เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท เล่าถึงกิจวัตร วัตรปฏิบัติตามวิถีของวัดป่าที่สามเณรได้ประพฤติปฏิบัติ สัปดาห์นี้ท่านเล่ารายละเอียดของสามเณรสิกขา ที่ทำให้เราทราบว่า วิถีแห่งพุทธบุตรของพระพุทธเจ้านั้นต้องฝึกตนเพียงใด กว่าจะรู้จักใจตนเองอย่างแท้จริง และเมื่อรู้จักใจตนเองแล้ว นี่แหละ คือของขวัญอันแท้จริงที่พระพุทธองค์มอบให้มนุษยชาติ เพื่อเป็นเครื่องมือในการดับทุกข์ในสังสารวัฏ ที่ยังไม่มีการศึกษาบนโลกใดจะไปถึง…
“สามเณรสิกขา” ของขวัญแห่งชีวิต
เบื้องหลัง “สามเณรปลูกปัญญาธรรมปี ๗”
โดย พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท วัดทองนพคุณ คลองสาน กรุงเทพฯ
เมื่อสัปดาห์ที่แล้วเล่าถึงกิจวัตร วัตรปฏิบัติตามวิถีของวัดป่าที่สามเณรได้ประพฤติปฏิบัติ แต่อาจจะไม่ได้เล่าทั้งหมด เล่าบางเหตุการณ์เรื่องราวความประทับใจที่เกิดขึ้น ตลอดระยะเวลา ๑ เดือนที่สามเณรอยู่ภายใต้ร่มผ้ากาสาวพัตร์ เห็นพัฒนาการ การเรียนรู้ การฝึกฝนตนเองของสามเณรดีขึ้นตามลำดับ
ในช่วงแรกๆ ของการบวชใหม่ สามเณรบางรูปอาจจะคิดถึงบ้านร้องไห้ สามเณรบางรูปอาจทนต่อความลำบากไม่ค่อยได้ บ่นอยากจะกลับบ้าน มีกิจวัตรตลอดทั้งวันจำวัดดึกตื่นเช้า บางรูปไม่เคยเดินเท้าเปล่า สามเณรบางรูปก็กลัวผี แต่ท้ายที่สุดแล้วสิ่งทั้งหมด เรื่องราวทั้งหมดที่เป็นความกังวลของสามเณร ถูกปรับปรุงแก้ไขด้วยตัวของสามเณรเอง สร้างความสมดุลของชีวิตให้มีความสุขในวิถีชีวิตที่สามเณรเป็นอยู่ได้
สามเณรรูปหนึ่งเมื่อมืดแล้วจะมีความกลัวมาก ไม่กล้าเดินไปไหนคนเดียว กลัวผี กลัวไปทุกอย่าง วันหนึ่งเขาชนะใจตัวเองได้ เขาก็กลับมารายงาน พระอาจารย์อภิชาติครับ ผมกำจัดความกลัวผีได้แล้วครับ พระอาจารย์สอนว่าผีมีแต่ในความคิด ถ้าเราหลงไปอยู่ในความคิด เราก็จะไม่มีสติ ถ้าเรามีสติ เราก็จะกำจัดความกลัวผีได้ ผีก็จะไม่มาหลอกเรา
เป็นอย่างนั้นจริงๆ บางครั้งที่เราหลงไปอยู่ในความคิด เราก็อ่อนแอ บางครั้งที่เราอยู่กับความจริงได้ ทุกอย่างก็ธรรมดา
สามเณรรูปเดิม ตื่นเช้ามารายงานต่ออีกว่า เมื่อคืนผมฝันเจอผีเด็ก มีสี่ตัวอยู่ในต้นไม้ใหญ่ เป็นผีจีน ตัวขาวๆ หน้าขาวๆ
