พระมหาสมควร ถิรสีโล พี่ใหญ่ท่านหนึ่งในกลุ่มเพื่อชีวิตดีงาม สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ ที่ได้ชักชวนสหธรรมมิก พี่ๆ น้องๆ ไปปฏิบัติธรรมกับหลวงตาสุริยา มหาปัญโญ วัดป่าโสมพนัส จังหวัดสกลนคร เสมอๆ ไม่ว่าจะเป็นท่านใด ล้วนได้รับการชักชวนจากท่านมาโดยตลอด วันนี้ก็เลยชวนท่านสนทนาประสาธรรม ใน “วิถีพระ วิถีแห่งสติ” เล่าสู่กันฟังถึงประวัติความเป็นมาในการฝึกเจริญสติ จนสติเจริญเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรแก่พี่น้องในสังฆะและผู้ที่มีความทุกข์ทั้งหลายที่ได้ปฏิบัติธรรมกับท่าน ล้วนกล่าวขานถึงความเมตตาอย่างหาที่ประมาณมิได้จากท่านไม่แตกต่างกันเลย อะไรที่ทำให้ท่านเป็นพระเมตตา พระกรุณาอย่างไม่มีประมาณ
บทสนทนาสั้นๆ นี้อาจไม่ได้อธิบายทั้งหมด แต่มีหลักการเจริญสติง่ายๆ ให้เรานำมาฝึกปฏิบัติได้ในชีวิตประจำวัน ในระหว่างที่มีทุกข์ และไม่ทุกข์ก็ซ้อมไว้ เพราะไม่มีใครเลี่ยงได้จริงๆ กับทุกขสัจจ์นี้
วิถีพระ วิถีแห่งสติ (ตอนที่ ๑)
“พระมหาสมควร ถิรสีโล : เป็นมิตรกับหัวใจตัวเอง บูชาคุณชีวิตของเรา ด้วยการกลับมาอยู่กับความรู้สึกตัว”
โดย พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท
ถาม : ท่านรู้จักการเจริญสติตั้งแต่เมื่อไร
ตอบ : ผมรู้จักการเจริญสติแบบเคลื่อนไหวครั้งแรกเมื่ออายุ ๑๔-๑๕ ปี ช่วงที่เรียนบาลีอยู่ที่วัดหนองแวง จังหวัดขอนแก่น หลังจากสอบบาลีเสร็จแล้ว ในแต่ละปีมีเวลา ๑ เดือน ครูบาอาจารย์ คือ หลวงตาสุริยา มหาปัญโญ ก็ชวนไปเจริญสติที่จังหวัดแพร่บ้าง จังหวัดเชียงใหม่บ้าง และจังหวัดสิงห์บุรีบ้าง
ใครไปเจริญสติ ปฏิบัติธรรมแล้วจะสอบไม่ตก ผมไม่อยากสอบตกก็เลยไป นั่นคือเป้าหมายของการไปปฏิบัติธรรมครั้งแรก (หัวเราะ) แต่ก็ทำให้สอบได้ประโยค ๑-๒ และเปรียญธรรม ๓ ประโยค ความจริงทำข้อสอบได้ ถึงสอบผ่าน แต่การเจริญสติปฏิบัติธรรมก็คงเป็นบุญหนุนนำ
การได้ไปสัมผัสการเจริญสติในครั้งนั้น ไม่ใช่เพียงแค่สอบได้ (หัวเราะ) แต่ได้ซึมซับวิถีความดีงามของครูบาอาจารย์ที่นำปฏิบัติ ทำให้ได้เรียนรู้ การประนมมือให้สวย การกราบ การไหว้ การรู้จักอ่อนน้อมถ่อมตน มันซึมซับเข้าไปในจิตในใจโดยไม่รู้ตัว ทำให้ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงภายในกายในใจ เวลาไปที่ไหนก็ทำให้ได้รับความเมตตาจากผู้ใหญ่
ถาม : อะไรที่ทำให้เป็นทุกข์ที่สุดในชีวิต แล้วต้องการแก้ไข
