บทความพิเศษ ตอนที่ ๙

“สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมฯ

รับงบอุดหนุนจากสำนักงานพุทธฯ ได้โดยชอบด้วยกฎหมาย”

โดย พระใบฎีกาคทาวุธ คเวสกธมฺโม

“จงเป็นนักกฎหมายที่เห็นคุณค่าของสังคมไทย

และมีวิถีคิดอยู่บนผืนแผ่นดินของเรา”

        เป็นคำกล่าวของครูกฎหมายท่านหนึ่งที่ถือว่าเป็นปรมาจารย์ทางด้านกฎหมายมหาชนของเมืองไทยในยุคปัจจุบันเพื่อเป็นทิฏฐานุคติ เพราะต้นเหตุของการเขียนตอนที่ ๙ มาจากหน่วยงานที่มีหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย คือ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.), สำนักอัยการสูงสุด, สำนักงานศาลยุติธรรม ซึ่งหน่วยงานทั้ง ๓ ได้รับงบอุดหนุนก้อนเดียวกันกับสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมฯ โดยเรื่องนี้ ดร.นิยม เวชกามา ส.ส.จังหวัดสกลนคร ได้ยื่นกระทู้ถามสดในรัฐสภาเมื่อไม่นานมานี้

ดร.นิยม เวชกามา ส.ส.จังหวัดสกลนคร
ดร.นิยม เวชกามา ส.ส.จังหวัดสกลนคร (ขอขอบคุณ ภาพจาก TPTV)

          ซึ่งสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมฯ เป็นหน่วยงานเผยแผ่ของคณะสงฆ์มีอำนาจตามกฎหมายรับงบอุดหนุนจากสำนักงานพุทธฯ แต่ต้องถูกล่าวหาว่าไม่มีสิทธิรับงบจากสำนักงานพุทธฯ

          ทั้งนี้ การโอนงบอุดหนุนข้ามหน่วยงาน กระทำไม่ได้ เว้นแต่การโอนงบดังกล่าวได้มี พ.ร.บ. ให้โอนหรือนำไปใช้ได้ และเมื่อมี พ.ร.ฎ. รวมหรือโอนส่วนราชการเข้าด้วยกัน เท่านั้น ตาม มาตรา ๑๘ พ.ร.บ. วิธีการงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๐๒ ได้กล่าวไว้ในบทความก่อนหน้าที่แล้ว (สำนักงานพุทธฯ ให้งบอุดหนุน ปปช., สำนักงานอัยการสูงสุด, สำนักงานศาลยุติธรรมได้หรือไม่ ทำไมวัดรับงบอุดหนุนจึงเป็นคดีความ) เข้าไปอ่านได้ที่ https://www.manasikul.com

        อนึ่ง หน่วยงานทั้ง ๓ จะไม่ทราบเลยหรือว่าการโอนงบข้ามหน่วยงานมันผิดกฎหมาย ถ้าไม่กระทำการตามมาตรา ๑๘ พ.ร.บ. วิธีการงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๐๒ อาตมาสงสัยมากจึงได้ไปค้นในประกาศราชกิจจานุเบกษา แต่ก็ไม่พบหรือเห็นการโอนงบอุดหนุนดังกล่าวได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเลย

          เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏเช่นนี้ก็เท่ากลับว่าการโอนงบอุหนุนของสำนักงานพุทธฯ ให้กับ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.), สำนักงานอัยการสูงสุด, สำนักงานศาลยุติธรรม ขัดต่อกฎหมายมาตรา ๑๘ แห่ง พ.ร.บ. วิธีการงบประมาณ ๒๕๐๒ หน่วยงานหรือเจ้าพนักงานฯ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องต้องรับผิดตามกฎหมายอย่างไรหรือไม่

        และเมื่อไม่นานมานี้ก็มีสื่อนำเสนอข่าวว่ามีผู้ไปยื่นเรื่องนี้ต่อคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ (กมธ.ป.ป.ช.) ว่ากรณีดังกล่าวจะเข้าข่ายเป็นการร่วมกันฟอกเงินหรือไม่

          และเรื่องนี้อาตมามองว่ามันเป็นเรื่องที่ผิดปกติมาก เพราะหน่วยงานทั้ง ๓ เป็นที่รวมของบุคคลที่มีความรู้ทางด้านกฎหมายเป็นอย่างดีย่อม “รู้หรือควรจะรู้ ว่าเป็นเงินผิด แต่ก็รับมา” น่าคิดอยู่เหมือนกัน สังคมจึงต้องช่วยกันออกมาตรวจสอบเรื่องนี้อย่าปล่อยให้มันเงียบหายไปกลับสายลม

เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ในพิธีเปิดสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ ปี พ.ศ. ๒๕๕๑

        แต่เรื่องกลับตาลปัตร เพราะสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมฯ เป็นหน่วยงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาของคณะสงฆ์ที่มีอำนาจตามกฎหมายรับงบอุดหนุนจากสำนักงานพุทธฯได้ กลับถูกฟ้องเป็นคดีความว่าไม่มีสิทธิ์รับงบอุดหนุน กำลังอยู่ในระหว่างพิจารณาคดีของศาลชั้นต้น

