ในสังคมปัจจุบันโลกแห่งการสื่อสารไปได้อย่างรวดเร็วผ่านทางสังคมออนไลน์ (Social Media) โดยข่าวที่สังคมให้ความสนใจตอนนี้คือสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติร้องทุกข์ต่อคณะสงฆ์เรื่อง งบอุดหนุน พศ. ซึ่งข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรเรายังไม่ทราบ มีเพียงแต่วาทกรรมผ่านทางสื่อเท่านั้น ผู้ที่ฟังข่าวควรมีสติ ใช้ปัญญาพิจารณาใคร่ครวญให้ดี เพราะการทำหน้าที่ของคณะสงฆ์ ต้องอาศัยความเสียสละ ทุ่มเท เพื่อเดินตามรอยบาทพระพุทธเจ้าผู้ทรงวางหลักพระวินัยไว้ในการปกครองสงฆ์อย่างงดงามที่ได้วางแนวทางไว้มากว่า ๒,๖๐๐ ปี

          ปัจจุบันการดำเนินงาน “การคณะสงฆ์” ในประเทศไทย เป็นระบบและมีความมั่นคงเข้มแข็ง ซึ่งสามารถเกื้อกูลช่วยเหลือพระหนุ่มเณรน้อยที่ต้องการบวชเรียนเพื่อศึกษาธรรมไปสู่ความพ้นทุกข์ได้มากขึ้น ขณะเดียวกัน คณะสงฆ์ก็ยังทำหน้าที่เผยแผ่หลักธรรมทางพระพุทธศาสนาเพื่อให้ผู้คนได้มีร่มธรรมไว้พึ่งตนเอง อีกทั้งช่วยทำหน้าที่สงเคราะห์ผู้ยากไร้ และผู้ประสบภัยต่างๆ มาโดยตลอด ภายใต้พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ และพระธรรมวินัย

          มากไปกว่านั้นยังมีหน่วยงานของภาครัฐเข้ามาคอยช่วยเหลือ สนับสนุนการคณะสงฆ์อีกด้วย ในอดีตเป็นกรมการศาสนา สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ แต่เพื่อให้หน่วยงานของรัฐมีความคล่องตัว และดำเนินการสนองงานคณะสงฆ์ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จึงมีสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เป็นส่วนราชการที่อยู่ในบังคับบัญชาขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี

          อนึ่ง ตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๙ ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๑๒๓ ตอนที่ ๒๕ ก หน้า ๑๑ ลงวันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๔๙ ได้ปรับปรุงการแบ่งส่วนราชการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ข้อ ๒ เจตนารมณ์อันแท้จริงของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติก็เพื่อสนับสนุน ช่วยเหลือ และสนองการคณะสงฆ์ กล่าวคือ ให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติมาเป็นตัวแทนของรัฐ มาทำหน้าที่ช่วยงานคณะสงฆ์ และหน้าที่ดังกล่าวยังปรากฏชัดเจนในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. ๒๕๓๕ หมวดที่ ๒ มาตรา ๑๓ “ให้ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เป็นเลขาธิการมหาเถรสมาคมโดยตำแหน่ง และให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติทำหน้าที่สำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม”

          คณะสงฆ์ตามสังคมวิทยาของประเทศไทยตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันยึดถืออยู่ ๓ หลักการใหญ่คือ พระธรรมวินัย จารีต และกฎหมายบ้านเมืองที่คณะสงฆ์ต้องยึดถือและปฏิบัติตาม การที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ในฐานะผู้ช่วยเหลือและสนับสนุนการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของคณะสงฆ์ การปฏิบัติงานต่างๆ ก็ต้องนำหลักการใหญ่ ๓ ประการมาพิจารณาประกอบด้วย

          การกล่าวโทษที่ทำกับคณะสงฆ์เสมือนเป็นผู้ที่กระทำความผิดสำเร็จแล้ว เหมือนมีแรงจูงใจที่จะปล่อยข่าว หรือนำข้อมูลไปให้สื่อเผยแผ่  ทั้งที่กระบวนการยุติธรรม (คดีทางโลก) และกระบวนการทางพระธรรมวินัย (คดีทางธรรม) ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ตัดสินและคดียังไม่ถึงที่สุด หรือยังไม่เริ่มด้วยซ้ำ เนื่องจากยังไม่มีมูล ทำให้คณะสงฆ์ไม่ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญเลย เพราะตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๖๐ มาตรา ๒๙ วรรคสอง บัญญัติไว้ว่า “ในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้”