ตอบ : หลังจากนั้นก็ได้ย้ายวัดไปตามความฝันของตัวเองเรียนบาลีในชั้นที่สูงขึ้นไป ห่างหายไปจากครูบาอาจารย์ ๒๕ ปี แล้วกาลเวลาก็ทำให้ได้มาพบกับครูบาอาจารย์อีก การพบกันในครั้งนี้ไม่ใช่เพราะอยากสอบได้ แต่เพราะทุกข์ทับถมใจ
ด้วยความรู้สึกที่โทษตัวเองตลอดว่า ทำให้พ่อเสียชีวิตด้วยใจที่ขุ่นมัว วันที่นำพ่อไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลในจังหวัดอุดรธานี พ่อเหมือนจะรู้ตัวเอง พ่อก็พูดว่า พ่ออยากกลับบ้านๆ ญาติพี่น้องก็ให้ตัดสินใจ แต่ด้วยความคิดว่า กลับไปจะดูแลอย่างไร จะอยู่อย่างไร ที่บ้านไม่สะดวกเหมือนโรงพยาบาล ก็เลยไม่ได้พาพ่อกลับบ้าน จนพ่อจากไป
ภาพแววตาสีหน้าของพ่อที่อยากจะกลับบ้านนั้นก็ติดอยู่ในใจตลอดมา แล้วก็โทษตัวเองตลอดว่า ทำให้พ่อเสียชีวิตด้วยจิตใจที่ขุ่นมัว ไม่ตามใจพ่อ
เห็นญาติพี่น้องทุกคนอ่อนแอร้องไห้ ก็บอกกับตัวเองว่า เราอ่อนแอไม่ได้ แต่ในทางกลับกันเราเป็นคนที่อ่อนแอที่สุด นึกถึงทีไรก็น้ำตาไหล โทษตัวเองตลอดทุกวัน
ความอ่อนแอของหัวใจทำให้ต้องหนีทุกข์ไปอยู่มาเลเซียสองปี แต่ก็แอบร้องไห้ น้ำตาไหล รู้สึกเสียใจที่ทำให้พ่อทรมาน แววตาความรู้สึกมันติดตา อยู่ไม่ได้
ปีต่อมาก็ตัดสินใจไปอยู่เนปาล ด้วยความคิดว่า ความร้อน ความหนาวของเนปาลจะเยียวยาทุกข์ได้ ก็คิดถึงภาพที่นั่งอยู่ข้างเตียงกับพ่อ ก็ทุกข์เหมือนเดิม
ปี ๒๕๕๙ ทำให้คิดถึงครูบาอาจารย์ เคยได้ยินญาติโยมไปปฏิบัติแล้วคลายทุกข์ได้ ปีนั้นก็ตัดสินใจไปจำพรรษาอยู่กับหลวงตาสุริยา ก็ปฏิบัติตามที่ท่านสอนทุกอย่าง ผ่านไปครึ่งพรรษาความรู้สึกไม่หาย เดินไปก็น้ำตาไหลร้องไห้ไป
ถาม : ทุกข์ที่สุดถึงเมื่อไร และออกจากทุกข์นั้นได้อย่างไร
ตอบ : วันหนึ่งกำลังสู้กับความง่วง ขณะที่เดินอยู่ พระอาจารย์รูปหนึ่งซึ่งท่านบวชไม่นาน เดินมาหาแล้วก็กราบลงพูดว่า พระอาจารย์ครับอยากชนะมันไหมครับ พระอาจารย์แพ้มันกี่ปีแล้ว เอาอย่างนี้ “ตายเป็นตาย” วันนี้ถ้าพระอาจารย์ตาย มันก็ไม่ตาย ถ้าพระอาจารย์ไม่ตาย มันต้องตาย พอสู้มันถึงที่สุดแล้ว ความง่วงไม่หาย แต่เราควบคุม ดูแลมันได้ สรุปผมไม่ตาย (หัวเราะ)
พอผ่านง่วงเจอความคิด ความคิดเยอะมาก อดีตเคยอยู่ในซอกไหนมาหมด เหมือนกวนน้ำก้นสระ ขุ่นหมด ก็ดูมัน อย่าเข้าไปเป็นมัน คิดแล้วปล่อยมันๆ ไม่ต้องไปตามมัน มาแล้วเห็นมัน ทำสติให้มีกำลังขึ้นๆ สู้กับมัน
