วันนี้วันพระ วันอังคารที่ ๓๑ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๖๔ แรม ๘ ค่ำ เดือน ๙

บันทึกธรรม สัมมาสมาธิ (บทที่ ๒๒)

“ให้มีสติระลึกรู้เข้ามาที่กายที่ใจอย่างนี้อยู่บ่อยๆ”

เขียนโดย พระอาจารย์ญาณวชิระ: พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น

ให้มีสติระลึกรู้เข้ามาที่กายที่ใจอย่างนี้อยู่บ่อยๆ

เมื่อมีสติระลึกรู้อยู่อย่างนี้ก็เรียกว่า “ระวังกายระวังใจ” เป็นอินทรีย์สังวร คือ ระวัง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ตาก็ให้เห็นไปตามปกติของตา แต่ก็ระมัดระวังในการเห็น ในการแลการเหลียว

แลไปเห็นอะไรที่ชอบใจ

ก็ระมัดระวัง

เห็นอะไรที่ไม่ชอบใจก็ระมัดระวัง

หูก็ให้ได้ยินไปตามปกติของหู แต่ก็ระมัดระวังในการได้ยิน ได้ยินอะไรที่ชอบใจบ้าง ไม่ชอบใจบ้าง ก็ระมัดระวัง จมูกก็ให้ได้กลิ่นไปตามปกติของจมูก อย่าไปดัดแปลงแก้ไข ได้กลิ่นชอบใจบ้าง ไม่ชอบใจบ้าง ขัดเคืองใจบ้าง ก็ให้รู้แล้วระมัดระวัง ลิ้นก็ให้รับรสไปตามปกติของลิ้น จะกินจะเคี้ยวอะไรก็ให้ระมัดระวัง ไม่ใช่ไม่ให้กิน แต่กินอย่างระมัดระวังไม่ตามใจปาก เป็นโภชเนมัตตัญญุตา คือรู้ประมาณในการกินอาหาร

ให้ตั้งมั่นสังเกตอาการของจิตทั้งหมดอยู่อย่างนี้ ก็กลับเข้ามาดูกายดูใจ แล้วก็มีความเพียรพยายามปฏิบัติอย่างนี้เรื่อยไป เป็นชาคริยานุโยค นอนก็นอนแต่พอดี พอรู้สึกตัวก็ดูเข้ามาที่กายใจว่านอนพอดีหรือยัง แล้วก็ปรารภที่จะทำความเพียรต่อไป

การระมัดระวังอินทรีย์

เป็นจุดเริ่มต้นของการเฝ้าสังเกตกายใจ

หรือ รูปนามตามความเป็นจริงในขณะนั้นๆ

เป็นการลบข้อมูลเก่า

และเริ่มป้อนข้อมูลใหม่ให้จิตได้รู้ว่า

กายใจไม่เที่ยง

ป้อนข้อมูลเข้าไปบ่อยๆ จนจิตยอมรับข้อมูลนี้ว่าเป็นจริง ก็คือจิตเกิดญาณทัศน์ เกิดความรู้ไปตามข้อมูลที่เป็นจริงของกายใจ เหมือนเป็นการเก็บเล็กผสมน้อยไปเรื่อย เป็นการเก็บรวบรวมข้อมูลไว้ให้จิตนำมาใช้ในการขบคิดพิจารณา จนเกิดความรู้และเข้าใจตรงตามนั้นก็เรียกว่าเกิดญาณทัศน์

ทั้งอินทรียสังวร โภชเนมัตตัญญุตา และ ชาคริยานุโยคเป็นอปัณณกปฏิปทา เป็นข้อปฏิบัติที่ไม่ผิดในการเก็บเล็กผสมน้อยทางสติจากกายใจ เพื่อเอื้อต่อการดำเนินจิตให้เกิดสมาธิ

ครูบาอาจารย์ท่านเรียกวิธีนี้ว่า “เก็บอารมณ์” ก็คือสังวรระวัง อันเดียวกัน จะเรียกว่าสำรวมกายใจก็ได้

ฝึกระลึกรู้เข้ามาที่กาย เจ็บก็รู้ว่าเจ็บ ปวดก็รู้ว่าปวด เมื่อยก็รู้ว่าเมื่อย พอใจก็รู้ว่าพอใจ ไม่พอใจก็รู้ว่าไม่พอใจ ชอบใจก็รู้ว่าชอบใจ ไม่ชอบใจก็รู้ว่าไม่ชอบใจ ไม่สบายอกไม่สบายใจ ก็รู้ว่าไม่สบายอกไม่สบายใจ สบายอกสบายใจก็รู้ว่าสบายอกสบายใจ หงุดหงิดก็รู้ว่าหงุดหงิด ขัดเคืองใจก็รู้ว่าขัดเคืองใจ  ไม่ว่าจะเครียด กังวลใจ หวาดกลัว กลุ้มอกกลุ้มใจ ขุ่นมัวใจ เศร้าหมองใจ สับสน เหนื่อยหน่าย ท้อแท้ น้อยใจ เสียใจ อิจฉา ริษยา เกรี้ยวกราด ก็รู้

