เดินทางไปกับพระธรรมทูตเชิงปฏิบัติการ …แบบใสซื่อ

ก้าวต่อก้าวอย่างมีสติ และการเรียนรู้สภาวะจิตทุกขณะ

เปิดเผย จริงใจ ไม่มโน…

ยินดีต้อนรับสู่รัฐมิสซิสซิปปี

ณ วัดพุทธเมตตามหาบารมี

จาริกธรรมในอเมริกา​ (ตอนที่๒)

โดย พระครูสมุห์สุพัฒน์  อนาลโย กลุ่มเพื่อชีวิตดีงาม สำนักงานส่งเสริมธรรม

หลังจากสหธรรมมิก และพี่น้องมาส่งขึ้นเครื่องบินสายการบินเจแปน​แอร์ไลน์​  ก่อนที่จะเช็คอินเข้าในสนามบินสุวรรณภูมิ​

ผู้เขียนเดินทางมากับเพื่อนพระด้วยกันสามรูปรู้สึกตื่นเต้นเป็นระยะๆ มันคือประสบการณ์ใหม่ครั้งแรก เริ่มต้นจากศูนย์ทุกอย่าง เช่น​ กระเป๋าเดินทางใช้ครั้งแรกพี่สาวซื้อมาให้ใหม่​  เพื่อนร่วมเดินทางก็เป็นเพื่อนใหม่หมด​  นั่งเครื่องบินไกลที่สุด​ ภาษาก็ไม่ได้​  ไม่เคยไปอเมริกาเลย​เคยได้ยินแต่ชื่อ​เท่านั้น

ส่วนผู้เขียนถือย่ามสามเณรทรูปลูกปัญญาธรรมหนึ่งใบ​ กระเป๋าเดินทางขนาดเล็กใบหนึ่งก่อนถือขึ้นเครื่อง​  ต้องเข้าไปตรวจเช็คสิ่งของต่างๆ ​ในย่าม​ กระเป๋าเดินทาง​ และถอดรองเท้าตรวจด้วย ​เข้าเครื่องสแกน ​ทั้งสามรูปเดินผ่านประตูตรวจความปลอดภัยผ่านทั้งหมดทุกรูป

แต่เจ้าหน้าที่เลือกผู้เขียนว่า​ “ท่านขอตรวจของพาวเวอร์แบงค์หน่อยค่ะ…”  พระตกใจนิดหน่อยก็หยิบออกจากกระเป๋าใบเล็กๆ ยื่นให้เจ้าหน้าที่ตรวจ ผลปรากฏว่า “ผ่าน” เจ้าหน้าที่ยื่นกลับมาให้​ รอด​ๆ​ แล้ว(พูดในใจ)​ เขาให้ถือขึ้นเครื่องบินได้ไม่กิน​ ๓๐,๐๐๐  โวลต์​  ของผู้เขียนมี ๑๐, ๐๐๐​  โวลต์

เดินต่อไปอีกเจอเจ้าหน้าที่ประทับตราอนุญาตให้ผ่านสามารถไปต่างประเทศได้​

บทเรียนแรกเริ่มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ​ ต้องใช้รถเข็นกระเป๋ากับเพื่อนคนละคันไปหา Gate  F6 เพื่อไปนั่งรอขึ้นเครื่องไปลงที่สนามบินญี่ปุ่น​ชื่อว่า​ “ฮะเนดะ” เมืองโตเกียว​ จัดของในกระเป๋าเตรียมหมวกไหมพรมถุงเท้าและผ้ากันหนาวใส่ย่ามไว้เผื่อช่วยบรรเทาความหนาวได้บ้าง

สักพักเสียงประชาสัมพันธ์ประกาศให้ไปขึ้นเครื่องบินไปลงที่สนามบินฮะเนดะ พระทั้งสามลุกขึ้นไปเข้าแถวรอขึ้นเครื่องบินมือขวาสะพายย่ามมือซ้ายลากกระเป๋าไปหาเบอร์ที่นั่ง(52A)ของตนบนเครื่อง พนักเจ้าหน้าที่บอกไปทางขวามือ พอถึงที่นั่งตนเองแล้วเก็บกระเป๋าวางไว้บนชั้นวางกระเป๋า​  ส่วนย่ามเอาไว้ใต้ที่นั่งของเพื่อนข้างหน้า​ นั่งติดหน้าต่างเรียงคู่กับเพื่อนถัดไปที่นั่งที่สามเป็นของโยม

