วันนี้วันพระ วันจันทร์ที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๖๖ ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๔

หนังสือที่ลูกผู้ชายต้องอ่าน

“ลูกผู้ชายต้องบวช”

เรียนรู้ชีวิตลูกผู้ชาย ภายใต้ร่มผ้ากาสาวพัสตร์

เพื่อเรียนรู้ชีวิตพระภิกษุที่สมบูรณ์

ญาณวชิระ

อ่านคำนำผู้เขียน

ก่อนอ่านลูกผู้ชายต้องบวช

            หนังสือเกี่ยวกับการบวชเล่มนี้  รวบรวมหลักการบวชไว้อย่างกว้างขวาง ทุกแง่ทุกมุม มีเกร็ดประวัติความเป็นมาแต่ละเรื่อง เพื่อให้หนังสือมีความน่าสนใจ ไม่น่าเบื่อ นอกจากนั้น ยังมีคำศัพท์อธิบายคำบางคำไว้ท้ายเล่ม สำหรับผู้ที่ไม่คุ้นเคยกับคำทางศาสนา  จึงทำให้หนังสือมีเนื้อหาค่อนข้างมาก

            ผู้เขียนต้องการแนะนำวิธีการบวช ที่ตรงตามหลักพระพุทธศาสนา ในขณะเดียวกัน ก็ไม่ได้ละเลยสาระของการบวชที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมประเพณีที่ชาวพุทธควรจะรู้

            ข้อปฏิบัติบางอย่าง เกี่ยวกับการบวชตามประเพณี ไม่เกี่ยวกับสังฆกรรม ตามหลักพระพุทธศาสนา ผู้เขียนได้บอกที่มาที่ไป และเหตุผลในการปฏิบัติเช่นนั้นเอาไว้ เพื่อจะได้ปฏิบัติตามประเพณีอย่างเข้าใจในเจตนารมณ์ของบูรพชน

            ผู้เป็นปัญญาชนที่ยึดมั่นในแก่นพุทธศาสตร์ อาจหงุดหงิดกับหนังสือเล่มนี้ ที่ดูเหมือนจะเน้นพิธีกรรม และหลงติดอยู่กับสิ่งที่ปัญญาชนเรียกว่า “เปลือกหรือกระพี้” จนทำให้หนังสือดูเหมือนจะห่างไกลจากแก่นแท้ของพุทธศาสตร์

ส่วนผู้ที่คุ้นชินกับการบวชตามประเพณีนิยม อาจผิดหวังที่หนังสือเล่มนี้ ไม่ได้เน้นย้ำการบวช ที่เกี่ยวเนื่องกับวัฒนธรรมประเพณี   ไม่ได้แจกแจงแยกแยะข้อปลีกย่อยทางประเพณี จนแทบไม่หลงเหลือภาพการบวชเก่าๆ  ที่คุ้นชิน  ไม่มีรำวง  กลองยาว  ปี่พาทย์  การเลี้ยงที่เอิกเกริกสิ้นเปลือง ตลอดจนแหล่ทำขวัญนาค บอกเล่าเรื่องราวพระคุณพ่อแม่   จนดูเหมือนเป็นหนังสือแนะนำวิธีบวช  ที่ชาวบ้านเรียกกันติดปากว่า “โกนผมเข้าวัด

 อย่างไรก็ตาม หนังสือเล่มนี้ได้ยืนยันข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการบวช ที่ไม่ได้คลาดเคลื่อนจากหลักพระพุทธศาสนา ซึ่งบูรพาจารย์ นำปฏิบัติสืบต่อกันมา จากสมัยพุทธกาลสู่ปัจจุบัน  ทั้งไม่ได้ละทิ้งประเพณีนิยมแบบไทยมาแต่เดิม 

แม้ผู้เขียนเองก็เชื่อมั่นว่า ความงดงามทางวัฒนธรรม และประเพณีไทย ถูกหล่อหลอมขึ้นจากหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา มีความละเอียด ประณีตงดงามและกลมกลืน โดยมีหลักคำสอนของพระพุทธองค์เป็นแกนหลัก    

ผู้เขียนได้พยายามประสานแก่นแท้ของการบวช ตามหลักพระพุทธศาสนา ให้สอดคล้องกับการบวชตามแบบวัฒนธรรมประเพณีไทย  และให้ชื่อหนังสือเล่มนี้ว่า  “ลูกผู้ชายต้องบวช” เพื่อยืนยันเจตนารมณ์บูรพชนไทย ที่ยอมรับนับถือพระพุทธศาสนา เป็นศาสนาประจำชาติไทย และต่างก็ยืนยันอุดมคติของบรรพชนไทย ว่า “เกิดเป็นลูกผู้ชาย นับถือพระพุทธศาสนาชาติหนึ่ง ต้องบวช

จิรํ    ติฏฺฐตุ    พุทฺธสาสนํ ฯ

ขอพระพุทธศาสนาจงดำรงอยู่ตลอดกาลนาน

 “ญาณวชิระ”

นครหลวงของประเทศไทย, ระหว่างพรรษา  ปีพุทธศักราช   ๒๕๕๐

บรรพ์ที่  ๑

ลูกผู้ชายต้องบวช

คุณมารดาบิดามีค่ายิ่ง

การบวช คือ การตอบแทนคุณบิดามารดา

เรามักได้ยินคนพูดกันจนคุ้นหูว่า “เกิดเป็นลูกผู้ชายชาวพุทธชาติหนึ่งต้องบวช” ทั้งๆ ที่ไม่รู้ว่าทำไมเกิดเป็นลูกผู้ชายจึงต้องบวช คำพูดนี้เป็นคำพูดของชาวไทยที่นับถือพระพุทธศาสนา ผ่านความเปลี่ยนแปลงของชีวิต จนเกิดประสบการณ์   รู้เห็นความเป็นไปของสังคม  เข้าใจความเป็นจริงของชีวิต จึงต้องการทำสิ่งงดงามที่สุดให้แก่ชีวิต และให้แก่ผู้ที่ได้ชื่อว่า “พ่อกับแม่” แม้ลูกผู้ชายหลายคนจะให้เหตุผลของการบวชว่า ตั้งใจบวชให้พ่อแม่ก็ตาม 

แต่แท้ที่จริง  การบวชในพระพุทธศาสนา ย่อมสำเร็จประโยชน์แก่ตัวผู้บวชนั่นเองเป็นเบื้องต้น   

หลายคนบอกว่า  หากการบวช  คือ การทำความดีเพื่อพ่อแม่ สำหรับลูกผู้ชายคนหนึ่ง ถ้าเราเป็นคนดีอยู่แล้ว เป็นคนมีระเบียบวินัย ตั้งใจศึกษาเล่าเรียน มีความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ไม่เป็นอันธพาลสร้างความเดือดร้อนให้แก่สังคม  ไม่เที่ยวเตร่ดึกดื่นทำให้พ่อแม่เป็นห่วงเป็นกังวล จนกินไม่ได้นอนไม่หลับเช่นนี้ ก็ไม่จำเป็นต้องบวช  เพราะอย่างไรก็เป็นคนดีอยู่แล้ว  

แต่ความดีของลูกตามที่กล่าวนั้น ไม่ใช่ความหวังสุดท้ายที่พ่อแม่ต้องการ พ่อแม่ทุกคนรักลูก  ไม่อยากเห็นลูกลำบาก และล้วนหวังที่จะเห็นลูกเป็นคนดี  มีความเจริญก้าวหน้าในชีวิต  

            การที่ลูกเจริญเติบโตโดยปราศจากแขนขาพิกลพิการ  ไม่เป็นอันธพาลสร้างความเดือดร้อนให้สังคม การเห็นลูกสำเร็จการศึกษา มีความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน มีหลักฐานมั่นคง พออุ่นใจได้ว่าลูกจะไม่ลำบากเดือดร้อน สิ่งเหล่านี้เป็นความหวังของผู้ที่ได้ชื่อว่า “พ่อแม่” แต่ความหวังสูงสุด อันเป็นความหวังสุดท้าย คือ การที่จะได้เห็นผ้าเหลืองห่มกายลูกชาย ภายใต้ร่มเงาพระพุทธศาสนา  

หากมีลูกชาย ชาวไทยที่นับถือพระพุทธศาสนา จึงมักตั้งความหวังลึกๆ ไว้ในใจเสมอว่า วันหนึ่งจะได้ยินจากปากลูกชายว่า “ผมจะบวชให้พ่อกับแม่

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้หญิงที่ได้ชื่อว่า “แม่” มักมีความเชื่อว่า การบวชในพระพุทธศาสนานั้น เป็นการสร้างบุญครั้งยิ่งใหญ่  เป็นการสร้างบุญที่แม่ไม่สามารถสัมผัสได้   เมื่อรู้ว่าได้ลูกชาย จึงหวังที่จะให้ลูกได้บวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา  เพราะความรู้สึกที่ว่า  ลูกชายบวชก็เหมือนแม่ได้บวชด้วย

