ในบทความก่อนหน้านี้อาตมาอธิบายให้ทุกท่านเห็นภาพชัดแล้วว่าการทำงานขององค์กรสงฆ์ที่เกิดจากมหาเถรสมาคมอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ในการออกคำสั่ง มีมติ หรือประกาศให้มีหน่วยงานเพื่อขับเคลื่อนงานพระศาสนาเฉพาะกิจในแต่ละด้าน 

           เช่น สำนักงานแม่กองบาลีสนามหลวง วัดปากน้ำ มีภารกิจด้านการศึกษาบาลีของคณะสงฆ์, สำนักงานแม่กองธรรมสนามหลวง วัดบวรนิเวศวิหาร ภารกิจด้านนักธรรมและธรรมศึกษาของคณะสงฆ์, สำนักงานกำกับดูและพระธรรมทูตไปต่างประเทศ ภารกิจด้านการเผยแผ่ในต่างประเทศของคณะสงฆ์ และสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์  ภารกิจด้านการเผยแผ่เชิงรุกของคณะสงฆ์ ทั้ง ๒ หน่วยงานของคณะสงฆ์มีสำนักงานตั้งอยู่ที่วัดสระเกศ สำนักงานทั้งหมดที่กล่าวมามีสถานะเหมือนกัน และได้รับงบอุดหนุนจากหน่วยงานของรัฐเช่นกัน

           สำหรับสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม ฯ เป็นหน่วยงานเผยแผ่เชิงรุกตามกฎหมาย เพียงแห่งเดียวของคณะสงฆ์ไทย แต่มีคนบางกลุ่มเข้าใจผิดในเรื่องข้อกฎหมายในทางปฏิบัติของสำนักงานแห่งนี้  เพราะมีการตีรวนและใช้เทคนิคทางกฎหมาย หรือมีการจับแพะชนแกะเกิดขึ้น  ดังนั้นเพื่อให้เกิดความกระจ่างในประเด็นต่างๆ อาตมาจะอธิบายให้เห็นภาพชัดเจน ดังนี้

         ประเด็นที่หนึ่ง “สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมฯ ไม่ได้อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติคณะสงฆ์”

กล่าวคือ สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมฯ เกิดขึ้นจากคำสั่ง และมติของมหาเถรสมาคม ตามมาตรา ๑๕ ตรี (๓) และวรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ ให้เป็นหน่วยงานของคณะสงฆ์ในการสนับสนุนในการดำเนินภารกิจด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนาเชิงรุก สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมฯ จึงเป็นหน่วยงานที่สนองงานคณะสงฆ์ตามคำสั่งของมหาเถรสมาคม

           ซึ่งจะต่างไปจากบริบทของเจ้าอาวาส และวัด ที่ต้องอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ เพราะได้มีการบัญญัติเรื่องบทบาท อำนาจ หน้าที่ สถานะ และความรับผิดชอบของเจ้าอาวาสกับวัดไว้ในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ไว้อย่างชัดเจน

           ดังนั้น จะนำบทบัญญัติในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์มาบังคับใช้กับสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมฯ ไม่ได้ จะมีแต่เพียงมติ คำสั่ง หรือประกาศ ต่าง ๆ ของมหาเถรสมาคมนำมาบังคับใช้กับสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมฯ ได้ เพราะสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมฯ อยู่ภายใต้มหาเถรสมาคมเท่านั้น

         ประเด็นที่สอง “ผู้บริหารสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมฯ ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐ”

ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ได้บัญญัติให้เจ้าอาวาสเป็นเจ้าพนักงาน แต่ก็เป็นเจ้าพนักงานในลักษณะพิเศษ หน้าที่ ความรับผิดชอบ และบริบทจะต่างไปจากเจ้าพนักงานตาม ปอ.มาตรา ๑๕๗  ซึ่งในประเด็นนี้อธิบายในบทความที่ผ่านมาชัดเจนแล้ว

           สำหรับผู้บริหารสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมฯ ไม่ได้มีสถานะเป็นเจ้าพนักงาน และไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐ เห็นได้อย่างชัดเจนตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๗๕๔๐/๒๕๕๔ เพราะผู้บริหารสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมฯ เกิดขึ้นจากคำสั่ง หรือมติของมหาเถรสมาคม มีสถานะเป็นเพียงพระภิกษุที่มาร่วมตัวกันตามคำสั่ง มติของมหาเถรสมาคม ในรูปแบบของคณะกรรมการเพื่อขับเคลื่อนและสนองงานให้กับมหาเถรสมาคมเท่านั้น

