วันนี้วันพระ วันเสาร์ที่ ๓๐ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๖๕ แรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๕

ศึกษาเรียนรู้ปฏิปทาพระเถระในยุคกึ่งพุทธกาล

พระผู้ปิดทองหลังพระ

พระผู้ต่อลมหายใจให้กับพระพุทธศาสนามาจนถึงปัจจุบัน

สำหรับสองบทนี้ ย้อนเวลาในช่วงเวลาสงครามโลกครั้งที่สอง กับความตั้งใจมุ่งมั่นอย่างแน่วแน่ของสามเณรเกี่ยว ที่จะศึกษาพระปริยัติธรรมที่่วัดสระเกศฯ ด้วยความอนุเคราะห์จากหลวงพ่อพริ้งที่เมตตาท่านประดุจบิดากับบุตร ในช่วงเวลาสงคราม ต้องขึ้นล่อง กรุงเทพฯ -เกาะสมุย และในระหว่างการเดินทางก็ได้รับความกรุณาของพระครูศีลวิมล เจ้าอาวาสวัดเขาโบสถ์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ในขณะนั้น ทำให้ท่านไม่เคยลืมพระคุณตลอดชีวิตของท่าน

วิถีแห่งผู้นำ : สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ)

๑๖.ปีที่สองแห่งการเรียนรู้ในเมืองใหญ่ ๑๗. วัดเขาโบสถ์ จุดพักยามภัยสงคราม

เรียบเรียงโดย พระครูอมรโฆสิต (ปรีชา สาเส็ง)

๑๖. ปีที่สองแห่งการเรียนรู้ในเมืองใหญ่

               ย่างเข้าปีที่ ๒ ของการบวชเณรนั่นเอง  สามเณรเกี่ยวก็ตัดสินใจเข้ากรุงเทพฯ พร้อมกับหลวงพ่อพริ้งผู้เป็นอาจารย์  โดยเดินทางมากับเรือโดยสารรับส่งสินค้าเข้ากรุงเทพฯ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒

ในขณะนั้น  กรุงเทพมหานครตกเป็นเป้าโจมตีจากกองทัพพันธมิตร  เป็นผลมาจากกองทัพญี่ปุ่นบุกประเทศไทย  ทหารญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกตามแนวชายฝั่งทะเลหลายจุด ไม่ว่าจะเป็นสงขลา ปัตตานี นครศรีธรรมราช ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ และสุราษฎร์ธานี อ้างว่า เพื่อขอใช้ประเทศไทยเป็นเส้นทางเดินทัพผ่านเข้าไปพม่า  จึงเกิดการสู้รบกันอย่างรุนแรงระหว่างทหารพันธมิตรกับทหารญี่ปุ่น สถานการณ์โดยทั่วไปในขณะนั้นไม่เป็นที่น่าไว้วางใจ

แม้สามเณรเกี่ยว โชคชัยมีความตั้งใจอย่างแน่วแน่ ไม่หวาดหวั่นต่อข่าวคราวการทิ้งระเบิดจมเรือเดินสมุทรของกองทัพพันธมิตร สู้อุตส่าห์ข้ามน้ำข้ามทะเลมาอยู่กรุงเทพ ก็เพื่อหวังจะศึกษาพระปริยัติ  แต่ก็มีเหตุให้การศึกษาเล่าเรียนต้องล่าช้าออกไป  เนื่องจากช่วงนั้นกรุงเทพมหานครตกเป็นเป้าทิ้งระเบิดโจมตีอย่างรุนแรงหลายจุดไม่เว้นแม้กระทั่งองค์บรมบรรพต (ภูเขาทอง) ก็ถูกเป็นเป้าทิ้งระเบิดโจมตีด้วย

ภูเขาทองสมัยนั้น  นอกจากจะเป็นสิ่งก่อสร้างเพียงสิ่งเดียวที่มีความสูงใหญ่สามารถมองเห็นได้ง่ายแล้ว  ทางการยังได้นำปืนใหญ่ขึ้นมาตั้งบนภูเขาทองอีกด้วย  เพื่อป้องกันไม่ให้เขาเอาเครื่องบินมาทิ้งระเบิดใส่ภูเขาทอง ภูเขาทองจึงตกเป็นเป้าให้ทหารพันธมิตรทิ้งระเบิดโจมตีเป็นประจำ  

