ขุนเขาย่อมมีวันทลาย
สายน้ำย่อมมีวันเปลี่ยนทาง
แต่ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง
ญาณวชิระ
สำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมกับ บริษัท เมืองโบราณ จำกัด และบริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) จัดทำหนังสือ “ทศชาติ ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง” ฉบับ ญาณวชิระ เพื่อเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๙๐ พรรษา ๑๒ สิงหาคม ๒๕๖๕
พระวิธูรบัณฑิต
สัจจะมหาบุรุษเหนือชีวิต
“ข้าราชการ ไม่ควรตั้งบุตร ธิดา
พี่น้อง หรือเครือญาติ ผู้ไม่ตั้งอยู่ในศีล
ให้ดำรงตำแหน่งที่สำคัญ
เพราะคนเหล่านั้น เป็นคนพาล”
วิธูรบัณฑิตเป็นชาดกที่พระพุทธเจ้าตรัสเล่าถึงเรื่องราวในอดีตชาติของพระองค์ เมื่อครั้งเกิดเป็นบัณฑิตผู้ใช้คมปัญญารักษาตน ให้รอดพ้นจากความตาย หักล้างวาทะที่ไม่จริง ด้วยความจริง ทรงมีปณิธานที่จะบำเพ็ญ “สัจจบารมี”
วิธูรบัณฑิต ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก มหานิบาต และอรรถกถา ขุททกนิกาย ชาดก มหานิบาต
ขณะตรัสเล่าเรื่องวิธูรบัณฑิตนั้น พระพุทธองค์ประทับอยู่ที่พระเชตวันมหาวิหาร อารามที่ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ซื้ออุทยานของพระกุมารพระนามว่า “เชต” สร้างถวายพระพุทธองค์
วันหนึ่ง พวกภิกษุสนทนากันที่โรงธรรมสภาว่า “ท่านทั้งหลาย น่าอัศจรรย์ใจยิ่งนัก พระบรมศาสดา ทรงมีพระปัญญามาก มีพระปัญญาเฉียบแหลม ทรงตอบโต้คำของคนอื่น ตอบปัญหาลึกซึ้ง ที่กษัตริย์ และพวกบัณฑิตถาม ด้วยกำลังแห่งปัญญาของพระองค์ ให้เขาเหล่านั้น สิ้นพยศ แล้วให้ตั้งอยู่ในสรณะ และศีล ให้ดำเนินไปตามหนทาง อันจะทำให้บรรลุพระนิพพาน”
พระบรมศาสดาเสด็จมาตรัสถามว่า “พวกเธอนั่งสนทนาเรื่องอะไรกัน” เมื่อภิกษุเหล่านั้น กราบทูลให้ทรงทราบ จึงตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย การที่ตถาคตได้บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว สามารถแก้คำพูดที่คนอื่นกล่าวให้ร้าย และแนะนำชนทั้งหลายได้เช่นนี้ ไม่ใช่เรื่องน่าอัศจรรย์ เพราะว่า แม้เมื่อตถาคตยังไม่ได้ตรัสรู้ กำลังแสวงหาหนทางที่จะได้บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณในชาติก่อน ก็มีปัญญา แก้ข้อกล่าวหาที่คนอื่นกล่าวให้ร้ายได้เหมือนกัน ในกาลที่ตถาคตเกิดเป็นวิธูรบัณฑิต ตถาคตทรมานยักษ์เสนาบดีนามว่า “ปุณณกะ” ด้วยกำลังญาณ บนยอดเขา กาฬคิรีบรรพต ทำให้หมดพยศ ให้ตั้งอยู่ในศีล ๕ จนยอมมอบชีวิตให้ตถาคต” ครั้นตรัสแล้วก็ทรงนิ่งโดยดุษณีภาพ พวกภิกษุกราบทูลอาราธนา จึงทรงนำเรื่องในอดีตชาติ มาตรัสให้หมู่ภิกษุทั้งหลายฟัง
เจตนารมณ์แห่งอดีต
พระราชาทรงพระนามว่า “ธนัญชัยโกรัพยราช” ทรงครองราชสมบัติในกรุงอินทปัตถ์ แคว้นกุรุ พระองค์มีอำมาตย์ชื่อ “วิธูรบัณฑิต” เป็นผู้ถวายอนุศาสน์ วิธูรบัณฑิตพูดจาไพเราะ อ่อนหวาน เป็นธรรมกถึกที่สำคัญ โน้มน้าวพระราชาชาวชมพูทวีปทั้งหมด ด้วยธรรมเทศนาที่ไพเราะจับใจ จนพระราชาทั้งหมด ไม่ยอมเสด็จกลับพระนครของพระองค์ แสดงธรรมแก่มหาชนด้วยพุทธลีลาอยู่ในนครนั้นด้วยยศใหญ่
นับย้อนหลังไปในอดีต ในกรุงพาราณสี ยังมีพราหมณ์มหาศาล ๔ คน เป็นเพื่อนรักกัน ครั้นย่างเข้าสู่วัยชรา เห็นโทษในการครองเรือน จึงออกบวชเป็นฤๅษี บำเพ็ญสมณธรรมอยู่ในป่าหิมวันต์ เป็นระยะเวลายาวนาน จนได้บรรลุอภิญญาสมาบัติ กินรากไม้ และผลไม้ในป่า เป็นอาหาร อยู่ต่อมา จึงพากันออกจากป่า เที่ยวจาริกไปจนถึงกรุงกาลจัมปานคร แคว้นอังคะ พากันพักอยู่ในพระราชอุทยาน วันรุ่งขึ้น จึงเข้าไปบิณฑบาตในพระนคร
กุฎุมพี ๔ สหาย ในกรุงกาลจัมปานั้น เลื่อมใสอิริยาบถของฤๅษี ต่างก็นิมนต์ท่านมาเรือนของตน คนละรูป จัดอาหารอย่างประณีตถวาย จึงนิมนต์ให้ท่านอยู่ในสวน ครั้นฤๅษีทั้ง ๔ รูป ฉันอาหารเสร็จแล้ว ต้องการพักผ่อนกลางวัน รูปหนึ่งไปพักผ่อนบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์รูปหนึ่ง ไปนาคพิภพ รูปหนึ่ง ไปภพพญาครุฑ รูปหนึ่ง ไปพระราชอุทยานชื่อว่า “มิคาชินะ” ของพระเจ้าธนัญชัยโกรัพยราช
ฤๅษีรูปที่ไปพักผ่อนกลางวันบนเทวโลก ได้เห็นอิสริยยศของพระอินทร์ เมื่อกลับมา ได้พรรณนาอิสริยยศของพระอินทร์ให้กุฎุมพีผู้เป็นอุปัฏฐากฟัง ฤๅษีรูปอื่น ๆ ก็พรรณนาให้อุปัฏฐาก ของตนฟัง
กุฎุมพีทั้ง ๔ สหาย ปรารถนาจะไปเกิดในที่นั้น ๆ จึงทำบุญอย่างมากมาย ครั้นตายไป คนหนึ่ง ไปเกิดเป็นพระอินทร์ คนหนึ่ง พร้อมทั้งบุตรและภรรยา ไปเกิดเป็นพญานาคคนหนึ่ง ไปเกิดเป็นพญาครุฑ คนหนึ่ง ไปเกิดในครรภ์พระอัครมเหสีของพระเจ้าธนัญชัย ในกรุงอินทปัตถ์ ส่วนดาบส ทั้ง ๔ นั้น ไม่เสื่อมจากฌาน ตายไป เกิดในพรหมโลก
กุฎุมพีผู้มาเกิดเป็นพระธนัญชัยกุมาร ครั้นทรงเจริญวัยแล้ว พระราชบิดาสวรรคต ได้ครองราชสมบัติต่อจากพระราชบิดา พระองค์ทรงเชื่อฟังโอวาทของวิธูรบัณฑิต บำเพ็ญทาน รักษาศีลอุโบสถ ปกครองแผ่นดิน ด้วยทศพิธราชธรรม และพระองค์ทรงพอพระราชหฤทัยในการเล่นสกา
วันหนึ่ง พระเจ้าธนัญชัยโกรัพยราชทรงสมาทานศีลอุโบสถแล้ว ต้องการสถานที่วิเวกเพื่อเจริญสมาธิภาวนา จึงเสด็จพระราชดำเนิน ไปประทับนั่งเจริญสมณธรรม ที่มุมหนึ่งแห่งพระราชอุทยาน
ฝ่ายพระอินทร์ สมาทานศีลอุโบสถเช่นกัน ทรงดำริว่า ในเทวโลก มีสิ่งที่ทำให้ เกิดความกังวลมาก จึงเสด็จไปยังพระราชอุทยานนั้น ในโลกมนุษย์ ได้ประทับนั่งเจริญสมณธรรม อยู่มุมหนึ่ง
แม้วรุณนาคราช สมาทานศีลอุโบสถแล้ว คิดว่า ในนาคพิภพ ยังมีสิ่งทำให้เกิดความกังวลอยู่มาก จึงไปเจริญสมณธรรมในพระราชอุทยานนั้น
ฝ่ายพญาครุฑ สมาทานอุโบสถแล้ว คิดว่า พิภพครุฑ มีสิ่งที่ทำให้เกิดความกังวล จึงไปนั่งเจริญสมณธรรม ที่มุมหนึ่งแห่งพระราชอุทยานเช่นกัน
ในเวลาเย็นวันนั้น กษัตริย์ทั้ง ๔ พระองค์ ออกจากที่ประทับนั่งของตน ถูกเจตนารมณ์แห่งอดีตชาติน้อมนำ ให้เดินไปพบกันที่ฝั่งสระโบกขรณี พอเห็นหน้ากัน ต่างก็รู้สึกเป็นสุขใจ รักใคร่ชอบพอกัน ทักทายต้อนรับกัน ด้วยถ้อยคำที่ไพเราะ ด้วยบุพเพสันนิวาส อันเป็นอำนาจแห่งความรักที่เคยมีในอดีตชาติ
พระอินทร์ ประทับนั่งบนแผ่นศิลา ส่วนพระราชาทั้ง ๓ พระองค์ ก็เลือกสถานที่ที่ควรแก่พระองค์เช่นกัน
พระอินทร์ตรัสถามขึ้นว่า “พวกเรา ล้วนเป็นกษัตริย์ สมาทานศีลอุโบสถ แต่ในบรรดาพวกเราทั้ง ๔ ใครมีศีลมากกว่ากัน”
วรุณนาคราช ตรัสว่า “ศีลของข้าพเจ้า มากกว่าศีลของพวกท่าน” ท้าวสักกเทวราช ตรัสถามว่า “เหตุไร ท่านจึงคิดเช่นนั้น” วรุณนาคราช ชี้ไปที่พญาครุฑ พลางตรัสว่า “เพราะว่า พญาครุฑนี้เป็นศัตรูของพวกนาค แม้ข้าพเจ้าเห็นพญาครุฑ ผู้เป็นศัตรูที่ทำร้ายพวกนาคให้สิ้นชีวิตไปเป็นจำนวนมากเช่นนี้ ก็ไม่ได้โกรธแค้น ศีลของข้าพเจ้า จึงมีมากกว่า” ครั้นแล้ว พญานาคราชได้กล่าวสุภาษิตว่า
“ผู้ใด ไม่โกรธคนที่ควรโกรธ ทั้งไม่แสดงอาการโกรธ ไม่ว่าเวลาไหน และถึงแม้จะโกรธก็ไม่เผยความโกรธออกมา ผู้นั้น เป็นสัตบุรุษ บัณฑิตทั้งหลาย เรียกเขาคนนั้นว่า “ผู้สงบ” ในโลก”
พญาครุฑ ได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวว่า “นาคนี้ เป็นอาหารชั้นเลิศของข้าพเจ้า แต่ แม้ข้าพเจ้าเห็นนาคผู้เป็นอาหารชั้นเลิศ เช่นนี้แล้ว ก็อดกลั้นความอยากเอาไว้ได้ ไม่ทำความชั่ว เพราะอาหาร ศีลของข้าพเจ้า จึงมากกว่า” ครั้นแล้ว พญาครุฑ ก็ได้กล่าวสุภาษิต เช่นกันว่า
“ผู้ใด มีความหิว แต่อดกลั้นความหิวเอาไว้ได้ มีความเพียรเผาผลาญกิเลส บริโภคแต่พอประมาณ ไม่ทำความชั่ว เพราะเหตุแห่งอาหาร ปราชญ์ เรียกเขาผู้นั้นว่า “ผู้สงบ” ในโลก”
พระอินทร์ ตรัสว่า “ข้าพเจ้า ทิ้งทิพยสมบัติในเทวโลก ซึ่งเพียบพร้อมด้วยความสุขมากมาย มารักษาศีลในโลกมนุษย์ ศีลของข้าพเจ้า จึงมากกว่าพวกท่าน” พระอินทร์ ก็ได้กล่าวสุภาษิตเช่นกันว่า
“ผู้ใด เว้นขาดจากการเล่น และความยินดี ในกามทั้งปวง ไม่พูดจาเหลาะแหละ เว้นขาดจากการตกแต่งร่างกาย และการเสพเมถุนธรรม ปราชญ์ทั้งหลาย เรียกเขาคนนั้นว่า “ผู้สงบ” ในโลก”
พระเจ้าธนัญชัย ได้สดับดังนั้น จึงตรัสบ้างว่า “วันนี้ ข้าพเจ้าละราชสมบัติที่หวงแหนมาก พระราชวังที่วิจิตรงดงาม พรั่งพร้อมด้วยหญิงนักฟ้อนหกหมื่นนาง ข้าพเจ้าก็ไม่ยินดีมาบำเพ็ญสมณธรรม อยู่ในพระราชอุทยานนี้ ศีลของข้าพเจ้า จึงมากกว่าพวกท่าน” ได้กล่าวสุภาษิต เช่นกันว่า
“ผู้ใด สละความหวงแหน และความโลภได้ ด้วยความรอบรู้ เขาผู้นั้น ฝึกตนได้แล้ว มีความมั่นคง ไม่หวั่นไหว ไม่ยึดถือสิ่งหนึ่งสิ่งใดว่า เป็นของเรา ผู้หมดความหวัง บัณฑิตทั้งหลาย กล่าวว่า “ผู้สงบ” ในโลก”
กษัตริย์ทั้ง ๔ พระองค์ ต่างสรรเสริญศีลของตนว่า ประเสริฐกว่ากัน เมื่อไม่สามารถยอมรับกันได้ จึงตรัสถามพระเจ้าธนัญชัยว่า ในราชสำนักของพระองค์ มีใครที่เป็นบัณฑิต พอที่จะตอบข้อสงสัย ได้หรือไม่
พระเจ้าธนัญชัย ตรัสตอบว่า พระองค์มีวิธูรบัณฑิต ดำรงตำแหน่งธรรมานุศาสน์ เป็นผู้ทรงปัญญา หาผู้เสมอมิได้ สามารถตอบข้อสงสัยได้ กษัตริย์ทั้ง ๔ พระองค์จึงพากันเสด็จออกจากพระราชอุทยาน ไปธรรมสภา เชิญพระโพธิสัตว์ให้นั่งท่ามกลางบัลลังก์ ทำปฏิสันถารแล้ว ตรัสบอกว่า พระองค์เกิดความสงสัย เนื่องจากโต้เถียงกันเรื่องศีล หาข้อยุติไม่ได้ว่า ศีลใครประเสริฐกว่ากัน จึงขอให้วิธูรบัณฑิตช่วยตัดสิน จะได้คลายข้อสงสัย
วิธูรบัณฑิต กราบทูลว่า “ข้าแต่พระมหาราชเจ้า เมื่อข้าพระองค์ ยังไม่ทราบข้อความที่โต้เถียงกัน แล้วจะพิจารณา และตัดสิน ได้อย่างไร ขอพระองค์ตรัสข้อความให้ข้าพระองค์ทราบก่อน จึงจะวินิจฉัยได้”
กษัตริย์ทั้ง ๔ พระองค์ ตรัสว่า “พญานาค ทรงสรรเสริญอธิวาสนขันติ คือ ความไม่โกรธบุคคลผู้ควรโกรธ พญาครุฑ ทรงสรรเสริญการไม่ทำความชั่ว เพราะเห็นแก่กิน ท้าวสักกเทวราช ทรงสรรเสริญการละความยินดีในกามคุณ ส่วนพระเจ้าธนัญชัย ราชาแห่งอินทปัตถ์นคร ทรงสรรเสริญการไม่มีความกังวลว่า ประเสริฐ”
วิธูรบัณฑิต ได้สรรเสริญศีลของพระราชาทั้ง ๔ พระองค์ ว่า มีคุณเสมอกัน ทั้งพระดำรัสของทุกพระองค์ ก็เป็นสุภาษิต และไม่ใช่สุภาษิตธรรมดา ผู้ใด มีคุณธรรมทั้ง ๔ ประการนี้ จะเป็นดังซี่กำเกวียนที่รวมกันอยู่ที่ดุมเกวียน บัณฑิต เรียกเขาผู้นั้นว่า “ผู้สงบ” ในโลก
พระราชาทั้ง ๔ พระองค์ ทรงร่าเริงยินดี พอพระทัยที่วิธูรบัณฑิต ตอบปัญหาเช่นนั้น ต่างชมเชยว่า วิธูรบัณฑิตเป็นผู้ประเสริฐสุด เป็นผู้ยอดเยี่ยม ไม่มีใครเสมอ มีปัญญาดี รักษาธรรม และรู้แจ้งธรรม ตอบปัญหาได้อย่างลึกซึ้ง ด้วยปัญญาของตน
ท้าวสักกเทวราช ทรงบูชาวิธูรบัณฑิต ด้วยผ้าทิพย์ พญาครุฑ บูชาด้วยมาลัยทอง วรุณนาคราช บูชาด้วยแก้วมณี พระเจ้าธนัญชัย บูชาด้วยทรัพย์สมบัติต่าง ๆ มีโคนมจำนวนมาก ครั้นบูชาพระโพธิสัตว์แล้ว ได้เสด็จไปยังที่ประทับของพระองค์ตามเดิม
บุพเพสันนิวาส
พญานาค มีพระชายานามว่า “พระนางวิมลา” เมื่อพระนาง ไม่เห็นเครื่องประดับแก้วมณีที่พระศอของพระสวามี จึงถามถึงแก้วมณี ที่หายไป
