พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร ) ในขณะนั้น
พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร ) ในขณะนั้น

รำลึกวันวาน…มโนปณิธาน พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ตอนที่ ๒๐ “การศึกษาของพระเณรในยุคดิจิทัล”

โดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์

เว้นวรรคไปหนึ่งสัปดาห์ มโนปณิธานของท่านเจ้าคุณอาจารย์พระราชกิจจาภรณ์ ในขณะนั้น กล่าวถึงการถ่ายทอดความคิดจากเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) หลังถูกเรียกตัวกลับสำนักวัดสระเกศ เมื่อครั้งยังเป็นพระมหาเทอด ญาณวชิโร ซึ่งการกลับไปครั้งนี้หลวงพ่อสมเด็จเริ่มสอนให้คิด ให้มองคณะสงฆ์แบบภาพรวม ไม่ให้มองจุดใดจุดหนึ่ง หรือมุมใดมุมหนึ่ง สอนให้มีชุดความรู้ และชุดความคิดหลายๆ ชุด สอนให้เห็นว่า การปกครองคณะสงฆ์เป็นสิ่งสำคัญ เพราะเป็นกลไกให้พระศาสนาเดินไปได้อย่างมีทิศทาง ไม่ใช่ต่างคนต่างคิด ต่างคนต่างทำ

“หลวงพ่อสมเด็จบอกเสมอว่า มีผู้อยากให้คณะสงฆ์อ่อนแอ อ่อนกำลัง จึงพยายามทำลายระบบการปกครองคณะสงฆ์ เหมือนพยายามตัดเส้นเอ็นออกจากกระดูก ในที่สุดพระศาสนาก็เดินต่อไปไม่ได้  เพราะไร้ทิศทาง คณะสงฆ์จึงต้องฝากพระศาสนาไว้กับงานเผยแผ่ ทำงานเผยแผ่กันให้มาก การเผยแผ่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการปกครองคณะสงฆ์ แม้การก่อสร้างซ่อมแซมบูรณะวัดวาวิหารเรือนพระเจดีย์ พระเณรก็ต้องทำ รวมไปถึงการช่วยเหลือสงเคราะห์สังคม การศึกษาทั้งนักธรรม บาลี และปริยัติแผนกสามัญ ตลอดจนความรู้อื่นๆ ที่ไม่ขัดพระธรรมวินัย ล้วนเป็นสิ่งสำคัญ เป็นความมั่นคงของพระศาสนา

“ท่านสอนให้มองกว้างออกไปจนถึงต่างประเทศ ต้องนำพระศาสนาออกไปยังต่างประเทศ เป็นการเตรียมหาที่มั่นแห่งใหม่ให้กับพระศาสนา หากพระโสณะพระอุตระไม่เสียสละเดินทางจาริกท่องเที่ยวมา สุวรรณภูมิก็คงไม่ได้เป็นที่มั่นพระศาสนามาจนถึงทุกวันนี้”

ก่อนที่จะไปถึงการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศ เรามาทำความเข้าใจกับแนวคิดในการสร้างศาสนทายาทฝากไว้ในบวรพระพุทธศาสนาผ่านการบวชเรียนกันต่อ ซึ่งท่านเจ้าคุณอาจารย์ เมตตาอธิบายต่อมาว่า

การบวชเรียนเป็นสิ่งคู่กับสังคมไทยมาแต่เดิม อยากได้วิชาความรู้อะไรต้องไปบวชเรียน ไม่ว่าจะเป็นวิชาหนังสือ วิชารบทัพจับศึกให้ฤกษ์ยาม หมอยา คาถาอาคม และความรู้อื่นๆ สมัยโน้นวิชาเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญ เป็นเนื้อหาหลักของการศึกษาชาติยุคโบราณ จะสร้างตน สร้างฐานะ สร้างบ้านเมือง ต้องแสวงหาไว้ใส่ตัว บวชแล้วจึงได้เรียน

จะว่าไป ประเทศชาติบ้านเมืองเราถูกสร้างขึ้นมาจากรากฐานความรู้ที่มาจากการบวชเรียน สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อครั้งบวชเป็นพระภิกษุแสวงหาวิชาความรู้ ก็ได้รับการทำนายจากชาวจีนชราว่าจะได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน

