เรียนรู้ทุกย่างก้าว โดย พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท
เรียนรู้ทุกย่างก้าว โดย พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท

เรียนรู้ทุกย่างก้าว 

โดย พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท

 วัดทองนพคุณ คลองสาน กรุงเทพฯ

“อาศัยการเดินเป็นเครื่องมือในการสอน โดยไม่ต้องบอกว่าต้องทำอย่างโน้นอย่างนี้ อุปสรรคปัญหา ความเหนื่อย ความอ่อนล้า ความหนักในการเดินทาง เป็นเครื่องมือสร้างความรัก ความสามัคคีให้เกิดขึ้นระหว่างกันและกันได้เป็นอย่างดี”

 

        เรียนรู้ทุกอย่างก้าว

 

ผู้เขียนได้เข้าร่วมกิจกรรมในโครงการปฏิบัติธรรม “เดินธุดงค์สัญจร” ของนักเรียนโรงเรียนพระปริยัติธรรมธีรราชมหามุนี วัดศรีบุญเรือง อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ระหว่างวันที่ ๙-๑๓ มกราคม ๒๕๖๒ เป้าหมายคือ เดินมาจัดกิจกรรมวันเด็ก ซึ่งกำหนดจัดขึ้นวันที่ ๑๓ มกราคม ร่วมกับภาคีเครือข่ายกลุ่มเพื่อชีวิตดีงาม สถาบันพัฒนาพระวิทยากร ณ อาศรมพระบัณฑิตอาสาบ้านดอกแดง อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่

ก่อนจะกล่าวถึงการเดินทางขอเล่าความเป็นมาของโครงการก่อน พระอธิการอัษดิน วิสุทฺธิจิตฺโต เจ้าอาวาสวัดศรีบุญเรือง และผู้อำนวยการโรงเรียนพระปริยัติธรรมธีรราชมหามุนี ท่านเล่าให้ฟังว่า ก่อนที่ท่านจะมารับตำแหน่งเจ้าอาวาส และผู้อำนวยการโรงเรียนฯ หลวงพ่ออดีตเจ้าอาวาสได้ชักชวนท่านให้ขึ้นไปดูวิถีชีวิตคนบนดอย ซึ่งหลวงพ่อท่านเล่าให้ว่า คนบนดอยมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ลำบาก ถนนหนทาง น้ำไฟ ข้าวปลาอาหาร ไม่ได้สะดวกสบายเหมือนอยู่ในเมืองหรือชนบทอื่น บะหมี่หนึ่งห่อเขาสามารถที่จะกินได้ทั้งครอบครัว

พระอธิการอัษดินท่านก็เชื่อบ้าง ไม่เชื่อบ้างในสิ่งที่หลวงพ่อได้เล่าให้ฟัง จนวันหนึ่งได้ไปดูไปสัมผัสวิถีชีวิตของชาวดอยจริงๆ ชาวบ้านเอาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปหนึ่งห่อทำมาถวายให้สามเณรหลายรูปได้ฉัน ก็ทำให้สัมผัสได้ถึงสิ่งที่หลวงพ่ออดีตเจ้าอาวาสเล่าให้ฟัง

จนท่านมารับตำแหน่งเจ้าอาวาส และผู้อำนวยการโรงเรียนฯ ก็เลยได้จัดโครงการปฏิบัติธรรม ธุดงค์สัญจร เป็นกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ส่วนหนึ่งก็เป็นการไปเยี่ยมบ้านสามเณรซึ่งเป็นนักเรียนของโรงเรียนด้วย อาศัยการเดินนี้แหละเป็นเครื่องมือในการสอน สอนโดยไม่ต้องบอกว่าต้องทำอย่างโน้นอย่างนี้ อุปสรรคปัญหา ความเหนื่อย ความอ่อนล้า ความหนักในการเดินทางนี้แหละเป็นเครื่องมือสร้างความรัก ความสามัคคีให้เกิดขึ้นระหว่างกันและกันได้เป็นอย่างดี เวลาเดินเท้าแตก ปวดเข่า ปวดต้นขา เดินไม่ไหว สามเณรก็ต้องดูแลกัน ประคองกันเดิน ความรักความเมตตามันเกิดขึ้นเอง เราไม่ต้องบอกให้รักกัน เขาก็ต้องดูแลกันเอง

