หน้าที่ของพระสงฆ์กับการพัฒนาชุมชน
คือ หนึ่งในงานคณะสงฆ์ ๖ ด้าน อันประกอบด้วย
๑. ด้านการปกครอง
๒. ด้านศาสนศึกษา
๓. ด้านศึกษาสงเคราะห์
๔. ด้านเผยแผ่
๕. ด้านสาธารณูปการ
๖. ด้านสาธารณสงเคราะห์
โดย สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ
พระสงฆ์ในพระพุทธศาสนานั้น โดยปกติท่านก็มีบทบาทในการพัฒนาสังคมอยู่แล้ว เพราะการบวชเข้าสู่ธรรมวินัย ออกบิณฑบาตยามเช้าด้วยเท้าเปล่าไปตามถนนหนทาง แม้ลำบากเพียงใด บนถนนยางมะตอย หรือทางเท้า ที่อาจเต็มไปด้วยเศษขวดแก้ว ขยะเกลื่อนกล่น และรถราที่วิ่งอย่างรวดเร็ว อาจไม่มีความปลอดภัยเลยสำหรับท่าน แต่นั่นคือการฝึกกายและใจให้เข้มแข็งอดทน และมีชีวิตอย่างไม่เบียดเบียนผู้ใด เพียงอาหารมื้อเดียวจากการบิณฑบาต พระพุทธศาสนาก็สามารถเดินทางมากว่า ๒๖๐๐ ปี เพื่อช่วยเหลือผู้คนให้พ้นภัยจากทุกข์ในสังสารวัฏ
พระพุทธเจ้าทรงระบุไว้ในพระธรรมวินัย เพื่อให้พระภิกษุภิกขาจารในยามเช้าโปรดเวไนยสัตว์ คือ ผู้ที่พอจะแนะนำสั่งสอนได้ ผู้ที่นับถือพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง หรือผู้ที่เห็นสมณะแล้วศรัทธาอยากจะทำบุญใส่บาตร ผู้ที่สามารถบรรลุธรรมหรือจะได้รับความสำเร็จทางธรรมได้ เหมือนดอกบัวที่อยู่ในน้ำ เมื่อได้รับแสงอาทิตย์ยามเช้าทุกวันก็จะโผล่พ้นน้ำขึ้นมาบานได้ในวันหนึ่ง การบิณฑบาตและการใส่บาตรจึงเป็นหลักการสำคัญในพระธรรมวินัยที่มีอานิสงส์มากที่จะช่วยให้พ้นทุกข์ได้
ขณะที่ผู้ใส่บาตรก็ได้ฝึกการให้ทาน การแบ่งปัน ฝึกจาคะ คือการสละออกซึ่งกิเลสร้อยรัดในความยึดติดวันละเล็กวันละน้อย และขณะเตรียมอาหารใส่บาตร ขณะใส่บาตร และหลังใส่บาตรก็เกิดความปีติในการทำบุญ อันเป็นหนึ่งในบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ในการสร้างบารมีเพื่อปูทางไปสู่ความหลุดพ้นจากความทุกข์ในสังสารวัฏ หรือ พระนิพพานคือเป้าหมาย
บรรพบุรุษเราหลังการใส่บาตรจึงมักตั้งจิตภาวนาอธิษฐานว่า นิพพานะ ปัจจโย โหตุ” หรือ “นิพพานัง ปัจจโย โหตุ” หมายถึง ขอบุญนี้เป็นปัจจัยส่งให้ข้าพเจ้าถึงพระนิพพาน หรือ ขอความดี บุญกุศลที่ได้บำเพ็ญนี้จงเป็นเหตุสนับสนุนให้ได้บรรลุถึงพระนิพพานเทอญ
หน้าที่ของพระสงฆ์ตอนเดินบินฑบาตก็เป็นการเดินจงกรม ฝึกสติ ฝึกฝนอบรมกาย อบรมจิต เป็นการพัฒนาตัวเองไปด้วย และในวันพระที่มิได้ออกบิณฑบาต ชาวบ้านก็มาทำบุญที่วัดกัน ก็เป็นเวลาที่จะได้สอนให้ชาวบ้านพัฒนากาย-ใจ ด้วยการรักษาศีล ๕ ศีล ๘ อุโบสถศีล เพื่อฝึกจิตให้มีกำลังปัญญาในการต้านทานกิเลสน้อยใหญ่ที่จู่โจมมาไม่เลือกเวลาและสถานที่ได้ทันท่วงทีด้วยรั้วแห่งธรรม คือ “ศีล สมาธิ ภาวนา”
วัดจึงเป็นศูนย์รวมของชาวบ้านในการพัฒนาวัด พัฒนาชุมชน การจัดประชุมต่างๆ พระสงฆ์ก็จะได้รับนิมนต์ให้เป็นองค์ประธานในการประชุมต่างๆ และพระสงฆ์ก็จะนำเอาหลักพุทธธรรมเข้ามาประยุกต์ใช้เพื่อให้เกิดความสามัคคีและความผาสุขของชุมชน
