“ลูกผู้ชายต้องบวช”

(ตอนที่ ๔๒) บรรพ์ที่ ๗ “สิ่งที่พระภิกษุผู้บวชใหม่ควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับอภิสมาจาร” คือ วินัยส่วนที่เป็นขนบธรรมเนียม ตอน “เภสัช ๕ , เดรัจฉานวิชา, อโคจร และพระพุทธานุญาตพิเศษ ”

เรียบเรียงโดย พระอาจารย์ญาณวชิระ (เทอด ญาณวชิโร) พระราชกิจจาภรณ์ ในขณะนั้น

เภสัช ๕

         เภสัช ที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตไว้ให้พระภิกษุฉันได้หลังเที่ยง  เพื่อไม่ให้เกิดความลำบากจนเกินไป มี ๕ คือ

เนยใส

เนยข้น

น้ำมัน

น้ำผึ้ง

น้ำอ้อย

นอกจากนั้น  ยังมีผลไม้ที่ทรงอนุญาตให้พระภิกษุฉันเป็นเภสัชหลังเที่ยงได้  คือ สมอ และ มะขามป้อม  เนื่องจากสมอและมะขามป้อมฉันเป็นยาระบายช่วยระบบขับให้ถ่ายได้ดี  หากพระภิกษุระบบขับถ่ายดี สุขภาพก็จะดีตามไปด้วย  ทำให้เป็นผู้มีโรคน้อย   หากไม่มีสมอและมะขามป้อมจะใช้ผลไม้ หรือพืชอย่างอื่นที่ให้รสอย่างสมอและมะขามป้อมได้

ดิรัจฉานวิชา 

วิชาที่พระพุทธเจ้าทรงห้ามพระภิกษุศึกษาเล่าเรียน เรียกว่า “ดิรัจฉานวิชา”  เพราะเป็นวิชาที่ทำให้คนหลงใหลสามารถใช้หลอกลวงผู้อื่นได้ ท่านแยกไว้  ๕  ประเภท  คือ

๑.  วิชาทำเสน่ห์  เพื่อให้ชายหญิงรักกัน

๒.  วิชาทำให้ผู้อื่นถึงความวิบัติ

๓.  วิชาใช้ภูตผีอวดฤทธิ์เดชต่างๆ

๔.  วิชาทำนายทายทัก  เช่น  รู้หวยว่าจะออกอะไร

๕. วิชาที่ทำให้หลงงมงาย  เช่น หุงปรอทให้มีอิทธิฤทธิ์  หุงเงินหรือทองแดงให้เป็นทอง

อโคจร

บุคคลก็ดี  สถานที่ก็ดีที่พระภิกษุไม่ควรไป  เรียกว่า  “อโคจร

เหตุที่พระภิกษุไม่ควรไป เพราะสถานที่ดังกล่าวเป็นสถานที่ซึ่งสังคมยอมรับว่าไม่ดีไม่งาม แม้ชาวบ้านไปก็เป็นการไม่ดีไม่งาม เช่น ชาวบ้านไปสถานบริการทางเพศ  ไปเข้าผับเข้าบาร์  ไปเข้าโรงฝิ่น โรงกัญชา ก็ไม่สมควร  ถูกมองว่าเป็นคนไม่ดีมีความประพฤติไม่เรียบร้อย ไม่จำต้องกล่าวถึงพระภิกษุจะต้องไปยังสถานที่นั้นๆ     เมื่อไปแล้วก็จะถูกตำหนิติเตียนได้  พระพุทธองค์จึงทรงห้ามไม่ให้ไป  แต่ไม่ได้ทรงห้ามไม่ให้คบหาตามความเหมาะสม 

ส่วนสถานที่ใดที่สุภาพบุรุษชนไปได้ตามปกติ  ไม่เป็นโทษ  เป็นสถานที่ใดที่ชาวบ้านไปได้ สถานที่นั้นไม่จัดว่าเป็นอโคจร  สถานที่ใดเป็นที่รังเกียจของสุภาพบุรุษชน  สถานที่นั้นเรียกว่า  อโคจร  มี ๖  คือ