พระองค์ตรัสเล่าให้ฟังว่า ได้สดับธรรมกถาของวิธูรบัณฑิต บุตรแห่งจันทพราหมณ์ เกิดความเลื่อมใส จึงเอาแก้วมณีบูชา และใช่จะบูชาแต่พระองค์เพียงคนเดียวก็หาไม่ แม้ท้าวสักกเทวราช ก็ทรงบูชาด้วยผ้าทิพย์ พญาครุฑ บูชาด้วยดอกไม้ทอง พระเจ้าธนัญชัย บูชาด้วยทรัพย์มากมาย
พระนางวิมลาทูลถามว่า “วิธูรบัณฑิตนั้น เป็นธรรมกถึกหรือ?” พญาวรุณนาคราช ทรงสรรเสริญคุณพระโพธิสัตว์ โดยประการต่าง ๆ ว่า “ใช่แต่เท่านั้น พระราชา ๑๐๑ พระองค์ในชมพูทวีป ล้วนพอพระทัยในธรรมกถาอันไพเราะของเธอ เหมือนว่า ชมพูทวีป มีพระพุทธเจ้า อุบัติขึ้น จนไม่ต้องการเสด็จกลับแว่นแคว้นของตน เป็นดังกระแสเสียงพิณ ชื่อหัตถีกันต์ ประโลมโขลงช้างตกมัน ให้หลงใหล เธอเป็นธรรมกถึกชั้นเอก แสดงธรรมไพเราะ อย่างจับใจยิ่ง”
พระนางสดับคำสรรเสริญวิธูรบัณฑิต ประสงค์จะสดับธรรมกถาบ้าง แต่หากจะทูลพระสวามีว่า ต้องการฟังธรรมกถา ขอให้เชิญวิธูรบัณฑิต มาในนาคพิภพนี้ พระองค์ก็จะไม่โปรดให้เชิญมา จึงแกล้งทำเป็นเจ็บป่วยจากการแพ้ครรภ์ พระนางนัดแนะกับเหล่าสนม แล้วเสด็จเข้าบรรทมบนพระแท่น
เมื่อพญานาคราช ไม่เห็นพระนางวิมลา ในเวลาเข้าเฝ้า จึงตรัสถามถึง เหล่านางสนมทูลให้ทรงทราบว่า พระนางประชวร พระองค์จึงเสด็จไปเยี่ยมอาการ ประทับนั่งข้างพระแท่นบรรทม ทรงคลำร่างกายพระนาง ตรัสถามว่า “น้องหญิงวิมลา เธอเป็นไรไป ทำไมผิวพรรณ จึงเหลืองซูบผอม ไร้เรี่ยวแรง เมื่อก่อน ไม่ได้เป็นเช่นนี้”
พระนางวิมลาทูลว่า “ความอยากได้โน่นอยากได้นี่ เป็นธรรมดาของสตรีแพ้ท้อง หม่อมฉัน อยากได้ดวงหทัยของวิธูรบัณฑิต ที่นำมาได้ โดยชอบธรรม ถ้าดิฉันไม่ได้ ก็เห็นจะตาย”
พญานาคราชกล่าวว่า “น้องวิมลา เธอต้องการดวงหทัยวิธูรบัณฑิต เหมือนต้องการ พระจันทร์และพระอาทิตย์ วิธูรบัณฑิต ยากที่ใคร ๆ จะได้เห็น ใครจะนำวิธูรบัณฑิต มาในนาคพิภพนี้ได้”
พระนางวิมลาทูลว่า “เมื่อหม่อมฉันไม่ได้ ก็เห็นจะตาย แล้วเบือนพระพักตร์ผันพระปฤษฎางค์ให้พระสวามี เอาชายพระภูษาปิดพระพักตร์ บรรทมนิ่ง ไม่ตรัสอะไรอีกเลย”
พญานาค เสด็จกลับห้อง ประทับนั่งบนพระแท่นบรรทม ทรงเต็มไปด้วยความกังวล ด้วยเข้าพระทัยว่า พระนางวิมลา ต้องการเนื้อหทัยของวิธูรบัณฑิต ถ้าไม่ได้ ชีวิตก็จะหาไม่ ทำอย่างไรจึงจะได้เนื้อหทัยของวิธูรบัณฑิต
วันนั้น ธิดาของพญานาคนามว่า “อิรันทดี” มาเฝ้าพระบิดา เห็นหน้าตามีความกังวลเศร้าหมอง ครุ่นคิด ผิดปกติ จึงทูลถามสาเหตุว่า ทำไม ไม่ทรงเบิกบานเหมือนเมื่อก่อน
พญานาคราชตรัสว่า “ลูกหญิง แม่ของลูกต้องการดวงหทัยวิธูรบัณฑิต ซึ่งยากที่ใครจะพบเห็นได้ แล้วใคร จะนำวิธูรบัณฑิต มานาคพิภพนี้ได้ ลูกจงช่วยชีวิตแม่ จงแสวงหาสามี ผู้สามารถนำวิธูรบัณฑิตมาได้ โดยชอบธรรม”
นางอิรันทดี ปลอบโยนพระบิดาให้เบาพระทัย จึงไปเฝ้าพระมารดา กลับไปห้องประดับตกแต่งตน แล้วออกจากนาคพิภพ ไปในคืนนั้น เหาะไปยังเขากาฬคิรี ใกล้ฝั่งมหาสมุทร ป่าหิมวันต์ เที่ยวแสวงหาสามี ผู้มีความสามารถ
นางอิรันทดีนาคกัญญา เก็บดอกไม้ที่มีสีและกลิ่นหอมงดงามในป่าหิมวันต์ มาประดับยอดเขา ให้เป็นเหมือนเขาดอกไม้ แล้วฟ้อนรำ ด้วยท่าทางอันงดงาม เพริศพริ้ง ขับร้องเพลง ด้วยเสียงอ่อนหวาน ไพเราะจับใจว่า
“ถึงคนธรรพ์ รากษส มนุษย์ นาค กินนร อยาก ได้เรา เฝ้าถนอม
เป็นมิ่งขวัญ ภรรยา ถ้าจำยอม ทุกสิ่งพร้อม จงทำตาม ความต้องการ
ให้ชีวิต มารดา ของข้าด้วย ขอท่านช่วย นำหทยา มาสมาน
ฟื้นชีวิต จากมรณา อย่าช้านาน จึงจะหวาน ในอ้อมกอด ตลอดกาล
ขณะนั้น ปุณณกยักษ์เสนาบดี หลานท้าวเวสสุวัณ เผ่นขึ้นม้าสินธพ ชื่อ “มโนมัย” ไปยังสมาคมยักษ์ เหนือยอดเขากาฬคิรี ได้ยินเสียงนางอิรันทดีร้องเพลงหวานแว่วไพเราะจับใจ ราวกับ เสียงเพลงนั้น ได้ตัดผิวหนังปุณณกยักษ์ แทรกเข้าไปจรดเยื่อในกระดูก เกิดความรักด้วยอำนาจแห่งบุพเพสันนิวาส ที่เคยได้อยู่ร่วมกันมาในชาติก่อน จึงชักม้ากลับคืน นั่งอยู่บนหลังม้า พูดกับนางว่า “น้องหญิง ด้วยปัญญาของพี่ สามารถนำดวงหทัยวิธูรบัณฑิต มาได้ โดยชอบธรรม อย่าวิตกไปเลย เราเป็นสามีของเธอได้”
เมื่อนางอิรันทดี ได้เห็นปุณณกยักษ์ ก็เกิดความรักเช่นกัน เพราะเคยเป็นสามีภรรยากันมาในชาติก่อน จึงกล่าวว่า “ถ้าอย่างนั้น มาเถิด เราจะไปเฝ้าพระบิดาของดิฉัน พระบิดา จะบอกท่าน ว่า ควรจะทำอย่างไร”
ปุณณกยักษ์ คิดว่า เราขี่ม้านี้แหละ นำเธอลงจากเขา จึงยื่นมือออกไป หมายจะจับมือนางอิรันทดี
ฝ่ายนางอิรันทดีนาคกัญญา ไม่ยอมให้ปุณณกยักษ์จับมือตน แต่เป็นฝ่ายจับมือปุณณกยักษ์เสียเอง แล้วกล่าวว่า “ดิฉัน ไม่ใช่คนกำพร้า พญาวรุณนาคราช เป็นบิดาของดิฉัน พระนางวิมลา เป็นมารดาของดิฉัน ดิฉัน จะพาท่านไปเฝ้าพระบิดา พระองค์จะบอกวิธี ที่เราทั้งสองจะทำมงคลกัน”
ปุณณกยักษ์ รั้งร่างนางอิรันทดีขึ้นหลังม้ามโนมัยอย่างขุนศึก ผู้ชำนาญสงคราม กระตุกบังเหียนม้าศึกคู่ใจ เผ่นโผนสู่นาคพิภพ ไปเฝ้าพญานาค ทูลขอพระนางอิรันทดีว่า “ขอพระองค์ได้ทรงโปรดรับสินสอด ตามสมควร คือ ช้าง ๑๐๐ เชือก ม้า ๑๐๐ ตัว รถเทียมด้วยม้าอัสสดร ๑๐๐ คัน และเกวียนบรรทุกรัตนะ ต่าง ๆ ๑๐๐ เล่ม ข้าพระองค์ รักนางอิรันทดี จึงได้มาสู่ขอ ขอได้ทรงโปรด กรุณาให้ข้าพระองค์ ได้อยู่ร่วมกับนางด้วยเถิด”
พญานาคราชตรัสว่า “ขอไปปรึกษาหารือกับพวกญาติ ๆ ก่อน หากผิดพลาดอะไรขึ้นมาจะได้ไม่เสียใจ ในภายหลัง”
ท้าววรุณนาคราช เสด็จไปปรึกษากับพระชายาว่า “ปุณณกยักษ์เสนาบดี มาสู่ขอลูกอิรันทดี พร้อมสินสอดจำนวนมาก จะยกลูกให้ หรือไม่”
พระนางวิมลาตรัสว่า “ปุณณกยักษ์ ไม่ควรได้ลูกอิรันทดี เพราะทรัพย์ ถ้าอยากได้ลูกหญิงเรา ก็จงนำดวงหทัยวิธูรบัณฑิต มาในนาคพิภพ โดยชอบธรรม หม่อมฉัน ไม่ต้องการทรัพย์อื่น นอกจาก ดวงหทัยวิธูรบัณฑิต”
เมื่อท้าววรุณนาคราช ปรึกษากับพระนางวิมลาแล้ว ได้เสด็จออกจากนิเวศน์ ตรัสกับปุณณกยักษ์ว่า “ท่านจะไม่ได้ลูกหญิงเรา เพราะทรัพย์ หากท่านนำดวงหทัยวิธูรบัณฑิต มาในนาคพิภพได้ โดยชอบธรรม ท่านจึงจะได้ลูกหญิงของเรา เราไม่ต้องการทรัพย์อื่น นอกจากดวงหทัยวิธูรบัณฑิต”
ปุณณกยักษ์ทูลว่า “ในโลกนี้ ใครบางคน ถูกเรียกว่า “บัณฑิต” แต่คนอีกพวก กลับเรียกเขาคนนั้นว่า “คนพาล” เพราะระหว่างบัณฑิตกับคนพาล ยังขัดแย้งกันอยู่ ขอพระองค์ ได้ตรัสบอก ให้ชัดลงไป พระองค์ทรงเรียกใคร ว่าเป็นบัณฑิต”
พญานาคราชตรัสว่า “บัณฑิต ชื่อว่า “วิธูระ” ผู้สั่งสอนอรรถธรรมแก่พระเจ้าธนัญชัย ถ้าท่านนำดวงหทัยบัณฑิตนั้นมาได้ โดยชอบธรรม เราจึงจะยกลูกหญิง ให้เป็นภรรยาท่าน”
ปุณณกยักษ์ได้ยินท้าววรุณพูดเช่นนั้น ก็ดีใจมาก สั่งคนใช้ ไปนำม้าอาชาไนยมา ม้าอาชาไนยนั้น มีหูทั้งสองประดับด้วยทองคำ กีบหุ้มด้วยแก้วมณีแดง ส่วนเครื่องประดับอก ล้วนแล้วแต่ทำจากทอง อันสุกใส
ปุณณกยักษ์เสนาบดีกระโจนขึ้นม้ามโนมัย เหาะไปหาท้าวเวสสุวัณ เพื่อจะทูลขออนุญาต จึงได้พรรณนาภพของนาคว่า “ภพนาคนั้น เขาเรียกชื่อกันว่า “โภควดีนคร” บ้าง “วาสนานคร” บ้าง “หิรัญญวดีนคร” บ้าง เป็นเมืองที่เกิดจากบุญ ล้วนแล้วแต่สร้างด้วยทองคำ มีสัณฐานคล้ายคออูฐ สมบูรณ์ด้วยป้อมปราการ และเชิงเทิน ดารดาษด้วยปราสาททำด้วยศิลาแลง มุงด้วยกระเบื้องทอง มีป่าไม้ต่าง ๆ เช่น มะม่วง ไม้หมากเม่า ไม้หว้า ไม้ตีนเป็ด ไม้จิก ไม้เกด ไม้ประยงค์ ไม้ราชพฤกษ์ ไม้มะม่วงหอม ไม้ชบา และไม้ย่านทราย ไม้จำปา ไม้กากะทิง มะลิซ้อน มะลิลา และไม้กระเบา เป็นต้น ต้นไม้ในนาคพิภพเหล่านี้ มีกิ่งต่อกัน ร่มรื่น งดงามยิ่งนัก มีต้นอินทผลัม ผลิดอกออกผลดกหนา
มเหสีท้าววรุณนาคราช อยู่ในวัยกำลังรุ่นสาว พระนามว่า วิมลา ทรงพระสิริโฉมงดงามยิ่งนัก สูงโปร่ง สะโอดสะอง เหมือนดอกกรรณิการ์แรกแย้ม เปรียบดังนางอัปสรในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ พระนาง ทรงแพ้ครรภ์ จึงปรารถนาจะได้ดวงหทัยวิธูรบัณฑิต ข้าพระองค์จะถวายดวงหทัยนั้น แก่ท้าววรุณนาคราช และพระนางวิมลา เมื่อข้าพระองค์นำดวงหทัยนั้น ไปถวายแล้ว พระองค์จะพระราชทานพระนางอิรันทดี พระธิดา ให้เป็นภรรยาข้าพระองค์”
ปุณณกยักษ์นั้น เป็นยักษ์ผู้ใหญ่ มีตำแหน่งถึงเสนาบดี หากท้าวเวสสุวัณ ยังไม่ทรงอนุญาตก็ไปไม่ได้ จึงกล่าวพรรณนาถึงนาคพิภพ โดยประการต่าง ๆ เพื่อให้ท้าวเวสสุวัณอนุญาต
แต่ขณะนั้น ท้าวเวสสุวัณ ไม่ได้ยินที่ปุณณกยักษ์พูดถนัด เพราะกำลังตัดสินคดีของเทพบุตร ๒ องค์ ที่กำลังทะเลาะกันเกี่ยวกับวิมาน ปุณณกยักษ์ทราบว่า ท้าวเธอไม่ได้ยินที่ตนพูด จึงไปยืนใกล้ ๆ เทพบุตรผู้ชนะ เมื่อท้าวเวสสุวัณ ทรงตัดสินคดีเสร็จ บังคับเทพบุตรผู้แพ้ ไม่ให้ลุกขึ้น แล้วตรัสกับเทพบุตรผู้ชนะคดีความว่า“ท่านจงไปอยู่ในวิมานของตน” ในขณะที่ท้าวเวสสุวัณตรัสว่า “ท่านจงไป” นั่นแหละ ปุณณกยักษ์ จึงบอกเทพบุตร ๒-๓ องค์ ให้เป็นพยานว่า “ท่านทั้งหลาย จงทราบว่า พระเจ้าลุงของเรา ส่งเราไป” แล้วขึ้นม้าศึกคู่ใจ เผ่นโผนโจนทะยานเหาะไป พลางคิดว่า วิธูรบัณฑิตมีบริวารมาก คงจับได้ยาก แต่พระเจ้าธนัญชัย พอพระทัยในการเล่นพนันสกา เราจะท้าพระองค์เล่นสกาเดิมพัน แก้วในพระคลังข้างที่ของพระองค์ มีเป็นจำนวนมาก พระองค์คงไม่ทรงสกา พนันด้วยแก้วที่มีค่าเล็กน้อย
ถ้าจะพนันกับพระราชา จะต้องมีแก้วมณี ที่มีค่ามากกว่าพระองค์ เราควรได้แก้วมณีสำหรับพระเจ้าจักรพรรดิราช ซึ่งมีอยู่ที่เขา “เวปุลลบรรพต” ใกล้กรุงราชคฤห์ เราต้องเอาแก้วมณีนั้น มาหลอกล่อ จึงจะทำให้พระราชาพนันสกากับเรา
ปุณณกยักษ์เหาะไปจนถึงกรุงราชคฤห์ มหานครของพระเจ้าอังคราช บ้านเมืองที่มีกองทัพเข้มแข็ง ไม่มีข้าศึกกล้ำกราย ข้าวน้ำอุดมสมบูรณ์ เป็นนครกึกก้องด้วยหมู่นกยูงและนกกะเรียน อื้ออึงด้วยฝูงนกชนิดต่าง ๆ พื้นที่ราบเรียบ ดารดาษไปด้วยมวลดอกไม้นานาพันธุ์ แล้วขึ้นสู่เขาเวปุลลบรรพต ซึ่งเป็นที่อาศัยอยู่ของหมู่กินนร ค้นหาแก้วมณี ชื่อว่า “มโนหรจินดา” เห็นดวงแก้วมณีบนยอดเขา รัศมีสว่างไสว จึงมุ่งตรงเข้าไปหา
ขณะนั้น มียักษ์ตนหนึ่ง ชื่อว่า “กุมภีร์” มีพวกยักษ์กุมภัณฑ์แสนตน เป็นบริวาร เฝ้ารักษาแก้วมณีนั้น เห็นผู้บุกรุก จึงเข้าขัดขวาง เมื่อปุณณกยักษ์ ซึ่งเป็นยักษ์เสนาบดี ทำท่าโกรธถลึงตาดูเท่านั้น กุมภีร์ยักษ์ ก็สะดุ้งกลัวตัวสั่นหนีไปแอบมองดูอยู่หลังจักรวาล
ปุณณกยักษ์จึงถือเอาแก้วมณี เหาะไปอินทปัตถ์นคร จำแลงกายเป็นมาณพ ลงจากหลังม้า เข้าสู่ ที่ประชุมของชาวกุรุรัฐ อย่างอาจหาญ ไม่หวั่นเกรงเดชานุภาพพระราชาชาวชมพูทวีป ๑๐๑ พระองค์ ที่กำลังประชุมพร้อมเพรียงกันอยู่ เอ่ยปากท้าพนัน ด้วยการเล่นสกาว่า “พระราชาพระองค์ใดในมหาสมาคมนี้ สามารถชิงเอาแก้วมณีอันประเสริฐของข้าพระองค์ได้ หรือพระราชาพระองค์ใดมีทรัพย์อันประเสริฐ พอที่จะมาเล่นสกาพนันเอาแก้วมณีกับข้าพระองค์ได้”
พระเจ้าธนัญชัย ดำริว่า พระองค์ยังไม่เคยเห็นใคร ที่กล้าหาญ พูดท้าทายแข่งสกากับพระองค์ ผู้ชำนาญในศาสตร์แห่งสกา เช่นนี้มาก่อน นี่เป็นใคร จึงมาร้องท้าทายอยู่กลางสมาคมกษัตริย์เช่นนี้ จึงตรัสถามว่า“ดูท่านอาจหาญนัก ท่านมาจากแคว้นไหน ฟังสำเนียงพูดแล้ว ไม่ใช่ชาวกุรุ และ ท่าน ก็มิได้เกรงกลัวพวกเรา ท่านมีชื่ออะไร?”
