ขอถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา  พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ มหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศรราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

ขอพระองค์ทรงพระเจริญ

มีพระพลานามัยแข็งแรงสมบูรณ์

มีพระชนม์ยิ่งยืนนาน

ในกาลอันเป็นมหามงคลยิ่ง  จึงขออัญเชิญพระปฐมบรมราชโองการ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑๐ ที่พระองค์ตรัสไว้เมื่อวันที่ ๔ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๖๒  มาเป็นพละ เป็นพลังใจให้กับเราทุกคนผ่านพ้นช่วงเวลาวิกฤติโควิดระบาดทั่วโลกไปด้วยกัน

“เราจะสืบสานรักษาและต่อยอด

และครองแผ่นดินโดยธรรม

เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป”

พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑๐

และในวันนี้ก็มีข่าวอันเป็นมหามงคลยิ่ง เมื่อในหลวง ทรงรับเด็กหญิงกำพร้าสองคน เป็นนักเรียนในพระบรมราชานุเคราะห์ ซึ่งคุณแม่ของเด็กทั้งสองเสียชีวิตจากโควิด-๑๙ อย่างกระทันหัน ในบ้านเช่าย่าน อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ และก่อนที่คุณแม่ของเด็กทั้งสองจะจากไป ท่านได้สั่งเสียลูกๆ ให้ไปอยู่บ้านเด็กกำพร้า ดังที่เป็นข่าวใหญ่เมื่อวันก่อน ทำให้กระเทือนใจให้กับสังคมเป็นอย่างมาก

ซึ่งในเว็บไซต์ข่าวมติชนออนไลน์ ก็ทำให้สังคมยิ้มได้ เมื่อได้ออกข่าวว่า วันนี้ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๔ นางสาวสุภชา พรหมศร หัวหน้าบ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดสมุทรปราการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ซึ่งดูแลเด็กหญิงทั้ง ๒ คน กล่าวว่า ขณะนี้เด็กทั้งสองคนได้เข้ารักษาโรคโควิด-๑๙ ที่โรงพยาบาลแล้ว โดยอาการของเด็กทั้งคู่ไม่รุนแรง เชื้อไม่ลงปอด แพทย์รักษาด้วยการให้ยาตามอาการ โดยเด็กจะพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลประมาณ ๒๘ วัน ส่วนสภาพจิตใจของเด็กตอนนี้มีจิตใจเข้มแข็งมากขึ้น มีกำลังใจมากขึ้น

“นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณต่อเด็กทั้งสองคน เพราะหลังจากเกิดเรื่อง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จิตอาสาพระราชทานเข้ามาดูแลและอำนวยความสะดวก รวมทั้งดูแลเรื่องอาหารการกินต่างๆ ถึงบ้านเช่าของเด็ก นับตั้งแต่วันที่เด็กยังรอเตียง จนกระทั่งได้เตียงเข้ารับการรักษาโควิด-๑๙

“นอกจากนี้ ยังได้รับการประสานจากองคมนตรี แจ้งมาทางเจ้าหน้าที่มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชประสงค์รับเด็กทั้งสองคน เป็นนักเรียนในพระบรมราชานุเคราะห์ ซึ่งจะได้รับการศึกษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ และสามารถเรียนได้สูงที่สุดตามความสามารถของเด็ก” นางสาวสุภชา กล่าว

ด้วยน้ำพระทัยอันเต็มเปี่ยมไปด้วยพระเมตตา

พระองค์ทรงเป็นดั่งแสงเทียนส่องทางให้เดินผ่านพ้นความมืดมิดในชีวิต เพื่อที่จะไปสู่อนาคตอันสดใส

และในยามเย็นของวันนี้

ช่อง pptvhd36 ก็ออกข่าวเพิ่มเติมว่า มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้โพสต์ข้อความผ่านหน้าเฟซบุ๊กแฟนเพจ ระบุว่า ” มูลนิธิราชประชานุเคราะห์  ในพระบรมราชูปถัมภ์ เกิดขึ้นด้วยพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร นับตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๐๖ เป็นต้นมา เพื่อให้การสงเคราะห์ ด้านสาธารณภัยและด้านการศึกษา ซึ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว องค์พระบรมราชูปถัมภกแห่งมูลนิธิองค์ปัจจุบัน ทรงมีพระราชปณิธานที่จะสืบสาน รักษา ต่อยอด การดำเนินงานของมูลนิธิเพื่อประโยชน์สุขของปวงชนชาวไทย

ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (โควิด -๑๙ ) ทำให้มีเด็กที่ขาดโอกาสในการศึกษาเนื่องด้วยบิดา มารดา หรือผู้ปกครองที่อุปการะเสียชีวิต มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ ได้มอบโอกาสให้เด็ก สามารถศึกษาเล่าเรียนได้สูงสุดตามความสามารถ โดยไม่มีข้อผูกมัดใดๆ ให้เป็นดั่งแสงเทียนส่องทางให้เดินผ่านพ้นความมืดมิดในชีวิต เพื่อที่จะไปสู่อนาคตอันสดใส และส่งต่อโอกาสให้กับผู้อื่นต่อไป โดยรับเด็กเหล่านี้เป็นนักเรียนทุนพระราชทานเพื่อการศึกษาสงเคราะห์ จนกว่าจะสำเร็จการศึกษาสูงสุดตามความสามารถ เหมือนกับกรณีเด็กกำพร้าจากสาธารณภัยอื่นๆ ที่มูลนิธิดำเนินการอยู่แล้วตามหลักเกณฑ์  ดังนี้

จึงขอนำทศพิธราชธรรม หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ราชธรรม ๑๐ ” ซึ่งปรากฏอยู่ในมหาหังสชาดก พระสูตร ขุททกนิกาย ชาดก  มาเป็นต้นแบบแห่งธรรมให้เราได้นำมาฝึกตนกันในช่วงวันเวลาแห่งความยากลำบากที่เราต่างต้องเผชิญกับโรคระบาดโควิด -๑๙ ซึ่งไม่รู้ว่าจะไปจบลงเมื่อใด หากเรายังมีลมหายใจ เราก็ต้องเดินต่อไปด้วยใจที่มีกำลัง ดังพระบาลีว่า

ทานํ สีลํ ปริจฺจาคํ อาชฺชวํ มทฺทวํ ตปํ

อกฺโกธํ อวิหึสญฺจ ขนฺติญฺจ อวิโรธนํ.