๑.  หญิงแพศยา  หญิงที่หากินทางกามทุกชนิด   ทั้งเปิดเผยและไม่เปิดเผย   เพราะจะทำให้เกิดข้อรังเกียจแก่สหธรรมิกด้วยกัน ตลอดจนบุคคลโดยทั่วไป

๒.  หญิงหม้าย หญิงที่สามีตาย หรือหย่าขาด เพราะจะทำให้เกิดข้อครหาได้

๓.  สาวเทื้อ  หมายเอาหญิงโสดที่ไม่ได้แต่งงาน  อยู่ลำพังตน  พระภิกษุไม่ควรไปมาหาสู่

๔.  พระภิกษุณี   ถึงแม้ภิกษุณีจะเป็นผู้ประพฤติธรรมด้วยกันก็ตาม ยังมีข้อกำหนดในการไปมาหาสู่

๕.  บัณเฑาะก์  บุรุษที่ถูกตอน หรือคนที่ผ่าตัดแปลงเพศ  ที่ทรงห้ามเพราะคนเหล่านี้จิตไม่ปกติ  หากพระภิกษุไปอาจจะเกิดอันตรายต่อภาวะความเป็นพระภิกษุได้ 

๖.  ร้านสุรา (บาร์เบียร์)  โรงกลั่นสุรา  หรือร้านฝิ่น  โรงฝิ่น ตลอดจนแหล่งมั่วสุมอื่นๆ

พระพุทธานุญาตพิเศษ

           แม้จะมีสิกขาบทที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติห้ามไว้ไม่ให้พระภิกษุล่วงละเมิด  แต่ก็มีบางข้อที่ทรงยกเว้นไว้เป็นกรณีพิเศษสำหรับถิ่นที่จำเป็น  และในเวลาที่อาพาธ

ทรงอนุญาตเฉพาะเวลาเจ็บป่วย  

ทรงอนุญาตยามหาวิกัฏ  ๔ มูตร  คูถ เถ้าไฟ  ดิน  สำหรับพระภิกษุผู้ถูกงูกัด  แม้ไม่ได้รับประเคน  ก็ฉันได้  ไม่เป็นอาบัติ 

น้ำข้าวใส น้ำต้มข้าวใสที่ไม่มีกาก และน้ำเนื้อต้มที่ไม่มีกาก  ทรงอนุญาตสำหรับพระภิกษุอาพาธที่ต้องได้อาหารในวิกาล  เนื่องจากยาบางชนิดต้องฉันหลังอาหาร พระพุทธองค์จึงทรงอนุญาตน้ำข้าวใส  น้ำต้มข้าวที่ไม่มีกาก และน้ำเนื้อต้มไว้สำหรับพระภิกษุอาพาธ  ในปัจจุบันน้ำซุบต่างๆ น่าจะอนุโลมเข้ากับน้ำเนื้อต้มนี้

ทรงอนุญาตเฉพาะบุคคล 

ทรงอนุญาตอาหารที่เรอ อวกถึงลำคอแล้วกลืนกลับเข้าไป  สำหรับพระภิกษุผู้มักเรออวก  ไม่เป็นอาบัติเพราะฉันอาหารในเวลาวิกาล

ทรงอนุญาตเฉพาะถิ่น

     ให้อาบน้ำได้เป็นนิตย์ในถิ่นที่หาน้ำได้ง่าย

ใส่รองเท้า ๔ ชั้นได้ในชนบทห่างไกล  ที่มีความกันดาร เต็มไปด้วยหนาม และกรวดทรายแหลมคม

“ลูกผู้ชายต้องบวช” (ตอนที่ ๔๒) บรรพ์ที่ ๗ “สิ่งที่พระภิกษุผู้บวชใหม่ควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับอภิสมาจาร” คือ วินัยส่วนที่เป็นขนบธรรมเนียม ตอน “เภสัช ๕ , เดรัจฉานวิชา, อโคจร และพระพุทธานุญาตพิเศษ ” เรียบเรียงโดย พระอาจารย์ญาณวชิระ (เทอด ญาณวชิโร) พระราชกิจจาภรณ์ ในขณะนั้น

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here