“สังคมจะหาความยุติธรรมไม่เจอ
หากมนุษย์มีอคติ ๔ และขาดพรหมวิหารธรรม”
โดย พระใบฎีกาคทาวุธ คเวสกธมฺโม
จากการศึกษาพบว่าหลักการของอคติ ๔ และ หลักการของพรหมวิหารธรรม เป็นหลักการสากลที่จะช่วยผดุงความยุติธรรม ไม่ว่าสังคมจะมีความแตกต่างกันด้านเชื้อชาติ ศาสนา แต่หากสังคมนั้นประกอบไปด้วยสองหลักการนี้ก็จะสามารถอำนวยความยุติธรรมให้กับสังคมได้อย่างแท้จริง ดังนี้
๑. อคติ ๔
กล่าวคือ ความยุติธรรมไม่เกิดขึ้นในตัวมนุษย์เพราะว่ามนุษย์คลาดเคลื่อนไปจากธรรม คือไม่เที่ยงตรงต่อธรรม จิตใจเอนเอียงเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เรียกว่ามี “อคติ ๔” ซึ่งเป็นเหตุให้มนุษย์ตายไปจากความยุติธรรม หรือความยุติธรรมจะเกิดไม่ได้เมื่อมนุษย์มีอคติ ๔ ประการดังนี้
๑) ฉันทาคติ
ไม่ลำเอียงเพราะรัก กล่าวคือ เลือกปฏิบัติด้วยเหตุที่เขาเป็นญาติพี่น้อง หรือคนรักของเรา เมื่อมีใจที่เอนเอียงเกิดขึ้นเพราะความรักก็จะทำให้ใจของเราไม่มีความเป็นกลาง และรักษาความยุติธรรมไว้ไม่ได้
๒) โทสาคติ
ไม่ลำเอียงเพราะโกรธ กล่าวคือ จะไม่เลือกปฏิบัติเพราะความเกียจ โกรธ อาฆาต พยาบาท ก็จะทำสูญเสียความยุติธรรมได้ ต้องมีจิตใจที่หนักแน่นปราศจากอคติด้วยความโกรธจึงจะธำรงความยุติธรรมให้เกิดขึ้นได้
๓) โมหาคติ
ไม่ลำเอียงเพราะหลง กล่าวคือ กระทำไปเพราะความไม่รู้หรือ ไม่มีการพิจารณาไตร่ตรองใคร่ครวญให้ดีเสียก่อน ขาดความสุขุมรอบรอบ ต้องมีสติทุกขณะจิตปัจจุบัน กระทำด้วยปัญญาที่รู้แจ้งเห็นจริงจึงจะทำให้เกิดความยุติธรรมได้
๔) ภยาคติ
ไม่ลำเอียงเพราะความกลัว กล่าวคือ กระทำลงไปเพราะหวาดกลัวต่ออำนาจมืด หรืออันตรายที่จะเกิดขึ้นกับตัวเองและครอบครัว เพื่อจะรักษาความยุติธรรมให้อยู่คู่กับสังคมต้องกระทำด้วยความกล้าหาญในสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรม
หลักของอคติ ๔ ที่กล่าวมานั้นนำมาจากคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ของประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นหลักที่ถือว่าเป็นหลักธรรมที่สอดคล้องและเป็นหนึ่งเดียวกับกฎของของธรรมชาติ ที่สำคัญเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับจิตวิญญาณของมนุษย์เป็นอย่างดี
เพราะหลักอคติ ๔ “หลักนี้เป็นหนึ่งเดียวและใช้กับมนุษย์ทุกคนโดยไม่ได้แบ่งแยกเชื้อชาติ ชาติพันธ์แต่ประการใด หลักนี้จึงมีลักษณะเป็นหลักสากล”
อนึ่ง หนทางที่จะทำให้มนุษย์ไม่ลำเอียงไปตามอคติ ๔ นั้น มนุษย์ต้องตั้งมั่นในคุณธรรมสามประการ คือ
หนึ่ง ต้องไม่มีความยึดมั่นถือมั่นในความเห็นของตน (สักยายทิฐิ)
สอง ไม่มีความลังเลสงสัยในหนทางแห่งความดี (วิจิกิจฉา)
สาม ตั้งมั่นในศีล หรือบำเพ็ญเพียรทางกาย วาจา ใจ ให้บริสุทธิ์ (สีลัพพตปรามาส)
