“ปูชา จ ปูชนียานํ  เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ.

ขอนอบน้อมแด่ครู พระอุปัฌชาย์ อาจารย์

ผู้ให้ชีวิตในพระศาสนาของพระพุทธองค์ ด้วยเศียรเกล้าฯ”

ร่องรอยความทรงจำแห่งอดีต

บอกเล่าปฏิปทาในการครองตน ครองคน ครองงาน

เพื่อจรรโลงความดีงาม ตามครรลอง “วิถีแห่งผู้นำ”

เรียนรู้ปฏิปทาพระเถระผู้มีความตั้งใจในการสร้างพระสงฆ์และสร้างสังฆมณฑลเพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนาในการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์บนโลกให้ดับทุกข์ทางใจอย่างสิ้นเชิงตามรอยพระพุทธเจ้า

วิถีแห่งผู้นำ : สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร) ๘๓. ความสงบจากภายในของพระอาจารย์สุเมโธ  ๘๔.  ตั้งพระอุปัชฌาย์ต่างประเทศครั้งแรก เรียบเรียงโดย พระครูอมรโฆสิต (ปรีชา สาเส็ง)

สำหรับสองบทนี้ ผู้เขียนเล่าถึงสายสัมพันธ์อันอบอุุ่นของหลวงพ่อสมเด็จฯ กับ หลวงปู่ชา สุภัทโท ที่ช่วยกันสร้างพระป่านานาชาติจนสามารถทำให้วัดหนองป่าพงมีสาขาไปทั่วโลก และช่วยให้พระชาวต่างชาติสามารถเป็นพระอุปัชฌาย์ได้ เพื่อจะได้บวชพระในประเทศนั้นๆ ได้ ทำให้การเผยแผ่พระพุทธศาสนาและการสืบทอดพระพุทธศาสนาโดยพระสงฆ์มีความต่อเนื่องไม่ขาดสาย

๘๓. ความสงบจากภายในของพระอาจารย์สุเมโธ

              คราวหนึ่ง  พระอาจารย์สุเมโธ  ศิษย์ฝรั่งรูปแรกของหลวงพ่อชา  ได้มาพักที่วัดสระเกศฯ เจ้าประคุณสมเด็จฯได้ให้พระรูปหนึ่งจัดที่พักให้  แต่อย่างไรไม่ทราบได้  พระรูปนั้นไม่ได้จัดให้อาจารย์สุเมโธพักห้องที่เคยพัก แต่จัดให้พักอีกที่หนึ่ง  ห้องที่พักนั้นอยู่ถัดจากห้องหลวงตารูปหนึ่ง 
เจ้าประคุณสมเด็จฯ ทราบว่าอาจารย์สุเมโธพักที่ห้องใกล้หลวงตา ก็เป็นห่วงว่า อาจารย์สุเมโธท่านเป็นพระป่าอยู่กับความสงบของป่ามายาวนานเกรงว่าจะไม่สบายใจ  จึงไปบอกจะให้ย้ายไปพักอีกห้องหนึ่ง

              อาจารย์สุเมโธบอกว่า  “ไม่เป็นไร อยู่ที่ใจ ใจสบายอยู่ที่ไหนก็อยู่ได้”

              เจ้าประคุณสมเด็จฯ มักจะนำเรื่องนี้มาเล่าอยู่เสมอว่า

              “ดีเหลือเกินท่านไม่ตำหนิหลวงตาเลย  ไม่ตำหนิคนอื่น  อย่างนี้แหละพระ  ไม่ดูที่จิตคนอื่น  แต่ดูจิตตัวเอง  ถ้าจิตดีอยู่ที่ไหนก็อยู่ได้  ไม่ว่าจะเป็นป่าหรือเป็นเมือง  อยู่ได้ทั้งนั้น  แม้วิเศษจริงๆ ”

