วันนี้วันพระ วันพฤหัสบดีที่ ๑๗ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๖๔ ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๘ ศึกษา “ความเป็นมาของพระอภิธรรม” บทที่ ๒๑ (ตอนที่ ๒๒) คัมภีร์ที่ ๗ ปัฏฐาน (๒) : “ปัจจัย ๒๔ กระบวนธรรมแห่งปัจจยากร จุดเชื่อมโยงสภาวะแห่งสรรพสิ่ง ” เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

ในบรรดาพระอภิธรรมทั้ง ๗ คัมภีร์ คัมภีร์ปัฏฐานมีเนื้อหายาก สุขุม ลุ่มลึก และงดงามที่สุดด้วยนัยหลากหลายนับไม่ถ้วน อย่างไรก็ตาม เมื่อพระธรรมคำสอนจะอันตรธานเสื่อมสิ้นไป ก็จะเริ่มเสื่อมจากคัมภีร์ปัฏฐานอันงดงามยิ่งนี้ก่อน

อรรถกถามโนรถปูรณี คัมภีร์ อธิบายความแห่งอังคุตตรนิกาย เอกนิบาต พระสุตตันตปิฎก กล่าวถึงลำดับความเสื่อมแห่งพระศาสนาไว้ โดยเริ่มจากการบรรลุ มรรค ผล ปฏิสัมภิทา อภิญญา และวิชชา เสื่อมไปก่อน การลงมือปฏิบัติเสื่อมไป การศึกษาเล่าเรียนเสื่อมไป ต่อมา จะไม่มีพระภิกษุบวชในพระศาสนา ชื่อว่า ภิกษุภาวะอันตรธาน และ สุดท้าย พระบรมสารีริกธาตุอันตรธานไป เป็นอันสิ้นสุดพระศาสนา

กาลเวลาผ่านไป จะไม่มีการศึกษาเล่าเรียน ปริยัติย่อมเสื่อมไป เมื่อพุทธบริษัทไม่สามารถศึกษาเล่าเรียน เพื่อความแตกฉานในพระธรรมคำสอน จึงจดจำเฉพาะแต่พระบาลี(พุทธพจน์)ไว้เท่านั้น เมื่อกาลเวลาผ่านไป พุทธบริษัทไม่สามารถจดจำไว้ได้แม้กระทั่งพระบาลี  เป็นเหตุให้พระไตรปิฎกถึงกาลเสื่อมไป

ในบรรดาพระไตรปิฎกทั้ง ๓ นั้น พระอภิธรรมจะเสื่อมไปก่อน ต่อมาพระสูตรเสื่อม และพระวินัยปิฎกเสื่อมในลำดับสุดท้าย

ในบรรดาพระอภิธรรมทั้ง ๗ คัมภีร์ จะเสื่อมตั้งแต่ท้ายขึ้นมา คือ คัมภีร์ปัฏฐานเสื่อมก่อน จากนั้นก็เสื่อมไล่ย้อนมาตามลำดับ ตั้งแต่ ยมก กถาวัตถุ ปุคคลบัญญัติ ธาตุกถา วิภังค์ จนถึง ธรรมสังคณี เสื่อมเป็นลำดับสุดท้าย

สาเหตุที่พระอภิธรรมเสื่อมไปก่อนคัมภีร์อื่น ก็เพราะพระอภิธรรมมีเนื้อหาที่เป็นสภาวธรรมล้วน ไม่มีเรื่องราว บุคคล เหตุการณ์ สถานที่ประกอบการอธิบาย จึงยากที่คนทั่วไปจะเข้าใจได้ เมื่อมีเนื้อหายากที่จะเข้าใจ ก็ไม่มีผู้สนใจศึกษาเล่าเรียน เมื่อไม่ศึกษาเล่าเรียน ก็ไม่มีการทรงจำสืบต่อ รอเพียงวันเสื่อมไป แล้วพระพุทธศาสนาก็ถึงกาลล่มสลาย