พระอาจารย์ก็นึกในใจ ผีนี้ก็เร็วเหมือนกัน มาหลอกกันแม้ในกระทั่งความฝัน เหมือนรู้ใจสามเณรเลย ก็พยายามค้นพบสาเหตุของผี ได้คำตอบว่า ผีมาจากการอ่านหนังสือเล่มอยู่ในมือ สามเณรอ่านไปถึงตอนผีหัวขาดมาหลอกเณรรุ่น ๒ ที่พระอาจารย์ท่านเล่าในเรื่อง คงจะอ่านแล้วติดอยู่ในอารมณ์ ผีก็เลยมาหลอกหลอนต่อ
ขอยกตัวอย่างในเรื่องของการสอนกรรมฐาน ฝึกสมาธิ ช่วงก่อนการออกธุดงค์ พระอาจารย์ทองลา ทำหน้าที่ในการสอนการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ท่านเมตตาฝึกสามเณรให้เดินจงกรม นั่งสมาธิวันละ ๑๐ นาที เพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ จนใกล้วันออกธุดงค์ ท่านเพิ่มเวลาเดินจงกรมเป็น ๕๐ นาที เมื่อถึงเวลาธุดงค์จริงๆ ท่านใช้บันลังก์ละ ๖๐ นาที หมายถึงเดินจงกรม ๖๐ นาที นั่งสมาธิ ๖๐ นาที ทุกรูปทำได้ ทุกรูปมีความภูมิใจที่ตัวเองทำได้
ท่านว่า สามเณรมีจริตอัธยาศัยไม่เหมือนกัน บางรูปชอบเดินจงกรม บางรูปชอบนั่งสมาธิ ท่านก็ให้สามเณรอธิษฐานพัฒนาปรับตัวเองตั้งสัจจะอธิษฐานในเรื่องที่ตัวเองทำได้ไม่ได้ ตั้งใจว่าจะพัฒนาการเดินจงกรม หรือนั่งสมาธิ
การปรับตัวเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องเรียนรู้ ต้องลงมือทำเอง แม้ใครจะบอกว่าต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ท้ายที่สุดแล้ว ผู้ลงมือปฏิบัติจะเป็นผู้รู้ดีที่สุดว่าจะต้องวางตัวอย่างไร ทำอย่างไร การเรียนการสอน การฝึกฝนตนเองของสามเณรก็เหมือนกัน พระอาจารย์ทุกรูปมีหน้าที่ให้การฝึก สังเกตพฤติกรรม พัฒนาการของสามเณร การไม่ตามใจเขาก็เป็นสิ่งที่สำคัญ ทำให้เขาได้ฝึกฝน ฝึกฝืน ให้สามเณรได้เผชิญความลำบาก ฝึกฝนในสิ่งที่ดีงาม ฝึกฝืนในสิ่งที่สามเณรไม่ชอบ แล้วสามเณรจะชนะใจตนเอง ไม่นานสามเณรก็จะทำได้
ในหลายๆ เรื่องของการฝึกฝนพัฒนาตนเอง ตามความเห็นของผู้เขียนแค่นี้ สามเณรก็ดีแล้ว ก็เก่งแล้ว แต่อาจจะไม่ได้เก่งทุกเรื่องตามที่หลายคนคาดหวัง เพียงทำให้สามเณรรู้สึกดีในการบวช รู้สึกประทับใจในการบวช สามเณรก็จะทำให้ดีที่สุดในจุดที่ทำ เป็นให้ดีที่สุดในจุดที่เป็น ถ้าสามเณรประทับใจต่ออะไร ต่อใครแล้ว เขาก็อยากปฏิบัติตามด้วยความศรัทธา