          อย่างล่าสุด นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส อดีตผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ได้กล่าวให้ความเห็นในเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า

          “…เอกสารการเสนอขอรับงบ ในปี ๒๕๕๖-๒๕๕๗ ของวัดที่เป็นข่าวอยู่นั้นจะเขียนแบบกว้างๆ เพื่อที่จะได้บริหารจัดการงบในการทำงานได้สะดวกโดยเมื่อวัดได้รับงบมาแล้วก็ขึ้นอยู่กับวัด หากนำไปใช้ในกิจการพระพุทธศาสนาของวัดโดยไม่ได้นำงบไปให้แก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งก็ถือว่าทำได้…นอกจากนี้วิธีในการผันงบของหน่วยงานราชการไปใช้ในอีกโครงการหนึ่งก็ถือว่าเป็นวิธีการที่หน่วยงานราชการปฏิบัติกันอาจจะไม่ตรงวัตถุประสงค์แบบไม้บรรทัด แต่เมื่อเป้าหมายที่ออกมาเกิดประโยชน์และชี้แจงที่มาที่ไปได้ก็จะถือว่าไม่มีเจตนาทุจริต…”

          จากความเห็นดังกล่าว ผู้เขียนจึงตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการใช้งบประมาณของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติในประเด็นดังต่อไปนี้

          ๑.หัวหน้าส่วนราชการมีอำนาจโยกงบประมาณได้หรือไม่ แต่ถ้ามีอำนาจกระทำได้ การโยกงบประมาณก็เป็นอำนาจของผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติที่จะโยกงบประมาณในเรื่องต่างๆ ดังนั้น ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติคนปัจจุบัน (ปี ๒๕๖๑) ก่อนจะมาร้องทุกข์กล่าวโทษคณะสงฆ์ ต้องกลับไปถามผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติในอดีตที่เคยโยกงบประมาณหรือไม่ ว่าท่านมีเหตุผล หรือมีความจำเป็นอะไรที่จะต้องโยกงบประมาณแล้วจัดสรรให้วัดเพื่อจะได้ไปดำเนินงาน “การคณะสงฆ์”

          ๒.ในกรณีที่จะสิ้นปีงบประมาณ มีงบประมาณเหลือจ่ายจากกองต่างๆ เช่น กองปริยัติธรรม กองนิตยภัต  กองเผยแผ่ ฯลฯ จึงได้นำงบประมาณมากองรวมกัน เพื่อจัดสรรให้วัดไปดำเนินงาน “การคณะสงฆ์” ใช่หรือไม่

          ๓.เมื่อจะสิ้นปีงบประมาณ แต่ยังปรากฏว่ามีงบประมาณเหลือจ่ายจากกองต่างๆ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ จึงได้เข้าไปกราบเรียนคณะสงฆ์ตามวัดต่างๆ ด้วยวาจาว่าวัดมีอะไรจะทำไหม แล้วทางวัดก็ตอบไปด้วยวาจาว่ามีงานนั้น งานนี้ ของวัดที่ต้องดำเนินการ ทางสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติก็ได้ช่วยจัดสรรให้ การกระทำดังกล่าวยังถือว่าอยู่ในอำนาจของสำนักงานพระพุทธศาสนาที่กระทำได้ตามกฎหมายหรือไม่

          ถ้าพิจารณาในประเด็นเรื่องจารีตประเพณีที่เคยปฏิบัติกันมาตั้งแต่อดีตคือ กรมการศาสนา จนมาถึงปัจจุบันสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ การนำงบอุดหนุนมาให้คณะสงฆ์ทำงาน มีความหลากหลาย แต่ก็มีวัตถุประสงค์ “เพื่อทำนุบำรุงพระศาสนา” ทั้งสิ้น เมื่อวัดใดได้รับงบอุดหนุนก็รับมาใช้ตามที่เห็นสมควร ทั้งด้านบูรณะซ่อมแซม การปกครอง การเผยแผ่ การศึกษา  เป็นต้น