ปลูกศรัทธา สร้างศาสนทายาท

เวลาไปบางหมู่บ้านก็มีอาศรม มีศาลา มีกุฏิ แต่ไม่มีพระอยู่จำพรรษา บางอาศรม มีพระอยู่จำพรรษาแต่ไม่ใช่คนในพื้นที่ ก็ทำให้สามเณรที่มีบ้านเกิดอยู่ในหมู่บ้านเหล่านั้นได้เห็นความถึงความขาดแคลนของผู้ทำหน้าที่ศาสนทายาท จนทำให้สามเณรหลายรูปบอกว่า เรียนจบแล้วอยากมาพัฒนาบ้านเกิด อยากจะมาเป็นเนื้อนาบุญให้กับชาวบ้าน ซึ่งก็เป็นสิ่งที่เราตั้งใจอยู่แล้ว

การปลูกศรัทธา การสร้างอุดมการณ์ให้มั่นคงในใจของสามเณร เป็นสิ่งที่เราพยายามหาวิธีการมาตลอด ในอดีตแม้จะไม่ประสบความสำเร็จเป็นรูปธรรม ในปัจจุบันก็สนับสนุนส่งเสริมหลายวิธี ทั้งให้ทุนการศึกษาสำหรับผู้ศึกษาในระดับปริญญาตรี ก็ด้วยหวังว่า เมื่อเรียนจบแล้วสามเณรเหล่านี้ จะกลับไปตอบแทนคุณพระศาสนา อาจจะกลับไปปฏิบัติศาสนกิจที่บ้านเกิดของตนเอง หรืออาจจะไปปฏิบัติศาสนกิจบนดอยที่ไหนก็ได้ แต่ทุกอย่างก็เป็นเพียงแค่สัญญาใจ

การที่เรามีเป้าหมาย ก็ทำให้เรากำลังใจ มีความมุ่งมั่นที่จสร้างสามเณรให้มีศรัทธา มีอุดมการณ์ในการที่จะทำหน้าที่เป็นศาสนทายาท ซึ่งในอนาคตเราก็ไม่รู้ว่าจะสำเร็จมากน้อยขนาดไหน แม้จะไม่สำเร็จก็ไม่เป็นไร ก็จะไม่เสียใจ อย่างน้อยๆ เราก็ได้ทำหน้าที่ของเราให้สมบูรณ์ แม้เขาจะไม่กลับบ้านไปพัฒนาบ้านเกิด เขาจะไปอยู่ที่ไหน เมื่อเขาพึ่งพาตัวเองได้ ก็เชื่อเหลือเกินว่า เขาจะค้ำจุนวัดวาพระศาสนา ตอบแทนคุณข้าวน้ำที่ตนเองได้เคยพึ่งพาใบบุญ

เมื่อกล่าวถึงระยะทางในการเดินตลอดทั้งสามวันรวมแล้วประมาณ ๕๐ กว่ากิโลเมตร ซึ่งดูเหมือนจะน้อย แต่เป็นเส้นทางเดินไปเทือกสวนไร่นาของชาวบ้าน ขึ้นเขาลงเขา เดี๋ยวก็ขึ้นเดี๋ยวก็ลง ถ้ามองให้เป็นธรรมะ ก็คงเป็นเหมือนจังหวะชีวิตของใครหลายๆ คน  ชีวิตมีขึ้นมีลง ขึ้นก็อย่าฟู ลงก็อย่าตกใจ ลงได้ก็ขึ้นได้ ขึ้นได้ก็ลงได้ ให้มองโลกธรรมเป็นอุทาหรณ์ชีวิต มีลาภ เสื่อมลาภ มียศ เสื่อมยศ สุข ทุกข์ นินทา สรรเสริญ ซึ่งเป็นของคู่โลก

เราจะเป็นอย่างไรอยู่ที่ใครเป็นคนพูดถึงเรา ถ้าเป็นคนที่รักเรา เราอาจจะเป็นคนดีโดยไม่ต้องทำดี ถ้าเป็นคนที่มีอคติต่อเรา เราทำดีขนาดไหน เราอาจจะหาดีไม่มีก็ได้ หนทางที่สัญจรไปมาก็เหมือนกัน อยู่ที่ว่าใครสัญจร ถ้าเป็นชาวบ้านชาวเขา ก็ธรรมดา เขาก็จะบอกว่าเป็นปกติ ไม่ได้ลำบากอะไร ถ้าเป็นคนที่ไม่เคยมาสัมผัสเลย มาครั้งแรกอาจจะบอกว่า นี่คือสุดๆ ของถนน ไม่มีอะไรจะลำบากเท่านี้อีกแล้ว

