จิรํ    ติฏฺฐตุ    พุทฺธสาสนํ ฯ

ขอพระพุทธศาสนาจงดำรงอยู่ตลอดกาลนาน

 “ญาณวชิระ”

ลูกผู้ชายต้องบวช

บรรพ์ที่ ๓ เมื่อแรกคิดที่จะบวช :

เรียบเรียงโดย ญาณวชิระ (พระมหาเทอด ญาณวชิโร อดีตพระราชกิจจาภรณ์)

คำอุทิศ

แด่ ทุกดวงวิญญาณแห่งบรรพชนไทย

ที่รักษาพระพุทธศาสนาให้เป็นศาสนาประจำชาติไทย

บรรพ์ที่  ๓

เมื่อแรกคิดที่จะบวช

ควรทำความเข้าใจ  เรื่อง  การเตรียมตัวก่อนบวช  

ความเข้าใจ  เรื่อง  มารผจญ  

การจัดเตรียมอัฐบริขาร  

การจัดเตรียมเครื่องสักการบูชาและไทยธรรม

 การขอขมาบิดามารดา  

ความเข้าใจ เรื่อง “สงฆ์”

                         และ คุณสมบัติเกี่ยวกับการบวช

                เมื่อแรกคิดที่จะบวช ผู้ขอบวชและญาติควรพิจารณาว่าตนเอง และผู้ประสงค์จะให้บวชมีลักษณะควรแก่การบรรพชาอุปสมบทหรือไม่  คือ  ไม่มีลักษณะของคนต้องห้ามบรรพชาอุปสมบท ตามพระธรรมวินัยแต่ประการใด   ไม่เป็นผู้มีความประพฤติเสียหายที่จะทำให้พระศาสนาเสื่อมเสีย เป็นสุภาพชนที่มีความประพฤติเรียบร้อยดีงาม มีกิริยาวาจาเรียบร้อย ไม่มีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง  ไม่มีความประพฤติเสียหาย เช่น ติดสุราเรื้อรัง หรือยาเสพติด เป็นต้น   ไม่เป็นคนจรจัดไร้หลักฐาน  ไร้ผู้รับรอง มีความรู้อ่านและเขียนได้  ไม่เป็นผู้มีความเห็นผิด บวชเพียงเพื่อจับผิดพระศาสนา ไม่เป็นคนล้มละลายหรือมีหนี้สินผูกพัน มีร่างกายสมบูรณ์  เช่น ไม่เป็นคนชราไร้ความสามารถ ทุพพลภาพ หรือพิกลพิการ จนไม่สามารถปฏิบัติกิจสงฆ์ได้   ซึ่งจะเป็นภาระแก่เพื่อนสหธรรมก (๑) มีสมณบริขารครบถ้วนและถูกต้องตามพระวินัย  สามารถกล่าวคำขอบรรพชาอุปสมบทได้ด้วยตนเอง  

ข้อสำคัญ เมื่อบวชแล้ว เชื่อมั่นว่าตนเองจะมีความเคารพนับถือ  เชื่อฟัง  ตั้งอยู่ในโอวาทของพระอุปัชฌาย์  อาจารย์  ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัย ระเบียบแบบแผนของวัด   และคณะสงฆ์อย่างเคร่งครัดทุกประการ  ไม่บวชเพื่อแสวงหาลาภสักการะ   เพื่อให้ผู้คนห้อมล้อมยกย่องนับถือตน 

เพราะโดยมาก  ในปัจจุบัน  บวชยังไม่ทันไร  ก็มักตั้งตนเป็นเกจิอาจารย์  ทำวิธีการให้แปลกไปโดยประการต่างๆ เพื่อมุ่งให้เกิดลาภสักการะ  มุ่งให้เกิดความยกย่องนับถือ มุ่งให้มีบริวารลูกศิษย์มากมายห้อมล้อม

การเตรียมตัวก่อนบวช

เมื่อพิจารณาว่า ผู้ขอบวช ไม่มีลักษณะของคนต้องห้ามบรรพชาอุปสมบทตามพระธรรมวินัย และไม่ขัดต่อแบบแผนขนบธรรมเนียมพระสงฆ์แล้ว    ควรพิจารณาต่อไปว่า จะบวชเพื่ออะไร  และบวชที่วัดไหน  เนื่องจากการรับผู้ขอบวชในแต่ละวัด มีระเบียบแบบแผนข้อปฏิบัติ อันเป็นกติกาของวัดแตกต่างกันออกไป     และเมื่อเกิดความแน่ใจแล้ว  ควรปฏิบัติดังต่อไปนี้ 

(๑) ให้บิดามารดา ญาติผู้ใหญ่ หรือบุคคลผู้น่าเชื่อถือได้นำผู้จะบวชไปติดต่อเจ้าอาวาส หรือพระอุปัชฌาย์ที่จะบวช   เพื่อกำหนดวันบวช   เมื่อไปติดต่อ ต้องบอกรายละเอียดเกี่ยวกับตัวผู้ขอบวชให้เจ้าอาวาส หรือ พระอุปัชฌาย์ทราบ   ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับตัวผู้จะบวชที่ควรบอก  คือ เวลา/วัน/เดือน/ปีเกิด วุฒิการศึกษา หน้าที่การงาน และยศตำแหน่ง  ในกรณีมีใบขออนุญาตอุปสมบทจากที่ทำงานก็ควรนำไปแสดงด้วย     เช่น  ผู้ที่เป็นข้าราชการมาขอบวช ต้องมีเอกสารอนุญาตจากผู้บังคับบัญชามาแสดง  เป็นต้น    

ส่วนมากบิดามารดามีความปรารถนาดีต่อลูก  ถึงแม้ลูกมีความประพฤติเสียหายก็พยายามจะให้ลูกบวช โดยปกปิดข้อประพฤติเสียหายนั้นไว้  ไม่ยอมบอกให้พระอุปัชฌาย์ทราบ    เพราะเกรงจะไม่ได้รับอนุญาตให้บวช และคิดว่าบวชแล้วระเบียบวินัยจะขัดเกลาให้ลูกกลับตัวเป็นคนดีได้ 

การทำเช่นนี้จะเป็นผลเสียต่อตัวผู้บวชเอง และต่อพระศาสนาโดยรวม  เพราะนอกจากตัวผู้บวช จะไม่ได้อะไรเท่าที่ควรแล้ว  ยังอาจสร้างความเสียหายให้แก่พระศาสนาได้

ในอีกด้านหนึ่ง  พระอาจารย์ที่มีหน้าที่ดูแลอบรมตักเตือนสั่งสอน ก็ไม่สามารถให้คำแนะนำได้ตรงตามอุปนิสัย

โดยทั่วไป วันบวชไม่ได้ดูฤกษ์งามยามดี แต่จะดูวันเวลาตามความเหมาะสมระหว่างผู้บวชและพระอุปัชฌาย์ เพราะถือว่าทำความดีเวลาไหนก็เป็นสิ่งดีงาม และจะนิยมดูฤกษ์งามยามดีวันลาสิกขา   เพื่อให้สอดคล้องกับคตินิยมของชาวบ้าน   คือ ไม่ให้ขัดต่อความรู้สึกของชาวบ้าน

อย่างไรก็ตาม  ผู้ขอบวชจำเป็นต้องบอกรายละเอียดวันเดือนปีเกิดให้พระอุปัชฌาย์ทราบ   เพื่อความแน่ใจว่าผู้บวชมีอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์  จะได้ไม่เกิดข้อผิดพลาดเกี่ยวกับอายุผู้บวช และไม่ทำให้พระอุปัชฌาย์ต้องอาบัติ 

เนื่องจากมีข้อกำหนดทางวินัยว่า พระภิกษุที่เป็นพระอุปัชฌาย์บวชให้กุลบุตรผู้มีอายุไม่ครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์  ส่วนพระคู่สวด และพระอันดับผู้เข้าประชุมเป็นสงฆ์ในพิธีต้องอาบัติทุกกฎ   ถ้าพระอุปัชฌาย์ไม่รู้  ไม่ต้องอาบัติ  แต่ผู้บวชก็ไม่ได้สำเร็จเป็นพระอยู่นั่นเอง

ในกรณีที่ผู้บวชต้องการบวช แต่อายุยังไม่ครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ยังขาดเดือน พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้นับอายุในท้องเพิ่มเข้าไปได้อีก ๙  เดือนจากวันที่เกิด   เท่ากับว่าผู้มีอายุ ๑๙ ปี ๓ เดือน  บวกในท้องอีก ๙ เดือน เป็น ๒๐ ปีบริบูรณ์ สามารถบวชเป็นพระภิกษุได้ แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับความเห็นของพระอุปัชฌาย์ด้วย  

