พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น และ คุณยายปราพายรัตน์ นันทวิทยาภรณ์ ปวารณาถวายที่ดิน อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี เพื่อประโยชน์แก่งานเผยแผ่พระพุทธศาสนา
พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น และ คุณยายปราพายรัตน์ นันทวิทยาภรณ์ ปวารณาถวายที่ดิน อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี เพื่อประโยชน์แก่งานเผยแผ่พระพุทธศาสนา

“นอกจากชีวิตเป็นสิ่งประเสริฐแล้ว ทุกเรื่องราวที่เกิดขึ้นในชีวิตยังเป็นสิ่งประเสริฐด้วย สรุปก็คือ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ทุกข์ หรือ สุข ให้เรานำสิ่งเหล่านี้มาแปรเปลี่ยนเป็นการศึกษา เป็นการเรียนรู้ เราก็จะผ่านทุกสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเราไปได้ด้วยปัญญา…” คำสอนของ พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น ปรากฎขึ้นในใจของผู้เขียน ทุกครั้งที่พบกับการเปลี่ยนแปลงในชีวิต กับความทุกข์แสนสาหัสอย่างไร คำสอนอันทรงพลังของท่านก็จะมาสอนใจให้ก้าวเดินต่อไปได้ด้วยลมหายใจที่มีอยู่

พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น และ พระครูอมรโฆสิต ในที่ดิน ซึ่งคุณยายปราพายรัตน์ นันทวิทยาภรณ์ ปรารณาถวายที่ดิน อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี เพื่อประโยชน์แก่งานเผยแผ่พระพุทธศาสนา
พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น และ พระครูอมรโฆสิต ในที่ดิน ซึ่งคุณยายปราพายรัตน์ นันทวิทยาภรณ์ ปรารณาถวายที่ดิน อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี เพื่อประโยชน์แก่งานเผยแผ่พระพุทธศาสนา

อะไรที่เกิดขึ้นก็เป็นสิ่งประเสริฐ

เมื่อวานนี้ตอนค่ำๆ วันที่ ๒ มกราคม พ.ศ.๒๕๖๓ ผู้เขียนเพิ่งได้รับแจ้งจากหัวหน้าเก่าสมัยที่ทำงานอยู่ในกองบรรณาธิการนิตยสาร”เนชั่นสุดสัปดาห์” และ นสพ.คมชัดลึก ว่า ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงในหนังสือพิมพ์ต้นปีนี้ คือ ในวันที่ ๖ มกราคม พ.ศ.๒๕๖๓ จะมีการปรับเปลี่ยนและจัดหน้านสพ. ใหม่หมด โดยจะยกหน้านสพ.ที่ผู้เขียนรับผิดชอบอยู่สองหน้าคือ หน้าธรรมวิจัย ทุกวันอังคาร และหน้าพระไตรสรณคมน์ ทุกวันพฤหัสบดี ออกไปจากนสพ.แล้ว

หน้าธรรมวิจัย นสพ.คมชัดลึก วันอังคารที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๖๒
หน้าธรรมวิจัย นสพ.คมชัดลึก วันอังคารที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๖๒
หน้าพระไตรสรณคมน์ นสพ.คมชัดลึก วันพฤหัสบดีที่ ๒ มกราคม พ.ศ.๒๕๖๓ ฉบับสุดท้าย
หน้าพระไตรสรณคมน์ นสพ.คมชัดลึก วันพฤหัสบดีที่ ๒ มกราคม พ.ศ.๒๕๖๓ ฉบับสุดท้าย

