พระเจดีย์ ที่บ้านปากน้ำ บุ่งสะพัง จ.อุบลราชธานี
พระเจดีย์ ที่บ้านปากน้ำ บุ่งสะพัง จ.อุบลราชธานี

ความหมายของพ่อแม่ครูบาอาจารย์นั้นสำคัญยิ่งต่อชีวิตคนเรา

ในสมัยนี้ คำนี้อาจห่างผู้คนออกไปมาก

แต่สำหรับผู้เขียน นับจากคุณแม่และคุณพ่อผู้ให้ชีวิตและจิตวิญญาณแล้ว

“ครูบาอาจารย์”คือ ผู้ทีให้จิตวิญญาณใหม่ๆ แก่เราจริงๆ

คนโบราณจึงเรียกว่า “พ่อแม่ครูอาจารย์” เพราะเป็นทั้งพ่อและแม่ เป็นทั้งครูและอาจารย์ ไม่เพียงให้ความรู้ทางโลกเพื่อให้เราทำมาหากิน แต่ยังให้ความรู้ทางธรรมเพื่อให้เราพึ่งจิตตนเองได้ เอาจิตรอดในสังสารวัฏได้

พ่อแม่ครูอาจารย์จึงยิ่งใหญ่ในใจเรา

มโนปณิธาน จึงกลับมา เพราะความเป็นพ่อแม่ครูอาจารย์ ของท่านพระอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ที่ผู้เขียนเคารพบูชาเหนือเศียรเกล้า …

๒๒. น้ำใจของวิญญูชนคนเล็กๆ ที่งดงาม

กับจดหมายถึงโยมพ่อใหญ่ที่ยังไม่ได้ส่ง

โดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์

จากหนังสือ “ความเป็นมาของพระอภิธรรม” โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ที่ได้เล่าไปเมื่อฉบับที่แล้วในคอลัมน์ “บันทึกธรรมวิจัย” นสพ.คมชัดลึก (วันอังคารที่ ๑๘ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๖๒)

หนังสือ ความเป็นมาของพระอภิธรรม โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)
หนังสือ ความเป็นมาของพระอภิธรรม โดย พระราชกิจจาภรณ์
(เทอด ญาณวชิโร)

ฉบับนี้ ผู้เขียนจึงขอนำ “มโนปณิธาน” ท่านเจ้าคุณอาจารย์ในครั้งนั้นที่เขียนค้างไว้ถึงตอนที่ ๒๑ มาลงต่อ หลังจากที่หยุดไปปีกว่าเพื่อเชื่อมต่อให้เห็นว่า กว่าจะเกิดมีพระสุปฏิปันโนสักรูปหนึ่งในสังคมไทยไม่ใช่เรื่องง่าย

และกว่าที่จะมีพระสุปฏิปันโนที่สละชีวิตเพื่อธรรมก็หายากยิ่ง และท่านคือหนึ่งในนั้น จึงขอนำเรื่องราวเล่าขานประวัติของท่านควบคู่ไปกับการทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาด้วยความเคารพบูชาท่านอาจารย์เจ้าคุณเหนือเศียรเกล้า

ดังเรื่องที่ท่านเคยเล่าให้ฟังเกี่ยวกับคนเล็กๆ ที่เมตตาส่งพระไปเรียนหนังสือทุกวันด้วยความศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างไม่เคยร้องขอสิ่งใด ท่านว่านี่แหละคือความเป็นวิญญูชน

“ตอนที่อาตมาเรียนปริญญาตรี และต่อปริญญาโท ที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ต้องเดินออกจากทางหลังวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร ไปมหาวิทยาลัย ก็มีชาวจีนเป็นคนขับรถบรรทุกหกล้อคนหนึ่ง ที่เมตตาพระเณรในวัดที่ไปเรียนทุกวัน มาแวะรอรับไปส่งที่มหาวิทยาลัยตลอด เป็นเวลาหลายสิบปีที่เขาทำเช่นนี้