ความหวังนี้ ก่อตัวขึ้นอย่างเงียบๆ  ภายใต้จิตใจที่เต็มเปี่ยมด้วยศรัทธาที่มีต่อหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา และพลังแห่งความรักความเมตตาไร้ขอบเขต ไร้พรมแดน ตั้งแต่วันแรกที่ลูกชายลืมตาดูโลก 

แม่บางคนอาจจะรอวันนี้จนแก่ชรา จึงได้เห็นผ้าเหลืองห่มตัวลูกชาย บางคนอาจรอมาทั้งชีวิตก็ยังไม่มีโอกาสได้เห็นชายผ้าเหลืองลูกชาย

 ลูกชายบางคนปล่อยให้แม่รอจนแก่ชราจึงบวชให้แม่บางคนบวชเมื่อแม่จากไปโดยที่แม่ไม่มีโอกาสได้เห็นผ้าเหลืองของลูกชาย   

อานิสงส์ของการบวช

เหตุที่มีคำกล่าวว่า ลูกผู้ชายต้องบวช  เพราะการบวชเป็นการตอบแทนบุญคุณพ่อแม่อย่างสูงสุด เป็นการทำความหวังสุดท้ายของพ่อแม่ให้บริบูรณ์  นอกเหนือจากความหวังที่ต้องการให้ลูกเป็นคนดี มีความเจริญก้าวหน้าในชีวิต  ในหน้าที่การงาน  มีความปลอดภัยในชีวิต 

การมีโอกาสเกิดเป็นลูกผู้ชาย ภายใต้ร่มเงาพระพุทธศาสนา  ถือว่าเป็นความโชคดีของชีวิต เป็นความโชคดีที่ลูกผู้ชายอีกหลายพันล้านไม่มีโอกาสสัมผัสได้ ยิ่งถ้ามีโอกาสได้บวชเรียนในพระพุทธศาสนา ดำเนินชีวิตอย่างพุทธบุตร ผู้แสวงหาความสงบ แม้ชั่วระยะเวลาหนึ่งของชีวิต มากบ้าง น้อยบ้าง ตามโอกาส  ยิ่งเป็นช่วงชีวิตที่งดงามควรค่าแก่การจดจำ   ยากที่จะลืมได้  

บางคนเชื่อว่า การบวช ๗ วัน ๑๕ วัน  ๑ เดือน  เป็นสัญญาณบอกให้รู้ว่า อายุพระศาสนาสั้นเข้า เป็นยุคที่พระศาสนาเสื่อม แต่ถ้ามองกลับกัน  ตราบใดที่ยังมีคนบวช ๗ วัน ๑๕ วัน  ๑ เดือน ติดต่อกันไม่ขาดสาย  ตราบนั้น  พระพุทธศาสนาก็ไม่มีวันเสื่อมสลาย สีแห่งผ้ากาสาวพัสตร์ จะยังสงบเย็นเหลืองอร่ามโลกตลอดไป 

ในอีกด้านหนึ่ง  ผู้ที่ผ่านการบวชเรียนเขียนอ่าน ๗ วัน ๑๕ วัน  ๑ เดือน หรือ ๑ พรรษา เมื่อลาสิกขากลับไปดำเนินชีวิตอย่างชาวบ้าน  เขาเหล่านั้นก็ล้วนผ่านเส้นทางธรรมมาแล้ว ย่อมมีหลักให้กับชีวิต สามารถประคับประคองตนให้อยู่ในกรอบแห่งชีวิตที่ดีงามได้  เป็นลูกก็เป็นลูกที่ดีของพ่อแม่ เป็นสามีก็เป็นสามีที่ดีของภรรยา เป็นพลเมืองก็เป็นพลเมืองที่ดีของประเทศชาติ   เป็นหลักในการเผยแผ่ธรรมะ เป็นกำลังในการสืบทอดพระศาสนา และเป็นปราการที่แข็งแกร่งในการปกป้องคุ้มครองพระพุทธศาสนา

 เขาจะเป็นคนที่มีความอดทนเข้มแข็ง และกล้าแกร่ง  แม้ในยามเผชิญช่วงเวลาแห่งความยากลำบากของชีวิต   

การบวชในพระพุทธศาสนา เป็นการเจริญรอยตามแบบอย่างองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  แม้พระองค์ทรงเป็นโอรสกษัตริย์ แต่พระองค์กลับเสียสละทุกอย่างออกบวช เพื่อแสวงหาหนทางที่จะนำไปสู่ความหลุดพ้นจากความทุกข์  ในที่สุดก็ได้ตรัสรู้ตามที่ทรงประสงค์

พระองค์อาศัยพระมหากรุณาอันยิ่งใหญ่ ออกเทศนาสั่งสอนผู้คนให้รู้ความเป็นจริงของชีวิต และวิธีการที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาของชีวิต สูงสุดจนถึงความดับทุกข์อย่างสิ้นเชิง  มีผู้ศรัทธาเลื่อมใสขอบวชตามพระพุทธองค์เป็นจำนวนมาก  แม้ผู้ที่บวชในปัจจุบัน  ก็ชื่อว่าบวชตามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า 

ในทางพระพุทธศาสนา แสดงเรื่องการบวชไว้ว่า  เป็นสิ่งที่ให้สำเร็จประโยชน์ได้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับการประพฤติปฏิบัติด้วยกาย  วาจา  ใจโดยตรง

การบวชทำให้ชีวิตและสังคมงดงาม

ชีวิตภายใต้ร่มผ้ากาสาวพัสตร์เป็นชีวิตที่งดงาม และเต็มไปด้วยพลังแห่งการสร้างสรรค์สิ่งดีงาม ชีวิตภายใต้ร่มผ้ากาสาวพัสตร์จึงเป็นชีวิตที่ผู้คนทั้งหลายต้องการให้ลูกหลานเข้าไปสัมผัส เพราะวิถีของนักบวชคือ การฝึกฝนอบรมตน ขัดเกลากิเลสให้เบาบาง สูงสุดเพื่อทำกิเลสให้สิ้นไป แม้จะบวชไม่นานนัก และยังไม่อาจกระทำในสิ่งสุดได้ในชาตินี้ แต่สิ่งที่ได้อานิสงส์หลังจากการลาสิกขาคือ มีคนนับหน้าถือตาในสังคม  เนื่องจากผู้ที่ผ่านการบวชเรียนเขียนอ่านแล้ว เชื่อว่าจะเป็นคนดีน่าคบค้าสมาคม เมื่อคบเข้าแล้วก็เป็นที่หวัง หรืออบอุ่นใจได้ว่าจะไม่ทำให้ชื่อเสียงเกียรติยศเสียหาย  และเป็นที่พึ่งแก่กันและกันได้ตลอดไป

ชีวิตที่ผ่านการบวชเรียนเขียนอ่านฝึกอบรมจิตใจ เป็นชีวิตที่งดงามด้วยความดี   น่าคบค้าสมาคม  นอกจากผู้ที่ผ่านการบวชจะทำชีวิตของตนเองให้งดงามแล้ว  ยังทำให้สังคมงดงามด้วย

การบวชทำให้จิตใจงดงาม  

ชีวิตภายใต้ร่มผ้ากาสาวพัสตร์ เป็นชีวิตที่เพียรพยายามเอาชนะจิตใจตัวเอง เป็นชีวิตที่ฝึกทวนกระแสจิต ถ้าโกรธก็จะไม่โกรธจนระงับไม่ได้ ถ้าเกลียดก็จะไม่เกลียดจนผูกใจเจ็บอาฆาตพยาบาทปองร้าย จนนำไปสู่การเข่นฆ่าทำลายล้างซึ่งกันและกัน

ถ้าจิตใจไม่มีข้อมูลขยะ คือ ความวิตกกังวลใดๆ ที่เป็นไปในทางที่ไม่ดี ไม่มีไฟ คือ ความโกรธ ความเกลียด ความอาฆาตพยาบาท ความอิจฉาริษยา เป็นต้น แผดเผาให้รุ่มร้อน จิตใจจะสงบทำให้เกิดความสงบเย็นได้ในระดับหนึ่ง 

คนที่ผ่านการบวชมาแล้ว เท่ากับผ่านการฝึกกลั่นกรองไม่ให้ความกังวลเข้ามาสู่จิต ฝึกรับข้อมูลจริงและทิ้งข้อมูลขยะ ที่ถูกส่งผ่านเข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ป้องกันไม่ให้ข้อมูลขยะ คือ ความโกรธเกลียด  อาฆาต พยาบาท และวิตกกังวล เป็นต้น เข้ามาแผดเผาจิตใจ      