ปัจจัย ๒๔ กระบวนธรรมแห่งปัจจยาการ

จุดเชื่อมโยงสภาวะแห่งสรรพสิ่ง

คำว่า “ปัฏฐาน” แปลว่า ที่ตั้ง จุดเริ่มต้น เหตุอันมีปัจจัยสืบเนื่อง เมื่อนำมาใช้ในความหมายของคัมภีร์พระอภิธรรม หมายถึง ที่ตั้งแห่งปัจจัย ๒๔ ที่เป็นเหตุเกื้อหนุนให้เกิดธรรมทั้งหลาย หรือ ที่ตั้งแห่งกระบวนธรรมเป็นไปตามเหตุปัจจัยที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้อย่างพิสดาร ด้วยกำลังแห่งญาณอันเกิดจากการตรัสรู้

คัมภีร์ปัฏฐาน มีความละเอียด สุขุม ลุ่มลึก มีนัยหลากหลาย ยากที่บุคคลจะหยั่งถึงได้ทั่วถ้วน โดยมากเรียกกันว่า “คัมภีร์มหาปัฏฐาน”

มหาสมุทรเป็นที่รองรับแม่น้ำทุกสาย ฉันใด

คัมภีร์มหาปัฏฐานก็เป็นที่รองรับคำสอนทั้งหมด

ของพระพุทธองค์ ฉันนั้น

พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

  เพราะความละเอียด สุขุม ลุ่มลึก มีนัยหลากหลายไม่สิ้นสุด ยากแก่การทำความเข้าใจ โบราณาจารย์จึงเรียกคัมภีร์นี้ว่า “อนันตนยสมันตปัฏฐานมหาปกรณ์” แปลว่า มหาคัมภีร์ประมวลสภาวธรรมมีรากฐานแผ่ออกไปกว้างใหญ่ไพศาลรายล้อมด้วยนัยเป็นอนันต์

คัมภีร์อื่นๆ ทั้ง ๖ คัมภีร์ที่แสดงมาแล้วโดยลำดับ พระพุทธองค์ทรงแจกแจงสภาวธรรมแต่ละสภาวะออกเป็นประเภทๆ อธิบายให้เห็นรายละเอียดเป็นเรื่องๆ เป็นหมวดๆ หรือเป็นหัวข้อๆ ยังไม่ได้แสดงความเชื่อมโยงกัน ส่วนในคัมภีร์ปัฏฐานนี้ทรงแสดงมิติความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันของสภาวธรรมแต่ละอย่างตามเหตุปัจจัย อย่างเป็นกระบวนธรรม มีนัยสลับซับซ้อน หลากหลายมิติ รวมกระบวนธรรมทั้งหมด ๒๔ ปัจจัยตามบทสวดท่อนสุดท้ายที่พระสงฆ์ใช้สวดในพิธีศพ ดังนี้ 

เหตุปฺจจโย (เหตุเป็นปัจจัย)

อารมฺมณปจฺจโย (อารมณ์เป็นปัจจัย)

อธิปติปจฺจโย (ความเป็นใหญ่เป็นปัจจัย)

อนนฺตรปจฺจโย (อนันตรธรรม คือภาวะต่อเนื่องไม่มีช่องระหว่างเป็นปัจจัย)

สมนนฺตรปจฺจโย (สมนันตรธรรม คือภาวะต่อเนื่องทันทีเป็นปัจจัย)

สหชาตปจฺจโย (สหชาติ คือเกิดร่วมกันเป็นปัจจัย)

อฺญมญฺญปฺจจโย (อัญญมัญญธรรม คืออาศัยกันและกันเป็นปัจจัย)

นิสฺสยปฺจจโย (นิสสยธรรม คือเป็นที่อาศัยเป็นปัจจัย)

อุปนิสฺสยปฺจจโย (อุปนิสสยธรรม คือเครื่องหนุนหรือกระตุ้นเร้าเป็นปัจจัย)

ปุเรชาตปฺจจโย (ปุเรชาตธรรม คือเกิดก่อนเป็นปัจจัย)

ปจฺฉาชาตปัจจัยปฺจจโย (ปัจฉาชาตธรรม คือเกิดหลังเป็นปัจจัย)

อาเสวนปฺจจโย (อาเสวนธรรม คือการซ้ำบ่อยหรือทำให้ชินเป็นปัจจัย)

กมฺมปฺจจโย (กรรมป็นปัจจัย)

วิปากปฺจจโย (วิบากเป็นปัจจัย)

