ธรรมนิพนธ์เรื่อง "ความเป็นมาของพระอภิธรรม" เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) จัดพิมพ์โดย สถาบันพัฒนาพระวิทยากร วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร พิมพ์ครั้งที่ ๑ กุมภาพันธุ์ ๒๕๖๑ ฉบับธรรมทาน
ธรรมนิพนธ์เรื่อง “ความเป็นมาของพระอภิธรรม” เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) จัดพิมพ์โดย สถาบันพัฒนาพระวิทยากร วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร พิมพ์ครั้งที่ ๑ กุมภาพันธุ์ ๒๕๖๑ ฉบับธรรมทาน

ในคัมภีร์ที่ ๔ ปุคคลบัญญัติ : อธิบายเรื่องบุคคลและบัญญัติ ดังที่อธิบายไปแล้วบางส่วนในคราวที่แล้วว่า มาจากการที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว ทรงทราบถึงสภาวธรรมที่ดำรงอยู่ตามธรรมชาติในทุกมิติด้วยกำลังแห่งญาณที่เรียกว่า “สัมมาสัมโพธิญาณ” จึงทรงบัญญัติชื่อเรียกสภาวธรรมนั้นๆ แล้วนำออกแสดง ประกาศเปิดเผยด้วยภาษาของชาวโลก เช่น สภาวธรรมของผู้มีสภาวะจิตประกอบด้วยคุณสมบัติแห่งพระอรหันต์ ทรงบัญญัติว่า “พระอรหันต์” เป็นต้น

ขอขอบคุณ ภาพวาดจิตรกรรมฝาผนังจากศาลาหลวงพ่อดวงดี วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร
ขอขอบคุณ ภาพวาดจิตรกรรมฝาผนังจากศาลาหลวงพ่อดวงดี วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร

วันนี้วันพระ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑

ศึกษา “ความเป็นมาของพระอภิธรรม”

บทที่ ๑๓ (ตอนที่ ๑๔)

คัมภีร์ที่ ๔ ปุคคลบัญญัติ : ว่าด้วยสภาวะผู้ที่ยังไม่หลุดพ้นกับผู้ที่หลุดพ้นแล้ว

เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

ความรู้เรื่องพระอภิธรรม (ตอนที่ ๑๔) เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) จากคอลัมน์ "ธรรมวิจัย" นิตยสาร เนชั่นสุดสัปดาห์ หน้า ๒๒ ปีที่ ๒๕ ฉบับที่ ๑๒๘๘ วันที่ ๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๖๐
ความรู้เรื่องพระอภิธรรม (ตอนที่ ๑๔) เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) จากคอลัมน์ “ธรรมวิจัย” นิตยสาร เนชั่นสุดสัปดาห์ หน้า ๒๒ ปีที่ ๒๕ ฉบับที่ ๑๒๘๘ วันที่ ๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๖๐

ในครั้งนี้ขออธิบายต่อ เกี่ยวกับ เนื้อหาปุคคลปัญญัติแห่งพระอภิธรรมปิฎก ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงแสดงหัวข้อไว้ ๖ ประเภท (ฉ ปญฺญตฺติโย) คือ

๑. ขันธบัญญัติ การบัญญัติเรียกสภาวธรรมที่เป็นหมวดหมู่กันว่า “ขันธ์”

๒. อายตนบัญญัติ การบัญญัติเรียกสภาวธรรมทั้งหลายที่เป็นบ่อเกิดแห่งอายตนะทั้งหลาย(การเชื่อมต่อ) ว่า “อายตนะ”

๓. ธาตุบัญญัติ การบัญญัติเรียกสภาวธรรมทั้งหลายที่เป็นสภาพทรงไว้ซึ่งขันธ์ ว่า “ธาตุ”

๔. สัจจบัญญัติ การบัญญัติเรียกสภาวธรรมทั้งหลายที่เป็นจริง ว่า “สัจจะ”

๕. อินทรียบัญญัติ การบัญญัติเรียกสภาวธรรมทั้งหลายที่เป็นใหญ่ในหน้าที่ของตน ว่า “อินทรีย์

๖. ปุคคลบัญญัติ การบัญญัติเรียกบุคคลทั้งหลายตามสภาวธรรมที่บรรลุ ว่า “บุคคล”

สภาวะเหล่านี้มีอยู่ตามธรรมชาติ พระพุทธเจ้าทรงรู้สภาวธรรมชาตินี้ตามความจริงเพราะปัญญาแห่งการตรัสรู้ เมื่อจะทรงแสดงสัจธรรม ประกาศสัจธรรม เผยแผ่สัจธรรม จึงบัญญัติธรรม วางไว้เป็นหลัก