“ด้วยความขอบคุณที่ให้โอกาสอย่างต่อเนื่องมาจนถึงวันนี้และสวัสดีปีใหม่ค่ะ “ ผู้เขียนสนทนาสั้นๆ อีกนิดหน่อยกับอดีตหัวหน้างานที่เคยทำงานด้วยกันมาราว ๒๐ ปีในนิตยสาร “เนชั่นสุดสัปดาห์” จนปิดตัวไปเมื่อปีพ.ศ.๒๕๖๐ …ความเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องธรรมดาก็จริง แต่กับงานที่รักและรับผิดชอบมาด้วยความศรัทธาในพระพุทธศาสนา และศรัทธาในท่านอาจารย์เจ้าคุณเทอด ครูบาอาจารย์ที่ทุ่มเทเสียสละชีวิตเพื่อพระพุทธศาสนา เพื่อธรรม เพื่อพระสงฆ์ และเพื่อผู้อื่นมาโดยตลอด ก็สอนใจว่า ยิ่งกว่าการยอมรับการเปลี่ยนแปลงก็คือ เรียนรู้ให้เกิดปัญญาในทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิต

อย่ายอมพ่ายแพ้แก่โชคชะตา และให้โชคชะตาเป็นหนทางในการสร้างบารมีธรรมในการที่จะเผยแผ่ความเป็นธรรมให้ปรากฏต่อไป “โดยขณะที่เขียนจงทำจิตให้สงบเย็น มีความเบิกบานจากภายใน วางจิตในอุเบกขาธรรม ให้จิตปราศจากความโกรธ ปราศจากความเกลียดชัง และปราศจากความเจ็บปวด ให้มากที่สุด อย่าใส่อารมณ์เข้าไปในบทความ ละคำประชดประชัน เสียดสี เย้ยหยัน แต่จงเขียนออกไปด้วยความเมตตา เป็นบทความที่ปรารถนาดีต่อสังคม ให้องค์ความรู้กับสังคมที่อยู่บนหลักการ ให้สติกับสังคม อธิบายด้วยเหตุ ด้วยผล  ให้สังคมได้ฉุกคิด ทำความรู้สึกเสมือนหลวงปู่ที่มีจิตเมตตาเอื้ออาทร กำลังนั่งสอนเณรน้อยอยู่

สิ่งที่ท่านอาจารย์เจ้าคุณเทอดสอน เกี่ยวกับเรื่องการเขียนนี้อยู่ในกุศลกรรมบถ ๑๐ ทางแห่งกุศลกรรม ทางแห่งความดี ๑๐ ประการ โดยแบ่งออกเป็นทางกายกรรม ๓ คือ เว้นจากการปลงชีวิต, เว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เขามิได้ให้โดยการขโมย และ เว้นจากการประพฤติผิดในกาม ส่วน วจีกรรม ๔ การกระทำทางวาจา คือ เว้นจากการพูดเท็จ เว้นจากการพูดส่อเสียด เว้นจากการพูดหยาบ และ เว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ สำหรับ มโนกรรม ๓ การกระทำทางใจ ประกอบด้วย ความไม่คิดเพ่งเล็งอยากได้ของเขา ความไม่คิดร้ายผู้อื่น และข้อสุดท้ายคือ สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ ถูกต้องตามคลองธรรม

ทั้ง ๑๐ข้อในกุศลกรรมบถ คือหลักในการดำเนินชีวิตไปสู่ความประเสริฐที่ผู้เขียนน้อมนำมาฝึกตน และในข้อที่ว่าด้วยวจีกรรม ๔ และสัมมาทิฐิในข้อสุดท้าย ก็เป็นทางที่ผู้เขียนตระหนักอย่างมากในการเขียน เพื่อเป็นการภาวนาส่วนตน ดูจิตดูใจของตนเองในขณะก่อนเขียน ขณะที่เขียน และหลังจากเขียนเสร็จแล้วก็มาอ่านทวนอีกครั้ง สองครั้ง หรือสามครั้ง จนแน่ใจว่า ไม่มีส่วนไหนที่จะไปกระทบใจใคร แม้แต่กระทบใจตนเอง ก็จะละเว้น

พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น
พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น

การเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับบทสุดท้ายของการทำสื่อสิ่งพิมพ์ บนหน้าหนังสือพิมพ์ ครั้งนี้ เมื่อให้เวลาทบทวนตนเองก็เป็นที่เข้าใจได้ว่าวันหนึ่งก็ต้องเกิดขึ้น เป็นธรรมดา ซึ่งผู้เขียนก็ยังมีพื้นที่เล็กๆ แห่งนี้ Manasikul.com ที่เป็นที่พักใจ และเป็นสะพานในการเชื่อมต่องานเขียนธรรมะของครูบาอาจารย์ ที่สืบเนื่องจากหนังสือพิมพ์อย่างไม่ขาดตอน เป็นธรรมทาน เป็นของขวัญแห่งชีวิตที่ครูบาอาจารย์มอบให้สำหรับการเรียนรู้พระพุทธศาสนาในมุมที่กว้างออกไป ไร้การเปรียบเทียบ เป็นมิตรกับจิตใจ ไม่ก้าวร้าว ขณะเดียวกันก็นำมาสอนใจตนเอง ให้ก้าวเดินบนเส้นทางสายกลางอันมีอริยมรรคมีองค์แปดเป็นทางดำเนินตามที่พระพุทธองค์ทรงวางไว้ไปจนกว่าจะสุดทางทุกข์ มีครูบาอาจารย์เป็นกำลังใจบนหนทางเดินเดี่ยวนี้

ภาพวาดลายเส้น โดย หมอนไม้
ภาพวาดลายเส้น โดย หมอนไม้

ซึ่งท่านอาจารย์เจ้าคุณเทอด เมตตาสอนว่า บนหนทางแห่งพระพุทธองค์ เป็นทางสายเดี่ยว ไปเพียงผู้เดียว ให้ฝึกตนเป็นช้างป่า ท่องไปผู้เดียวเพียงลำพัง ที่ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ตาม แล้วเดินหน้า ฝึกตน และทำในสิ่งที่ตนเองศรัทธาต่อไป มโนปณิธานของท่าน คือ ชีวิตที่ท่านดำเนินอย่างหมดจดงดงาม ผู้เขียนจดไว้ในสมุดบันทึกและน้อมนำมาปฏิบัติอยู่ทุกวัน ดังอีกตอนหนึ่งว่า …

พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น
พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น

“หลายคนเอาสายตาคนอื่นมาวัดคุณค่าของตัวเองมากเกินไปหากดีก็แล้วไป หากไม่ดีก็ท้อแท้ หากประเมินสายตาผู้อื่นออกมาเป็นด้านลบ คุณค่าที่มีอยู่ในตัวเราจะมีโอกาสได้แสดงออกได้อย่างไร หากมั่นใจว่า สิ่งที่คิด -ทำ เป็นสิ่งที่ดี ที่ถูกธรรมแล้วถือว่า ได้ปฏิบัติตามธรรม แห่งการพ้นทุกข์ตามคำสอนของพระพุทธเจ้า “

แม้ฟรีแลนซ์อย่างผู้เขียนในขณะนี้ ซึ่งเคยทำงานสื่อที่รักยิ่งมาราว ๓๐ ปีแล้วก็ตาม ก็ไม่อาจต่อรองอะไรได้กับองค์กรสื่อที่เคยนทำงานมา กับคำสัญญาว่า หลังจากออกมาแล้วเมื่อเนชั่นสุดสัปดาห์ ปิดตัวลง ก็จะให้เขียนต่อและดูแลสองหน้าธรรมะทุกสัปดาห์ไปต่อจนกว่าหนังสือพิมพ์จะปิดตัว ทุกอย่างก็อนิจจัง ไม่เที่ยง …ผู้เขียนเพียงยอมรับในการเปลี่ยนแปลงนั้น และเดินหน้า ทำในสิ่งที่ตนเองศรัทธาต่อไป เพื่อเป็นการฝึกตนไปจนกว่าจะสุดทางทุกข์

พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น และ คุณยายปราพายรัตน์ นันทวิทยาภรณ์ ปวารณาถวายที่ดิน อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี เพื่อประโยชน์แก่งานเผยแผ่พระพุทธศาสนา
พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น และ คุณยายปราพายรัตน์ นันทวิทยาภรณ์ ปวารณาถวายที่ดิน อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี เพื่อประโยชน์แก่งานเผยแผ่พระพุทธศาสนา

