สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตโต)  , สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปณมหาเถระ) และ  สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ( ช่วง วรปุญฺโญ )
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตโต) , สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปณมหาเถระ) และ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ( ช่วง วรปุญฺโญ )

มหาจุฬาฯ งามสง่าสดชื่น กลางทะเลแห่งคลื่นลม (๓)
: พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ปัจจุบัน สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์

เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ)
เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ)

(คำปรารภ)

เจ้าประคุณอาจารย์สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) ได้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่ปัจจุบันเรียกชื่อตามกฎหมายว่า มหาวิทยาลัยมหาจุฬางกรณราชวิทยาลัย ในช่วง ๒๕๐๗ – ๒๕๒๑ รวมเวลา ๑๕ ปี ตั้งแต่ดำรงสมณศักดิ์ที่ พระราชวิสุทธิเมธี พระเทพคุณาภรณ์ พระธรรมคุณาภรณ์ และพระพรหมคุณาภรณ์ โดยลำดับ นับว่าเป็นเลขาธิการองค์จริงจังในกิจการอย่างยาวนานที่สุด ของมหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งนี้

ในสมัยนี้ เลขาธิการเป็นตำแหน่งของผู้เป็นหัวหน้าที่ทำงานจริง ในการดำเนินของมหาวิทยาลัยทั้งหลาย มิใช่เพียงตำแหน่งเกียรติยศ ดังมีคำอธิบายในหนังสือนี้แล้ว

ในฐานะเป็นผู้นำ เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบการดำเนินงานของมหาจุฬาฯ มิใช่ท่านจะต้องทำงานไปทุกอย่าง แต่กิจการทั้งปวงในระยะเวลานั้นทั้งหมด ดำเนินไปในความควบคุมดูแลและความเห็นชอบของท่าน โดยเฉพาะในยุคสมัยนั้น มีการทำงานที่เป็นระบบแห่งความร่วมแรงร่วมใจ โดยเป็นไปในสามัคคีสมานฉันท์ จึงพูดง่ายๆ รวมๆ ว่าเป็นกิจการของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในยุคที่เจ้าประคุณอาจารย์สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) เป็นเลขาธิการ

ในหนังสือนี้ ได้เล่าเรื่องราวความเป็นไปในกิจการของมหาจุฬาฯ ในช่วงเวลา ๑๐ ปี (พ.ศ. ๒๕๐๗ – ๒๕๑๗) เมื่อผู้เล่าสนองงานในฐานะผู้ช่วยของท่าน คือเป็นผู้ช่วยเลขาธิการ
การเขียนเล่าเรื่องราว และทำหนังสือนี้ขึ้น ขอถือเป็นการร่วมบำเพ็ญกุศลอุทิศถวาย ในวาระสำคัญยิ่ง แห่งงานพระราชทานเพลิงศพ

อนึ่ง การเขียนสะกดคำบางอย่าง อาจต่างไปจากที่ใช้กันมาบ้าง ในเมื่อเห็นว่าควรเปลี่ยนแปลงเพื่อความเหมาะสม เช่น แทนที่จะเขียน “วรสารเถร” ก็เขียนเป็น “วรสารเถระ”

ขอกุศลในการนี้ จงเป็นไปเพื่อความเจริญงอกงามของพุทธบริษัท ในไตรสิกขา และในไตรพิธบุญกิริยา เพื่อความแผ่ไพศาลแห่งพระพุทธศาสนา และเพื่อความไพบูลย์แห่งประโยชน์สุขของปวงประชา อันเป็นจุดหมายในการบำเพ็ญศาสนกิจทั้งปวงของเจ้าประคุณอาจารย์สมเด็จพระพุฒาจารย์ ยั่งยืนนานสืบไป 

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)
๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕

ตั้งตัวดีแล้ว ก็เดินหน้ากันต่อไป

พ.ศ. ๒๕๐๖-๒๕๐๗ เป็นช่วงเวลาต่อที่สำคัญอีกครั้งหนึ่ง คือ พระราชวิสุทธิเมธี (เกี่ยว อุปเสโณ) และพระกวีวรญาณ (จำนงค์ ชุตินฺธโร) ซึ่งเป็นผู้ช่วยอธิการบดี (ฝ่ายธุรการ และฝ่ายวิชาการ ตามลำดับ) ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นรองอธิการบดีทั้งสองท่าน ในปี ๒๕๐๖ ณ วันที่ ๑๕ ก.ย. ๒๕๐๖
เวลาผ่านมาเพียง ๕ เดือน ครั้นถึงกลางเดือนมกราคม ๒๕๐๗ มีคำปรารภแสดงเหตุผลที่นำลงตีพิมพ์ใน พุทธจักร (ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๐๗) ว่า