หากไม่ทรงบัญญัติชื่อเรียก ก็จะไม่รู้ว่าสภาวะที่ทรงบรรลุนั้นเป็นอะไร เช่นเดียวกับการประสบกับความพลัดพราก มีผลเป็นทุกข์ ถ้าไม่มีการบัญญัติคำพูดว่า “ทุกข์” ก็จะสื่อกันไม่ได้ว่าอาการของความทุกข์ที่บีบคั้นจิตใจนั้นเป็นอย่างไร

เมื่อไม่บัญญัติคำพูดว่า “สมุทัย” ก็จะไม่รู้ว่า สาเหตุแห่งทุกข์มาจากอะไร  เมื่อไม่บัญญัติคำพูดว่า “นิโรธ” ก็จะไม่รู้ว่า ความดับแห่งทุกข์เป็นอย่างไร และ เมื่อไม่บัญญัติคำพูดว่า “มรรค” ก็จะไม่รู้ว่า วิธีการดับทุกข์เป็นอย่างไร เป็นต้น

ขอขอบคุณ ภาพวาดจิตรกรรมฝาผนังจากศาลาหลวงพ่อดวงดี วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร
ขอขอบคุณ ภาพวาดจิตรกรรมฝาผนังจากศาลาหลวงพ่อดวงดี วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร

ในคัมภีร์นี้ แม้จะมีบัญญัติ ๖ ข้อ แต่เนื้อความเรื่องขันธ์ อายตนะ ธาตุ สัจจะ และอินทรีย์ ทั้ง ๕ ข้อเบื้องต้นมีรายละเอียดไม่มากนัก เนื่องจากทรงแสดงไว้แล้วในคัมภีร์อื่น เป็นการนำหัวข้อเหล่านี้มาทบทวนให้เห็นภาพรวมอีกครั้งเท่านั้น ทรงขยายความอย่างละเอียดเฉพาะปุคคลบัญญัติ(บัญญัติเกี่ยวกับบุคคล) โดยแบ่งเนื้อหาออกเป็น ๒ ภาค คือ  เนื้อหาส่วนที่เป็นหัวข้อ  เรียกว่า “อุทเทส” และ เนื้อหาส่วนอธิบายความ เรียกว่า “นิทเทส”

(๑) เนื้อหาส่วนที่เป็นหัวข้อ (อุทเทส) แบ่งบุคคลออกเป็น ๑๐ หมวด ตั้งแต่บุคคล ๑ จำพวกถึง บุคคล ๑๐ จำพวก ดังนี้

๑. บุคคล ๑ จำพวก (เอกกอุทเทส) จำนวน ๔๔ บุคคล

๒. บุคคล ๒ จำพวก (ทุกอุทเทส) มี  ๒๖ คู่ จำนวน ๕๒ บุคคล

๓. บุคคล ๓ จำพวก (ติกอุทเทส) มี ๑๘ กลุ่ม จำนวน  ๕๔บุคคล

๔. บุคคล ๔ จำพวก (จตุกกอุทเทส) มี ๓๒ กลุ่ม จำนวน ๑๒๘ บุคคล

๕. บุคคล ๕ จำพวก (ปัญจกอุทเทส) มี ๖ กลุ่ม จำนวน ๓๐ บุคคล

๖. บุคคล ๖ จำพวก (ฉักกอุทเทส)  มี  ๑ กลุ่ม จำนวน ๖ บุคคล

๗.  บุคคล ๗ จำพวก (สัตตกอุทเทส) มี ๒ กลุ่ม จำนวน ๑๔ บุคคล

๘. บุคคล ๘ จำพวก (อัฏฐกอุทเทส) มี ๑ กลุ่ม จำนวน ๘ บุคคล

๙. บุคคล ๙ จำพวก (นวกอุทเทส) มี ๑ กลุ่ม จำนวน ๙ บุคคล

๑๐. บุคคล ๑๐ จำพวก (ทสกอุทเทส) มี ๑ กลุ่ม จำนวน ๑๐ บุคคล

ธรรมนิพนธ์เรื่อง "ความเป็นมาของพระอภิธรรม" เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) จัดพิมพ์โดย สถาบันพัฒนาพระวิทยากร วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร พิมพ์ครั้งที่ ๑ กุมภาพันธุ์ ๒๕๖๑ ฉบับธรรมทาน
ธรรมนิพนธ์เรื่อง “ความเป็นมาของพระอภิธรรม” เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) จัดพิมพ์โดย สถาบันพัฒนาพระวิทยากร วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร พิมพ์ครั้งที่ ๑ กุมภาพันธุ์ ๒๕๖๑ ฉบับธรรมทาน