วางใจในสิ่งที่พบเจอ

เมื่อเราเจอผู้คน เรื่องราว ความรู้สึก เราจะวางใจของเราอย่างไร เพราะในโลกนี้ในชั่วก็มีดี ในดีก็มีชั่ว หลวงพ่อชา สุภัทโท ท่านถึงบอกว่า ให้หาความดีในคนเลว ให้หาความเลวในคนดี  ดีชั่วทุกอย่างล้วนเป็นครูให้กับเราได้ทั้งนั้น สิ่งสำคัญเราจะวางใจของเราอย่างไร ให้อยู่เหนือโลกธรรม ถ้าอยากจะใช้ชีวิตให้มีความสุข มองความดีของคนอื่นให้เจอ มองความลำบาก อุปสรรคปัญหาไม่ให้เป็นอุปสรรคปัญหา เราก็จะมีความสุข

วันแรกของการเดิน (๙ มกราคม ๖๒) หลังจากทำพิธีเปิดโครงการที่วัดศรีบุญเรืองในภาคเช้าแล้ว ภาคบ่ายก็เริ่มเดินจากเส้นทางบ้านแม่เหาะ กลุ่มที่หนึ่งมุ่งหน้าไปที่อาศรมพระบัณฑิตอาสาบ้านแม่ริดป่าแก่ กลุ่มที่สองมุ่งหน้าไปอาศรมพระบัณฑิตอาสาบ้านแม่สวรรค์หลวง อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ผู้เขียนอยู่กลุ่มที่ ๒ ระยะทางในการเดินวันแรกของกลุ่มที่สอง ๙ กิโลเมตร ทำเอาเหนื่อยพอสมควร

อาศรมที่ไปพักอยู่ติดกับโรงเรียน มีศาลาหลังเล็กๆ อยู่หลังหนึ่ง มีกุฏิไม้ไผ่หลังหนึ่ง มีห้องน้ำสองห้อง มีพระอาจารย์อยู่จำพรรษา ๑ รูป ซึ่งท่านมาจำพรรษาได้ ๒ ปี ท่านเล่าให้ฟังว่า พอมาอยู่แล้วก็เงียบสงบดี ไม่วุ่นวาย อาหารการฉันมีอะไรก็ฉันตามที่ชาวบ้านถวาย

“มาอยู่ช่วงแรกคิดว่าตัวเองจะอยู่ไม่ได้ เพราะการสื่อสารไม่เข้าใจกัน พูดกันคนละภาษา ก็เรียนรู้เอา เขาเรียนรู้เรา เราเรียนรู้เขา พอใจมันอยู่ได้ ทุกอย่างก็อยู่ได้หมด อยู่แล้วก็มีความผูกพันธ์เหมือนกับบ้านของตัวเอง”

ในช่วงค่ำชาวบ้านเดินมาทำวัตรสวดมนต์ด้วย มีการสวดแปลเป็นภาษาปกาเกอะญอ ฟังดูแล้วก็เหมือนการสวดทำนองสรภัญญะของภาคอีสาน ในตอนเช้าทางโรงเรียนนิมนต์คณะธุดงค์สัญจรรับบาตร ก็มีศรัทธาชาวบ้านได้มาร่วมเป็นจำนวนมาก ทุกรูปรับแต่พอฉัน ที่เหลือก็มอบให้กับโรงเรียนได้เลี้ยงเด็กนักเรียน

วันที่สองของการเดิน เริ่มเดินตั้งแต่เวลา ๗.๓๐ น. พักฉันเพลประมาณ ๔๐ นาที เดินต่อไปที่อาศรมบ้านแม่ปุ๋น ผู้เขียนถึงอาศรมเวลา ๑๗.๔๕ น. ระยะทางที่เดินประมาณ ๑๗-๑๘ กิโลเมตร ก่อนที่จะถึงอาศรมประมาณ ๒ กิโลเมตร เท้าข้างหนึ่งแตก ข้างหนึ่งพอง ปวดทุกก้าวที่เดิน แต่ก็กัดฟันเดินให้ถึง ได้พระมหาสมควร ถิรสีโล เดินเป็นเพื่อน

