ในปัจจุบัน ถึงแม้รูปแบบและวิธีการทำบุญจะเปลี่ยนแปลงไปตามกาาลเวลา เด็กสมัยนี้อาจดูตื่นเต้นน้อยลงเมื่อพูดถึงการทำบุญบ้าน แม้ผู้ใหญ่ก็อาจดูพิถีพิถันน้อยลง ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่า คนเริ่มห่างไกลจากธรรมะ หรือคนเริ่มห่างไกลจากศาสนา แต่เพราะเงื่อนไขทางสังคมเปลี่ยนไป จึงทำให้รูปแบบชีวิตเปลี่ยนไป และวิธีการทำบุญก็อาจเปลี่ยนไปด้วย
ถึงแม้รูปแบบและเงื่อนไขในการทำบุญจะเปลี่ยนไป แต่สิ่งหนึ่งที่ยังดำรงอยู่ คือ ความปรารถนาที่จะให้อานุภาพแห่งพระพุทธมนต์แผ่ปกป้องลูกหลานให้ได้รับความร่มเย็นเป็นสุข ความรู้สึกเช่นนี้ คือ ความรู้สึกแห่งเมตตาธรรมต่อลูกหลานที่ยังคงอยู่มิเสื่อมคลาย ภายใต้จิตใจที่ยึดมั่นในหลักธรรมคำสั่งสอนทางพระพุทธศาสนา
ปัจจุบันมีผู้หันมาให้ความสนใจเกี่ยวกับการไหว้พระสวดมนต์มากขึ้น มิใช่แต่เฉพาะคนที่มีอายุมากแล้วเท่านั้น แม้คนรุ่นหนุ่มสาวก็มีแนวโน้มว่า มีความสนใจที่จะสวดมนต์มากขึ้น คนหนุ่มสาวบางคนสามารถสวดมนต์บทยากๆ ได้หลายบท บางคนเชื่อว่า คนสมัยนี้เข้าใจชีวิต และเห็นคุณค่าของชีวิตมากขึ้น จึงแสวงหาสิ่งดีงามให้กับชีวิต บางคนเชื่อว่า คนสมัยนี้มีสาเหตุแห่งความทุกข์สลับซับซ้อนมากขึ้น จึงหาวิธีการผ่อนคลายทุกข์ให้เบาบางลง ซึ่งยากที่จะอธิบายได้ว่า เพราะเหตุไร
ผู้เขียนได้เรียบเรียงหนังสือเล่มนี้ขึ้น จากการได้เห็นคนรุ่นหนุ่มสาวเข้าวัดสวดมนต์ร่วมกับพระสงฆ์ในโอกาสต่างๆ จึงเกิดความคิดที่จะสื่อการสวดมนต์ไปยังคนรุ่นใหม่ในอีกรูปแบบหนึ่ง เป็นความพยายามที่ต้องการให้ผู้สนใจได้เรียนรู้พุทธธรรม จากลิ่งใกล้ตัว โดยใช้พระพุทธมนต์ที่คุ้นเคยในชีวิตอยู่แล้วเป็นการเล่าเรื่อง
ผู้เขียนมิได้คาดหวังว่าจะให้หนังสือเล่มนี้ เป็นคู่มือในการสวดมนต์ มิได้คาดหวังว่าจะให้หนังสือเล่มนี้เป็นแบบเรียนพุทธธรรม เพื่อความเข้าใจหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา ทั้งมิได้คาดหวังว่าชีวิตทุกชีวิตจะงดงามเพราะหนังสือเล่มนี้ เพียงอยากทำความเข้าใจการสวดมนต์ ที่แทรกซึมอยู่ในจิตวิญญาณของคนไทย ผ่านคนรุ่นใหม่เท่านั้น
ส่วนหนึ่งจาก คำนำ ธรรมนิพนธ์ เรื่อง “พุทธานุภาพ : อานุภาพของพระพุทธองค์ เขียนโดย พระครูปลัดสุวัฒนธีรคุณ (เทอด ญาณวชิโร) ฉบับธรรมทาน พิมพ์ครั้งที่ ๑๘ โดย กองทุนพุทธานุภาพ วัดสระเกศ คณะ ๗
เรื่องของการสวดมนต์ ,
อานิสงส์แห่งการเจริญพระพุทธมนต์ และ กำเนิดการสวดมนต์ข้ามปี
เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)
การสวดมนต์เริ่มต้นมาอย่างไร
การเจริญพระพุทธมนต์เริ่มต้นมาจากการศึกษาเล่าเรียนพระพุทธพจน์ เพื่อทรงจำและสืบต่อคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ พระสงฆ์สาวกสมัยพุทธกาลได้นำพระสูตรต่างๆ มาสวดสาธยายในรูปแบบการบริกรรมภาวนาให้เกิดเป็นสมาธิ พระสูตรนั้นๆ จึงเรียกว่า “พระพุทธมนต์”
เมื่อบริกรรมภาวนาพระพุทธพจน์จนจิตเป็นสมาธิ ย่อมเกิดอานุภาพในด้านต่างๆ เช่น ทำให้เกิดสิ่งดีงามขึ้น ทั้งในชีวิต หน้าที่การงาน สุขภาพ และครอบครัว ในขณะเดียวกัน ก็จะต้านทานสิ่งที่ไม่ดีออกไปจากชีวิต
ต่อมา จึงมีผู้นิยมนำพระพุทธพจน์มาใช้เป็นพระพุทธมนต์ เพื่อต้านทานสิ่งไม่ดีทั้งหลาย พระพุทธมนต์จึงถูกเรียกว่า “พระปริตร” แปลว่า เครื่องต้านทาน ป้องกัน รักษา
พระพุทธมนต์ที่มีอานุภาพในการต้านทาน คุ้มครอง ป้องกัน รักษา จึงถูกเรียกว่า พระปริตร ไปด้วย
การศึกษาเล่าเรียนพระพุทธพจน์ในครั้งพุทธกาลนั้น ใช้วิธีเรียนแบบบอกปากต่อปาก แล้วจดจำสวดสาธยายต่อๆ กันมา เรียกว่า “มุขปาฐะ” วิธีเล่าเรียนพระพุทธพจน์ที่เรียกว่า มุขปาฐะนี้ พระสงฆ์สาวกใช้มาตั้งแต่สมัยพระพุทธองค์ยังทรงพระชนม์อยู่ โดยพระสงฆ์ในสมัยนั้นแบ่งหน้าที่กันท่องเป็นหมู่คณะตามความถนัด
พระอุบาลีเถระทำหน้าที่ทรงจำพระวินัย พระภิกษุผู้สนใจเกี่ยวกับพระวินัยก็เรียนพระวินัยจากพระอุบาลีเถระ
พระอานนท์เถระทรงจำพระสูตร พระภิกษุผู้สนใจเกี่ยวกับพระสูตรก็เรียนพระสูตรต่อจากพระอานนท์เถระ
