“มาตาปิตุอุปัฏฐานัง เพราะการเลี้ยงดูมารดาบิดาเป็นมงคลอันสูงสุด”

รำลึกวันวาน มโนปณิธาน พระอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) จึงกลับมา นอกจากจะเป็นกำลังใจในชีวิตของผู้เขียนที่ตั้งใจทดแทนพระคุณคุณแม่ และพระคุณครูบาอาจารย์ทุกท่านแล้ว ยังตั้งใจบูชาปฏิปทาท่านอาจารย์เจ้าคุณเทอดในครั้งนั้นเป็นสำคัญ เพราะความเพียรในการปฏิบัติของท่านอย่างอุกฤษฎ์ การเป็นพระสุปฏิปันโนของท่านที่มีความเมตตาต่อทุกผู้คนอย่างไม่มีประมาณ ผู้เขียนจึงขอท่านถ่ายทอดอัตชีวประวัติของท่าน หลังจากที่ท่านเมตตาเขียนบทความเรื่อง “ความเป็นมาของพระอภิธรรม ” เพื่อน้อมถวายเป็นพระราชกุศล ถวายพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่๙ หลังจากเสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ ๑๓ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๙ ให้กับนิตยสาร “เนชั่นสุดสัปดาห์” ๒๔ ตอน ที่ผู้เขียนทำงานอยู่ในขณะนั้น ก่อนที่นิตยสารจะปิดตัวลงในเดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๕๖๐

เพื่ออธิบายความรูํเกี่ยวกับ “ความเป็นมาของพระอภิธรรม ๗ คัมภีร์ ซึ่งเป็นผลจากการปฏิบัติของพระพุทธเจ้า เสด็จไปบนสวรรค์เพื่อโปรดพุทธมารดาอย่างงดงามตามธรรมจนพุทธมารดาบรรลุธรรมในที่สุด

และเพื่อเป็นพลังและกำลังใจแก่ผู้ที่ตั้งใจจะก้าวเดินบนเส้นทางแห่งการพ้นทุกข์ตามรอยพระพุทธเจ้าอย่างเป็นลำดับๆ ของเส้นทางการปฏิบัติตั้งแต่รักษาศีล เจริญจิตภาวนา ในปัจจุบันขณะ ให้การเรียนรู้สังเกตสภาวะที่เกิดขึ้นภายใจกายใจตนเองตามความเป็นจริงโดยไม่เอาความคิดเข้าไปแทรกแซง แล้วเราจะเห็นสภาวะทั้งหลาย เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป เป็นธรรมดา ทั้งหมดนี้ที่ผู้เขียนเรียนรู้มา จึงเป็นที่มาของการน้อมจิตด้วยเศียรเกล้า ขอถ่ายทอดธรรมะเป็นพุทธบูชาแด่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จากต้นธารของคำว่า “กตัญญู”

เพราะความกตัญญูเป็นสิ่งสำคัญมากในชีวิต …

หนังสือ "หลักการทำบุญและการปฏิบัติธรรม" ในชีวิตประจำวัน โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) พิมพ์ครั้งที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๙ โดยสำนักพิมพ์อนันตะ
หนังสือ “หลักการทำบุญและการปฏิบัติธรรม” ในชีวิตประจำวัน โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) พิมพ์ครั้งที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๙ โดยสำนักพิมพ์อนันตะ

ดังที่ท่านอาจารย์เจ้าคุณเทอด ในครั้งนั้นให้ข้อคิดไว้ให้หนังสือ “หลักการทำบุญและการปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน” ซึ่งตีพิมพ์เป็นครั้งที่ ๙ เดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๙ โดยสำนักพิมพ์อนันตะ ตอนหนึ่งเกี่ยวกับการดูว่าใครเป็นคนดี เป็นคนกตัญญู ดูอย่างไร ท่านยกพุทธพจน์ขึ้นมาบทหนึ่งว่า  นิมิตตัง สาธุ รูปานัง กตัญญูกตเวทิตา ความเป็นผู้รู้จักบุญคุณคน เป็นเครื่องหมายของคนดี   

