“พระผู้ถักทอความดีให้คนรุ่นหลังจดจำและทำตาม” พระครูประโชติรัตนานุรักษ์ที่ข้าพเจ้ารู้จัก (๗)
โดย พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท วัดทองนพคุณ คลองสาน กรุงเทพฯ กลุ่มเพื่อชีวิตดีงาม สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ
ผู้เขียนได้พูดคุยกับพระไชยวัฒน์ อตฺตสาโร รักษาการเจ้าอาวาสวัดรัตนานุภาพ ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของอาจารย์พระครูประโชติรัตนานุรักษ์ อดีตเจ้าอาวาสวัดรัตนานุภาพ อดีตเจ้าคณะอำเภอสุไหงปาดี และอดีตประธานเครือข่ายพระธรรมทูตอาสาจังหวัดนราธิวาส
ท่านเล่าให้ฟังว่า เป็นศิษย์พระครูประโชติฯ มาอยู่วัดตั้งแต่ ๖ ขวบ ตั้งแต่วัดเป็นสำนักสงฆ์ โดยจะเรียกพระครูประโชติฯ ว่า หลวงอา มีโอกาสก็บวชเณรภาคฤดูร้อนเรื่อยมา จนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ จึงตัดสินใจบวชเรียน หลวงอาส่งไปศึกษาอยู่ที่สำนักเรียนวัดราษฎร์บูรณะ (วัดช้างไห้) ที่เรารู้จักกันในนาม วัดหลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด จังหวัดปัตตานี ๓ ปี พออายุครบบวชพระ หลวงอาก็ให้บวชญัตติเป็นพระต่อมาจนถึงปัจจุบัน แล้วส่งไปปฏิบัติศาสนกิจที่วัดชลธาราสิงเห (วัดพิทักษ์แดนไทย) อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ทั้งนี้หลวงอาก็ยังส่งเสริมให้เข้าศึกษาในระดับปริญญาตรี หลักสูตรนิติศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง
เมื่อมีเวลาว่างก็กลับมาช่วยหลวงอาบ่อยๆ โครงการบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อน โครงการบวชศีลจาริณี เมื่อหลวงอาจัดโครงการต่างๆ หลวงอาก็จะให้มาเรียนรู้ หลวงอาไม่ให้หยุดพัฒนาตัวเอง มีโครงการอบรมที่ไหนส่งไปเข้าร่วม ใครที่เป็นลูกศิษย์ลูกหาก็ส่งไปเรียนหมด
ท่านบอกว่า เป็นพระเณรมีอะไรก็ต้องศึกษาเล่าเรียน เรียนแล้วจะได้มาช่วยกันรักษาพระพุทธศาสนา เป็นที่พึ่งแก่ญาติโยม
ท่านพูดให้ฟังเสมอว่า ไม่อยากให้ชาวพุทธทิ้งถิ่นฐาน ไม่อยากให้พระสงฆ์ทิ้งวัด ถ้าพระสงฆ์ทิ้งวัด ชาวพุทธก็จะไม่มีที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ
ก่อนที่ท่านจะรับตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอ ท่านเล่าให้ฟังว่า ถ้าหลวงอารับตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอ จะไม่ให้มีวัดร้าง ให้มีพระอยู่หนึ่งรูปก็ยังดี ถ้าไม่มีพระ ชาวบ้านจะขาดที่พึ่ง