เพื่อให้งานบริหารภายในมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ดำเนินไปด้วยดี สมเป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งคณะสงฆ์ไทย จึงได้มีการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงคณะผู้บริหาร

ทั้งนี้ โดยรองอธิการบดีทั้งสองท่าน พร้อมด้วยเลขาธิการ คือ พระเมธีวรคณาจารย์ (สนั่น กมโล) ได้ลาออกจากตำแหน่งทั้งหมด แล้วมีการแต่งตั้งที่เปลี่ยนแปลงไป (ขอไม่นำมาแสดง เพื่อไม่ให้ผู้อ่านงงหรือสับสน) 

ขอรวบรัดผ่านไปว่า เมื่อพระราชวิสุทธิเมธี จะได้เข้ารับหน้าที่เลขาธิการ พระกวีวรญาณได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยเลขาธิการ
พระกวีวรญาณ ในฐานะผู้ช่วยเลขาธิการ ได้เร่งทำงานที่สำคัญ (คงจะจัดงานให้เข้าระบบเป็นกระบวนไว้) เช่น การสืบต่อทุนทางด้านมูลนิธิอาเซีย เฉพาะอย่างยิ่ง การติดต่อและได้ทุนส่งพระพุทธศาสตรบัณฑิต ไปศึกษาต่อในต่างประเทศ โดยครั้งนั้น ได้ติดต่อให้มหาวิทยาลัยใหญ่และสำคัญแห่งหนึ่งของอินเดีย คือ B.H.U. (Banaras Hindu University) ยอมรับบัณฑิตจากมหาจุฬาฯ เข้าศึกษต่อในขั้นปริญญาโท จนสำเร็จด้วยดี

พึงทราบว่า เวลานั้น งานนี้เป็นการปูทางวางรากฐานที่สำคัญมาก พร้อมไปกับเป็นสาระส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาในระยะยาว เพราะเวลานั้น ทางการบ้านเมืองไทยไม่ได้ยอมรับมหาวิทยาลัยสงฆ์เลย ไม่ว่าในแง่สถานะของสถาบัน (ว่ามีอยู่จริง) หรือวิทยฐานะของบัณฑิตและผู้เล่าเรียน (ว่ามีความรู้พอจะนับถือได้)

ถึงเวลานั้น ที่เดินหน้ามาได้ ก็แค่ว่า พุทธศาสตรบัณฑิต ถ้าลาเพศไป ทางการยอมรับให้เข้าเป็นอนุศาสนาจารย์เท่านั้น และในการไม่ยอมรับนั้น ข้ออ้างที่สำคัญก็ย่อมได้แก่มาตรฐานการศึกษา ซึ่งโยงมาที่สถานะของสถาบันในแห่ของราชการงานเมือง

ขณะที่บ้านเมืองของตนเอง ไม่ได้ความยอมรับ และเป็นเรื่องที่ต้องพยายามดำเนินการอย่างรอช่องทางหวังโอกาสท่ไม่มีอะไรชัดเจน และคงยาวนานอย่างมากนั้น การนำความยอมรับจากภายนอกคือต่างประเทศมาเป็นเครื่องยืนยัน และเป็นแรงหนุนย่อมเป็นเครื่องสร้างความมั่นใจได้ไม่น้อย

ข้อที่สำคัญยิ่ง และได้ใช้ประโยชน์กันมากในระยะแรก ก็คือ ถึงแม้ทางการบ้านเมืองไทยจะไม่รับรองวิทยฐานะของบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยสงฆ์ จะไปทำอะไรที่ไหนก็ไม่ได้ แต่พอบัณฑิตนั้นไปเรียนต่อในต่างประเทศ ได้เป็นมหาบัณฑิตกลับมาถึงเมืองไทย ทั้งที่เมืองนี้ไม่รับความเป็นบัณฑิตของเขา แต่ข้ามไปรับความเป็นมหาบัณฑิตที่สูงกว่า ซึ่งเขาอาศัยความเป็นบัณฑิตอันนั้นแหล่ะไต่ขึ้นไปแล้วได้จากที่อื่นมา จะไปเข้าที่ไหนทำอะไร ก็ยอมรับไปตามค่าของวิทยฐานะแห่งสถาบันในต่างแดนนั้น