อีกประการหนึ่ง  ยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับระยะเวลาการบวชอยู่มาก  โดยมากเชื่อกันว่าหากอยู่ในระหว่างการเข้าพรรษาจะบวช  ๗ วัน  ๑๕ วัน  หรือ ๑  เดือนไม่ได้  เพราะเมื่อบวชแล้วต้องอยู่จนครบพรรษา  ๓  เดือน  ถ้าบวชอยู่ไม่ครบ ๓ เดือน ลาสิกขาในระหว่างพรรษากาลถือว่าเป็นการแหกพรรษา

ความเป็นจริง  แม้จะอยู่ในระหว่างพรรษากาลก็สามารถบวชและลาสิกขาได้ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้  ไม่ได้มีข้อกำหนดอะไร เนื่องจากผู้บวชไม่ได้ตั้งใจอธิษฐานอยู่จำพรรษา 

ชาวไทยที่นับถือพระพุทธศาสนายึดถือกันว่า  หากตั้งใจบวชอธิษฐานอยู่จำพรรษาแล้ว ไม่นิยมลาสิกขาในระหว่างพรรษากาล เพราะเป็นการทำลายความตั้งใจของตน  ทำให้เป็นคนโลเลเหลาะแหละจิตใจไม่มั่นคง  ทำอะไรก็จะไม่ประสบผลสำเร็จ เมื่อตั้งใจบวชอธิษฐานอยู่จำพรรษาแล้ว จึงไม่นิยมให้ลาสิกขาในระหว่างพรรษากาล  ส่วนผู้ที่ตั้งใจบวช ๗ วัน  ๑๕ วัน  หรือ ๑  เดือน  ก็สามารถบวชและลาสิกขาได้ตามปกติ  เนื่องจากไม่ได้ตั้งใจบวชอยู่จำพรรษา

 (๒) เมื่อกำหนดวันบวชแล้ว ผู้ขอบวชต้องหมั่นท่องบทขานนาคให้ขึ้นใจ  ฝึกการออกเสียงให้ถูกต้องตามหลักอักขรวิธี  ซักซ้อมการกราบ การประเคน การยืน การนั่ง ตรงไหนสงสัยให้สอบถามพระอุปัชฌาย์  อาจารย์ หรือพระสงฆ์ที่ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ดูแล

(๓) ก่อนวันบวชต้องซ้อมขานนาคกับพระอุปัชฌาย์อาจารย์ หรือพระสงฆ์ที่ได้รับมอบหมาย เพื่อจะได้เข้าใจในขั้นตอนการบวช ไม่เก้อเขินขณะประกอบพิธีในวันอุปสมบทจริง    บางแห่งนิยมให้ผู้จะบวชนอนค้างที่วัด ๓ วัน ๗ วัน เพื่อจะได้มีเวลาท่องคำขานนาค และซักซ้อมความเข้าใจ  ตลอดจนฝึกหัดกิริยามารยาทระเบียบปฏิบัติของความเป็นพระภิกษุ

แต่เนื่องจากปัจจุบันโครงสร้างทางสังคมเปลี่ยนไป ส่วนมากผู้จะบวชมีภาระหน้าที่การงานต้องรับผิดชอบแตกต่างกันไป  จึงไม่สะดวกในการที่จะนอนค้างวัด   จึงนิยมกำหนดซักซ้อมขานนาคตามวันเวลาที่สะดวกระหว่างนาคและพระสงฆ์ที่ทำหน้าในการซักซ้อม

ความเข้าใจ  เรื่อง  มารผจญ

เมื่อกำหนดวันบวชแล้ว  ผู้จะบวชไม่ควรเที่ยวเตร่ยามค่ำคืนดึกดื่น ควรอยู่กับบ้านหรือวัด เพื่อท่องคำขอบวชให้ขึ้นใจ และศึกษาข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับการบวช อีกทั้งข้อปฏิบัติในชีวิตความเป็นพระภิกษุ เมื่อบวชเป็นพระภิกษุแล้วจะได้ปฏิบัติกิจสงฆ์ได้ถูกต้อง ควรประคับประคองตนให้ตั้งอยู่ในศีล  เป็นการฝึกชำระกาย วาจา ใจ  ให้สะอาดตั้งแต่ต้น

            นอกจากนั้น  ตามคติโบราณเชื่อว่า การบวชมีอานิสงส์มาก อาจเพื่อจะเผด็จผล ในสิ่งที่มวลมนุษย์พึงประสงค์ได้สูงสุด หากเหตุปัจจัยพรั่งพร้อม อาจเพื่อทำลายกิเลสในขันธสันดานบรรลุอริยธรรมขั้นสูง  ถึงความเป็นพระอรหันต์สิ้นภพสิ้นชาติได้ในที่สุด   หากไม่ถึงความสิ้นกิเลส   ก็เป็นการทำเหตุปัจจัยเพื่อภพชาติต่อไป

การบวชมีอานิสงส์อย่างนี้ จึงอาจถูกขัดขวางจากผู้ไม่หวังดีหรือผู้มีเวรต่อกัน ไม่ว่าเขาเหล่านั้นอยู่ในฐานะมนุษย์ สัตว์เดรัจฉาน เทวาอารักษ์ หรือภูตผีปีศาจก็ตาม  อาจเพื่อจะขัดขวางไม่ให้เราบรรลุในสิ่งที่พึงประสงค์ได้เช่นกัน ดังเรื่องของท่านพาหิยทารุจีริยะผู้ที่ได้รับการยกย่องจากพระพุทธองค์ว่า เป็นผู้ตรัสรู้เร็วเป็นตัวอย่าง

ท่านพาหิยทารุจีริยะ ได้เดินทางจากเมืองหนึ่งไปยังเมืองหนึ่งเพื่อที่จะฟังธรรม และบวชกับพระพุทธองค์โดยไม่พักค้างคืนที่ไหนเลย   ท่านได้พบพระพุทธองค์ขณะกำลังบิณฑบาต ได้ฟังธรรมจนบรรลุเป็นพระอรหันต์และขอบวชในระหว่างทางนั่นเอง  แต่พระองค์ยังไม่อนุญาต เนื่องจากยังไม่มีบาตรและจีวรบริขารเครื่องใช้สำหรับพระ  พระพุทธองค์ให้ไปหาบริขารมาก่อนจึงจะบวชให้  ท่านพาหิยทารุจีริยะเดินตัดทุ่งไปโดยไม่ได้ระมัดระวังตัว  ก็ไปพบโคแม่ลูกอ่อนซึ่งเคยผูกเวรกันไว้แต่ชาติก่อน  พอโคแม่ลูกอ่อนเห็นท่านพาหิยทารุจีริยะ ความโกรธเกลียดก็พุ่งขึ้นมาทันที จึงวิ่งไปขวิดท่านเต็มแรงจนท่านเสียชีวิต 

มีเรื่องเล่าว่า ในอดีตชาติแม่โคอ่อนเคยเกิดเป็นหญิง  ถูกท่านพาหิยทารุจีริยะกับพรรคพวกฆ่าข่มขืน จึงผูกเวรไว้ทุกภพทุกชาติ  ในชาติปัจจุบันหญิงนั้นเกิดเป็นโคแม่ลูกอ่อน  พอเห็นท่านพาหิยทารุจีริยะเดินตัดทุ่งมา   เพราะแรงอาฆาตที่ฝังอยู่ในใจทำให้ความโกรธเกลียดพุ่งขึ้นมาทันที  จึงวิ่งไปขวิดท่านจนถึงแก่ความตาย   

ในกรณีมนุษย์ ทั้งคนรักคนชัง  ก็อาจเป็นอุปสรรคต่อการบวชได้  คนชังก็หาวิธีการกลั่นแกล้ง  ส่วนคนรักก็รักมากจนขาดความเข้าใจ  กลัวว่าจะไปลำบาก จึงหาวิธีการหน่วงเหนี่ยว จนอาจเป็นจุดเปลี่ยนของความคิดหาทางขัดขวางไม่ให้บวชได้

 โบราณจึงเชื่อว่า คนทำความดีโดยเฉพาะการบวชมักมีมารผจญ หรือมีอุปสรรคขัดขวางไม่ให้ทำได้สำเร็จ ในพระพุทธศาสนาท่านจำแนกมารไว้   ๕  จำพวก  คือ 

(๑) กิเลสมาร  มาร  คือ  กิเลส

(๒) ขันธมาร   มาร  คือ  ขันธ์ ๕

(๓) อภิสังขารมาร  มาร  คือ บุญและบาป 

(๔) เทวปุตตมาร    มาร  คือ  เทวบุตร 

(๕) มัจจุมาร   มาร  คือ  ความตาย 

กิเลสมาร  ได้แก่ มารที่เป็นกิเลส   เป็นสิ่งที่นอนเนื่องในขันธสันดานขัดขวางไม่ไห้คนมีกิเลสหนาบวชได้  เพราะติดในรูป เสียง กลิ่น รส ติดในความสะดวกสบาย  กลัวว่าบวชแล้วจะเป็นทุกข์   เนื่องจากไม่สามารถทำตามความต้องการได้   กิเลสจึงชื่อว่าเป็นมารที่ขัดขวางต่อการบวช