พระธรรมโกศาจารย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย  ร่วมพิธีเปิดสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมฯ
พระธรรมโกศาจารย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
ร่วมพิธีเปิดสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมฯ

           ในประเด็นนี้เมื่อผู้บริหารของสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมฯ ไม่ได้ปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ ความรับผิดชอบของเจ้าอาวาส ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมาวินิจฉัยอีกแล้วว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือเจ้าพนักงานหรือไม่

           การที่มหาเถรสมาคมอาศัยอำนาจตามมาตรา ๑๓ ตรี (๒) และวรรคสอง มีคำสั่ง และมติ ให้พระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งหรือคณะกรรมการเพื่อให้สนองงานคณะสงฆ์เฉพาะกิจ กรณีของการก่อตั้งสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมฯ 

           ได้มีคำสั่งจัดตั้ง “โครงการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์” ประกาศเมื่อวันที่ ๑ เดือน ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๑ ลงนามโดยประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ที่ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะประธานกรรมการมหาเถรสมาคม ซึ่งเป็นองค์กรการปกครองสูงสุดของคณะสงฆ์ไทยตามมาตรา ๘ ประกอบกับมาตรา ๙

พระธรรมวโรดม วัดทินกรนิมิตร ประธานกรรมการโครงการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมฯ
พระธรรมวโรดม วัดทินกรนิมิตร ประธานกรรมการโครงการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมฯ
พระครูสุวิธานพัฒนบัณฑิต วัดธาตุ พระอารามหลวง (มจร.ขอนแก่น) จังหวัดขอนแก่น ประธานศูนย์ส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมฯ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน
พระครูสุวิธานพัฒนบัณฑิต วัดธาตุ พระอารามหลวง (มจร.ขอนแก่น) จังหวัดขอนแก่น
ประธานศูนย์ส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมฯ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน
พระเทพสุธี วัดไตรธรรมาราม จังหวัดสุราษฎร์ธานี ประธานศูนย์ส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมฯ ภาคใต้
พระเทพสุธี วัดไตรธรรมาราม จังหวัดสุราษฎร์ธานี ประธานศูนย์ส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมฯ ภาคใต้
พระเทพวรสิทธาจารย์ วัดพระธาตุดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ ประธานศูนย์ส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมฯ ภาคเหนือ
พระเทพวรสิทธาจารย์ วัดพระธาตุดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ ประธานศูนย์ส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมฯ ภาคเหนือ

           โดยให้มีคณะกรรมการ เช่น ๑) พระธรรมวโรดม วัดทินกรนิมิต จังหวัดนนทบุรี เป็นประธานกรรมการ ๒) พระเทพวงศาจารย์ วัดหนองแวง จังหวัดขอนแก่น เป็นรองประธานกรรมการ ๓) พระเทพสุธี วัดไตรธรรมาราม จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นกรรมการ ๔) พระเทพวรสิทธาจารย์ วัดพระธาตุดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นกรรมการ ฯ พระราชปัญญาโสภณ วัดสระเกศ กรุเทพมหานคร เป็นกรรมการและเลขานุการ พระครูสังฆวินัย วัดมหาธาตุ กรุงเทพมหานคร เป็นผู้ช่วยเลขานุการ

 พระครูปลัดสุวัฒนธีรคุณ (พระราชกิจจาภรณ์,เทอด วงศ์ชะอุ่ม)   และ  พระครูปลัดสัมพิพัฒนธุตาจารย์ (พระราชอุปเสณาภรณ์ ,สังคม สังฆพัฒน์)
พระครูปลัดสุวัฒนธีรคุณ (พระราชกิจจาภรณ์,เทอด วงศ์ชะอุ่ม)
และ พระครูปลัดสัมพิพัฒนธุตาจารย์ (พระราชอุปเสณาภรณ์ ,สังคม สังฆพัฒน์)