หลายคนอาจจะมองว่า ทำไมไม่เป็นอย่างนั้น อย่างนี้ น่าจะเป็นอย่างนั้น น่าจะเป็นอย่างนี้ น่าจะพัฒนาเรื่องนั้นเรื่องนี้ หลายคนใจร้อน ใจร้อนก็ดีบางเรื่อง การสอนตรงๆ บอกตรงๆ ก็ดี แต่สามเณรก็จะไม่รู้จักสังเกต ไม่รู้จักคิดเอง แก้ปัญหาเอง แต่ถ้าการสอนที่ทำให้เขารู้จักคิด แล้วเปลี่ยนตัวเองให้ดีขึ้นด้วยตัวเอง ส่งเสริมให้เกิดปัญญา เมื่อเกิดปัญหา เขาก็สามารถจะแก้ปัญหาได้
ช่วงแรกๆ ตอนบวชใหม่ๆ ถามสามเณรหลายรูปว่า ไม่ได้ฉันตอนเย็น หิวไหมครับ
“หิวครับ แต่ผมต้องทนให้ได้ ผมตัวอ้วนเลยหิว”
พระอาจารย์คิดในใจว่า สามเณรตัวผอมก็คงจะหิวเหมือนกัน ก็เลยถามต่อว่า หิวแล้วทำอย่างไร
“ดื่มน้ำเปล่าแทนครับ” จะให้บอกว่าไม่เก่งได้อย่างไร
หลายคนบวชแล้วอาจทนไม่ได้ก็ได้ ในการเป็นสามเณร ถ้าทนต่อคำสอนได้ ทนต่อความหิวได้ ก็ไม่เป็นอันตรายต่อการฝึกตน
ที่เล่ามาไม่ได้ต้องการจะแย้งใคร หรือสอนใคร เพียงแต่เล่าไปตามวิธีการที่ครูบาอาจารย์ได้นำปฏิบัติเท่านั้น การสอนอาจจะมีหลายวิธี บางคนอาจจะใช้คำพูดตรง คำพูดแรง คำพูดให้สติ คำพูดให้คิด คำพูดที่ดูคล้ายมีอารมณ์ หรือบางคนเลือกที่จะพูดน้อยแล้วทำให้ดู ทุกอย่างก็เป็นการสอนได้ทั้งนั้น ทุกอย่างที่แสดงออกก็ต้องกลับมาดูที่ใจเราว่า สิ่งที่เราคิด พูด ทำนั้นประกอบด้วยเมตตา ใจเราปรารถนาดีต่อเขาขนาดไหน
การบวชของสามเณร หลวงตาอเนก พระครูนิโครธธรรมาภรณ์ พระอาจารย์ใหญ่โครงการสามเณรปลูกปัญญาธรรมปี ๗ เน้นให้สามเณรทุกรูปต้องท่องบทสามเณรสิกขาให้ได้ และศึกษาให้เข้าใจ
สามเณรสิกขาคืออะไร คือสิกขาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติไว้ดีแล้วแก่เหล่าสามเณรทั้งหลาย และเป็นสิกขาอันสามเณรทั้งหลายไม่พึงก้าวล่วง หากก้าวล่วงย่อมถึงโทษมีประการต่างๆ
ขอกล่าวถึงสิกขาบทที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้สามเณรประพฤติ ๑๐ ประการ และทรงอนุญาตให้นาสนะคือทำให้ฉิบหาย แก่สามเณรผู้ประกอบด้วยองค์ ๑๐ และลงทัณฑกรรม สามเณรเป็นผู้ไม่เคารพ ไม่ยำเกรง และมีความประพฤติไม่ถูกกันในภิกษุทั้งหลาย
สิกขาบท ๑๐ ที่ทรงอนุญาตให้สามเณรประพฤติ คือ เว้นจากฆ่าสัตว์มีชีวิต ๑ เว้นจากลักสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ ๑ เว้นจากเมถุนธรรม ๑ เว้นจากกล่าวปด ๑ เว้นจากเหตุเป็นที่ตั้งแห่งความประมาทเพราะดื่มน้ำเมา คือสุราและเมรัย ๑ เว้นจากบริโภคอาหารในวิกาลคือตั้งแต่เที่ยงแล้วไป ๑ เว้นจากฟ้อนรำขับร้องประโคมดนตรีและการดู ซึ่งเป็นข้าศึกต่อกุศล ๑ เว้นจากเหตุเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด คือทรงไว้และประดับตกแต่งร่างกาย ด้วยดอกไม้และของหอมและเครื่องทา ๑ เว้นจากที่นอนสูงและที่นอนใหญ่ ๑ เว้นจากรับทองและเงิน ๑