          กล่าวคือ สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมฯ เกิดขึ้นตามประกาศคำสั่งของมหาเถรสมาคม และมีมติของมหาเถรสมาคม ที่ ๔๑๒/๒๕๕๖ ในคราวประชุมมหาเถรสมาคม ครั้งที่ ๒๐/๒๕๕๖ เห็นชอบให้สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมฯ เป็นหน่วยงานของคณะสงฆ์ในการสนับสนุนในการดำเนินภารกิจด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนาเชิงรุก มีหน่วยงานกลางตั้งที่วัดสระเกศ

เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ในพิธีเปิดสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม
และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ ปี พ.ศ. ๒๕๕๑

          สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมฯ เป็นหน่วยงานของคณะสงฆ์ เพียงแต่มาขอสถานที่วัดสระเกศตั้งสำนักงานกลางเท่านั้น และวัดสระเกศไม่ได้รับงบอุดหนุน แต่เป็นสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมฯ รับงบอุดหนุนกับสำนักงานพุทธฯ และมีศูนย์สาขาอยู่ทุกภูมิภาค และมีเครือข่ายอยู่ทุกจังหวัด ตามมาตรา ๑๕ ตรี (๓) และวรรคสอง ประกอบกับมาตรา ๘ มาตรา ๙ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ (อธิบายข้อกฎหมายการก่อตั้งสำนักงานฯ ในตอนต่อไป)

ขอขอบคุณภาพจาก สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคง
แห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ

          สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมฯ จึงมีอำนาจโดยชอบตามกฎหมายรับงบอุดหนุนจากสำนักงานพุทธฯ ได้ เพราะการเกิดขึ้นของสำนักงานพุทธฯ ตามกฎกระทรวง แบ่งส่วนราชการ สํานักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๗ อาศัยอํานาจตามความในมาตรา ๘ ฉ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๔๓

          ประกอบกับ พ.ร.บ. คณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ฉบับที่บังคับใช้ในปัจจุบันใน มาตรา ๑๓ “ให้ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เป็นเลขาธิการมหาเถรสมาคมโดยตำแหน่ง และให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ทำหน้าที่สำนักงานเลขาธิการมหาเถรสมาคม” เรื่องนี้เคยกล่าวไว้แล้ว (อำนาจและหน้าที่ของสำนักงานพุทธฯ กับกรณีการดำเนินคดีเงินทอนวัด) เข้าไปอ่านได้ที่ https://www.manasikul.com

        ดังนั้น จะเห็นว่าสำนักงานพุทธฯ มีหน้าที่สนับสนุน ส่งเสริม สนองงานคณะสงฆ์โดยตรง สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมฯ ซึ่งถือได้ว่าเป็นหน่วยงานของคณะสงฆ์ ทำหน้าที่แทนมหาเถรสมาคมในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา จึงรับงบอุดหนุนจากสำนักงานพุทธฯ ได้โดยชอบด้วยกฎหมาย

        แต่สิ่งที่อาตมาตั้งข้อสังเกตคือ “มหาเถรสมาคมก็เหมือนเป็นพระอาจารย์ ส่วนสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมฯ ก็เหมือนเป็นลูกศิษย์”

        เมื่อพระอาจารย์ขอให้ลูกศิษย์ ไปช่วยทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาในนามพระอาจารย์ ต่อมามีคนบางกลุ่มที่มีพฤติการณ์เหมือนมีเจตนาซ่อนเร้น มีแรงจูงใจบางอย่าง กล่าวหาว่าสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมฯ ไม่ได้เป็นหน่วยงานของคณะสงฆ์ ไม่มีสิทธิรับงบประมาณจากสำนักงานพุทธฯ พร้อมมีการนำข้อเท็จจริงที่เป็นเท็จเสนอต่อสังคม 

        “แล้วทำไมพระอาจารย์จึงไม่ออกมาอธิบายให้สังคมเข้าใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นว่าข้อเท็จจริงที่เป็นจริงของลูกศิษย์เป็นอย่างไร”

          หรือว่าพระอาจารย์จะปล่อยให้ลูกศิษย์ตนเองถูกทำร้ายไปต่อหน้าต่อตา ทั้งที่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ลูกศิษย์ได้ขับเคลื่อนการทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา ได้เสียสละ อุทิศตน และทำตามคำสั่งของพระอาจารย์ทุกประการเพื่อสนองงานพระอาจารย์ด้วยชีวิต

พระใบฎีกาคทาวุธ คเวสกธมฺโม พระธรรมทูต ประเทศสกอตแลนด์ ผู้เขียน

“จงเป็นนักกฎหมายที่เห็นคุณค่าของสังคมไทย

และมีวิถีคิดอยู่บนผืนแผ่นดินของเรา”

คำกล่าวของครูกฎหมายท่านหนึ่ง

บทความพิเศษ ตอนที่ ๙ “สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมฯ รับงบอุดหนุนจากสำนักงานพุทธฯ ได้โดยชอบด้วยกฎหมาย” โดย พระใบฎีกาคทาวุธ คเวสกธมฺโม

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here