           และมีพระครูปลัดสัมพิพัฒนธุตาจารย์ (พระราชอุปเสณาภรณ์ ,สังคม สังฆพัฒน์) วัดสระเกศ กรุเทพมหานคร, พระครูปลัดสุวัฒนธีรคุณ (พระราชกิจจาภรณ์,เทอด วงศ์ชะอุ่ม) วัดสระเกศ กรุเทพมหานคร ทั้งสองรูปเป็นผู้ช่วยเลขานุการ และกำลังรับเคราะห์กรรมมาจากสาเหตุที่มหาเถรสมาคมขอใช้สถานที่วัดสระเกศตั้งสำนักงานส่วนกลางของสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมฯ

         จะเห็นได้ว่า ตามประกาศของประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชนี้ มีพระมาจากวัดต่างๆ เป็นกรรมการ ซึ่งท่านเหล่านั้น ล้วนมีหน้าที่บริหารวัดของตน ๆ อยู่แล้ว จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะมาบริหารวัดสระเกศ อีกวัดหนึ่ง แต่ที่ต้องมาบริหารโครงการนี้ ก็เพราะคำสั่งประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ที่ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะประธานกรรมการมหาเถรสมาคม

พระราชญาณวิสิฐ วัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม จังหวัดราชบุรี ประธานศูนย์ส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมฯ ภาคกลาง
พระราชญาณวิสิฐ วัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม จังหวัดราชบุรี
ประธานศูนย์ส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมฯ ภาคกลาง
พระมหาวิมาน กนฺตสีโล วัดปากน้ำ(บุ่งสระพัง) จังหวัดอุบลราชธานี ประธานศูนย์ส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมฯ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง
พระมหาวิมาน กนฺตสีโล วัดปากน้ำ(บุ่งสระพัง) จังหวัดอุบลราชธานี
ประธานศูนย์ส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมฯ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง

           และสาเหตุที่มีกรรมการที่แต่งตั้งมาจากหลายวัด หลายจังหวัด เพราะมหาเถรสมาคมเห็นสมควรว่าท่านเหมาะสม และมีความสามารถกับหน้าที่เฉพาะกิจนั้น ไม่ได้มาปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเจ้าอาวาส แต่มาปฏิบัติหน้าที่ในฐานะพระภิกษุรูปหนึ่ง เพื่อมาเป็นคณะกรรมการโครงการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ ตามคำสั่งของมหาเถรสมาคมเท่านั้น

           ข้อสังเกตประเด็นนี้คือ แม้สถานะเป็นเจ้าอาวาส แต่จะนำมาตีรวมว่ามาปฏิบัติงานเป็นผู้บริหารสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมฯ ในฐานะเจ้าอาวาสไม่ได้

         เพราะเป็นผู้บริหารหรือปฏิบัติงานในสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมฯ ไม่ได้ปฏิบัติงานในฐานะเจ้าอาวาสที่อาศัยอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ แต่ท่านมาเป็นผู้บริหาร และปฏิบัติงาน ในฐานะพระภิกษุรูปหนึ่ง ตามคำสั่ง และมติของมหาเถรสมาคมเท่านั้น ซึ่งเห็นชัดเจนได้ทั้งในทางพฤตินัยและนิตินัย

         ในทางพฤตินัย เจ้าอาวาสก็จะบริหารงานดูแลพระภิกษุ ลูกศิษย์ เพียงแต่ในขอบเขตของวัดเท่านั้น แต่มาปฏิบัติหน้าที่ในสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมฯ ท่านต้องบริหารงานและดูแลงานด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของคณะสงฆ์เชิงรุกทั่วประเทศ      

         ในทางนิตินัย คำสั่งแต่งตั้งเจ้าอาวาส และคำสั่งแต่งตั้งเป็นกรรมการสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมฯ ก็เป็นคำสั่งคนละคำสั่ง และอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบของเจ้าอาวาสก็เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์และอยู่ภายในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ส่วนเป็นกรรมการสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม อำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบเป็นไปตามคำสั่ง และมติของมหาเถรสมาคม และอยู่ภายใต้ของมหาเถรสมาคมเท่านั้น

         ประเด็นที่สาม “สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมฯ ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของวัด”  

ในเรื่องหน่วยงานของคณะสงฆ์ที่ไปตั้งตามวัดต่าง ๆ อาตมาได้อธิบายอย่างระเอียดแล้วในบทความเรื่อง “กฎหมายฝ่ายอาณาจักร ทำอย่างไรจึงจะสอดคล้องกับฝ่ายศาสนจักร”  