เราอาจสรุปได้ว่า สังคม หมายถึง กลุ่มคนที่อยู่รวมกัน มีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน โดยยอมรับแบบแผนหรือวิธีการ และกฎเกณฑ์ของกลุ่มอยู่รวมกันในการดำเนินชีวิต
บทบาทเป็นสิ่งที่ผู้รับหน้าที่ต้องแสดงออก พระสงฆ์เป็นส่วนหนึ่งของสถาบันทางศาสนาและสังคม เพื่ออยู่กับสังคม และช่วยสังคมให้เกิดความสงบสันติ พระสงฆ์จำเป็นจะต้องได้รับความช่วยเหลือจากพุทธบริษัท หรือ ฆราวาส ญาติโยม โดยการบิณฑบาต ไตรจีวร เสนาสนะ และสิ่งของที่จำเป็นตามพระธรรมวินัย เพื่อยังธาตุขันธุ์ให้ดำรงอยู่ในการบำเพ็ญสมณธรรมไปสู่ความพ้นทุกข์ในสังสารวัฏ และควรมีบทบาทในการสอนฆราวาสให้รู้จักทำทาน รักษาศีล ฝึกสติ เจริญสมาธิ วิปัสสนาจนกว่าจะเห็นกายใจและโลก ตามความเป็นจริง กิจของสงฆ์จึงเกี่ยวเนื่องกับชาวบ้านตามพระธรรมวินัย เพื่อความสิ้นไปแห่งทุกข์ในทุกมิติของการดำเนินชีวิต การกระทำกิจกรรมต่างๆ ที่พระสงฆ์อยู่ในชุมชน ด้วยเหตุผล ๓ ประการคือ
๑. การดำเนินชีวิตของพระสงฆ์ต้องอาศัยปัจจัยสี่ที่ชาวบ้านถวาย
๒. สภาพเหตุการณ์ในสังคม ย่อมมีผลเกี่ยวข้องกับความบำเพ็ญปฏิบัติสมณธรรม
๓. โดยคุณธรรม คือ เมตตาธรรม พระสงฆ์จะต้องช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นจากความทุกข์ (จาก หนังสือ พัฒนาชนบทไทย : สมุทัยและมรรค ตอนที่ ๓ ความหวังทางออก และทางเลือกใหม่ โดย อภิชัย พันธุเสน : มูลนิธิภูมิปัญญา ๒๕๓๙ หน้า ๒๐๕-๒๐๖)
ในส่วนที่เกี่ยวกับชนบทไทย พระสงฆ์จะมีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือพัฒนาชนบท ดังนี้
๑.) สงฆ์ทำหน้าที่สั่งสอนธรรม และส่งเสริมให้ชาวบ้านทำบุญกุศลต่างๆ
๒.) ภิกษุอาวุโส หรือสมภารวัด ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา ผู้ประนีประนอม และบางครั้งทำหน้าที่เยียวยารักษาผู้เจ็บป่วย
๓.) สงฆ์เป็นผู้ช่วยส่งเสริมความสามัคคีในหมู่บ้าน ช่วยขจัดความขัดแย้งของประชาชนในหมู่บ้านได้ เพราะคนโดยส่วนมากเชื่อฟังพระผู้ทรงศีลอยู่แล้ว
๔.) สงฆ์ทำหน้าที่อบรมสั่งสอนเด็กดื้อที่พ่อแม่หมดความสามารถจะอบรมได้ด้วยตัวเอง รวมทั้งอนุเคราะห์เด็กกำพร้า เช่น พระครูสมุห์ทองมา อคคธมโม หรือ หลวงพ่อทองมา แห่งวัดป่าดอนใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเปี่ยมด้วยความเมตตา เลี้ยงเด็กกำพร้า และเด็กที่ถูกทิ้งกว่าร้อยคน ให้ได้ศึกษาเล่าเรียนจะได้มีอนาคต มาเป็นเวลากว่า ๒๐ ปี และวัดถ้ำตะโก ตำบลเขาสมอคอน อำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี ที่ได้จัดบรรพชาสามเณร เลี้ยงเด็กด้อยโอกาส และเด็กกำพร้ากว่าสองร้อยคน เป็นต้น