ปุณณกยักษ์คิดว่า บางทีพระราชา อาจมีทาสชื่อว่า “ปุณณกะ” ถ้าบอกชื่อนี้ไป พระองค์จะคิดว่า เราคึกคะนอง ล้อเลียน เราจะทูลบอกชื่อในอดีตชาติของเรา จึงกราบทูลว่า “ข้าพระองค์ เป็นมาณพ เกิดในกัจจายนโคตร ญาติพี่น้องของข้าพระองค์ อยู่ในนครกาลจัมปา ชาวแคว้นอังคะ เรียกข้าพระองค์ว่า “อนูนะ” ข้าพระองค์มาที่นี้ เพื่อต้องการเล่นพนันสกา”
พระราชาตรัสสัพยอกว่า “ท่านผู้ชำนาญสกา พระราชามีแก้วแหวนเงินทองมากมาย ส่วนท่านเป็นคนเข็ญใจ จะเอาทรัพย์ที่ไหนมาวางเดิมพัน ไม่ใช่ เมื่อท่านชนะเขาแล้ว จะเอาแก้วเป็นอันมากในพระนิเวศน์ของพระราชาไป เหมือนจับเสือมือเปล่า โดยที่ตัวเองไม่มีทรัพย์เป็นค่าเดิมพัน แต่อย่างไร”
ปุณณกยักษ์ในคราบมาณพน้อย ชูแก้วมณีอันสุกใสขึ้น ทูลว่า “แก้วมณีของข้าพระองค์ดวงนี้ มีชื่อว่า “มโนหรจินดา” สามารถบันดาลทรัพย์ได้ ดังใจปรารถนา นักเลงสกาท่านใดชนะข้าพระองค์แล้ว จะได้แก้วมณีดวงนี้ และม้าอาชาไนย เป็นที่เกรงขามของข้าศึกศัตรูตัวนี้”
พระราชาตรัสว่า “พ่อมาณพน้อย พระราชามีแก้วมณีอยู่เป็นอันมาก ม้าอาชาไนย มีพละกำลังรวดเร็วดังสายลมของพระราชา ก็มีมิใช่น้อย แล้วแก้วมณีดวงเดียว และม้าอาชาไนยตัวเดียวของเจ้า จะเปรียบเทียบกันได้อย่างไร”
มโนมัยยอดอาชา
ปุณณกยักษ์เสนาบดีในคราบมาณพน้อย กราบทูลว่า “ข้าแต่มหาราชเจ้า ไยพระองค์ตรัสเช่นนั้น ม้าของข้าพระองค์ตัวเดียว เท่ากับม้าฝีเท้าดี ๑,๐๐๐ ตัว แก้วมณีของข้าพระองค์ดวงเดียว เท่ากับแก้วมณีมีค่ามาก ๑,๐๐๐ ดวง ม้าทุกตัวของพระองค์ จะเทียมเท่าม้าตัวเดียวของข้าพระองค์ ได้อย่างไร ขอพระองค์ทอดพระเนตรดูความว่องไวแห่งจอมอาชาตัวนี้ก่อน”
ครั้นแล้ว ปุณณกยักษ์ก็เผ่นขึ้นรั้งบังเหียนม้าว่องไวปราดเปรียว จอมอาชาโจนทะยานข้ามกำแพงพระนคร ปลิวไปดังสายลมอย่างม้าศึกที่รู้ใจขุนศึก ควบตะบึงไปรอบพระนคร ที่กว้างใหญ่ไพศาล อย่างรวดเร็ว ปรากฏประหนึ่งว่า ม้าพันตัวเอาคอจรดเรียงกันล้อมพระนคร มองไม่เห็นแม้สารถี ที่ควบอยู่บนหลัง มองเห็นปรากฏเหมือนผ้าแดงผืนเดียว วงรอบพระนคร
ปุณณกยักษ์ลงจากหลังม้า กราบทูลว่า “ข้าแต่มหาราชเจ้า พระองค์ทอดพระเนตรเห็นความเร็วแห่งม้าแล้วหรือ ขอพระองค์จงทอดพระเนตรดูอีก” ครั้นแล้ว ก็เผ่นขึ้นหลังม้าควบโจนทะยานไปบนสายน้ำในสระโบกขรณีที่อุทยานภายในพระนคร ม้าวิ่งไปโดยที่ปลายกีบม้ามิได้เปียกน้ำเลย ปุณณกยักษ์กระตุ้นบังเหียน ให้ม้าควบไปบนใบบัว ครั้นลงจากหลังม้า ตบมือ แล้วเหยียดฝ่ามือออก ให้ม้าวิ่งเผ่นโผน มาหยุดยืนอยู่ที่ฝ่ามือ แล้วกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ ผู้เป็นจอมแห่งนรชน ม้านี้ เป็นม้าอาชาไนย ชื่อ “มโนมัย” ไปได้ดั่งใจปรารถนา ควรจะจัดเป็นยอดอาชา ได้หรือไม่”
แก้วจักรพรรดิ
ครั้นปุณณกยักษ์แสดงอานุภาพแห่งม้าอาชาไนยของตนแล้ว ได้แสดงอานุภาพแห่งแก้วมณีต่อไปว่า
“ในแก้วมณีดวงนี้ ปรากฏรูปหญิง รูปชาย รูปสัตว์ รูปนก พญานาค และพญาครุฑ ซึ่งเป็นสิ่งอัศจรรย์ ที่ธรรมชาติ เนรมิตไว้ ในแก้วมณีดวงนี้
ขอพระองค์จงทอดพระเนตรจตุรงคเสนา พลทหารกล้า กำลังตั้งกระบวนรบ ทั้งกองพลช้าง กองพลม้า กองพลรถ และกองพลทหารราบ สวมเกราะกระชับมั่น มีอาวุธคู่กาย น่าเกรงขาม
พระนครมีป้อมปราการหนาแน่น มีกำแพง คูค่าย เสาระเนียด เสาเขื่อน ซุ้มประตู ถนนหนทางราบเรียบ มีฝูงหงส์ นกกระเรียน นกยูง นกจากพราก จับอยู่ ตามเสาค่าย เกลื่อนกล่นไปด้วยนกดุเหว่าดำ ดุเหว่าลาย ไก่ฟ้า และโพระดก ล้อมรอบไปด้วยกำแพงสูงใหญ่ น่าอัศจรรย์ น่าขนพองสยองเกล้า มีธงโบกสะบัดอยู่บนกำแพงพระนครตลอดเวลา มีตลาด และร้านค้า เรียงรายอยู่สองข้างทาง ระหว่างถนนซอย และถนนหลวง ที่ร้านสุรา มีนักเลงสุรา พ่อครัว เรือนครัว พ่อค้า อยู่เกลื่อนกล่น ละลานตาด้วยหญิงขายบริการ มีช่าง ๑๐ หมู่ บรรจงสร้างงานศิลป์ ทั้งช่างย้อม ช่างปรุงน้ำหอม ช่างทอผ้า ช่างทอง และช่างแก้วมณี มีคนทำของหวาน ของคาว มีนักดนตรี ฟ้อนรำ ขับร้อง ปรบมือ ตีฉิ่ง ตีกลอง ระงมไปด้วยเสียงตะโพน สังข์ บัณเฑาะว์ มโหระทึก ทั้งเปิงมาง กังสดาล พิณ และเครื่องดนตรีทุกอย่าง มีนักกระโดด นักมวย นักเล่นกล หญิงงาม ชายงาม ยาม และช่างตัดผม มีการแสดงมหรสพ คลาคล่ำไปด้วยชายหญิง เวทีแสดง สูงต่อกันขึ้นเป็นชั้น ๆ ทั้งนักมวยกำลังชกกันในสนาม มีทั้งผู้แพ้ ผู้ชนะ
มีฝูงสัตว์นานาชนิด ทั้งราชสีห์ เสือโคร่ง ช้าง หมี หมาใน เสือดาว แรด โค กระบือ ละมั่ง กวาง เนื้อทราย ระมาด วัว สุกรบ้าน ชะมด แมวป่า กระต่าย และกระแต
มีแม่น้ำ ท่าราบเรียบ ทรายทองเนื้อละเอียด น้ำใสสะอาดไหลเย็นไม่ขาดสาย มองเห็นสัตว์น้ำ นานาพันธุ์ ทั้งฝูงปลา จระเข้ มังกร ปลาฉลาม เต่า ปลาสลาด ปลากระบอก ปลากด ปลาเค้า ปลาตะเพียน แหวกว่ายอยู่มากมาย ริมสระเกลื่อนกล่นไปด้วยฝูงนกนานาชนิด ดารดาษ ไปด้วยแมกไม้นานาพรรณ
ขอพระองค์จงทอดพระเนตรดูเถิด นั่นบุพพวิเทหทวีป อมรโคยานทวีป อุตรกุรุทวีป และชมพูทวีป นั่นพระจันทร์ และพระอาทิตย์ โคจรรอบเขาสิเนรุ ส่องสว่างไปทุกทิศ มีหิมวันตบรรพต สมุทรสาคร แผ่นดินใหญ่ และท้าวมหาราชทั้ง ๔ มีพุ่มไม้ในสวน แผ่นหิน และเนินหิน อันน่ารื่นรมย์ เกลื่อนกล่นไปด้วยเหล่ากินนร มีสวนสวรรค์ คือ ปารุสกวัน จิตรลดาวัน มิสสกวัน และนันทวัน ทั้งเวชยันตปราสาท สุธรรมเทวสภา ต้นปาริฉัตรผลิดอกแย้มบาน มีพญาช้างสารเอราวัณ และ เทพกัญญาผู้เลอโฉม ดังสายฟ้าแลบออกจากกลีบเมฆ มีอยู่ในดาวดึงส์พิภพ ปรากฏในแก้วจักรพรรดิ”
ปุณณกยักษ์เชิญชวนพระเจ้าธนัญชัย ให้ชมความวิเศษของแก้วมณีนานาประการ เพื่อหลอกล่อ ให้เล่นพนันสกา แล้วกราบทูลว่า “ถ้าพระองค์ ทรงชนะข้าพระองค์ด้วยสกา ข้าพระองค์จะถวายแก้วมณีนี้ แต่หากข้าพระองค์ชนะ พระองค์จะประทานของสิ่งใด แก่ข้าพระองค์”
พระเจ้าธนัญชัยตรัสว่า “พ่อมาณพ ยกเว้นตัวเรา เศวตฉัตร และพระมเหสี สมบัติที่เหลือ เรายกให้ท่าน”
ปุณณกยักษ์ในคราบมาณพน้อย ทูลว่า “ถ้าเช่นนั้น พระองค์อย่าชักช้าเลย ข้าพระองค์เดินทางมาไกล โปรดให้จัดเตรียมโรงสกาเถิด พระเจ้าข้า”
เดิมพันด้วยใจ
พวกอำมาตย์จัดเตรียมโรงสกา ทอดพระราชอาสน์ด้วยเครื่องลาดอันวิจิตรงดงามสำหรับพระราชา ทอดอาสนะถวายพระราชาที่เหลือ และจัดเตรียมอาสนะที่สมควรแก่ปุณณกยักษ์ เสร็จแล้ว กราบบังคมทูลพระราชา
ปุณณกยักษ์ได้กราบทูลว่า “ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ในการเล่นสกาเพื่อแก้วมณีนี้ เราพึงแพ้ชนะกัน โดยชอบธรรม”
พระราชา ตรัสกับปุณณกยักษ์ว่า “ท่านอย่ากลัวว่า เราเป็นพระราชา แล้วจะไม่มีความยุติธรรม ชัยชนะหรือปราชัย จะเป็นไปโดยชอบธรรมเท่านั้น ไม่ว่าแพ้หรือชนะ เราก็จะยอมรับแต่โดยดี”
ปุณณกยักษ์ในคราบมาณพน้อย คิดว่า หากไม่มีสักขีพยานแล้ว ยังไม่ควรลงมือทำอะไรกับกษัตริย์หรือพราหมณ์ จึงประกาศต่อกษัตริย์ทั้งหลาย ให้เป็นพยานว่า “ขอพระราชาทั้งหลาย จงทรงทราบว่า ไม่ว่าแพ้หรือชนะ เราทั้งสองจะยอมรับโดยชอบธรรม ขอพระเจ้าสุรเสนะแห่งกรุงปัญจาละ พระเจ้ามัจฉะ พระเจ้ามัททะ พระเจ้าวัตตมานะ และพระราชาที่เหลือ พร้อมด้วยชาวเมืองทั้งหลาย จงเป็นสักขีพยาน อย่าให้การเดิมพัน มีการฉ้อโกง”
พระเจ้าธนัญชัย ห้อมล้อมด้วยพระราชา ๑๐๑ พระองค์ พาปุณณกยักษ์ เสด็จเข้าสู่โรงสกา พระราชาทุกพระองค์ และปุณณกยักษ์ เข้าประจำที่ เจ้าพนักงานยกกระดานสกาเงิน และนำลูกเต๋าสกาทอง มาตั้งลงตรงกลาง
ปุณณกยักษ์ทูลเชิญให้พระเจ้าธนัญชัยเป็นฝ่ายเลือกลูกสกาก่อน ตามพระทัยชอบ ลูกเต๋าสกาทั้งหมด มี ๒๔ ลูก แต่ละลูก มีชื่อว่า มาลิกะ สาวัฏฏะ พหุละ และสันติภัทร เป็นต้น พระราชาทรงเลือกลูกเต๋า ชื่อ “พหุละ” ส่วนปุณณกยักษ์ เลือกลูกเต๋า ชื่อ “สาวัฏฏะ”
พระราชา ตรัสกับปุณณกยักษ์ว่า “ถ้าเช่นนั้น ท่านจงทอดลูกสกาก่อน” ปุณณกยักษ์ กราบทูลว่า “ข้าแต่มหาราชเจ้า ยังไม่ถึงตาข้าพระองค์ ขอเชิญพระองค์ ทรงทอดสกาก่อนเถิด” พระราชา จึงทรงทอดก่อน
ตามปกติ พระเจ้าธนัญชัย มีเทพที่เคยเป็นพระชนนีในชาติที่ ๓ ถัดจากชาตินี้ไปคอยช่วยเหลือ จึงทำให้พระองค์ชนะสกาตลอดมา อารักขเทวดานั้น ได้สถิตอยู่ใกล้ ๆ พระราชา เมื่อพระราชาจะทอดสกา ทรงยกพระหัตถ์ ไหว้ระลึกถึงเทพธิดา แล้วสวดคาถาประจำพระองค์ ก่อนเล่นสกาว่า
“แม่น้ำทุกสาย ไหลไปคดเคี้ยว ป่าทุกผืน ดาษดื่นด้วยพืชพันธุ์ หญิงทั้งหลาย มักทำสิ่งที่ไม่ดี เมื่อมีโอกาส
ข้าแต่พระมารดา ขอได้โปรดช่วยข้าพเจ้า ให้ได้ชัยชนะ ขออย่าให้พ่ายแพ้ ขอให้ข้าพเจ้า มีแต่ความเจริญรุ่งเรือง ข้าพเจ้าจะทอดลูกสกาที่ทำด้วยทองชมพูนุท ๔ เหลี่ยมจตุรัส กว้างและยาว ๘ นิ้ว รุ่งเรืองอยู่ท่ามกลางบริษัท ขอให้พลิกขึ้นดังใจหวัง ขอพระมารดาจงเมตตาข้าพเจ้า ผู้มีสมบัติน้อย ดั่งที่คอยอนุเคราะห์ตลอดมา ทำให้มีแต่ความเจริญเช่นทุกวันนี้ ลูกเต๋าสกา ชื่อ “มาลี” มี ๘ แต้ม ชื่อ “สาวดี” มี ๖ แต้ม ชื่อ “พหุลี” มี ๔ แต้ม ชื่อ “สันติภัทร” มี ๒ แต้ม และสกาทั้งกระดาน พระจอมมุนี ตรัสว่า มี ๒๔ ตา”