ทาน (ทานํ) คือ การให้ เป็นการให้ที่มาจากใจอันเต็มเปี่ยมไปด้วยความเมตตาและกรุณาอย่างหาประมาณไม่ได้ ทานนี้อาจหมายถึงทานภายนอกอันเป็นอามิสทาน และทานภายใน คือ การละกิเลสออกไปจากใจด้วย ก็เป็นได้

ศีล (สีลํ) คือ ความประพฤติที่ดีงาม ทั้ง กาย วาจา และใจ อันเป็นรั้วป้องกันความประมาทในชีวิต

บริจาค (ปริจาคํ) คือ การเสียสละทั้งวัตถุภายนอก และความสุขส่วนตนเพื่อความสุขส่วนรวม

ความซื่อตรง  (อาชฺชวํ) คือ การซื่อสัตย์ต่อตนเอง ความซื่อสัตย์ต่อคนในครอบครัว สามีซื่อสัตย์ต่อภรรยา ภรรยาซื่อสัตย์ต่อสามี ลูกๆ ซื่อสัตย์ต่อพ่อแม่ ฯลฯ ความสุจริตต่อหน้าที่การงาน ต่อมิตรสหาย ต่อองค์กร และความซื่อตรงต่อปณิธานของตนเอง หรือ หลักการของตน

ความอ่อนโยน  (มทฺทวํ) คือ ความเมตตาอันมาจากส่วนลึกของจิตใจจนปรากฏออกมาเป็นความอ่อนโยนอย่างแท้จริง

ความเพียร  (ตปํ) คือ ความเพียรพยายามเพื่อส่วนรวม

ความไม่โกรธ (อกฺโกธํ) คือ ความเข้าใจในเหตุและปัจจัยของสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แล้วไม่โกรธ หรืออีกนัยหนึ่งคือ มีควมเข้าใจตนเอง และเข้าใจผู้อื่น ต่อสิ่งที่เกิดขึ้น จึงไม่โกรธ

ความไม่เบียดเบียน (อวิหิงสา) คือ การดำเนินชีวิตไปตามทางสายกลาง ตามหลักอริยมรรคมีองค์ ๘ ประการ ถ้ามองในการทำธุรกิจ ก็เป็นการทำธุรกิจที่ไม่เบียดเบียนตนเองและลูกค้า ถ้ามองการใช้ชีวิต ก็คือ การไม่สุดโต่ง ถ้ามองการบริโภคก็คือการบริโภคที่สมดุล คือ ไม่ว่าจะทำอะไร ก็จะไม่เน้นประโยชน์ส่วนตนเป็นหลัก แต่จะมองถึงประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก ขณะเดียวกันก็ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่นด้วย

ความอดทน (ขนฺติ) คือการรักษาปกติภาวะของตนไว้ได้ ไม่ว่าจะถูกกระทบกระทั่งด้วยสิ่งอันเป็นที่พึงปรารถนาหรือไม่พึงปรารถนาก็ตาม มีความมั่นคงทางใจหนักแน่น ไม่หวั่นไหว ด้วยความเข้าใจ คือ มีสติ สมาธิ และปัญญา

ความเที่ยงธรรม (อวิโรธนํ) คือ คือ ความยุติธรรม ความหนักแน่น ถือความถูกต้องทางธรรม มีความเที่ยงธรรมเป็นหลัก ไม่ตามกระแส

ทศพิธราชธรรมนี้ เป็นสิ่งที่เราท่านทุกคนก็สามารถนำมาฝึกจนจนกว่าจะเป็นแสงสว่างแก่ตนเองได้ และเมื่อเราเป็นแสงสว่างให้กับตนเองได้ เราก็สามารถเป็นแสงสว่างให้กับผู้อื่นได้เช่นกัน ดังที่พระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ทรงเป็นต้นแบบแห่งการฝึกตนจนเป็นผู้นำทั้งทางธรรมและทางโลกมาจนถึงทุกวันนี้ โดยมีพระพุทธศาสนาเป็นเสาหลักในการดำเนินชีวิตมาโดยตลอด ก็จะทำให้แม้เวลาพานพบกับคลื่นลมแรงหรือพายุกลางทะเลก็ยังมีสติ และปัญญาในการประคองเรือแห่งชีวิตให้ผ่านไปถึงฝั่งแห่งความสิ้นทุกข์ในสังสารวัฏได้ เพราะ “พระองค์ทรงเป็นดั่งแสงเทียนส่องทางให้ เดินผ่านพ้นความมืดมิดในชีวิต เพื่อที่จะไปสู่อนาคตอันสดใส ” นั่นเอง…

“พระองค์ทรงเป็นดั่งแสงเทียนส่องทางให้ เดินผ่านพ้นความมืดมิดในชีวิต เพื่อที่จะไปสู่อนาคตอันสดใส” ทีฆายุโก โหตุ มหาราชา ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๔ เขียนโดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here