ผู้ที่ผ่านการบวช  และได้รับการฝึกหัดขัดเกลาที่ดี จึงเป็นคนมีความละเอียดสุขุม  เป็นคนมองโลกในแง่ดี มองโลกตามความเป็นจริง มีความยับยั้งชั่งใจ  ซึ่งมาจากพื้นฐานจิตใจที่งดงาม

การบวชช่วยขัดเกลาอุปนิสัยให้อ่อนโยน 

ชีวิตภายใต้ร่มผ้ากาสาวพัสตร์ เป็นชีวิตที่มุ่งไปสู่การทำลายกิเลสให้หมดสิ้นไป ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดของหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา  แม้เป้าหมายนั้นอาจอยู่ห่างไกล และก้าวไปได้ยาก ในความรู้สึกของชาวบ้าน  ถึงอย่างนั้น  การบวชก็เป็นการฝึกหัดขัดเกลาจิตใจให้อ่อนโยนงดงาม ไม่หยาบกระด้าง  ไม่ก้าวร้าวรุนแรง  มีความโอบอ้อมอารี  เห็นอกเห็นใจผู้อื่น  ซึ่งเมื่อบวชแล้วนอกจากจะได้เห็นใจตนเอง ยังได้เห็นอกเห็นใจผู้อื่นด้วย   

เป้าหมายที่เกี่ยวกับจิตใจและการละกิเลส  เป็นประโยชน์โดยตรงต่อจิตใจของผู้บวช  ถึงแม้จะไม่สามารถทำลายกิเลสลงได้อย่างราบคาบ แต่การบวชก็เป็นการสร้างบารมี เพื่อความสมบูรณ์แห่งจิตยิ่งขึ้นในภายหน้า  ทำให้ได้เห็นใจตนเอง คือได้เห็นความรู้สึกนึกคิดของตนเองชัดเจนมากยิ่งขึ้น เนื่องจากชีวิตภายใต้ร่มผ้ากาสาวพัสตร์ มีเวลาในการปฏิบัติฝึกหัดขัดเกลาจิตมาก  จึงมีโอกาสได้เห็นตัวตนที่แท้จริงว่าเราเป็นคนอย่างไร ทำให้ความก้าวร้าวรุนแรงในจิตใจลดน้อยลง จิตใจที่ผ่านการฝึกหัดเช่นนี้เป็นจิตที่อ่อนโยนละเอียดประณีต

การบวชเป็นการสนองความหวังดีของพ่อแม่

ชีวิตภายใต้ร่มผ้ากาสาวพัสตร์ ได้ชื่อว่าเป็นการตอบแทนบุญคุณพ่อแม่  เพราะพ่อแม่เห็นว่าเป็นทางที่จะช่วยเสริมชีวิตลูกให้ดีขึ้น เสริมบุญ เสริมบารมี  เสริมจิตใจ เสริมความเจริญก้าวหน้า เสริมเกราะป้องกันจากผู้จองเวร ฯลฯ โดยเฉพาะส่งเสริมทางด้านจิตใจ เช่น พ่อแม่เห็นว่าลูกเป็นคนไม่ละเอียดอ่อน ใจร้อน  วู่วาม หุนหันพลันแล่น  เจ้าโทสะ ไม่รู้จักบาปบุญคุณโทษ ก็ต้องการให้ลูกเป็นคนสุขุมเยือกเย็น  รู้จักยับยั้งชั่งใจ จึงอยากให้บวชในพระพุทธศาสนา เพื่ออบรมขัดเกลาจิตใจให้เย็นลง เป็นการแสดงถึงความปรารถนาดีของพ่อแม่ เมื่อลูกได้บวช  จึงกล่าวได้ว่า เป็นการตอบสนองความปรารถนาดีของพ่อแม่

ลูกที่รู้จักตอบสนองความปรารถนาดีพ่อแม่นั้น  ถือได้ว่าเป็นการตอบแทนพระคุณท่านอีกทางหนึ่ง   เมื่อลูกบวช พ่อแม่เกิดความเบาใจและยังมีโอกาสได้ทำบุญทำทาน มีโอกาสได้เข้าวัดสวดมนต์ฟังเทศน์รักษาศีล หรือที่ทำอยู่แล้วก็ได้ทำมากขึ้นเป็นพิเศษ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นแก่พ่อแม่ ล้วนมาจากการบวชของลูก  เท่ากับว่าลูกเป็นสื่อให้พ่อแม่ได้ทำบุญ

คนไทยจึงถือกันว่า ลูกบวชแล้วทำให้พ่อแม่เกาะชายผ้าเหลืองขึ้นสวรรค์ เพราะเมื่อลูกบวชแล้ว ทำให้พ่อแม่มีโอกาสได้ทำบุญให้ทานรักษาศีล  สวดมนต์ไหว้พระเจริญภาวนามากขึ้นเป็นพิเศษ  ในขณะที่ลูกบวชเป็นพระ จิตใจพ่อแม่ก็อยู่กับลูกตลอดเวลา

การบวชเป็นการสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา 

ชีวิตภายใต้ร่มผ้ากาสาวพัสตร์ เป็นชีวิตที่ช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา เพราะช่วงเวลาที่เข้าไปบวชเรียนอยู่ในพระพุทธศาสนา  ต้องใช้ชีวิตอย่างสมถะ สงบเสงี่ยมเรียบง่าย  ไม่กล่าวร้าย ไม่ว่าร้าย ไม่ทำร้ายใครๆ  เป็นผู้ที่ละเว้นในสิ่งที่ไม่ควรไม่เหมาะสม 

การดำเนินชีวิตเช่นนี้  ชื่อว่าเป็นการสืบต่อพระพุทธศาสนาให้ยืนยาวออกไป เพื่อเป็นประโยชน์แก่คนในรุ่นหลัง แม้ชั่วระยะเวลาของการบวช ๗ วัน ๑๕ วัน เดือนหนึ่ง หรือพรรษาหนึ่ง ก็เป็นการนำชีวิตเข้าไปสืบต่อพระศาสนานั่นเอง 

พ่อแม่ก็ชื่อว่า ได้สืบต่ออายุพระศาสนาด้วย เพราะชีวิตของลูกเป็นชีวิตที่มีพ่อแม่เป็นเจ้าของ   เลือดและเนื้อที่เจริญเติบโตอยู่ในร่างกายของลูก ก็เป็นเลือดเนื้อจากอกของพ่อแม่ ได้นำไปต่ออายุพระศาสนา   การต่ออายุพระศาสนาด้วยการบวชเรียนเขียนอ่านของลูก จึงมีอานิสงส์มาถึงพ่อแม่ผู้ให้กำเนิด 

นอกจากนั้น เพราะการบวชของลูกชาย ยังได้ชื่อว่า ทำให้พ่อแม่เป็นญาติพระศาสนาด้วย

อานิสงส์ของการบวชตามคติโบราณ

อานิสงส์ของการบวชเพื่อตอบแทนค่าน้ำนมของมารดาบิดานี้คนโบราณแสดงอุปมาไว้ว่า 

ถึงแม้มีบุคคลผู้ทรงฤทธิ์เหาะไป เก็บดอกไม้จากป่าอันกว้างใหญ่ไพศาล  มาสักการบูชาองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตั้ง ๑,๐๐๐ องค์ กระทำอยู่อย่างนี้ทุกวันมิได้ขาดตลอดกาล อานิสงส์นั้นจะนำมาเปรียบกับการได้บวชในพระพุทธศาสนาไม่ได้เลย  หรือแม้จะถวายจตุปัจจัยทั้ง ๔ คือ  จีวร  บิณฑบาต   เสนาสนะ และยารักษาโรค แด่พระพุทธเจ้าถึงโกฏิองค์อานิสงส์นั้นจะนำมาเปรียบกับการได้บวช ในพระพุทธศาสนาไม่ได้เลย หรือ ถึงแม้จะมีมหาเศรษฐีจัดสร้างพระพุทธรูปให้เต็มห้วงจักรวาลนี้ แล้วกระทำการสักการะด้วยแก้วทั้ง ๗ ประการ กองประมาณเท่าภูเขาสูงหลายร้อยหลายพันโยชน์ อานิสงส์นั้นจะนำมาเปรียบกับการได้บวช ในพระพุทธศาสนาไม่ได้เลย

และหากจะมีเทพบุตรองค์หนึ่งเป็นผู้มีฤทธานุภาพมาก เสกเอาพื้นปฐพีอันหนาได้สองแสนสี่หมื่นโยชน์มาขยี้ทำให้เป็นผงใช้แทนหมึก แล้วเอามหาสมุทรลึกแปดหมื่นสี่พันโยชน์มาละลาย เอาภูเขาสิเนรุสูงถึงแปดหมื่นสี่พันโยชน์เป็นปากกาสำหรับเขียน  เอาท้องฟ้าอันราบเรียบกว้างใหญ่ไพศาลหาที่สุดมิได้ เป็นสมุดจดจารึกบันทึกผลบุญของบุคคลผู้ได้บวชในพระพุทธศาสนา เขียนด้วยปากกาคือภูเขา จนสิ้นหมึกคือพื้นพสุธา  สิ้นกระแสชลคือมหาสมุทร  ขีดเขียนไปจนหมดหนังสือคือท้องฟ้า จะพรรณนาคุณการบวชให้หมดนั้น ไม่มี    