ผู้คนสมัยนี้

ลืมสิ่งที่บรรพชนท่านคิดท่านทำไปหมด

ได้ของใหม่กลับมองว่า

สิ่งที่ท่านคิดท่านทำนั้นเป็นอวิชชาไปเสียแล้ว

แม้การบวชของพระเณรสมัยนี้ ก็ยังต้องเรียน สมัยก่อนบวชเรียนเพื่อให้ได้วิชาไปสร้างบ้านแปลงเมือง สมัยนี้แม้วิชาแบบสมัยก่อนจะมีความสำคัญลดน้อยลง แต่ก็มีความรู้อย่างอื่นที่จำเป็นต่องานพระศาสนาที่พระเณรต้องเรียน สืบรุ่นต่อรุ่น  และจะให้เรียนบาลีอย่างเดียวก็ค่อนข้างยาก ที่จะรักษาพระศาสนาไว้ได้ เพราะจะทำให้พระเณรไม่สามารถปรับตัวเข้ากับโลกและผู้คนในยุคนี้

ที่จริง พระเณรก็คือลูกหลานชาวบ้านคนหนึ่ง และเป็นทรัพยากรบุคคลของชาติพระศาสนาที่ต้องได้รับการพัฒนาความรู้และความคิด เราต่างก็มีความหวังว่าจะให้พระเณรมีคุณสมบัติที่ดี มีความสมบูรณ์พร้อม

แต่ในความเป็นจริง ไม่มีอะไรมีความสมบูรณ์ ความสมบูรณ์มีในจิตพระอริยะเท่านั้น เราต่างมีความบกพร่องอยู่ในตัว แต่ก็ต้องมาดูว่า ความบกพร่องนั้น ทำลายตัวเอง ทำลายระบบสังคม ทำลายระบบองค์กรหรือไม่ ถ้าไม่ได้ทำลายก็ถือว่ายังไปกันได้อยู่ เป็นความบกพร่องแบบกัลยาณปุถุชน คือ ปุถุชนที่ยังอยู่ในฝ่ายดี แต่ถ้าบกพร่องจนถลำลงไปถึงขนาดสร้างความเดือดร้อนแก่ตนเองและสังคม ก็เรียกว่าเป็นอันธพาลปุถุชน คือ ปุถุชนที่อยู่ฝ่ายอันธพาล มืดบอด อันนี้อันตราย

“แม้คนส่วนหนึ่งจะมองพระเณรด้วยชุดความคิดที่ว่า การศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกสามัญ ไม่ใช่การศึกษาของพระพุทธศาสนา เป็นการศึกษาเรื่องทางโลก บางคนอาจมองไกลไปถึงขนาดว่า การที่พระเณรเรียนภาษาอังกฤษ เรียนคอมพิวเตอร์ เรียนวิชาเขียนหนังสือ เป็นต้น เป็นจำพวกเรียนอวิชชา บางคนหนักไปไกลถึงขนาดมองว่า ความรู้เหล่านี้เป็นเดรัจฉานวิชาสำหรับพระเณร

นั่นคือ ชุดความคิดที่พยายามถูกปล่อยออกมา โดยละเลยที่จะอธิบายความจริงด้วยความคิดอีกชุดหนึ่ง คือ ประเทศชาติบ้านเมืองบรรพชนสร้างขึ้นมาบนรากฐานการบวชเรียนเขียนอ่าน”

ป็นความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าสังคมไทย เชื่อมโยงการศึกษาและพระพุทธศาสนาไว้ด้วยกัน สถาบันพระพุทธศาสนาช่วยการศึกษาชาติให้ยั่งยืน ไม่ใช่แต่เพียงยุคนี้ แต่ช่วยให้ยั่งยืนมาตั้งแต่ยุคสุโขทัย อยุธยามาจนถึงยุคต้นรัตนโกสินทร์ อย่างสำนักวัดสระเกศมีสอนอะไรบ้างในยุคต้นรัตนโกสินทร์ ท่านอาจารย์เจ้าคุณเล่าต่อมาว่า

