ร้อยหมื่นพันคำไม่เท่าหนึ่งทำให้ดู

โดย

พระมหาประสิทธิ์  ญาณปฺปทีโป

ได้อ่านบทความวิชาการเรื่อง “ผู้สูงอายุต้นแบบตามแนวพุทธ : กรณีศึกษาหลวงพ่อวัดบางเบิด  จังหวัดประจวบคีรีขันธ์” ประทับใจในความเป็นต้นแบบของหลวงพ่อที่อายุมากถึง ๗๓ ปี แต่ว่ามีอุตสาหะเรียนจนถึงระดับปริญญาเอก  ของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย  บางคนอาจจะสงสัยว่าทำไมท่านถึงต้องเรียนเป็นพระอายุมากแล้วแล้วไม่ต้องเรียนก็ได้   แต่ท่านกลับเบิกบานกับการเดินทางไกลถึง ๘๐๐ กิโลเมตร ทำให้เกิดแรงบันดาลใจทั้งต่อคณาจารย์และสหธรรมิก  จึงนำไปสู่การถอดบทเรียนทำให้ค้นพบว่า  ท่านทำหน้าที่พระที่ไม่ใช่แค่สอนสั่ง แต่มีแนวคิดว่า ร้อยหมื่นพันคำไม่เท่าหนึ่งทำให้ดู  สอดคล้องกับหลักพุทธที่ว่า “ยถาวาที  ตถาการี  พูดอย่างไร  ทำอย่างนั้น”  ซึ่งผู้ศึกษาได้สรุปเป็นประเด็นความเป็นต้นแบบของผู้สูงอายุตามแนวพุทธ ของหลวงพ่อว่า

  • เจตนาในการทำตนให้เป็นต้นแบบ หลวงพ่อวัดบางเบิด  มีปณิธาน แกร่งกล้าที่จะใช้ตนเองให้เป็นต้นแบบแก่ลูกหลาน  ให้เห็นเป็นภาพประจักษ์ ยืนยันคำสอนของท่าน ที่มุ่งให้ทุกคนพัฒนาตนเองทั้งทางโลกและการพัฒนาจิตใจทางธรรม  การศึกษาในวัยสูงอายุ ของท่านจึงไม่ใช่การเรียนให้รู้เท่านั้น แต่เป็นการเรียนให้ดูว่า แม้แต่หลวงพ่อยังตั้งใจเรียน  ลูกหลานควรพากเพียรศึกษา และอดทนสู้อุปสรรคนานา  ไม่ว่าหนักแค่ไหนขอแค่มีใจมุ่งมั่นเราจะฝ่าฟันผ่านมันไปได้
  • พลังทางใจกับความมุ่งมั่น สมัยท่านเรียนปริญญาโท เกือบจะจบอยู่แล้วแต่ส่งงานไม่ทันเพราะประสบอุบัติเหตุรถคว่ำ ทำให้ต้องรักษาตัวอยู่หลายเดือน  แต่กลับมาสานต่องานการศึกษาจนสำเร็จ  สะท้อนให้เห็นถึงกำลังใจที่แม้กายเจ็บแต่ใจสู้   ความมุ่งมั่นของท่านทำให้อุบัติเหตุไม่ใช่อุปสรรคขัดขวาง แค่ประสบการณ์ระหว่างเดินทางเท่านั้นเอง  และมุ่งมั่นทุ่มเทต่อไป  สู่ปลายทางแห่งใบปริญญา  ท่านเป็นต้นแบบให้เราได้เห็นว่า ขอแค่มีพลังใจ เรื่องใดๆ ก็จะผ่านไปด้วยดี  ทำให้นึกถึงคำที่มักจะระลึกเป็นการส่วนตัวอยู่เสมอ “ไม่มีอะไรร้ายในยามที่เราใจดี ไม่มีอะไรดีหากว่าใจเราร้าย”
  • การทำตนไม่ให้เป็นภาระหรือส่วนเกิน บุคลิกภาพที่ประทับใจไม่ใช่แค่ความมุ่งมั่นตั้งใจในการเรียนเท่านั้น แต่ท่านยังเป็นพระที่น่ารัก แม้เป็นผู้เฒ่าก็ไม่เอาแต่ใจตัวเอง  กลับเกรงใจและให้เกียรติคนอื่นอย่างมาก  ท่านมักจะดูแลตนเองเป็นอย่างดีและไม่เป็นภาระของคนอื่น  สามารถที่จะพึ่งพาตนเองได้ และยังเป็นที่พึ่งอันอบอุ่นให้กับคนอื่นได้ด้วย
  • ปฏิบัติธรรมเพื่อธรรมด้วยวิธีการ “ทำ” ให้ดูเชิงประจักษ์ การปฏิบัติธรรมให้เห็นของท่านไม่ใช่แค่นั่งสมาธิ  เดินจงกรม  สวดมนต์ภาวนา  แต่ท่านใช้วิธีปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน เป็นการเจริญ “อิทธิบาท ๔”  ขั้นสูง  คือ  ฉันทะ  มีความปรารถนาที่จะศึกษาหาความรู้เป็นแบบอย่าง  วิริยะ  พยายามในการศึกษา พากเพียรเพื่อผ่านอุปสรรค จิตตะ  มุ่งมั่นทุ่มเท ไม่หวั่นไหวท้อแท้ง่าย  วิมังสา  พัฒนาตนเองและสิ่งที่เรียนอย่างต่อเนื่อง  ท่านได้ทำให้เราเห็นว่า การใช้อิทธิบาทธรรมในชีวิตประจำวันได้จริงเป็นอย่าไง และผลที่ได้มีคุณค่าและความหมายมากแค่ไหน  ท่านได้ทำให้เราเห็นเป็นพยานแล้ว
ภาพโดย สามเณรพรอนันต์ หุ่นทอง
ภาพโดย สามเณรพรอนันต์ หุ่นทอง

บทบาทของพระสงฆ์ที่ทำหน้าที่เพื่อสังคม ไม่เพียงแค่สอนในโรงเรียน เทศน์บนศาลา แต่ท่านยังทำให้เราเห็นเป็นตัวอย่าง  ประเทศไทยกำลังก้าวไปสู่สังคมผู้สูงอายุ  หลวงพ่อวัดบางเบิดได้แสดงตนเป็นต้นแบบ  สอนเราด้วยชีวิตของท่านให้เห็นว่า  “แก่อย่างมีคุณภาพ ชราอย่างมีความสุข” เป็นอย่างไร  เป็นอีกแนวทางหนึ่งซึ่งอาจจะเป็นช่องชี้ให้ผู้ชราบางท่านได้แรงบันดาลใจในการใช้ชีวิต  โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมัยนี้มีโรงเรียนผู้สูงอายุเกิดขึ้นมากมาย  การเรียนของผู้สูงอายุไม่ใช่เพื่อให้ได้ปริญญาไปทำงาน  แต่ให้ได้ปริญญาและเกิดปัญญาในการใช้ชีวิตให้เบิกบาน  และเติมเต็มคุณค่าให้กับชีวิต  “สูงวัยใส่ใจชีวิต”  ไม่คิดผิดหันไปหาอบายมุข หรือทุกข์กับลูกหลาน  แต่กล้าหาญที่จะมีตัวตนอันภาคภูมิ

เมื่อท่านทำให้เราดูแล้ว  อยู่ที่เราละจะทำให้เห็นจริงด้วยตนเองบ้างหรือยัง?

พระมหาประสิทธิ์ ญาณปฺปทีโป
พระมหาประสิทธิ์ ญาณปฺปทีโป

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here