บุคคล ๑ จำพวกที่ทรงแสดงไว้ ได้แก่ บุคคลผู้เป็นปุถุชน คือ บุคคลผู้ละสังโยชน์ (คือ กิเลสเครื่องร้อยรัดสัตว์ให้ติดอยู่ในวัฏฏะ) ยังไม่ได้ และทั้งไม่ได้ปฏิบัติเพื่อละสังโยชน์เหล่านั้น

บุคคลผู้หลุดพ้นในสมัย คือ บุคคลผู้หลุดพ้นจากอาสวะบางส่วนได้ในสมัยที่เข้าสมาบัติ ๘ (การบรรลุขึ้นสูง ได้แก่รูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔) ได้แก่ พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี (คือ เมื่อเข้าสมาบัติก็จะหลุดพ้นชั่วขณะ)

บุคคลผู้หลุดพ้นไม่มีสมัย คือ พระอรหันต์จะเข้าสมาบัติหรือไม่ ก็เป็นผู้หลุดพ้น จึงชื่อว่า หลุดพ้นไม่มีสมัย

โคตรภูบุคคล คือ สภาวจิตของบุคคลผู้กำลังก้าวข้ามจากปุถุชนไปสู่อริยชน โดยสภาวธรรม หมายถึง บุคคลผู้เจริญวิปัสสนาจนจิตก้าวเข้าสู่โลกุตตรวิถีกำลังจะสำเร็จเป็นพระโสดาบัน หากพิจารณาโดยสภาวจะจิต หมายถึง ลำดับสภาวะจิตขณะสืบต่อเป็นเหตุให้เกิดโสดาปัตติมัคคจิต

อภัพพาคมนบุคคล คือ บุคคลผู้ไม่มีสิทธิบรรลุมรรคผล เพราะทำอนันตริยกรรม  คือทำกรรมหนัก ๕ อย่าง (อย่างใดอย่างหนึ่ง) ได้แก่  ฆ่ามารดา ฆ่าบิดา ฆ่าพระอรหันต์ ทำร้ายพระพุทธเจ้าจนถึงห้อพระโลหิต และทำการยุยงสงฆ์ให้แตกจากกันจนมิอาจร่วมสังฆกรรมกันได้(สังฆเภท) บุคคลผู้ประกอบด้วยนิยตมิจฉาทิฏฐิ (มีความเห็นผิดดิ่งไปด้านเดียว) บุคคลผู้ถือกำเนิดมามีปัญญาน้อยไม่สามารถเจริญฌานให้เกิดในชาตินั้นได้ บุคคลผู้ไม่เลื่อมใสในพระรัตนตรัย บุคคลผู้ไม่มีกุศลฉันทะ และบุคคลผู้ปัญญาทึบมาแต่กำเนิด

ภัพพาคมนบุคคล คือ บุคคลผู้มีสิทธิในการบรรลุมรรคผล มีลักษณะตรงกันข้าม จากอภัพพาคมบุคคล คือ ไม่ได้ทำอนันตริยกรรม บุคคลผู้เป็นสัมมาทิฏฐิ บุคคลผู้สามารถเจริญฌานให้เกิดในชาตินั้นได้ บุคคลผู้มีความเลื่อมใสในพระรัตนตรัย เป็นต้น

นิยตบุคคล (บุคคลผู้มีคติแน่นอน) บุคคลผู้มีคติแน่นอนฝ่ายอกุศล คือ ผู้จะต้องตกอบาย มีนรก เป็นต้น อย่างแน่นอน ได้แก่ บุคคลผู้ทำอนันตริยกรรม ๕ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง และบุคคลผู้เป็นนิยตมิจฉาทิฏฐิ (มีความเห็นผิดดิ่งไปด้านเดียว) นอกจากนี้ ยังมีนิยตบุคคลฝ่ายกุศล หมายถึง พระอริยบุคคล ๘ จำพวก ผู้ที่ได้บรรลุ มรรค ผล และนิพพาน เป็นบุคคลที่มีคติแน่นอน สำหรับอนิยตบุคคล (บุคคลผู้มีคติไม่แน่นอน)เหมือนกับการโยนท่อนไม้ขึ้นไปในอากาศ ไม่แน่นอนว่า จะเอาปลายหรือโคนตกลงมาก่อน