ขันธมาร   ได้แก่ มารที่เป็นขันธ์ ๕   เนื่องจากร่างกายประกอบขึ้นจากขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา  สัญญา สังขาร  วิญญาณ

ขันธ์ ๕ ทั้งหมดนี้ไม่เที่ยง  เป็นทุกข์  ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริงจึงไม่คงทนถาวร นานเข้าก็จะแก่คร่ำคร่าใช้ประโยชน์ไม่ได้  ร่างกายสังขารขันธ์ที่แก่และมีโรคภัยไข้เจ็บ  ไม่เอื้ออำนวยต่อการดำรงชีวิตอย่างนักบวช   เป็นอุปสรรคต่อการประพฤติพรหมจรรย์   และเป็นภาระต่อเพื่อนสหธรรมมิก   บางคนมีร่างกายพิการมาแต่กำเนิดอันเป็นผลมาจากอดีตกรรม  บางคนก็เกิดจากปัจจุบันกรรม  บางคนอ้วนไป  บางคนผอมไป  บางคนสูงไป  บางคนเตี้ยไป   ซึ่งล้วนเป็นอุปสรรคต่อการบวช  ขันธ์ ๕ จึงชื่อว่าเป็นมารที่ขัดขวางต่อการบวช

อภิสังขารมาร  ได้แก่ มารที่เป็นบุญและบาป  คนที่อยู่ในระหว่างเสวยผลบุญมักไม่นึกถึงที่จะทำความดี  มักจะหลงไปในอำนาจวาสนาที่เกิดจากผลบุญ ในขณะที่ผู้ที่กำลังเสวยผลบาปกรรม  ก็จะไม่ได้คิดถึงเรื่องที่จะบวช  เพราะขวนขวายที่จะประคับประคองชีวิตให้ดำรงอยู่ให้ได้   หรือขวนขวายเพื่อปากท้อง  ทั้งบุญและบาปจึงเป็นมารขัดขวางไม่ให้บวช

เทวบุตรมาร    ได้แก่ มารที่เป็นเทวบุตร   เทวดาที่มีความคิดเป็นมิจฉาทิฏฐิ  เห็นผู้อื่นทำความดีจะเกิดอิจฉาขึ้นมาทันที  และหาทางขัดขวางไม่ให้ทำการได้สำได้เร็จ

มัจจุมาร   ได้แก่ มารคือความตาย  ซึ่งไม่เที่ยงแท้แน่นอน เมื่อคิดที่จะทำความดียังไม่ได้ลงมือทำ มัจจุมารก็ตัดรอนเสียก่อน จึงไม่มีโอกาสได้ทำ  เพราะมัวแต่ไปคิดว่าทำสิ่งนี้ๆ ให้สำเร็จก่อนค่อยบวช  จึงไม่ควรประมาทว่ายังมีเวลา  อายุยังน้อย ยังเด็กอยู่เอาไว้ก่อน  ความตายจึงชื่อว่าเป็นอุปสรรคขัดขวางการบวช

มารผจญตามคติโบราณ

มารผจญตามคติโบราณ โดยทั่วไปหมายเอาเทวบุตรมาร  คือเทวดาที่เป็นมิจฉาทิฏฐิ  คอยขัดขวางไม่ให้ทำความดี 

คตินี้มาจากเมื่อครั้งพระพุทธองค์จะตรัสรู้มีพญามารวสวัตตีมาผจญ    แต่พระองค์ก็เผชิญกับพญามารด้วยบารมี ๑๐ ทัศอย่างองอาจ จนสามารถชนะได้ด้วยชัยชนะอันยิ่งใหญ่   เหตุการณ์ครั้งนั้น  ได้กลายมาเป็นคติความเชื่อสำหรับผู้นับถือพระพุทธศาสนาว่า  จะทำความดีมักมีมารผจญ  และมารที่ชอบผจญผู้ทำความดีมักมาจากสวรรค์ชั้นปรนิมมิตวสวัตตี

สวรรค์ชั้นปรนิมมิตวสวัตตีนั้นเป็นเทวโลกชั้นสุดท้าย  สวรรค์ชั้นนี้แปลกกว่าชั้นอื่น เพราะเป็นสวรรค์ที่มีเทพผู้เป็นใหญ่ปกครองอยู่  ๒  ฝ่าย  คือ

(๑) ฝ่ายเทพยดา มีเทวาธิราชชื่อว่า “พระปรนิมมิตเทวราช” เป็นผู้ปกครองเหล่าเทพทั้งหลาย

(๒) ฝ่ายมาร มีพญามาราธิราชชื่อว่า “ท้าวปรนิมมิตวสวัตตีมาราธิราช” เป็นผู้ปกครองเทพฝ่ายมาร 

คนทั่วไปรู้จักท้าวปรนิมมิตวสวัตตีมาราธิราชกัน ในนาม พญาวสวัตตีมาร  เราทั้งหลายล้วนรู้จักมารท่านนี้ดี  ในฐานะพญามารผู้ตามขัดขวางการบำเพ็ญบารมีของพระพุทธเจ้ามาโดยตลอด   จากพุทธประวัติตอนพระพุทธองค์ผจญมาร ซึ่งก็กลายมาเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยที่คนไทยเรานิยมสร้างกัน พระองค์มีพญาช้างที่มีกำลังมหาศาลชื่อครีเมขล์เป็นพาหนะคู่ใจ เป็นช้างที่มีพละกำลังมหาศาลก่อนตรัสรู้ พระพุทธเจ้าได้ผจญพญาวสวัตตีมารนี้ 

เล่าเรื่อง ประวัติพญามาร

เมื่อครั้งเกิดเป็นมนุษย์  พญาวสวัตตีมารมีชื่อว่า โพธิอำมาตย์  เป็นอำมาตย์ผู้ใหญ่ของพระเจ้าแผ่นดินพระองค์หนึ่ง โพธิอำมาตย์พร้อมทั้งชาวเมืองถูกพระเจ้าแผ่นดินห้ามไม่ให้ทำบุญกับพระกัสสปะพุทธเจ้า  ถ้าใครขืนทำจะมีโทษถึงถูกประหารชีวิต

โพธิอำมาตย์นั้นมีศรัทธาอย่างแรงกล้า แม้จะถูกประหารชีวิตก็ยอม ขอเพียงได้ถวายทานแก่พระกัสสปะพุทธเจ้า  ด้วยมาคิดว่า การที่พระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นในโลกนั้นเป็นเรื่องยาก การที่จะได้พบเห็นพระพุทธเจ้านั้นก็เป็นเรื่องยากยิ่ง และบัดนี้พระพุทธองค์ได้เสด็จมาถึงเมืองที่ตนอยู่แล้ว โพธิอำมาตย์จึงยอมสละชีวิตเพื่อให้ได้ถวายทานด้วยการสละชีวิตถวายทานแก่พระกัสสปะพุทธเจ้า โพธิอำมาตย์ได้ปรารถนาที่จะเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต

            ในการทำบุญครั้งนั้น โพธิอำมาตย์มีโทษถึงถูกตัดสินประหารชีวิต หลังจากตายแล้วได้ไปเกิดบนสวรรค์ชั้นปรนิมมิตว-สวัตตี ปกครองเทพฝ่ายมาร  มีชื่อว่าปรนิมมิตวสวัตตีมาราธิราช  แต่เพราะธรรมดาที่ยังเป็นปุถุชน  เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าของเราออกบวชจะได้ตรัสรู้เป็นพระสัพพัญญูพุทธเจ้าก่อน พญาวสวัตตีมารจึงเกิดอิจฉาริษยาตามขัดขวางการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้ามาโดยตลอด แต่ไม่เคยทำอันตรายใดๆ ต่อชีวิต มุ่งหวังแต่จะให้พระพุทธเจ้าของเราเปลี่ยนความตั้งใจ 

ในพุทธประวัติได้กล่าวถึงตอนที่พระพุทธองค์ผจญพญาวสวัตตีมาราธิราชนี้ไว้ว่า พญามาราธิราชคิดว่า จักให้พระโพธิสัตว์ลุกจากบัลลังก์หนีไปด้วยลม จึงบันดาลมหาวาตะให้ตั้งขึ้น ลมนั้นถึงแม้ว่าสามารถจะทำลายยอดภูเขาใหญ่น้อยทั้งหลาย สามารถถอนต้นไม้ กอไม้ และพัดกระหน่ำหมู่บ้านให้ละเอียดลงรอบด้าน แต่เมื่อมาถึงพระโพธิสัตว์ ก็ไม่อาจกระทำแม้สักว่าชายจีวรให้ไหวได้  ด้วยอานุภาพแห่งพระบารมีของพระโพธิสัตว์