              ท่านอาจารย์สุเมโธ  เป็นชาวอเมริกัน  เดิมเป็นทหารสมัยสงครามโลก  เมื่อยังเป็นฆราวาสได้พบกับเจ้าประคุณสมเด็จฯ ครั้งแรกบนรถไฟโดยบังเอิญ  เมื่อราว พ.ศ. ๒๕๐๙  ขณะที่เจ้าประคุณสมเด็จฯ กำลังเดินทางไปปฏิบัติศาสนากิจที่ประเทศลาว  และท่านสุเมโธกำลังเดินทางไปติดต่อบวชที่หนองคาย  ครั้นได้สนทนาก็สบอัธยาศัยกัน  จนเมื่อได้รับการอุปสมบทแล้ว  อาจารย์สุเมโธจึงขอให้พระอุปัชฌาย์นำมาพบเจ้าประคุณสมเด็จฯ ที่วัดสระเกศฯ  ต่อมาได้ไปอยู่ปฏิบัติธรรมกับหลวงพ่อชา  ที่วัดหนองป่าพง  เมื่อหลวงพ่อชามาที่วัดสระเกศฯ ท่านก็ตามมาด้วย  จนเกิดความคุ้นเคย  ตอนหลังแม้หลวงพ่อชาละสังขารไปแล้วท่านก็ยังไปมาหาสู่  และก็มาจนถึงปัจจุบัน

              ครั้งหนึ่ง  เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ได้พูดคุยกับหลวงพ่อชาถึงการพระศาสนาว่า  จะให้อาจารย์สุเมโธเป็นหัวหน้าพระต่างประเทศในประเทศไทย  หลวงพ่อชาก็ตกลง  ต่อมาจะมีการสร้างวัดที่อังกฤษ  ก็ได้ปรึกษากันกับหลวงพ่อชา ว่าควรจะให้รูปใดไป  หลวงพ่อชาก็ว่าให้อาจารย์สุเมโธไป  ก็ตกลงกันตามนั้น  แล้วหลวงพ่อชาก็เดินทางไปอังกฤษพร้อมกับอาจารย์สุเมโธด้วย

๘๔. ตั้งพระอุปัชฌาย์ต่างประเทศครั้งแรก

              เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์  ผู้เมตตาให้พระราชสุเมธาจารย์ (โรเบิร์ต สุเมโธ) ปัจจุบัน พระพรหมวชิรญาณ เป็นพระอุปัชฌาย์

              หลวงพ่อสุเมโธเล่าว่า  ในปี พ.ศ. ๒๕๐๙ เป็นปีแรกที่ได้มาเมืองไทย  และได้พบเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์  ขณะที่ท่านกำลังจะไปเวียงจันทร์  ตอนนั้นอาตมายังเป็นฆราวาสอยู่  เป็นอาจารย์สอนภาษาอังกฤษอยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กรุงเทพฯ  แต่ก็มีความตั้งใจจะบวชเป็นพระแล้ว  นั่งรถไปหนองคาย  เจ้าคณะจังหวัดหนองคาย  ก็รับเรื่องที่จะบวชให้เข้าพรรษาปีนั้น  ก็เลยได้บรรพชาเป็นสามเณรอยู่ที่วัดเนินตะนาว  จังหวัดหนองคาย  ปีหนึ่ง 

ปีต่อมา พ.ศ. ๒๕๑๐  ท่านเจ้าคุณพระธรรมปริยัติมุนี  เจ้าคณะจังหวัดหนองคาย  เป็นพระอุปัชฌาย์ ก็บวชให้เป็นพระให้ที่วัดศรีสะเกษ  แล้วก็ส่งไปอยู่กับหลวงพ่อชา  ที่จังหวัดอุบลราชธานี

              พระราชสุเมธาจารย์  ย้อนรำลึกความทรงจำ  นั่นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้โรเบิร์ต แจ๊กแมน  ทหารเรือ อาสาสมัคร Peace Corp ได้พบพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริงในประเทศไทย  แล้วได้เดินทางไปเผยแผ่ธรรมในประเทศอังกฤษเป็นรูปแรก  โดยการนำของหลวงพ่อชา สุภัทโท  ผู้ก่อตั้งวัดหนองป่าพง  จังหวัดอุบลราชธานี