หลักคุณธรรมทั้ง ๓ ประการที่กล่าวมานี้ถือว่าเป็นหนทางที่จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการกำจัดหรือตัดหนทางของอคติให้ตายไปจากใจของเราได้
ทั้งนี้เมื่อเราพยายามละกิเลสอย่างสม่ำเสมอทำเป็นปกติอยู่แล้ว สิ่งที่เรียกว่าอคติก็จะหมดกำลังไปในตัว แม้เราไม่ได้ระมัดระวังอคติก็จะเกิดขึ้นไม่ได้อีกเลย
เมื่อเราฝึกใจอยู่ตลอดเวลา รวมทั้งตระหนักถึงการละความเห็นแก่ตัว ละการลังเลในหนทางแห่งความดี ละการลังเลในการจะละความชั่ว ละการลังเลในการบำเพ็ญความดี และเป็นผู้ที่ไม่มีความสงสัยในกฎระเบียบข้อปฏิบัติของการบรรลุถึงความดี ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นหนทางที่จะกำจัดอคติให้ตายไปจากใจของเราได้อย่างสิ้นเชิง
เพราะหากเป็นผู้ไม่ความเห็นแก่ตัวก็สามารถป้องกันฉันทาคติและโทสาคติได้ หรือเป็นผู้ที่ไม่มีความงมงายไปตามความเชื่อหรือสิ่งยึดถือต่างๆ ที่ไม่มีเหตุ ไม่มีผลย่อมจะป้องกันภยาคติและโมหาคติได้เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม เมื่อเราปฏิบัติเช่นนี้ให้เป็นปกติของวิถีชีวิตก็ย่อมเป็นการกำจัดอคติต่าง ๆ ให้หมดสิ้นไปได้ เราจะไม่มีโอกาสที่จะพลาดพลั้งหรือเผลอตัวตกเป็นฝ่ายแพ้ต่อกิเลสได้เลย
ฉะนั้นแล้วจะเห็นได้ว่า หลักอคติ ๔ เป็นพื้นฐานที่สำคัญของมนุษย์ อันเป็นกลไกที่ทำให้มนุษย์มาอยู่รวมกันในสังคมโดยไม่คลาดเคลื่อนไปจากธรรม เที่ยงตรงต่อธรรม ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความยุติธรรมในสังคม และทำให้กลุ่มคนในสังคมสามารถดำรงชีวิตอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข
๒.พรหมวิหาร ๔
กล่าวคือ หลักการที่ประสานความสัมพันธ์ของมนุษย์ที่อยู่ร่วมกันในสังคมให้เกิดความยุติธรรม เรียกว่า พรหมวิหาร ๔หมายถึงธรรมอันประเสริฐที่เป็นหลักปฏิบัติหรือหลักความประพฤติที่ดีงาม ถูกต้อง เป็นตัวควบคุมให้มนุษย์ที่อยู่ร่วมกันปฏิบัติตาม ซึ่งจะส่งผลให้การดำเนินชีวิตขอมนุษย์นั้นสมบูรณ์ด้วยการเที่ยงตรงต่อธรรม อันจะส่งผลให้มนุษย์ได้ปฏิบัติต่อตนเองและผู้อื่นโดยเที่ยงธรรม
เพราะตามหลักพรหมวิหาร ๔ คือ “เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา หรือธรรมที่ว่าการทำตนเป็นคนที่สมบูรณ์” ความสมบูรณ์ของความเป็นมนุษย์จะทำให้ความยุติธรรมเกิดขึ้นในตัวมนุษย์ หลักพรหมวิหาร ๔ อธิบายได้ดังนี้
เมตตา หมายถึง มีความปรารถนาดีอยากให้คนอื่นมีความสุข มีจิตใจที่เป็นเต็มเปลี่ยมไปด้วยกุศลธรรม
กรุณา หมายถึง ช่วยเหลือ เกื้อกูล ปลดเปลื้องบำบัดความทุกข์ยากเดือดร้อนให้เขาพ้นทุกข์ และมีความสุข
มุทิตา หมายถึง ความยินดี มีจิตเป็นปีติ ชื่นชม เมื่อคนอื่นเขามีชีวิตที่เจริญก้าวหน้าก็พลอยยินดีกับเขา เมื่อเขามีความสุขหรือชีวิตเขาไปได้ดี