ในช่วงเวลาระยะนั้น การได้ความยอมรับของสถาบันในต่างประเทศ จึงเป็นจุดเน้นที่เด่นและสำคัญ การทำให้ได้ความยอมรับจากภายนอกในระยะแรกนั้น จำนวนมากเป็นความพยายามหรือดิ้นรนส่วนตัวหรือของบุคคล และว่ากันเป็นรายๆไป บางท่านได้เข้าเรียนในสถาบันซึ่งไม่มีชื่อในบัญชีที่ยอมรับของ ก.พ. ไม่เป็น accredited เมื่อสำเร็จมาเมืองไทยก็ได้แต่ความรู้ ถ้าไม่อยู่ทรงเพศไว้ ออกไปข้างนอก ก็หางานการยาก อาจจะต้องมีความรู้ความสามารถเดินจนมีเอกชนบางเจ้ารับเอาด้วยความนับถือ

รวมแล้วก็เป็นไปแบบกระจัดกระจาย และบางทีก็ไม่เป็นหลักฐานให้แก่คนข้างหน้า แต่ก็ต้องทำกันมาอย่างนั้น ดีกว่าไม่มี และเมื่อได้ ก็ค่อยๆ ก้าวกันไป

การที่พระเถระผู้บริหารมหาจุฬาฯ โดยมีพระกวีวรญาณเป็นเจ้าการ ดำเนินงานส่งพระพุทธศาสตรบัณฑิตไปศึกษาต่อครั้งนี้ ไปอย่างเป็นคณะเป็นทางการ เป็นการติดต่อระหว่างสถาบัน และดูแล้วว่ามหาวิทยาลัยที่โน่นแห่งนั้น ใหญ่โต มั่นคง และสำคัญ

ทั้งนี้ เป็นการติดต่อให้รับรู้ยอมรับกันเป็นหลักฐานเพื่องานระยะยาวไปเลย ว่า ปริญญาชื่อพุทธศาสตรบัณฑิต จากสถาบันชื่อว่ามหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นที่ยอมรับของ B.H.U. ในบัดนี้และเบื้องหน้าสืบไป กับทั้งเป็นที่อ้างอิงในการติดต่อกับสถาบันอื่นๆ ได้ด้วย อันนี้จึงเป็นก้าวใหญ่ของงานการศึกษา และดังว่าแล้ว ก็สำเร็จเสร็จสิ้นไปด้วยดี

อนึ่ง การได้ความยอมรับครั้งนี้ มิใช่เพียงเป็นทางและเป็นที่อ้างอิงสำหรับ พธ.บ. ในการไปและในการส่งไปให้ศึกษาต่อได้สืบไปเบื้องหน้าเท่านั้น แต่เป็นการเสริมคุณภาพของบุคลากรในงานมหาจุฬาฯ ด้วย เพราะท่านที่ส่งไปครั้งแรกนี้ เป็นผู้บริหาร เป็นครูอาจารย์ในมหาจุฬาฯ อยู่แล้ว เมื่อสำเร็จกลับมา ก็จะเป็นกำลังที่ทำให้ทั้งงานการศึกษาภายในมหาจุฬาฯเอง แรงเข้มเต็มสาระยิ่งขึ้น รวมทั้งช่วยเสริมแรงในการที่จะเร่งให้รัฐตากฎหมายรองรับสถานะของมหาจุฬาฯ แล้วก็ปรากฏด้วยว่า พธ.บ. ที่จบการศึกษาจากต่างประเทศกลับมาแล้ว


เมื่อออกไปอยู่ในวงงานทั่วไปข้างนอก ก็ได้เจริญงอกงามประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีมิใช่น้อย ไม่เฉพาะท่านอาจารย์จำนงค์ ทองประเสริฐ ผู้ริเริ่มนี้ ที่ได้เป็นเลขาธิการราชบัณฑิตยสถาน ยังมีท่านอื่นอีกมากมายที่ได้มีตำแหน่งสำคัญ เช่น คณบดี ในมหาวิทยาลัย และเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ในสถาบันวิชาการต่างๆเป็นต้น ดังเช่น ศาสตราจารย์พิเศษอดิศักดิ์ ทองบุญ ราชบัณฑิต (นายกสมาคมศิษย์เก่ามหาจุฬาฯ คนที่ ๓) ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. จำลอง สารพัดนึก อดีตคณบดีคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร (นายกสมาคมศิษย์เก่ามหาจุฬาฯ คนที่ ๖)