อาหารปฺจจโย (อาหารเป็นปัจจัย)

อินฺทริยปฺจจโย (อินทรีย์ หรือการเป็นตัวการเป็นปัจจัย)

ฌานปฺจจโย (ภาวะจิตที่เป็นฌานเป็นปัจจัย)

มคฺคปฺจจโย (มรรคเป็นปัจจัย)

สมฺปยุตตปฺจจโย (สัมปยุตธรรม คือประกอบกันเป็นปัจจัย)

วิปฺปยุตตปฺจจโย (วิปยุตธรรม คือการแยกต่างหากกันเป็นปัจจัย)

อตฺถิปฺจจโย (อัตถิธรรมคือการมีอยู่เป็นปัจจัย)

นตฺถิปฺจจโย (นัตถิธรรมคือการไม่มีอยู่เป็นปัจจัย)

วิคตปฺจจโย (วิคตธรรมคือการปราศไปเป็นปัจจัย)

อวิคตปฺจจโย (อวิคตธรรมคือการไม่ปราศไปเป็นปัจจัย)

ในการแสดงปัจจัย ๒๔ นั้น พระพุทธองค์ทรงจำแนกปัจจัยหนึ่งๆ ด้วยธรรม ๓ หมวด คือ

๑.ธรรมที่เป็นเหตุ (ปัจจัยธรรม) หมายความว่า ผลธรรมย่อมเกิดขึ้น ตั้งอยู่ได้ เพราะอาศัยธรรมที่เป็นเหตุนี้ 

๒.ธรรมที่เป็นผล (ปัจจยุปบันธรรม) หมายความว่า ผลธรรมที่เกิดจากเหตุปัจจัย

๓.ธรรมที่มิใช่ผล (ปัจจนิกธรรม) หมายความว่า ธรรมที่นอกจากผล

ปัจจัยเหล่านี้ ยังสามารถจัดตามประเภทได้อีก เช่น ตามการเกิด (ชาติ) มีสหชาติ เป็นต้น ตามกาล ได้แก่ อดีต ปัจจุบัน อนาคต กาลวิมุตติ (พ้นจากกาล) และ ตามอำนาจ (สัตติ) ได้แก่ อำนาจที่ทำให้เกิดขึ้น(ชนกสัตติ) อำนาจการอุปถัมภ์ให้ดำรงอยู่(อุปถัมภกสัตติ) และอำนาจการตามประคับประคองให้สืบเนื่องกันไปเป็นกระบวนการ(อนุปาลกสัตติ) และ ตามการสงเคราะห์เข้ากันได้

แม้คัมภีร์ปัฏฐานจะมีความละเอียด มีนัยลึกซึ้งอย่างยิ่ง ถ้าผู้ศึกษาไม่มีพื้นฐานความรู้ด้านปรมัตถธรรมมาก่อน ก็ยากที่จะทำความเข้าใจโดยง่าย แต่สาระสำคัญโดยสรุปแห่งคัมภีร์ปัฏฐานก็อยู่ที่เรื่องกระบวนการแห่งสภาวธรรมตามปัจจัย ๒๔

ผู้สนใจศึกษาคัมภีร์ปัฏฐาน สามารถทำความเข้าใจเฉพาะเรื่องปัจจัย ๒๔ นี้เป็นเบื้องต้นก่อน ส่วนเรื่องอื่นแม้จะดูมีรายละเอียดมาก ก็เป็นเพียงการกำหนดกรอบให้แคบเข้ามา เพื่ออธิบายกระบวนการแห่งปัจจัย ๒๔ จะนำมาอธิบายบางปัจจัยพอเป็นตัวอย่าง ผู้สนใจพึงขวนขวายศึกษาเพิ่มเติมได้

กระบวนธรรมที่ ๑ เรื่องของเหตุปัจจัย

เรื่องของกระบวนการแห่งชีวิต

เหตุปัจจัย เป็นการนำแม่บทแห่งมาติกาในธรรมสังคณี คือ กุสลา ธัมมา อกุสลา ธัมมา อัพยากตา ธัมมา มาแสดงความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันให้เห็นเป็นรูปกระบวนธรรม เพราะเหตุเป็นปัจจัยทำให้จิตกับเจตสิกแปรสภาพเป็นชั่ว(อกุศล) หรือดี(กุศล)

สภาวธรรมที่เป็นปัจจัยช่วยอุปการะเกื้อหนุนให้เกิดการสืบเนื่องเป็นกระบวนการ ก็คือ รากแห่งความดีความชั่ว ๖ ประการ คือ อกุศลเหตุ ๓ ได้แก่ โลภะ โทสะ โมหะ กุศลเหตุ ๓ ได้แก่ อโลภะ อโทสะ อโมหะ (จะเรียกว่า “อกุศลมูล กุศลมูล” รากเหง้าแห่งอกุศล รากเหง้าแห่งกุศล ก็ได้) เป็นมูลเหตุให้สภาวธรรมทั้งหลายเกิดขึ้น (ชนกสัตติ) ดำรงอยู่ (อุปถัมภกสัตติ) และประคับประคองสืบเนื่องกันไปเป็นกระบวนการ (อนุปาลกสัตติ) นอกจากนี้ ยังมีวิบากเหตุและกิริยาเหตุที่เข้าร่วมวงเป็นปัจจัยให้เกิดกระบวนการได้อีก

สภาวธรรมทั้งหลายทั้งดีและชั่ว จะเกิดและเจริญงอกงามขึ้นมาได้ก็ด้วยอาศัยเหตุทั้ง ๖ ประการดังกล่าว เป็นปัจจัยให้กระบวนการอื่นเกิดขึ้นตามมา เปรียบเหมือนเมล็ดพืชจะงอกแตกหน่อออกมาได้ ก็ต้องได้ดิน น้ำ อากาศ และปุ๋ยเป็นปัจจัยเกื้อหนุนส่งเสริมจึงแทงยอดออกมาเจริญเติบโตได้ เมล็ดพืชเป็นเหตุ ส่วนดิน น้ำ อากาศ และปุ๋ย เป็นปัจจัยเกื้อหนุนให้พืชเกิดความสืบเนื่องเป็นกระบวนการแห่งการเกิดของพืช

มีข้อควรอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับความแตกต่างระหว่าง คำว่า “เหตุ” กับ “เหตุปัจจัย” คือ เมื่ออกุศลเหตุ ได้แก่ โลภะ โทสะ โมหะ และ กุศลเหตุ  ได้แก่ อโลภะ อโทสะ อโมหะ เป็นเชื้อสงบนิ่งนอนเนื่องอยู่ในจิต ยังไม่มีสิ่งใดเป็นปัจจัยมากระทบให้ฟุ้งขึ้นมาสืบเนื่องเป็นกระบวนการขณะนั้น สภาวธรรมนั้นยังชื่อว่า “เหตุ”

พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

แต่เมื่ออกุศลเหตุ หรือกุศลเหตุ ถูกกระตุ้นหรือถูกเร้าจากปัจจัยภายนอก ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธัมมารมณ์ จึงฟุ้งขึ้นมาแปรสภาพพัฒนาการไปตามกระบวนการแห่งเหตุปัจจัย ขณะนั้น สภาวธรรมนั้น ชื่อว่า “เหตุปัจจัย”  เปรียบเหมือนเมล็ดพืชที่ถูกเก็บไว้ในภาชนะคงสภาพความเป็นเมล็ดพืชเท่านั้น แต่เมื่อถูกนำไปลงดิน ได้น้ำ อากาศ และปุ๋ยที่เหมาะสมเป็นปัจจัยเกื้อหนุนประกอบกัน ทำให้เกิดกระบวนการเจริญงอกงามสืบเนื่องตามมา

เมื่อเหตุเข้าสู่กระบวนการพัฒนาการตามปัจจัย จึงได้ชื่อว่า “เหตุปัจจัย”

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

วันนี้วันพระ ศึกษา “ความเป็นมาของพระอภิธรรม” บทที่ ๒๑ (ตอนที่ ๒๒) คัมภีร์ที่ ๗ ปัฏฐาน (๒) : “ปัจจัย ๒๔ กระบวนธรรมแห่งปัจจยากร จุดเชื่อมโยงสภาวะแห่งสรรพสิ่ง ” เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here