          ผู้เขียนจึงมีความเห็นว่า ถ้าวัดใดก็ตามได้รับงบอุดหนุนจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ แล้วได้นำไปดำเนินการเพื่อ “การคณะสงฆ์” หมายถึง งานของคณะสงฆ์ หรือหน้าที่ของคณะสงฆ์ เป็นกิจการขององค์กรปกครองคณะสงฆ์ทุกส่วนและทุกชั้น  ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. ๒๕๓๕ มาตรา ๑๕ ตรี (๑) และ (๓) และข้อ ๕ แห่งกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๒๓ (พ.ศ.๒๕๔๑) ว่าด้วยระเบียบการปกครองคณะสงฆ์  กล่าวถึง “การคณะสงฆ์” ไว้อย่างชัดเจนมี ๖ ด้าน คือ ๑) การรักษาความเรียบร้อยดีงาม  ๒) การศาสนศึกษา ๓) การศึกษาสงเคราะห์ ๔) การเผยแผ่พระพุทธศาสนา ๕) การสาธารณูปการ และ ๖) การสาธารณสงเคราะห์ ในกรอบของ ๖ ด้าน ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ และกฎมหาเถรสมาคม ที่กล่าวไปข้างต้นนั้น ประกอบกับท่านไม่มีเจตนาร้ายหรือจิตใจที่ชั่วร้าย (Mens Rea) หรือในทางพระพุทธศาสนาเรียกว่า “เถยจิต” ไม่มีจิตคิดจะเอาทรัพย์มาเป็นของตนหรือ ผู้อื่นโดยทุจริต ก็ถือว่าท่านไม่มีความผิดตามที่ถูกกล่าวหาตามที่เป็นข่าวอยู่ตอนนี้

          สิ่งที่เกิดขึ้นกับคณะสงฆ์ผ่านสื่ออยู่ตอนนี้ หลายข่าวเป็นเพียงกระต่ายตื่นตูม วิธีการดังกล่าวไม่ใช่ทางออกของปัญหา และอาจจะเป็นตัวสร้างปัญหาให้ยุ่งเหยิงกว่าเดิมอีกก็ได้  จึงขอความเมตตากรุณาจากสื่อทุกแขนงทุกสำนัก โปรดมีวิจารณญาณไตร่ตรองกรองข่าว พิจารณาก่อนเผยแพร่สิ่งใดออกไป ทำให้เกิดความเข้าใจกันมากกว่ากล่าวโทษต่อกัน และขอให้ท่านผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติในฐานะเลขาธิการมหาเถรสมาคม และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติในฐานะสำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคมตามกฎหมาย ควรหันหน้าเข้าหามหาเถรสมาคม ปรึกษาหาทางออกร่วมกันด้วยความเป็นกัลยาณมิตร เพื่อให้พระพุทธศาสนาเกิดความมั่นคงแผ่ไพศาล และดำรงอยู่สืบไป

          ในบรรยากาศที่สังคมไทยต้องการความปรองดอง มีความสมัครสมานสามัคคี จึงปรารถนาอยากเห็นสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กับมหาเถรสมาคม พูดคุยกันดังเช่นสหธรรมิก น่าจะเป็นทางออกและแก้ไขปัญหาได้ดีที่สุดในเวลานี้ อีกทั้งเรามีพระธรรมวินัยที่เป็นหลักชัย ดังธงชัยของพระพุทธศาสนาที่เป็นตัวบ่งชี้การประพฤติปฏิบัติของพระสงฆ์ ก็ขอให้เรากลับมาเคารพธรรม ปฏิบัติตามธรรม และช่วยคณะสงฆ์ขับเคลื่อนธรรมจักรไปด้วยกัน เพื่อเป็นพ่วงแพให้แก่ประชาชนคนทุกข์ได้นำไปใช้ดับทุกข์จนกว่าเราจะเข้าถึงโลกุตรธรรม พ้นทุกข์ทางใจในที่สุด

บทความพิเศษ ตอนที่ ๔ จาก คอลัมน์ เขียนโลกทะลุธรรม: พูดแทนคณะสงฆ์ งบอุดหนุน พศ.พระธรรมวินัย จารีต และกฎหมายบ้านเมือง” โดย พระใบฎีกาคทาวุธ คเวสกธมฺโม นสพ. คม ชัด ลึก ฉบับวันที่ ๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๑

จาก คอลัมน์ เขียนโลกทะลุธรรม:

พูดแทนคณะสงฆ์ งบอุดหนุน พศ.พระธรรมวินัย จารีต และกฎหมายบ้านเมือง” โดย พระใบฎีกาคทาวุธ คเวสกธมฺโม

นสพ. คม ชัด ลึก ฉบับวันที่ ๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๑

พระใบฎีกาคทาวุธ คเวสกธมฺโม พระธรรมทูต ประเทศสกอตแลนด์ ผู้เขียน
พระใบฎีกาคทาวุธ คเวสกธมฺโม พระธรรมทูต ประเทศสกอตแลนด์ ผู้เขียน

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here