เราจะพูดอย่างไร ให้เป็นการสื่อสารที่แท้จริง

เรียนรู้การฟังอย่างตั้งใจ แล้วเราจะพบคำตอบของการพูด

มาฝึกสติ กับ การพูดอย่างรู้เท่าทันความคิด ว่าอะไรควรพูด อะไรไม่ควรพูด

ในวงน้ำชาหลังการภาวนาในวัด ธรรมปาละ ประเทศสวิสเซอร์แลนด์

วาจาแห่งสติ

โดย พระพิทยา ฐานิสสโร

พระราชสุเมธาจารย์ (หลวงพ่อสุเมโธ ) กับคณะสงฆ์ วัดธรรมปาละ ประเทศสวิสเซอร์แลน
: วาจาแห่งสติ โดย พระพิทยา ฐานิสสโร

ขณะนั่งฉันน้ำชากับญาติโยม หลังจากเสร็จการทำบุญที่วัดธรรมปาละ ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ได้มีการสนทนากันเรื่องทั่วไป แต่ส่วนใหญ่เกี่ยวกับเรื่องของบุคคลอื่นมากกว่าเรื่องภายในจิตใจของตนเอง

ทุกคนต่างแสดงความเห็นอย่างเมามันในแบบของตนอย่างได้อรรถรส เวลาผ่านไปอย่างรวดเร็วในเวลาสองชั่วโมง หลังจากนั้นเดินไปที่อำเภอเพื่อแจ้งเจ้าหน้าที่ให้ทราบว่าจะออกจากสวิสเซอร์แลนด์ในวันพุธที่  ๒๒ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๖๒ นี้ แล้วเดินกลับวัดเพื่อมาฉันน้ำปานะและสนทนาธรรมกับหลวงพ่อสุเมโธ ร่วมกับพระที่วัด เป็นเวลาเกือบสองชั่วโมงที่ผ่านไปอย่างรวดเร็วเช่นกัน แต่ตลอดเวลาของการสนทนาทุกคนต่างแบ่งปันประสบการณ์เกี่ยวกับตัวเอง และได้เรียนรู้อะไรบ้างจากประสบการณ์นั้นๆ

ซึ่งแต่ละท่านก็ทราบเองว่า การปฏิบัติของตนเป็นอย่างไร สามารถปล่อยวางได้ดีแค่ไหนในแต่ละช่วงเวลาของการปฏิบัติตั้งแต่เป็นฆราวาสจนกระทั่งบวชเป็นพระ โดยเฉพาะประสบการณ์ของพระราชสุเมธาจารย์ (หลวงพ่อสุเมโธ) ชาวอเมริกัน ท่านแบ่งปันว่า ท่านเคยพกความยึดมั่น ถือมั่น หยิ่งทะนงในแบบคนอเมริกัน และในขณะที่ปฏิบัติธรรมหลวงพ่อค่อยๆ เรียนรู้สิ่งนี้ในตัวเองจนกระทั่งรู้ทัน  ซึ่งทุกรูปล้วนผ่านความยากลำบากในรูปแบบที่ต่างกัน แต่ทุกเรื่องราว ทุกความยากลำบากเป็นประสบการณ์ที่ล้ำค่าที่ค่อยๆ ช่วยปลดปล่อยจิตวิญญาณให้เป็นอิสระทีละน้อยๆ 

วาจาแห่งสติ ช่วยให้เราเป็นมิตรกับทุกคน โดย พระพิทยา ฐานิสสโร

ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นผลมาจากความอดทน พากเพียร ยอมกระทำตามครูบาอาจารย์อย่างไร้เงื่อนไข ประพฤติตามพระธรรมวินัยอย่างสุดจิตสุดใจ

ในช่วงเวลาใกล้เคียงกันในกิจกรรมที่คล้ายๆ กัน การรวมกลุ่มเหมือนกันแต่หัวข้อของการสนทนาที่ต่างกัน ทำให้สิ่งที่หล่อเลี้ยง เรียนรู้ของจิตใจต่างกันโดยสิ้นเชิง ในสองชั่วโมงแรกที่สนทนากับญาติโยมต้องทำหน้าที่เป็นผู้ฟังอย่างมีสติ ตระหนักรู้ และพยายามที่จะดึงจิตของผู้ร่วมสนทนากลับมาอยู่กับปัจจุบัน กับสิ่งที่เป็นอยู่ แต่ช่างเป็นสิ่งที่ยากมาก

เพราะเกือบทุกคนที่นั่งสนทนาอยู่ตรงนั้น กำลังสนใจให้ความสำคัญเรื่องราวภายนอกที่ไม่มีจริง ในปัจจุบันขณะ เห็นชัดเจนว่าทุกคนมิได้มีเจตนามุ่งร้ายใดๆ การพูดสนทนาเพียงเพื่อความสนุกสนานเพลิดเพลิน