พญาวสวัตตีมาราธิราชจึงบันดาลให้ห่าฝนใหญ่ตั้งขึ้น  บันดาลห่าฝนเครื่องประหาร บันดาลห่าฝนหิน บันดาลห่าฝนถ่านเพลิง บันดาลห่าฝนเถ้ารึง (๒) บันดาลห่าฝนทราย บันดาลห่าฝนเปือกตม  และบันดาลความมืด รวมเป็นเครื่องประหาร ๙ ชนิด ให้ตั้งขึ้นรอบด้าน โดยมุ่งหวังจะให้พระโพธิสัตว์หนีไป  แต่อันตรายจากเครื่องประหารเหล่านั้น ก็ไม่สามารถทำให้พระองค์สะดุ้งสะเทือนได้        

สุดท้ายพญามารได้ส่งลูกสาวทั้ง ๓ คน คือ นางตัณหา นางราคา และ นางอรดี มาฟ้อนรำเบื้องพระพักตร์หวังจะให้พระองค์เลิกล้มความตั้งใจ แต่ก็ไร้ผล  ทำให้พญามาราธิราชกลับไปด้วยความเศร้าโศกเสียใจเป็นอย่างมาก รอคอยโอกาสอยู่ในวิมานบนสวรรค์ของตน

หลังพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้วประมาณ ๓๐๐ ปี เมื่อครั้งพระเจ้าอโศกมหาราชสร้างเจดีย์ ๘๔,๐๐๐ องค์ ถวายเป็นพุทธบูชาวสวัตตีมาราธิราชได้มาขัดขวางการเฉลิมฉลอง  แต่พระอุปคุตมหาเถระ ผู้เกิดหลังพุทธปรินิพพานทรงอภิญญาแก่กล้าได้ช่วยไว้

ในคราวครั้งนั้น พญามารคร่ำครวญว่า แม้เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าผู้เป็นศาสดาของพระมหาเถระยังมีชีวิตอยู่ตนได้ประทุษร้ายต่อพระพุทธองค์เป็นอันมาก แต่พระองค์ก็ยังเปี่ยมด้วยเมตตามิเคยทำให้ตนได้รับความอับอายเลย แต่ไฉนท่านอุปคุตเถระเป็นแต่เพียงพระสาวกของพระพุทธองค์มิได้มีความเมตตาเช่นนั้นต่อตนเลย แล้วได้ตั้งความปรารถนาที่จะเป็นพระพุทธเจ้าผู้เปี่ยมด้วยเมตตาต่อหน้าพระอุปคุตมหาเถระเจ้าอีกครั้ง

ความเชื่อเรื่องมารผจญตามคติโบราณจะจริงหรือไม่ ไม่ใช่ข้อที่สำคัญ แต่ข้อที่สำคัญ ผู้จะบวชไม่ควรตั้งอยู่ในความประมาท   ควรตั้งใจท่องคำขอบวชให้ขึ้นใจเพื่อจะได้ทำหน้าที่ของผู้บวชให้สมบูรณ์ ศึกษาข้อมูลเบื้องต้นและข้อปฏิบัติในชีวิตความเป็นพระภิกษุให้เข้าใจ เพื่อจะได้ปฏิบัติกิจสงฆ์ได้อย่างถูกต้องมีคุณค่าตลอดระยะเวลาที่ใช้ชีวิตในความเป็นพระภิกษุ 

การจัดเตรียมอัฐบริขาร

และเครื่องใช้สำหรับพระภิกษุผู้บวชใหม่

            อัฐบริขาร แปลว่า บริขาร ๘ อย่าง การจัดเตรียมอัฐบริขารและเครื่องใช้สำหรับพระภิกษุผู้บวชใหม่  ควรปรึกษาพระอุปัชฌาย์ เจ้าอาวาส หรือพระสงฆ์ที่ได้รับมอบหมาย จะได้จัดให้ถูกต้องเหมาะสมตามกำหนดระยะเวลาที่บวช เนื่องจากเครื่องใช้บางอย่างไม่จำเป็น  ไม่มีก็สามารถบวชได้

๑. บริขารที่จำเป็น เรียกว่า  อัฐบริขาร  หรือบริขาร ๘  เป็นข้อกำหนดทางพระวินัยที่ขาดไม่ได้คือ สบง จีวร สังฆาฏิ ประคตเอว บาตร มีดโกน เข็ม ธมกรก (กระบอกกรองน้ำ) อธิบายในรายละเอียด ดังนี้

            (๑) ไตรครอง  ผ้าไตรครองประกอบด้วยผ้า  ๓  ผืนหลัก คือ  ๑. จีวร ๒. สังฆาฏิ  ๓. สบง    (และผ้าประกอบไตรครอง    ๔  ผืน    คือ   ๑. ผ้ากราบ ๒. ผ้าอังสะ ๓. ผ้ารัดอก ๔. รัดประคต)

(๒) บาตร (พร้อมฝาและเชิงบาตร)  ถลกบาตร  สายโยง  ถุงตะเคียว (ตาข่ายคลุมบาตรและสายโยงสำหรับใช้สะพาย)

                        (๓) มีดโกน สมัยโบราณมีหินลับมีดประกอบเข้ามาด้วย  แต่ปัจจุบันหินลับมีดไม่จำเป็น  เนื่องจากนิยมใช้ใบมีดโกนสำเร็จรูป

                        (๔) ประคตเอว

                        (๕) เข็มเย็บผ้า พร้อมทั้งกล่องเข็ม และด้าย

                       (๖) กระบอกกรองน้ำ  เรียกว่า ธมกรก

สำหรับ มีดโกน เข็มเย็บผ้า กล่องเข็ม  ด้าย  และกระบอกกรองน้ำ (ธมกรก) ให้ใส่ลงไปในบาตร

            ในสมัยปัจจุบัน บริขารทั้ง ๘ อย่างนี้ บางอย่างอาจจะดูเกินความจำเป็น  เช่น ธมกรก (กระบอกกรองน้ำ) พระภิกษุแทบจะไม่ได้ใช้   เนื่องจากมีกระบอกกรองน้ำแบบสมัยใหม่ แต่ก็เป็นข้อกำหนดทางพระวินัย  เป็นแบบแผนข้อปฏิบัติสำหรับผู้จะบวชใหม่ จะต้องมีบริขารครบจึงจะบวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนาได้   อัฐบริขารทั้ง ๘ ข้างต้นจึงเป็นสิ่งจำเป็นขาดไม่ได้

. บริขารที่ไม่จำเป็น เพราะไม่เกี่ยวกับข้องกับพิธีการบวช แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่จำเป็นสำหรับการดำนินชีวิตของพระภิกษุ ในพิธีอุปสมบทบริขารเหล่านี้จะมีก็ได้ไม่มีก็ได้  สามารถประกอบพิธีอุปสมบทได้  หรือภายหลังจากอุปสมบทแล้ว จะจัดหามาถวายก็ได้ 

ต่อไปนี้จะแนะนำเครื่องใช้สำหรับพระภิกษุใหม่   เครื่องใช้ดังกล่าวนี้ไม่จำเป็นต้องมีครบทุกอย่าง  แต่ให้เลือกที่คิดว่าจะได้ใช้จริง  เช่น มุ้ง ในเมืองกรุงไม่จำเป็น เพราะกุฏิส่วนมากติดมุ้งลวด  ส่วนในภูมิภาคหรือชนบท อาจพิจารณาตามความเหมาะสม เนื่องจากแต่ละท้องถิ่นมีความเป็นอยู่แตกต่างกันไป

            (๑) ไตรอาศัย ประกอบด้วยผ้า ๓ ผืน คือ จีวร ๑ สบง ๑ อังสะ ๑  (บางทีก็มีผ้าอาบ  เพิ่มเข้ามา)     

(๒) เสื่อ หมอน ผ้าห่ม มุ้ง

            (๓) ตาลปัตร ย่าม ผ้าเช็ดตัว ผ้าเช็ดหน้า ร่ม รองเท้า

            (๔) หนังสือสวดมนต์ หนังสือธรรมะ โคมไฟฟ้า หรือตะเกียง ไฟฉาย นาฬิกาปลุก

(๕) ขันอาบน้ำ สบู่ และกล่องสบู่ แปรงสีฟัน   และยาสีฟัน   ผ้า กระดาษชำระ

(๖) ที่ต้มน้ำ กาต้มน้ำ กาชงน้ำร้อน ถ้วยน้ำร้อน เหยือกน้ำและแก้วน้ำเย็น กระติกน้ำแข็ง กระติกน้ำร้อน พัดลม