ครั้นแล้วพระราชา ทรงเขย่าลูกสกาด้วยพระหัตถ์ โยนขึ้นไปในอากาศ ด้วยอานุภาพปุณณกยักษ์ ทำให้ลูกเต๋าพลิกตกลงมาไม่ดี ซึ่งจะทำให้พระราชาพ่ายแพ้ พระราชาทรงชำนาญในศาสตร์แห่งสกา ทรงทราบได้ทันทีว่า ถ้าลูกเต๋าสกา หมุนตกลงมาเช่นนี้ จะทำให้พระองค์ปราชัย ยื่นมือออกไปรับไว้ก่อน ตั้งแต่อยู่ในอากาศ ไม่ยอมให้ตกถึงพื้น แล้วโยนกลับขึ้นไปใหม่ แม้ครั้งที่ ๒ ก็ตกลงไม่ดีอีก จึงทรงรับไว้ แล้วโยนกลับขึ้นไปใหม่อีกครั้ง
ปุณณกยักษ์ คิดว่า พระราชาพระองค์นี้ เล่นสกากับยักษ์เช่นตนได้อย่างไรกัน อะไร ทำให้พระองค์รู้ได้ว่า สกาที่กำลังตกลงมา จะทำให้พระองค์แพ้ จึงยื่นมือออกไปรับไว้ก่อนทุกครั้ง ก็ทราบว่า เพราะอานุภาพอารักขเทวดา จึงถลึงตามองอารักขเทวดานั้น แสดงอาการโกรธ พออารักขเทวดาเห็นปุณณกยักษ์ ซึ่งเป็นยักษ์เสนาบดี เพ่งมองเช่นนั้น ก็สะดุ้งกลัว วิ่งหนีไปไกลถึงที่สุดขอบจักรวาล ยืนแอบตัวสั่นอยู่
พระราชาทรงโยนลูกสกาขึ้นไป เป็นครั้งที่ ๓ แม้จะทรงทราบว่า ลูกเต๋าที่กำลังตกลงมา จะทำให้พระองค์ปราชัย ก็ไม่สามารถรับไว้ได้ เพราะอานุภาพแห่งปุณณกยักษ์ ลูกเต๋านั้น ตกลงไม่ดี ทำให้พระองค์ปราชัยในที่สุด
ปุณณกยักษ์ทราบว่า พระราชายอมแพ้แล้ว จึงดีใจ ตบมือ หัวเราะ ประกาศชัยชนะของตน ดังกึกก้องว่า “ข้าพเจ้าชนะแล้ว ข้าพเจ้าชนะแล้ว ข้าพเจ้าชนะแล้ว” เสียงนั้น สะท้อนแผ่ไปไกลทั่วชมพูทวีป
พระราชา ทรงเสียพระทัยมาก ปุณณกยักษ์ ปลอบพระองค์ว่า “ข้าแต่พระมหาราชา เราทั้งสองเล่นสกา ต่างก็ต้องการชัยชนะ ถึงอย่างไร ก็ต้องมีผู้แพ้ ผู้ชนะ เพียงแต่ครั้งนี้ ข้าพระองค์ โชคดีกว่า จึงเป็นผู้ชนะ ขอพระองค์ทรงพระราชทานทรัพย์ที่เดิมพัน”
พระราชาตรัสว่า “เชิญท่านขนเอาทรัพย์สมบัติในแผ่นดินของเราไปตามต้องการเถิด”
ปุณณกยักษ์กราบทูลว่า “ช้าง ม้า โค แก้วมณี ตุ้มหู และแก้วแหวนอื่นใด ในแผ่นดินของพระองค์ ไม่ใช่ทรัพย์ที่ประเสริฐ บัณฑิตนามว่า “วิธูระ” ประเสริฐกว่าทรัพย์เหล่านั้นทั้งหมด ขอพระองค์โปรดพระราชทานวิธูรบัณฑิต แก่ข้าพระองค์”
พระราชา ได้ยินเช่นนั้น เหมือนถูกมือยักษ์ บีบที่ขั้วหัวใจ ตรัสด้วยพระวาจาสั่นเครือว่า“วิธูรบัณฑิต ไม่ใช่สมบัติ แต่เป็นเช่นกับชีวิตของเรา เป็นเกาะ เป็นที่พักพิง และเป็นผู้ชี้นำทางเรา ท่านไม่ควรนำวิธูรบัณฑิต ไปเปรียบกับทรัพย์อันต่ำค่า เช่นนั้น”
ปุณณกยักษ์กราบทูลว่า “การโต้เถียงกัน ทำให้เสียเวลาเปล่า ให้วิธูรบัณฑิต เป็นผู้ตัดสินเองดีกว่า เราทั้งสอง จะยอมรับตามนั้น” พระราชา ได้ยินเช่นนั้น ก็ทรงใจชื้นขึ้นมา ด้วยพระองค์ดำริว่า ถึงอย่างไร วิธูรบัณฑิต ก็ไม่ใช่สมบัติ พระองค์ จึงตรัสว่า “ท่านพูดได้ดีทีเดียว ไม่ได้เป็นการบีบบังคับเรา จนเกินไป พวกเรา ถามวิธูรบัณฑิตดู เมื่อเขาตอบอย่างไร ก็ถือเอาตามนั้น” จึงพาพระราชา ๑๐๑ พระองค์ และปุณณกยักษ์ เข้าไปยังธรรมสภา
ฝ่ายวิธูรบัณฑิต ลงจากอาสนะ ถวายบังคมพระราชาแล้ว ยืนอยู่ในที่สมควร
ปุณณกยักษ์ ทักทายปราศัยกับพระโพธิสัตว์ว่า “ท่านบัณฑิต เกียรติศัพท์ของท่าน ปรากฏไปในสากลโลกว่า ท่านเป็นผู้มีคุณธรรม ยึดมั่นในสัจจะยิ่งนัก แม้จะตาย ก็ไม่ยอมเสียสัจจะ ในวันนี้ เราจะได้รู้กันว่า บัณฑิตเช่นท่านยึดมั่นในสัจจะ จริงดังเกียรติศัพท์หรือไม่ ข้าพเจ้าขอถามท่านว่า ท่านเป็นทาส หรือเป็นพระญาติ ของพระราชา”
พระโพธิสัตว์ ดำริว่า ถ้าเราจะบอกมาณพนี้ว่า เราเป็นญาติที่ยิ่งกว่าญาติของพระราชา หรือ ไม่ได้เป็นอะไรกันกับพระราชาก็ได้ แต่ในโลกนี้ ไม่มีสิ่งใด จะเสมอด้วยสัจจะ เราจะพูดแต่คำสัตย์จริง เท่านั้น จึงบอกว่า “ในหมู่มนุษย์ ทาสมี ๔ จำพวก คือ ทาสในเรือนเบี้ย ทาสที่เขาเอาทรัพย์ไถ่มา ทาสที่ยอมตัวเป็นทาส และทาสเชลย แม้ข้าพเจ้า ก็เป็นทาสโดยกำเนิด ไม่ว่า พระราชาจะเจริญ หรือเสื่อม ก็ตาม ข้าพเจ้าก็จะคงยังเป็นทาสของพระองค์อยู่นั่นเอง ถ้าพระราชาจะพระราชทานข้าพเจ้า แก่ท่าน เป็นค่าเดิมพัน ก็ชื่อว่า เป็นการพระราชทาน โดยชอบธรรม”
ปุณณกยักษ์๑ ได้ยินดังนั้น ก็ตบมืออีกฉาดใหญ่ แสดงอาการร่าเริง ยินดี แล้วกล่าวว่า “วันนี้ ข้าพระองค์ชนะเป็นครั้งที่ ๒ แล้ว เพราะวิธูรบัณฑิต เป็นปราชญ์ ได้ตอบปัญหาอย่างแจ่มแจ้ง พระราชา ไม่เป็นธรรม แม้ข้าพระองค์ชนะสกา ก็ทรงบ่ายเบี่ยง ไม่ยอมมอบวิธูรบัณฑิตให้ข้าพระองค์”
พระราชา สดับดังนั้น ทรงเสียพระทัยมาก เนื่องจากพระองค์ ทรงคิดตลอดมาว่า วิธูรบัณฑิตเป็นเหมือนพระญาติของพระองค์ ทรงดำริว่า วิธูรบัณฑิต ไม่เห็นแก่พระองค์ ผู้มีอุปการคุณ ผู้ให้ลาภ ให้ยศ แต่เห็นแก่มาณพ ที่เพิ่งเห็นกันเดี๋ยวนี้ ทรงน้อยเนื้อต่ำใจ พิโรธพระโพธิสัตว์ แล้วตรัสกับปุณณกยักษ์ ด้วยความน้อยพระทัยว่า “มาณพ ถ้าวิธูรบัณฑิต มีค่าเพียงทาส หาใช่ญาติเราไม่ ท่านจงเอาเขาไปเสียเถิด”
ธรรมะสำหรับผู้ครองเรือน
พระราชา ทรงดำริว่า มาณพ จะพาวิธูรบัณฑิตไปแล้ว นับตั้งแต่วันนี้ไป ยากที่พระองค์ จะได้ฟัง ธรรมกถาอันไพเราะ จากวิธูรบัณฑิต ควรที่จะได้ถามปัญหาฆราวาสธรรมเอาไว้ก่อน จึงตรัสว่า “เมื่อท่านจากไป เราคงไม่มีโอกาสได้ฟังธรรมกถาอันไพเราะอีกแล้ว ขอให้ท่านรอสักครู่ จงแสดง หลักการใช้ชีวิต ให้เราฟังก่อน” ทรงอาราธนาพระโพธิสัตว์ แสดง ฆราวาสธรรม คือ หลักปฏิบัติ สำหรับผู้ครองเรือนว่า “ผู้อยู่ครองเรือน ควรประพฤติอย่างไร จึงจะได้ชื่อว่า มีความปลอดภัย ควรทำการสงเคราะห์อย่างไร ควรไม่มีการเบียดเบียนกันอย่างไร อย่างไร จึงจะชื่อว่ากล่าวแต่คำสัตย์ และทำอย่างไร จากโลกนี้ไปแล้ว จึงจะไม่เศร้าโศก”
๑ ในสมัยพุทธกาล ปุณณกยักษ์ กลับชาติมาเกิดเป็นพระฉันนะ ส่วนม้ามโนมัยสินธพ ยอดอาชา ได้กลับชาติมาเกิดเป็นม้ากัณฐกะ
พระโพธิสัตว์ รับพระบรมราชโองการแล้ว นั่งบนธรรมาสน์ วิสัชนาปัญหา ที่พระราชาตรัสถาม ว่า
“ผู้ครองเรือน ไม่พึงคบกับหญิงสาธารณ์ เป็นภรรยา อันได้ชื่อว่า เป็นชู้กับภรรยาของผู้อื่น ไม่ควรบริโภคอาหารอร่อย แต่เพียงผู้เดียว ไม่ควรพูดคุยแต่คำที่ไร้สาระ ทำให้ติดอยู่ในโลก ไม่ชี้ ทางสวรรค์และนิพพาน เพราะถ้อยคำเช่นนั้น ไม่ทำให้เกิดปัญญา ผู้ครองเรือน ควรเป็นผู้มีศีล สมบูรณ์ด้วยวัตร ไม่ประมาท มีปัญญา พิจารณาเหตุและผล มีความอ่อนน้อม ถ่อมตน ไม่เป็นคนกระด้าง หยาบคาย เป็นผู้สงบเสงี่ยม พูดจาไพเราะ สุภาพ อ่อนโยน น่าคบเป็นเพื่อน
ผู้ครองเรือน พึงสงเคราะห์ญาติพี่น้อง รู้จักทำบุญ ให้ทาน บำรุงสมณะและพราหมณ์ตามสมควร
ผู้ครองเรือน พึงเป็นผู้มีคุณธรรม ทรงจำอรรถธรรมที่ได้ยินได้ฟังมาแล้ว หมั่นไต่ถาม พึงเข้าไปหาท่านผู้มีศีล ผู้เป็นพหูสูต โดยเคารพ
ผู้ครองเรือน ควรมีความประพฤติอันปลอดภัยอย่างนี้ ควรมีความสงเคราะห์อย่างนี้ จะได้ไม่มีความทุกข์ และผู้ปฏิบัติอย่างนี้ จึงจะได้ชื่อว่า คนพูดคำสัตย์ เมื่อจากโลกนี้ไปแล้ว ก็ไม่เศร้าโศก”
พระโพธิสัตว์ แสดงฆราวาสธรรม ถวายพระราชาอย่างนี้แล้ว ลงจากบัลลังก์ ถวายบังคม พระราชา พระราชาทรงบูชาพระโพธิสัตว์มากมาย มีพระราชา ๑๐๑ พระองค์แวดล้อม เป็นบริวาร เสด็จกลับพระราชนิเวศน์ของพระองค์
สั่งเสียลูกเมีย
ส่วนพระโพธิสัตว์ จะกลับเรือนของตน ปุณณกยักษ์ ทักท้วงว่า “พระเจ้าแผ่นดิน พระราชทาน ท่าน ให้ข้าพเจ้าแล้ว เราจะไปด้วยกัน”
วิธูรบัณฑิต ขอให้รออยู่ก่อนสัก ๓ วัน ขอให้ตนได้สั่งสอนลูก ๆ ก่อน จึงค่อยไป ปุณณกยักษ์คิดว่า บัณฑิตนี้ เป็นคนพูดจริง เขามีอุปการะมาก แม้เขา ขอให้รออยู่ ๗ วันก็ตาม ครึ่งเดือนก็ตาม เราก็จะรอ จึงกล่าวว่า “เชิญท่านบัณฑิต จัดแจงกิจในเรือนตามสบายเถิด ตั้งแต่วันนี้ ท่านจงสั่งสอน บุตรภรรยา หลังจากท่านไม่อยู่ อย่าให้เขาได้ลำบาก” ปุณณกยักษ์จึงตามวิธูรบัณฑิตไปเรือน ด้วยการแสดงอาการของผู้มีมารยาทอันดีงามอย่างสูงสุด
วิธูรบัณฑิตมีปราสาทอยู่ ๓ หลัง หลังหนึ่งชื่อว่า “โกญจาปราสาท” หลังหนึ่งชื่อว่า“มยูรปราสาท” หลังหนึ่งชื่อว่า “ปิยเกตปราสาท” สำหรับเป็นที่พัก ๓ ฤดู วิธูรบัณฑิตพาปุณณกยักษ์ไปพักยังปราสาทหลังที่ดีที่สุด ให้จัดเตรียมห้องนอนบนชั้นที่ ๗ ให้เลี้ยงดูด้วยข้าวน้ำโภชนาหารอย่างดี แล้วสั่งให้หญิงสาว ๕๐๐ นาง คอยปรนนิบัติ พร้อมกับบอกว่า “ท่านอย่าเบื่อหน่าย จงอยู่ในที่นี้ จนกว่าจะถึงเวลา ตามที่กำหนดไว้” ครั้นมอบให้แล้ว ก็ไปพบบุตรและภรรยาของตน
ครั้นพระโพธิสัตว์ไปแล้ว พวกหญิงสาว ก็เริ่มบรรเลงดนตรี ฟ้อนรำ ขับเพลง ไพเราะจับใจกล่อมปุณณกยักษ์บนปราสาท
พระโพธิสัตว์เรียกบุตร ธิดา ภรรยา และสะใภ้ มาสั่งความว่า “พ่อจะให้โอวาทลูก ๆ จากนี้ไป ลูกจะได้เห็นพ่อเป็นครั้งสุดท้าย” นางอโนชาผู้เป็นภรรยาของวิธูรบัณฑิตและลูก ๆ ได้ยินเช่นนั้น ต่างก็พากันร้องไห้ระงม
วิธูรบัณฑิตเห็นบุตรธิดาร้องไห้เช่นนั้น ก็กลั้นน้ำตาไว้ไม่ได้ สวมกอดลูกร้องไห้ พลางจูบที่ศีรษะ ให้บุตรคนโต นอนหนุนตัก สักครู่หนึ่ง ก็ให้ลุกขึ้น แล้วออกจากห้อง ขึ้นนั่งบัลลังก์สอนลูก ๆ ว่า
“พระราชา พระราชทานพ่อ ให้มาณพคนหนึ่ง พ่อจะอยู่กับลูก ๆ ได้เพียง ๓ วัน จากนั้น พ่อ ก็ต้องตกไปอยู่ในอำนาจของมาณพนั้น เขาจะพาพ่อไปที่ไหน ก็ยังไม่รู้ วันนี้ พ่อมาสั่งสอนลูก พ่อยังไม่ได้ทำเครื่องป้องกันให้ลูก ๆ ก็ยังไปไม่ได้ จงจำคำพ่อให้ดี
