บทความพิเศษ ตอนที่ ๑๙
“ความบริสุทธิ์ของมนุษย์ สำคัญกว่าความยุติธรรม”
โดย พระใบฎีกาคทาวุธ คเวสกธมฺโม
จากการที่ได้ศึกษาว่าด้วยเรื่อง “ความยุติธรรม” จะพบว่าปัญหาของความยุติธรรมในทุก ๆ ด้านไม่ว่าจะเป็นสังคมตะวันตก สังคมตะวันออก รวมทั้งหลักความยุติธรรมที่อยู่ในกฎหมายไทย ปัญหาล้วนมาจากตัวของมนุษย์ทั้งสิ้น เพราะมนุษย์เป็นผู้กำหนด ควบคุม หรือสมมติกฎหมายต่างๆ ขึ้นมาเอง ถ้าตัวมนุษย์ไม่มีพื้นฐานด้านการฝึกฝน พัฒนาจิตใจและปัญญาเสียแล้ว ไม่ว่ากฎหมายหรือหลักความยุติธรรมที่สมมติกันขึ้นมาจะประเสริฐขนาดไหนในที่สุดก็จะไปไม่รอด
เพราะมนุษย์จะพยายามหาทางหลบหลีกเลี่ยงกฎหมายทุกวิถีทาง หรือไม่เคารพไม่เต็มใจที่จะปฏิบัติตาม แม้จะมีการบังคับหรือลงโทษอย่างไรก็ตาม ในที่สุดก็จะล้มเหลว เพราะตัวโครงสร้างที่มนุษย์สมมติขึ้นมานั้น จะกร่อนโทรมด้วยตัวของมันเองจนหมดประสิทธิภาพ
เช่น มนุษย์มีการสมคบกันเพื่อหลบหลีกกฎหมายในทุกระดับชั้น แม้จะมีการจัดตั้งองค์กรต่าง ๆ เพื่อมาดูแลควบคุม หรือมีโทษที่รุนแรงขึ้นก็จะสิ้นผล
และที่เห็นได้ในปัจจุบันอย่างชัดเจนคือมีการนำเอากฎหมายไปใช้ในทางที่ผิดเจตนารมณ์ เพื่อสนองความต้องการผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง
ทั้งนี้ ต้นเหตุของปัญหามาจากตัวของมนุษย์เพราะในตัวของมนุษย์นั้นมีความโลภ ความเห็นแก่ตัว สิ่งเหล่านี้จึงเป็นปัจจัยทำลายความยุติธรรมให้ตายไปจากสังคม ความบริสุทธิ์ของมนุษย์จึงสำคัญกว่าความยุติธรรม ถ้ามนุษย์ไม่บริสุทธิ์ ความยุติธรรมก็ไม่เกิด
การจะทำให้มนุษย์เป็นผู้มีความบริสุทธิ์ พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ต้องประกอบไปด้วยคุณธรรม ๔ ประการ คือ หิริโอตตัปปธรรม สุกกธรรม สันติธรรม และสัปปุริสธรรม
หิริโอตตัปปธรรม
อธิบายได้เป็น ๒ ประการ หิริ หมายถึง ความละอายใจ กับการกระทำที่ไม่ดี ความชั่ว หรือความเสียหายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เช่น บุคคลใดที่มีใจรังเกียจ หรือเกลียดชังต่อการทุจริต คอร์รัปชัน คดโกง ฯ เป็นนิสัยประจำใจ ถือว่าบุคคลนั้นประกอบไปด้วยหิริอย่างแน่แท้
ส่วนคำว่า โอตตัปปะ หมายถึง ความเกรงกลัวต่อผลของการกระทำที่ไม่ดี ชั่วร้าย และทำให้เกิดความเสียหายต่างๆ
กล่าวคือ บุคคลที่มีสติปัญญาพิจารณาได้ว่าสัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม ตนเองเป็นผู้รับผลของกรรมที่ตนได้กระทำไว้จะเป็นกรรมดีหรือกรรมชั่วก็ตามถือว่าเป็นบุคคลที่ประกอบไปด้วยโอตตัปปะอย่างแน่แท้ หิริโอตตัปปธรรม จึงเป็นคุณธรรมที่รักษาใจให้มั่นคงในการกระทำที่ดีงามทั้งในที่แจ้งและที่ลับ เมื่อหิริโอตตัปปะตั้งอยู่ที่ใดแล้วก็จะส่งผลให้ศีลเกิดขึ้น ณ ที่นั้นด้วยเรียกว่าสุกกธรรม
สุกกธรรม
หมายถึง ธรรมที่ขาวบริสุทธิ์ ธรรมที่ทำให้มีจิตใจที่ผ่องแผ้ว ทำให้คนมีความประพฤติที่ขาวสะอาด
ละทุจริตคือ ทุจริตทางกาย ทุจริตทางวาจา ทุจริตทางใจ แต่ให้ตั้งมั่นในสุจริตคือ สุจริตทางกาย สุจริตทางวาจา สุจริตทางใจ เมื่อมีศีลแล้วก็จะส่งผลให้ผู้นั้นเกิดความสงบ เรียกว่าสันติธรรม
สันติธรรม
หมายถึง ความสงบ แบ่งเป็น ๒ ประการด้วยกัน
ความสงบภายนอก คือ ความสงบทางกาย สงบทางวาจา เช่น ไม่พูดให้เกิดความแตกแยกสามัคคี แต่ชักนำให้คนมีความสามัคคีปรองดอง