ผู้เขียนเปิดบันทึกพบกับภาพท่านเจ้าคุณอาจารย์เทอด ในขณะนั้น กับคุณยายปราพายรัตน์ นันทวิทยาภรณ์ ผู้ปวารณาถวายที่ดิน อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี เพื่อประโยชน์แก่งานเผยแผ่พระพุทธศาสนา แม้ผู้เขียนจะไม่รู้จักท่าน แต่ภาพของท่านก็นำความปีติให้กับผู้เขียน ซึ่งกำลังเดินอยู่บนเส้นทางนี้

ทำให้ระลึกถึงพระพุทธมนต์บทหนึ่ง “ภัทเทกรัตตคาถา” ตอนหนึ่งว่า บุคคลไม่ควรคิดถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้วด้วยอาลัย และไม่ควรพะวงถึงสิ่งที่ยังมาไม่ถึง, สิ่งเป็นอดีตก็ละไปแล้ว สิ่งเป็นอนาคตก็ยังไม่มา ผู้ใดเห็นธรรมอันเกิดขึ้นเฉพาะหน้าในที่นั้นๆ อย่างแจ่มแจ้งไม่ง่อนแง่นคลอนแคลน เขาควรพอกพูนอาการเช่นนั้นไว้ , ความเพียรเป็นกิจที่ต้องทำวันนี้ ใครจะรู้ความตายแม้พรุ่งนี้ ….

คุณยายท่านเพิ่งจะกลับคืนสู่ธรรมชาติเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ท่านได้ปฏิบัติธรรมอย่างเต็มกำลังในชีวิตและเข้าถึงพระรัตนตรัยแล้ว เราเล่า…จะมาอาลัยกับสิ่งที่ล่วงไปแล้วได้อย่างไร ควรแปรเปลี่ยนเป็นพลังสร้างสรรค์ถวายเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา และสังฆบูชาต่อไปจนลมหายใจสุดท้าย เช่นกัน…

รำลึกวันวาน… มโนปณิธานของท่านอาจารย์เจ้าคุณเทอด เป็นหลักของใจให้ผู้เขียนมาโดยตลอด สามารถก้าวผ่านช่วงเวลาวิกฤติอีกครั้งในชีวิตได้อีกแล้ว…และผู้เขียนก็เชื่อว่า ชีวิตของท่าน ที่อุทิศเพื่อพระพุทธศาสนา มโนปณิธานของท่านที่แจ่มชัด ก็คงเป็นพลังให้กับคนเล็กๆ อีกไม่น้อยที่ปรารถนาจะพ้นทุกข์ บนเส้นทางสายกลางที่พระพุทธองคฺทรงค้นพบ เพื่อเป็นหลักของใจไปจนกว่าจะสิ้นทุกข์ในสังสารวัฏ

จากซ้าย พระมหาปฐมพงษ์ ญาณวํโส  , พระมหาธนเดช   ธัมมปัญโญ , พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น , พระมหาเดชา  ปยฺญาคโม และ คุณยายปราพายรัตน์ นันทวิทยาภรณ์ ปวารณาถวายที่ดิน อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี เพื่อประโยชน์แก่งานเผยแผ่พระพุทธศาสนา
จากซ้าย พระมหาปฐมพงษ์ ญาณวํโส , พระมหาธนเดช ธัมมปัญโญ , พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น , พระมหาเดชา ปยฺญาคโม และ คุณยายปราพายรัตน์ นันทวิทยาภรณ์ ปวารณาถวายที่ดิน อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี เพื่อประโยชน์แก่งานเผยแผ่พระพุทธศาสนา

ล้อมกรอบ

บันทึกธรรม สัมมาสมาธิ ตอนที่ ๑๖

ลักษณะอาการของจิตที่ไหลไปตามกระแส “ธรรมารมณ์”

โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

ภาพประกอบโดย หมอนไม้
ภาพประกอบโดย หมอนไม้

ความเดิมจากตอนที่แล้ว

ความคิดใดที่สติรู้ทัน มีอุเบกขาคอยตัดเข้าสู่ความเป็นกลาง ไม่ทันได้คิดปรุงแต่งสืบเนื่อง ความคิดนั้นก็จะเป็นเพียงความคิดที่เกิดขึ้นแล้วดับไปตามธรรมชาติ เมื่อไม่มีการปรุงแต่งสืบเนื่อง ก็ไม่ตกตะกอนเป็นอนุสัย กลายเป็นเชื้อกลับมาคิดใหม่ เชื้อด้านนอกก็ไม่เข้ามาใหม่ เชื้อด้านในก็ค่อย ๆ ถูกขจัดออก เชื้อที่ทำให้เกิดกระแสชีวิตก็จะค่อย ๆ ลดลงที่ละนิดทีละหน่อย การเกิดดับของความคิดก็สั้นเข้า ก็จะเป็นเพียงกิริยาของจิตที่เกิดขึ้นและดับลงตามธรรมชาติของจิตเท่านั้น

ต่อจากตอนที่แล้ว

อันที่จริง  กระแสชีวิตจะดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง จิตต้องใช้เครื่องปรุงแต่งจาก ๒ ส่วน คือ เครื่องปรุงแต่งจากภายนอกเรียกว่า  “อารมณ์ภายนอก” จะเรียกว่า “กามคุณ ๕” ก็ได้ และเครื่องปรุงแต่งจากภายในเรียกว่า “อารมณ์ภายใน”จะเรียกว่า “ธรรมารมณ์” ก็ได้

            ทุกบัลลังก์ของการนั่งสมาธิ เมื่อจิตสงบก้าวเข้าสู่ความสมดุลเป็นกลาง  จะไม่มีการรับอารมณ์จากภายนอกเข้ามาปรุงแต่งสืบต่อ สมาธิที่เจริญดีแล้ว  จะสร้างให้จิตเกิดอุเบกขาคอยตัดการรับรู้เข้าสู่ความว่างภายใน ทุกครั้งที่เกิดการรับรู้อารมณ์ภายนอก อุเบกขาจะคอยตัดการรับรู้เข้าสู่ความว่างภายใน ไม่ปล่อยให้เกิดการนำอารมณ์ภายนอกเข้ามาปรุงแต่งสืบต่อ ซึ่งก็เท่ากับว่า ขณะนั้น จิตไม่มีการเติมเชื้อจากภายนอกเข้ามาปรุงแต่งให้เกิดกระแสชีวิต แต่จิตก็จะดึงเชื้อจากภายในขึ้นมาคิดปรุงแต่งเป็นกระแสชีวิตต่อไป

“เมื่อความคิดเกิดแล้ว

ผู้ปฏิบัติสมาธิก็จะเป็นแต่เพียงผู้รู้

การเกิดและการดับของความคิด”

คือ เป็นแต่เพียงผู้เฝ้าสังเกตการเกิดดับของความคิดเท่านั้น ไม่ปรุงแต่งจินตนาการไปตามความพอใจหรือความไม่พอใจ ซึ่งก็เท่ากับว่า เชื้อโลภะ โทสะ โมหะที่ทำให้เกิดความพอใจหรือไม่พอใจที่สะสมเป็นอนุสัยดองอยู่ในจิต ก็จะลดลงไปตามสัดส่วนของแต่ละบัลลังก์ที่นั่งสมาธิ และเฝ้าสังเกตตามรู้ทันทุกขณะจิต โดยจะเรียกกันในหมู่ผู้ปฏิบัติว่า “รู้ปัจจุบันขณะ” ก็ได้

เหมือนคนหาปลาทำคันกั้นน้ำไว้ ไม่ให้น้ำใหม่ไหลเข้ามา แล้วค่อย ๆ ตักน้ำในคันกั้นน้ำออกไป น้ำใหม่ไม่เข้า น้ำเก่าก็ถูกตักออกไป ในขณะเดียวกันก็คอยสอดส่องระมัดระวังคันกั้นน้ำไม่ให้รั่วซึม หรือไม่ให้คันกั้นน้ำขาดจนน้ำจากนอกคันกั้นน้ำไหลทะลักเข้ามา ในที่สุดน้ำเก่าก็จะหมดไป