พระสารีบุตรเถระทรงจำพระอภิธรรม พระภิกษุผู้สนใจเกี่ยวกับพระอภิธรรมก็เรียนพระอภิธรรมต่อจากพระสารีบุตรเถระ
แล้วก็ร่วมกันสวด สาธยายเป็นหมู่คณะๆ ตามโอกาส แม้ที่พักอาศัยก็จะอยู่รวมกันเป็นคณะ เพื่อสะดวกต่อการร่วมกันสวดสาธยายพระพุทธพจน์ที่ตนถนัด
การสืบต่อพระพุทธพจน์ที่เรียกว่ามุขปาฐะครั้งพุทธกาล เช่น นามว่า โสณกุฏิกัณณะ เดินทางจากชนบทห่างไกลมาเฝ้าพระพุทธเจ้า ทรงรับสั่งให้พระเถระพักอยู่ในพระคันธกุฎีเดียวกับพระองค์ พอตกดึก จึงให้ท่านสวดพระสูตรให้สดับ พระเถระสวดพระสูตรให้พระพุทธองค์ สดับถึง ๑๖ สูตรก็พอดีสว่าง
เมื่อพระพุทธองค์ประชวรก็ได้ให้พระมหาจุนทะสวดโพชฌงคสูตรให้สดับ จนหายจากอาการประชวร
นอกจากนั้น ในพระวินัยปิฎกยังระบุไว้ว่า ในอาวาสที่มีพระภิกษุจำพรรษาอยู่มากรูป จะต้องให้มีพระภิกษุสวด พระปาติโมกข์ คือ การสวดทบทวนศีล ๒๒๗ ข้อของพระสงฆ์ได้หนึ่งรูปเป็นอย่างน้อย หากไม่มีจะต้องขวนขวายส่งไปเรียนยังสำนักที่มีผู้สวดได้ หากไม่ทำเช่นนั้นก็จะปรับอาบัติแก่เจ้าอาวาสเพราะโทษที่ไม่ใส่ใจจะให้มี ผู้ทรงจำพระปาติโมกข์
แสดงให้เห็นว่า สมัยพุทธกาลนั้น พระสงฆ์ได้มีการนำ พระพุทธพจน์มาท่องบ่นสาธยายกันเป็นกิจวัตรอย่างกว้างขวางอยู่แล้ว
สวดมนต์แล้วได้ประโยชน์อะไร
การสวดมนต์ ช่วยจัดระบบเซลล์ของร่างกาย ให้เกิดความสมดุลแม้จะยังไม่ได้มีการพิสูจน์ และยืนยันจากทางการแพทย์ อย่างเป็นทางการ ว่า การสวดมนต์มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ในร่างกายอย่างไรหรือไม่ แต่ก็เป็นที่เชื่อมั่นกัน ในหมู่ผู้นิยมการสวดมนต์ว่า
การสวดมนต์ ช่วยปรับให้เกิดความสมดุล ทางกาย และทางจิต เป็นการสร้างความสงบเยือกเย็นให้กับจิต ทำให้ความเครียดลดลงได้ แล้วความรู้สึกดีๆ ของจิตสำนึกก็จะเกิดขึ้นมาแทนที่
เมื่อจิตสงบนิ่ง ย่อมทำให้ร่างกายเบาสบาย เพราะลมหายใจที่สูดเข้าไปในขณะเปล่งเสียงสวดมนต์ จะทำให้ปอดขยายในจังหวะที่พอเหมาะสม่ำเสมอ เพิ่มออกซิเจนในเลือด ทำให้เลือดไหลเวียนได้ดี ทำให้ผิวพรรณเปล่งปลั่ง ใบหน้าเอิบอิ่มอยู่เสมอ ในขณะเดียวกันก็ทำให้กล้ามเนื้อ และเส้นเอ็นอวัยวะทุกสัดส่วนไม่เกร็ง เป็นการผ่อนคลายระบบประสาททุกสัดส่วนของร่างกาย ทำให้ลดความตึงเครียดลงได้
นอกจากนั้น ยังมีความเป็นไปได้ว่า พลังงานความคิด ที่เกิดจากจิตด้านดี (กุศลเจตสิก) ย่อมส่งผลต่อการกระตุ้นเซลล์ดีของร่างกาย ในทางตรงกันข้าม พลังงานความคิดที่เกิดจากจิตด้านร้าย (อกุศลกเจตสิก) ย่อมส่งผลต่อการกระตุ้นเซลล์ร้ายของร่างกายให้เจริญด้วย
พลังงานบวก ย่อมส่งผลบวก (กุศล)
พลังงานลบ ย่อมส่งผลลบ (อกุศล)
ผู้ที่มีจิตใจดีจึงทำให้เซลล์สมองดีตามไปด้วย ผู้มีจิตคิดร้ายอยู่เสมอ จะทำให้เซลล์สมองสับสน อาจเกิดเนื้อร้ายในสมองได้ด้วย
เนื่องจากการสวดมนต์ เป็นการทำสมาธิวิธีหนึ่ง การสวดมนต์จึงทำให้วงรอบการเกิดดับของจิตช้าลง ซึ่งจะมีผลทำให้วงรอบการเกิดดับของเชลล์ในกายช้าลงด้วย
ผู้ที่สวดมนต์เป็นปกติ นอกจากจะเป็นการชะลอความแก่ทำให้แก่ช้าลงแล้ว ยังอาจลดอัตราการเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็ง และโรคเส้นเลือดในสมองแตกด้วย เพราะจิตที่สงบนิ่งราบเรียบจะขจัดเซลล์ในสมองให้เป็นระบบเกิดความสมดุล เนื่องจากหัวใจไม่เต้นแรงร้อนรนผิดธรรมชาติ การสูบฉีดเลือดในหัวใจเป็นปกติ ทำให้เส้นเลือดเกิดความสมดุลไหลเวียนได้ดี
นอกจากนั้น การสวดมนต์ ยังเป็นการบริหารจิต ให้เกิดปัญญาในการพัฒนาชีวิต
การสวดมนต์ จะทำให้จิตอ่อนโยนงดงาม เป็นจิตพร้อมที่จะรับคำแนะนำ อบรม ตักเตือน สั่งสอน ซึ่งเป็นการบริหารจิตให้เกิดปัญญา การแนะนำให้เด็กรู้จักสวดมนต์ ตั้งแต่อายุยังน้อย จะมีผลทำให้เด็กเป็นคนแยกแยะผิดถูกได้ดี มีจิตใจงดงาม อ่อนโยน เป็นสุภาพชน มีความกตัญญู ไม่ก้าวร้าว เป็นต้น