“จนเมื่อไม่กี่วันก่อน ก็คิดถึงเขาขึ้นมา จึงถามคนที่รู้จักว่า เขาหายไปไหน เมื่อทราบว่าป่วยอยู่จึงไปเยี่ยมที่บ้าน จึงได้คุยกัน แม้ว่าเขาไม่รู้หนังสือ แต่อาตมาเห็นว่าน้ำใจเขาเป็นวิญญูชนจริงๆ เขาเล่าว่า ตลอดเวลาสี่สิบกว่าปีที่ผ่านมาเขาใส่บาตรทุกเช้า แม้ว่าใส่บาตรพระรูปเดินก็นับได้เป็นแสนรูปแล้ว และไปรับไปส่งพระเณรเรียนหนังสือก็หลายหมื่นรูป ตอนนี้ลูกเขาเพิ่งสอบเข้าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ แต่เขาไม่รู้ว่า นั่นคือมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดของประเทศไทย

“…คืนนี้ดึกมากแล้ว ท้องฟ้าทั่วกรุงเทพมหานคร ส่องสว่างด้วยแสงจันทร์ คืนเพ็ญเดือนมาฆะ เป็นอีกหนึ่งวันที่อาตมา ระลึกถึงโยมพ่อใหญ่ และโยมแม่ใหญ่ทั้งสอง ระลึกถึงอ้อมแขนที่แกร่งกร้านจากแดดฝน แต่อบอุ่นด้วยเมตตาธรรม นึกถึงความเอื้ออาทรที่อาตมายังมิได้ตอบแทน …”

หน้งสือ “หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรม ในชีวิตประจำวัน”
โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)
พิมพ์ครั้งที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๙

จากจดหมายที่ท่านเจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ เขียนถึงโยมพ่อใหญ่ (คุณปู่) ตั้งแต่ท่านยังมีชีวิตอยู่ แต่ไม่ได้ส่ง จนกลายเป็นบทหนึ่งในหนังสือ “หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน” ซึ่งตีพิมพ์เป็นครั้งที่ ๙ ในปี พ.ศ.๒๕๕๙เมื่อเปิดขึ้นมาอ่านคราวใดก็ระลึกถึงท่านอาจารย์เจ้าคุณสมัยเป็นสามเณรในวัยสิบสองสิบสามปีที่ขอไปอยู่ป่าอุปัฏฐากครูบาอาจารย์ ฝึกตนบ่มบาตร ย้อมจีวร ตักน้ำ ต้นน้ำ หาฟืน ในขณะที่เด็กอีกหลายๆ คนขอไปเรียนต่อในเมืองหลวง  

ต่อมา สามเณรเทอดผู้ขยันขันแข็ง ทั้งปริยัติและปฏิบัติ อุปัฏฐากดูแลครูบาอาจารย์  มีความรู้ทางบาลีไม่น้อย จนเป็นพระอาจารย์สอนบาลีในขณะที่ยังเป็นสามเณร ก็มุ่งหน้าเข้าสู่เมืองหลวงเหมือนกัน มาอยู่วัดบวชเป็นพระ โดยมีหลวงพ่อสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) เป็นพระอุปัชฌาย์ ที่มีความเมตตาต่อพระเณรในวัดทุกรูปอย่างใกล้ชิดไม่มีประมาณ นำมาสู่มโนปณิธานอันยิ่งใหญ่การรักษาพระพุทธศาสนายิ่งชีพ ทำให้ลูกศิษย์ลูกหาและประชาชนทั่วไปได้ซึมซับพระพุทธศาสนาที่มีองค์ความรู้รอบด้านที่ควรบันทึกไว้เป็นการบูชาพระคุณบูรพาจารย์ทางพระพุทธศาสนาที่มีคุณค่าอย่างหาประมาณมิได้ต่อสังคมไทย  

คอลัมน์ฺ “มโนปณิธาน” หน้าธรรมวิจัย นสพ.คมชัดลึก วันอังคารที่ ๒๕ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๖๒

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here