เมื่อหลวงพ่อพริ้งฝากสามเณรให้ศึกษาพระปริยัติอยู่ที่วัดสระเกศฯ แล้ว  โดยอยู่ในความดูแลของอาจารย์มหาเกตุ ท่านก็กลับเกาะสมุย  อยู่ได้ไม่นานก็ทราบข่าวการสู้รบกันในกรุงเทพมหานคร ระหว่างทหารญี่ปุ่นกับกองทัพพันธมิตร

ความผูกพันระหว่างหลวงพ่อพริ้งกับสามเณรเกี่ยวนั้นไม่ต่างอะไรจากบิดากับบุตร  เมื่อทราบข่าวการสู้รบกันในกรุงเทพ  ท่านเกิดความเป็นห่วงสามเณรเกี่ยวว่าจะไม่ปลอดภัย จึงได้ปรึกษากับโยมบิดาของสามเณรเกี่ยว  และได้เดินทางเข้ากรุงเทพ อีกครั้ง เพื่อรับลูกศิษย์กลับสุราษฎร์ธานีให้รอดพ้นจากภัยสงคราม 

แม้ในห้วงเวลานั้นการเดินทางขึ้นลงกรุงเทพฯ – สุราษฎร์ธานี  จะไม่สะดวกอย่างปัจจุบัน  ยิ่งเป็นห้วงเวลาที่อยู่ในภาวะสงคราม  ก็ยิ่งลำบากมากขึ้น  แต่ท่านก็ไม่คำนึง 

เจ้าประคุณสมเด็จเล่าว่า  “ ตอนนั้น ทหารม้าก็เอาม้ามาเลี้ยงที่ลานวิหารหลวงพ่ออัฏฐารส  มีการขนปืนใหญ่ขึ้นภูเขาทอง พระเณรไม่เคยเห็นก็ไปมุงดูกัน พอสู้กันมากเข้า ดูจะไม่ปลอดภัยพระเณรในวัดสระเกศจึงออกไปอยู่ตามชานเมือง หลวงพ่อพริ้งท่านพากลับทางเรือ  เพราะเห็นว่า ทางรถไฟไม่ปลอดภัย ถูกทิ้งระเบิดเสียหายหลายแห่ง  แต่พอเดินทางกลับทางเรือได้ไม่นาน ก็ว่าทางเรือไม่ปลอดภัยอีกแล้ว เขาจะทิ้งระเบิดทางเรือ เพราะเห็นว่า ฝ่ายญี่ปุ่นขนทหารขึ้นฝั่งทางเรือ ทหารพันธมิตรก็ทิ้งระเบิดเรือทุกลำที่เห็นว่า จะเป็นพวกของทหารญี่ปุ่น หลวงพ่อพริ้งจึงต้องเปลี่ยนจากเรือพากลับทางรถ”

“ก่อนที่ญี่ปุ่นจะยกพลขึ้นบกนั้น ทหารญี่ปุ่นได้มาฝังตัวอยู่ในประเทศไทยนานมาแล้ว ทำอาชีพต่างๆ เหมือนคนปกติทั่วไปบางคนก็มีครอบครัว มีลูกมีเมียเป็นคนไทย มีญี่ปุ่นคนหนึ่งเป็นหมอฟัน ได้เมียเป็นคนไทย  มีลูกด้วยกัน เมียคนไทยคงอยากให้บวช จึงได้มาขอบวชพระกับสมเด็จพระสังฆราช พระองค์ทรงบวชพระให้ อยู่ต่อมา พอญี่ปุ่นยกพลขึ้นบก จึงได้รู้ว่า เป็นทารญี่ปุ่น มียศถึงนายพัน ตอนเขาตาย สมเด็จพระสังฆราชทรงให้เอากระดูกไปไว้ที่ระเบียงโบสถ์ ”