นอกจากการสวดมนต์ จะมุ่งให้เกิดความสุขสงบทางใจตามความมุ่งหมายทางพระพุทธศาสนาแล้ว การสวดมนต์ยังเป็นประโยชน์ต่อการใช้ชีวิตประจำวันอีกด้วย เพราะการสวดมนต์จะทำให้จิตมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้สุขภาพจิตดี และมีพฤติกรรมเป็นไปในแนวทางที่ดี
ผู้สวดมนต์เป็นประจำ ทำให้จิตได้รับการขัดเกลาอยู่เสมอ ย่อมเกิดประโยชน์ ดังนี้
ประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต และ สังคม
จิตที่สงบราบเรียบละเอียดอ่อน เป็นผลมาจากการสวดมนต์ภาวนา จะทำให้เกิดความรู้สึกนึกคิดที่เปี่ยมล้น ด้วยพลังแห่งการสร้างสรรค์สิ่งดีงาม ย่อมส่งผลดีต่อร่างกาย จิตที่สงบสุขย่อมอยู่ในร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรง ปราศจากความอ่อนแอ ในขณะเดียวกัน ร่างกายที่มีโรคภัยไข้เจ็บ ย่อมจะทำให้จิตใจอ่อนแอตามไปด้วย การสวดมนต์เป็นประจำ จะทำให้
๏ เป็นคนมองโลกในแง่ดี
ผู้ที่สวดมนต์เป็นประจำ จะทำให้เป็นคนมองโลกในแง่ดี และมักจะมีสุขภาพที่ดี ภายใต้จิตใจที่เบิกบานแจ่มใส อยู่ในโลกได้อย่างมีความสุข ซึ่งก็เป็นธรรมดา เหมือนการฝึกสมาธิจนจิตสงบ จะมีผลทำให้เป็นคนมองโลกในแง่ดี
๏ ไม่มีความเคร่งเครียด
ผู้ที่สวดมนต์เป็นประจำ จะทำให้ไม่เป็นคนหมกมุ่นครุ่นคิด ย้ำคิดย้ำทำ ด้วยพลานุภาพแห่งจิตที่สงบจากการสวดมนต์ เมื่อความเครียดเกิดขึ้น ก็จะคลายลงได้ จนกระทั่งความเครียดนั้นจางหายไปจากจิตใจในที่สุดทำให้จิตอยู่ในภาวะปกติ
๏ จิตใจละเอียดอ่อน สงบนิ่ง เยือกเย็น
การสวดมนต์จะช่วยให้ความเร่าร้อนทางอารมณ์ ที่ถูกแผดเผาด้วยเพลิงโทสะ เพลิงโมหะ เพลิงอิจฉาริษยา และความอาฆาตพยาบาท เบาบางลง จนเกิดความสงบสุข อย่างประหลาด ทำให้เป็นสุภาพชน ที่มีลักษณะสุขุมเยือกเย็น ภายใต้จิตใจที่อ่อนโยน งดงาม มีวาจาที่สุภาพนุ่มนวล
๏ ไม่เป็นโรคระบบทางเดินอาหาร
ความเครียดเป็นสาเหตุหนึ่ง ที่ทำให้เกิดระบบทางเดินอาหารผิดปกติ เพราะน้ำย่อยหรือน้ำดีจะหลั่งออกมาจากตับ ทำให้ระคายเคืองผนังกระเพราะอาหาร ผู้ที่มีความเครียดมักจะทำให้เกิดอาการปวดท้อง หรืออาเจียนได้
การสวดมนต์ช่วยให้ลดระดับการเกร็งของประสาททุกส่วนในร่างกาย จึงทำให้ความเครียดลดลง และทำให้อาการผิดปกติของระบบทางเดินอาหารหายไปด้วย เมื่อไม่มีความเครียดปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร ก็หมดไป การสวดมนต์ จึงช่วยปรับความสมดุลของระบบทางเดินอาหารในกระเพาะ
๏ มีความคิดสร้างสรรค์ ปฏิบัติหน้าที่การงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เนื่องจากร่างกายมีสุขภาพดี จิตใจก็ย่อมปลอดโปร่งมีความสุข จิตใจที่ปลอดโปร่งย่อมทำงานได้ผลอย่างมีประสิทธิภาพ ผู้ที่มีจิตปลอดโปร่งเป็นสมาธิ ย่อมมีวิสัยทัศน์กว้างไกล ทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ต่างๆ มากมาย
๏ หลับก็สบาย ตื่นก็เป็นสุข
ผู้ที่นอนหลับยาก การสวดมนต์จะช่วยปรับความสมดุลทางจิตให้ก้าวลงสู่ความหลับอย่างสบาย ไม่กระสับกระส่าย เพราะจิตใจไม่แปรปรวน ตื่นขึ้นมาก็สดชื่นไม่ง่วงซึม ทำให้หลับก็เป็นสุขตื่นก็สบาย
๏ มีครอบครัวอบอุ่น
ทำให้ครอบครัวไม่มีปัญหา ลูกหลานเป็นคนมีระเบียบวินัยดี มีความกตัญญูเคารพพ่อแม่ และมีสัมมาคารวะต่อผู้ใหญ่ รู้จักกาลเทศะ ไม่เป็นคนอวดดื้อ ถือดี อวดเก่ง
๒.ประโยชน์ต่อการทำงาน และ การศึกษาเล่าเรียน
ผู้ที่มีจิตฟุ้งซ่านไม่เป็นสมาธิ ย่อมไม่สนใจในงานที่กำลังทำหรือสิ่งที่ครูกำลังสอน ไม่เอาใจจดจ่อในการศึกษาเล่าเรียน จึงยากที่จะเข้าใจในบทเรียนได้ดี ต่างจากนักเรียนที่มีจิตสงบตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว ไม่โอนเอียงไปเพราะสิ่งรบกวนต่างๆ จิตที่ไม่ฟุ้งซ่าน ย่อมสามารถเรียนรู้ได้เร็ว ทำความเข้าใจเกี่ยวกับบทเรียนได้ดีกว่าคนที่มีจิตไม่เป็นสมาธิ
หากทำงานก็จะรู้ว่างานไหนควรทำก่อน งานไหนควรทำหลัง งานไหนควรให้ดำเนินไปอย่างไร แล้วพยายามทำไปตามลำดับความสำคัญของงานนั้น และมีจิตใจจดจ่ออยู่กับงานนั้นๆ จนเสร็จแล้ว จึงค่อยลงมือทำงานอื่นเป็นลำดับไป ผู้ที่จิตไม่เป็นสมาธิ ขณะทำงานอย่างหนึ่งแต่จิตกลับคิดเรื่องงานอีกอย่างหนึ่ง เมื่อมั่วพะวงหน้าพะวงหลังอยู่เช่นนี้ งานที่ทำก็สำเร็จได้ยาก