การบวชมีอานิสงส์มากเท่านั้นจะตอบแทนได้ คนโบราณใช้โวหารแสดงอุปมาไว้ เพื่อเป็นสิ่งเปรียบเทียบให้เห็นความยิ่งใหญ่ของพระคุณพ่อแม่

คุณมารดาบิดามีค่ายิ่ง

ในชีวิตของลูกทุกคน พ่อแม่เป็นผู้มีพระคุณสูงสุด จึงควรทำท่านให้ได้รับความสบายใจ  อย่าให้ทุกข์ระทมขมขื่นใจ ผู้เป็นลูกควรเลี้ยงพ่อแม่ด้วยอาหารกายคือตอบแทนด้วยวัตถุสิ่งของ ตลอดจนการแบ่งเบาภาระหน้าที่ช่วยกิจการงาน และเลี้ยงอาหารใจคือ ตอบแทนด้วยการตั้งอยู่ในโอวาทเชื่อฟังคำแนะนำสั่งสอนของท่าน ประพฤติตัวให้ท่านเกิดความรู้สึกปลาบปลื้มใจ

พฤติกรรมที่ลูกๆ แสดงออกทั้งการกระทำและคำพูดนั้น ล้วนเป็นอาหารหล่อเลี้ยงใจและเป็นยาพิษทำลายความรู้สึกของพ่อแม่ ถ้าลูกๆ ประพฤติดีงดงามด้วยกิริยามารยาท สังคมยกย่องสรรเสริญ  ก็นำความปลาบปลื้มมาสู่จิตใจท่าน เป็นการหล่อเลี้ยงท่านด้วยอาหารใจ ถ้าประพฤติเสียหาย สร้างความเดือดร้อนให้แก่สังคม  ก็นำความเจ็บปวดมาสู่ใจพ่อแม่  เรียกว่าหล่อเลี้ยงพ่อแม่ด้วยความเจ็บปวด ไม่ต่างจากเลี้ยงด้วยยาพิษ

ผู้ที่เป็นลูกควรตระหนักว่า จะเลี้ยงพ่อแม่ด้วยอาหารใจ คือความปลาบปลื้ม หรืออาหารใจคือความเจ็บปวด

พ่อแม่เป็นผู้มีพระคุณสูงสุดยิ่ง  ดังพระพุทธองค์ตรัสไว้เป็นคำบาลีว่า “พรหมาติ มาตา ปิตโร”  พ่อแม่นั้นมีน้ำใจอนุเคราะห์ลูกของท่าน  จึงเรียกกันว่าเป็นพรหมของลูกๆ  เป็นครูอาจารย์คนแรกของลูก ๆ  และเป็นพระอรหันต์ของลูก

         พ่อแม่ คือ พรหมของลูก 

         พ่อแม่ได้ชื่อว่าเป็นพระพรหมของลูกเนื่องจากท่านมีพรหมวิหารธรรม  คือ ความรักความเอื้ออาทรต่อลูกอยู่ในใจไม่มีที่สิ้นสุดก่อนพระพุทธเจ้าตรัสรู้ศาสนาพราหมณ์สอนว่า พระพรหมเป็นผู้สร้างสรรพสิ่ง เป็นผู้ให้ชีวิตและดลบันดาลให้เป็นต่างๆ  พรหมเป็นผู้สูงสุดในโลก  คนจึงเคารพบูชาพระพรหม

ภายหลังจากพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้แล้ว  พระองค์ตรัสว่า  แท้จริงแล้วพ่อแม่นั่นแหละเป็นผู้สูงสุดในชีวิตของคนเรา  เพราะท่านประกอบด้วย พรหมวิหารธรรม ๔ ประการอย่างเปี่ยมล้น  คือ มีเมตตาธรรม มีกรุณาธรรม มีมุทิตาธรรม และมีอุเบกขาธรรม  จึงเรียกว่า พรหมของบุตรธิดา

 เมตตาธรรม   ความรักที่พ่อแม่มีต่อลูกเป็นความรักที่บริสุทธิ์  มิได้หวังสิ่งตอบแทนใดๆ จะมีก็เพียงแต่อยากเห็นลูกเป็นคนดี  ปฏิบัติดีอยู่ในโอวาท ไม่สร้างความเดือดร้อนแก่สังคม ความรักของพ่อแม่นั้นไม่เปลี่ยนแปลงแปรผัน  ลูกเกิดมาแล้วรักอยู่อย่างไร  แม้จะเจริญเติบโตเป็นหนุ่มเป็นสาว จนลูกแก่ชรา หากยังมีชีวิตอยู่ก็ยังคงรักอยู่อย่างนั้นเสมอ  จะเป็นลูกผู้หญิงลูกผู้ชายก็รัก รักเสมอต้นเสมอปลาย  แม้แต่จะพิกลพิการไม่สมประกอบประการใด  บุคคลอื่นอาจรังเกียจ  แต่พ่อแม่ก็รัก พยายามทำทุกวิถีทางเพื่อที่จะให้ลูกสมบูรณ์ จนต้องบนบานศาลกล่าว

 การที่พ่อแม่มีลูกเกิดมาสมประกอบ ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย  เติบโตขึ้นมาอยู่ในโอวาทของพ่อแม่  ปฏิบัติตัวดีไม่เกเรเป็นอันธพาล มีความรักใคร่กลมเกลียว พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันระหว่างพี่น้องร่วมท้อง  ไม่ดูหมิ่นดูแคลนผู้อื่น  ถือได้ว่าเป็นผลบุญที่ได้กระทำมาของตัวพ่อแม่ หรือแม้ว่าลูกจะประพฤติตัวไม่ดีอย่างไร  พ่อแม่ก็ตัดลูกไม่ขาด เพราะท่านมีเมตตาธรรมอันยิ่งใหญ่  คือ ความรักอันบริสุทธิ์ เป็นเยื่อใยฝังอยู่ในจิตใจตลอดเวลา  เป็นความรักความเมตตาที่ไร้ขอบเขตไร้พรมแดนขีดขั้น

กรุณาธรรม   คือ ความห่วงใย เอื้ออาทรในลูกๆ เป็นความห่วงใยที่มีมากกว่าความห่วงใยในตัวเอง  นอกจากความรักความเมตตาที่มีต่อบุตรแล้ว ยังมีความกรุณาดูแลเอาใจใส่ลูกอยู่ตลอดเวลา   จนบางครั้งดูเหมือนว่าพ่อแม่เป็นคนแก่ขี้บ่นจู้จี้จุกจิก ไม่เห็นลูกโตสักที   เวลาที่ลูกป่วยไข้  ถ้าลูกยังนอนไม่หลับพ่อแม่ก็นอนไม่หลับ  ในคราวที่ลูกกินไม่ได้  พ่อแม่ก็รับประทานอาหารไม่ลง เพราะความเป็นห่วงเป็นใยเอื้ออาทรด้วยอำนาจกรุณาธรรม

คนที่รู้ว่าจะมีลูกก็เริ่มเกิดความห่วงใยขึ้นมาทันที  แม่ก็ต้องรักษาร่างกายตนเองให้ดี ส่วนพ่อก็จัดหาอาหารสิ่งของมาบำรุงรักษาแม่ของลูกให้ดี  เพื่อลูกจะได้เกิดมาอย่างปลอดภัย   เมื่อคลอดลูกออกมาแล้วคนที่ต้องไปทำงาน   แม้ตัวไปทำงาน แต่ใจก็อยู่กับลูกเป็นห่วงสารพัด อยากจะอยู่ใกล้ๆ คอยดูแลเอาใจใส่ลูกเองตลอดเวลา 

เมื่อลูกโตไปอยู่ห่างไกลจากพ่อแม่ๆ ก็เป็นห่วงว่าลูกจะไปอยู่อย่างไร  ความเป็นอยู่สะดวกดีหรือเปล่า   ขาดเหลือสิ่งใดไหม  ช่วงนี้เวลานี้ ลูกเคยทำสิ่งนี้เคยพูดสิ่งนี้ ตอนนี้ลูกจะทำอะไรอยู่  เมื่อก่อนพ่อแม่เคยทำสิ่งนี้ๆ ให้ ตอนนี้ใครจะทำให้ สารพัดที่จะเป็นกังวล นี่ก็เป็นความห่วงของท่านอีก  เป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่าพ่อแม่ท่านเป็นห่วงเป็นใยลูกด้วยอำนาจ กรุณาธรรม