              หลวงพ่อสุเมโธ  ชาวอเมริกัน  ลูกศิษย์พระชาวต่างชาติของหลวงพ่อชา สุภัทโท  รูปแรกของวัดหนองป่าพง จังหวัดอุบลราชธานี  ในวัย ๘๔ ปี  พรรษาที่ ๕๓ (พ.ศ.๒๕๖๑)  มีเรื่องเล่าอันประทับใจ เกี่ยวกับปฏิปทาและจริยาวัตรของเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์  ในฐานะพระมหาเถระผู้ใหญ่  ในวันที่ศิษยานุศิษย์  น้อมรำลึกถึงหลวงพ่อสมเด็จวัดสระเกศฯ ในวันคล้ายวันเกิด ๙๐ ปีในวันที่ ๑๑ มกราคม พ.ศ.๒๕๖๑ 

              “หลังจากบวชแล้ว  ท่านเจ้าคุณพระธรรมปริยัติมุนี  พระอุปัชฌาย์อาตมาก็พามาพบท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ที่วัดสระเกศ  ตอนนั้นท่านสมณศักดิ์ที่ พระพรหมคุณาภรณ์  ท่านบอกว่า  เวลาเวลาที่มีกิจมากรุงเทพฯ  ก็ให้มาพักที่นี่ได้  ซึ่งตอนนั้นได้มาพักที่วัดสระเกศฯ  หลายสัปดาห์  ทำเรื่องวีซ่า  ธุระหลายอย่าง หลังจากนั้นก็เวลามากรุงเทพฯ ก็มาพักที่วัดสระเกศฯ เป็นประจำ

              “เวลามาพัก  เจ้าประคุณสมเด็จฯ ท่านชอบชวนสนทนาเรื่องการปฏิบัติ  ท่านอยากรู้ว่า  เราปฏิบัติอย่างไร  แล้วท่านก็นิยมชมชอบหลวงพ่อชามาก  ท่านอยากจะช่วยหลวงพ่อชาตามกำลังความสามารถของท่าน  เพื่อให้คำสอนของหลวงพ่อชาเผยแผ่ไปให้ประชาชนชาวไทยได้กว้างขวาง

              “อาตมาเป็นพระฝรั่งรูปแรกที่เป็นลูกศิษย์หลวงพ่อชา  สมัยนั้นในอุบลราชธานี  ไม่เคยเห็นพระฝรั่งเลย  สมัยนั้น ปี พ.ศ.๒๕๑๐  มีแต่ทหารอเมริกัน  มีสงครามเวียดนาม  ทหารอเมริกันมีเยอะ  ชาวอุบลก็ตกตื่นใจ  ที่เห็นอาตมาเป็นพระ  แล้วบวชอยู่กับหลวงพ่อชาสมัยนั้น  วัดหนองป่าพงกันดารมาก  ไม่มีอะไรฟุ่มเฟือยสักนิดเดียว  ชาวบ้านก็สงสัย  ทำไมเรามีความทุกข์  ทำไมจึงมาบวชเป็นพระ  เพราะเรามีความศรัทธาในคำสอนของพระพุทธเจ้า  อยากจะปฏิบัติให้เกิดในจิตใจของเราได้

              “เวลาหลวงพ่อชาส่งอาตมาไปอยู่ประเทศอังกฤษ  เจ้าประคุณสมเด็จฯ  ก็ช่วยเป็นธุระให้มากมาย  แล้วหลังจากที่หลวงพ่อชาอาพาธถึง ๑๐ ปี  จนมรณภาพ  เจ้าประคุณสมเด็จฯ ช่วยพระในวัดหนองป่าพงมาก  ท่านเป็นห่วงพระเวลาอาพาธ  ท่านจึงรับเป็นเจ้าคณะภาค ๑๐  เพื่อช่วยพระในวัดหนองป่าพงด้วย แล้วในช่วงนั้น  ตั้งแต่หลวงพ่อชาอาพาธ  อาตมาอยู่ประเทศอังกฤษ  ก็พยายามกลับมาทุกปี  จนกระทั่งหลวงพ่อชามรณภาพ  ก็พยายามกลับมาทุกปีเหมือนเดิน  เวลากลับมาก็ได้มากราบสมเด็จพระพุฒาจารย์ก่อน  และพักที่วัดสระเกศฯ