วัดไหนสำนักสงฆ์ไหนไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา ท่านก็มีวิธีของท่าน คือ ไปเข้าปริวาสกรรมตามวัดต่างๆ ทั่วไป แล้วก็พูดคุยกับพระสงฆ์ ที่มีจิตใจเด็ดเดี่ยว มีใจรักในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา เป็นที่พึ่งให้กับญาติโยมได้ ท่านก็จะชักชวนมาจำพรรษา เป็นขวัญเป็นกำลังใจแก่ญาติโยมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถือว่าท่านทำประสบความสำเร็จ หลายวัด หลายสำนักสงฆ์ ท่านก็หาพระมาจำพรรษาสำเร็จ
ในส่วนตัวได้นำคำสอนของหลวงอามาประยุกต์ใช้ในชีวิต ๒ เรื่องใหญ่ๆ คือ
๑. เรื่องของอารมณ์ เนื่องจากเป็นคนอารมณ์ร้อน ท่านก็จะสอนการนั่งสมาธิ การเดินจงกรม ให้ดูอารมณ์ของตัวเอง อย่าให้อารมณ์เป็นใหญ่ ให้เราสามารถควบคุมอารมณ์ของตนเองให้ได้
๒. เรื่องของความอดทน ท่านมีบททดสอบหลายอย่างในเรื่องของความอดทน โดยมอบหมายงานให้ทำ ให้ฝึกรับผิดชอบงาน ให้บริหารโครงการ กิจกรรม เรียนรู้การรอคอยด้วยความอดทน
ท่านไม่เหนื่อยที่จะแนะนำ ไม่เหนื่อยที่จะสอน ที่สำคัญ ท่านทำเป็นตัวอย่าง
“หลวงอาเวลาทำอะไรจะมีหลักการ และเป็นตัวของตัวเอง อย่างเช่นเรื่องของการตั้งบัว (เจดีย์สำหรับบรรจุอัฐิของชาวบ้าน) ตอนเริ่มสร้างวัดใหม่ๆ หลายคนบอกว่า ให้เอาบัวไปตั้งไว้ที่ดินท้ายวัด แต่ท่านบอกว่า ให้เอาตั้งไว้หน้าวัด คนจะได้เห็น จะได้ระลึกถึงความดี เพราะบัวเป็นที่ใส่อัฐิของทุกคนที่มีพระคุณต่อวัด ต่อพระศาสนา เอาไปไว้หลังวัด เหมือนหลบซ่อนอยู่ สร้างไว้หน้าวัดนี่แหละ จะเป็นการเชิดชูผู้มีพระคุณ ท่านสร้างบัวใหญ่ๆ ไว้แท่นหนึ่งหน้าวัด เวลามีใครเสียชีวิตก็เอาอัฐิมาบรรจุไว้รวมกัน
เป็นเรื่องแปลกอีกอย่างหนึ่งสำหรับหลวงอา ท่านทำที่บรรจุอัฐิของท่านไว้ใต้ฐานพระในลานธรรม ท่านเคยบอกกับญาติโยมซึ่งเป็นผู้คุ้นเคยที่มาวัดสมัยเริ่มสร้างว่า จะได้อยู่กับต้นไม้ ท่านเตรียมไว้หมด
หลวงอาพูดบ่อยๆ กับรองเจ้าอาวาส (พระสมุห์อรรถพร กุสลจิตฺโต)
” ถ้าเราตาย ขอให้ตายพร้อมกันนะ บางทีหลังจากทำวัตรเสร็จแล้วมานั่งฉันน้ำชาด้วยกัน ท่านก็พูดถึงสถานการณ์ในภาคใต้แล้วก็จะพูดกับพระสมุห์อรรถพรว่า ถ้าเราตาย ขอให้ตายพร้อมกันนะ พูดทีเล่นทีจริงอย่างนี้ “
ครั้งสุดท้าย ท่านบอกกับผมในโบสถ์ก่อนที่ท่านจะมรณภาพ ๑ วัน ท่านพูดลอยๆ
“ฝากวัดด้วยนะ ช่วยดูแลวัดต่อด้วยนะ หลวงอาคงสร้างไม่เสร็จหรอก ”
ผมก็บอกว่า หลวงอาจะไปไหน จะเสร็จแล้ว โบสถ์ก็จะจัดงานฝังลูกนิมิตแล้ว
ท่านก็บอกว่า ไม่รู้ ชีวิตคนเราไม่แน่นอน วันนั้นมีงานทำบุญบรรจุอัฐิในวัด ท่านก็พูดกับรูปภาพของคนที่จมน้ำเสียชีวิต บอกว่า ให้อายุยืนๆ หน่อย พอตอนเย็นท่านก็ถูกยิง