ถ้าพระราชา ทรงต้องการกัลยาณมิตร พระองค์จะตรัสถามลูก ๆ ว่า เมื่อก่อน พ่อของพวกเจ้า สอนอะไรไว้บ้าง ถ้ารับสั่งให้ลูกนั่งอาสนะเสมอพระองค์ ให้รู้ว่า ในหมู่มนุษย์ ไม่มีใครมีชาติตระกูลเสมอด้วยพระมหากษัตริย์ ให้ลูกถวายบังคม กราบทูลอย่างนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ พระองค์อย่าได้รับสั่งอย่างนั้นเลย เพราะข้อนี้ มิใช่ธรรมเนียมที่ถือกันมาแต่โบราณ ขอเดชะ พระอาญามิพ้นเกล้า ข้าพระองค์ มีชาติต่ำต้อย หาควรนั่งอาสนะเสมอพระองค์ผู้สูงศักดิ์ไม่ เหมือนสุนัขจิ้งจอก มีชาติต่ำต้อย จะนั่งเสมอพญาไกรสรราชสีห์ อย่างไรได้ พระเจ้าข้า”
พวกบุตร ธิดา ญาติ และทาสกรรมกร ทั้งหมด ได้ยินพระโพธิสัตว์พูดเช่นนั้น ต่างพากันร้องไห้ พิไรรำพันไปตาม ๆ กัน พระโพธิสัตว์ ตักเตือนชนเหล่านั้น ให้มีสติ รู้สึกตัว คลายความโศกาดูร
ธรรมะสำหรับข้าราชการ
ครั้นเห็นบุตร ธิดา ญาติมิตร และเพื่อนสนิท สงบสติอารมณ์ได้แล้ว นิ่งเงียบกันอยู่ พระโพธิสัตว์ มีความดำริแห่งใจ ไม่หดหู่ กล่าวต่อไปว่า “ลูกอย่าวิตก อย่าเศร้าโศก อย่าร่ำไรรำพันไปเลย สังขาร ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน มีความแปรปรวนไป เป็นธรรมดา แม้ “ยศ” ย่อมเสื่อมไป เป็นธรรมดา มานั่งกันตรงนี้ พ่อจะแสดง “ราชวสดีธรรม” คือ หลักปฏิบัติ สำหรับข้าราชการ ให้ลูกฟัง อันจะเป็นเหตุให้ลูก ได้รับยศ จงตั้งใจฟังให้ดี
ข้าราชการประจำราชสำนักนั้น เมื่อพระเจ้าอยู่หัว ยังไม่ทรงทราบความสามารถ ก็ยังไม่พระราชทานตำแหน่งที่สำคัญ ให้รับผิดชอบ
(๑) เป็นข้าราชการ อย่ากล้าเกินไป อย่าขลาด จนทำให้เสียข้อราชการ ทั้งอย่าประมาทในราชกิจ อย่าเห็นว่า ตำแหน่งที่ได้รับ เป็นตำแหน่งเล็กน้อย ต้องถือว่า เป็นเรื่องสำคัญทุกเรื่องคอยระมัดระวัง อยู่เสมอ
(๒) เมื่อใดก็ตาม ที่พระเจ้าอยู่หัวทรงทราบว่า ข้าราชการผู้นั้น เป็นคนดี มีความรู้ มีความสามารถ และมีความซื่อสัตย์ สุจริต พระองค์ย่อมทรงวางพระราชหฤทัย ให้ดำรงตำแหน่งที่สำคัญ และจะไม่ทรงมีความลับ
(๓) เป็นข้าราชการ เมื่อพระเจ้าอยู่หัว ยังมิได้ตรัสใช้ ก็ไม่ควรหวั่นไหว น้อยเนื้อต่ำใจ ตกอยู่ภายใต้อำนาจแห่งอคติ พึงตั้งใจสนองงานในราชกิจ ตามหน้าที่ เสมอต้นเสมอปลาย เที่ยงตรง เหมือนคนประคองตราชั่ง
(๔) เป็นข้าราชการ ต้องหมั่นเรียนรู้ในราชกิจ ให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ ต้องปฏิบัติราชกิจทุกอย่าง เสมอต้นเสมอปลาย เที่ยงตรงเหมือนคนประคองตราชั่ง
(๕) เป็นข้าราชการ พึงเป็นผู้ฉลาดในราชกิจ แม้ถูกตรัสใช้ ไม่ว่าจะเป็นกลางวัน หรือกลางคืน ก็ไม่พึงหวาดหวั่นในราชกิจนั้น ๆ
(๖) ลาดพระบาท ที่เขาปูไว้สำหรับเสด็จพระราชดำเนิน แม้พระเจ้าอยู่หัว จะทรงอนุญาต ข้าราชการ ก็ไม่ควรเดินบนลาดพระบาทนั้น
(๗) เป็นข้าราชการ ข้าวของเครื่องใช้ใดก็ตาม ที่พระเจ้าอยู่หัวทรงใช้ อย่าพึงใช้ทัดเทียม กับพระองค์ เป็นอันขาด ต้องใช้ของที่มีราคาด้อยกว่าเสมอ
(๘) เป็นข้าราชการ ไม่พึงใช้สอย เสื้อผ้า เครื่องประดับ มาลา เครื่องลูบไล้ ทัดเทียมกับพระราชา ตลอดจน ไม่พึงแสดงอากัปกิริยา หรือพูดจา ตามแบบอย่างพระองค์ พึงแสดงอากัปกิริยา ที่แตกต่างออกไป
(๙) เมื่อพระเจ้าอยู่หัว ทรงสำราญอยู่ท่ามกลางหมู่อำมาตย์ มีนางสนมกำนัลเฝ้าแหนอยู่ พึงเป็นผู้ฉลาด อย่าแสดงอาการทอดสนิทกับนางสนม กำนัลใน
(๑๐) เป็นข้าราชการ อย่าคิดฟุ้งซ่าน คะนองกาย คะนองปาก ให้เสียมารยาท พึงเป็นผู้มีปัญญา รักษาตน ต้องสำรวมระวัง จิตใจต้องมั่นคง
(๑๑) เป็นข้าราชการ ไม่พึงเล่นหัว หยอกล้อ ไม่พึงเจรจาปราศรัยในที่ลับ กับนางสนมกำนัลใน อย่าพึงฉ้อโกงชาติ บ้านเมือง
(๑๒) เป็นข้าราชการ อย่าเห็นแก่นอน อย่าดื่มสุราจนเมามาย จนเป็นเหตุให้เสียราชกิจ อย่าฆ่าสัตว์ ในสถานที่พระราชทานอภัย อันเป็นการฝ่าฝืนพระราชอำนาจ
(๑๓) เป็นข้าราชการ อย่านั่งร่วมพระแท่นที่ประทับ อันเป็นพระราชอาสน์ ทั้งในเรือ ในรถ อย่าทะนงตนว่า เป็นคนโปรดปราน
(๑๔) เป็นข้าราชการ ต้องใช้ไหวพริบ พิจารณาให้ดี ขณะถวายการรับใช้ ไม่ควรเข้าเฝ้าให้ใกล้นัก ไม่ควรอยู่ห่างไกลนัก ควรยืนหรือนั่งเฝ้า พอให้พระองค์ทอดพระเนตรเห็นถนัด พอจะได้ยินพระราชดำรัส ที่ตรัสใช้
(๑๕) เป็นข้าราชการ อย่าชะล่าใจว่า พระเจ้าอยู่หัว เป็นเพื่อนเรา พระเจ้าอยู่หัว เป็นคู่หู กันกับเรา ต้องคอยระมัดระวังตัวอยู่เสมอ เหมือนคนระวังละอองข้าวเปลือก ปลิวเข้าตาง่าย
(๑๖) เป็นข้าราชการ อย่าชะล่าใจว่า ตนเป็นนักปราชญ์ราชบัณฑิต ที่ทรงยกย่อง เชิดชู แล้วกล่าววาจาหยาบคาย จ้วงจาบ เพ็ดทูล ขณะพระองค์ประทับอยู่ท่ามกลางเสนาพฤฒามาตย์
(๑๗) เป็นข้าราชการ แม้จะได้รับอนุญาตให้เข้านอกออกในได้ เป็นพิเศษ ก็ไม่พึงย่ามใจ พึงระมัดระวังตนเองไว้ เหมือนคนระวังไฟ
(๑๘) เมื่อพระเจ้าอยู่หัว จะทรงพระราชทานยกย่องพระราชโอรส หรือ พระราชวงศ์ ด้วยตำแหน่งใด ๆ อย่าด่วนเพ็ดทูลคุณหรือโทษ จงนิ่งดูให้ดีก่อน
(๑๙) เมื่อพระเจ้าอยู่หัว จะทรงพระราชทานปูนบำเหน็จรางวัลตามความดีความชอบในราชการ แก่ผู้ใด อย่าทูลทัดทานตัดลาภเขาผู้นั้น
(๒๐) เป็นข้าราชการ ผู้เป็นปราชญ์ พึงโอนอ่อนไป ดุจคันธนู น้อมเข้าหากัน และพึงไหวไปตาม เหมือนไผ่ลู่ตามลม อย่าทูลทัดทานให้เสียราชการ
(๒๑) เป็นข้าราชการ อย่าเห็นแก่กิน ต้องเป็นคนมีท้องบางดุจคันธนู ไม่ควรพูดมาก ให้ทำตัวเหมือนปลาไม่มีลิ้น พึงเป็นผู้อยู่ง่ายกินง่าย แต่องอาจแกล้วกล้า มีปัญญารักษาตน
(๒๒) เป็นข้าราชการ อย่าเที่ยวผู้หญิงมากเกินไป จะเป็นเหตุให้หมดราศี จิตใจไม่ผ่องใส ทำให้เกิดโรคร้าย เกิดความกระวนกระวาย ไม่กระปรี้กระเปร่า หมดกำลัง
(๒๓) เป็นข้าราชการ ควรประหยัดปาก ประหยัดคำ ไม่ควรพูดมาก จนพร่ำเพรื่อ บ้าน้ำลาย และไม่ควรนิ่ง จนซื่อบื้อ เหมือนคนใบ้ เมื่อถึงคราวพูด ก็ต้องพูดพอประมาณ
(๒๔) เป็นข้าราชการ ต้องอดทน อย่าฉุนเฉียวโกรธง่าย อย่าพูดกระทบกระเทียบ เปรียบเปรย แดกดัน ให้รำคาญหู ต้องเป็นคนพูดจริง มีวาจาอ่อนโยน น่าคบหาเป็นเพื่อน อย่าพูดส่อเสียด เพ้อเจ้อ เหลวไหล ไร้สาระ
(๒๕) เป็นข้าราชการ ต้องเลี้ยงดูบิดามารดา มีความอ่อนน้อมถ่อมตน ต่อญาติผู้ใหญ่ในตระกูล เป็นคนอ่อนโยน พูดวาจาไพเราะ
(๒๖) เป็นข้าราชการ พึงเป็นคนมีมารยาทงาม มีศิลปะ หมั่นฝึกฝนตนเองอยู่เสมอ มุ่งทำประโยชน์ มีความหนักแน่น ไม่หวั่นไหว ทั้งคราวโชค หรือคราวเคราะห์ มีอัธยาศัยอ่อนโยน ไม่เย่อหยิ่ง ไม่ประมาทในราชกิจ มีเนื้อตัวสะอาดสะอ้าน เป็นคนขยันเอางาน
(๒๗) เป็นข้าราชการ ควรอ่อนน้อมถ่อมตน เคารพยำเกรงผู้ใหญ่ สงบเสงี่ยมเจียมตัว ร่าเริง แจ่มใส ทำงานกับเพื่อนได้ดี
(๒๘) เป็นข้าราชการ หากไม่ได้รับมอบหมาย อย่าขวนขวายเข้าไปเกี่ยวข้อง กับผู้ที่มาราชการลับ พึงเอาใจใส่แต่เรื่องที่เกี่ยวกับเจ้านายของตน เท่านั้น
(๒๙) เป็นข้าราชการ ควรคบหาสมณะ และพราหมณ์ ผู้มีศีล เป็นพหูสูต โดยเคารพ
(๓๐) เป็นข้าราชการ เมื่อคบกับสมณะ และพราหมณ์ ผู้มีศีล เป็นพหูสูตแล้ว พึงสมาทานรักษาอุโบสถศีล โดยเคารพ
(๓๑) เป็นข้าราชการ เมื่อหวังความเจริญก้าวหน้า พึงบำรุงเลี้ยงสมณะและพราหมณ์ผู้มีศีล เป็นพหูสูต ด้วยข้าวปลาอาหาร แล้วสอบถามบาปบุญคุณโทษ ประโยชน์ และมิใช่ประโยชน์ จากท่านเหล่านั้น
(๓๒) เป็นข้าราชการ ผู้หวังความเจริญก้าวหน้า พึงเข้าไปสมาคมคบหากับสมณะและพราหมณ์ ผู้มีศีล เป็นพหูสูต มีปัญญา
(๓๓) เป็นข้าราชการ ไม่พึงยกเลิกการให้ทาน ที่พระเจ้าอยู่หัวเคยพระราชทานให้สมณะและพราหมณ์ อนึ่ง ในเวลาที่พระเจ้าอยู่หัว กำลังพระราชทาน ถ้าเห็นวณิพกมา ก็ไม่พึงห้ามปราม อะไร
(๓๔) เป็นข้าราชการ พึงมีปัญญา มีความรอบรู้ ฉลาดในวิธีจัดการราชกิจ รู้จักกาลเทศะ
(๓๕) เป็นข้าราชการ พึงขยันหมั่นเพียร ไม่ประมาท มีความรู้ในงานที่ตนรับผิดชอบ ทำงานในหน้าที่ ให้สำเร็จเรียบร้อย ด้วยดี
(๓๖) อนึ่ง เป็นข้าราชการ ควรไปตรวจตราดูลานข้าวสาลี ปศุสัตว์ และนา อย่างสม่ำเสมอ พึงให้เก็บข้าวเปลือกไว้ พอประมาณ ให้หุงเลี้ยงคนในเรือน พอประมาณ
(๓๗) เป็นข้าราชการ ไม่ควรตั้งบุตร ธิดา พี่น้อง หรือเครือญาติ ผู้ไม่มีศีลธรรม ให้ดำรงตำแหน่งที่สำคัญ เพราะว่า เขาเป็นคนพาล คนพาล ไม่นับว่า เป็นญาติ เพราะคนพาล รับราชการไม่ได้ มีแต่จะทำลายชื่อเสียงทรัพย์สมบัติ ให้พินาศ คนเช่นนี้ ไม่ควรยกย่อง ให้ดำรงตำแหน่งที่สำคัญ แต่ถ้าเขามาหา ก็ควรต้อนรับ ให้ข้าวของ เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม และอาหาร ตามสมควร
(๓๘) พึงแต่งตั้งทาส กรรมกร หรือคนรับใช้ ที่มีศีลธรรม ขยันหมั่นเพียร ให้ดำรงตำแหน่งที่สำคัญ
(๓๙) เป็นข้าราชการ ต้องมีศีล มีสัตย์ อย่าละโมบโลภมาก อย่าเห็นแก่พวกพ้องเข้าข้างคนผิด อย่าหน้าไหว้หลังหลอก พึงทำตามคำสั่ง มุ่งหวังประโยชน์แก่เจ้านายตน
(๔๐) เป็นข้าราชการ พึงเป็นผู้รู้จักพระราชอัธยาศัย และปฏิบัติตามพระราชประสงค์ อย่าขัดพระราชประสงค์
(๔๑) เป็นข้าราชการ เวลาขัดสีพระวรกาย และช่วยสรงสนาน พึงก้มศีรษะ ล้างพระบาท แม้ถูกกริ้ว ก็อย่าแสดงอาการโกรธ