ภาพวาดเรื่องสุวรรณสาม จากพระอุโบสถวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร
ภาพวาดเรื่องสุวรรณสาม จากพระอุโบสถวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร

“สุวรรณสาม”  อานุภาพแห่งความกตัญญู

รำลึกวันวาน …มโนปณิธาน พระราชกิจจาภรณ์ (ตอนที่ ๓๓)

โดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์

หน้าธรรมวิจัย นสพ.คมชัดลึก วันอังคารที่ ๑๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๒

ท่านเจ้าคุณอาจารย์พระราชกิจจาภรณ์ ในครั้งน้ัน อธิบายว่า ถ้าอยากรู้ว่า  คนรอบข้างเป็นคนดีหรือไม่ ก็ต้องดูว่า เขาแสดงพฤติกรรมต่อพ่อ แม่ ปู่ ย่า  ตา ยาย ผู้มีพระคุณของตนอย่างไร 

“คนที่มีความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ ย่อมได้รับการยกย่องสรรเสริญ และเป็นผู้ที่มีความก้าวหน้า ที่ดีอยู่แล้วก็จะดียิ่งๆ ขึ้นไป เมื่อถึงคราวเคราะห์ ที่หนักก็จะกลายเป็นเบา เพราะผลของเกาะแก้ว คือ ความกตัญญูนั่นเอง”

หนังสือ “ทศชาติ” ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง โดย ญาณวชิระ
หนังสือ “ทศชาติ” ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง
โดย ญาณวชิระ

ดังในเรื่อง สุวรรณสาม ตำนานคนกตัญญู ในหนังสือ “ทศชาติ : ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง” โดย ญาณวชิระ หรือ พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)  ซึ่งตีพิมพ์เป็นครั้งที่ ๘ ปีพ.ศ.๒๕๕๗

ในตอนที่สุวรรณสามออกไปเก็บผลไม้มาให้พ่อแม่ที่ตาบอดก็เดินกลับไปตักน้ำ ขณะถือหม้อน้ำไปตามทางที่เคยเดิน แล้วก็เล่นหัวกับสัตว์ป่าอย่างร่าเริงสนุกสนาน ก็ถูกพระราชากปิลยักขราช ขณะเสด็จพระราชดำเนินออกมาล่ากวาง แล้วบังเอิญเจอสุวรรณสามอยู่ท่ามกลางหมู่สัตว์ป่าที่เชื่อง พระองค์ทรงคิดจะยิงสุวรรณสามในทันที ด้วยเหตุผลว่าจะให้เพียงบาดเจ็บเพื่อที่จะนำตัวมาถามว่า ในป่าแห่งนี้มีสัตว์อะไรบ้าง…หลังจากที่สุวรรณสามถูกยิงด้วยลูกศรอาบยาพิษก็เจ็บปวดมากจวนเจียนจะตายแล้ว ก็รำพึงว่า  

“ในป่าแห่งนี้เราไม่เคยสร้างเวรไว้กับใคร แม้บุคคลผู้มีเวรกับบิดามารดาเราก็ไม่มีเช่นกัน” แม้ขณะที่ถูกยิงแล้วเลือดถ่มออกจากปาก สุวรรณสามยังมีจิตเมตตาต่อผู้ยิงเป็นอย่างมากถามออกไปว่า “ใครยิงเรา ซึ่งยังไม่ทันระวังตัว เพราะกำลังแบกหม้อน้ำ จึงไม่ทันได้แผ่เมตตาให้ ท่านเป็นกษัตริย์ พราหมณ์ หรือแพศย์ ยิงเราแล้วแต่กลับหลบอยู่ในพุ่มไม้  เนื้อของเราก็กินไม่ได้ หนังก็ไร้ประโยชน์ เมื่อเป็นเช่นนี้ ทำไมท่านจึงคิดว่าเราควรยิง ท่านเป็นใคร เพื่อนเอ๋ย จงบอกเราเถิด ยิงเราแล้วทำไมซ่อนตัวเสียเล่า” พูดได้แค่นั้นแล้วก็นิ่ง กล้ำกลืนฝืนความเจ็บปวด