(๗) กระโถน

(๘) สำรับ ปิ่นโต คาว หวาน จานข้าว ช้อนส้อม ผ้าเช็ดมือ

 (๙) อาสนะนั่ง

            ในที่นี้ขอแนะนำเครื่องใช้ที่พระภิกษุได้ใช้จริง คือ ไตรอาศัย ประกอบด้วย จีวร ๑ สบง ๑ อังสะ ๑ ใช้เป็นผ้าสำหรับผลัดเปลี่ยน ในกรณีบวชน้อยวันจะมีเฉพาะสบงกับอังสะก็ได้ นอกจากนั้นก็มีผ้าอาบ  เสื่อ หมอน ผ้าห่ม  ย่าม ผ้าเช็ดตัว   ร่ม รองเท้า หนังสือสวดมนต์ หนังสือธรรมะ ขันอาบน้ำ สบู่  กล่องสบู่   แปรงสีฟัน   ยาสีฟัน

สำหรับ ตาลปัตร โคมไฟอ่านหนังสือ  ไฟฉาย  นาฬิกาปลุก มุ้ง พัดลม แก้วน้ำ กระติกน้ำร้อน จานข้าว ช้อนส้อม   ถ้าทางวัดไม่มี  ควรจัดหามาถวายภายหลัง

บริขารเหล่านี้ควรปรึกษาพระอุปัชฌาย์   หรือพระสงฆ์ที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลนาค  เพราะหากไปปรึกษาร้านค้า เขาก็จัดให้ทุกอย่าง เนื่องจากพ่อค้าแม่ค้า ย่อมต้องการขายสินค้าอยู่แล้ว ของบางอย่างไม่จำเป็น แถมยังต้องมาเป็นภาระทางวัดที่จะต้องจัดเก็บอีกด้วย  ผู้บวชจึงควรพิจารณาให้เหมาะสม

การจัดเตรียมเครื่องสักการบูชา

และไทยธรรมสำหรับพระสงฆ์

การจัดเครื่องสักการบูชาพระอุปัชฌาย์อาจารย์ และไทยธรรมสำหรับพระสงฆ์ อีกทั้งปัจจัยไทยธรรมสำหรับถวายพระอันดับ  ควรสอบถามจากพระอุปัชฌาย์  เจ้าอาวาส หรือพระสงฆ์ที่ได้รับมอบหมาย เนื่องจากแต่ละท้องถิ่นก็มีข้อปลีกย่อยแตกต่างกันออกไป 

แม้จะไม่มีเครื่องสักการบูชา ก็สามารถบวชสำเร็จเป็นพระภิกษุได้สมบูรณ์  เพราะการบวชสำเร็จโดยสงฆ์   แต่ประเพณีไทย  นิยมถือปฏิบัติกันมาว่า  พ่อแม่ญาติพี่น้อง พวกพ้องบริวาร  แม้ไม่ได้บวชด้วยตนเอง  ก็ได้ถือโอกาสร่วมทำบุญกับผู้บวช 

ในที่นี้ จะแสดงธรรมเนียมที่นิยมปฏิบัติโดยทั่วไปในสังคมไทยไว้พอเป็นหลัก  ผู้จะบวชสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสม

            ๑. เครื่องสักการบูชาสำหรับถวายพระอุปัชฌาย์

                        -กรวย ธูปเทียนแพ หรือ ดอกไม้ธูปเทียน ที่ใช้เป็นเครื่องบูชา (ให้จัดตามท้องถิ่นนิยม และเน้นความประหยัด)

                        – ปัจจัยไทยธรรม

                        -ดอกไม้ขอนิสัย ๓ ชุด (ดอกบัว ๓ ดอก ธูป ๓ ดอก  เทียน ๒ เล่ม )   มีรายละเอียดการใช้  ดังนี้ 

ชุดที่ ๑ สำหรับนาคใช้ประณมมือทำประทักษิณเวียนรอบสีมา  แล้ววันทาสีมา

ชุดที่ ๒ ใช้วันทาพระประธานเมื่อนาคเข้าไปภายในอุโบสถ

ชุดที่ ๓ ใช้เป็นดอกไม้ธูปเทียนขอนิสัย โดยนิยมถวายพร้อมบาตร  เมื่อจะขอนิสัย เพื่อบวชเป็นพระภิกษุ

            ๒. เครื่องสักการบูชาสำหรับถวายพระคู่สวด   ๒  รูป  คือ

          (๑)พระกรรมวาจาจารย์ (รูปที่นั่งด้านขวามือพระอุปัชฌาย์ เรียกว่า พระกรรมวาจาจารย์ แปลว่า พระอาจารย์ผู้สวดกรรมวาจาประกาศในท่ามกลางสงฆ์ ในพิธีอุปสมบท )

                                    -กรวย ธูปเทียนแพ

                         -ปัจจัยไทยธรรม

(๒)พระอนุสาวนาจารย์ (รูปที่นั่งด้านซ้ายมือพระอุปัชฌาย์ เรียกว่า พระอนุสาวนาจารย์ แปลว่า พระอาจารย์ผู้สวดประกาศคำขอปรึกษาและตกลงมติสงฆ์ให้การอุปสมบท)  ทั้ง ๒ รูปเป็นพระอาจารย์ของผู้บวช

                                    -กรวย  ธูปเทียนแพ

                                     -ปัจจัยไทยธรรม

            ๓.  ของถวายพระอันดับ  ปัจจัยไทยธรรม จัดตามจำนวนพระอันดับที่นิมนต์    

สำหรับพระอันดับที่นิมนต์นั้น  ท่านมีกำหนดตามพระวินัย   ในต่างจังหวัดซึ่งเป็นถิ่นที่หาพระสงฆ์ได้ยาก ประชุมสงฆ์ ๕ รูปก็ใช้ได้    ในถิ่นที่หาพระสงฆ์ได้ง่าย  ประชุมสงฆ์ ๑๐ รูปขึ้นไป  บางแห่งนิยม  ๒๐ รูป    ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับธรรมเนียมของแต่ละวัด

การขอขมาบิดามารดา

ญาติผู้ใหญ่ และบุคคลที่เคารพนับถือ

            การขอขมาเป็นการแสดงความบริสุทธิ์ใจ ที่เราจะได้บวชในพระพุทธศาสนา ไม่ได้หมายความว่า เรามีความผิดต่อทุกท่าน จึงต้องขอขมา  แต่เป็นการบอกลาตามขนบธรรมเนียมไทย  เพื่อให้ท่านได้รับทราบและอนุโมทนา  หรือหากมีความประมาทพลาดพลั้ง ท่านจะได้อโหสิกรรม

การขอขมาเป็นกิจส่วนตัวของผู้บวช ที่จะปฏิบัติต่อญาติผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ  ความมุ่งหมาย ก็เพื่อเป็นการขอขมาลาโทษ หากจะมีความประมาทพลาดพลั้งต่อกัน 

ในอีกด้านหนึ่ง เป็นการบอกกล่าวญาติผู้ใหญ่ให้รับรู้ว่าเราจะบวชในบวรพุทธศาสนา ตามธรรมเนียมไทยที่เรียกว่า “ไปลามาไหว้”   เป็นการแบ่งส่วนบุญกุศลที่จะเกิดจากการบวชให้ผู้อื่น

ข้อปฏิบัติในการขอขมา   เมื่อกำหนดวันบวชแล้ว  ให้ผู้บวชไปพบญาติผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ  จะมีธูปเทียนแพก็ได้ ไม่มีก็ได้  ไม่ใช่ข้อที่สำคัญ  พร้อมกับกล่าวคำขอขมา    

คำขอขมาโทษ

กรรมทั้งหลายที่ข้าพเจ้าได้ประมาทพลาดพลั้ง ต่อบิดามารดา (ต่อท่านทั้งหลาย)  ด้วยกายก็ตาม    ด้วยวาจาก็ตาม   ด้วยใจก็ตาม  ทั้งต่อหน้าและลับหลัง  มีเจตนาก็ตาม    มิได้มีเจตนาก็ตาม ขอท่านทั้งหลายจงอโหสิกรรมให้แก่ข้าพเจ้า  เพื่อความเจริญงอกงามไพบูลย์ในพระศาสนาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นับแต่นี้เป็นต้นไป 

อนึ่ง บุญกุศลอันใดอันหนึ่งที่จะเกิดจากการบวช ขอท่านได้อนุโมทนา และมีส่วนแห่งบุญกุศลนั้นทุกประการ

ความเข้าใจ เรื่อง สงฆ์

ผู้ทำหน้าที่ในการบวชให้กุลบุตร

ปัจจุบันมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับคำว่า “สงฆ์” มาก เรามักจะเอาสงฆ์ที่ต้องทำกิจตามวินัยไปปะปนกับพระภิกษุสงฆ์จนเกิดความเข้าใจผิดว่า  ถ้าถวายสังฆทานกับพระภิกษุไม่ครบจำนวน ๔ รูป  ไม่เป็นสังฆทาน  ทำแล้วได้บุญน้อย