สำนักวัดสระเกศ สอนวรรณคดี สอนตำราพิชัยสงคราม สอนโหราศาสตร์ สอนตำรายาซึ่งเป็นยอดของตำราที่รักษาโรคต่างๆ มากมาย อาทิ โรคมะเร็ง มีการบันทึกตำแหน่งของมะเร็ง อาการ ลักษณะของมะเร็ง และวิธีรักษา ซึ่งสำนักก็มีภูมิปัญญาบรรพชนนี้เก็บรักษาไว้ และไม่ได้เผยแผ่ในยุคนี้แล้ว เพราะเป็นคนละยุคและเป็นเรื่องภายในของสำนัก ถามว่า วิชาเหล่านี้ผิดไหม เป็นอวิชชาไหม แล้วทุกวันนี้พระเณรเรียนคอมพิวเตอร์ เรียนภาษาอังกฤษ ผิดไหม ถ้าผิด เป็นอวิชชา บูรพาจารย์บรรพบุรุษท่านก็ผิดมาก่อนเรา  แต่ทำไมท่านจึงรักษาพระพุทธศาสนาให้มั่นคงวัฒนาสถาพรสืบทอดมาจนถึงทุกวันนี้ได้ ทำไมท่านช่วยกันรักษาบ้าน รักษาเมืองมาจนถึงทุกวันนี้ได้ เพราะว่าสิ่งเหล่านี้เป็นวัฒนธรรมของชนชาติ ท่านใช้วัฒนธรรมของชนชาติห่อหุ้มแก่นธรรมไว้”

เกี่ยวกับการศึกษาชาติ แท้จริงแล้วก็เริ่มมาจากวัด ท่านเจ้าคุณอาจารย์ชี้ให้ดูหนังสือ “มูลบทบรรพกิจ” ซึ่งอยู่ในตู้หนังสือของหลวงพ่อสมเด็จที่จัดแสดงไว้ที่กุฏิคณะ ๕ แล้วท่านอธิบายต่อมาว่า ใครกันเป็นผู้เขียนตำราการศึกษาชาติ ก็ พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ซึ่งเคยเป็นพระภิกษุในสำนักวัดสระเกศ ท่านเขียนมูลบทบรรพกิจ เป็นตำราภาษาไทยที่เรียนกันไปทั้งประเทศในยุคหนึ่ง

ในสำนักเล่ากันสอนกันมาว่า กุฏิท่านอยู่คณะ ๑ ท่านเป็นพระคงแก่เรียน แสวงหาความรู้หลายสำนัก และเขียนบันทึกความรู้ต่างๆ ตั้งแต่ครั้งยังเป็นพระภิกษุ

“อะไรที่หลงเหลือมาทุกวันนี้ ก็ ผู้ใหญ่หาผ้าใหม่ ให้สะใภ้ใช้คล้องคอ ใฝ่ใจเอาใส่ห่อ มิหลงใหลใครขอดู จะใคร่ลงเรือใบ ดูน้ำใสและปลาปู สิ่งใดอยู่ในตู้ มิใช่อยู่ใต้ตั่งเตียง บ้าใบ้ถือใยบัว หูตามัวมาใกล้เคียง เล่าท่องอย่าละเลี่ยง ยี่สิบม้วนจำจงดี

“อะไรอีกเล่าที่หลงเหลือมาอีก ก็ องค์ใดพระสัมพุทธ ฯ ที่เดี๋ยวนี้พัฒนามาเป็นบทเพลงแห่งการน้อมนมัสการองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คำสรภัญญะ ซึ่งพระยาศรีสุนทรโวหารเป็นผู้เรียบเรียง นั่นไง