เครื่องบินออกไปได้สักพักเริ่มเย็นที่หัวก็ใส่หมวกไหมพรม​ เย็นที่เท้าทั้งสองข้างหยิบเอาถุงเท้ามาใส่​  เพื่อบรรเทาความเย็น​ ซึ่งโยมนกแนะนำ​ ถ้าเท้าเราเย็นอาจจะไม่สบายเป็นหวัดได้นะ​  พอนึกได้รีบใส่ทันทีเลย​

เครื่องบินออกเดินทางจากสนามบินสุวรรณภูมิ​ไปสู่สนามบินฮะเนดะ​นั้น  ระหว่างทางได้นั่งนึกคิดถึงญี่ปุ่นจะเป็นอย่างไร​ น้องสาวบอกว่าให้ถ่ายภาพภูเขาไฟฟูจิมาให้ดูด้วยนะและนี้เป็นครั้งแรกของชีวิตเราที่มาญี่ปุ่นเหมือนกัน​

บรรยากาศในเครื่องบินเหลียวมองดูรอบๆ เห็นผู้คนมากมายมีอิริยาบถที่แตกต่างกัน​ บางคนนั่งเล่นมือถือ​ ดูหนัง​ ฟังเพลง​ ในจอเล็กๆ ที่อยู่ข้างหน้าของผู้นั่ง​  อ่านหนังสือภาษา​  บางคนก็นอนหลับ​  พูดคุยกันกับคนที่มาด้วย​เช่น เพื่อนหรือแฟน​ เป็นต้น

ผู้เขียน​ก็หลับๆ ตื่นๆ​  สลับกันไปมาหลายรอบ​  มารู้สึกตัวอีกรอบมาถึงสนามบินญี่ปุ่น​แล้วเวลาประมาณ​ ๖ โมงเช้าที่สนามบินมีฝนตกเหมือนฝนจะดีใจ (คิดไปเอง)​

เมื่อลงจากเครื่องบินอยากเข้าห้องน้ำ​ อาจารย์ศรีแนะนำว่าห้องน้ำที่ญี่ปุ่นไม่เหมือนที่อื่นนะ​ เป็นห้องน้ำที่ทันสมัยมาก​ มีปุ่มให้กดหลายปุ่ม​ ซึ่งผู้เขียนไม่รู้เรื่องอะไรเลย​ ก่อนเข้าห้องน้ำถามเพื่อนใช้อย่างไรบ้าง​ ท่านก็แนะนำอย่างนั้นอย่างนี้​เหมือนเข้าใจแต่ไม่เข้าใจอะไร​ เพราะเราไม่รู้แท้ๆ​

           เมื่อพระบ้านนอกก้าวเข้าสู่ประเทศที่มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยอำนวยความสะดวกสบาย​ให้แก่ชีวิต​ทุกอย่าง  มีทั้งข้อดีและข้อเสีย​ ข้อดีคือ​ อำนวยความสะดวกประหยัดเวลา​  ข้อเสียคือทำให้คนติดความสบายสะดวกเกินไปไม่ดีจะขาดเกี่ยวกับการช่วยเหลือพึ่งพาตนเอง​

เพื่อนบอกวิธีใช้ห้องน้ำจบก็เข้าไปในห้องน้ำล็อคประตูเรียบร้อยแล้ว สมใจมุ่งหมายตามความต้องการ​  อ้าวจะทำอย่างไง  หาปุ่มกดชักโครกไม่เจอมันไม่เหมือนกับบ้านเรา

สังเกตเห็นปุ่มกดเรียงกันหลายปุ่มก็ไม่แน่ใจก็ไม่กล้ากด​ เหลียวไปเห็นไฟกระพริบสีแดงน่าจะใช่ตรงนี้ยื่นมือไปที่นั้นปรากฏว่ามันเซ็นต์เซอร์น้ำลงชะล้างสิ่งปฏิกูลหายไป​ดีใจที่สามารถใช้เทคโนโลยีล้างสิ่งปฏิกูลได้ด้วยตนเอง​  โอ้… เวรกรรมจะเปิดประตูอย่างไรที่นี้​

เอามือผลักประตูตั้งหลายรอบก็ไม่ออก

ขณะนั้น…ผู้เขียนมีความคิด​ ถ้าเราออกไปไม่ได้​จะทำอย่างไรดี  จะร้องเรียกเพื่อนก็กระไรอยู่​ มันน่าเกลียดเพื่อนกำลังทำธุระส่วนตัวอยู่​ ผลักแล้วผลักอีกปรากฏว่าประตูก็นิ่งเสียงคนก็ไม่มี