คำว่า “สงฆ์” มีความหมาย ๒ นัย คือ สงฆ์ตามธรรมะกับสงฆ์ผู้ทำกิจตามวินัย

· สงฆ์  ตามความหมายธรรมะ

สงฆ์ตามความหมายธรรมะ หมายถึง หมู่ภิกษุสงฆ์ จะเป็นภิกษุก็ตาม เป็นสามเณรก็ตาม รูปเดียวก็ตาม  หลายรูปก็ตาม รวมเรียกว่า  “สงฆ์” ตามนัยนี้ คือ พระภิกษุสงฆ์ผู้เป็นตัวแทนของพระสงฆ์ทั้งมวล 

การถวายสังฆทาน  แปลว่า ทานเพื่อสงฆ์  ไม่ได้หมายความว่าจะต้องถวายแก่พระภิกษุ ๔ รูปจึงจะเป็นสังฆทาน  แต่ภิกษุรูปเดียวก็เป็นสังฆทานได้  เพราะเป็นการถวายทานให้เป็นไปในหมู่สงฆ์  มิใช่เจาะจงรูปใดรูปหนึ่ง พระภิกษุที่รับสังฆทานเป็นเพียงตัวแทนสงฆ์ เมื่อท่านรับแล้วจะเอาแจกจ่ายหมู่คณะอย่างไรก็แล้วแต่ท่าน ผู้ถวายทานน้อมใจไปในหมู่ภิกษุสงฆ์ ทั้งพระสงฆ์ในอดีต ในปัจจุบัน และในอนาคต ทั้งที่เคยเห็นและไม่เคยเห็น ทานนั้นก็เป็น “สังฆทาน”  

การที่เราถืออาหารไปตักบาตรตอนเช้า  โดยไม่ได้เจาะจงพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง  พระสงฆ์รูปใดเดินผ่านมา จะเป็นภิกษุก็ตามเป็นสามเณรก็ตาม  ไม่เลือกตักบาตร  อย่างนี้นับว่าเป็นสังฆทานเพราะเป็นทานที่ไม่เจาะจง  พระสงฆ์ที่รับเป็นเพียงตัวแทนพระภิกษุสงฆ์เท่านั้น

แม้ทานที่ถวายระบุพระภิกษุจำนวน ๔ รูป หากจิตใจจำเพราะเจาะจงถวายพระภิกษุ ๔ รูปนี้เท่านั้น  โดยอานิสงส์ก็ไม่ได้เป็นสังฆทาน  เพราะจิตใจคับแคบผูกติดอยู่กับพระแค่  ๔ รูปนี้เท่านั้น  ใจไม่เปิดกว้างไปในสงฆ์ทั้งมวล  ทางมาแห่งบุญก็น้อย อานิสงส์จึงไม่ได้เป็นสังฆทาน  เพราะได้เพียงการปฏิบัติตามรูปแบบการถวายสังฆทานเท่านั้น

อีกอย่างหนึ่ง  การถวายสังฆทานไม่เกี่ยวกับวินัย   เพราะการถวายสังฆทานไม่ได้เป็นสังฆกรรม ไม่ได้เป็นไปตามวินัยบัญญัติ การทำกิจสงฆ์ด้วยจำนวนสงฆ์ ๔ รูปขึ้นไป เป็นข้อกำหนดทางวินัยที่เกี่ยวกับสังฆกรรมโดยเฉพาะ  หากทำสังฆกรรมโดยที่พระสงฆ์ไม่ครบจำนวนตามที่ระบุไว้ผิดวินัย   เช่น รับกฐินพระสงฆ์ไม่ครบ ๕  รูปผิดวินัย คือ ไม่เป็นกฐิน  บวชพระภิกษุจำนวนพระสงฆ์ไม่ถึง ๕ รูป ผิดวินัย และผู้บวชก็ไม่สำเร็จเป็นพระภิกษุ

· สงฆ์ตามความหมายวินัย

            สงฆ์ตามวินัย  หมายถึง สงฆ์ที่ร่วมกันทำกิจสงฆ์ตามข้อบัญญัติทางวินัย   สงฆ์ตามวินัยจะต้องมีจำนวนตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไป  หากมีไม่ถึง ๔ รูปถือว่าไม่ครบองค์สงฆ์ ไม่สามารถทำกิจสงฆ์ตามพุทธบัญญัตินั้นๆ ให้สมบูรณ์ได้  กลายเป็นสังฆกรรมวิบัติไป   สงฆ์ตามวินัยมีดังนี้

สงฆ์ผู้ร่วมทำสังฆกรรมมีจำนวน ๔ รูป เรียกว่าจตุรวรรค สำหรับประกอบวินัยกรรมทั่วๆ ไป

สงฆ์ผู้ร่วมทำสังฆกรรมมีจำนวน ๕ รูป เรียกว่า ปัญจวรรค สำหรับรับกฐิน และประกอบพิธีบวชในต่างจังหวัด ซึ่งเป็นถิ่นที่หาพระได้ยาก  เป็นต้น

สงฆ์ผู้ร่วมทำสังฆกรรมมีจำนวน ๑๐รูป เรียกว่า ทศวรรค  สำหรับประกอบพิธีบวชในภาคกลาง ซึ่งเป็นถิ่นที่หาพระได้ง่าย   เป็นต้น

สงฆ์ผู้ร่วมทำสังฆกรรมมีจำนวน  ๒๐ รูปเรียกว่า วีสติวรรค  สำหรับสังฆกรรมในการออกจากอาบัติสังฆาทิเสสของพระภิกษุ  เป็นต้น

ข้อควรสังเกตเกี่ยวกับสงฆ์ตามธรรมะกับสงฆ์ตามวินัย จะเห็นได้ว่า กิจที่เกี่ยวเนื่องกับสงฆ์ตามพระวินัย  ที่เรียกว่า  สังฆกรรมนั้น  ไม่มีการถวายสังฆทานอยู่ด้วย  เหตุเพราะการถวายสังฆทาน  ไม่ใช่กิจตามวินัยที่จะต้องใช้สงฆ์ ๔ รูปขึ้นไปในการประกอบพิธี

คุณสมบัติเกี่ยวกับการบวช

คุณสมบัติของผู้บวช

          ผู้ที่จะบวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา  จะต้องทำความเข้าใจข้อห้ามในการบวชให้ละเอียด  เพื่อการบวชจะได้ไม่สูญเปล่า  ซึ่งข้อห้ามไม่ได้มีเฉพาะในพระพุทธศาสนาเท่านั้น  แม้ในที่อื่นก็มีข้อห้ามเช่นเดียวกัน

·  คุณสมบัติที่เป็นข้อห้ามเด็ดขาด

            บุคคลมีคุณสมบัติที่เป็นความผิดร้ายแรงไม่สามารถบวชเป็นพระภิกษุได้ ถ้าสงฆ์บวชให้บุคคลเหล่านี้โดยไม่รู้ความจริง   การบวชของผู้นั้น  ไม่สำเร็จเป็นพระภิกษุ   เมื่อรู้ภายหลังจะต้องให้สึกเสีย  เพราะถึงบวชก็ไม่สำเร็จเป็นพระภิกษุ  บุญกุศลที่จะเกิดจากความเป็นพระภิกษุก็ไม่เกิด นอกจากบุญกุศลไม่เกิดแล้ว ยังเป็นการสร้างบาปกรรม เพราะไม่มีคุณสมบัติแห่งความเป็นพระภิกษุ แต่ดำเนินชีวิตอย่างพระภิกษุ อาศัยชาวบ้านเลี้ยงชีพ เหมือนหลอกลวงชาวบ้านเลี้ยงชีพ คุณสมบัติที่เป็นความผิดร้ายแรง  มีดังนี้

๑.  ต้องเป็นมนุษย์เพศชายมีอายุครบ  ๒๐ ปีบริบูรณ์เท่านั้น

            ๒. ต้องไม่เป็นมนุษย์วิบัติ ได้แก่ คนมีเพศบกพร่อง ๒ จำพวก  คือ 

      (๑) บัณเฑาะก์   ได้แก่ ชายมีราคะกล้า ประพฤตินอกรีตในการเสพกาม  สามารถยั่วยวนให้ชายอื่นเกิดราคะได้  ชายที่เป็นกระเทยโดยกำเนิด   ชายที่ถูกตอน รวมทั้งผู้ผ่าตัดแปลงเพศ   