๑๗. วัดเขาโบสถ์ จุดพักยามภัยสงคราม

               หลวงพ่อพริ้งนำสามเณรเกี่ยวเดินทางกลับทางเรือด้วยความยากลำบาก  เพราะทางรถไฟไม่ปลอดภัยเนื่องจากเป็นเป้าทิ้งระเบิด  พอทหารพันธมิตรหันมาทิ้งระเบิดเรือทหารญี่ปุ่น ก็ต้องเปลี่ยนมาเดินทางโดยรถ เพราะเกรงว่า ทางเรือจะไม่ปลอดภัย ครั้นสว่างก็ขึ้นพักที่บางสะพาน  เจ้าอาวาสที่วัดเขาโบสถ์เห็นมีสามเณรน้อยติดตามอาจารย์มาด้วย  คงนึกสงสารจึงให้โยมชีต้มข้าวให้ฉัน  พอสายก็ออกเดินทางต่อ  โยมวัดเขาโบสถ์จึงมีความเกี่ยวเนื่องกันสืบมา

วัดเขาโบสถ์  ปัจจุบัน เป็นพระอารามหลวง  ตั้งอยู่เลขที่  ๒๗๔  หมู่ที่ ๑  ตำบลกำเนิดนพคุณ  อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์  ตามประวัติระบุว่า สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๐  เป็นวัดเก่าแก่ ตั้งอยู่ในเมือง ไม่ปรากฏหลักฐานผู้สร้าง  มีพระครูอินทร์หรือหลวงปู่อินทร์เป็นเจ้าอาวาสรูปแรก  และมรณภาพเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๐  ต่อมาปี พ.ศ. ๒๔๕๕ ชาวบ้านบางสะพานได้นิมนต์พระท้วม ธมฺมสโร  จากวัดทุ่งมะพร้าว อำเภอบางสะพานมาเป็นเจ้าอาวาส  ท่านได้ก่อสร้างอุโบสถและศาลาการเปรียญ  ตลอดจนเสนาสนะต่างๆ มากมาย  จนวัดเป็นหลักฐานมั่นคง  ต่อมาได้รับสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นเอกที่พระครูศีลวิมลและดำรงตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอบางสะพาน  ท่านมรณภาพลงเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๗ 

(ข้อสังเกต  ดูตาม พ.ศ. พระครูศีลวิมล น่าจะเป็นรูปที่เจ้าประคุณสมเด็จ ฯ พบขณะเป็นสามเณรหลบหนีสงคราม  และให้แม่ชีต้มข้าวต้มถวายสามเณรเกี่ยว )

ชาวบางสะพานได้นิมนต์พระมหาบุญเตือน สิริธมฺโม ป.ธ.๖ วัดคลองวาฬ อำเภอเมือง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์มาปกครองวัด  ท่านได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นเอกที่ “ พระครูศรีวรคุณารักษ์ ”  และดำรงตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอบางสะพาน ท่านได้สร้างเสนาสนะ ถาวรวัตถุเพิ่มเติม  สร้างวิหารประดิษฐานรอยพระพุทธบาท สร้างอาคารเรียนพระปริยัติธรรมแผนกบาลี  วิหารศีลวิมลอนุสรณ์  หอระฆัง  สร้างอาคารปฏิบัติธรรม และได้พัฒนาวัดให้เป็นระเบียบเรียบร้อย  จนได้รับคัดเลือกให้เป็นวัดพัฒนาตัวอย่างในปี พ.ศ. ๒๕๓๐   และยังได้รับคัดเลือกจากรมการศาสนาให้เป็นวัดพัฒนาตัวอย่างดีเด่น ในปี พ.ศ. ๒๕๓๓  อีกด้วย ต่อมา ท่านได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ตามลำดับ จนเป็นพระราชาคณะชั้นราช ที่ “ พระราชสิทธิญาณ ” 

วัดเขาโบสถ์ได้รับพระราชทานโปรดเกล้าฯ ให้เป็นวัดพระอารามหลวงในปี พ.ศ. ๒๕๓๗

เจ้าประคุณสมเด็จฯ มีกตัญญูต่อสถานที่ ด้วยอนุสรณ์ถึงบุญคุณที่ได้พักพิงยามหนีภัยสงครามเมื่อครั้งเป็นสามเณร ต่อมา เมื่อเจริญก้าวหน้าในพระศาสนา เจ้าประคุณสมเด็จก็ส่งเสริมวัดเขาโบสถ์เสมอมา   

วิถีแห่งผู้นำ : สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ๑๖.ปีที่สองแห่งการเรียนรู้ในเมืองใหญ่ ๑๗. วัดเขาโบสถ์ จุดพักยามภัยสงคราม เรียบเรียงโดย พระครูอมรโฆสิต (ปรีชา สาเส็ง)

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here