“ในฐานะที่เป็นลูกศิษย์ของหลวงอา ก็รู้สึกเสียใจ ตั้งแต่หลวงอามรณภาพก็กลับมาอยู่ที่วัดรัตนานุภาพ ทำหน้าที่สานต่อปณิธานของหลวงอา ชาวบ้านก็มีขวัญกำลังใจ ดีใจที่มีพระมาอยู่ โครงการไหน กิจกรรมอะไรที่หลวงอาทำไว้ ก็จะไม่ทิ้ง จะสานต่อ เป็นการทำความดีบูชาพระคุณของพระพุทธเจ้า บูชาคุณของหลวงอา
“ที่ผ่านมาก็ไปอบรมโครงการค่ายพุทธบุตรตามโรงเรียนต่างๆ และในเดือนเมษายนนี้ก็จะจัดโครงการบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อน โครงการบวชศีลจาริณี ปกติ ถ้าหลวงอาอยู่ ท่านจะจัดโครงการบวชพระด้วยทุกปี แต่นี้เราทำในสิ่งที่พอจะทำได้ “
การจากไปของพระครูประโชติรัตนานุรักษ์ ไม่ใช่แค่ลูกศิษย์ลูกหาที่เสียใจและเสียดายในงานที่ท่านได้ร่วมกันทำ ได้มีเพื่อนที่ทำงานร่วมกันในนาม “กลุ่มถักทอสันติภาพ” ได้เขียนสดุดีด้วยความอาลัยถึงท่านว่า
ธรรมจักร : วงล้อแห่งธรรมยังคงต้องหมุนต่อไป
“สดุดีด้วยความอาลัย”
กรณีเหตุการณ์ยิงถล่มสังหารพระภิกษุที่วัดรัตนานุภาพ(โคกโก) ตำบลโต๊ะเต็ง อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส ช่วงเวลาประมาณสองทุ่มของคืนวันที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ.๒๕๖๒ ถือได้ว่าเป็นการกระทำทำที่รุนแรง ไร้มนุษยธรรม ไร้สำนึกผิดชอบชั่วดีที่มนุษย์พึงมีตามหลักศีลธรรม อันเป็นหลักปฏิบัติ พื้นฐานของมนุษย์ที่พึงปฏิบัติต่อกัน
สถานที่เกิดเหตุเป็นศาสนสถาน อันถือเป็นเขตอภัยทาน เป็นสถานที่ประกอบกิจกรรมทางศาสนาเพื่อพัฒนาจิตใจให้มีความเมตตาการุณย์ต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ที่ไม่ควรมีเหตุการณ์ความรุนแรงใดๆ อันจะนำมาซึ่งความหวาดกลัว รู้สึกไม่ปลอดภัย และความขัดแย้งระหว่างผู้ที่นับถือศาสนาที่แตกต่างกันขึ้น
เหยื่อความรุนแรงครั้งนี้เป็นผู้บริสุทธิ์ ไม่เคยข้องเกี่ยวกับความขัดแย้งใดๆ มาเลยในอดีต อีกทั้งยังปราศจากอาวุธ ซึ่งในทางสากลถือกันว่าเป็นผู้ที่ไม่ควรได้รับการปฏิบัติต่อด้วยความรุนแรง แม้ในสถานการณ์สงคราม
อีกทั้งเหยื่อความรุนแรงยังเป็น “พระภิกษุ” ผู้ประพฤติปฏิบัติตามหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนา ที่เน้นการฝึกฝนพัฒนาตนเอง และยึดหลักการทำงานที่มุ่งประโยชน์แก่มหาชนเป็นสำคัญ ตามพุทธดำรัส
หนึ่งในพระภิกษุที่มรณภาพ ซึ่งข้าพเจ้ารู้จักคุ้นเคยเป็นอย่างดี ในนามสมาชิกกลุ่มถักทอสันติภาพสามจังหวัดชายแดนใต้ คือ “พระครูประโชติรัตนานุรักษ์“เป็นพระสังฆาธิการระดับเจ้าคณะอำเภอสุไหงปาดี สนองงานคณะสงฆ์อย่างเต็มความสามารถไม่เคยบกพร่อง
ทั้งยังเป็นพระนักพัฒนา มีกิจกรรมการพัฒนาวัดให้เป็น รมณียสถาน ด้วยการปลูกต้นไม้รอบวัด ใช้พื้นที่ลานวัดเป็นสถานที่ ฝึกอบรมคุณธรรม เน้นการให้ธรรมะไม่เน้นการสร้างวัตถุมงคล งานบุญประเพณีต่างๆ ที่จัดขึ้นในวัดจะห้ามเล่นการพนันและดื่มเครื่องดื่ม แอลกอฮอล์ ตามแนวทางโครงการหมู่บ้านรักษาศีลห้า