      (๒) อุภโตพยัญชนก   คนมีสองเพศ  ทำหน้าที่เพศชายก็ได้    ทำหน้าที่เพศหญิงก็ได้   

คนมีสองเพศ ท่านอธิบายว่า  เวลาต้องการทำหน้าที่ผู้ชาย  ความต้องการแบบเพศชาย ก็จะปรากฏชัด   เวลาต้องการทำหน้าที่ผู้หญิง  ความต้องการแบบเพศหญิง ก็จะปรากฏชัด  

การที่พระพุทธองค์ ทรงห้ามไม่ให้คนมีเพศบกพร่องบวช ไม่ได้หมายความว่า  เป็นการกีนกัดทางเพศ หรือเขาเหล่านั้นไม่มีคุณสมบัติที่เข้าถึงธรรมได้  คนเหล่านั้นมีคุณสมบัติที่จะบรรลุธรรมได้ทุกประการ เพียงแต่หากอนุญาตให้คนมีเพศบกพร่องบวช  อาจจะทำให้ศาสนาเกิดความปั่นป่วนวุ่นวายได้   เพราะผู้มีเพศบกพร่องเป็นคนมีราคะกล้าและมีจิตใจอ่อนไหวไม่มั่นคง 

นอกจากนั้น บุคคลเหล่านี้ เมื่อบวชแล้วจะลำบากในการดำรงชีพอย่างพระภิกษุ  เพราะการเป็นพระภิกษุต้องอาศัยชาวบ้านเลี้ยงชีพ  เมื่อทำตัวไม่เหมาะสมชาวบ้านก็ไม่มีใครถวายอาหารพระ ทำให้เกิดความลำบากได้ 

แท้จริง การห้ามคนมีเพศบกพร่องบวชเป็นพระภิกษุ  ไม่ใช่พระพุทธศาสนารังเกียจบุคคลประเภทนี้ แต่เพราะเพื่ออนุเคราะห์   ป้องกันความลำบากที่จะเกิดขึ้นกับตัวผู้บวชเอง และป้องกันอกุศลกรรมที่อาจจะเกิดขึ้น  จากความเป็นผู้มีราคะกล้าและมีจิตใจอ่อนไหวไม่มั่นคง อันเป็นธรรมชาติของบัณเฑาะก์และอุภโตพยัญชนก 

            ๓. ต้องเป็นผู้ไม่เคยทำอนันตริยกรรม คือ กรรมหนัก ได้แก่ ฆ่าพ่อ ฆ่าแม่  ต้องเป็นคนที่ไม่เคยทำผิดร้ายแรงต่อศาสนา ได้แก่ ฆ่าพระอรหันต์  ข่มขืนนางภิกษุณี   ต้องเป็นคนไม่เคยต้องอาบัติปาราชิกมาแล้วตั้งแต่บวชครั้งก่อน  เมื่อก่อนขณะที่ยังเป็นพระภิกษุอยู่  ได้ไปบวชเป็นพระในศาสนาอื่น โดยที่ไม่ลาสิกขา ภายหลังเปลี่ยนใจจะมาขอบวชเป็นพระอีกครั้ง  แต่หากลาสิกขาก่อนแล้วไปบวชในศาสนาอื่น เปลี่ยนใจมาขอบวชเป็นภิกษุอีกได้    คนปลอมบวชเป็นภิกษุ(พระปลอม)  ภิกษุผู้ทำสังฆเภท คือ ทำลายสงฆ์ให้แตกจากกัน และ คนที่ทำร้ายพระพุทธเจ้าจนถึงห้อพระโลหิต

·  คุณสมบัติที่เป็นข้อห้ามไม่เด็ดขาด

บุคคลที่มีคุณสมบัติไม่ร้ายแรงเหล่านี้  แม้จะเป็นข้อห้าม  แต่ก็ไม่ใช่ข้อห้ามเด็ดขาดจนถึงกับบวชไม่ได้   ควรมีการพิจารณาอนุเคราะห์ตามสมควรเป็นกรณีๆ ไป  บุคคลที่มีคุณสมบัติไม่ร้ายแรงเหล่านี้ อาทิ

โจรที่มีชื่อเสียงโด่งดัง      คนที่หนีอาญาแผ่นดิน คนที่มีร่างกายพิการ  คนที่พ่อแม่ยังไม่อนุญาต  คนที่เป็นข้าราชการ ยังไม่ได้รับอนุญาตจากพระราชาหรือทางราชการ คนที่หนีมาบวช คนที่เป็นทาสเขา  คนที่เป็นโรคเรื้อรัง  เป็นโรคติดต่อ  เป็นลมบ้าหมู คนไม่มีอัฐบริขาร   คนไม่มีพระอุปัชฌาย์

คุณสมบัติประชุมสงฆ์ที่เข้าร่วมในพิธีบวช

สงฆ์ที่เข้าร่วมในพิธีบวชให้ผู้ขอบวชนั้น จะต้องครบจำนวนสงฆ์ตามวินัย หากไม่ครบองค์สงฆ์ก็ไม่สามารถบวชได้   สงฆ์ที่จะเข้าร่วมในพิธีบวช   ดังนี้

            (๑)   ปัจจันตชนบท    ในต่างจังหวัดเป็นท้องถิ่นที่หาพระภิกษุได้ยากใช้สงฆ์จำนวน   ๕  รูปขึ้นไป

                        (๒)  มัธยมประเทศ   ในภาคกลางเป็นท้องถิ่นที่หาพระภิกษุได้ง่ายใช้สงฆ์ จำนวน ๑๐ รูปขึ้นไป

สีมา และคุณสมบัติของสีมาที่ใช้ประกอบพิธีบวช  

สถานที่สงฆ์กำหนดเขตแดนที่จะประกอบพิธีอุปสมบท  เรียกว่า  “สีมา   แปลว่า   เขตแดนสำหรับทำกิจสงฆ์ตามพุทธบัญญัติ  สีมา มี ๒ ประเภท  คือ

(๑) พัทธสีมา  สีมาที่พระภิกษุกำหนดเขตโดยการยินยอมจากทางบ้านเมืองแล้วสวดผูกเป็นสีมา และมีนิมิตเป็นสัญลักษณ์  มี ๓ ชนิด ได้แก่  สีมาที่สวดผูกเฉพาะโรงอุโบสถ เรียกว่า ขันธสีมา  สีมาที่ผูกทั้งวัด เรียกว่า มหาสีมา  และสีมาที่สวดผูกสองชั้น 

(๒) อพัทธสีมา  สีมาที่กำหนดเอาอาณาเขตตามหมู่บ้าน ที่พระภิกษุอยู่อาศัยเป็นเขตสีมา   เรียกว่า  คามสีมา

การอุปสมบทต้องประกอบพิธีในเขตสีมาเท่านั้น   หากทำนอกเขต  ไม่สำเร็จเป็นพระภิกษุ 

สงฆ์ที่จะเข้าร่วมในพิธีอุปสมบท  จะต้องประชุมพร้อมกันในสีมาอันเดียวกันเท่านั้น   ถ้ามีพระภิกษุมาไม่ได้ต้องมอบฉันทะ (๓) ให้พระภิกษุรูปอื่นมาบอกสงฆ์

สีมาที่ใช้ในการทำสังฆกรรมนั้น  สงฆ์เป็นผู้กำหนดเขตขึ้นมาแล้วสวดผูกตามวินัย จะกำหนดบนบกก็ได้  ในน้ำก็ได้  ถ้ากำหนดในน้ำต้องต่อเรือหรือแพตรึงให้มั่นคงอยู่กับที่

ขนาดของสีมาต้องพอเหมาะพอดี  ไม่เล็กเกินไปไม่ใหญ่เกินไป สีมาขนาดเล็กต้องให้พระภิกษุนั่งได้ ๒๑ รูปเป็นอย่างต่ำ เพราะสังกรรมบางอย่างต้องอาศัยพระภิกษุ ๒๑ รูปร่วมสังฆกรรม  เช่น การออกจากอาบัติสังฆาทิเสส ต้องอาศัยสงฆ์ ๒๑ รูป หากเล็กเกินไปก็ไม่พอที่พระภิกษุจะนั่งทำสังฆกรรมได้  สีมาขนาดใหญ่ไม่ให้เกิน ๓ โยชน์ (๔) เพราะใหญ่เกินไปทำให้ยุ่งยากในการทำสังฆกรรม  สีมาที่เล็กเกินไปและใหญ่เกินกว่าที่กำหนด เป็นสีมาวิบัติ คือ เป็นสีมาที่ทำสังกรรมไม่ได้  

สีมานั้นต้องมีนิมิต คือ เครื่องหมายกำหนดเขตสีมาที่เรียกว่า นิมิต ในสมัยพุทธกาลนั้นภิกษุกำหนดเอาภูเขา ศิลา ป่าไม้ ต้นไม้ จอมปลวก หนทาง แม่น้ำ และน้ำเป็นนิมิตกำหนดเขตสีมา  เนื่องจากพระภิกษุอยู่กับธรรมชาติ