(๔๒) คนผู้หวังความเจริญ ยังยอมไหว้หม้อน้ำ และทำประทักษิณนกแอ่นลมได้ ก็แล้วไฉน จะไม่ยอมนอบน้อมพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงเป็นนักปราชญ์ ผู้สูงสุด สามารถพระราชทานสมบัติได้ทุกอย่าง
(๔๓) พระเจ้าอยู่หัว พระราชทานที่นอน ผ้านุ่ง ผ้าห่ม ยานพาหนะ ที่อยู่อาศัย และ บ้านเรือน ตลอดจนโภคสมบัติให้ได้ เหมือนมหาเมฆ ทำให้น้ำฝนตก เป็นประโยชน์แก่หมู่สัตว์ทั่วไป
นี้ ชื่อว่า “ราชวสดีธรรม” เป็นหลักปฏิบัติ สำหรับข้าราชการ ในราชสำนัก นรชนผู้ประพฤติตาม ย่อมทำให้พระเจ้าอยู่หัว โปรดปรานได้ และย่อมได้รับการยกย่องจากเจ้านายทั้งหลาย
ครั้นวิธูรบัณฑิต แสดงราชวสดีธรรม อันเป็นหน้าที่ของข้าราชการที่ดี สอนบุตร ภรรยา ญาติมิตร จบลง ก็เป็นวันที่ ๓ ครบตามที่กำหนดไว้ จึงอาบน้ำแต่เช้าตรู่ บริโภคอาหารแล้ว ห้อมล้อมด้วยหมู่ญาติ ไปทูลลาพระราชา และได้กราบทูลฝากบุตรและภรรยาของตนว่า “ขอเดชะ ฝ่าพระบาท ขอพระองค์ ทรงพระกรุณาชุบเลี้ยงบุตร ภรรยา และญาติมิตร ของข้าพระองค์ เหมือนข้าพระองค์ ยังพึ่งพระบรมโพธิสมภาร โดยที่หมู่ญาติของข้าพระองค์ จะไม่เดือดร้อนในภายหลัง การที่ข้าพระองค์ ตอบมาณพว่า ข้าพระองค์ เป็นทาสนั้น เป็นความผิดพลาดของข้าพระองค์ หากจะมีข้อผิดพลาดสิ่งใด ขอพระองค์ ทรงพระราชทานอภัยโทษ ให้แก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด”
พระราชา ตรัสว่า “ท่านไม่ไป นั่นแหละ เราจึงจะพอใจ เราจะฆ่ามาณพนั้น ปิดปาก หมกไว้ให้มิดชิดเสีย เรื่องทั้งหมด ก็จะจบลง โดยไม่มีใครรู้ ท่านอย่าไปเลย”
พระโพธิสัตว์ กราบทูลว่า “ขอฝ่าพระบาท อย่าตรัสเช่นนั้น อย่าทรงตั้ง พระราชหฤทัยไว้ในอธรรมเลย ขอจงทรงขวนขวายในอรรถและธรรมเถิด การทำกรรมชั่วไม่ดี บัณฑิตติเตียน ผู้ทำกรรมชั่ว จะเกิดในนรกในภายหลัง การทำเช่นนี้ มิใช่ธรรม ไม่ควรทำ บัดนี้ ข้าพระองค์ ได้ตกเป็นทาสมาณพแล้ว เจ้านาย ย่อมมีอำนาจเหนือทาส เขาจะทุบตี เผา หรือฆ่าเสียก็ได้ ข้าพระองค์ ไม่โกรธเลย ข้าพระองค์ กราบทูลลา”
ขณะนั้น ประชาชนมาชุมนุมกัน ที่ท้องสนามหลวง พระโพธิสัตว์ ถวายบังคมลาพระราชา ประชาชนชาวพระนคร ต่างพูดกันเซ็งแซ่ว่า “วิธูรบัณฑิตถูกมาณพ นำตัวไปแล้ว พวกเราจะทำอย่างไรดี” ฝูงชนอดกลั้นความโศกไว้ไม่ได้ ต่างพากันเอามือกุมหน้า ร้องไห้สะอึกสะอื้น
พระโพธิสัตว์หยุดปราศรัยสั่งสอนชาวพระนครว่า “ญาติมิตรแห่งปวงข้าทั้งหลาย ขอพวกท่าน อย่าได้วิตกทุกข์ร้อนไปเลย สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง แม้สรีระก็ไม่ยั่งยืน ยศถาบรรดาศักดิ์ อันโลกธรรมสมมติ ย่อมเสื่อมไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลาย จงให้ทาน รักษาศีล อย่าได้ประมาทในการทำบุญ กุศล แล้วจะมีความสุขทั้งชาตินี้และชาติหน้า นี่คือสมบัติ ที่เที่ยงแท้ และยั่งยืน” จากนั้น จึงกลับเรือนของตน
ขณะนั้น ธรรมบาลกุมาร พาน้อง ๆ ออกไปคอยต้อนรับบิดา ที่ประตูหน้าบ้าน พระโพธิสัตว์เห็นหน้าลูก ๆ แม้จะมีความหนักแน่น ก็กลั้นน้ำตาไว้ไม่ได้ ตรงเข้าสวมกอดลูกไว้แนบอก รู้สึกสับสนว้าวุ่นใจ
พระโพธิสัตว์นั้น มีบุตร ธิดา ภริยา และข้าทาส บริวาร กรรมกร มิตรสหายเป็นอันมาก ต่างกอดกัน ร้องไห้ ล้มฟุบลงทับกัน
พระสนมกำนัลฝ่ายใน พระราชกุมาร พราหมณ์ พวกพ่อค้า วาณิช ชาวนา อาณาประชาราษฎร์ ตลอดจนกองทัพกรมกองต่าง ๆ ต่างก็มายืนร้องไห้สะอึกสะอื้น อยู่ในนิเวศน์ของวิธูรบัณฑิตว่า “เพราะเหตุไร ท่านจึงทิ้งพวกเราไป”
พระโพธิสัตว์ปลอบโยนประชาชนให้หายเศร้าโศก บอกเรื่องที่ควรจะบอกทุกอย่างแก่บุตรและภริยา เสร็จแล้ว จึงไปหาปุณณกยักษ์ที่ปราสาท ปุณณกยักษ์กล่าวว่า “ท่านบัณฑิต เรารีบไปกันเถอะ หนทางข้างหน้า ยังไกลนัก อย่าชักช้าอยู่เลย จงจับหางม้าอาชาไนย ไม่ต้องกลัว”
พระโพธิสัตว์กล่าวว่า “เราหาได้กลัวตายไม่ เพราะเราไม่ได้ทำกรรมชั่ว อันจะเป็นเหตุให้ไปเกิดในนรกไว้”
พระโพธิสัตว์ บันลือสีหนาท อย่างนี้แล้ว ไม่หวาดสะดุ้ง ไม่กลัว องอาจ ดังพญาไกรสรราชสีห์ อธิษฐานบารมี อย่างแน่วแน่ว่า “ขออย่าให้ผ้าผืนนี้ หลุดออกจากกาย” แล้วนุ่งผ้าให้กระชับ จับหางม้าด้วยมือทั้งสอง กระหวัดหางม้าไว้มั่น แล้วกล่าวว่า “เชิญท่าน นำเราไปเถิด”
ฝ่ามรสุมชีวิต
ปุณณกยักษ์กระตุกบังเหียน ให้สัญญาณม้ามโนมัยจอมอาชา โจนทะยานเผ่นโผน พาวิธูรบัณฑิตเหาะไปในอากาศ เข้าสู่เขากาฬคิรีอย่างรวดเร็ว พลางคิดว่า ควรทำให้วิธูรบัณฑิตตาย แล้วผ่าเอาหัวใจ ทิ้งศพไว้ในระหว่างภูเขา จึงไปนาคพิภพ
ปุณณกยักษ์ควบม้าไปในระหว่างทาง ที่มีต้นไม้และภูเขา เหวี่ยงพระโพธิสัตว์ ให้กระทบกับต้นไม้และซอกภูเขา หมายให้ตาย โดยชอบธรรม ด้วยอานุภาพแห่งสัจจะพระโพธิสัตว์ ทั้งต้นไม้ และภูเขา ได้แหวกออกเป็นทาง ห่างจากร่างพระโพธิสัตว์ข้างละศอก ปุณณกยักษ์เหลียวกลับมามองดูว่า พระโพธิสัตว์ตายหรือยัง เห็นหน้าตายังผ่องใส รู้ว่า ยังไม่ตาย จึงควบม้าไประหว่างต้นไม้และภูเขา เหวี่ยงพระโพธิสัตว์ ให้กระทบที่ต้นไม้และซอกภูเขาอีก ต้นไม้และภูเขา ก็แหวกออกเช่นเคย เป็นที่น่าอัศจรรย์ ถึงอย่างนั้น พระโพธิสัตว์ ก็ได้รับความลำบากอย่างยิ่ง
ปุณณกยักษ์ คิดว่า บัณฑิตนี้ ยังไม่ตายอีก เราจะทำให้วิธูรบัณฑิตแหลกละเอียดกลางพายุ จึงควบม้าเข้าไปกลางกระแสพายุกล้า เหลียวกลับมาดู ก็ยังเห็นหน้าตาพระโพธิสัตว์เบิกบานอยู่เหมือนเดิม ยิ่งทำให้ปุณณกยักษ์โมโห จึงควบม้าเข้าไปกลางกระแสพายุกล้า วิ่งกลับไปกลับมาอีกถึง ๗ รอบ พายุได้แหวกออกเป็นทางให้พระโพธิสัตว์
ปุณณกยักษ์ควบม้าไป หมายใจให้พระโพธิสัตว์กระทบที่ลมเวรัมภะ แม้ลมเวรัมภะ ที่พัดกระหน่ำส่งเสียงครืน ๆ ดุจเสียงฟ้าผ่า ก็แหวกออกเป็นทางให้พระโพธิสัตว์เช่นกัน เมื่อปุณณกยักษ์ เห็นว่า ลมเวรัมภะทำอันตรายพระโพธิสัตว์ไม่ได้ ก็ควบม้าไปเขากาฬคิรีบรรพต
ในเวลาที่วิธูรบัณฑิตถูกปุณณกยักษ์ในคราบมาณพน้อยพาไปนั้น บุตร ภรรยา และบริวารของวิธูรบัณฑิต ไปที่พักปุณณกยักษ์ ไม่เห็นพระโพธิสัตว์ ต่างพากันร้องไห้ ล้มกลิ้งเกลือกลงอย่างน่าเวทนา
บริวารที่ปราสาท ซึ่งเห็นปุณณกยักษ์พาวิธูรบัณฑิตไปทางอากาศ บอกกันและกันให้ทราบว่า มาณพไม่ได้พาวิธูรบัณฑิตไปตามทาง แต่พาไปทางอากาศ ยิ่งทำให้ผู้คนร้องไห้คร่ำครวญมากขึ้น
ข่าวคราววิธูรบัณฑิตถูกนำไปทางอากาศแพร่กระจายออกไป ความเศร้าโศกก็แผ่ไปทั่วพระนคร ประชาชนต่างพากันร้องไห้ถึงพระโพธิสัตว์ จึงพากันไปชุมนุมร้องไห้ เสียงดังกึกก้องไปทั่ว พระบรมมหาราชวัง พระราชา สดับเสียงคร่ำครวญของประชาชน จึงตรัสถามถึงสาเหตุ
ชาวพระนคร กราบทูลให้พระราชาทรงทราบว่า “ขอเดชะ ได้ยินว่า มาณพนั้น ไม่ใช่พราหมณ์ แต่เป็นยักษ์จำแลงเป็นพราหมณ์ มาเอาวิธูรบัณฑิตไป ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย สูญเสียวิธูรบัณฑิต แล้ว เห็นจะมีชีวิตอยู่ต่อไปไม่ได้ ถ้าวิธูรบัณฑิต ไม่กลับภายใน ๗ วัน พวกข้าพระพุทธเจ้าจะขนฟืน มากองไว้ แล้วก่อไฟ ให้เป็นเปลวลุกโพลงโชติช่วง เผาตัวตาย๒”
พระราชาตรัสกับประชาชนของพระองค์ว่า “เราสูญเสียวิธูรบัณฑิตไป แม้เราเอง ก็เสียใจไม่น้อย ความรู้สึกเรา ไม่ต่างจากพวกท่าน แต่วิธูรบัณฑิต ฉลาด เฉียบแหลม สามารถแสดงประโยชน์ และมิใช่ประโยชน์ ได้แจ้งชัด มีปัญญาพิจารณาได้อย่างรอบคอบ จะเอาตัวรอดได้ไม่ยาก ขอพวกท่าน อย่ากังวล อย่าพากันเศร้าโศก อย่าพากันคร่ำครวญ ให้มากไปเลย เราเชื่อว่า วิธูรบัณฑิต จะช่วยเหลือตนเอง เอาตัวรอดกลับมาได้”
ชาวพระนคร กลับได้ความอบอุ่นใจว่า วิธูรบัณฑิต คงจะทูลพระราชาถึงวิธีเอาตัวรอดไว้แล้ว จึงพากันกลับเรือนของตน
๒ แม้ในการที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพาน ทวยเทพ และมนุษย์ทั้งหลาย จะมีความเสียใจ มาก แต่ก็ไม่มีใครพูดว่า พวกเรา จะเผาตัวเองตายตามพระพุทธเจ้า เช่นกับครั้งพระพุทธเจ้าเสวยพระชาติ เป็นวิธูรบัณฑิต
ปุณณกยักษ์วางพระโพธิสัตว์ไว้ แล้วไปยืนคิดแผนการณ์ บนยอดเขาว่า ถ้าวิธูรบัณฑิตยังมีชีวิตอยู่ เราก็จะไม่ได้ สิ่งที่ปรารถนา เราจะฆ่าวิธูรบัณฑิตให้ตาย โดยชอบธรรม ได้อย่างไร จึงจะได้เนื้อหทัย ไปถวายพระนางวิมลา จากนั้น ค่อยรับนางอิรันทดีไปเทวโลก เราไม่ควรฆ่าวิธูรบัณฑิตด้วยมือของตน แต่จะให้ตกใจกลัว จนหัวใจวายตาย
คิดได้ดังนี้ จึงแปลงกายเป็นยักษ์ใหญ่ น่าสะพรึงกลัว มาข่มขู่ ผลักพระโพธิสัตว์ ให้ล้มลง จับเท้า ทั้งสอง ยัดใส่ปาก ทำท่าจะเคี้ยวกิน ถึงทำเช่นนั้น ก็ไม่ได้ทำให้พระโพธิสัตว์ ตกใจกลัว แม้แต่เพียงอาการขนลุก ก็ยังไม่มี
ปุณณกยักษ์ จำแลงเป็นพญาไกรสรราชสีห์ วิ่งมา เหมือนจะกัดให้จมเขี้ยวบ้าง แปลงเป็นช้างตกมันตัวใหญ่โตมหึมา วิ่งมา เหมือนจะเอางาทิ่มแทงให้บี้แบนบ้าง แม้เช่นนั้น ก็ไม่ได้ทำให้วิธูรบัณฑิต หวั่นไหว ปุณณกยักษ์ จึงนฤมิตเป็นงูใหญ่ เลื้อยมารัดร่างวิธูรบัณฑิต แล้วแผ่พังพานใหญ่ เหนือศีรษะ แต่ก็ไม่ได้ทำให้วิธูรบัณฑิต ครั่นคร้ามหวาดกลัว
ปุณณกยักษ์ จึงบันดาลให้เกิดพายุใหญ่ พัดมาอย่างแรงกล้า ตั้งใจหอบเอาวิธูรบัณฑิตขึ้นไป แล้วตกลงมา ร่างแหลกเหลว แต่พายุใหญ่ ก็มิอาจ แม้จะพัดขนวิธูรบัณฑิต ให้ปลิวได้