ขอขอบคุณ ภาพวาดจิตรกรรมฝาผนังจากศาลาหลวงพ่อดวงดี วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร
ขอขอบคุณ ภาพวาดจิตรกรรมฝาผนังจากศาลาหลวงพ่อดวงดี วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร

พระอริยบุคคลผู้จะกลับมาเกิดอีก ๗ ชาติเป็นอย่างมาก (สัตตักขัตตุปรมะ) เป็นต้น

(๒) เนื้อหาส่วนขยายความ(นิทเทส )เป็นการนำหัวข้อจากอุทเทสมาอธิบายขยายความโดยละเอียดอีกครั้ง แบ่งเป็น ๑๐ นิทเทสตามหัวข้อ(อุทเทส)ทั้ง ๑๐ การอธิบายใช้วิธีถามตอบเป็นบุคคลๆ (ปุจฉาและวิสัชนา) ไปตามลำดับ เว้นเฉพาะหัวข้อที่ ๖ ที่ไม่ทรงใช้วิธีถามตอบ การเรียกชื่อแต่ละนิทเทส ใช้จำนวนบุคคลแต่ละจำพวกเป็นชื่อเรียก เช่น นิทเทสที่ ๑ ว่าด้วยบุคคล ๑ จำพวก เรียกว่า “เอกกปุคคลบัญญัติ” นิทเทสที่ ๒ ว่าด้วยบุคคล ๒ จำพวก เรียกว่า “ทุกปุคคลบัญญัติ” เช่นนี้เรื่อยไปจนถึงนิทเทสที่ ๑๐ ว่าด้วยบุคคล ๑๐ จำพวก เรียกว่า “ทสกปุคคลบัญญัติ”

ในการอธิบายขยายความ เมื่อทรงอธิบายบุคคล ๑ จำพวกจบแล้ว ก็ทรงอธิบายบุคคลจำพวกต่างๆ ที่เหลือไปตามลำดับจนครบบุคคล ๑๐ จำพวก โดยบุคคล ๑ จำพวก (เอกกนิทเทส) ทรงแสดงทีละบุคคลๆ ไว้ถึง ๕๐ บุคคล เช่น บุคคลผู้พ้นแล้วในสมัย, บุคคลผู้มีธรรมอันเสื่อม, พระปัจเจกพุทธเจ้า, บุคคลผู้มีอภิญญา ๖ เป็นต้น

จากนั้นทรงแสดงบุคคล ๒ จำพวก (ทุกนิทเทส) โดยทรงแสดงบุคคลทีละคู่ แสดงไว้ถึง ๒๖ คู่บุคคล เช่น ทรงแสดงบุคคลผู้มักโกรธ คู่กับบุคคลผู้ผูกโกรธ กับทรงแสดงบุคคลผู้ลบหลู่บุญคุณของผู้อื่น คู่กับบุคคลผู้ตีเสมอผู้อื่น เป็นต้น แล้วทรงแสดง บุคคลทีละ ๓ จำพวก ๔ จำพวก ๕ จำพวก เรื่อยไปตามลำดับจนถึงบุคคล ๑๐ จำพวก (ทสกนิทเทส) ทรงแสดงพระอริยบุคคล เกี่ยวกับการบรรลุคุณธรรมสูงสุดในกามภูมิและในสุทธาวาสภูมิ เป็นต้น

ขอขอบคุณ ภาพวาดจิตรกรรมฝาผนังจากศาลาหลวงพ่อดวงดี วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร
ขอขอบคุณ ภาพวาดจิตรกรรมฝาผนังจากศาลาหลวงพ่อดวงดี วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร

ตัวอย่างการถามตอบในปุคคลบัญญัติ เช่น

ถามว่า บุคคลผู้พ้นมีสมัยเป็นไฉน?

ตอบว่า บุคคลบางคนในโลกนี้สัมผัสวิโมกข์ ๘ ด้วยกาย (นามกาย) ทุกกาล ทุกสมัย และอาสวะทั้งหลายของเขาสิ้นไปเพราะเห็นด้วยปัญญา บุคคลนี้เรียกว่า “ผู้เป็นสมยวิมุตตะ” (บุคคลผู้พ้นมีสมัย)

ถามว่า บุคคลผู้พ้นไม่มีสมัยเป็นไฉน?