ผู้ทำงานด้วยจิตที่เป็นสมาธิย่อมสามารถทำงานให้สำเร็จได้ในเวลาอันรวดเร็วมีประสิทธิภาพ
การสวดมนต์มีประโยชน์ต่อการทำงานและการศึกษาเล่าเรียน ดังนี้
๏ ทำให้เกิดความมุ่งมั่นในการทำงาน และการศึกษาเล่าเรียน
๏ ทำให้สามารถขบคิดปัญหาหรือแก้ไขอุปสรรค ในการทำงาน และการศึกษาเล่าเรียนได้
๏ ทำให้เป็นแบบอย่างที่ดีแก่เพื่อนร่วมงานและเพื่อนร่วมห้องเรียน ตลอดจนเป็นที่รักของบุคคลรอบข้าง
๏ ทำให้สามารถควบคุมตนเองได้เมื่อเกิดความขัดแย้งขึ้นในการทำงานและในการศึกษาเล่าเรียน
๏ ทำให้สามารถบรรลุผลสำเร็จในการทำงาน และการศึกษาเล่าเรียนได้ตามที่ต้องการ
ประโยชน์ต่อสุขภาพจิต
การสวดมนต์ ช่วยแก้สมาธิสั้น ทำให้จิตมั่นคง ช่วยให้มีสุขภาพจิตดี สุขภาพจิตกับสุขภาพกายมีผลสืบเนื่องกัน สุขภาพจิตของคนที่ถูกเพลิงแห่งความโลภ โกรธ หลงแผดเผาใจอยู่ตลอดเวลา ย่อมขุ่นมัว สุขภาพจิตของคนที่ถูกความเร่าร้อนเพราะความรัก ความหลง ความพยาบาทอย่างรุนแรงกัดกร่อน ย่อมเสื่อมโทรม อาจทำให้เป็นโรคหัวใจและโรคประสาทได้ง่ายขึ้น
คนที่สวดมนต์จนจิตสงบเยือกเย็น เป็นสมาธิย่อมสามารถควบคุมจิตให้เลือกแต่ความรู้สึกที่ดีงามเข้ามาในความคิดได้
การสวดมนต์เป็นประจำมีประโยชน์ต่อสุขภาพจิต ดังนี้
๏ ทำให้จิตใจไม่ฟุ้งซ่าน หม่นหมอง เศร้าซึม
๏ ทำให้รู้จักควบคุมตนเองทั้งในสถานการณ์สุขและทุกข์มีความอดทนต่อความยากลำบากนานาประการ
๏ ทำให้เป็นคนมีความเพียรพยายาม เพื่อก้าวไปสู่ความสำเร็จในชีวิต
๏ ทำให้เป็นคนมีจิตใจหนักแน่น ไม่เอนเอียงไปในความรู้สึกที่ชั่วร้าย เกิดความละอายในสิ่งที่ไม่ดี
๏ ทำให้เป็นคนมีจิตใจละเอียดอ่อน สามารถเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ได้ดีขึ้น
ประโยชน์ต่อการพัฒนาปัญญา ทำให้สามารถวิเคราะห์ปัญหาได้ดี
การสวดมนต์ นอกจากจะมีผลโดยตรงต่อสุขภาพจิตแล้ว ยังมีผลต่อการพัฒนากระบวนการคิดอย่างเป็นระบบด้วย
จิตที่สงบย่อมคมต่อการรับข้อมูล สามารถในการแยกแยะประเด็นปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพการสวดมนต์เป็นการจัดระบบความคิด เป็นการฝึกใช้ความคิดอย่างถูกวิธี เพื่อวิเคราะห์ปัญหาได้อย่างมีระเบียบ คนที่สวดมนต์เป็นประจำจะไม่มองสิ่งต่างๆ อย่างผิวเผิน จิตที่สงบอันเกิดจากการสวดมนต์ ย่อมสามารถวิเคราะห์ปัญหาได้ตามความเป็นจริง
ผู้มีจิตสุขุมละเอียดอ่อน ย่อมรู้เท่าทันปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตตามความเป็นจริง เมื่อเสียใจก็จะไม่เสียใจจนเหมือนโลกทั้งโลกแตกสลายไป เมื่อดีใจก็จะไม่ดีใจจนขาดสติ เพราะมีความเข้าใจว่าสรรพสิ่งต่างเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา จึงทำให้ทุกสิ่งปรวนแปรเปลี่ยนแปลงไปในที่สุด อันเป็นที่มาของสุขทุกข์ สมหวังผิดหวัง ชอบใจไม่ชอบใจในชีวิต
ผู้ที่มีความคิดแบบวิเคราะห์เช่นนี้จะลุกขึ้นได้อย่างองอาจหาญเสมอ ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์สุขหรือทุกข์ผ่านเข้ามาในชีวิต การสวดมนต์มีประโยชน์ต่อการคิดวิเคราะห์ปัญหา ดังนี้
๏ จิตที่สงบอันเป็นผลมาจากการสวดมนต์ ย่อมคมต่อการรับรู้อารมณ์ทั้งดีและร้ายที่เข้ามากระทบ
๏ ทำให้เป็นคนคิดอย่างเป็นระบบ สามารถวิเคราะห์ปัญหาได้อย่างมีระเบียบและตรงตามความเป็นจริง
๏ ทำให้สามารถในการแยกแยะประเด็นปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
๏ ทำให้เป็นคนไม่มองสิ่งต่างๆ อย่างผิวเผิน จึงรู้เท่าทันปัญหา และอุปสรรคที่เกิดขึ้นในชีวิตได้ตามความเป็นจริง
๏ ผู้สวดมนต์เป็นประจำ จะลุกขึ้นอย่างอาจหาญ ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์สุขหรือทุกข์ และแก้ไขปัญหาไปตามลำดับได้เสมอ
ปาฏิหาริย์เกิดจากการสวดมนต์ได้อย่างไร