ปุณณกยักษ์ จึงแทรกภูเขา เข้าไปเขย่าให้สั่นไหวไปมา ดุจพญาช้างเขย่าต้นไม้ ถึงอย่างนั้น ก็ไม่ได้ทำให้วิธูรบัณฑิต เคลื่อนจากที่ยืน จึงแทรกภูเขาเข้าไปอีกครั้ง ส่งเสียงคำรณร้องดังกึกก้อง กัมปนาท จนแผ่นดิน ท้องฟ้า สะเทือนเลื่อนลั่น หวังให้วิธูรบัณฑิต หัวใจวายตาย ถึงอย่างนั้น ก็ไม่ได้ ทำให้วิธูรบัณฑิต ขนลุก
แท้จริง พระโพธิสัตว์ รู้ว่า ผู้ที่แปลงเป็นยักษ์ เป็นราชสีห์ เป็นช้าง และเป็นงูใหญ่ มาทำอันตราย โดยประการต่าง ๆ คือ มาณพนั้น หาใช่ใครอื่นไม่
ปุณณกยักษ์คิดว่า วิธูรบัณฑิต ตายเองไม่ได้ เห็นที ต้องลงมือฆ่าเอง จึงจับเท้าวิธูรบัณฑิต ยกขึ้น อย่างกระชับมั่น ให้ห้อยหัวลง กวัดแกว่งไปมา แล้วขว้างลอยคว้าง ไปตกลงที่ภูเขาไกลประมาณ ๑๕ โยชน์ แล้วยื่นมือออกไป จับเท้ายกขึ้นดูว่า ตายหรือยัง เมื่อเห็นว่ายังไม่ตาย จึงขว้างออกไปอีกเป็นครั้งที่ ๒ ตกลงไกลถึง ๓๐ โยชน์ แล้วยื่นมือออกไป จับยกขึ้นดูอีก เห็นว่ายังมีชีวิตอยู่ คิดว่า คราวนี้ ต้องให้ตาย ถ้าไม่ตาย จะจับฟาดลงบนยอดเขานี้ จึงขว้างออกไป เป็นครั้งที่ ๓ ลอยคว้างออกไป ตกไกลถึง ๖๐ โยชน์ แล้วจึงยื่นมือออกไป จับเท้าวิธูรบัณฑิต ยกขึ้น มองดูหน้า
ผู้มีปัญญารักษาตน
พระโพธิสัตว์ คิดว่า ครั้งแรก มาณพนี้ ขว้างเราสองครั้งสามครั้ง ไปไกลถึง ๖๐ โยชน์ คราวนี้จะจับเรา ฟาดกับยอดเขา ให้ตาย จะถามดูว่า ทำไมจึงจะฆ่าเรา
ขณะที่ปุณณกยักษ์ จับเท้าพระโพธิสัตว์ ยกขึ้น ให้หัวห้อยลง หมายใจ จะฟาดลงกับยอดเขา แม้จะน่าสยดสยอง น่าหวาดเสียว แต่ก็ไม่ได้ทำให้พระโพธิสัตว์สะดุ้ง พระโพธิสัตว์ จึงถามทั้งที่หัวยังห้อยอยู่ว่า “มาณพ ท่านเป็นอมนุษย์ หรือเทวดา รูปร่าง หน้าตา เหมือนจะเป็นคนดี แต่กลับไม่ได้เป็นคนดี อย่างหน้าตา ดู ๆ คล้ายจะสำรวม แต่กลับไม่สำรวม ทำกรรมชั่วช้า ความรู้สึกดี ๆ แม้แต่น้อย ไม่มีในจิตใจท่านเลย ขอถามท่านหน่อยเถอะ ความจริงแล้ว ท่านเป็นใคร กันแน่ ท่านจับเราโยนลงเหว หวังให้ตาย เราตายแล้ว ท่านจะได้อะไร”
ปุณณกยักษ์กล่าวว่า “ท่านผู้เป็นปราชญ์ เราเป็นยักษ์ ชื่อ ปุณณกะ เป็นอำมาตย์ของท้าวกุเวร” ครั้นแนะนำตนเองแล้ว ได้บอกถึงสาเหตุว่า “พญานาค นามว่า “วรุณ” ผู้ครอบครอง นาคพิภพ มีธิดารูปงาม นามว่า “อิรันทดี” เรารักนาง ผู้มีเอวงาม อยากได้มาเป็นภรรยา จึงตั้งใจ ฆ่าท่าน”
วิธูรบัณฑิต คิดว่า มนุษย์ย่อยยับเพราะความเข้าใจผิดกันมามากนักแล้ว เมื่อปุณณกยักษ์อยากได้นางอิรันทดีมาเป็นภรรยา แล้วทำไม จะต้องฆ่าตน จึงถามด้วยวาจาอ่อนโยนว่า “ปุณณกยักษ์ ท่านอย่าโง่นักเลย ผู้คนเป็นอันมาก ล้มตาย เพราะความเข้าใจผิด เมื่อท่านรักนางอิรันทดี แล้วทำไม ต้องฆ่าเรา เมื่อเราตายแล้ว ท่านจะได้นางอย่างไร ฟังแล้ว ไม่เห็นจะเกี่ยวอะไรกัน”
ปุณณกยักษ์กล่าวว่า “เราปรารถนาธิดาพญาวรุณนาคราช จึงได้ไปสู่ขอ พญาวรุณนาคราช ตรัสกับเราว่า ถ้าได้ดวงหทัยวิธูรบัณฑิต แล้วนำมานาคพิภพ โดยชอบธรรม จึงจะยอมมอบธิดาให้ เราจึงพยายามฆ่าท่าน เราไม่ได้โง่ ทั้งไม่ได้เข้าใจอะไรผิดเลย”
วิธูรบัณฑิต ตรึกตรองดูแล้ว มองไม่เห็นว่า พระนางวิมลา จะเอาหัวใจของตนไปทำอะไร พระนางไม่น่าจะต้องการหัวใจ แท้จริงแล้ว ปัญญานั่นเอง คือ หัวใจของบัณฑิต
พญาวรุณนาคราช ฟังธรรมกถาของเรา เกิดความเลื่อมใส เอาแก้วมณีบูชาเรา ครั้นกลับนาคพิภพ คงจะพรรณนา ความที่เราเป็นธรรมกถึก ให้พระนางฟัง พระนางจึงปรารถนาที่จะฟังธรรมกถาของเราบ้าง พระนางวิมลา และพญาวรุณนาคราช เห็นจะเกิดความเข้าใจผิดกัน จึงใช้ให้ปุณณกยักษ์ไปฆ่าเรา ความที่เราเป็นบัณฑิต ทำให้เราประสบทุกข์มากถึงเพียงนี้ เมื่อปุณณกยักษ์ ฆ่าเราแล้ว จะได้ประโยชน์อะไร เราจะเตือนมาณพนั้น ให้รู้สึกตัว แล้วละเว้นชีวิตเรา
ธรรมะสำหรับคนดี
วิธูรบัณฑิต กล่าวทั้งที่หัวยังห้อยลงอยู่ว่า “จงวางเราลงก่อนเถิด เรารู้สาธุนรธรรม เมื่อแสดง ให้ท่านฟัง จบแล้ว จึงค่อยควักเอาหัวใจเราไป”
ปุณณกยักษ์คิดว่า “เขาเล่ากันว่า วิธูรบัณฑิตนี้ แสดงธรรมได้ไพเราะนัก ธรรมนี้ วิธูรบัณฑิต เห็นจะยังไม่เคยแสดงให้เทวดาและมนุษย์ฟังที่ไหน เราเห็นจะเป็นคนแรก ที่ได้ฟังสาธุนรธรรมนี้ เอาเถอะ เราควรฟังสาธุนรธรรมดูก่อน ค่อยฆ่าทีหลัง” จึงวางพระโพธิสัตว์ลง ให้นั่งบนยอดเขา
วิธูรบัณฑิต รู้สึกอ่อนเพลีย จึงพูดกับปุณณกยักษ์ว่า “เราจะแสดงธรรม ชื่อ “สาธุนรธรรม” ซึ่งยังไม่เคยมีใครแสดงมาก่อน ทั้งในหมู่มนุษย์และเทวดา ร่างกายเราเศร้าหมอง จะขออาบน้ำ ชำระกายก่อน” ปุณณกยักษ์ ยอมอนุญาตตามนั้น แล้วไปนำน้ำ มาให้วิฑูรบัณฑิตอาบ เมื่อวิฑูรบัณฑิตอาบน้ำเสร็จแล้ว ให้แต่งตัวด้วยผ้าทิพย์ ประดับด้วยของหอม ดอกไม้ทิพย์ และ ให้บริโภคอาหารทิพย์ จากนั้น วิฑูรบัณฑิต จึงนั่งบนอาสนะ ที่ปุณณกยักษ์ประดับจัดเตรียมไว้แสดง “สาธุนรธรรม” คือ ธรรมะสำหรับคนดี ว่า
“มาณพ คนดี ย่อมปฏิบัติตามหลักธรรม ๔ ประการนี้ คือ
๑. จงเดินไปตามทาง ที่ท่านเดินกันมาแล้ว
๒. จงอย่าเผาฝ่ามืออันชุ่ม
๓. อย่าทำร้ายมิตร ไม่ว่าในกาลไหน ๆ
๔. อย่าตกอยู่ในอำนาจพวกอสตรี
ปุณณกยักษ์ ฟังแล้ว ไม่อาจเข้าใจความหมายของสาธุนรธรรมทั้ง ๔ ข้อ จึงขอให้วิธูรบัณฑิต อธิบายให้ฟัง วิธูรบัณฑิต จึงอรรถาธิบาย ด้วยพุทธลีลา ว่า
“บุคคลใด มีน้ำใจ เชื้อเชิญคนที่ไม่เคยรู้จักมักคุ้นกันมาก่อน ให้นั่งในบ้าน ควรทำคุณประโยชน์ แก่เขาคนนั้น โดยแท้ บัณฑิตทั้งหลาย กล่าวสรรเสริญ ผู้ตอบแทนบุญคุณนั้นว่า “ผู้เดินไปตามทาง ที่ท่านเดินกันมาแล้ว”
บุคคล พักอาศัยในเรือนของผู้ใด แม้แต่คืนเดียว ได้รับการเลี้ยงดู ด้วยข้าว น้ำ โภชนาหารอย่างดี แม้แต่ใจ ก็ไม่ควรคิดร้ายผู้นั้น ผู้ไม่คิดร้าย ต่อบุคคลผู้มีอุปการคุณนั้น ชื่อว่า “ไม่เผาฝ่ามือ อันชุ่ม และยังได้ชื่อว่า ไม่ทำร้ายมิตร”
บุคคล นั่งหรือนอน ที่ร่มเงาของต้นไม้ใด ไม่ควรหักรานกิ่งของต้นไม้นั้น เพราะผู้ประทุษร้ายมิตร เช่นนั้น จัดว่า “เป็นคนเนรคุณ”
อนึ่ง สตรีใด ที่สามียกย่องอย่างดีแล้ว ถึงกับให้ดูแลทรัพย์สินทั้งหมดในบ้าน เมื่อมีโอกาสแล้ว กลับดูหมิ่นสามีของตน บุคคล ไม่ควรลุ่มหลงสตรีเช่นนั้น ผู้ชื่อว่า “อสตรี” คือ ผู้หญิงที่ไม่ดี เพราะไม่เป็นกุลสตรี”
บุคคล ชื่อว่า เดินไปตามทาง ที่ท่านเดินกันมาแล้ว อย่างนี้ ไม่เผาฝ่ามืออันชุ่ม อย่างนี้ ไม่ตกอยู่ในอำนาจของหญิงที่ไม่ดี อย่างนี้ และชื่อว่า ไม่ประทุษร้ายมิตร อย่างนี้
มาณพ ธรรม ๔ ประการนี้ ชื่อว่า “สาธุนรธรรม” ตั้งแต่นี้ไป ท่านจงตั้งอยู่ในธรรมนี้เถิด และจงละอธรรม คือ ความชั่วเสีย”
เมื่อปุณณกยักษ์ ฟังสาธุนรธรรมจบลงแล้ว ก็รู้ว่า วิธูรบัณฑิต ขอชีวิตด้วยการยกสาธุนรธรรม ขึ้นมาแสดง จึงได้สติว่า บัณฑิตนี้ ได้ต้อนรับเรา ทั้งที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน เราได้รับความสุขสบายอยู่ในเรือนของบัณฑิตตลอด ๓ วัน แต่กลับเนรคุณ ทำกรรมชั่วช้าเช่นนี้ลงไป เพราะลุ่มหลงสตรี หากเราทำร้ายวิธูรบัณฑิตนี้ ก็เท่ากับว่า ทำร้ายมิตร จัดว่า เป็นคนเนรคุณ ไม่ประพฤติตามสาธุนรธรรม เราจะต้องการนางอิรันทดีไปทำไม เราจะนำบัณฑิตนี้ กลับไปส่งไว้ตามเดิม เช็ดน้ำตาประชาชน ชาวอินทปัตถ์นคร ผู้กำลังทุกข์โศก ให้เบิกบาน จึงกล่าวว่า “เราพักอาศัยอยู่ในเรือนท่าน ถึง ๓ วัน ได้รับการเลี้ยงดูอย่างดี ขอเชิญท่าน กลับไปเรือนของท่านเถิด เราไม่ต้องการนางอิรันทดีแล้ว เพราะคำสุภาษิตของท่านนั่นเอง ทำให้เรา ไม่พลั้งมือฆ่าท่าน ช่วยให้ท่านรอดชีวิตในวันนี้”
วิธูรบัณฑิตกล่าวว่า “อย่าเพิ่งส่งเรากลับเลย ขอให้นำเราไปนาคพิภพ เราอยากเห็นท้าววรุณ และวิมานของพระองค์”
ปุณณกยักษ์กล่าวว่า “ตามปกติ คนฉลาด มีปัญญา มักหลีกเลี่ยงศัตรู เหตุไร ท่านจึงต้องการไปที่อยู่ของศัตรู ที่จะฆ่าท่าน เอาหัวใจ”
วิธูรบัณฑิตกล่าวว่า “แม้เรา ก็รู้ชัดว่า คนผู้มีปัญญา ต่างก็ไม่ต้องการพบศัตรู แต่เราไม่ได้ทำความชั่วไว้ในที่ไหนเลย จึงไม่กลัวตาย อีกอย่างหนึ่ง ตัวท่าน เป็นคนหยาบช้า ทำร้ายเราถึงเพียงนี้ จิตใจท่าน ยังอ่อนโยน เพราะธรรมกถาของเรา การทำให้จิตใจพญานาคอ่อนโยน เป็นหน้าที่ของเรา ท่านจงพาเราไปเถิด”
ปุณณกยักษ์กล่าวว่า ถ้าเช่นนั้น ก็เชิญเถิด เรามาไปดูพิภพของพญานาค ซึ่งมีอานุภาพมาก ด้วยกัน สถานที่ซึ่งนางนาคสาวประดับประดาสวยงาม เที่ยวเล่นเพลิดเพลินกันเป็นกลุ่ม ๆ ทั้งกลางวัน และกลางคืน ดารดาษด้วยดอกไม้หลากชนิด สว่างไสวดังสายฟ้าในอากาศ ให้เหมือน ท้าวเวสสุวัณ เสด็จไปยังนิฬิญญาราชธานี
เมื่อปุณณกยักษ์ ไม่อาจขัดขวางความประสงค์ของวิธูรบัณฑิตได้ จึงนำขึ้นนั่งอาสนะบนม้ามโนมัย พาเข้าสู่ภพนาคราช ด้วยเดชานุภาพของตน
พญานาค เห็นปุณณกยักษ์มา จึงตรัสทักทายปราศรัยก่อนว่า “เธอไปมนุษยโลก ได้ดวงหทัยวิธูรบัณฑิต หรือได้ตัววิธูรบัณฑิต มาแล้วหรือ”
ปุณณกยักษ์ทูลว่า “ท่านผู้นี้แหละ คือ วิธูรบัณฑิต ที่พระองค์ ทรงต้องการตัว วิธูรบัณฑิต เป็นผู้รักษาธรรม แม้ข้าพระพุทธเจ้า ก็ได้มาโดยชอบธรรม ขอเชิญใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ทอดพระเนตร วิธูรบัณฑิต ผู้แสดงธรรมด้วยเสียงอันไพเราะนี้เถิด”
ภพนาคราช