ตั้งสติดูประตูอีกครั้ง​มันเป็นประตูพับ  ​ โอ้ยเนาะ…เขาให้เราเลื่อนประตูไปทางซ้ายมือ​  พอเลื่อนประตูไปทางด้านซ้ายมือเท่านั้นล่ะ​  อ้าวทำไม… ออกง่ายจัง…รอดตายอีกแล้วเรา

พอออกมาจากห้องน้ำแล้วแปรฟันล้างหน้าที่อ่างน้ำด้านนอกอย่างสบายใจก่อนไปรับกระเป๋าเดินทาง​

พระสามรูปเดินไปด้วยกัน​  เพื่อไปรับกระเป๋าคืน เดินไปตามลูกศรบอกถึงที่รับกระเป๋าแล้ว​  มีคนต่างชาติทั้งญี่ปุ่นฝรั่งและพระไทยสามรูป​ เขาให้ไปกรอกแบบฟอร์มเข้าเมืองก่อน​กรอกเสร็จแล้วเดินไปเข้าแถวค่อยขยับเคลื่อนไปที่ละก้าวๆ​ สะพายย่าม​ ลากกระเป๋าเดินทางใบเล็กไปด้วย​

ที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง​ ประทับตราที่พาสปอร์ตด้านนี้ ผู้เขียนกับอาจารย์ศรีผ่าน​  แต่อาจารย์เอกรินทร์​ ถูกเจ้าที่หน้าถามว่า​ จะไป​ไหน​?  ตอบว่า สนามบินชิคาโก้

เจ้าหน้าที่ถามว่า จะอยู่ที่นี่กี่วัน?  ตอบว่า​ จะไปต่อเครื่องบินวันนี้เลย  เหตุที่ถามเพราะไม่ได้เขียนระบุว่าจะอยู่ที่นี่กี่วันในที่สุดก็ผ่านมาได้ด้วยกัน

ทั้งสามรูปเดินไปเอากระเป๋าเดินทางที่โหลดลงใต้ท้องเครื่องบินรูปละสามใบใส่รถเข็นไป​ต่อแถวกับคนอื่น​  พอถึงเจ้าหน้าที่ตรวจเขาถามว่า “ได้กรอกแบบฟอร์มหรือยัง”  ผู้เขียนว่า… ยังเลย… เจ้าหน้าที่บอกว่า​ “เชิญไปกรอกแบบฟอร์มก่อน”... ขอบคุณครับ​

ทั้งสามรูปเข็นรถกระเป๋ากลับมากรอบแบบฟอร์มต้องใช้เวลาพอสมควรกว่าเขียนหมดรอบแรกก็ไม่มั่นใจที่เขาถามว่า​ คุณเคยเข้ามาในประเทศญี่ปุ่นหรือเป็นบุคคลที่ต้องห้ามเข้ามาในประเทศนี้​  แล้วให้กากบาทลงในช่องที่ว่า​ (Yes, No)​ ตกลงกันว่าเราจะเขียนเหมือนกัน​

เขียนรอบแรกไม่เอา เขียนใหม่อีกรอบ จนเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเข้ามาบอกให้เรากรอกแบบฟอร์มตามตัวอย่างที่เป็นภาษาไทย​  ตอนนี้เขียนแวบเดียวไม่ถึง​ ๕​  นาที​เอง​  ผ่านอีกด่านและเข็นรถผ่านไปได้อย่างมั่นใจ​

อาจารย์ศรีเป็นผู้นำทั้งการเดินทางและเรื่องภาษาประสานงานติดต่อพูดคุยอาศัยท่านหมดเลย​ ในคราวครั้งนี้​ก็เช่นกัน…พอเข็นรถกระเป๋าผ่านมาแล้วก็เจอปัญหาอีกว่าเราจะไปขึ้นรถไปสนามบินนาริตะได้ที่ไหน…? 

อาจารย์ศรีเป็นผู้นำเดินหาป้ายรถที่จะไปสนามบินนาริตะอยู่นั้น​  มีโยมผู้หญิงคนหนึ่งน่าจะเป็นพนักงานในสนามบินนี้​ 

อาจารย์ศรีถามว่า “จะไปสนามบินนาริตะได้อย่างไร”

พนักงานว่า “ต้องไปซื้อตั๋วรถก่อน”

อาจารย์ศรีถามว่า​” จากสนามบินนี้ไปสนามบินนาริตะใช้ระยะเวลาเท่าไร”

พนักงานว่า “จากนี่ไปสนามบินนาริตะเปรียบเทียบสนามบินดอนเมืองไปสนามบินสุวรรณภูมิ​”