๕.) สงฆ์เป็นผู้ช่วยสั่งสอนเทคนิค ศิลปะ วิชาชีพขั้นพื้นฐาน ซึ่งสามารถเรียนรู้ได้จากวัด เช่น สถาปัตยกรรม ช่างไม้ ช่างก่ออิฐปูน ช่วยปรับปรุงการเกษตร และการรักษาโรคภัย ยาแผนไทย และยาแผนใหม่ เป็นต้น
๖.) ทรงเป็นผู้นำที่ไม่เป็นทางการของหมู่บ้านทำหน้าที่ช่วยวางแผนแนะนำสนับสนุนงานของชาวบ้านโครงการพัฒนาต่างๆในเมือง ไทยที่สำเร็จไปได้นั้นส่วนหนึ่งเป็นเพราะเจ้าหน้าที่รัฐบาลขอความร่วมมือจากชาวบ้านโดยผ่านพระสงฆ์ซึ่งชาวบ้านเคารพนับถือ
๗.) สงฆ์เป็นผู้นำประชาชนในทางวิญญาณ เป็นที่พึ่งทางจิตใจ สงฆ์สามารถแก้ปัญหาส่วนตัวของผู้เดือดร้อนใจ ดังเช่น วัดญาณเวศกวัน จังหวัดนครปฐม จัดกิจกรรมธรรมะวาไรตี้มากมาย อาทิ คุยกับกัลยาณมิตร ที่จะรับฟังเรื่องราวของคุณ และพาคุณหาทางออกจากปัญหา ด้วยปัญญา หรือ สายด่วนให้คำปรึกษาทางใจผู้ป่วยระยะสุดท้าย ดูแลเยียวยาจิตใจ นอกจากรักษาทางกาย โดยเครือข่ายพุทธิกา เป็นต้น
๘. ) สงฆ์ทำหน้าที่เป็นพระธรรมทูต และพระธรรมจาริก ซึ่งไปเผยแผ่หลักธรรมแก่ชาวบ้าน ให้ชาวบ้านเขาเกิดความรู้สึกรักชาติ ไม่ทำเลื่อนลอย และหันมาเคารพนับถือศาสนา (จากหนังสือ สังคมวิทยาชนบท หน้า ๒๔๖ – ๒๔๗ โดย รัชนีกร เศรษโฐ สำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช กรุงเทพมหานคร ๒๕๒๘ ) และสร้างอาชีพทำเกษตรที่หลากหลาย รวมไปถึงการแนะนำองค์ความรู้ในการพัฒนาฝีมือและการเกษตรเพื่อต่อยอดในการสร้างอาชีพและพัฒนาชีวิต
ดังเช่น เจ้าคุณพระปัญญาวชิรโมลี เจ้าอาวาสวัดป่าศรีแสงธรรม บ้านดงดิบ ตำบลห้วยยาง อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ผู้ก่อตั้ง โรงเรียนศรีแสงธรรม ที่ปรึกษาโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” กรมการพัฒนาชุมชน ตามหลัก “บวร” ท่านเป็นต้นแบบของพระผู้รังสรรค์การเก็บพลังงานแสงอาทิตย์มาไว้ในโซล่าร์เซลล์ (Solarcell) เพื่อพัฒนาระบบไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ใช้ในทุกด้าน ทั้งการศึกษา การเกษตร โรงพยาบาล โรงเรียน เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม บทบาทหลักของพระสงฆ์คือ การให้การศึกษาแก่ประชาชน โดยเฉพาะในด้านการดำรงชีวิตที่ดีงาม ชีวิตที่ประเสริฐ ตามหลักการพระพุทธศาสนา เรียกว่า บทบาทของครู แม้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ได้รับการยกย่องจากบุคคลทั่วไปว่า เป็นพระบรมครู ทำหน้าที่ฝึกเทวดาและมนุษย์ได้อย่างไม่มีใครยิ่งกว่า เพราะพระองค์ฝึกคนธรรมดาให้เป็นคนดี (กัลยาณชน) และกลายเป็นคนประเสริฐ (อริยชน) ในระดับสูงสุด ดังนั้นบทบาทของพระสงฆ์ในฐานะครู เป็นบทบาทถาวรตลอดมา ตั้งแต่สมัยพุทธกาลจนถึงปัจจุบัน
กราบขอบพระคุณ พระอาจารย์นรุตม์ชัย อภินนฺโท (สอนคง) และมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เจ้าของลิขสิทธิ์มา ณ ที่นี้ ในการเผยแผ่เป็นวิทยาทานและธรรมทาน