พระพุทธมนต์จะทรงพลานุภาพ สร้างปาฏิหาริย์ในการต้านทาน คุ้มครอง ป้องกัน รักษาได้ ต้องอาศัยจิตที่อ่อนโยนมีเมตตาเป็นสมาธิมั่นคงแน่วแน่ ไม่มีกรรมหนักตัดรอนขัดขวาง เป็นหลักการที่สำคัญ พระพุทธพจน์ที่นำมาเป็นพระพุทธมนต์นั้น บางสูตรพระพุทธองค์ทรงใช้สวดเอง บางสูตรทรงแนะนำให้พระสงฆ์สาวกใช้ บางสูตรเทวดาเป็นผู้ นำมาแสดง
โพชฌงคสูตร เป็นพระสูตรที่พระพุทธองค์สวดให้พระมหากัสสปะ และมหาโมคคัลลานะฟังจนหายจากเป็นไข้ไม่สบาย และเมื่อพระองค์ประชวรก็ได้ให้พระมหาจุนทะสวดโพชฌงคสูตรให้สดับ จนหายจากอาการประชวรเช่นกัน
กรณียเมตตสูตร เป็นพระสูตรที่พระพุทธองค์ทรงแนะนำภิกษุ ให้แผ่เมตตาจิตไปในมวลสรรพสัตว์ ตลอดจนเทพเทวาภูติผีปีศาจทั้งหลาย ไม่มีประมาณ ไม่มีขอบเขต ไร้พรมแดนขีดขั้น ไม่ว่าสัตว์นั้นหรือเขาผู้นั้นจะเป็นเชื้อชาติ ศาสนาอะไร จะเกี่ยวข้องกับเราโดยความเป็นญาติ เป็นประเทศ เชื้อชาติ ศาสนาหรือไม่ก็ตาม ให้มีจิตกว้างขวางไร้ขอบเขตขีดขั้น ขอให้เขาได้มีความสุข หากทำได้เช่นนี้ นอกจากเทวดาจะไม่แสดงสิ่งที่น่ากลัวหลอกหลอนแล้ว ยังมีใจอนุเคราะห์ภิกษุโดยไมตรีจิตด้วยความอ่อนโยนมีเมตตา
รัตนสูตร เป็นพระสูตรที่พระพุทธองค์ทรงแนะนำให้พระอานนท์เถระน้อมระลึกถึงคุณของพระรัตนตรัย คือ พุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ และสังฆรัตนะแล้วทำสัจกิริยา คือ การตั้งสัจอธิษฐานตามความเป็นจริง ให้เกิดเป็นอานุภาพขจัดปัดเป่าภัยพิบัติที่เกิดแก่ชาวเมืองเวสาลี ภายหลังได้กลายเป็นแบบอย่างในการทำน้ำพระพุทธมนต์สำหรับพระสงฆ์สาวกต่อมาจนถึงปัจจุบัน
นอกจากนั้น ยังปรากฏในประวัติพระองคุลิมาลเถระว่า พระพุทธองค์ ทรงแนะนำให้พระองคุลิมาลเถระทำสัตยาธิฐานเพื่อให้ หญิงคนหนึ่งคลอดบุตรง่าย เมื่อพระเถระกล่าวคาถาจบทารกก็คลอด โดยง่าย มีความปลอดภัยทั้งแม่และลูก อานุภาพนั้นได้คุ้มครองไปถึงผู้ที่ ป่วยด้วยโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ด้วย เป็นที่มาของ “อังคุลิมาลปริตร : ปริตรแห่งพระองคุลิมาลเถระ”
อาฏานาฎิยสูตร เป็นคาถาที่เทวดาทั้ง ๔ ตนที่เรียกกันว่า “ท้าวจาตุมหาราช” ผูกขึ้นมา แสดงแก่พระพุทธองค์ เพื่อให้พระสงฆ์สวดป้องกันเหล่าอมนุษย์บางพวกที่ ไม่หวังดีต่อพระสงฆ์สาวกที่ไปบำเพ็ญเพียรอยู่ตามป่าเขาลำเนาไพร เมื่อ ไม่มีอะไรป้องกัน เหล่าอมนุษย์ที่ไม่เลื่อมใสก็จะรบกวนเบียดเบียนให้ ได้รับความลำบาก ท้าวมหาราชจึงได้แสดงเครื่องป้องกันรักษาชื่อ อาฏานาฏิยรักษ์นี้ไว้
พระพุทธมนต์ตามที่กล่าวมานั้น จะมีอานุภาพต้องอาศัยการสวดอย่างสม่ำเสมอจนจิตแน่วแน่มั่นคงเป็นสมาธิเป็นพื้นฐานที่สำคัญ
การเจริญสมาธิภาวนา ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใด ย่อมมีอานุภาพในการต้านทาน สิ่งไม่ดีทั้งหลาย ในเบื้องต้นสามารถต้านทานกิเลสภายในตัวเองก่อน แล้วขยายอานุภาพออกไป สู่การต้านทานสิ่งไม่เป็นมงคลอันเกิดจากมนุษย์ และอมนุษย์ที่เป็นพาลสันดานหยาบทั้งหลาย ในขณะเดียวกันก็เป็นพลัง แห่งการก่อเกิดสิ่งดีงาม คือ ความอ่อนโยนมีเมตตาเอื้ออาทรภายในตน เองก่อน แล้วขยายอานุภาพกว้างออกไปสู่การก่อเกิดสิ่งอันเป็นมงคลภายนอกทั้งหลาย ทำให้มีความเจริญรุ่งเรืองก้าวหน้า ประสบผลสำเร็จในสิ่งปรารถนาทุกประการ
ในอรรถกถาคัมภีร์อธิบายพระไตรปิฎก ได้แสดงวิธีการเจริญ พระพุทธมนต์ไว้ว่า
หากเรียนด้วยความตั้งใจจนเกิดความช่ำชองคล่องปาก ไม่ตกหล่นทั้งอรรถและพยัญชนะ มีจิตประกอบด้วยเมตตาหวังให้ผู้คน พ้นจากทุกข์ บริกรรมพระพุทธมนต์แผ่เมตตาไปไม่เห็นแก่ลาภ ย่อมจะบังเกิดเป็นอานุภาพคุ้มครองป้องกันเหล่าอมนุษย์และสรรพอันตรายทั้งหลาย
สำหรับผู้เจริญพระพุทธมนต์ และผู้ฟังการเจริญพระพุทธมนต์ หากกระทำด้วยจิตเลื่อมใส ไม่มีกิเลสมาครอบงำจิต ไม่มีกรรมหนัก มาตัดรอน อีกทั้งยังไม่ถึงวาระสิ้นอายุขัย พระพุทธมนต์ย่อมจะมีอานุภาพ ในการบำบัดทุกข์โศกโรคภัย ความเจ็บป่วยไข้ และสรรพอันตรายทั้งหลายได้ สามารถดับความเร่าร้อนกระวนกระวายใจ ขจัดลางร้ายและฝันร้ายทั้งหลาย ปัดเป่าเสนียดจัญไร อุบัติเหตุ สิ่งอัปมงคลอันเกิดจาก บาปเคราะห์ ฤกษ์หามยามร้ายและสิ่งที่ไม่พึงพอใจต่างๆ