งานสร้างและสำแดงมาตรฐานการศึกษานี้ เป็นอันว่า พระกวีวรญาณได้ทำให้ไว้แล้ว ทั้งโดยวิถีของบุคคลอันเป็นส่วนตัว ซึ่งให้เห็นว่า พระพุทธศาสตรบัณฑิตมีคุณสมบัติมีความสามารถที่จะศึกษาต่อชั้นสูงขึ้นไปให้สำเร็จได้ ในมหาวิทยาลัยชั้นนำหรือชั้นยอดเยี่ยมของประเทศสหรัฐอเมริกา ที่คนไทยมากหลายใฝ่ปรารถนา และทั้งโดยงานส่วนรวมในการติดต่อให้มหาวิทยาลัยอันเป็นสถาบันในต่างประเทศยอมรับพระบัณฑิตที่มหาจุฬาฯ ส่งไป ให้เข้าศึกษาต่อได้อย่างเป็นทางการ

ในงานขั้นสถาบันนี้ เมื่อตัวงานการรับเข้าศึกษาสำเร็จแล้ว ก็สามารถปล่อยงานในส่วนปลีกย่อย ให้ผู้รับมอบหมายทำได้ต่อไป ครั้งถึงวันที่ ๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๐๗ พระกวีวรญาณ ก็ได้สละตำแหน่งผู้ช่วยเลขาธิการ 

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตโต) , สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ( ช่วง วรปุญฺโญ ) และสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) ภาพในอดีต
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตโต) , สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ( ช่วง วรปุญฺโญ ) และสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) ภาพในอดีต

คราวนั้น ผู้เล่าเรื่องนี้ ซึ่งได้รับแต่งตั้ง (อย่างไม่รู้ตัว) ให้เป็นผู้ช่วยเลขาธิการ รูปที่ ๒ เมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๐๗ คือ ๑๐ วันก่อนนั้น ก็ต้องมาอยู่ประจำที่ทำงานในฐานะเป็นผู้ช่วยเลขาธิการ ถึงตอนนี้ เรื่องก็เข้าที่ลงตัวว่า ที่มหาจุฬาฯ พระราชวิสุทธิเมธี (เกี่ยว อุปเสโณ) เป็นเลขาธิการ และพระมหาประยุทธ์ ปยุตฺโต เป็นผู้ช่วยเลขาธิการ

หลังจากเป็นผู้ช่วยเลขาธิการ และรองเลขาธิการ ๑๐ ปี ถึง พ.ศ. ๒๕๑๗ ผู้เล่าก็ลาออกจากตำแหน่ง ในปี ๒๕๑๗ นั้นเอง มหาจุฬาฯ ก็ตั้งพระมหสมบูรณ์ สมฺปุณฺโณ (คือ พระวิสุทธิสมโพธิ พระราชกิตติเวที และพระเทพกิตติโสภณ ตามลำดับกาล) ซึ่งทำงานสนิทแน่นแฟ้น อยู่ด้วยกันกับผู้เล่านี้ตลอดตั้งแต่ต้น (ที่จริง ท่านทำงานอยู่ที่นั่นแล้วก่อนผู้เล่านี้) ให้เป็นผู้ช่วยเลขาธิการสืบงานต่อมา 

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

ขอขอบคุณที่มาจาก เว็บไซด์สำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ HE REGULATORY OFFICE FOR OVERSEAS DHAMMADUTA BHIKKHUS https://www.obhik.com/ วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร แขวงบ้านบาตร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร ๑๐๑๐๐

ที่มา: หนังสือมหาจุฬาฯ งามสง่าสดชื่น กลางทะเลแห่งคลื่นลม: พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) พิมพ์ร่วมบำเพ็ญกุศลอุทิศถวาย ในงานพระราชทานเพลิงศพ เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ๙ มีนาคม ๒๕๕๗

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here