ในระหว่างที่เดินก็ตั้งสโลแกนให้กัน เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพราะเราเป็นคนสุดท้าย เจอเด็กๆ ระหว่างทาง เด็กๆ ทักทาย กราบนมัสการ ไหว้สวยทุกคน น่าภูมิใจสมกับที่พระอาจารย์สัมพันธ์ ได้ทุ่มเทสอนมาร่วมสองปี พอไปถึงที่พักเหมือนจะเป็นลม ล้มตัวลงหลับไปประมาณ ๓๐ นาที เสียงระฆังดัง สรงน้ำทำวัตรเย็นต่อ ญาติโยมมาทำวัตรเยอะพอสมควร สวดเสียงดังฟังชัด

ก่อนจะจำวัด ได้สนทนาธรรมพูดคุยกับพระมหาสมควร มีบทสนทนาช่วงหนึ่งพูดถึงการเดินทาง เป็นที่น่าสนใจสำหรับชีวิตอยู่ไม่ใช่น้อย ท่านมีคำสุภาษิตว่า การเดินทางยาวไกล สำหรับผู้อ่อนหล้า ราตรียาวนาน สำหรับผู้นอนไม่หลับ

“วันนี้เราอาจรู้ว่า ชีวิตเราเดินทางมาแล้วเท่าไหร่ แต่เราไม่สามารถจะรู้ได้ว่า เราเหลือเวลาเดินทางของชีวิตเท่าไหร่ ”

ก่อนจำวัดไม่ได้นวดยาอะไร ปวดระบมทั้งตัว ต้นขา หัวเข่า น่อง หลัง ลำตัวนอนปวดทั้งคืน หลับๆ ตื่นๆ

วันที่สามของการเดินได้คำตอบให้ตัวเองชัดว่า ขอยกธงขาว ส่งใจไปเดินแทน เส้นทางที่จะเดินขึ้นเขาล้วนๆ ระยะทางจากอาศรมบ้านแม่ปุ๋นไปอาศรมบ้านดอกแดง ผ่านดอย ๓๖๐ องศา ระยะทางประมาณ ๒๐ กิโลเมตร ท่านบอกว่า วันนี้ของจริง

ผู้เขียนได้สนทนาธรรมกับ พระมหามานะ สุเมธโส ท่านเป็นพระธรรมทูตปฏิบัติศาสนกิจที่ประเทศสหรัฐอเมริกา มีโอกาสได้มาเดินด้วย ถือว่าท่านเดินประสบความสำเร็จ เพราะสามารถเดินไปถึงเป้าหมายได้

ท่านเล่าให้ฟังถึงความประทับใจในการเดินครั้งนี้ว่า ได้พบได้เจอในสิ่งที่ไม่เคยพบเจอ ธรรมชาติที่งดงาม วิถีชีวิตชาวเขา ไม่เคยได้มาสัมผัส สิ่งที่ประทับใจสุดๆ ชาวบ้านเขาสามารถที่จะแบ่งปันสิ่งที่เขามีให้กับคนอื่นได้ สิ่งที่หามายาก ซึ่งเป็นสิ่งที่มีค่าสำหรับเขา ไม่ว่าจะเป็นอาหาร น้ำดื่ม แต่เขาก็สามารถที่จะสละให้คนอื่นได้ ถือว่าเขามีน้ำใจ ซึ่งเขาก็ไม่ได้ร่ำรวยอะไร ท่านว่า ชาวบ้านเล่าให้ฟังว่า วิถีชีวิตของคนที่นี่ยังมีความเอื้ออารีต่อกัน อาหารการกินที่หาได้ตามชุมชน ไม่มีการซื้อขายกัน ใครมีมากก็แจกกัน

เรียนรู้ทุกย่างก้าว โดย พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท
เรียนรู้ทุกย่างก้าว โดย พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท

ผู้เขียนฟังแล้วก็ทำให้คิดถึงธรรมะข้อหนึ่งที่ท่านว่า มองคนให้มองต่ำ มองธรรมให้มองสูง วิถีชีวิตของคนที่นี่สะท้อนธรรมได้ดี ถ้าเรามีความรู้สึกว่า เราขาดแคลน เรามีไม่มากเหมือนคนอื่น ให้มองคนที่ต่ำกว่า คนที่ไม่มีกว่าเรา แต่ในขณะเดียวกันในเรื่องของความเพียร เรื่องของน้ำใจ เรื่องของธรรมให้มองคนที่สูงกว่า เราจะได้มีกำลังใจในการที่จะทำความเพียรให้มากขึ้น   

เรียนรู้ทุกย่างก้าว โดย พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท
เรียนรู้ทุกย่างก้าว โดย พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here