การพูดแต่เรื่องดีๆ ของผู้อื่น พูดแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์เป็นไปเพื่อยกระดับของจิตใจให้สูงขึ้น เพื่อการละวาง ปล่อยวางในความยึดมั่น ถือมั่นในความคิด ความเห็นของตน พูดเพื่อความเข้าใจความเป็นจริงของธรรมชาติ ทุกการพูดเช่นนั้นถือว่า เป็นการทำบุญ

เพราะผู้พูดได้สร้างพลังแห่งการปลดปล่อย ทำให้จิตใจเบาสบาย สงบเย็น จะเป็นประโยชน์ทั้งแก่ผู้พูดและผู้ฟัง ได้ชื่อว่า เป็นการทำบุญทั้งสองฝ่าย ซึ่งการทำบุญในลักษณะนี้ ไม่ต้องใช้วัตถุ เงินทองเลยแม้แต่น้อย และสามารถกระทำได้ในทุกๆ ที่ ไม่เฉพาะเจาะจงเฉพาะภายในวัด

การไม่พูดร้าย ไม่พูดเพ้อเจ้อ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดเบียดเบียน พูดในสิ่งที่เป็นประโยชน์ทำให้เกิดความอาจหาญที่จะอดทนเพียรปฏิบัติเพื่อดับทุกข์จากความยึดมั่น ถือมั่นในตน จึงเป็นหนึ่งในบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ประการ

วาจาแห่งสติ ช่วยให้เราเป็นมิตรกับทุกคน โดย พระพิทยา ฐานิสสโร

การรับรู้ การบริโภค อุปโภคสิ่งต่างๆ ในชีวิตประจำวันจึงเป็นสิ่งจำเป็นยิ่งนัก ถ้าเราไม่ฝึกฝนที่จะสร้างพลังแห่งสติ พลังแห่งการตระหนักรู้ในทุกการกระทำ ทุกความคิด ทุกคำพูด จะเป็นการง่ายมากที่จะตกเป็นเหยื่อ ไหลไปตามพลังรวมที่ถูกสร้างขึ้นจากทุกสรรพชีวิตในสังคม สิ่งแวดล้อมที่อาศัยอยู่ ถ้าสรรพชีวิตส่วนใหญ่เห็นว่าการได้มี การได้เป็น การได้ครอบครองยิ่งมากคือ ยิ่งสำเร็จ ได้รับการยอมรับ

วาจาแห่งสติ ช่วยให้เราเป็นมิตรกับทุกคน โดย พระพิทยา ฐานิสสโร

ถ้าส่วนใหญ่มีความความเห็น ความคิดเช่นนี้ เราจะต้องมีชีวิต ใช้ชีวิตที่เหนื่อยมาก เพราะต้องแข่งขันกันมากในทุกๆ ด้าน ทุกๆ มิติแห่งการดำเนินชีวิตตั้งแต่เริ่มปรากฎมาบนโลกใบนี้ ทำให้เป็นการยากมากที่จะมีเวลาอยู่กับตัวเอง จิตใจจะโหยหาที่จะอยู่นิ่งๆ กับตัวเอง แต่เมื่อมีโอกาสจริงๆ ก็ไม่สามารถอยู่นิ่งๆ ได้ ต้องหาสิ่งใดสิ่งหนึ่งทำอยู่ร่ำไป

มื่อเราไม่มีสติกับสิ่งที่กระทำอยู่อย่างแท้จริง ยากมากที่จิตใจจะมีความเบิกบานได้

เราเพียงกระทำเพื่อให้สำเร็จ เพื่อให้สังคมยอมรับ จิตใจไม่เคยมีโอกาสได้อยู่กับปัจจุบันขณะ จำเป็นต้องมีการวางแผนอยู่กับอนาคตเกือบตลอดเวลา และนำเรื่องราวในอดีตมาทำลายความเป็นจริง ณ ปัจจุบันอยู่เสมอ ทั้งที่ ความคิด คำพูด การกระทำเหล่านั้นได้จบลงไปแล้ว

ความไม่พอใจ ความเครียด ความกลุ้ม ความอาฆาต เกลียดชัง แบ่งแยก ไร้น้ำใจ อิจฉาริษยา ความอยากอย่างไม่มีที่สิ้นสุด จึงมีมากในจิตใจของผู้คนที่มีแข่งขันกับตัวเอง แข่งขันกับทุกสิ่งรอบตัวเพื่อให้เป็นที่ยอมรับ เพื่อหนีปัญหาที่เกิดขึ้นกับจิตใจจากอารมณ์ที่ไม่น่ารักทั้งปวงนี้ ทำให้คนส่วนใหญ่วิ่งไล่ล่าความสนุกสนาน เพลิดเพลินที่พยายามสร้างขึ้นมาเพื่อกล่อมจิตใจ ให้ยึดติด หลงใหลในความสุข คุณค่าเทียมจากสิ่งของ เสื้อผ้า เข้าของเครื่องใช้ บ้าน อาหาร ฯลฯ ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เพิ่มความเหนื่อยในชีวิตอีกหลายรูปแบบอย่างไม่รู้ตัว