ด้วยความเมตตา ด้วยความเข้าใจของครูบาอาจารย์ที่อยากจะให้เราก้าวข้ามความทุกข์ ท่านก็เมตตาให้ข้อคิด “อย่าไปอยู่กับความคิดเยอะ มาอยู่กับความจริง”
ก็พยายามตัดความคิด ในระหว่างที่ปฏิบัติก็เกิดเสียงในหัว เหมือนครูบาอาจารย์มาคอยบอกว่า อดีตก็ผ่านแล้ว เพราะอะไรถึงไปอยู่แต่ในความทุกข์ อย่าไปกอดหัวใจพ่อไว้ เปิดล็อคประตูออกไปซะ อย่าอยู่ในอดีต อย่าอยู่ในทุกข์อีก กลับไปอยู่กับความปกติของใจซะ
วินาทีนั้นเป็นเหมือนอะไรมันปลงแบบตกป๊อกออก ใจมันโปร่ง มันโล่ง มันสบาย ระลึกถึงแต่ไม่ติดในใจ แล้วก็ไม่เคยฝันเห็นพ่ออีกเลย
เช้าวันนั้น หลวงตาก็มาเทศน์ย้ำให้หัวใจหนักแน่นขึ้นมาอีก อดีตก็ผ่านมาแล้ว อนาคตก็ยังมาไม่ถึง มาอยู่กับอดีต เล่นกับอดีตจะได้ประโยชน์อะไร
ดีก็อย่าเอา ชั่วก็อย่าเอา ทิ้งชั่ว ทิ้งดี อย่าเอามัน มาอยู่กับปัจจุบัน
วันหนึ่ง พอกำลังแห่งสติมาก มาอยู่กับปัจจุบันได้แล้ว ก็ถามหลวงตาว่า ทำอย่างไรต่อครับ หลวงตาก็บอกว่า อยู่กับปัจจุบันต่อไป
“การอยู่กับปัจจุบัน ทำให้เรารักษาใจตัวเอง ไม่ให้ต่ำกว่าเดิม กำลังแห่งสติเพิ่มขึ้น ทำให้เราอยู่ง่ายขึ้น ไม่มีข้อแม้สำหรับชีวิตมากขึ้น เราไม่ได้อินในความขัดแย้ง เป็นผู้มอง ทำให้เราไม่มีตัดสิน ไม่เพ่งโทษ ฟังได้ทั้งสองฝ่าย ชีวิตมันสบาย มีแต่ปัจจุบัน
ถาม : การเจริญสติมีความสำคัญอย่างไร
ตอบ : การเจริญสติ ความสำคัญ คือต่อเนื่อง การปฏิบัติในรูปแบบในสำนักปฏิบัติที่มีครูบาอาจารย์เป็นกัลยาณมิตรเราทำได้ แต่เราอยู่ในวิถีชีวิตปกติ
ต้องมีสัจจะต่อใจ ก่อนนอน เดินนั่งสร้างจังหวะ ตามที่เวลาจะอำนวย เวลาเดินทางด้วยรถ ก็ให้นั่งขยับนิ้ว ให้รู้สึกตัวๆ เวลาคิด เวลาเผลอใจ ก็ให้กลับมาอยู่กับการเคลื่อนของนิ้ว ทำให้เป็นปกติ กำลังแห่งสติ ก็จะเพิ่มขึ้นๆ คุณค่าของชีวิตก็จะเพิ่มขึ้น
“คุณค่าของชีวิต คือ การรักษาใจตัวเองให้อยู่กับปัจจุบันให้ได้ อยู่เหนือความถูกใจไม่ถูกใจ เป็นมิตรกับหัวใจตัวเอง อย่าต่อต้าน อะไรเกิดขึ้นเป็นสิ่งที่เรียนรู้ เวลาที่มีคือเวลาปัจจุบัน อยู่เหนือความทุกข์ใจความสุขใจ พลิกใจก็อยู่ได้ ขอให้ความทุกข์ลดลงก็พอ อย่าทุกข์เพราะคนอื่น หรือ คำพูดของคนอื่น”
วิถีพระ วิถีแห่งสติ (ตอนที่ ๑) “พระมหาสมควร ถิรสีโล : เป็นมิตรกับหัวใจตัวเอง บูชาคุณชีวิตของเรา ด้วยการกลับมาอยู่กับความรู้สึกตัว” โดย พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท