วัดกับบ้านแยกกันอยู่ได้จริงหรือ
กิตติเมธี
น่าจะเป็นปัญหาที่ถกเถียงกันมาอย่างยาวนาน และน่าจะยังคงว่ากันต่อไประหว่างรัฐกับศาสนา นักวิชาการหลายคนที่มองว่า “วัดและพระควรทำหน้าที่ทางสังคม รับใช้สังคมไม่ใช่รัฐ ศาสนาควรแยกจากรัฐ” นักวิชาการอิสระด้านพุทธศาสนาและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในกล่าวไว้ในรายการทีวีรายการหนึ่ง น่าจะสอดคล้องกับแนวคิดของนักวิชาการบางท่านเขียนไว้
เช่นในหนังสือเรื่อง “รัฐกับศาสนา : ศีลธรรม อำนาจ และอิสรภาพ” โดยอ้างถึงเหตุผลที่ใกล้เคียงกัน คือ ศาสนาควรเป็นเรื่องของเสรีภาพมากกว่าจะเป็นเรื่องของรัฐจะเข้ามาจัดการ และศีลธรรมควรเป็นเรื่องสากลมากกว่าจะจำกัดแค่ในศาสนาเท่านั้น
หรือ ในบทความเรื่อง “แยกรัฐกับศาสนาให้ออกจากกันอย่างชัดเจนดีหรือไม่” ซึ่งผู้เขียนอ้างเหตุผลหนึ่งว่า “สำนักไหน นิกายไหนห่วยแตก ปฏิบัติไม่ได้ผล สอนแล้วไม่ได้เรื่องเดี๋ยวก็เรียวเล็ก หายสาบสูญไปเอง ลำพังกฎหมายปกติธรรมดา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องต้มตุ๋นหลอกหลวงหรือโฆษณาเกินจริง ก็มีอยู่แล้ว ถ้าเข้าข่ายก็ว่ากันไป แต่ถ้าเมื่อไหร่ รัฐเข้าไปอุดหนุนศาสนานั้น นิกายนี้ อีกทางหนึ่งก็เหมือนกดศาสนา หรือนิกาย หรือสำนักอื่นไปโดยปริยาย”
คำพูดและข้อเขียนเหล่านี้สะท้อนให้เห็นนักวิชาการบางกลุ่มกำลังมองว่า “รัฐกับศาสนา” ควรแยกกัน หรืออาจพูดให้เห็นชัดคือ “วัดกับบ้าน” น่าจะมีกำแพงระหว่างกันคงจะดี หรือควรพัฒนากำแพงนั้นให้แน่นหนาขึ้น ใหญ่โตขึ้นตามลำดับ วัดควรพัฒนาแบบวัด และรัฐก็ควรพัฒนาแบบรัฐ ใครชอบเป้าหมายชีวิตแบบไหนก็ควรอยู่ไปตามรูปแบบวิถีชีวิตแบบนั้น
มองดูก็เป็นสัดส่วนดี ให้พระได้จัดการเรื่องของพระไป ส่วนฆราวาสก็จัดการเรื่องนอกวัดไป ไม่ต้องให้ฆราวาสจัดการพระ หรือพระจัดการฆราวาส ส่วนคนอื่นก็จะได้มีเสรีภาพในการเลือกนับถือศาสนาหรือไม่นับถือก็ได้ตามแต่ที่ตนต้องการ
การจัดสัดส่วนนี้อาจดูเป็นระเบียบถ้าเราคิดง่ายๆ แต่หากมองลึกๆ นี่อาจจะยิ่งทำให้สังคมอยู่ยากขึ้นด้วยหรือไม่
ถ้าเราลองหาเป้าหมายที่รัฐกับวัดมาอยู่รวมกันน่าจะเป็นประโยชน์มากกว่าจะพยายามแยกสิ่งที่มีนี้ออกจากกัน เพราะอาจจะยิ่งเพิ่มปัญหาใหม่ๆ ให้กับเราอีกก็ได้ ใครจะรู้
แต่ก่อนอื่น เราลองย้อนดูว่าอะไรเกิดก่อนกันระหว่างวัดกับรัฐสักนิด โดยวัดก็คือศาสนาพุทธ แต่ในที่นี้จะใช้คำกลางๆ ว่า ศาสนา เพื่อเป็นรูปแบบของสถาบันที่สังคมสร้างขึ้น
เดิมศาสนานั้นมาจากความเชื่อและเกิดก่อนจะมีรัฐ เมื่อเรามีทุกข์ก็จะหาที่พึ่ง สุดท้ายที่พึ่งที่เรายึดก็ที่ทำให้เราสบายใจล้วนเป็นความเชื่อ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวิญญาณ การเวียนว่ายตายเกิด การหาเป้าหมายในการหลุดพ้นจากความทุกข์ เป็นต้น
ความเชื่อจึงเริ่มต้นจากคนแต่ละคนก่อนจะเป็นความเชื่อของแต่ละกลุ่มและกลายเป็นศาสนาประจำเผ่าบนความเชื่อร่วมกัน เช่น ความเชื่อในการถือผี หรือเป้าหมายการพ้นทุกข์ เป็นต้น ก่อนที่รัฐจะนำมาเพื่อสร้างความอยู่ร่วมกันอย่างสุขสงบ
สมัยพระเจ้าอโศกใช้หลักธรรม เช่น เมตตา ทาน ศีล เป็นต้น มากกว่าจะเน้นไปที่คำสอนทางศาสนาที่เน้นการดับทุกข์แต่เพียงอย่างเดียว ศาสนากลายเป็นเครื่องยึดโยงปัจเจกบุคคลได้มีที่พึ่งพิงในยามทุกข์ ให้รัฐมีวิธีปฏิบัติเพื่ออยู่ร่วมกันด้วยความสุขสงบ ถ้าจะว่าไปแล้วตราบที่ยังมีรัฐ ที่มีผู้คนมาอยู่ร่วมกัน ศาสนาก็เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
อาจกล่าวได้ว่า ถ้าจะมีมรดกสักชิ้นหนึ่งที่ทำให้มนุษย์ได้ใช้ในยามที่สิ้นหวัง และหมดกำลังใจ ไร้จุดหมาย มรดกชิ้นนั้นที่เราจะนำมาใช้ได้ตลอดเวลาก็คือ “ศาสนา”
แต่หากจะจำเป็นต้องเลือกศาสนาหรือแนวคิดอื่นใดที่ดีที่สุดไว้คู่กับรัฐ ก็ลองเลือกเหมือนกับช่างไม้เลือกขวานสำหรับตัดไม้ อาจไม่ใช่ขวานที่สวย ทันสมัย หรือแพงที่สุด แต่ต้องเป็นขวานที่เหมาะมือ จับถนัด ใช้งานร่วมกันมาสักระยะหนึ่ง ไม่ใช่เพราะขวานนั้นดีไปเสียทุกอย่าง แต่เพราะเคยชินกับขวานนั้นมากกว่าต่างหาก
แต่ถ้าจะให้วัดกับบ้านแยกกันจริงๆ ก็คงเหมือนเรากำลังทิ้งขวานก่อนจะเดินเข้าป่าแล้วหาขวานใหม่ที่คิดว่าน่าจะดีกว่าเดิม ก็ลองคิดดูว่าจะเจอขวานเล่มนั้นไหม หรือถ้าเจอแล้วจะต้องใช้เวลาอีกเท่าไหร่จึงจะใช้งานได้เหมาะมือ…
ลองคิดดู
วัดกับบ้านแยกกันอยู่ได้จริงหรือ โดย กิตติเมธี