 มุทิตาธรรม คือ ความพลอยยินดีกับความดีของลูก  พ่อแม่จะอิ่มอกอิ่มใจในความดีและความเจริญรุ่งเรืองของลูก เวลาเป็นเด็ก ลูกเล่นอะไรก็เพลินตามที่ลูกเล่น แม้ในเวลาที่ตัวเองเจริญรุ่งเรืองประสบความสำเร็จใดๆ ก็ไม่ปลื้มอกปลื้มใจดีใจเป็นที่สุด  เหมือนกับเห็นความเจริญก้าวหน้าของลูกๆ แม้แต่ความเจริญกาย เจริญวัยของลูกก็ทำให้ดีใจอิ่มใจ  พ่อแม่มักจะพูดอยู่บ่อยๆ ว่า  ลูกเดินได้แล้ว ลูกพูดได้แล้ว  ลูกพูดอย่างนั้น ลูกพูดอย่างนี้  ลูกเรียนจบแล้ว  ลูกมีงานทำแล้ว ลูกทำอย่างนี้ได้ ลูกทำอย่างนั้นได้ ถึงแม้รู้ว่าเด็กๆ ทุกคนก็สามารถทำได้โดยสัญชาตญาณอยู่แล้ว  แต่ด้วยความปีติยินดีก็ไม่สามารถอดนำไปพูดกับคนรอบข้างได้  

สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เป็นเรื่องที่ยืนยันได้ถึงความยินดีปรีดา ปลื้มเปรมใจของพ่อแม่ ที่เห็นลูกมีความเจริญก้าวหน้าได้เป็นอย่างดี 

อุเบกขาธรรม คือ การวางใจให้เป็นกลาง  ไม่โกรธเกลียด  แม้บางครั้งลูกทำผิดต่อพ่อแม่มากก็ตาม แม้จะมีความรักความสงสารลูกอย่างไร ก็จำต้องกล้ำกลืนฝืนใจดุด่าว่ากล่าว หรือแม้กระทั่งลงโทษโดยประการต่างๆ เพื่อให้ลูกได้ดี ถึงลูกจะทำให้ท่านไม่สบายอกไม่สบายใจอย่างไร ท่านก็วางอยู่ในอุเบกขาฝืนใจรักดุด่าว่ากล่าวตักเตือนตามความผิด โดยไม่ได้มีใจโกรธ เกลียดหรืออาฆาตพยาบาท

สิ่งสำคัญที่ควรสังเกตเกี่ยวกับอุเบกขาธรรมของพ่อแม่ คือพ่อแม่พยายามไม่แสดงอาการใดๆ ให้ลูกต้องพลอยเดือดเนื้อร้อนใจ  แม้จะมีปัญหาในการหาเงินหาอาหารมาเลี้ยงดูลูกๆ เราสังเกตเห็นว่าท่านไม่สบายใจ  แต่เมื่อเราเข้าไปถามท่านก็มักจะตอบว่า  ไม่มีปัญหา ไม่ต้องเป็นห่วงอะไร ปล่อยเป็นหน้าที่ของพ่อกับแม่

บางครั้งเมื่อพ่อแม่แก่ชรา หากลูกถามว่าพ่อแม่ต้องการอะไร  ก็มักจะได้ยินคำปฏิเสธอยู่เสมอว่าไม่ต้องการ  จะถามว่าอยากรับประทานอะไรก็ตอบว่าไม่อยาก  คราวเจ็บไข้ได้ป่วย  ถามว่าเจ็บมากหรือไม่ ท่านก็จะบอกว่าไม่เป็นไร เจ็บเพียงเล็กน้อย  การที่พ่อแม่ตอบหรือกระทำอย่างนี้  ก็เพราะท่านไม่ต้องการให้ลูกๆ เป็นห่วง 

เพราะพรหมวิหารธรรม ๔ ประการที่พ่อแม่มีต่อลูกอย่างเปี่ยมล้นไม่ลดน้อย พระพุทธเจ้าจึงตรัสเรียกพ่อแม่ว่า “พระพรหมของลูก” 

พ่อแม่ คือ ครูอาจารย์คนแรกของลูก

พ่อแม่เป็นครูอาจารย์คนแรกของลูก เพราะจากวันที่ลูกเกิดท่านเป็นคนแรกที่คอยพร่ำสอนลูกอยู่ตลอดเวลา  สอนลูกให้เรียกคนนี้ว่า ป้า ให้เรียกคนนั้นว่า ลุง ให้เรียกคนทั้งหลายรอบตัวเหมือนญาติของตนเอง  เพื่อต้องการฝากฝังให้ทุกคนรักลูกของท่าน  และท่านก็เป็นครูของลูกตลอดไป  ตั้งแต่เล็กจนโต  เป็นครูอยู่ตลอดไปไม่มีเกษียณอายุ  แม้จากโลกนี้ไปแล้วก็ยังเป็นครูของลูกอยู่ เพราะเราคือท่าน ทุกสิ่งที่ท่านสอนอยู่ในตัวเรา พ่อแม่จึงเป็นครูที่วิเศษสุดอย่างยิ่งในชีวิตของลูก 

พ่อแม่ คือ พระอรหันต์ของลูก 

พระอรหันต์นั้น คือ  ผู้บริสุทธิ์  มีกายบริสุทธิ์  มีวาจาบริสุทธิ์  และมีใจบริสุทธิ์ พ่อแม่เป็นผู้มีจิตใจที่บริสุทธิ์ต่อลูกอยู่ตลอดเวลา ไม่เคยทำให้ลูกเดือดร้อน  ไม่เคยคิดให้ลูกประสบสิ่งที่เป็นอันตรายแม้แต่เพียงเล็กน้อย จิตเช่นนี้แหละที่เรียกว่าจิตบริสุทธิ์ของพ่อแม่   ซึ่งเป็นพระอรหันต์สำหรับลูก เพราะพระคุณต่างๆ ของท่านมีมากมายดังที่กล่าวมานี้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงยกย่องพ่อแม่ไว้อย่างสูง ยากที่จะเทียบได้ จึงตรัสสอนให้รู้จักตอบแทนพระคุณของพ่อแม่ แม้จะยกแม่ไว้บนไหล่ข้างหนึ่ง  ยกพ่อไว้บนไหล่ข้างหนึ่ง ให้ท่านถ่ายอุจจาระปัสสาวะอุปัฏฐากบำรุงท่านตลอดชีวิต  ก็ยังตอบแทนคุณไม่หมด

พ่อแม่ คือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ของลูก

แม้ว่าเราจะแสวงบุญด้วยการไปไหว้พระที่ไหนก็อย่าลืมไหว้พระคือพ่อแม่ พระคือพ่อแม่เป็นพระประจำบ้าน  แม้จะไปไหว้เทวดาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ไหนก็อย่าลืมไหว้เคารพพ่อแม่ซึ่งเป็นเทวดาศักดิ์สิทธิ์ประจำบ้านของเรา 

บางคนออกเที่ยวกราบไหว้พระทิศเหนือ ทิศใต้ ทิศตะวันออก ทิศตะวันตกโดยรอบ ด้วยคิดว่าพระที่อยู่ ณ นั้นเป็นพระอรหันต์  เป็นพระอริยะเจ้า  เป็นพระศักดิ์สิทธิ์  เที่ยวกราบไหว้บูชาภูผา ต้นไม้ และหุบเขา โดยคิดว่ามีเทวดาศักดิ์สิทธิ์สิงอยู่  แต่ไม่เคยกราบไหว้พ่อแม่ตนเองเลย  เพราะลืมคิดไปว่าพระอรหันต์อยู่ในบ้านแล้ว ก็แล้วเทวดาที่ไหนจะอำนวยประโยชน์แก่เขา ในเมื่อพ่อแม่ของตนก็ยังไม่เห็นความสำคัญ

การบวช คือ การตอบแทนบุญคุณพ่อแม่

ความกตัญญูเป็นหลักธรรมประจำใจที่สำคัญที่คนไทยยึดถือ หากมีโอกาสในชีวิตของลูกผู้ชายคนหนึ่ง สิ่งที่จะให้ตกหล่นหายไปไม่ได้ คือการแสดงความกตัญญู  และความกตัญญูสูงสุดสำหรับลูกผู้ชายที่นับถือพระพุทธศาสนาควรทำ  คือ การมีโอกาสบวชในพระพุทธศาสนา

การทำได้เช่นนี้ ชื่อว่าได้ทำหน้าที่ของลูกผู้ชายอย่างสมบูรณ์  จัดได้ว่าเป็นบุตรที่ประเสริฐ เพราะยกบิดามารดาสู่มรรคาแห่งสวรรค์  ในทางพระพุทธศาสนาได้จำแนกบุตรไว้  ๓ ประเภท  ดังนี้