ส่วน ความสงบภายใน คือ ความสงบทางใจ เช่น ทำใจให้สงบจากความโลภ ความโกรธ ความหลง เครื่องมือที่จะทำให้เกิดความสงบได้คือ สติ ความระลึกได้ และสัมปชัญญะ ความรู้ตัว จะกระทำอะไรต้องมีสติสัมปชัญญะ
กล่าวคือ สตินึกคิดก่อนที่จะลงมือทำ ก่อนที่จะพูด หรือก่อนที่จะกระทำการใด ๆ ส่วนสัมปชัญญะรู้ตัวในเวลาที่กำลังทำ กำลังพูด เป็นต้น
ทั้งนี้เมื่อเกิดความสงบเกิดขึ้นแล้ว แต่มนุษย์ปุถุชนยังดำรงชีวิตอยู่ในสังคมยังเกี่ยวข้องอยู่กับโลกจึงต้องยึดถือและปฏิบัติตามหลักการของสัปปุริสธรรมในการดำเนินวิถีชีวิตหรือจะกระทำการใด ๆ
สัปปุริสธรรม
หมายถึงธรรมของสัตบุรุษ ประกอบไปด้วย ๗ ประการ
๑. รู้จักเหตุ คือ รู้เหตุแห่งความเสื่อมและความเจริญ
๒. รู้จักผล คือ จะทำจะพูดจะคิดอะไรก็เป็นไปโดยมีเหตุมีผล
๓. รู้จักตน คือ รู้จักภาวะของตนปฏิบัติให้เหมาะสมแก่ภาวะฐานะ
๔. รู้จักประมาณ คือ รู้จักความพอเหมาะพอดีในการประกอบกิจ
๕. รู้จักกาลเวลา คือ รู้จักกาลเวลาในการประกอบกิจใด ๆ
๖. รู้จักชุมชน คือ เข้าใจ เข้าถึง และรู้จักบริบทของสังคม
๗. รู้จักบุคคล คือ รู้จักจริตอัธยาศัย และความประพฤติของบุคคล
คุณธรรมทั้ง ๗ ประการที่กล่าวมานี้ หากอยู่กับบุคคลใดแล้วถือว่าเป็นสัตบุรุษ คือ เป็นคนดี จะทำการใดก็สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี พร้อมทั้งเป็นเครื่องเชิดชูสง่าราศีทั้งทางโลกและทางธรรมอย่างยิ่งยวด
อนึ่ง เมื่อบุคคลใดเป็นผู้ที่ประกอบด้วยหิริโอตตัปปะ ตั้งมั่นในสุกกธรรม ใฝ่สันติและมีสัปปุริสธรรม พร้อมด้วยคุณธรรมทั้ง ๔ ประการที่กล่าวมาถือว่าเป็นบุคคลที่ประเสริฐในหมู่มนุษย์ เป็นหนทางแห่งความบริสุทธิ์เป็นมนุสสเทโว มนุษย์ผู้เปรียบประดุจเหมือนเทวดา
ดังนั้นเมื่อมนุษย์มีการพัฒนาทางด้านจิตใจและปัญญา จะทำให้บุคคลนั้นมีความสามารถที่จะยับยั้ง ควบคุมพฤติกรรมของตนไปในทางที่เจริญ ถูกต้องชอบธรรม กฎหมายก็จะเป็นแค่เพียงเครื่องมือมาช่วยส่งเสริมเกื้อหนุนให้มนุษย์มีพฤติกรรมที่ถูกต้องดีงามเท่านั้น
แต่ถ้าจิตใจ และปัญญาของมนุษย์ไม่ได้รับการพัฒนา มนุษย์ก็จะไม่มีความสามารถที่จะยับยั้ง ชั่งใจ ควบคุมพฤติกรรมของตนเองให้ดีงามได้
แม้จะใช้วิธีการควบคุมเพียงแค่ภายนอก
ด้วยการตรากฎหมายมาควบคุม
มีบทลงโทษที่รุนแรง
กฎหมายก็จะไร้ค่าและเสื่อมด้วยตัวของมันเอง
ดังนั้นนอกจากจะบัญญัติกฎหมายเพื่อมาควบคุมพฤติกรรมของมนุษย์แล้ว กฎหมายนั้นก็ควรที่จะช่วยเกื้อหนุน ส่งเสริมให้มนุษย์ได้พัฒนาทางด้านจิตใจและปัญญาควบคู่ไปด้วย เพื่อให้มนุษย์เป็นผู้มีความบริสุทธิ์อันจะทำให้ธำรงความยุติธรรมอยู่คู่กับสังคมได้อย่างมั่นคง
ที่มาของของข้อมูล : คัดลอกเนื้อหามาจาก พระคทาวุธ คเวสกธมฺโม (เพ็งที) วิทยานิพนธ์เรื่อง “เปรียบเทียบความยุติธรรมตะวันตกกับพระพุทธศาสนาเถรวาท และกฎหมายไทย” วิทยานิพนธ์นี้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาตามหลักสูตรนิติศาสตรมหาบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) ปี ๒๕๕๗
บทความพิเศษ ตอนที่ ๑๙ “ความบริสุทธิ์ของมนุษย์ สำคัญกว่าความยุติธรรม” โดย พระใบฎีกาคทาวุธ คเวสกธมฺโม
ขอขอบคุณ ภาพจากสื่อทุกสำนัก จากอินเทอร์เน็ต