“วันนี้การศึกษาทั้งหมดไปอยู่กับบ้านเมืองแล้ว แต่พระก็จำเป็นต้องจัดการศึกษาของพระ เพื่อเกื้อกูลอนุเคราะห์แก่ผู้ที่ไม่มีโอกาส เพื่อเกื้อกูลแก่หมู่ชนทั้งหลาย เพื่อความสุขแก่หมู่ชนทั้งหลาย ดังพระบาลีว่า พหุชนสุขาย โลกานุกมฺปาย แต่กลับกลายเป็นว่า มีบางคนกล่าวว่า ที่ท่านทำการศึกษา ท่านทำไม่ดีเสียแล้ว ในวันนี้ พระที่ไม่เข้าใจก็มาเหยียบซ้ำลงไปอีก คนที่ถูกกับกิเลสตน คนก็ตามเฮโลกันไปในทิศทางที่ทำให้ไม่เข้าใจการศึกษาของพระเณรในยุคนี้มากขึ้น

“พระพุทธศาสนาที่เกื้อกูลกันมาช้านาน ในการรักษาการศึกษาชาติของพระสงฆ์  ประเด็นนี้จำเป็นต้องทำให้เกิดความเข้าใจของคนในชาติ  ซึ่งพระเองก็ต้องคิดใหม่เหมือนกัน คิดใหม่ว่า วันนี้ พระบางท่านบางองค์ก็มองว่า การศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกสามัญ ไม่ดี ทำให้พระเณรไม่เรียบร้อย ต้องเรียบบาลีอย่างเดียว ที่จริง ทุกวันนี้ เราต้องยอมรับความจริงว่า การเรียนบาลีอย่างเดียวไม่สามารถไปรอดได้ทั้งหมด คือไปได้อยู่ แต่ไม่ทั้งหมด ต้องบูรณาการการศึกษาทุกระบบเข้าด้วยกัน

“ในฐานะที่อาตมามีโอกาสเข้ามาอยู่ในสายการปกครอง ก็มองในมุมของผู้สังเกตการณ์จากวงใน วันนี้การเรียนบาลีโดยตรงเริ่มพบทางตัน แล้วจะหาวิธีแก้กันอย่างไร เนื่องจาก ผู้เรียนไม่มี เณรที่จะเรียนก็ไม่มี หรือมีก็น้อยลงมาก และเณรก็ไม่มีความอดทนเหมือนเมื่อก่อน เช่น เรียนร้อยรูปอาจทนเรียนจนสอบได้เปรียญสามสิบรูป อีกเจ็ดสิบรูปต้องลาสิกขาไป ทำให้พระศาสนาสูญเสียบุคลากรไปโดยใช่เหตุ ได้มาหยิบมือหนึ่งแต่เสียไปหอบหนึ่งก็ไม่คุ้ม เป็นการสูญเสียมหาศาล

“วันนี้ พ่อแม่คิดว่า ไม่จำเป็นต้องเลือกเส้นทางการศึกษาแบบพระเณรก็ได้ เพราะบ้านเมืองเขาขยายการศึกษาไปทั่วแล้ว ขณะเดียวกัน โรงเรียนพระปริยัติแผนกสามัญก็มาตอบโจทย์นี้ได้ อย่างน้อยพระเณรก็ดำรงสมณเพศอยู่ได้อีกห้าปี หกปี กว่าจะจบ ม. ๖ ในระหว่างนี้ ถ้าจัดการศึกษาให้เรียนบาลีควบคู่ไปด้วย ในระยะเวลาห้าปีถึงหกปี ก็อาจจะได้ชั้นใดชั้นหนึ่ง หรือสองชั้น หรือสามชั้น ก็ได้ ก็คือ เอาคุณภาพจากปริมาณ  คำว่า คุณภาพ คือ บาลี ส่วนปริมาณ คือ จำนวนเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญ เรียนจนจบ ม. ๖ ในจำนวนนี้ เณรก็เรียนบาลีไปด้วย โอกาสที่จะได้ชั้นใดชั้นหนึ่งก็มีความเป็นไปได้ แต่ถ้ามุ่งจะเรียนบาลีอย่างเดียว โอกาสที่จะเสียเรื่องการศึกษาไปเลยก็มีสูงถึงเจ็ดสิบแปดสิบเปอร์เซ็นต์ การศึกษาของคณะสงฆ์จึงต้องมามองใหม่ ”

(จากคอลัมน์ มโนปณิธาน พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) โดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์ หน้าธรรมวิจัย นสพ.คมชัดลึก วันอังคารที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๖๑)

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here