          “แล้วตอนที่เราไปอยู่อังกฤษ ปี พ.ศ. ๒๕๒๐  ปีหนึ่ง  เราก็สงสัยว่า  ถ้าเราอยู่นานๆ  ก็ต้องรับหน้าที่เป็นพระอุปัชฌาย์ด้วย  เพราะในต่างประเทศลำบากมากในการจะบวชเป็นพระ  มีลูกศิษย์หลายคนอยากจะบวช  แต่ก็บวชไม่ได้  พอกลับมาเมืองไทยก็กราบเจ้าประคุณสมเด็จฯ ว่าจะเป็นพระอุปัชฌาย์ในประเทศอังกฤษได้ไหม  ท่านก็รับเรื่อง  อำนวยความสะดวกทุกอย่าง  ให้เรามีสมณศักดิ์  เพื่อทำหน้าที่เป็นพระอุปัชฌาย์  ทำให้ปัจจุบันมีลูกศิษย์หลวงปู่ชาหลายรูปไปอยู่ออสเตรเลีย  นิวซีแลนด์  แคนาดา  และอีกหลายประเทศ

               “คำสอนของหลวงปู่ชาเข้าใจง่าย  เหมาะกับผู้ที่มีความเจริญ  มีสิ่งภายนอกดีแล้ว  สมัยนี้  คำสอนพระพุทธเจ้ามีประโยชน์มากสำหรับผู้ที่ต้องการรักษาจิตในเมืองนอก  ธรรมะอย่างนี้  ไม่มีใครสอน  แต่พระพุทธเจ้าก็สอนอย่างนี้มาเมื่อสองพันหกร้อยกว่าปีมาแล้ว  ยังทำได้  ยังไม่เปลี่ยนแปลงอะไร  ยังบริสุทธิ์อยู่  เราก็คิดถึงพระพุทธเจ้าเป็นองค์ที่สำคัญที่สุดในชีวิตของเรา ในชีวิตพระสุเมโธ

              “เมื่อทราบข่าวเจ้าประคุณสมเด็จฯ  มรณภาพ (เมื่อวันที่ ๑๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๖ อายุ ๘๕ ปี  พรรษาที่ ๖๘)  เราก็สลดใจมาก  แต่เราก็เตรียมตัวแล้ว  เพราะร่างกายเสื่อมไปต้องทิ้ง  เจ้าประคุณสมเด็จฯ ท่านสิ้นด้วยความมีสติสัมปชัญญะ  มีปัญญา  ในการปฏิบัติอบรมจิตจนพร้อมแล้ว  ท่านก็เตรียมตัวมาอย่างดีแล้ว  ตอนนี้อาตมามีรูปภาพของเจ้าประคุณสมเด็จฯ ในกุฏิ  ในวัดป่ารัตนวัน  ที่อาตมาไปจำพรรษาอยู่  ระลึกถึงท่านทุกวัน  ท่านเป็นองค์ที่เรารักมาก  ท่านช่วยตามกำลังของท่านทุกอย่าง  เพราะพระที่อยู่เมืองนอก  ไม่เหมือนอยู่เมืองไทย  ถ้าไม่มีเจ้าประคุณสมเด็จฯ  ช่วยก็คงลำบาก  เช่นเดียวกับคนไทยที่อยู่ที่โน่น  ก็ต้องช่วยเหลือกัน  คนไทยในอังกฤษ  อยู่มานานแล้วก็ยังมีจิตใจเป็นไทยอยู่  เห็นพระก็มาทำบุญ  มาปฏิบัติ ทำให้เราอยู่เมืองนอกอยู่แล้วสบายใจ  รู้ว่าจะปฏิบัติต่อพระ  ตามพระวินัยอย่างไร”