ตอบว่า บุคคลบางคนในโลกนี้ไม่ได้สัมผัสวิโมกข์ ๘ ด้วยกาย (นามกาย) ทุกกาล ทุกสมัย และอาสวะทั้งหลายของเขาสิ้นไปเพราะเห็นด้วยปัญญา บุคคลนี้เรียกว่า “ผู้เป็นอสมยวิมุตตะ” (บุคคลผู้พ้นไม่มีสมัย)

ตามเนื้อหาดังที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่า ปุคคลบัญญัติ เป็นการบัญญัติชื่อเรียกบุคคลตามสภาวธรรมที่มี เช่น พระอริยบุคคล แสดงว่า มีบุคคลและมีธรรมอยู่ในบุคคลนั้น ธรรมที่ทำให้บุคคลนั้นบรรลุเป็นพระอริยะเป็นสภาวะที่มีอยู่จริง แต่ตัวบุคคลผู้บรรลุธรรมนั้นไม่มีอยู่จริง (เพราะตัวบุคคลเป็นสิ่งประกอบขึ้นจากรูปนาม และจะสลายไปตามเหตุปัจจัย) การที่จะรู้ได้ว่าบุคคลผู้นั้นเป็นผู้มีธรรม ก็จะต้องบัญญัติชื่อเรียกขึ้นมา แม้ที่เรียกว่า พระพุทธเจ้า ก็เป็นการบัญญัติชื่อเรียกตามปัญญาญาณเป็นเครื่องตรัสรู้

คัมภีร์ปุคคลบัญญัติเป็นคัมภีร์ที่ไม่ยาวนัก โดยภาณวาร มี ๕ ภาณวาร ขณะที่คัมภีร์อื่นๆ มีเนื้อหายาวกว่านี้

อย่างไรก็ตาม พระอภิธรรมทุกคัมภีร์ สามารถแสดงโดยพิสดารได้  มีนัยไม่สิ้นสุด มีนัยไม่มีประมาณ แม้คัมภีร์ปุคคลบัญญัตินี้ก็เช่นกัน หากจะแสดงโดยพิสดาร ก็มีนัยไม่สิ้นสุด มีนัยไม่มีประมาณ เช่นเดียวกัน

ขอขอบคุณ ภาพวาดจิตรกรรมฝาผนังจากศาลาหลวงพ่อดวงดี วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร
ขอขอบคุณ ภาพวาดจิตรกรรมฝาผนังจากศาลาหลวงพ่อดวงดี วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร

แท้จริง พระพุทธเจ้าไม่ได้เป็นผู้สร้างสภาวะหรือปรมัตถสัจจะนี้ สภาวะหรือปรมัตถสัจจะมีอยู่ตามธรรมชาติ พระพุทธองค์เป็นแต่เพียงผู้ทรงบรรลุสภาวะหรือปรมัตถสัจจะตามธรรมชาตินี้ด้วยสัมมาสัมโพธิญาณ อันเกิดจากกำลังแห่งความเพียรซึ่งเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ไม่หยุดหย่อน แล้วทรงบัญญัติชื่อเรียกสภาวะและบุคคลเพื่อให้เข้าใจสภาวธรรมทั้งหลายตามความเป็นจริง

ผู้เข้าใจในบุคคลบัญญัติ ย่อมเข้าใจในบุคคลสมมติ ผู้เข้าใจในบุคคลสมมติ ย่อมไม่ยึดติดในบุคคล ตัวตนเราเขา ผู้ไม่ยึดติดในบุคคล ตัวตนเราเขา อัสมิมานะ ความถือตัวถือตนในความรู้  ในชาติตระกูล ย่อมลดลง และเขาย่อมชื่อว่า เป็นผู้ถอนตนออกจากทุกข์ในวัฏฏะได้

ธรรมนิพนธ์เรื่อง "ความเป็นมาของพระอภิธรรม" เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) จัดพิมพ์โดย สถาบันพัฒนาพระวิทยากร วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร พิมพ์ครั้งที่ ๑ กุมภาพันธุ์ ๒๕๖๑ ฉบับธรรมทาน
ธรรมนิพนธ์เรื่อง “ความเป็นมาของพระอภิธรรม” เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) จัดพิมพ์โดย สถาบันพัฒนาพระวิทยากร วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร พิมพ์ครั้งที่ ๑ กุมภาพันธุ์ ๒๕๖๑ ฉบับธรรมทาน

วันนี้วันพระ วันจันทร์ที่ ๓๐ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๖๓ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑ ศึกษา “ความเป็นมาของพระอภิธรรม” บทที่ ๑๓ (ตอนที่ ๑๔) คัมภีร์ที่ ๔ ปุคคลบัญญัติ : ว่าด้วยสภาวะผู้ที่ยังไม่หลุดพ้นกับผู้ที่หลุดพ้นแล้ว เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here