อุเบกขา หมายถึง ความวางใจให้เป็นกลาง มีจิตใจที่เที่ยงธรรมดุจตราชั่ง ไม่เอนเอียงด้วยรักและชัง จิตใจต้องตั้งมั่นให้เที่ยงต่อธรรมอยู่เสมอ
จะเห็นว่าเมื่อมนุษย์ในสังคมมาอยู่รวมกัน เป็นสังคมสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ คือการมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน พรหมวิหาร ๔ จะเป็นหลักที่ประสานใจของคนในสังคมให้รวมเป็นหนึ่งเดียว จึงสามารถแยกประเภทความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกันเองได้ ๓ สถานการณ์ด้วยกันคือ
หนึ่ง ในช่วงเวลาที่ชีวิตเขาเป็นปกติสุขดี เราก็ต้องมีจิตใจที่มีความปรารถนาดีต่อกัน เรียกว่า ความเมตตา
สอง ในช่วงเวลาที่ชีวิตเขาตกต่ำทุกข์ยากเดือนร้อน เราก็ต้องช่วยเหลือเกื้อกูลเพื่อให้เขาพ้นจากความทุกข์นั้น เรียกว่า กรุณา
สาม ในช่วงเวลาที่ชีวิตเขาสูงขึ้นมีความเจริญรุ่งเรือง ประสบผลสำเร็จในชีวิต เราก็ต้องมีจิตใจที่ชื่นชม ปีติ ยินดีกับเขา เรียกว่า มุทิตา
จาก ๓ สถานการณ์ที่กล่าวมาเป็นความสันพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกันเองเป็นหลักธรรมที่วางไว้ให้มนุษย์ปฏิบัติต่อกันกล่าวคือ เวลาที่เขาปกติก็เมตตา เวลาที่เขาลำบากหรือตกต่ำก็ต้องกรุณา และในเวลาที่เขามีชีวิตที่ดีขึ้นก็คือมุทิตา
นอกจากมนุษย์จะมีความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกันเองยังต้องมีความสัมพันธ์ต่อกฎของธรรมชาติด้วย นั้นก็คือ
สถานการณ์ที่ ๔ อุเบกขา
สถานการณ์ที่ ๔ เป็นตัวแปรที่สำคัญที่สุดที่จะรักษาความสมดุลของสังคมไว้ได้ เพราะสถานการณ์ที่ ๑-๓ เป็นความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกันเอง แต่ในเวลาเดียวมนุษย์นอกจากจะมีความสัมพันธ์ต่อกันแล้วมนุษย์ยังต้องมีความสัมพันธ์กับธรรมชาติด้วย
ดังนั้นสถานการณ์ที่ ๔ จึงเป็นกฎเกณฑ์ที่สร้างความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ กล่าวคือเมื่อมนุษย์ละเมิดต่อธรรม หรือสมควรรับผิดชอบต่อธรรม เราก็ต้องมีอุเบกขาวางใจให้เป็นกลางโดยปล่อยให้เขาต้องรับผิดชอบต่อธรรม เพื่อดำรงไว้ซึ่งความสมเหตุสมผล
ทั้งนี้เบื้องหลังของสังคมยังมีธรรมรองรับอยู่ คือหลักการแห่งความเป็นจริงไปตามกฎธรรมชาติคือ ความเป็นไปตามเหตุตามผล หรือตามเหตุตามปัจจัยทั้งหลาย เพราะมนุษย์อยู่ร่วมกันในสังคมมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันแล้ว ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้สังคมเกิดความยุติธรรมได้ ถ้าในสังคมไม่มีสถานการณ์ที่ ๔ มารองรับหรือเป็นตัวรักษาธรรมไว้ ในสังคมก็จะเกิดแต่ความอยุติธรรม และความวุ่นวายเกิดขึ้นในสังคม