              ซึ่งต่อมาพระราชสุเมธาจารย์ ได้สนทนากับพระพรหมสิทธิ เจ้าอาวาสวัดสระเกศ ในขณะนั้น  และกล่าวต่อมาว่า  เพราะความเมตตาของเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์แท้ๆ ที่ทำให้ท่านเป็นพระอุปัชฌาย์ในต่างประเทศได้

              โดยการนำของพระโพธิญาณเถร (หลวงพ่อชา สุภัทโท ) ผู้ก้าวย่างนำศิษย์ไปพร้อมกับบาตรเปล่าในต่างประเทศ  และมีหลวงพ่อสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร) คอยเกื้อกูล ในที่สุดดอกบัวแห่งปัญญาจากพระพุทธองค์ก็เบ่งบานในใจของคนบนโลกอย่างต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้

               ท่านสุเมโธ  หลังไปอยู่ต่างประเทศนาน  ท่านอยากกลับมาอยู่เมืองไทย  เพราะอายุมากแล้ว  อยากกลับบ้าน  ดินฟ้าอากาศก็ไม่สะดวก  จึงมาขออนุญาตหลวงพ่อสมเด็จฯ กลับบ้าน

                           “บ้านในที่นี้คือ ประเทศไทย  ท่านเรียกเมืองไทย  เป็นบ้านท่าน”

              และเป็นบ้านที่สร้างพระสุปฏิปันโนไปทั่วโลกเพื่อดับร้อนในใจของคนทุกข์ให้เห็นสัจธรรมความจริงแห่งชีวิต

              จากวันนั้นถึงวันนี้กว่า ๔๐ ปีแล้ว  จนอาจารย์สุเมโธได้เป็นพระอุปัชญาย์  เป็นพระราชาคณะ แต่ท่านสุเมโธก็ยังเป็นท่านสุเมโธองค์เดิม  ยังเสมอต้นเสมอปลาย  ยังคงแวะเวียนมาสม่ำเสมอเมื่อมีโอกาส  แม้เมื่อท่านจาริกอยู่ในอินเดียเป็นเวลายาวนาน  ก็ได้เขียนจดหมายบอกเล่าเรื่องราวความเป็นอยู่ของท่านในอินเดียให้เจ้าประคุณสมเด็จฯ ฟัง

              “แม้กาลเวลาล่วงเลยมายาวนาน  แปรเปลี่ยน  เอาทุกสิ่งทุกอย่างไป  แต่สายสัมพันธ์ทางใจที่ก่อตัวขึ้นระหว่างพระมหาเถระชาวกรุงกับอาจารย์ของหมู่คณะชาวหัวเมือง  หาได้แปรเปลี่ยนไปตามกาลเวลาไม่  กลับงอกงามขึ้นเป็นสายสัมพันธ์อันแนบแน่นตลอดกาล”

              เจ้าประคุณสมเด็จฯ อยู่ในกุฏิหลังเดิมมาตั้งแต่ครั้งยังเป็นสามเณรอายุ ๑๓ ปี  สมเด็จพระสังฆราชบรรทมบนพื้นไม้อย่างธรรมดา  ท่านก็นอนบนพื้นไม้ธรรมดาเหมือนพระอาจารย์  ตราบจนเมื่อเป็นสมเด็จพระราชาคณะ  ท่านก็ยังนอนบนพื้นไม้ในกุฏิหลังเดิม  ภายในห้องมีเพียงโต๊ะหมู่บูชาอย่างธรรมดา  ท่านไม่รบกวนใคร ไม่เอ่ยปากขออะไรจากใคร  เวลามีใครมาขอปรับปรุงกุฏิ  ท่านก็มักจะพูดว่า “เราอยู่อย่างไรก็ได้  ขอให้โบสถ์วิหารที่อยู่ของพระพุทธเจ้าสะอาดน่าอยู่ก็พอ” 

วิถีแห่งผู้นำ : สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร) ๘๓. ความสงงบจาากภายในของพระอาจารย์สุเมโธ  ๘๔.  ตั้งพระอุปัชฌาย์ต่างประเทศครั้งแรก เรียบเรียงโดย พระครูอมรโฆสิต (ปรีชา สาเส็ง)

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here