จิรํ ติฏฺฐตุ พุทธสาสนํ ฯ
ขอพระพุทธศาสนาจงดำรงอยู่ตลอดกาลนาน
ญาณวชิระ
ทำไม…ลูกผู้ชายต้องบวช (ตอนที่ ๒๑)
บรรพ์ที่ ๔ ขั้นตอนการบรรพชา และ อุปสมบท
(๔) “พญานาคแปลงกายเป็นมนุษย์ขอบวช”
ความเชื่อพื้นฐาน คำว่า “นาค” ในปัจจุบัน
โดย ญาณวชิระ
คราวหนึ่ง พญานาคตัวหนึ่งอึดอัด ระอา เกลียดการเกิดเป็นนาคของตน คิดว่าทำอย่างไรจึงจะพ้นจากกำเนิดนาค และสามารถเกิดเป็นมนุษย์ได้เร็วขึ้น แล้วคิดต่อไปว่า พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรเป็นผู้ประพฤติธรรม ประพฤติสงบ ประพฤติพรหมจรรย์ กล่าวแต่คำสัตย์ มีศีล มีกัลยาณธรรม หากได้บวชในสำนักพระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตร ก็จะสามารถพ้นจากการเกิดเป็นนาคและเกิดเป็นมนุษย์ได้เร็วขึ้น
เมื่อพญานาคคิดอย่างนี้จึงแปลงกายเป็นชายหนุ่ม เข้าไปหาพระภิกษุทั้งหลายขอบวช พระภิกษุทั้งหลายจึงให้เขาบรรพชาอุปสมบท
พระนาคนั้นพักอยู่ในวิหารท้ายวัดกับพระภิกษุรูปหนึ่ง ครั้นใกล้สว่าง พระภิกษุรูปนั้นตื่นนอนแล้วออกไปเดินจงกรมอยู่ด้านนอก พอพระภิกษุรูปนั้นออกไปแล้ว พระนาคนั้นก็วางใจเผลอจำวัดได้กลายร่างกลับเป็นพญานาค วิหารทั้งหลังเต็มไปด้วยงูใหญ่ ขนดหางยื่นออกไปทางหน้าต่าง
ครั้นพระภิกษุรูปนั้นผลักบานประตูเข้าไปด้วยตั้งใจจักเข้าวิหารได้เห็นวิหารทั้งหลังเต็มไปด้วยงู ก็ตกใจร้องเอะอะขึ้น พระภิกษุทั้งหลายพากันวิ่งเข้าไปแล้วได้ถามพระภิกษุรูปนั้นว่า ร้องเอะอะไปทำไม พระภิกษุรูปนั้นบอกว่า วิหารนี้ทั้งหลังเต็มไปด้วยงูใหญ่
ขณะนั้น พระนาครู้สึกตัวตื่นขึ้นเพราะเสียงเอะอะนั้น แล้วนั่งอยู่บนอาสนะของตน ภิกษุทั้งหลายจึงถามว่า ท่านเป็นใคร ภิกษุนาคตอบว่า ผมเป็นนาค
พระภิกษุทั้งหลายถามว่า ทำเช่นนี้เพื่ออะไร พระภิกษุนาคนั้นจึงบอกให้พระภิกษุทั้งหลายทราบว่า ตนอึดอัด ระอา เบื่อหน่ายในการเกิดเป็นนาค จึงคิดว่าหากได้บวชเป็นพระภิกษุ ในสำนัก
พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรก็จะสามารถกลับมาเกิดเป็นมนุษย์ได้เร็วขึ้น พระภิกษุทั้งหลายได้กราบทูลแด่พระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ ได้ทรงประทานพระพุทธโอวาทสอนนาคนั้นว่า พวกเจ้าเป็นนาคมีความไม่งอกงามในธรรมวินัยนี้เป็นธรรมดา ไปเถิดเจ้านาค จงไปรักษาอุโบสถศีลในวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และ ๘ ค่ำ แห่งปักษ์นั้น แหละด้วยวิธีนี้ เจ้าจักพ้นจากกำเนิดนาค และจะได้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์เร็วพลัน
ครั้นนาคนั้นได้ทราบว่า ตนมีความไม่งอกงามในพระธรรมวินัยนี้เป็นธรรมดา ก็เสียอกเสียใจ ร้องไห้สะอึกสะอื้นน้ำตานองหน้า เดินจากไป พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งภิกษุทั้งหลายว่า
“ภิกษุทั้งหลาย สาเหตุที่จะทำให้นาคกลับสู่สภาพร่างนาคตามเดิม มี ๒ ประการ คือ เวลานาคเสพเมถุนธรรมกับนางนาค ผู้มีชาติเสมอกัน ๑ เวลาวางใจเผลอสตินอนหลับ ๑ ภิกษุทั้งหลาย สาเหตุที่จะทำให้นาคกลับสู่สภาพร่างนาคตามเดิม มี ๒ ประการนี้แล