         เช่น สำนักงานแม่กองบาลีสนามหลวง มีหน่วยงานกลางตั้งที่วัดปากน้ำ, สำนักงานแม่กองธรรมสนามหลวง มีหน่วยงานกลางตั้งที่วัดบวรนิเวศวิหาร ซึ่งหน่วยงานของคณะสงฆ์ที่กล่าวมานี้ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของวัด เพียงแต่ไปยืมสถานที่ อาคาร ตามวัดเพื่อตั้งสำนักงาน

           สำหรับคำสั่งประกาศจัดตั้งโครงการสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมฯ จะพบว่าในโครงการ ก็ยังไม่ระบุที่ตั้งสำนักงาน เพียงแต่ระบุว่า ให้มีสำนักงานชื่อว่า “สำนักงานส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์” ซึ่งสถานที่ตั้งสำนักงานก็เป็นหน้าที่ของคณะกรรมจะเป็นผู้พิจารณาแสวงหาตามความเหมาะสม จึงได้ขออนุเคราะห์มายังวัดสระเกศ เพื่อขอใช้อาคารเฉลิมพระเกียรติฯ เป็นสำนักงานปฏิบัติงาน และได้ทำพิธีเปิดป้ายสำนักงาน ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๒

         และในวันทำพิธีเปิดป้ายสำนักงานได้มีบุคคลสำคัญ ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองหลายท่านมาร่วมเป็นสักขีพยานด้วย อาทิเช่น ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ รองผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และข้าราชการในสังกัดสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ในขณะนั้น ก็มาร่วมในพิธีเปิดกันอย่างถ้วนหน้า

         ในขณะเดียวกันแม้แต่เลขานุการกองทัพบก ผู้ช่วยเลขานุการกองทัพบก ก็มาร่วมในพิธีเปิดด้วย ในฐานะที่โครงการนี้ เป็นโครงการสำคัญเพื่อความมั่นคงแห่งสถาบันหลักของชาติ

         อนึ่ง ในการเดินทางไปปฏิบัติศาสนกิจมอบเกียรติบัตร แก่ผู้ผ่านการอบรมตามโครงการ กองทัพบก ก็ได้จัดเครื่องบินถวายความสะดวก แก่ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชด้วย เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับความมั่นคงของสถาบันหลักของชาติ

         นอกจากนั้น ก็มีโรงเรียนต่าง ๆ และมหาวิทยาลัยต่าง ๆ มาร่วมจัดกิจกรรมส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมในวันนั้น มีการจัดนิทรรศการเกี่ยวกับพระราชดำรัสของมหากษัตริย์ไทย ทั้งแต่รัชกาลที่ ๑ ถึงรัชกาลที่ ๙ ที่ทรงมีต่อพระพุทธศาสนา

         ดังนั้น การที่มีสำนักงานหรือหน่วยงานของคณะสงฆ์ไปตั้งตามวัดต่าง ๆ หาใช่เป็นส่วนหนึ่งของวัด กล่าวคือ เป็นคนละส่วนกับวัด ต้องแยกออกจากกัน เพียงแต่คณะสงฆ์ หรือมหาเถรสมาคม ขอความอนุเคราะห์ด้านสถานที่ของวัด ๆ นั้นเพื่อตั้งเป็นสำนักงานให้กับคณะสงฆ์เท่านั้น

           ข้อสังเกตประเด็นนี้ แม้จะมีพระภิกษุสังกัดวัดที่หน่วยงานของคณะสงฆ์ตั้งเป็นสำนักงานกลาง ก็ไม่เป็นเหตุที่จะยกมาอ้างว่าสำนักงานกับวัดเป็นส่วนเดียวกันได้เพราะฟังไม่ขึ้น เนื่องจากมหาเถรสมาคมเห็นว่าพระภิกษุรูปใด รูปหนึ่ง ตามมาตรา ๑๓ ตรี (๓) และวรรคสอง มีความรู้ความ ความสามารถเหมาะสมกับภารกิจที่มหาเถรสมาคมจะให้ดำเนินการเป็นเฉพาะกิจก็จะแต่งตั้งรูปนั้น แต่ควรมองว่าหากรูปไหนได้รับการแต่งตั้งให้สนองงานพระศาสนาเฉพาะกิจ พระภิกษุรูปนั้นคือบุคลากรที่มีคุณภาพของคณะสงฆ์มากกว่า