การทำสมาธิก็เช่นเดียวกับคนหาปลาทำคันกั้นน้ำ ในขณะฝึกดูลมหายใจก็เหมือนคนหาปลากำลังขุดดินทำคันกั้นน้ำ เมื่อฝึกจนนำจิตเข้าสู่ความว่างภายใน มีความสมดุลเป็นกลาง ก็เหมือนทำคันกั้นอารมณ์จากภายนอกได้แล้ว อุเบกขาจะเป็นเหมือนคันป้องกันไม่ให้อารมณ์จากภายนอกไหลเข้าสู่ภายใน จากนั้น ปัญญาในวิปัสสนาที่เฝ้าสังเกตการเกิดดับของขณะจิต จะพิจารณาเห็นขณะจิตเป็นแค่เพียงการเกิดและการดับ สืบเนื่องติดต่อกันไป เป็นการทำวิชชาให้เกิดเพื่อขับไล่อวิชชา

บางขณะจิตเกิดเป็นความชอบใจ แล้วก็ดับไป บางขณะจิตเกิดเป็นความชังแล้วก็ดับไป บางขณะจิตเกิดเป็นความนิ่ง ๆ เฉย ๆ เป็นกลาง ไม่เป็นทั้งชอบหรือชัง แล้วก็ดับไป ไม่มีการปรุงแต่งสืบเนื่อง เป็นการทอนอารมณ์ภายในออกไป เหมือนคนหาปลาจ้วงตักน้ำภายในคันกั้นออกไป

ขณะอยู่ในบัลลังก์แห่งสมาธิ ประคองจิตเข้าสู่ความเป็นกลาง อาหารใหม่ที่ทำให้เกิดกระแสชีวิตก็ไม่เข้า อาหารเก่าก็ถูกทอนออกไป ในที่สุด  เชื้อกระแสชีวิตที่มีความยึดมั่นถือมั่นอันมีโลภะ โทสะ โมหะเป็นราก เป็นส่วนผสมที่สำคัญ ก็จะค่อย ๆ เบาบางไป ที่มีราคะกล้า ก็จะเบาบางไป ที่มีโทสะกล้า ก็จะเบาบางไป ที่มีโมหะกล้า ก็จะเบาบางไป และที่มีปฏิฆะความขัดเคืองใจ ความขัดเคืองก็จะเบาบางไป

ดังนั้น  กระแสชีวิตเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเพราะอวิชชานั่นแหละ ทำให้ไม่รู้ ว่า โลภะ โทสะ โมหะ มีตันหาเป็นหัวเชื้อ มีอุปาทานความยึดถือเป็นยางเหนียวเชื่อมผนึกแน่น เป็นเหตุให้เกิดกระแสความคิดดำเนินไป จิตจึงเกิดการปรุงแต่งไปตามความยึดถือในโลภะ โทสะ โมหะ ตามขณะจิตนั้น ๆ แต่เมื่อวิชชาเกิดรู้แล้วว่า กระแสชีวิตเกิดขึ้นเพราะตัณหา คือ ความอยากทำให้เกิดความยึดถืออันมีโลภะ โทสะ โมหะ เป็นราก แม้จะเกิดความพอใจไม่พอใจหมุนไปตาม ก็จะไม่มีการปรุงแต่งสืบเนื่อง จะเป็นแต่เพียงขณะจิตของผู้รู้เกิดขึ้นและดับไป

ในที่สุด ก็จะเห็นว่า เพราะอวิชชาความไม่รู้นี่แหละ จึงหลงคิดปรุงแต่งไปตามโลภะ โทสะ โมหะ …จิตจะคอยอบรมตัวเองให้รู้อยู่อย่างนี้

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

รำลึกวันวาน…มโนปณิธาน พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร )ตอนที่ ๕๑ ชีวิตเป็นสิ่งประเสริฐ โดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here