สิกขาบท ๑๐ ที่สามเณรผู้ประกอบแล้วต้องนาสนะ คือ ทำให้ฉิบหาย คือสามเณรเป็นผู้ฆ่าสัตว์มีชีวิต ๑ เป็นผู้ลักสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ ๑ เป็นผู้เสพเมถุน ๑ เป็นผู้กล่าวปด ๑ เป็นผู้ดื่มน้ำเมา ๑ ติเตียนพระพุทธเจ้า ๑ ติเตียนพระธรรม ๑ ติเตียนพระสงฆ์ ๑ เป็นผู้มีความเห็นผิด ๑ เป็นผู้ประทุษร้ายนางภิกษุณี ๑ พระผู้มีพระภาคได้ทรงอนุญาต ให้สามเณรผู้ประกอบด้วยองค์ ๑๐ เหล่านี้ให้ฉิบหายเสียฯ
และลงทัณฑกรรม สามเณรเป็นผู้ไม่เคารพ ไม่ยำเกรง และมีความประพฤติไม่ถูกกันในภิกษุทั้งหลาย คือสามเณรพากเพียรจะให้ภิกษุทั้งหลายเสื่อมลาภ ไม่ให้ได้ลาภ ๑ พากเพียรเพื่อกรรมใช่ประโยชน์แห่งภิกษุทั้งหลาย ๑ พากเพียรเพื่อจะอยู่ไม่ได้แห่งภิกษุทั้งหลาย ๑ คำตัดพ้อภิกษุทั้งหลาย ๑ ให้ภิกษุทั้งหลายแตกร้าวจากภิกษุทั้งหลาย ๑
ก่อนที่สามเณรจะลาสิกขาประมาณ ๑ อาทิตย์ วันหนึ่งหลวงตาให้โอวาทหลังทำวัตรเย็นเสร็จ หลวงตาก็ประกาศว่า “ใครท่องไม่ได้ไม่ให้ลาสิกขา” หลายรูปทำท่าตกใจจากนั่งสบายๆ เป็นหลังตรงตั้งใจโดยปริยาย มีเสียงขำจากพ่อออกแม่ออกทางด้านหลังให้กำลังใจ
หลวงตาให้ท่องอะไร ให้ท่องคำอาราธนาศีล ๕ ศีล ๘ อาราธนาพระปริตร อาราธนาธรรม และคำกล่าวถวายสังฆทาน หลวงตาบอกว่า “ให้เป็นของขวัญแก่สามเณร เวลาใครถามว่า บวชที่ไหน เป็นลูกศิษย์ใคร จะได้ไม่เสียชื่อ”
ไม่น่าเชื่อนะเพียงไม่กี่วัน สามเณรทุกรูปสามารถที่จะท่องจำได้อย่างแม่นยำ เป็นเพราะกลัวไม่ได้ลาสิกขาหรือเปล่าก็ไม่รู้นะ
ติดตามเรื่องราวการเรียนรู้ของสามเณรจะว่าเป็นอย่างไร ในตอนต่อไป
ติดตาม “สามเณรสิกขา” ของขวัญแห่งชีวิต เบื้องหลัง “สามเณรปลูกปัญญาธรรมปี ๗” โดย พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท ได้ในคอลัมน์ จาริกบ้าน จารึกธรรม นสพ. คมชัดลึก หน้าพระไตรสรณคมน์ วันพฤหัสบดีที่ ๑๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๒
พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท วัดทองนพคุณ คลองสาน กรุงเทพฯ