ป้องกันแม้ โจรภัย อัคคีภัย วาตภัย อุทกภัย อสรพิษ สัตว์ร้าย อมนุษย์ ภูตผีปีศาจ ยักษ์ นาค คนธรรพ์ และเทวดาที่ไม่หวังดีทั้งหลาย คุ้มครอง ป้องกันรักษาตลอดทั้งครอบครัวหมู่ญาติ พวกพ้องและบริวารทั้งหลายให้ปราศจากทุกข์โศกโรคภัยนานาประการ แคล้วคลาด ปลอดภัย จากผู้จองเวรที่คอยจ้องผลาญ นอนหลับก็สบายไม่ฝันร้าย เป็นผู้ มีอายุ วรรณะ สุขะ พละ และเจริญงอกงามในพระพุทธศาสนาตลอด กาลทุกเมื่อ
ทำไมสวดมนต์แล้วไม่เกิดปาฏิหาริย์
แม้พระพุทธมนต์ที่เจริญด้วยจิต เป็นสมาธิ แผ่เมตตาไป ไม่เห็นแก่ลาภ จนเกิดอานุภาพในการต้านทาน ป้องกัน รักษา แต่ก็ยังมีเหตุที่พระพุทธมนต์ไม่เกิดอานุภาพ
พระพุทธมนต์ไม่เกิดอานุภาพ ด้วยเหตุ ๔ ประการ ดังนี้
เมื่อผู้สวดหรือผู้ฟังการเจริญพระพุทธมนต์ไม่มีความเชื่อความเลื่อมใสในอานุภาพแห่งพระพุทธมนต์
แม้ผู้สวดหรือผู้ฟังพระพุทธมนต์มีความเชื่อความ เลื่อมใส ในอานุภาพแห่งพระพุทธมนต์ แต่ในขณะที่เจริญพระพุทธมนต์มีกิเลส ครอบงำ แล้วเจริญพระพุทธมนต์เพราะอยากได้สิ่งนั้นสิ่งนี้ ทำให้จิตวอกแวก ฟุ้งซ่านไม่เป็นสมาธิ เช่นนี้พระพุทธมนต์ก็ไม่มีอานุภาพในการต้านทาน
แม้ผู้สวดหรือผู้ฟังพระพุทธมนต์จะมีความเชื่อความเลื่อมใส แล้วเจริญพระพุทธมนต์ด้วยจิตเป็นสมาธิมั่นคงแน่วแน่ไม่ วอกแวกฟุ้งซ่าน แต่หากมีกรรมหนัก คือ อนันตริยกรรมมาตัดรอน ขัดขวาง พระพุทธมนต์ก็ไม่มีอานุภาพในการต้านทาน เพราะขณะนั้น กรรมกำลังให้ผลตามที่ผู้นั้นได้กระทำไว้
ถึงแม้ผู้สวด หรือผู้ฟังพระพุทธมนต์จะมีความเชื่อความ เลื่อมใส แล้วเจริญพระพุทธมนต์ด้วยจิตเป็นสมาธิมั่นคงแน่วแน่ไม่ วอกแวกฟุ้งซ่าน และไม่มีกรรมหนักมาตัดรอนขัดขวาง แต่หากผู้สวดหรือ ผู้ฟังถึงวาระสิ้นอายุขัยตามวัยของมนุษย์ อานุภาพของพระพุทธมนต์ก็ จะไม่ต้านทาน ท่านเปรียบเหมือนคนถึงคราวสิ้นอายุขัย แม้จะได้รับการ เยียวยารักษาจากหมอผู้เชี่ยวชาญ และด้วยยาขนานพิเศษอย่างไรก็ช่วย ไม่ได้ ต้องเป็นไปตามธรรมดาของสังขารร่างกาย
ผู้ที่นำพระพุทธพจน์มาบริกรรมภาวนาในรูปแบบการเจริญพระพุทธมนต์ หากมุ่งหวังให้พระพุทธมนต์เป็นพระปริตรที่มีพลานุภาพ ในการต้านทาน จำเป็นต้องมีความเชื่อความเลื่อมใสประกอบด้วยเมตตาจิตปรารถนาให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ไม่เห็นแก่ลาภ มีจิตเป็นสมาธิไม่ฟุ้งซ่านเจริญพระพุทธมนต์ แล้วกระทำสัจกิริยา คือ ตั้งสัจอธิษฐานตามความเป็นจริง หากยังไม่สิ้นอายุขัย ไม่มีกรรมหนักขัดขวาง พระพุทธมนต์ย่อมจะเกิดพลานุภาพในการต้านทานตามความมุ่งหวังทุกประการ ฯ
ทำไมต้องสวดมนต์เป็นภาษาบาลี
การสวดมนต์ก็คือการเจริญสมาธิภาวนา เป็นการผูกหรือเพ่งจิตให้อยู่กับคำใดคำหนึ่ง หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่น พุทโธ พุทโธ, พองหนอ-ยุบหนอ, สัมมา-อะระหัง เป็นต้น ให้จิตเกาะเกี่ยวไหลไปตามกระแสของคำนั้นๆ เพื่อเป็นสื่อให้จิตเข้าถึงความสงบ มีค่าเท่ากับจิตผูกเพ่งอยู่กับการสวดมนต์ที่จิตเกาะเกี่ยวไปกับทุกอักระของบทสวดมนต์
จิตที่ไหลไปเป็นกระแสตามทุกอักขระเช่นนี้ ไม่เปิดโอกาสให้นิวรณ์ คือ สิ่งที่ขวางกั้นจิตไม่ให้ทำความดี เช่น ความรักโลภ โกรธหลง กามราคะ อาฆาตพยาบาท หงุดหงิด ฟุ้งซ่าน รำคาญ เบื่อหน่ายแทรกเข้ามาครอบงำจิตได้ ทำให้จิตมีความผ่องใส เป็นจิตมีพลังในการต้านทานกิเลสที่จะเข้ามามีอำนาจเหนือสติปัญญา มีความฉับไวต่อการรับรู้อารมณ์ และคมต่อการแยกแยะความถูกผิด
การสวดมนต์ คือ การเจริญสมาธิภาวนา
การสวดมนต์ เป็นรูปแบบของการเจริญสมาธิภาวนาอย่างหนึ่ง แต่แทนที่จะใช้วิธีนั่งบริกรรม ให้จิตเกาะเกี่ยวอยู่กับคำใดคำหนึ่ง หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพียงอย่างเดียว เช่น พุทโธ พุทโธ เป็นต้น เพื่อเป็นสื่อให้เข้าถึงความสงบ ก็ใช้วิธีให้จิตเกาะเกี่ยวไปกับอักขระเป็นกระแสเช่นนี้ ไม่ปล่อยให้ความ รักโลภโกรธหลง กามราคะ อาฆาตพยาบาทได้โอกาสแทรกเข้ามา ครอบงำจิต ทำให้จิตมีความผ่องใสเป็นจิตมีพลังในการต้านทานกิเลสที่จะ เข้ามามีอำนาจเหนือสติปัญญา