 (๑) อวชาตบุตร  ลูกเลว

ลูกที่ไม่ทำหน้าที่ของลูกต่อพ่อแม่เหมือนลูกคนอื่นๆอวชาตบุตรเกิดมาเพื่อล้างผลาญทรัพย์สมบัติของพ่อแม่ ทำลายชื่อเสียงเกียรติยศของวงศ์ตระกูล แม้พ่อแม่จะเจ็บปวดทุกข์ระทมใจเพราะพฤติกรรมของลูกเช่นนี้  แต่เพราะรักลูกจึงไม่กล้าแม้แต่จะว่ากล่าวตักเตือน หรือทำโทษ แม้ลูกจะทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ก็พยายามปกป้องลูก

(๒) อนุชาตบุตร  ลูกที่ทำหน้าที่ของลูก 

ลูกที่ไม่ทำให้พ่อแม่ทุกข์ร้อนใจตั้งอยู่ในโอวาทคำสั่งสอน มีความกตัญญูเลี้ยงดูพ่อแม่ตามหน้าที่ของลูกที่พึงกระทำต่อพ่อแม่ผู้มีพระคุณ เมื่อมีความผิดพ่อแม่ว่ากล่าวตักเตือนหรือทำโทษตามความ ผิดก็น้อมรับด้วยความเชื่อฟัง

(๓) อภิชาตบุตร    ลูกที่ประเสริฐ   

ลูกที่ไม่เพียงแต่ทำหน้าที่ของลูก    ด้วยการเชื่อฟังคำสอน

เลี้ยงดูพ่อแม่  ด้วยความกตัญญูเท่านั้น  แต่ยังนำพ่อแม่เข้าสู่ทางทางแห่งสวรรค์ด้วย

ความกตัญญูที่บ่งบอกถึงความเป็นอภิชาตบุตรนั้น ได้แก่คุณค่าแห่งจิตใจที่งดงามอ่อนโยนงดงาม ไม่แสดงอาการก้าวร้าวรุนแรงต่อผู้มีพระคุณทั้งความคิด คำพูดและการแสดงออกทางกาย รู้จักคุณความดีที่ท่านทำแก่ตนแล้วจดจำใส่ใจไว้ ตระหนักนึกอยู่เสมอถึงคุณความดีนั้น ไม่ลบหลู่ ไม่ดูหมิ่นดูแคลน ไม่เหยียดหยาม ไม่เสแสร้งแกล้งทำ  มีความอ่อนน้อมโดยธรรมชาติ เมื่อมีโอกาสก็ตอบแทนด้วยสำนึกในพระคุณนั้น 

ความกตัญญูนี้เองเป็นมงคลสูงสุดอย่างหนึ่งในชีวิต 

คนเรามักมองข้ามมงคลอันหาประมาณมิได้คือความกตัญญูนี้ไปไขว่คว้าหามงคลจากที่อื่น เขาย่อมผิดหวังอยู่ร่ำไป  เพราะชีวิตอย่างชาวบ้านไม่มีมงคลใดจะอำนวยประโยชน์แก่ลูกๆ ได้อย่างสมบูรณ์เท่าความกตัญญู

ญาณวชิระ

บางคนน่าสงสาร เที่ยวกราบไหว้ต้นไม้ จอมปลวก  ภูผา เทวรูป  ก้อนหิน ฯลฯ โดยหวังที่จะให้เกิดมงคลสุขสวัสดิ์แก่ชีวิต แต่ไม่เคยกราบไหว้พ่อแม่ของตน เพราะเหตุที่ขาดความรู้ความเข้าใจ ไม่ทราบว่าพ่อแม่ผู้มีพระคุณเป็นมงคลสูงสุดสำหรับตนเอง เมื่อเป็นเช่นนี้ความสุขสวัสดีจะเกิดแก่ตัวเราได้อย่างไร

พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงสิ่งที่จะทำให้เกิดมงคลแก่ชีวิตคนเราไว้ ๓๘ ประการ หนึ่งในมงคล ๓๘ ประการนั้น  คือ “ความเป็นผู้กตัญญู” รู้จักเลี้ยงดูบิดามารดา   พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ในมงคลสูตรว่า

 “มาตาปิตุ  อุปัฏฐานัง เอตัมมังคะละมุตตะมัง”

แปลว่า

“การเลี้ยงดูมารดาบิดาเป็นมงคลสูงสุด”

ถ้าขาดความกตัญญูเสียอย่างแล้ว อย่าได้หวังว่าชีวิตจะมีมงคล

คำว่า “กตเวที”  คือ การแสดงออกว่าตนเป็นคนกตัญญู หรือการตอบแทนคุณความดีของผู้มีพระคุณ เมื่อผู้ใดทำอุปการคุณแก่เราแล้วก็พยายามหาทางตอบแทนคุณเมื่อมีโอกาส เช่น ลูกๆได้รับอุปการะเลี้ยงดูจากพ่อแม่จนเติบโต มีสติปัญญาประกอบสัมมาอาชีพมีรายได้เป็นหลักฐานแล้ว ก็เลี้ยงดูพ่อแม่เพื่อสนองพระคุณท่านตอบแทน  โดยพื้นฐานจิตใจแล้ว พ่อแม่ไม่ต้องการอะไรจากลูก แต่เป็นภาระโดยหน้าที่ของลูกที่จะต้องทำ ทำเพราะความเป็นลูกซึ่งไม่มีคำอธิบายมากไปกว่าเป็นการแสดงความกตัญญู  มิใช่ทำเพราะพ่อแม่อยากให้ทำ หรือทำตามค่านิยมของสังคม

โดยมากคนมักคิดกันว่าเลี้ยงดู คือการให้ข้าวปลาอาหาร ให้สิ่งของเท่านั้นก็ถือว่าเลี้ยงแล้ว จะชื่อว่าเลี้ยงต้องเลี้ยงทั้งกายและใจ  เพราะบางคนพ่อแม่แก่แล้วให้กินข้าวปนน้ำตาก็มี ความจริงเขาก็เลี้ยงด้วยข้าวปลาอาหาร แต่ก็มีคำพูดหรือกิริยาทิ่มแทงให้เจ็บใจ คนแก่ก็เลยต้องกินข้าวกับน้ำตา  เรียกว่าเลี้ยงกายแต่ไม่ได้เลี้ยงใจ  ในทางพระพุทธศาสนาได้แสดงการเลี้ยงพ่อแม่ไว้ ๒ ประการ คือ

· เลี้ยงกาย ได้แก่ การให้ข้าวปลาอาหารเครื่องใช้สอย โดยตระหนักนึกความกตัญญูที่มีต่อท่าน

ด้วยคิดว่าพ่อแม่แก่แล้ว  หมดเรี่ยวแรง หากินเองไม่ได้ต้องอาศัยเรา และท่านเป็นพระอรหันต์ของเรา เป็นอรหันต์ในบ้าน  เป็นพระในบ้าน ปฏิบัติต่อพระภิกษุอย่างไรจงปฏิบัติต่อพ่อกับแม่อย่างนั้น  กราบพระภิกษุด้วยใจอย่างไรจงกราบพ่อแม่ด้วยใจอย่างนั้น อธิษฐานขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธ์อย่างไร จงอธิษฐานขอพรจากพ่อแม่อย่างนั้น อย่าดีแต่ทำกับพระภิกษุ อย่าดีแต่ทำกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์  

ในทางพระพุทธศาสนาได้แสดงไว้อีกว่า ทำบุญกับพระสงฆ์ได้บุญมากที่สุด ส่วนทำบุญกับคนธรรมดา การทำบุญกับพ่อกับแม่ได้บุญมากที่สุด ปฏิบัติบำรุงให้ท่านมีความสุขด้วยอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย เมื่อป่วยไข้ก็หาหยูกยารักษาโรคให้ท่าน  พ่อแม่ที่แก่ตัวก็หวังพึ่งลูก ถ้าไม่พึ่งลูกก็ไม่รู้จะไปพึ่งใคร

ลูกๆ จึงควรตระหนักในการเลี้ยงดูพ่อแม่ให้มาก  ยิ่งอายุมากยิ่งต้องเอาใจใส่ นึกให้เห็นด้วยใจว่าคนแก่ทำอะไรเองไม่ได้ หาอยู่หากินเองไม่ได้ คนแก่ต้องการกำลังใจอายุยิ่งเหลือน้อย เรี่ยวแรงยิ่งนับวันมีแต่จะหมดตามอายุจะอาศัยใครถ้าไม่อาศัยลูก ลูกให้กิน ก็ได้กิน ลูกไม่ให้ ก็ไม่ได้กิน 

