“ตามหลักของพระอภิธรรม สรรพสิ่งเกิดดับตลอดเวลา

มีกลไกเชื่อมโยงกันอยู่ในสภาวะ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ในรูปแบบ “ไตรลักษณ์”

การเกิด ย่อมมีผลต่อการตั้งอยู่

การตั้งอยู่ ย่อมมีผลต่อการดับ

และการดับก็ส่งผลต่อการเกิดใหม่อีกครั้ง

เหมือนคลื่นลูกหนึ่งมีแรงทำให้เกิดคลื่นอีกลูกหนึ่ง

สรรพสิ่งเกี่ยวเนื่องกันโดยความเป็นเหตุเป็นปัจจัยส่งทอดซึ่งกันและกันเช่นนี้

จึงเกิดเป็นกระแสหมุนเวียนตามหลักพระอภิธรรม

เรียกสภาวะนี้ว่า “เหตุปัจจะโย”

เป็นเหตุปัจจัยซึ่งกันและกัน”

จากหนังสือ “ความเป็นมาของพระอภิธรรม”

โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

รำลึกความทรงจำ

ความเป็นมาของพระอภิธรรม

กับ ความรักของแม่

โดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์

หน้าธรรมวิจัย ฉบับนี้ ขอบูชาพระคุณแม่ พระพุทธเจ้าและครูบาอาจารย์เป็นที่ตั้ง เพราะสังคมทุกวันนี้ เราอาจหลงลืมอะไรบางอย่างไป ดังที่พระพุทธองค์ตรัสว่า ในสังสารวัฏนี้ไม่มีใครที่ไม่เคยเป็นพ่อแม่พี่น้องกับเราเลยจริงๆ  ถ้าเราตระหนักได้ เราจะไม่มีวันทำร้ายกันและกัน เราจะให้อภัยกัน ถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน และเริ่มต้นใหม่ได้เสมอ เมื่อใครพลั้งพลาดไป

ข้าพเจ้าระลึกถึงพระพุทธองค์ เมื่อครั้งหลังตรัสรู้อริยสัจอันประเสริฐสี่ประการ พระองค์ทรงกลับไปโปรดปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ที่เคยอุปัฏฐากท่านเพื่อให้พ้นทุกข์เช่นเดียวกับพระองค์ แล้วพระองค์ก็ไปโปรดคนทุกข์อีกมากมายให้รู้ธรรมเห็นธรรมจนพุทธบริษัทมั่นคง จากนั้นก็เสด็จขึ้นไปโปรดพระพุทธมารดาบนสวรรค์ให้บรรลุธรรม

ข้าพเจ้าคิดเอาเองว่า ตลอดชีวิตของพระองค์ทรงคิดถึงพระพุทธมารดาแน่ๆ เลย เพราะตั้งแต่พระองค์ประสูติ ๗ วัน พระมารดาก็เสด็จสู่สวรรคาลัย พระองค์จะไปตามหาท่านที่ไหนได้เล่า ข้าพเจ้าเอง เมื่อคุณแม่จากไป ไม่ว่าจะนานเพียงใด ก็ยังคิดถึงแม่ และอยากไปหาแม่ แต่ภูมิธรรมของข้าพเจ้ายังไปไม่ถึง จึงระลึกถึงพระอาจารย์ของข้าพเจ้าผู้เขียนหนังสือเล่มนี้แล้วส่งกระแสจิตไปถึงคุณแม่…

หนังสือ ความเป็นมาของพระอภิธรรม โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)
หนังสือ ความเป็นมาของพระอภิธรรม โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

“ความเป็นมาของพระอภิธรรม”

โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

จัดพิมพ์เป็นธรรมทานมาได้ปีกว่าแล้ว โดยสถาบันพัฒนาพระวิทยากร วัดสระเกศฯ เป็นหนังสือที่ท่านอาจารย์เจ้าคุณเทอด ในครั้งนั้นได้เมตตาเขียนเป็นตอนๆ ให้กับนิตยสาร “เนชั่นสุดสัปดาห์” ก่อนที่จะปิดตัวลงในเดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๕๖๐ ด้วยมโนปณิธานและเจตนาอันยิ่งใหญ่ของท่าน ที่ตั้งใจเขียนน้อมถวายเป็นพระราชกุศลถวายพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ ๙  หลังจากเสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ ๑๓ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๙ เป็นจำนวน ๒๔ ตอน

เพื่ออธิบายความรู้เกี่ยวกับความเป็นมาของพระอภิธรรม ๗ คัมภีร์ ซึ่งเป็นเรื่องราวสภาวะจิตใจทั้งหมดเพื่อไปโปรดพระพุทธมารดาอย่างเป็นลำดับด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย  ทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกถึงพลังอันยิ่งใหญ่ที่นำจิตข้าพเจ้าได้สัมผัสรักอันยิ่งใหญ่ของคุณแม่ได้ตลอดเวลา ในความเมตตาอันมหาศาลของพระพุทธองค์ที่นำความจริงอันประเสริฐมาบอก มาสอนแก่ชาวโลก อีกทั้งความกรุณาของท่านอาจารย์เจ้าคุณเทอดในครั้งนั้นอย่างไม่มีประมาณ จนถึงวันนี้ข้าพเจ้าไม่มีวันลืม

ความเป็นมาของพระอภิธรรม เมื่อครั้งตีพิมพ์เป็นตอนๆ ในนิตยสาร เนชั่นสุดสัปดาห์
ความเป็นมาของพระอภิธรรม เมื่อครั้งตีพิมพ์เป็นตอนๆ ในนิตยสาร เนชั่นสุดสัปดาห์

ดังในบท “กถาวัตถุ” ว่าด้วยคำสอนในพระพุทธศาสนา พระพุทธองค์ทรงใช้เวลา ๑๐ วันในการโปรดพระพุทธมารดา และในกถาวัตถุนี้เอง พระพุทธองค์ทรงตั้งเป็นมาติกา (หัวข้อ) ซึ่งพระสงฆ์ได้นำมาเป็นบทสวดในพิธีสวดพระอภิธรรมมาจนถึงทุกวันนี้ ดังตอนหนึ่งความหมายว่า “สภาวะใดที่อรรถแจ่มแจ้ง และมีอรรถที่ยิ่งใหญ่ปรากฏอยู่ ข้าพเจ้าก็เข้าไปหยั่งเห็น…”

แม้ตอนนี้ข้าพเจ้ายังไม่หยั่งเห็นอรรถธรรมที่แจ่มแจ้ง แต่ข้าพเจ้าก็เห็นทุกข์ภายในใจอย่างแจ่มแจ้ง ทุกข์จากความพลัดพราก เพราะทุกข์นี้เอง ทำให้ข้าพเจ้าคิดถึงแม่ และเพียรที่จะไปให้สุดทางของมัน

คอลัมน์ บันทึกธรรมวิจัย โดย มนสิกุล โอวทเภสัชช์
หน้าธรรมวิจัย นสพ.คมชัดลึก วันอังคารที่ ๑๘ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๖๒

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here