
“มนุษย์ไม่ปรารถนาความชั่ว” โดย พระใบฎีกาคทาวุธ คเวสกธมฺโม จากคอลัมน์ เขียนธรรมสื่อถึงโลก (หน้าธรรมวิจัย นสพ. คมชัดลึก วันอังคารที่ ๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๖๑)
“ธรรมชาติของมนุษย์เมื่อเกิดมาแล้ว ไม่มีใครอยากทำความผิด ไม่มีใครอยากทำความชั่ว ไม่มีใครต้องการทำร้ายหรือฆ่าคนอื่น และที่สำคัญไม่มีใครอยากจะรุมโทรมหรือข่มขืนหญิงอื่นใด”
ปี ๒๕๕๙ คดีข่มขืนของสังคมไทยติดอันดับ ๑๐ ของโลก เห็นได้จากข่าวของการล่วงละเมิดทางเพศ ในปัจจุบันตามหน้าหนังสือพิมพ์หรือในโซเชียลมีเดีย (Social Media) ทุกวัน
ข่าวเช่นนี้ เมื่อได้อ่าน ขอให้นำหลักกาลามสูตรที่พระพุทธเจ้าทรงวางไว้ให้เราไม่ประมาทต่อข้อมูลที่ปรากฏข้างหน้า อาจจะจริงหรือไม่ ไม่มีใครทราบ แม้แต่ผู้ทำสถิติในเรื่องนั้นเอง ว่าไปสุ่มข้อมูลจากที่ไหน อย่างไร ผู้เขียนจึงมีข้อที่จะชวนให้ธรรมวิจัยกันอย่างหนึ่งก็คือ เมื่ออ่านข่าวที่ชี้นำประเภทนี้ ควรสาวไปหาเหตุของการตั้งประเด็นดังกล่าวด้วยว่า จริงหรือไม่ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ผู้ทำสถิติดังกล่าวตั้งธงอะไรไว้เบื้องหลัง อยากจะให้เกิดความเสียหายเกี่ยวกับภาพลักษณ์ของประเทศหรือไม่
หรือ อย่างเช่น ข่าวต้นปี ๒๕๖๑ เด็กหญิงอายุ ๑๔ ปี ถูกรุ่นพี่วัยรุ่นชายอายุ ๑๗-๑๘ ปี จำนวน ๓ คน หลอกไปถูกข่มขืน เมื่อมีข่าวเช่นนี้เกิดขึ้นสิ่งที่ตามมาคือสังคมต่างรุมประณามให้ลงโทษประหารชีวิตผู้กระทำความผิด ถือว่าเป็นการมองแค่บางมุมเท่านั้น และไม่เป็นการแก้ไขปัญหาในระยะยาว
เมื่อมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น อย่างแรก สำหรับผู้อ่านคือ จริงหรือ อาจไม่จริงก็ได้ และลองสาวผลจากที่ปรากฏเป็นข่าวไปหาเหตุดูหลายๆ ประเด็น ว่าทำไมจึงเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น เมื่อสาวไปหาเหตุแล้ว และพบกับความจริงบางประการ บางทีผู้อ่านจะอึ้ง และจะเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงสังคมครั้งใหญ่ จากการมองใหม่ของตัวเราเอง มองอย่างเข้าใจ และมองอย่างให้อภัยในสิ่งที่เกิดขึ้นซึ่งผ่านไปแล้ว
เมื่อนั้น เราจะหยุดโทษสังคม หยุดโทษครอบครัวไปด้วยที่หล่อหลอมให้เขาเป็นคนแบบนั้น อีกทั้งหยุดในการที่ไปโทษแต่เพียงผู้กระทำความผิดฝ่ายเดียว ซึ่งเป็นสิ่งที่โหดร้ายเกินไปสำหรับวัยรุ่นกลุ่มนั้นหรือเปล่า
อนึ่ง สาเหตุที่กลุ่มวัยรุ่นต้องกระทำความผิดเช่นนั้นอาจมาจาก ๒ ปัจจัย คือ ปัจจัยภายในเกิดจากตัวเขาเองที่ไม่สามารถยับยั้งช่างใจ หรือรู้จักแยกผิดชอบชั่วดีได้ ส่วนปัจจัยภายนอกเกิดจากตัวกระตุ้นผ่านสื่อต่างๆ โดยเฉพาะสื่อโซเชียล สื่อลามกอนาจาร ละครทีวีที่มีฉากวาบวิว ตลอดถึงวัฒนธรรมการนุ่งห่มไม่เรียบร้อยของวัยรุ่น รวมถึงการอบรมสอนสั่งตั้งแต่สถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษาที่หยิบยื่นสิ่งต่าง ๆ ให้เขา
เพราะธรรมชาติของมนุษย์เมื่อเกิดมาแล้วถ้าได้รับการฝึกฝนพัฒนาตนอย่างสมบูรณ์ย่อมมีชีวิตที่ดีงาม
ดังพุทธพจน์ที่ว่า “ผู้ฝึกตนย่อมเป็นผู้ประเสริฐ”
การแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมในปัจจุบัน จึงขอเสนอการทางออกของปัญหาดังกล่าวด้วยหลักการของ ๔ ส ดังนี้