ส่งผลให้การได้เสพสิ่งดีงาม เกื้อกูลจิตใจให้ปล่อยวางเป็นเรื่องไม่น่าอภิรมย์ แต่ได้การเสพสิ่งก่อให้เกิดความหลง เพลิดเพลิน เอร็ดอร่อยในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสเป็นเรื่องน่ายินดี เชิดชู แข่งกันเสพ แข่งกันโชว์ อะไรที่ไม่ได้ดั่งใจเป็นสิ่งที่ผิด ไม่ถูกต้อง อันไหนที่ไม่ใช่พวกถือว่า ผิด อัตตาตัวตนมากเท่าไหร่ จะไม่สามารถยอมกันมากเท่านั้น เอาความคิด ความเห็นของตนเป็นใหญ่ ยากที่ฟังความเห็นใคร โดยเฉพาะบุคคลที่บอกให้ปล่อยวาง

จิตใจที่ไม่ได้เห็น ไม่เข้าใจในความจริงแห่งชีวิต ในความเปลี่ยนแปลงของทุกสรรพสิ่ง แม้ร่างกายและจิตใจที่ได้มา เมื่อนำจิตไปยึด ณ สิ่งสมมติ สิ่งของหรือบุคคลใดก็จะเกิดภาระทางจิตใจ เป็นทุกข์อยู่ตลอดเวลา ไม่เข้าใจว่าทุกอย่าง ทุกสรรพสิ่ง สรรพชีวิตล้วนเป็นสิ่งสมมติ จิตใจที่เป็นเช่นนั้น จะยิ่งเพิ่มความยึดมั่น ถือมั่นมากขึ้นเรื่อยๆ จนยากที่ปล่อยวาง เป็นเหตุให้ไม่พอใจ ไม่ยินดี กับความสุข ความสำเร็จของสิ่งหรือบุคคลที่มีความเห็น มีการปฏิบัติที่ตรงกันข้ามแตกต่างกัน ไม่ยอมรับความบกพร่อง ไม่สมบูรณ์ของผู้อื่นและตัวเอง

การที่รู้สึกว่าตัวเองด้อยกว่าเป็นเรื่องไม่น่ายินดี ไม่สามารถยอมรับได้ บุคคลที่มีความสุขอิ่มเต็มในตัวเอง จะไม่พูดกล่าวเรื่องที่ไม่ดีของใครๆ เพราะไม่ได้เกิดประโยชน์ใดๆ กับเราและคนที่รับฟัง แต่อาจเป็นโทษสร้างความเศร้าหมองให้กับจิตใจเสียยิ่งกว่า และจะเลือกที่จะไม่รับรู้เรื่องไม่ดีของใคร ถึงแม้ว่ามีเหตุให้ต้องรับรู้ ก็จะปล่อยทันที ไม่เก็บมาใส่ใจ และไปบอกต่อให้เป็นบาปจากคำพูด

พลังแห่งสติและความตระหนักรู้จึงเปรียบเสมือนเกราะ ป้องกันจิตใจไม่เศร้าหมองกับ ความคิด คำพูดและการกระทำ การที่ได้ฝึกตนอยู่บนหนทางแห่งอิสรภาพจากความยึดมั่น ถือมั่นทั้งปวงนับเป็นสิ่งประเสริฐสุด

คำพูดที่ประกอบด้วยเมตตา มีค่ากว่า เครื่องประดับใดๆ

คำพูดเบียดเบียน สร้างความทุกข์ให้ ผู้พูด

คำพูดให้ปล่อยวาง มอบอิสรภาพให้กับโลก

พระราชสุเมธาจารย์ (หลวงพ่อสุเมโธ) และ พระอาจารย์พิทยา ฐานิสสโร (ขวา)
พระราชสุเมธาจารย์ (หลวงพ่อสุเมโธ)
และ พระอาจารย์พิทยา ฐานิสสโร (ขวา)
คอลัมน์ บาตรเดียวท่องโลก โดย พระพิทยา ฐานิสสโร
หน้าธรรมวิจัย นสพ.คมชัดลึก วันอังคารที่ ๒๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๖๒
หน้าธรรมวิจัย นสพ. คมชัดลึก วันอังคารที่ ๒๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๖๒
บาตรเดียวท่องโลก โดย พระพิทยา ฐานิสสโร :
บาตรเดียวท่องโลก โดย พระพิทยา ฐานิสสโร :

“การไม่พูดร้าย ไม่พูดเพ้อเจ้อ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดเบียดเบียน
พูดในสิ่งที่เป็นประโยชน์ทำให้เกิดความอาจหาญที่จะอดทนเพียรปฏิบัติเพื่อดับทุกข์
จากความยึดมั่น ถือมั่นในตน
จึงเป็นหนึ่งในบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ประการ ที่ควรฝึกให้เกิดมีในชีวิตประจำวัน ”

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here