จิตเช่นนี้เป็นจิตสงบ คือ สงบจากกาม ราคะ อาฆาตพยาบาท หงุดหงิดฟุ้งซ่าน รำคาญ เบื่อหน่ายจึงชื่อว่า “จิตเป็นสมาธิ” การสวดมนต์เป็นภาษาบาลีจึงเป็นวิธีการทำสมาธิอย่างหนึ่ง
การสวดมนต์
คือ การทรงจำพระพุทธพจน์
การสวดมนต์ คือ การท่องบ่นสาธยายพระพุทธพจน์ ซึ่งถูกบันทึกไว้เป็นภาษาบาลี เพื่อการทรงจำคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าให้ยืนยาวสืบต่อไป
การสวดมนต์ในอีกด้านหนึ่งก็คือการเจริญสมาธิภาวนา ที่ได้นำเอาพระพุทธพจน์มาเป็นบทบริกรรมภาวนา ให้จิตเกาะเกี่ยวไปกับทุกขณะของอักขระที่กำลังสวดสาธยาย ไม่ปล่อยให้ นิวรณ์แทรกเข้ามาทำให้จิตเศร้าหมองได้นั่นเอง
พระสงฆ์สาวกสมัยพุทธกาล นอกจากจะมีหน้าที่ในการเจริญสมาธิภาวนาเพื่อนำตนออกจากทุกข์แล้ว ยังมีภาระหน้าที่ในการทรงจำพระพุทธพจน์ เพื่อสืบต่อคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ควบคู่กันไปอีกด้วย พระสาวกสมัยพุทธกาลจึงถือเป็นหน้าที่สำคัญยิ่งที่จะต้องท่องบ่น สาธยายพระพุทธพจน์ เพื่อรักษาคำสอนของพระพุทธองค์เป็นหลัก
เรื่องของการสวดมนต์ข้ามปี
การสวดมนต์ข้ามปีนั้นเป็นประเพณีนิยมของชาวไทยมาแต่เดิม โดยก่อนสิ้นปี พระสงฆ์จะไปเจริญพระพุทธมนต์บทนพเคราะห์ที่กรมประชาสัมพันธ์ จากนั้น ก็จะรอเวลาเที่ยงคืนเพื่อเจริญพระพุทธมนต์บทชัยมงคลคาถา ออกอากาศไปทั่วประเทศ ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย
ต่อมา ในปีพุทธศักราช ๒๕๔๗ เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ได้นำคณะสงฆ์วัดสระเกศ ประกอบพิธีเจริญพระพุทธมนต์ข้ามปีขึ้น ณ พระอุโบสถ วัดสระเกศ โดยอนุวัติตามโบราณพระราชประเพณีแห่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ เคยประกอบพิธีในช่วงเทศกาลสงกรานต์ อันเป็นประเพณีปีใหม่ของไทยที่มีมาแต่เดิม และ ในปีพุทธศักราช ๒๕๔๙ กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ได้เห็นความสำคัญของการสวดมนต์ข้ามปี จึงได้ร่วมกับคณะสงฆ์วัดสระเกศ จัดสวดมนต์ข้ามปีขึ้นอย่างเป็นทางการ และ ต่อมา คณะสงฆ์มีความเห็นร่วมกันว่า การสวดมนต์ข้ามปีเป็นที่นิยมของประชาชนอย่างแพร่หลาย และเป็นค่านิยมที่งดงาม ควรแก่การส่งเสริม ที่ประชุมมหาเถรสมาคม เมื่อเดือนธันวาคม ๒๕๕๓ ณ ตำหนักสมเด็จฯ วัดสระเกศ จึงได้มีมติให้วัดทุกวัดจัดสวดมนต์ข้ามปี โดยมีสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเป็นศูนย์กลางการอำนวยการ และให้วัดเจ้าคณะจังหวัดเป็นศูนย์กลางการสวดมนต์ของจังหวัดนั้น ๆ
สำหรับวัดสระเกศนั้น เป็นวัดที่เกี่ยวข้องกับความร่มเย็นเป็นสุขของประเทศชาติบ้านเมืองมาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ด้วยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ ได้ประกอบพิธีเจริญพระพุทธมนต์ที่บริเวณสระน้ำวัดสะแก ซึ่งเป็นที่ตั้งวัดสระเกศในปัจจุบัน เป็นเวลา ๓ วัน ๓ คืน จากนั้นจึงประกอบพิธีมูรธาภิเษก ก่อนปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์ผ่านพิภพเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี
ภายหลังเมื่อสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์แล้ว ทรงเปลี่ยนนาม “วัดสะแก” เป็น “วัดสระเกศ” เพื่อเฉลิมพระเกียรติให้ต้องตามสถานที่ที่พระองค์ประกอบพิธีมูรธาภิเษก วัดสระเกศจึงถือได้ว่า เป็นจุดเริ่มต้นแห่งการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ และราชวงศ์จักรี
คณะสงฆ์วัดสระเกศได้รักษาประเพณีการเจริญพระพุทธมนต์ เพื่อประกอบพิธีทำน้ำพระพุทธมนต์ในวาระที่สำคัญ ตามโบราณพระราชประเพณีแห่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ สืบต่อมา