ภิกษุทั้งหลาย อนุปสัมบัน ( หมายถึง ผู้ที่ไม่ใช่พระภิกษุ) คือ สัตว์ดิรัจฉาน ภิกษุไม่พึงให้อุปสมบท ที่อุปสมบทแล้วต้องให้สึกเสีย”
เนื้อความในพระไตรปิฎกจบแต่เพียงเท่านี้ ต่อมาบัณฑิตรุ่นหลังนิยมเรียกผู้จะบวชว่า “นาค” ตามเรื่องราวของนาคตนนี้ที่ปรากฏในพระไตรปิฎก เพื่อเป็นการระลึกถึงศรัทธาอันแรงกล้าของนาค ซึ่งแม้จะเป็นสัตว์เดรัจฉาน แต่ก็ยังปรารถนาที่จะบวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา จนถึงกลับจำแลงเป็นมนุษย์มาขอบวช
นอกจากนั้น ท่านยังเล่าความเสริมต่อไปว่า เมื่อพระพุทธองค์ให้นาคสึกนั้น นาคเสียใจเป็นอย่างมาก จนถึงกับหลั่งน้ำตาเพราะความน้อยเนื้อต่ำใจว่าตนไม่ได้เกิดเป็นมนุษย์ จึงขอร้องให้หมู่พระภิกษุเรียกผู้ที่จะบวชเป็นพระว่า “นาค” เพื่อให้ระลึกถึงตน และชื่อของตนจะได้ปรากฏอยู่ชั่วกาลนาน
การที่เราเรียกสัตว์เลื้อยคลานจำพวกพญางู ซึ่งถือกันว่าเป็นสัตว์เดรัจฉานกึ่งเทพ ว่าเป็น “พญานาค” เนื่องมาจากสัตว์จำพวกนี้แม้จะเป็นสัตว์เดรัจฉานแต่ก็แสวงหาคุณอันประเสริฐ
(โปรดติดตามตอนต่อไป)
ญาณวชิระ เป็นนามปากกาของ ท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น ท่านเขียนหนังสือธรรมะมากมาย แต่ละเล่มล้วนเต็มไปด้วยสารัตถะแห่งธรรมที่เข้าใจง่าย และนำมาปฏิบัติแก้ทุกข์ได้ในชีวิตประจำวัน อาทิ หนังสือทำวัตรสวดมนต์แปล ฉบับ คณะสงฆ์วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร , หลักแห่งการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน , พุทธานุภาพ อานุภาพของพระพุทธองค์ , มหาสมัยสูตร ,การ์ตูนแอนนิเมชั่น เรื่อง ปาฏิหาริย์พระบรมสารีริกธาตุ ,ทฤษฎีเบื้องต้นแห่งปรัชญาไทย, ประทีปแห่งแม่น้ำมูล , ทศชาติ ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง ,ตำนานภูเขาทอง , ลูกผู้ชายต้องบวช , สมาธิเบื้องต้นสำหรับชาวบ้าน ,หนึ่งหน้าประวัติศาสตร์แห่งการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ,บามิยัน ดินแดนแห่งประวัติศาสตร์อันรุ่งเรือง และมืดมนยาวนานแห่งพระพุทธศาสนา, สุวรรณบรรพต สยามพุทธศิลป์ , พุทธชยันตี ๒,๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า และ ความเป็นมาของพระอภิธรรม เป็นต้น
หนังสือ “ลูกผู้ชายต้องบวช” โดย ญาณวชิระ จัดพิมพ์เป็นธรรมทานโดย สถาบันพัฒนาพระวิทยากร วัดสระเกศ / ที่ปรึกษา : พระเทพรัตนมุนี , พระครูอมรโฆสิต (ปรีชา สาเส็ง) และพระมหาธีระศักดิ์ ธีรปญฺโญ /บรรณาธิการ โดย พระมหาขวัญชัย กิตติเมธี และ มนสิกุล โอวาทเภสัชช์ / ภาพถ่ายโดย พระมหาปฐมพงษ์ ญาณวํโส ภาพวาดประกอบโดย หมอนไม้ / แบบปก – รูปเล่ม โดย พระมหาเดชา ปญฺญาคโม และ พระมหาสมบัติ ภูริปญฺโญ / ภาพปกโดย ศิลปิน พีร์ ขุนจิตกร/ ผู้อุปถัมภ์การจัดพิมพ์ บริษัท โตโยต้าบัสส์ จำกัด / ขอรับหนังสือได้ฟรีที่ศาลาหลวงพ่อดวงดี วัดสระเกศ จนกว่าหนังสือจะหมด