· เลี้ยงใจ ได้แก่ การทำให้ท่านเกิดความสบายใจ ไม่สร้างปัญหา ซึ่งจะเป็นสิ่งที่ทำให้ท่านเกิดความไม่สบายใจเป็นทุกข์ใจ ซึ่งเป็นการเลี้ยงใจแบบสามัญทั่วไป

นอกจากนี้ ยังมีเลี้ยงใจแบบที่พระพุทธองค์ทรงประสงค์ คือ หล่อเลี้ยงจิตใจท่านให้เจริญงอกงามด้วยธรรมพยายามหล่อเลี้ยงจิตใจของพ่อแม่ให้ท่านสมบูรณ์ด้วยคุณธรรม เช่น  พ่อแม่ไม่มีศรัทธาในพระศาสนาเราปลูกศรัทธาให้งอกงามไพบูลย์ในใจท่านท่านไม่มีการรักษาศีลก็ชักชวนให้มีโอกาสได้รักษาศีล ท่านไม่มีการสละวัตถุสิ่งของทำบุญให้ทานก็ชักชวนให้มีโอกาสได้ทำบุญให้ทานท่านไม่มีปัญญาก็ชักชวนให้ท่านเกิดปัญญา บางครั้งนำท่านไปทำบุญให้ทานรักษาศีลเจริญภาวนาตามโอกาส ถึงวันเกิดท่านก็ชวนไปตักบาตรหรือทำบุญวันเกิดให้ท่านครั้งหนึ่ง เป็นต้น

การเลี้ยงอาหารใจดังกล่าวนี้พระพุทธองค์ ตรัสเรียกว่า อภิชาตบุตร หมายถึง ลูกที่ดีที่ประเสริฐ เพราะสามารถให้ทรัพย์ที่ประเสริฐแก่พ่อแม่ได้ ลูกที่เลี้ยงดูพ่อแม่ ด้วยข้าวปลาอาหารและเครื่องใช้สอยต่างๆ ซึ่งเป็นสมบัติภายนอกนั้นมีมาก เพราะทำได้ง่ายแม้จะเลี้ยงกายให้มีความสุขไม่ให้ลำบากเดือดร้อน  พ่อแม่ยังมีโอกาสไปอบายภูมิ  แต่ที่ให้ทรัพย์ที่แท้จริงได้นั้นมีน้อยเพราะลูกที่ปิดประตูอบายภูมิให้พ่อแม่นั้นทำได้ยาก เช่น ชักนำพ่อแม่ที่ไม่มีศรัทธาในพระศาสนาให้เกิดศรัทธา ไม่มีศีลมีธรรมชักชวนให้มีศีลมีธรรม ไม่มีการทำบุญให้ทานเป็นคนตระหนี่ถี่เหนียว ก็ชักชวนไม่ให้เป็นคนตระหนี่ ให้รู้จักทำบุญให้ทานเป็นการหยิบยื่นสวรรค์ให้ ทำเช่นนี้ทำได้ยาก หากลูกคนใดทำได้ก็เป็นลูกที่ประเสริฐ พระพุทธองค์ตรัสเรียกลูกเช่นนี้ว่า อภิชาตบุตร 

ทรัพย์ที่แท้จริงนี้ไม่ว่าจะเป็นในชาติใดภพใด จะตามไปช่วยเหลือเกื้อกูลไม่ให้ลำบากเดือดร้อนตลอด  

คนไทยแต่โบราณจึงถือว่าการบวชเป็นการตอบแทนอย่างสูงสุด  เพราะถือว่าเป็นการจูงมือพ่อแม่ออกจากมุมมืดคืออบายภูมิเข้าสู่มรรคาแห่งสวรรค์ 

ความกตัญญูกตเวทีเป็นคุณธรรมที่มีความสำคัญและจำเป็นแก่มนุษย์อย่างยิ่ง เพราะเป็นคุณธรรมที่สร้างสรรค์มนุษย์ให้เป็นคนดี มีความเจริญก้าวหน้าและช่วยพยุงสังคมมนุษย์ให้อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข 

พ่อแม่ที่ต้องการให้ลูกๆ ปฏิบัติต่อตนเองด้วยความกตัญญูเช่นไร  จงปฏิบัติต่อพ่อแม่ของตนด้วยความกตัญญูเช่นนั้น  เพราะเราปฏิบัติกับพ่อแม่ของตนอย่างไร แล้วจะได้รับการปฏิบัติตอบจากลูกๆ ของเราอย่างนั้นเช่นกัน หากเราปฏิบัติต่อพ่อแม่ของเราด้วยความกตัญญู  ลูกๆ ของเราก็จะจำเป็นแบบและปฏิบัติต่อเราด้วยความกตัญญูเช่นกัน  ตรงกันข้ามหากเราปฏิบัติไม่ดีกับพ่อแม่  ก็จะได้รับการปฏิบัติไม่ดีเช่นนั้นตอบจากลูกของตน นี่เป็นความอัศจรรย์ของความกตัญญูและอกตัญญู  บางคนคร่ำครวญว่าทำไมลูกเราไม่ปฏิบัติกับเราเหมือนลูกคนอื่น แต่เขาก็ไม่ได้คิดว่าตัวเราเองเคยปฏิบัติกับพ่อแม่เช่นนั้นบ้างหรือเปล่า 

ความกตัญญูเป็นสายใยที่เชื่อมสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ลูกอย่างแน่นแฟ้น หากขาดความกตัญญูสายใยที่เชื่อมความรักความผูกพันระหว่างพ่อแม่ลูกก็ขาดสะบั้นลง และหากสังคมขาดความกตัญญูกตเวที  คนทุกคนไม่มีความสำนึกในบุญคุณและตอบแทนบุญคุณของท่านผู้มีบุญคุณแก่ตน จนถึงขนาดลูกเนรคุณได้ก็เท่ากับว่าเขาได้ฆ่าตนเองให้ตายจากความดี

ลูกไร้ความกตัญญูอย่าได้หวังว่าจะสามารถพอกพูนคุณความดีอย่างอื่นให้เจริญงอกงามไพบูลย์ขึ้นในจิตใจได้  อย่าได้หวังว่าเขาจะทำความดีอย่างอื่นได้  และจะทำให้ชีวิตเขาบกพร่อง กลายเป็นคนมีจิตใจต่ำ หยาบกระด้าง ก้าวร้าว น่าขยะแขยง  มีแต่ความเห็นแก่ได้  พระพุทธเจ้าจึงสอนว่า

 “สำหรับคนอกตัญญูแล้ว แม้จะให้แผ่นดินทั้งหมด

ก็ไม่สามารถทำให้คนอกตัญญูพอใจได้

ภาษาบาลี ว่า

“อะกะตัญญุสสะ    โปสัสสะ  นิจจัง วิวะระทัสสิโน  สัพพัญเจ  ปะฐะวิง   ทัชชา  เนวะ นัง   อะภิราธะเยฯ”

นอกจากนั้น ความกตัญญู ยังเป็นคุณธรรมที่ท่านใช้เป็นเครื่องวัดระดับจิตใจของคนด้วย  ถ้าอยากรู้ว่าคนๆ นั้น มีจิตใจสูงหรือต่ำท่านให้สังเกตที่ความกตัญญูเป็นข้อสังเกตสิ่งแรก 

เมื่อคนขาดความกตัญญูซึ่งเป็นคุณธรรมของมนุษย์แล้ว จะต่างอะไรจากสัตว์ อย่างที่ได้ยินข่าวอยู่เสมอว่า ลูกคนโน้นคนนี้เนรคุณ  ฆ่า  หรือทำร้ายพ่อแม่ตน   ลูกเช่นนี้เป็นมนุษย์เพียงรูปร่าง  แต่จิตใจเลวทรามต่ำช้ากว่าสัตว์เดรัจฉาน

พระพุทธองค์แสดงโทษคนอกตัญญูเนรคุณพ่อแม่จนถึงฆ่าว่าเป็น “อนันตริยกรรม” คือ กรรมหนักที่สุด เท่ากับฆ่าพระอรหันต์และทำร้ายพระพุทธเจ้า  ประตูสวรรค์ปิดแต่ประตูนรกเปิดรอเขาอย่างเดียว ความกตัญญูกตเวทีนี้จึงเป็นคุณธรรมสำคัญและจำเป็นที่เราทุกคนจะต้องตระหนักให้มากและนำไปปฏิบัติอย่างถูกต้องและเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต

นอกจากความกตัญญูกตเวทีจะเป็นเครื่องวัดระดับคุณค่าจิตใจมนุษย์แล้ว  ยังเป็นเครื่องหมายบ่งบอกให้รู้ว่าใครเป็นคนดีด้วย  แม้คนรอบข้างก็ตาม เราคิดจะคบค้าสมาคมกับใคร เราก็ต้องการที่จะคบคนดี  และเราจะรู้ว่าใครเป็นคนดี ก็ต้องสังเกตสิ่งดีที่มีอยู่ในตัวเขา คือสังเกตความประพฤติดีนั่นเอง ความประพฤติที่พอจะบ่งบอกได้ว่าใครเป็นคนดี และเป็นที่สังเกตได้ง่ายนั้น คือ ความกตัญญูกตเวที คนรอบข้างถ้าอยากรู้ว่าเป็นคนดีหรือไม่ ก็ต้องดูว่าเขาแสดงพฤติกรรมต่อพ่อแม่ผู้มีพระคุณอย่างไร

ถ้าคนใดไม่รู้บุญคุณของผู้มีพระคุณแสดงพฤติกรรมที่หยาบกระด้างก้าวร้าวร้ายกาจ มีวาจาที่เหมือนเข็มทิ่มใจพ่อแม่ พูดกับพ่อแม่ไม่นุ่มนวลชวนฟัง ก็พึงให้รู้ว่าเขายังไม่มีเครื่องหมายของคนดี  ควรตั้งข้อสังเกตในการคบค้าสมาคม และอาจเป็นคนไม่น่าคบหาสมาคม 

คนที่มีความกตัญญูกตเวที คือ รู้คุณและตอบแทนคุณผู้อื่นนั้น เป็นคนดีอย่างแท้จริง เราสามารถคบค้าสมาคมกับคนประเภทนี้ได้ ไม่มีโทษภัยประการใด  และเป็นที่มาแห่งความเจริญรุ่งเรืองในชีวิต ตรงข้ามหากเราไปคบกับคนอกตัญญูไม่รู้คุณคน และขาดความกตเวที ไม่รู้จักตอบแทนคุณผู้อื่นเป็นผลดีแก่ผู้ที่ไปคบด้วยเลย มีแต่จะนำโทษภัยมาให้ และเป็นที่มาแห่งความพินาศล่มจมในที่สุด  เพราะคนอกตัญญูมีเสนียดในตัวเอง

คนที่มีความกตัญญูนั้น เป็นผู้มีสิริมงคลในตัวโดยไม่จำเป็นต้องแสวงหาสิริมงคลจากที่ไหนมาเสริม เขาย่อมมีความเจริญก้าวหน้าในชีวิต ในหน้าที่การงานโดยธรรมชาติ เหมือนต้นไม้ที่มีดินน้ำ ปุ๋ย และอากาศดีพร้อม ย่อมมีความเจริญงอกงามออกดอกออกผลโดยธรรมชาติ

ตรงข้ามหากบุคคลใดขาดความกตัญญู มีความประพฤติเนรคุณต่อผู้อื่น ย่อมประสบความวิบัติอย่างน่าประหลาด เพื่อนฝูงมักห่างหาย ไม่มีผู้เคารพนับถือ ในเบื้องแรกพี่น้องร่วมท้องเริ่มทำตัวเหินห่าง ต่อมาญาติใกล้ชิด ตลอดจนคนรู้จักมักคุ้นเริ่มห่างหาย เช่น ลูกเนรคุณพ่อแม่ ศิษย์เนรคุณต่อครูบาอาจารย์ เขาเหล่านี้หาความเจริญไม่ได้ แม้ดูเหมือนว่าเจริญก็เพียงเพราะกรรมยังไม่ได้ช่อง แต่เมื่อใดกรรมได้ช่องก็จะตกต่ำในเบื้องปลายกลายเป็นหนักสองเท่า  ที่เบาก็กลายเป็นหนัก ที่หนักก็ยิ่งหนักมากยิ่งขึ้น เขาจะถูกสาปแช่งว่าเป็นคนชั่วช้าเลวทรามไม่รู้คุณคน

สำหรับผู้ที่มีความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ ย่อมได้รับการยกย่องสรรเสริญและเป็นผู้มีความก้าวหน้า   ที่ดีอยู่แล้วก็จะดียิ่งๆ ขึ้นไป   เมื่อถึงคราวเคราะห์  ที่หนักก็จะกลายเป็นเบา เพราะผลของเกราะแก้วคือความกตัญญูของตนนั่นเอง

คุณธรรม คือ ความกตัญญูกตเวทีคุณธรรมสำคัญของมนุษย์ เป็นเครื่องหมายเชิดชูมนุษย์ให้เป็นคนดี ผู้ใดมีความกตัญญูกตเวที  ย่อมมีความเจริญก้าวหน้าไม่ตกต่ำ เป็นที่ยกย่องของคนทั่วไป และผลของความกตัญญูกตเวทีนี้ ยังเป็นอานุภาพปกป้องคุ้มครองเขาให้พ้นจากภยันตรายต่างๆ ได้ด้วย  เพราะคุณบิดามารดามีค่ายิ่ง  จึงควรกตัญญู ๕ สถาน  

บุตรธิดาผู้มีความกตัญญู เมื่อหวนระลึกถึงพระคุณของบิดามารดาที่ได้ทำแก่ตนตามที่กล่าวมาข้างต้น จึงต้องบำรุงเลี้ยงมารดาบิดาสถาน  ๕   ดังนี้

(๑) ท่านได้เลี้ยงเรามาแล้วเลี้ยงท่านตอบ พ่อแม่ได้เลี้ยงเรามาตั้งแต่เล็กจนเติบโต พึงเลี้ยงพ่อแม่ให้เป็นสุข ถึงคราวท่านเจ็บป่วย  ลูกๆ พึงตั้งใจรักษาพยาบาลท่าน 

(๒) ทำกิจการงานท่านแสดงความกระตือรือร้นขวนขวายช่วยกิจการงานของพ่อแม่ กิจการงานใดที่พ่อแม่กระทำ หรือที่ท่านใช้ให้ทำ ลูกๆ มีความสามารถจะช่วยเหลือท่านได้ก็พึงกระทำ  เป็นการแบ่งเบาภาระหน้าที่ของพ่อแม่   

(๓) ดำรงวงศ์สกุล เกิดในตระกูลใดพึงดำรงตระกูลของตนมิให้เสื่อม อย่าให้ใครดูหมิ่นตระกูลของตนได้ ควรพยายามทำตระกูลของตนให้เป็นที่นิยมนับถือของคนทั่วไป ทำให้คนยกย่องเชิดชูตระกูลของตนให้ได้

(๔) ประพฤติตนให้เป็นที่ไว้ใจได้ว่าจะสืบทอดสมบัติของตระกูลได้  ลูกๆ ผู้สมควรรับทรัพย์มรดกของพ่อแม่ต้องเป็นผู้มีความประพฤติดี น่าไว้ใจ ละเว้นจากอบายมุข ละเว้นจากการดื่มเหล้าเมาสุรา คือทำตนให้น่าไว้ใจได้ว่า เมื่อรับสมบัติของตระกูลแล้วจะรักษาไว้ได้  ไม่ล้างผลาญเสียหมด

(๕) เมื่อท่านล่วงลับไปแล้ว ทำบุญอุทิศให้ท่าน  พ่อแม่ผู้มีความกตัญญูกตเวที  ในเมื่อพ่อแม่ล่วงลับไปแล้ว  ควรทำบุญให้ท่าน  อุทิศส่วนกุศลไปให้ท่านตามกำลังความสามารถของตน  สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ลูกๆ ควรนำไปปฏิบัติต่อพ่อแม่ของตนเอง ก็เรียกได้ว่าเป็นผู้รู้คุณและตอบแทนคุณของพ่อแม่

ชีวิตที่ดำเนินไปภายใต้โลกที่งดงาม อบอุ่นด้วยความห่วงใย เอื้ออาทร ท่ามกลางความอ่อนโยนของพ่อแม่  ปู่ย่าตายาย ตลอดจนญาติพี่น้องคนที่รักทั้งหลาย  ชีวิตเช่นนี้งดงามควรค่าแก่การจดจำ   มีผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็น “พ่อแม่” ร่วมกันสร้างเพื่อลูก  ชีวิตเป็นของเรา และเราสามารถทำความดีมากมายเพื่อพ่อกับแม่ด้วยตัวเราเอง แต่ถ้าเลือกได้  น่าจะเลือกทำให้พ่อกับแม่ ได้เห็นผ้าเหลืองของลูกชาย ภายใต้ร่มเงาแห่งพระพุทธศาสนา    ในขณะที่พ่อกับแม่ยังมีโอกาสได้เห็น

การบวชเพื่อพ่อกับแม่เมื่อท่านจากไปโดยไม่มีโอกาสรับรู้ จะมีประโยชน์อะไร

ลูกผู้ชายต้องบวช บรรพ์ที่ ๑ “คุณมารดาบิดามีค่ายิ่ง การบวช คือการตอบแทนคุณบิดามารดา : ญาณวชิระ (พระมหาเทอด ญาณวชิโร อดีตพระราชกิจจาภรณ์)

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here