่ หรือที่เรียกว่า สวดมนต์ข้ามปีขึ้น โดยถือตามคตินิยมปีใหม่แบบสมัยปัจจุบัน และทางวัดได้นำน้ำพระพุทธมนต์บทมหาสมัยสูตรมาแจกจ่ายให้แก่ประชาชนที่มาพิธี ตามธรรมเนียมเทศกาลปีใหม่โบราณของชาวไทยด้วย
อย่างไรก็ตาม การฟังและการเจริญพระพุทธมนต์ในช่วงเริ่มต้นปีใหม่ ที่จุดเริ่มต้นกรุงรัตนโกสินทร์ วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร หรือที่วัดใกล้บ้าน หรือ แม้แต่สวดในบ้านก็ตาม เป็นการให้ของขวัญอันพิเศษสำหรับจิตใจเราเอง น้อมความหมายแห่งพระพุทธมนต์นำมาปฏิบัติในชีวิตประจำวัน เพื่อให้จิตใจมีสติ สมาธิตั้งมั่น มีปัญญาในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้ลุล่วงไปได้ ไม่หลงติดกับดักของอารมณ์ดีใจหรือเสียใจ มีกำลังสติรู้เท่าทันกิเลสน้อยใหญ่ ทั้งโลภ โกรธ หลง จนสามารถลดละเลิกได้ในที่สุด มีพลังใจในการเริ่มต้นวันใหม่ได้เสมอไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ด้วยลมหายใจแห่งสติปัญญาทุกขณะย่างก้าวของชีวิตด้วยความเป็นสิริมงคล
จากสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ
การได้น้อมเศียรเกล้ากราบนมัสการสักการบูชาพระบรมสารีริกธาตุองค์จริง ณ พระเจดีย์สุวรรณบรรพต (ภูเขาทอง) สักครั้งหนึ่งในชีวิต แล้วน้อมจิตระลึกถึงพุทธประวัติของพระพุทธเจ้า พระธรรมที่พระองค์ทรงค้นพบ และพระสงฆ์สาวกผู้เดินตามพระธรรมวินัยที่พระองค์วางไว้อย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน โดยมีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง ก็จะเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจที่สำคัญยิ่งของเราชาวไทยที่นับถือพระพุทธศาสนา ที่ตั้งใจบำเพ็ญทาน รักษาศีล เจริญจิตภาวนาให้ยิ่งขึ้น โดยมีเป้าหมายคือ พ้นทุกข์ในสังสารวัฏ ตามรอยพระพุทธเจ้าและพระอริยสงฆ์สาวกตลอดสายมาจนถึงปัจจุบันอย่างไม่ย่อท้อ และด้วยทาน ศีล ภาวนานี้เองที่เพียรปฏิบัติก็จะช่วยคุ้มครองปกปักรักษาชีวิต ครอบครัว สังคม ประเทศชาติ ให้มีความร่มเย็นเป็นสุขตลอดไป
ดังพระพุทธพจน์ว่า
“สีเลนะ สุคะติง ยันติ
สีเลนะ โภคะสัมปะทา
สีเลนะ นิพพุติง ยันติ
ตัสมา สีลัง วิโสทะเย”
หมายความว่า
สีเลนะ สุคะติง ยันติ = ศีลเป็นเหตุให้ถึงสุคติ
สีเลนะ โภคะสัมปะทา = ศีลเป็นเหตุให้ถึงพร้อมด้วยโภคทรัพย์
สีเลนะ นิพพุติง ยันติ = ศีลเป็นเหตุให้ถึงพระนิพพาน
ตัสมา สีลัง วิโสทะเย = เพราะเหตุนั้น พึงชำระศีลให้หมดจด
ศีลจึงเป็นบาทฐานที่สำคัญยิ่งในการที่จะไปสู่ความพ้นทุกข์ได้อย่างแท้จริง และเมื่อเรารักษาศีลอย่างดีแล้ว ในที่สุด ศีลก็จะรักษาเรา จึงเป็นการส่งท้ายปีเก่าวิถีไทย สู่ปีใหม่วิถีพุทธที่ดำรงรากอันมั่นคงแห่งพระรัตนตรัยเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจเพื่อดำรงจิตให้ตั้งมั่นในการเดินบนเส้นทางอริยมรรคมีองค์ ๘ ประการ ดังปรากฏอยู่ในพระพุทธมนต์ “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” จนกว่าจะถึงจุดหมายปลายทางคือ พระนิพพาน
ดังพระพุทธพจน์ว่า
“นิพฺพานปจฺจโย โหตุ”
หมายถึง
“ ขอความดีที่ได้บำเพ็ญนี้
จงเป็นเหตุสนับสนุนให้ได้บรรลุถึงพระนิพพานเทอญ “
ขอเชิญร่วมกิจกรรม พิธีเจริญพระพุทธมนต์นพเคราะห์ เสริมสิริมงคลแก่ชีวิต
“ส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ ๒๕๖๗ “
วันอาทิตย์ที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๖
ณ วัดสระเกศ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร
- ๑๙.๓๐ น. พิธีเจริญพระพุทธมนต์ “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” (พระสงฆ์ ๑๙ รูป)
- ๒๑.๐๐ น. ทำวัตรค่ำ ณ พระอุโบสถ
- ๒๑.๓๐ น. พิธีเจริญพระพุทธมนต์นพเคราะห์นั่งอธิษฐานจิต โดย พระมหาเถระวัดสระเกศ
- ๒๓.๐๐ น.กล่าวสัมโมทนียกถา ส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ โดย พระเดชพระคุณพระธรรมโพธิมงคล เจ้าอาวาสวัดสระเกศ / เจ้าคณะภาค ๒
- ๒๓.๓๐ น. การเจริญจิตภาวนา / แผ่เมตตา
- ๐๐.๐๐ น. พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา ๙ จบ / ลั่นฆ้องระฆังมงคล “ส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่” พระเดชพระคุณพระธรรมโพธิมงคล ประพรมน้ำพระพุทธมนต์ พระสงฆ์อนุโมทนาคาถา (ให้พร)
(ผู้มาร่วมงาน : รับแจกน้ำพระพุทธมนต์/ผ้ายันต์แดงห่มองค์พระเจดีย์/ปฏิทินปีใหม่)
สำนักงานเลขานุการวัดสระเกศ โทร. ๐๖๕-๖๒๖-๓๕๕๓,๐๖๓-๕๒๙-๕๔๙๙, ๐๘๔-๖๓๕-๑๔๕๒
กราบขอบพระคุณ ภาพจากสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