เป็นพระนักพัฒนาที่ใช้แนวทางสันติอหิงสา ร่วมในกระบวนการทำงานถักทอสันติภาพในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้มาอย่างต่อเนื่อง ทั้งงานพุทธธรรมสัญจรเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชาวพุทธ รวมทั้งงานสานเสวนาระหว่างศาสนาในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้
จากที่ได้มีโอกาสสนทนากัน ทราบว่านอกจากจะมีการสานต่อ โครงการ “พุทธธรรมสัญจร” และ “สานเสวนาระหว่างศาสนา” แล้ว ท่านยังสนใจที่จะขับเคลื่อน “ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์” ในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ด้วย และงานนี้มิเพียงแต่จะเน้นการส่งเสริมและดูแลสุขภาพพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาเท่านั้น แต่ยังมีแนวคิดขยายงานเพื่อส่งเสริมและดูแลสุขภาพผู้นำศาสนาอื่น รวมถึงศาสนิกของทุกศาสนาด้วย ภายใต้หลักแห่งพรหมวิหารธรรมนั่นเอง
ทั้งนี้ ด้วยคติพจน์ประจำใจ “ถ้าไม่ตายไม่ขอเลิกทำความดี” และด้วยเหตุที่ต้องทำงานในพื้นที่เสี่ยงอันตราย ท่านมักจะกล่าวเสมอว่า “ผมไม่หนี ผมถือว่าตรงนี้เป็นแผ่นดินไทย ปู่ย่าตายายผมเป็นคนพุทธ เกิดตรงนี้ ขอตายตรงนี้”
การมรณภาพของ “พระครูประโชติรัตนานุรักษ์” และพระอีก ๑ รูป นอกจากจะเป็นความสูญเสียของคณะสงฆ์และชาวพุทธในจังหวัดนราธิวาสแล้ว ยังนำมาซึ่งความรู้สึกเสียใจและอาลัยแก่พวกเรากลุ่มถักทอสันติภาพในสามจังหวัดชายแดนใต้ เครือข่ายสังฆะเพื่อสังคม (๔ ภาค) เครือข่ายพระสงฆ์นักพัฒนาภาคเหนือ พระนักพัฒนาชุมชนภาคเหนือ สถาบันโพธิยาลัย และคณะสงฆ์ไทยโดยรวมด้วย
ขอสดุดีจิตวิญญาณแห่งพุทธสาวก ที่ปฏิบัติตามรอยบาทของพระบรมศาสดามาตลอดชีวิต และขอถวายความอาลัยแด่ “พระครูประโชติรัตนานุรักษ์” อดีตเจ้าคณะอำเภอสุไหงปาดี อดีตเจ้าอาวาสวัดรัตนานุภาพ ตำบลโต๊เด็ง อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส ขอ ดวงวิญญาณอันบริสุทธิ์ของท่านจงเสวยสุข สถิตเสถียรในทิพยพิมาน ตราบถึงพระนิพพาน เทอญ
ในฐานะสมาชิกกลุ่มถักทอสันติภาพในสามจังหวัดชายแดนใต้ จักร่วมกันสืบสานปณิธานของท่าน “พระครูประโชติรัตนานุรักษ์” หมุนวงล้อแห่งธรรมต่อไป
“พระผู้ถักทอความดีให้คนรุ่นหลังจดจำและทำตาม” พระครูประโชติรัตนานุรักษ์ที่ข้าพเจ้ารู้จัก (๗) โดย พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท วัดทองนพคุณ คลองสาน กรุงเทพฯ กลุ่มเพื่อชีวิตดีงาม สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