พระราชาได้ยินดังนั้นจึงเข้าไปหาด้วยความแปลกพระหฤทัยว่า “ ชายนี้แม้ถูกเรายิงล้มลงก็ไม่ด่าทอ ไม่ตัดพ้อ  กลับเรียกเราได้ถ้อยคำที่ไพเราะจนจับจิต เราควรไปหาเขา”  

         หลังจากที่พระราชาได้สนทนากับสุวรรณสามจนทราบความจริงว่า สุวรรณสามต้องเลี้ยงดูพ่อแม่ที่ตาบอดอีกสองท่าน จึงอาสาที่จะไปดูแลแทน หลังจากสุวรรณสามสิ้นชีวิต หากทว่า ด้วยอานุภาพแห่งความกตัญญู เทพธิดานามว่า “พสุนธรี” ซึ่งเคยเป็นมารดาของสุวรรณสามมา ๗ ชาติ เพราะความรักความผูกพันบุตรไม่ว่าเกิดที่ไหน จึงคอยเฝ้าดูความเป็นไปของพระโพธิสัตว์อยู่ตลอดเวลา ก็ตั้งสัจจะอธิษฐานที่จะช่วยให้สุวรรณสามฟื้นคืนชีพขึ้นมา และช่วยให้พ่อแม่ของพระโพธิสัตว์หายจากตาบอดด้วยในที่สุด

           พระราชาเห็นความอัศจรรย์เช่นนั้นจึงตรัสว่า “ข้าพเจ้าแปลกประหลาดใจมากจริงๆ สุวรรณสามตายแล้ว แต่ทำไม่กลับฟื้นคืนมาได้อีก”

           สุวรรณสามกราบทูลว่า “ข้าแต่มหาราชเจ้า ผู้คนเข้าใจว่า คนมีชีวิตอยู่ ประสบความเจ็บปวดทุกข์ทรมานอย่างร้ายแรง นิ่งเงียบไปว่าตายแล้ว เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ย่อมคุ้มครองบุคคลผู้เลี้ยงดูบิดามารดา โดยธรรม แม้นักปราชญ์ทั้งหลายในโลกนี้ย่อมสรรเสริญเขาผู้นั้น บุคคลผู้นั้นตายไปแล้ว ย่อมมีความสุขบันเทิงอยู่ในสวรรค์”    

          ในตอนท้ายของเรื่องสุวรรณสาม พระอาจารย์ญาณวชิระ ยังได้เล่าเรื่องการกลับชาติมาเกิดในสมัยพุทธกาลของพระโพธิสัตว์โดยพระพุทธเจ้าตรัสไว้ในพระไตรปิฎกตอนหนึ่งว่า พระราชากปิลยักขราช ในกาลนั้นกลับชาติมาเกิดเป็นพระอานนท์ในชาตินี้ พสุนธรีเทพธิดาเกิดเป็นภิกษุณีชื่ออุบลวรรณา ท้าวสักกเทวราชเกิดเป็นพระอนุรุทธะ ทุกูลบัณฑิตผู้บิดา เกิดเป็นพระมหากัสสปะ นางปาริกาผู้มารดา เกิดเป็นภิกษุณีชื่อ ภัททกาปิลานี ส่วนสุวรรณสามบัณฑิต คือเราผู้สัมมาสัมพุทธเจ้า

“เพราะคุณธรรม คือ ความกตัญญูกตเวที จัดว่าเป็นคุณธรรมสำคัญสำหรับมนุษย์ เป็นเครื่องหมายเชิดชูมนุษย์ให้เป็นคนดี ผู้ใดมีความกตัญญูกตเวที ย่อมมีความเจริญก้าวหน้า ไม่ตกต่ำ เป็นที่ยกย่องของคนทั่วไป และผลของความกตัญญูกตเวทีนี้ยังเป็นอานุภาพปกป้องคุ้มครองเขาให้พ้นจากภยันตรายต่างๆ ได้”

จาก คอลัมน์ มโนปณิธาน โดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์

เรื่อง “สุวรรณสาม”  อานุภาพแห่งความกตัญญู

หน้าธรรมวิจัย นสพ.คมชัดลึก วันอังคารที่ ๑๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๒

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here