เครื่องหมายกำหนดเขตสีมา ที่เรียกว่า นิมิตนั้น จะกำหนดเป็น ๔ ทิศ หรือ ๘ ทิศก็ได้  ส่วนมากสีมาขนาดเล็กมีนิมิต ๔ ทิศ สีมาขนาดใหญ่มีนิมิต ๘ ทิศ  แต่ในประเทศไทยนิยมกำหนดสีมาเป็น ๘ ทิศ ในปัจจุบัน  สีมาตามประเพณีนิยมในประเทศไทย กำหนดนิมิตเพิ่มเข้ามาอีกเป็น ๙ เรียกว่า นิมิตเอก  อยู่กลางสีมา

เครื่องหมายกำหนดเขตสีมา ตามประเพณีในประเทศไทยนั้น  นิยมทำจากศิลามีลักษณะกลมเหมือนผลส้ม  หรือศิลาเป็นรูปใบเสมา  และเขตสีมานั้นจะต้องได้รับอนุญาตจากทางบ้านเมืองก่อน  จึงจะกำหนดสวดผูกเขตสีมาได้   ข้อที่ควรทราบอีกอย่าง คือ ก่อนจะสวดผูกสีมาสถานที่แห่งใด  ต้องสวดถอนสถานที่แห่งนั้นก่อน  เพราะเราไม่รู้ว่าสถานที่แห่งนั้นอาจเคยถูกสวดผูกเป็นสีมามาแล้ว  หากสวดผูกลงไปอีก  ก็จะเป็นการผูกสีมาซ้ำ ทำให้เป็นสีมาเสียหรือสีมาวิบัติ และทำสังฆกรรมไม่ได้

กิจที่จะต้องตระเตรียมให้เสร็จก่อนบวช

(๑)  ต้องนิมนต์พระอุปัชฌาย์เป็นประธานสงฆ์บวชให้

(๒) ต้องเตรียมอัฐบริขารทั้ง ๘ อย่างให้พร้อม (จีวร สังฆาฏิ สบง บาตร มีดโกน เครื่องกรองน้ำ ด้ายเย็บผ้า และเข็ม)

(๓)  ต้องปลงผมและหนวดให้เรียบร้อย ธรรมเนียมพระภิกษุในประเทศไทยนิยมโกนคิ้วด้วย   

(๔) ต้องกล่าวคำขอบวชด้วยตนเอง พระพุทธองค์ห้ามไม่ให้บวชแก่ผู้ไม่ขอบวช เพื่อป้องกันมิให้ผู้บวชที่เกิดความไม่พอใจในภายหลังแล้วอ้างได้ว่า “ผมไม่ได้ขอบวชเองอย่ามาสอนผม” จึงต้องให้ผู้บวชเปล่งวาจาขอบวชด้วยตนเอง   ในปัจจุบันจึงต้องมีการซ้อมขานนาค

การสวดประกาศกรรมวาจาท่ามกลางสงฆ์

การสวดประกาศกรรมวาจาท่ามกลางสงฆ์คือ การสวดบอกสงฆ์ให้ทราบเพื่อขอมติสงฆ์ว่า จะรับผู้ที่มาขอบวชนี้เข้าเป็นสงฆ์หรือไม่ การสวดประกาศกรรมวาจา ก็เพื่อให้สงฆ์ที่ประชุมกันในสีมานั้นได้รับทราบ  และร่วมกันทำการอุปสมบท   โดยการตั้งญัตติ หรือสวดปรึกษาสงฆ์ ๑  ครั้ง  และสวดขอมติสงฆ์  ๓ ครั้ง (อนุสาวนา) รวมเป็น ๔ ครั้ง  เรียกว่า “ญัตติจตุตถกรรมวาจา” 

ในขณะสวดขอมติทั้ง ๓ ครั้ง หากมีภิกษุที่นั่งเป็นพระอันดับรูปใดรูปหนึ่งคัดค้านขึ้นมาท่ามกลางสงฆ์ ญัตตินั้นเป็นอันตกไป  และการบวชนั้นเป็นอันใช้ไม่ได้

อนึ่ง ในขณะสวดญัตติ (๕) ห้ามบุคคลที่ไม่ใช่สงฆ์เข้ามาใกล้หัตถบาส เพราะจะทำให้สังฆกรรมวิบัติ  ชาวบ้านเรียกว่าบวชไม่ขึ้น  โดยให้ห่างจากประชุมสงฆ์ประมาณ ๑ วา บางวัดไม่อนุญาตให้บุคคลที่ไม่ใช่พระภิกษุเข้าโบสถ์  ขณะประกอบพิธีอุปสมบท

นอกจากนั้น พระภิกษุที่ไม่ได้เข้าร่วมสังฆกรรมจะเข้ามาในเขตสีมาไม่ได้  หากเข้ามาในเขตสีมาจะต้องเข้ารวมหัตถบาส

การบวชที่ทำให้ไม่สำเร็จเป็นพระภิกษุ 

การบวชที่ทำให้ไม่สำเร็จเป็นพระภิกษุ  เรียกว่า สังฆกรรม-วิบัติ   แม้จะผ่านพิธีบวชแล้วก็ไม่สำเร็จเป็นพระภิกษุ  มี  ๕ ประการ  

(๑) ผู้บวชมิใช่มนุษย์เพศชาย มีอายุไม่ครบ  ๒๐ ปีบริบูรณ์  เป็นคนมีเพศบกพร่อง คือ ถูกตอน หรือผ่าตัดแปลงเพศ เคยฆ่ามารดาหรือบิดาของตน เคยทำผิดร้ายแรงต่อพระศาสนา  เช่น ฆ่าพระอรหันต์ เคยต้องอาบัติปาราชิกมาแล้วตั้งแต่บวชครั้งก่อน    และขณะที่ยังบวชเป็นพระภิกษุได้ไปบวชในลัทธิศาสนาอื่น ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้ลาสิกขา

 (๒) สงฆ์ที่เข้าร่วมประชุมไม่ครบจำนวนตามวินัยระบุไว้ คือ ในชนบทห่างไกล  หาพระสงฆ์ได้ยาก  ใช้สงฆ์จำนวน  ๕ รูป    ในเมืองที่หาพระสงฆ์ได้ง่าย  ใช้สงฆ์จำนวน  ๑๐  รูป ต่ำกว่าจำนวนที่กำหนด ประกอบพิธีบวชไม่ได้    

(๓)การประกอบพิธีบวชไม่ได้ทำในเขตสีมา ญัตติที่ประกาศในที่ประชุมสงฆ์นั้น   ถือว่าเป็นโมฆะ

(๔) ไม่มีพระอุปัชฌาย์ ไม่มีอัฐบริขารทั้ง ๘ อย่าง

 (๕) มีพระภิกษุคัดค้านขึ้นมาท่ามกลางสงฆ์


(๑) สหธรรมิก  หมายถึง  เพื่อนพระภิกษุที่บวชปฏิบัติธรรมด้วยกัน

(๒) เถ้ารึง  หมายถึง  เถ้าไฟที่ไหม้จนหมดถ่านแล้ว แต่ยังมีเถ้าร้อนระอุอยู่

(๓) มอบฉันทะ คือ ยอมรับและเห็นชอบตามมติสงฆ์ทุกประการ  เพื่อป้องกันไม่ให้มีการกลับมารื้อฟื้นอธิกรณ์ใหม่อีกครั้ง

(๔) มาตราวัดสมัยพุทธกาล  โยชน์ ๑ ประมาณ ๑๖ กิโลเมตร

(๕) ค่านิยมอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นสำหรับชาวไทยเกี่ยวกับการสวดญัตติ  คือ ชาวไทยที่นับถือพระพุทธศาสนา นิยมนำพระเครื่อง หรือวัตถุมงคลอื่นๆ เข้าพิธีอุปสมบท โดยนิยมใส่ลงไปในบาตร เพราะเชื่อว่าจะได้ขลังและศักดิ์สิทธิ์ เนื่องจากพิธีสวด “ญัตติ”  เป็นพิธีสวดยกคนธรรมดาขึ้นเป็นพระภิกษุ ซึ่งตรงกับคำว่า “ยัด” หมายถึง ยัดความขลังและศักดิ์สิทธิ์เข้าไปในวัตถุมงคล  ความเชื่อดังกล่าวเป็นความเชื่อส่วนบุคคล  ไม่มีข้อยืนยันตามหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนา

ลูกผู้ชายต้องบวช บรรพ์ที่ ๓ เมื่อแรกคิดที่จะบวช : เรียบเรียงโดย ญาณวชิระ (พระมหาเทอด ญาณวชิโร อดีตพระราชกิจจาภรณ์)

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here