อาจารย์ศรี​ท่านไปซื้อตั๋วรถ ๓ ใบไปที่สนามบินนาริตะเที่ยวที่​ ๕​ ทั้งสามลงลิฟท์ไปชั้นล่างที่ป้ายรถบัสปรากฏว่ารถเที่ยวที่​ ๕​ ออกไปแล้ว​เหลือเที่ยวต่อไปต้องรออีกสามสิบชั่วโมง​  กลัวจะไม่ทันเครื่องบิน​  กระเป๋ายังไม่ได้โหลดอีก​ เวลาเหลือสองชั่วโมง​

อาจารย์ศรีพากันขึ้นไปข้างบนไปถามเจ้าหน้าที่สายการบิน​ เจแปนแอร์ไลน์​  คุณสามารถเช็คอินตั๋วออนไลน์ได้ไหม​ เขาบอกว่า​ ไม่ได้คุณต้องไปเช็คอินที่โน่นเท่านั้น​และแนะนำทางออกให้โดยให้นั่งรถแท็กซี่… จึงตัดสินใจนั่งแท็กซี่กัน… ยังดีเขาก็ยังเสียสละเวลาทิ้งเวลางานของเขาลงมาส่งขึ้นแท็กซี่​ขนกระเป๋า ๙ ใบ ขึ้นรถเรียบร้อยแล้ว​ กล่าวคำขอบคุณเจ้าหน้าที่คนนั้น​

แล้วรถก็เคลื่อนล้อหมุนมุ่งหน้าไปที่สนามบินนาริตะทันที ฝนก็ตกปรอยๆ​ คนขับก็รีบทำเวลาให้จนถึงเป้าหมาย ใช้เวลาชั่วโมงครึ่ง​ ค่ารถ ๒๐,๐๐๐ เยน ​จากนั้นเปิดประตูรถทั้งสามและคนขับรถช่วยกันขนกระเป๋าลงจากรถใส่รถเข็นทันทีรีบเข้าไปในสนามบินนาริตะหาเจแปนแอร์ไลน์เพื่อเช็คอิน​ก็เจอพอดี

เจ้าหน้าที่ถามว่า จะไป​ไหน​ อาตมาตอบ จะไปที่สนามบินชิคาโก้​  พนักงานคนนี้ใจดีเช็คอินตั๋วและพร้อมโหลดกระเป๋าให้​ และแล้วกลับมาเจอปัญหาอีกครั้ง​  พาสปอร์ตอาจารย์เอกรินทร์​  ชื่อท่านตกไปตัวอักษรหนึ่ง​ คำว่า​พระมหาเอกรินทร์​  ตกตัว​รอ​เรือ​ “ร”  เจ้าหน้าที่ก็โทรศัพท์คุยกันปรึกษากัน​ 

พระทั้งสามภาวนาในใจสวดมนต์แผ่เมตตาให้ผ่านๆ​  โชคดีที่เจ้าหน้าที่ใจดีให้ผ่าน​ ส่วนน้ำหนักกระเป๋าก็เกินมาหนึ่งกิโลกรัม ​เขาให้​ ๒๓​  กิโลกรัม​เกินมา  ๑​  กิโลกรัม​ เขาบอกว่าครั้งนี้ฉันให้โอกาสคุณเพียงแค่ครั้งเดียวเท่านั้น​ ขอบคุณมากๆ​ ก็ผ่านไปด้วยดีที่ไม่ต้องตกเครื่องบิน

เข้าไปรอขึ้นเครื่องข้างในก็ตรวจกะเป๋าย่าม ผ่านสแกนหมด ไม่มีปัญหา​ เดินไปตามเกตรอเข้าแถวขึ้นเครื่องตามหมายเลขที่เขากำหนดให้​ที่เข้าแถวต่อท้ายฝรั่งไปนั้น​ ค่อยๆ เคลื่อนแถวไปเรื่อยจนมาถึงเราอยู่ข้างหน้าอาจารย์ศรี​  เขาถามว่าจะเช็คกระเป๋าไหม​ อาจารย์ศรีบอกว่าเช็คก็เช็ค ก็เลยนำกระเป๋าเข้าไปในห้องให้เจ้าหน้าที่เช็คตรวจที่ตัวเราด้วยไม่ถึงสามนาทีก็เสร็จเรียบร้อยไม่มีปัญหาอะไร​ ผ่านไปได้อีกแล้ว​

เดินไปขึ้นเครื่องนั่งคนละที่กับเพื่อนตื่นๆ หลับๆ ในเครื่องนานที่สุดในชีวิต สุดท้ายก็มาถึงสนามบินที่ชิคาโก้เรียบร้อยแล้ว