สถาบันครอบครัว เป็นจุดที่หล่อหลอม หรือมีพลังมากที่สุดในการแก้ปัญหาของสังคมในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศ ถ้าเด็กเกิดมาในครอบครัวที่ได้รับความรักความอบอุ่น การดูแลเอาใจใส่เป็นอย่างดี พ่อแม่ผู้ปกครองมีเวลาให้เขาอย่างพอเหมาะพอควรรวมไปถึงชุมชนของครอบครัวนั้น ต้องมีสภาพแวดล้อมที่ดีแล้วจะทำให้เขาสามารถเจริญเติบโตเป็นพลเมืองที่ดีของสังคมได้
สถาบันการศึกษา เป็นสถาบันบ่มเพาะทางด้านปัญหาของสังคมเพราะช่วงอายุ ๒๐ ปีแรกของวัยรุ่น นอกจากจะอยู่กับครอบครัวแล้ว เวลาส่วนมากจะใช้ชีวิตในสถาบันการศึกษาและอยู่กับเพื่อน สถาบันการศึกษานอกจากจะเน้นให้ความรู้ด้านวิชาการต่าง ๆ เพื่อเป็นวิชาชีพเลี้ยงกาย ยังไม่เพียงพอที่จะให้เขาสามารถดำรงชีวิตอย่างปกติสุขได้ ต้องบ่มเพาะพัฒนาทางด้านจิตใจควบคู่ไปด้วยเพื่อมีธรรมเป็นหลักใจในการดำเนินชีวิต
สถาบันตุลาการ เป็นสถาบันเพื่อดำรงความยุติธรรมให้อยู่คู่กับสังคมและประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน เมื่อมีความผิดการล่วงละเมิดทางเพศเกิดขึ้นในสังคม กระบวนการยุติธรรม ตั้งแต่ต้นน้ำคือตำรวจพนักงานสอบสวน กลางน้ำคือพนักงานอัยการ และปลายน้ำคือศาล ควรดำเนินคดีอย่ารวดเร็วกว่าคดีทั่วไปเพื่อให้กฎหมายทำงานได้รวดเร็ว กฎหมายก็จะเป็นเครื่องมือปราบและปรามเหตุดังกล่าวได้อีกทางหนึ่ง แต่ความจริง สถาบันนี้เป็นปลายทางของปัญหา ซึ่งถ้าหากอยากจะแก้ไขจริงๆ สถาบันต่อไปที่จะกล่าวถึงคือคำตอบ
สถาบันศาสนา ประเทศไทยมีความพิเศษอย่างหนึ่งคือ มีหลากหลายศาสนาแต่ศาสนิกชนแต่ละศาสนาก็ดำรงชีวิตอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข และทุกศาสนาสอนให้เป็นคนดี อาศัยหลักคำสอนของศาสนาเป็นตัวหลอมใจให้ประพฤติชอบ โดยเฉพาะสังคมไทยมีต้นทุนทางพระพุทธศาสนามาก เพราะวิถีชีวิตของคนในสังคมได้รับอิทธิจากหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนาตั้งแต่เกิดจนตาย
เบื้องต้นแค่เพียงให้ยึดหลักศีล ๕ สำรวมกายวาจาให้ถึงพร้อมเรียกว่า ศีล โดยเฉพาะศีลข้อ ๓ กาเมสุมิจฉาจารา ไม่ให้ประพฤติในกาม ให้มีสติ ระลึกรู้ ให้เกียรติผู้หญิงทุกคน เพราะผู้หญิงก็คือแม่ คือผู้ให้กำเนิดเรา เป็นพี่ เป็นน้องสาวเรา เป็นดั่งคนในครอบครัวของเรา เมื่อตระหนักในข้อนี้ให้มากเข้า ก็สามารถแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศได้ สำหรับผู้ที่มีภรรยาแล้วก็ให้เกียรติและรักภรรยาของตนเพียงผู้เดียว เท่านี้ก็ป้องกับปัญหาการผิดศีลข้อนี้ได้แล้ว
อย่างไรก็ตาม มนุษย์ทุกคนเกิดมาต้องการเป็นคนดี ต้องการมีชีวิตที่เจริญรุ่งเรือง แต่ที่เขาไปกระทำความผิดหรือไปล่วงละเมิดทางเพศคนอื่น เหตุเหล่านี้เป็นเพราะขาดสติ ขาดความยับยั้งชั่งใจ ขาดความรู้ความเข้าใจในความเป็นมนุษย์อย่างแท้จริง ถ้าทุกคนได้รับการพัฒนาตนเองทั้งความรู้ทางวิทยาการสมัยใหม่ ประกอบกับได้รับการฝึกฝนพัฒนาจิตใจควบคู่ไปด้วยก็จะทำให้ปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศในสังคมไทยและสังคมโลกลดน้อยลงมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันอย่างแน่นอน

“มนุษย์ไม่ปรารถนาความชั่ว” โดย พระใบฎีกาคทาวุธ คเวสกธมฺโม จากคอลัมน์ เขียนธรรมสื่อถึงโลก (หน้าธรรมวิจัย นสพ. คมชัดลึก วันอังคารที่ ๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๖๑)