อารมณ์ใดเกิดขึ้น

ก็รู้อารมณ์นั้น

รวมความก็ว่า จิตมีราคะก็รู้ว่าจิตมีราคะ จิตปราศจากราคะ ก็รู้ว่าจิตปราศจากราคะ จิตมีโทสะก็รู้ว่าจิตมีโทสะ จิตปราศจากโทสะก็รู้ว่าจิตปราศจากโทสะ จิตมีโมหะก็รู้ว่าจิตมีโมหะ จิตปราศจากโมหะ ก็รู้ว่าจิตปราศจากโมหะ จิตเป็นมหตัคคะ (จิตมีฌานหรือไม่มีฌานก็รู้)

เมื่อฝึกระลึกรู้อยู่บ่อยๆ สติก็จะค่อยๆ เติบโตขึ้นมาระลึกรู้ที่กายที่ใจ การที่สติสามารถระลึกรู้ได้ ก็เพราะเมื่อมีการฝึกทำบ่อยๆเข้า จิตส่วนที่เป็นสัญญาก็จะจดจำสภาวะของการมีสติระลึกรู้เอาไว้ ทำสองครั้งสามครั้ง อาจจำได้หรือจำได้บ้างไม่ได้บ้าง แต่ถ้าฝึกอยู่บ่อยๆ จิตก็จะจำได้ เหมือนการท่องบทสวดมนต์ หรือท่องสูตรคูณ ท่องสองรอบสามรอบก็จำไม่ได้ แต่พอท่องบ่อยๆ ก็จำได้ติดปาก ถ้าทบทวนไว้บ่อยๆ ก็จำได้ขึ้นใจ

การมีสติระลึกเข้ามาที่กายที่ใจก็เช่นเดียวกัน ต้องทำอยู่บ่อยๆ จนจำได้ขึ้นใจ เมื่อขบคิดพิจารณาใคร่ครวญจนรู้จริงตามนั้น ก็เกิดญานทัศน์รู้ตรงตามอาการของกายใจไม่ได้ดัดแปลงความรู้ไปตามกิเลสที่อยากให้เป็

ดังนั้น ในการฝึกลงมือปฏิบัติ เมื่อหลงลืมสติไปบ้าง ก็อย่ากลัวว่าหลงลืมสติ เพราะการหลงลืมมีอยู่เป็นธรรมดาของจิต จิตมีความไม่เที่ยง จิตจึงหลงลืม บางครั้งก็จำได้ บางครั้งก็จำไม่ได้ เมื่อหลงไปลืมไป เราก็เข้าใจว่า เป็นธรรมดาของความไม่เที่ยง หลงลืมไปก็ตั้งสติระลึกรู้ใหม่อีกครั้ง หลงลืมไปก็ไม่แน่ เดี๋ยวก็มีสติระลึกรู้ขึ้นมาได้ แม้บอกว่ามีสติแล้วจะไม่หลงลืมสติ ก็ไม่แน่อีก พอเผลอก็ลืมสติอีก เพราะสัญญาคือ ความจำก็ไม่เที่ยง มีสติระลึกได้  ก็ไม่ต้องดีใจ ก็ให้รู้ว่าระลึกได้ พอเผลอไม่มีสติเกิดความหลงลืมไป ก็ไม่ต้องเสียใจ ก็ให้รู้ว่าไม่แน่ ก็ให้มีสติระลึกรู้ขึ้นมาใหม่

ถ้าเห็นว่าต้องไม่หลงลืมสติ

อันนี้เป็นความเห็นผิด

เป็นมิจฉาทิฏฐิ

เป็นการเห็นไม่ตรงตามอาการของจิต

เพราะจิตมีการหลงลืมสติเป็นธรรมดา

เมื่อเห็นว่าจิตมีการหลงลืมไปเป็นธรรมดา

เพราะจิตไม่เที่ยง

ก็เป็นความเห็นถูก เป็นสัมมาทิฏฐิ

เพราะเห็นตรงตามอาการของจิต

จะเรียกว่าเห็นตรงตามสภาวธรรมก็ได้

บันทึกธรรม สัมมาสมาธิ (บทที่ ๒๒) “ให้มีสติระลึกรู้เข้ามาที่กายที่ใจอย่างนี้อยู่บ่อยๆ” เขียนโดย พระอาจารย์ญาณวชิระ: พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here