ต่อเครื่องจากชิคาโก้ไปสนามบินนิวออลีนอีก​ ๒​ ชั่วโมง

ระหว่างนั้นได้ตรวจพาสปอร์ตจากเจ้าหน้าที่ถามว่า จะไป​ไหน​ ตอบว่า ไปรัฐมิสซิสซิปปีวัดพุทธเมตตามหาบารมี​ ถามว่า มาอยู่กี่ปี​   อาจารย์ศรีตอบว่า สองปี

พระอาจารย์ศรีและผู้เขียน​  พาสปอร์ตแบบพระธรรมทูต​ ส่วนพระอาจารย์เอกรินทร์  ๖​ เดือน​ พาสปอร์ตแบบนักท่องเที่ยว เขาประทับตราให้ผ่านทั้งสามรูป​ รีบไปเอากระเป๋าใส่รถเข็นไปโหลดลงเครื่อง​แล้วไปขึ้นรถต่อไปที่สนามบินต่อไป

ลงรถไปตึกที่สองแล้วไปตรวจดูไฟล์การบินอยู่นั้นได้มีฝรั่งสามีภรรยาและลูกอีกสองคนเข้าทักทายว่า  สวัสดีครับ​  ท่านมาจากไหน​… มาจากเมืองไทย​.. จะไปที่ไหนเหรอครับ​  จะไปที่นิวออลีน​ และจะต่อรถไปที่​รัฐมิสซิสซิปปี  วัดพุทธเมตตามหาบารมี…  ทำไมพูดไทยได้

ผมเคยอยู่เมืองไทย​สามสิบปีแล้วครับ

ผู้ชายมีชื่อไทยว่า​ “คำอ้าย”  และผู้ภรรยาเขาชื่อว่า​ “คำหล้า”   ลูกชายชื่อ​ว่าอัศวิน​  ลูกสาวชื่อว่า​ มะลิ​

คุณพ่อทำงานวิจัยเรื่องภาษาท้องถิ่นไทย​ เขาบอกว่าภาษาท้องถิ่นไทยมีมากกว่า​ ๗๐ ภาษา​ คุณแม่เคยเป็นครูภาษาที่โรงเรียนสวนจิตลดาด้วย ลูกเรียนนานาชาติที่เมืองไทย​ ชอบเรียนนวดแผนโบราณ​ เพราะมีแรงบันดาลใจจากการได้ช่วยเหลือคนแก่และช่วยนวดบรรเทาความเจ็บให้หายเหนื่อยเบื้องต้นได้​ เพราะเธอมีจิตใจดีงามเหมือนพระโพธิสัตว์​ และน้องชาย​อยู่ม.๓​ ชอบวิชาดนตรี​ 

ฝรั่งทั้งสี่คนนี้ชอบเมืองไทย​ บอกว่าคนไทยใจดี​ เห็นคนไทยแล้วรู้สึกดีใจมากๆ​ มีความสุข​ และรักคนไทย

วันแรกที่อเมริกามีฝรั่งเป็นเจ้าภาพถวายเพลที่สนามบินได้พูดคุยกันหลายเรื่องแล้วได้ให้พรและถ่ายรูปเป็นที่ระลึกก็กล่าวคำลาจากกันโยมฝรั่งคำอ้ายได้แจกนำบัตรให้ไว้ด้วย

หลังจากนั้นก็นั่งเครื่องบินจากชิคาโก้มาลงที่สนามบินนิวออลีนอย่างปลอดภัย เช็คดูกระเป๋าปรากฏว่าล้อกระเป๋าลากมันหลุดออกจากกันก็เข้าไปเปลี่ยนกระเป๋าใหม่​กับเจ้าหน้าที่รับผิดชอบหรือเคลมกระเป๋าคืนเสร็จแล้ว​  และโยมอุบสกชื่อว่า​มานะ​ ได้มารับส่งถึงวัดอย่างเรียบร้อยแล้วอย่างปลอดภัยดี

“ยินดีต้อนรับสู่รัฐมิสซิสซิปปี ​ ณ​ วัดพุทธเมตตามหาบารมี”

พระจ๊อดส์​ ๒​ กรกฎาคม​ พ.ศ.๒๕๖๒

ยินดีต้อนรับสู่รัฐมิสซิสซิปปี ณ วัดพุทธเมตตามหาบารมี
(จาริกธรรมในอเมริกา​ ตอนที่๒)
โดย พระครูสมุห์สุพัฒน์ อนาลโย

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here