ทั้งนี้จึงต้องมีสถานการณ์ที่ ๔ เพื่อเป็นตัวรักษาธรรมของสังคมไว้ เพราะในความสัมพันธ์ของมนุษย์ทั้ง ๓ สถานการณ์ที่กล่าวมาหากไปละเมิดต่อธรรมแล้ว ก็จะต้องมีอุเบกขา เป็นตัวหยุดความสัมพันธ์คือ วางใจให้เป็นกลาง วางเฉย ไม่ช่วยเหลือ ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ต้องหยุด เพื่อรักษาธรรมของสังคมไว้ แล้วถือธรรมเป็นใหญ่ และปฏิบัติต่อธรรม คือเฉยต่อคนแต่ให้เที่ยงต่อธรรม
ด้วยเหตุที่กล่าวมานี้ จึงต้องมีสถานการณ์ที่ ๔ คืออุเบกขาไว้เป็นเครื่องมือควบคุมความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ อันจะส่งผลให้ชีวิตของมนุษย์ได้รับสิ่งดีงามและธำรงความยุติธรรมไว้ในสังคมได้ อุเบกขา คือจึงเป็นตัวแปรที่สำคัญทำให้เกิดดุลยภาพในจิตใจของมนุษย์ได้ และก็จะช่วยทำให้เกิดผลภายนอก ๓ ประการด้วยกันดังนี้
๑) ช่วยรักษาบุคคล
กล่าวคือช่วยสร้างโอกาสให้มนุษย์ได้รู้จักมีความรับผิดชอบต่อเหตุหรือผลตามความเป็นจริงของชีวิต เช่น พ่อแม่ช่วยดูแลให้ลูกของตนทำการงานบ้าง จะเป็นการช่วยฝึกให้ลูกได้มีการพัฒนาทักษะชีวิต และสามารดำรงชีวิตโดยพึ่งตนเองได้
๒) ช่วยรักษาสังคม
กล่าวคือ ให้ทุกอย่างเป็นไปตามกฎเกณฑ์ของสังคมที่มีกติกาที่วางไว้โดยให้ทุกคนต้องปฏิบัติตาม เพื่อให้ทุกคนมีสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคอย่างเท่าเทียมกัน เช่น ใครทำผิดตามกติกาของสังคม ก็ต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของตัวเอง
๓) ช่วยรักษาธรรม
กล่าวคือ เมื่อมีการทำให้ทุกคนปฏิบัติตาม ก็จะไม่ใครล่วงละเมิดธรรมหรือกฎกติกาของสังคม อันจะธำรงไว้ซึ่งความถูกต้อง ชอบธรรม หรือความสมเหตุสมผล
อย่างไรก็ตาม อุเบกขา จึงเป็นตัวที่ทำให้เกิดดุลยภาพในจิตใจของมนุษย์รวมถึงทำให้เกิดดุลยภาพในสังคมมนุษย์ด้วย เพราะทำให้มนุษย์อยู่ในสังคมบนฐานของความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ช่วยเหลือเกื้อกูล และมีตัวอุเบกขาคอยเป็นเครื่องมือควบคุมความถูกต้องและความสมเหตุสมอันจะทำให้มนุษย์กับธรรมมีความกลมกลืนเกิดความสมดุลขึ้น เพื่อรักษาธรรมไว้ให้อยู่คู่กับสังคมอยู่ตลอดเวลา
ที่มาของของข้อมูล : คัดลอกเนื้อหามาจาก พระคทาวุธ คเวสกธมฺโม (เพ็งที) วิทยานิพนธ์เรื่อง “เปรียบเทียบความยุติธรรมตะวันตกกับพระพุทธศาสนาเถรวาท และกฎหมายไทย” วิทยานิพนธ์นี้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาตามหลักสูตรนิติศาสตรมหาบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) ปี ๒๕๕๗
ป.ล. เรื่องพรหมวิหารธรรม อ่านเพิ่มเติมได้ในหนังสือ “นิติศาสตร์แนวพุทธ” โดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ปัจจุบันคือ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ เพราะวิทยานิพนธ์ได้ค้นคว้ามาจากเรื่องนี้
บทความพิเศษ ตอนที่ ๑๘