ครั้นถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ พระองค์โปรดฯ ให้มีการฟื้นฟูพิธีเจริญพระพุทธมนต์ บทมหาสมัยสูตร ให้มีระเบียบแบบแผนมากขึ้น โดยโปรดฯ ให้ประกอบพิธีที่พระวิหารพระอัฏฐารส วัดสระเกศ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ อันเป็นเทศกาลปีใหม่ตามธรรมเนียมโบราณของชาวไทย เพื่อนำน้ำพระพุทธมนต์ไปแจกจ่ายให้กับประชาชน ได้นำไปประพรมให้ลูกหลานบ้านเรือน เรือกสวนไร่นา ให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุข
ก่อนหน้าที่ชาวไทยกำหนดเอาวันสงกรานต์เป็นวันขึ้นปีใหม่ พิธีเจริญพระพุทธมนต์บทมหาสมัยเป็นพิธีสวดมนต์ใหญ่ประจำปี เนื่องในวาระขึ้นปีใหม่ ถือว่าเป็นพิธีที่สำคัญที่ทางบ้านเมืองจะต้องร่วมกันจัดขึ้นเพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคล และเกิดความร่มเย็นเป็นสุขแก่อาณาประชาราษฎร์ สำหรับประชาชนในท้องถิ่นต่างๆ พอถึงวันสงกรานต์ต่างก็จัดให้มีพิธีสวดมหาสมัยขึ้นในหมู่บ้านหรือชุมชนของตนเช่นกัน แตกต่างกันไปตามความนิยมของท้องที่นั้นๆ
ต่อมา ทางราชการบ้านเมืองกำหนดวันขึ้นปีใหม่ จากวันสงกรานต์ไปใช้ตามความนิยมของสากล เพื่อให้สอดคล้องกับนานาประเทศ พิธีเจริญพระพุทธมนต์บทมหาสมัยก็ลดความสำคัญลง และเริ่มเลือนหายไปจากวิถีชีวิตของคนไทย
การที่รัชกาลที่ ๓ โปรดฯ ให้ประกอบพิธีเจริญพระพุทธมนต์บทมหาสมัยที่พระวิหารพระอัฏฐารส วัดสระเกศ ด้วยพระองค์ทรงปรารภว่า พระอัฏฐารส เป็นพระพุทธรูปที่เกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์ในมหาสมัยสูตร สืบเนื่องมาจากพระประยูรญาติของพระพุทธองค์เกิดความแตกแยกกันอย่างรุนแรง จนถึงขั้นยกกองทัพมาประจันหน้าจะทำสงครามกัน เพราะแบ่งผลประโยชน์เรื่องน้ำไม่ลงตัว พระพุทธองค์จึงเสด็จมาห้ามทัพ ทำให้สงครามแย่งน้ำยุติลง
พระอัฏฐารส เป็นพระพุทธรูปปางประทับยืน ศิลปะสกุลช่างสมัยสุโขทัยตอนต้น อายุไม่น้อยกว่า ๗๐๐ ปี หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ทั้งองค์ โดยไม่มีการเชื่อมต่อ มีความสูงถึง ๒๑ ศอก ๑ นิ้ว นับว่าเป็นการหล่อพระพุทธรูปด้วยโลหะ ที่มีขนาดสูงใหญ่ที่สุดเป็นครั้งแรก ในประวัติศาสตร์ชนชาติไทย เดิมประดิษฐานอยู่วัดวิหารทอง เมืองพิษณุโลก ซึ่งเป็นวัดประจำพระราชวังจันทน์ อันเป็นที่ประทับของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ต่อมา รัชกาลที่ ๓ ดำริที่จะให้มีพระอัฏฐารสไว้ประจำพระนคร จึงโปรดฯ ให้ไปเสาะหาตามกรุงสุโขทัย และกรุงศรีอยุธยา ปรากฏว่าชำรุดมาก และได้ไปพบที่วัดวิหารทอง เมืองพิษณุโลก จึงได้อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ที่พระวิหารวัดสระเกศ กรุงเทพมหานคร
ธรรมเนียมการสร้างพระอัฏฐารส พระพุทธรูปยืนไว้ประจำพระนคร ของพระมหากษัตริย์ไทยในอดีต เพื่อให้บ้านเมืองสงบสุขปราศจากสงคราม ป้องกันความแตกแยกของคนในชาติ ให้คนในชาติเกิดความรักความสามัคคี และให้ประเทศชาติสถิตสถาพรมั่นคงยั่งยืนนาน ประหนึ่งพระพุทธปฏิมากรประทับยืนสถิตสถาพรเป็นนิรันดร์
เมื่อครั้งย้ายพระอัฏฐารสมากรุงเทพนั้น ได้ล่องแพมาตามคลองน้ำ เนื่องจากพระอัฏฐารสมีขนาดใหญ่จึงกดทับแพให้จมน้ำมองเห็นเฉาะองค์พระ คนก็ลืออันว่าพระลอยน้ำ ผ่านมาถึงไหน ประชาชนสองฝากฝั่งที่ทราบข่าวก็มารอรับเป็นจำนวนมาก จนมาถึงท่าที่จะขึ้นที่กรุงเทพ ปรากฏว่ามีประชาชนหลั่งไหลมาดูพระลอยน้ำและมาช่วยกันชักพระขึ้นเป็นจำนวนมาก ว่ากันว่าคนที่มาเหลือจะคณานับได้ จนเป็นคำพูดติดปากว่า มีคนถึงสามแสนคน ย่านที่ชักพระอัฏฐารสขึ้นจากท่าน้ำเรียกว่า “ย่านสามแสน” ต่อมา จึงกลายเป็น “สามเสน” ซึ่งเป็นชื่อย่านในปัจจุบัน
ต่อมา เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ ให้จัดมีพิธีเจริญพระพุทธมนต์รับปีใหม่ หรือที่เรียกว่า สวดมนต์ข้ามปีขึ้น โดยถือตามคตินิยมปีใหม่แบบสมัยปัจจุบัน และทางวัดได้นำน้ำพระพุทธมนต์บทมหาสมัยสูตรมาแจกจ่ายให้แก่ประชาชนที่มาพิธี ตามธรรมเนียมเทศกาลปีใหม่โบราณของชาวไทยด้วย
เรื่องของการสวดมนต์ ,อานิสงส์แห่งการเจริญพระพุทธมนต์ และ กำเนิดการสวดมนต์ข้ามปี เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)