         ประเด็นที่สี่สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมฯ ทำงานเฉพาะกิจ ตามคำสั่งของมหาเถรสมาคม”

เมื่อพิจารณาจากคำสั่งจัดตั้งคณะกรรมการ และสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม ฯ ลงนามโดย ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ประกาศเมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๑ ที่ว่า   

           “โดยที่ประเทศไทย เจริญมั่นคงมาได้ จนถึงปัจจุบัน (พุทธศักราช ๒๕๕๑) เพราะประชาชนในชาติ มีคุณธรรม จริยธรรม อันเนื่องมาแต่พระศาสนา จึงต้องส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคง แห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ เพื่อให้ประเทศไทย เจริญมั่นคง ตลอดไป สิ้นกาลนาน..”

         “…ให้คณะกรรมการ กำหนดหลักการ และวิธีการ ในการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์…”

         “…ให้เริ่มดำเนินการส่งเสริมฯ ตามหลักการ และวิธีการ ตั้งแต่วันที่ ๑ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๕๑ เป็นต้นไป อันเป็นเดือนมหามงคล วันเฉลิมพระชนมพรรษา แห่งสมเด็จบรมบพิตร พระราชสมภารเจ้า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ”

           จะเห็นว่าการเกิดขึ้นของคณะกรรมการ และสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมฯ ก็เพื่อขับเคลื่อนงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา ส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม ให้เข้าถึงจิตใจของประชาชน เพื่อจะให้เกิดความมั่นคงต่อสถาบันหลักคือ ชาติ พระศาสนา และพระมหากษัตริย์

           ดังนั้น คณะกรรมการที่เป็นตัวแทนของคณะสงฆ์ได้รับแต่งตั้งจากมหาเถรสมาคม จึงมีหน้าที่เฉพาะกิจเพื่อขับเคลื่อนงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาทั่วสังฆมณฑลให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของมหาเถรสมาคม

ข้อสังเกตประการสุดท้ายของตอนนี้คือ แม้ว่าพระราชบัญญัติคณะสงฆ์จะบัญญัติให้เจ้าอาวาสเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย แต่ก็เป็นเจ้าพนักงานในลักษณะพิเศษและแตกต่างไปจากเจ้าพนักงานตามความหมายของอาณาจักรซึ่งได้อธิบายมาในบทความก่อนหน้านี้ชัดเจนแล้ว

         การที่มีบทบัญญัตินี้ในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ก็หาทำให้พระต้องกลายเป็นข้าราชการ หรือเจ้าพนักงานของรัฐที่ต้องอยู่ภายใต้อาณาจักรไม่ เพราะอาณาจักร และ ศาสนจักร ต้องแยกออกจากกันโดยเด็ดขาด เพียงแต่อาณาจักรมีหน้าที่อุปถัมภ์ สนับสนุนส่งเสริมพระพุทธศาสนาเท่านั้น

         ฉะนั้นแล้ว พระราชบัญญัติคณะสงฆ์มีเจตนารมณ์เดียวเท่านั้น คือ เพื่อเกื้อหนุนพระธรรมวินัย และอุปถัมภ์ ส่งเสริม สนับสนุนงานของพระศาสนา ให้พระสงฆ์อยู่แบบพระและทำงานเผยแผ่พระศาสนาได้สะดวกเท่านั้น แต่ก็มีผู้พยายามตีความบิดเบือนเจตนามรณ์ของพระราชบัญญัติคณะสงฆ์นี้ เพื่อให้พระกลายเป็นข้าราชการหรือพนักงานของรัฐให้ได้

บทความพิเศษ ตอนที่ ๑๔

“สนง.ส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม ฯ ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของวัด และผู้บริหารก็ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐ

โดย พระใบฎีกาคทาวุธ คเวสกธมฺโม

บทความพิเศษ ตอนที่ ๑๑ กฎหมายฝ่ายอาณาจักร ทำอย่างไรจึงจะสอดคล้องและสร้างความเป็นธรรม ให้กับฝ่ายศาสนจักร โดย พระใบฎีกาคทาวุธ คเวสกธมฺโม
พระใบฎีกาคทาวุธ คเวสกธมฺโม ผู้เขียน

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here