พญาวรุณนาคราช ทอดพระเนตรเห็นพระโพธิสัตว์ แม้อยู่ในนาคพิภพ ก็ไม่แสดงอาการสะทกสะท้าน ไม่อภิวาท ทั้งไม่ร้องขอชีวิต จึงตรัสถามว่า “ท่านบัณฑิต ท่านเป็นมนุษย์ ถูกนำมานาคพิภพ ที่ตนไม่เคยเห็น ก็นับว่า ตกอยู่ในอุ้งหัตถ์มฤตยู แม้ยืนอยู่ต่อหน้าความตาย ก็ยังไม่สะทกสะท้าน ทั้งไม่กราบไหว้ ถวายความเคารพเรา อาการเช่นนี้ ดูเหมือนจะไม่ใช่อาการของผู้ใช้ปัญญารักษาชีวิต”
วิธูรบัณฑิต ไม่ได้ทูลตรง ๆ กับพญานาคราช ผู้ปรารถนาการกราบไหว้ แต่เป็นผู้ฉลาดในการเจรจา จึงกราบทูลด้วยปฏิภาณของตนว่า “ข้าแต่พญานาคราช ข้าพระองค์ ไม่ถวายบังคมพระองค์ เพราะข้าพระองค์ เป็นเหมือนนักโทษ ที่กำลังจะถูกประหารชีวิต ทั้งข้าพระองค์ก็ไม่กลัวต่อความตาย นักโทษประหาร ไม่พึงกราบไหว้เพชฌฆาต และเพชฌฆาต ก็คงไม่ปรารถนา ที่จะให้นักโทษประหารกราบไหว้ตน เพราะจะไม่เกิดประโยชน์อะไรขึ้นมาเลย”
พญานาคราช สดับดังนั้น ทรงพอพระทัย จึงชมเชยวิธูรบัณฑิตว่า “ท่านบัณฑิต เป็นจริง อย่างที่ท่านพูดทุกอย่าง นักโทษประหาร ไม่พึงกราบไหว้เพชฌฆาต หรือเพชฌฆาต ก็ไม่พึงให้นักโทษประหารกราบไหว้ตน เพราะจะไม่เกิดประโยชน์อะไรขึ้นมาเลย มีแต่จะเสียเวลาเปล่า”
วิธูรบัณฑิตทูลปฏิสันถารพญานาคราชว่า “ข้าแต่พญานาคราช วิมาน ฤทธิ์ ความรุ่งเรือง และพระวิริยภาพของพระองค์ เป็นของไม่เที่ยง แต่พระองค์ กลับเห็นเป็นเช่นกับของเที่ยง ขอจงทรงพิจารณาถึงการเสด็จอุบัติในนาคพิภพของพระองค์ วิมานนี้ พระองค์ทรงได้มาอย่างไร เป็นของเกิดขึ้นตามฤดูกาล พระองค์ทรงสร้างขึ้นเอง หรือเหล่าเทพถวายพระองค์ พระเจ้าข้า”
พญานาคตรัสว่า “วิมานนี้ หาได้เกิดขึ้นตามฤดูกาลไม่ และ เรามิได้สร้างเอง ทั้งหมู่เทพก็มิได้สร้างให้เรา แต่เราได้วิมานนี้มา ด้วยบุญญานุภาพของตน”
วิธูรบัณฑิตทูลถามว่า “พระองค์ ทำบุญอะไรไว้ นาคพิภพ พร้อมทั้งวิมานอันไพโรจน์ยิ่งนี้ จึงอุบัติขึ้น แก่พระองค์”
พญานาคตรัสว่า “เมื่อครั้งเกิดเป็นมนุษย์ เราและชายา มีศรัทธา ให้ทานแด่สมณะและพราหมณ์ ทั้งดอกไม้ ธูปเทียน เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พักอาศัย ผ้านุ่ง ผ้าห่ม ผ้าปูนอน ข้าว น้ำ ด้วยความเคารพ ครั้งนั้น เรือนของเรา เป็นดังบ่อน้ำ สำหรับพวกสมณะและพราหมณ์ทั้งหลาย
ฤทธิ์ ความรุ่งเรือง วิริยภาพ และการเกิดในนาคพิภพ พร้อมทั้งวิมานอันไพโรจน์ยิ่ง เป็นเพราะผลแห่งบุญนั้น”
วิธูรบัณฑิตทูลถามว่า “ถ้าเช่นนั้น พระองค์ ก็ทรงทราบว่า การที่พระองค์ ได้เสด็จอุบัติในนาคพิภพ ก็ด้วยผลแห่งบุญนั่นเอง เพราะเหตุนั้น ขอพระองค์ อย่าได้ประมาท ขอจงทรงประพฤติธรรม ที่จะทำให้พระองค์ ได้ทรงครอบครองวิมานนี้ ต่อไป”
พญานาคตรัสว่า “ท่านบัณฑิต ในนาคพิภพ ไม่มีสมณพราหมณ์ ที่จะถวายข้าว น้ำ เลย ขอท่านบอกวิธี ที่จะทำบุญ ให้ทาน อันจะเป็นเหตุให้เรา ได้ครอบครองวิมานต่อไปด้วยเถิด”
วิธูรบัณฑิตกราบทูลว่า “นาคทั้งหลาย ทั้งที่เป็นพระโอรส พระธิดา พระชายา พระญาติ ทั้งหมู่มิตร และข้าราชบริพารของพระองค์ ในนาคพิภพนี้ เป็นบ่อเกิดแห่งบุญ ขอพระองค์อย่าทำร้าย และอย่าคิดร้าย เขาเหล่านั้น จะทรงสถิตอยู่ในวิมานนี้ ตลอดพระชนมายุ แล้วจะเสด็จ ไปสู่เทวโลก อันสูงกว่านาคพิภพ”
พญานาค ได้สดับธรรมของพระโพธิสัตว์อย่างนี้แล้ว ทรงดีพระทัยเป็นอย่างมาก ประสงค์ที่จะให้ชายาฟังยิ่งนัก ทรงดำริว่า เราทำให้บัณฑิตชักช้าอยู่ภายนอก นานเกินไปแล้ว ควรจะนำไปพบน้องนางวิมลา ให้เธอได้ฟังสุภาษิตอันไพเราะ จึงค่อยส่งบัณฑิต กลับไปให้พระเจ้าธนัญชัย จึงตรัสว่า “ท่านเป็นอำมาตย์ของพระราชาผู้ประเสริฐสุด เมื่อพระองค์พรากจากท่านแล้ว ย่อมจะทรงมี ความทุกข์ความเศร้าโศก คนถูกความทุกข์ครอบงำก็ตาม คนป่วยหนักก็ตาม ได้พบกับท่านแล้ว ย่อมได้รับความสุข”
วิธูรบัณฑิตกราบทูลว่า “พระองค์ ตรัสธรรมของสัตบุรุษ ที่ชี้ทางแห่งประโยชน์โดยแท้ เป็นสิ่งที่นักปราชญ์ประพฤติกัน เมื่อภัยใหญ่หลวงเกิดขึ้น ผู้ทรงภูมิปัญญาเช่นข้าพระองค์จึงปรากฏ”
พญานาคตรัสถามวิธูรบัณฑิตว่า “ปุณณกยักษ์ บอกว่า ได้ท่านมา โดยชอบธรรม เขาคงชนะสกา จึงได้ท่านมา ปุณณกยักษ์ จับท่านมา ได้อย่างไร”
พระโพธิสัตว์ทูลตอบว่า “ปุณณกยักษ์เล่นสกาชนะพระราชาของข้าพระองค์ โดยมีข้าพระองค์เป็นเดิมพัน พระราชาจึงได้พระราชทานข้าพระองค์ แก่ปุณณกยักษ์ ปุณณกยักษ์จึงชื่อว่า ได้ข้าพระองค์มา โดยชอบธรรม”
พญานาค ทรงชื่นชม โสมนัส มีพระทัยเบิกบาน ตื้นตัน ด้วยปีติ ทรงจูงมือวิธูรบัณฑิต เสด็จเข้าไปพระตำหนักใน อันเป็นที่ประทับของพระชายา อย่างสนิทสนม ตรัสทักทายพระนาง โดยความเบิกบานพระทัยว่า “น้องวิมลา น้องดูซูบผอมมาก น้องดูสิ ใครมา วิธูรบัณฑิต ผู้ที่น้องประสงค์ดวงหทัย ยืนอยู่นี่แล้ว จะทำให้น้องเบิกบานใจ เชิญน้อง ตั้งใจฟังเถิด”
พระนางวิมลา ทอดพระเนตรเห็นวิธูรบัณฑิต ก็ทรงตื่นเต้น ตื้นตันพระทัย ทรงโสมนัส ยินดีเป็นอย่างยิ่ง ทรงดำริว่า นานมากหนอ กว่าจะได้พบบัณฑิตนี้ ทรงยกพระองคุลีทั้ง ๑๐ นิ้ว ขึ้นอัญชลี และตรัสกับวิธูรบัณฑิต จอมปราชญ์ของชาวแคว้นกุรุรัฐว่า “ท่านเป็นมนุษย์ มาเห็นนาคพิภพ เหมือนตกอยู่ในมรณภัยเช่นนี้ ไฉน จึงไม่มีความหวาดหวั่นเลย แม้อยู่ต่อหน้าความตาย ก็ยังไม่สะทกสะท้าน เพราะเหตุไร ท่านจึงไม่กลัว ทั้งไม่ไหว้อ้อนวอนร้องขอชีวิต”
วิธูรบัณฑิตกราบทูลว่า “ข้าแต่พระนางเจ้าวิมลา คนไม่ทำความชั่ว ย่อมไม่กลัวตาย ข้าพระองค์ ไม่กลัว และไม่หวาดหวั่นต่อความตาย ทั้งไม่ไหว้พระองค์ เพราะนักโทษประหาร ไม่ควรไหว้เพชฌฆาต หรือเพชฌฆาต ก็ไม่พึงให้นักโทษประหารกราบไหว้ตน ถึงจะกราบไหว้ ก็ถูกฆ่าอยู่ดี จึงไม่เกิดประโยชน์อะไร ที่จะไหว้”
พระนางวิมลาตรัสว่า “ถูกอย่างที่ท่านพูด นักโทษประหาร ไม่ควรกราบไหว้เพชฌฆาต เพชฌฆาตก็ไม่ควรให้นักโทษประหาร กราบไหว้ตน”
วิธูรบัณฑิต จึงกราบทูลปฏิสันถารกับพระนางวิมลาเทวี ถึงสมบัติต่าง ๆ ในนาคพิภพ ล้วนได้มาเพราะบุญ ตามที่ได้กราบทูลกับพญาวรุณนาคราช
พระนางวิมลา สดับธรรมกถาของพระโพธิสัตว์ ทรงยินดีเป็นอย่างยิ่ง ทรงให้พระโพธิสัตว์สรงสนาน ในเวลาสรงเสร็จ ทรงประทานเครื่องประดับ ผ้าทิพย์ ของหอมทิพย์ และอาหารทิพย์ พระโพธิสัตว์ บริโภคโภชนาหารแล้ว นั่งเหนือธรรมาสน์ แสดงธรรมด้วยพุทธลีลา
พระนางวิมลา ตรัสถามปัญหาวิธูรบัณฑิต ตามที่พญาวรุณนาคราชตรัสถาม แม้วิธูรบัณฑิต ก็ได้ตอบปัญหาพระนางเจ้าทุกประการ ทำให้พระนางวิมลา ทรงยินดียิ่ง
วิธูรบัณฑิตทราบว่า พญานาคราชและพระนางวิมลาทั้งสองพระองค์ ทรงมีพระทัยเบิกบาน จึงกราบทูลว่า “ขอพระองค์ อย่าทรงวิตกว่า จะทรงทำร้ายมิตร และอย่าทรงดำริว่า จะฆ่าบัณฑิตนี้ บัดนี้ ข้าพระองค์ ได้ทำหน้าที่เสร็จแล้ว ขอจงฆ่าข้าพระองค์ เอาเนื้อหทัย ตามที่ทรงพระประสงค์เถิด”
พญานาคราชตรัสว่า “ปัญญานั่นเอง เป็นดั่งดวงใจของบัณฑิตทั้งหลาย เราทั้งสอง ประสงค์ปัญญาของท่าน ยิ่งนัก ปุณณกยักษ์ จะไปส่งท่าน ให้ถึงแคว้นกุรุ ในวันนี้”
ครั้นพญาวรุณนาคราชตรัสอย่างนี้แล้ว จึงได้พระราชทานนางอิรันทดีให้ปุณณกยักษ์
ปุณณกยักษ์ได้นางอิรันทดีสมปรารถนา จึงยินดียิ่ง ได้เจรจาปราศรัยกับวิธูรบัณฑิตว่า “วิธูรบัณฑิต ท่านทำให้ข้าพเจ้าได้ภรรยา ข้าพเจ้า จะให้แก้วมณีดวงนี้ เป็นการตอบแทนท่าน และจะนำท่านไปส่งให้ถึงแคว้นกุรุรัฐ ในวันนี้”
วิธูรบัณฑิต ชมปุณณกยักษ์ โดยประการต่าง ๆ แล้วสอนว่า “ท่านต้องรักภรรยาให้มาก อย่าทำให้เธอผิดหวัง และอย่าให้ใคร มาทำให้ท่านทั้งสอง แตกแยกจากกันได้”
ปุณณกยักษ์ เชิญวิธูรบัณฑิต ให้นั่งที่อาสนะด้านหน้า เผ่นขึ้นม้ามโนมัย เหาะกลับไปอินทปัตถ์นคร ชี้ให้พระโพธิสัตว์ ดูมหานคร ซึ่งปรากฏอยู่เบื้องหน้า
ปัญญานุภาพ
ใกล้รุ่งวันนั้น พระเจ้าธนัญชัย ได้ทรงพระสุบินนิมิตว่า มีต้นไม้ใหญ่ต้นหนึ่ง เกิดอยู่ใกล้ประตูพระราชนิเวศน์ มีลำต้นเป็นปัญญา มีกิ่งเป็นศีล แผ่กิ่งก้านสาขาอุดมสมบูรณ์ มีผลอร่อยเต็มไปหมด ห้อมล้อมไปด้วยช้าง และม้า ที่ประดับประดาแล้ว ฝูงชน ต่างพากันหลั่งไหลไปกราบไหว้สักการะอย่างเนืองแน่น
พลันนั้น ปรากฏว่า มีชายคนหนึ่ง รูปร่างกำยำ ตัวดำ นุ่งผ้าแดง ทัดดอกไม้แดง ถือมีดคมวาว มาตัดต้นไม้นั้น ทั้งราก ขาดสะบั้น แล้วลากไปต่อหน้าต่อตาฝูงชน ซึ่งร้องไห้ปริเทวนาการอยู่ แต่ไม่กี่วัน ก็นำเอากลับมาส่งคืนไว้ ในที่เดิม แล้วจากไป
พระราชา ทรงพิจารณาพระสุบินนิมิตนั้น ก็ทรงสันนิษฐานว่า คนที่เป็นดุจต้นไม้ใหญ่ จะเป็นใครไปไม่ได้ นอกจากวิธูรบัณฑิต ส่วนชายหน้าตาน่ากลัว ผู้มาตัดต้นไม้ลากไป จะเป็นคนอื่นไปไม่ได้ นอกจากมาณพ ผู้เอาวิธูรบัณฑิตไป วันพรุ่งนี้ มาณพจะนำวิธูรบัณฑิตกลับมาส่ง ที่ประตูโรงธรรมสภา อย่างแน่นอน
ครั้นสันนิษฐานดังนี้แล้ว ก็ทรงมีพระหทัยโสมนัส รับสั่งให้ประดับทั่วทั้งพระนคร และให้จัดเตรียมโรงธรรมสภา ตั้งธรรมาสน์ รอรับการกลับมาของวิธูรบัณฑิต ประชาชนทราบข่าว ต่างแตกตื่นกันไปชุมนุมที่ธรรมสภา ครั้นพระราชาเสด็จดำเนินไปถึงโรงธรรมสภา ทรงปลอบโยนประชาชนของพระองค์ ให้สบายใจว่า “พวกท่าน จะได้เห็นวิธูรบัณฑิตในวันนี้ อย่างแน่นอน”
ขณะนั้น ปุณณกยักษ์ พาวิธูรบัณฑิต มาถึงประตูโรงธรรมสภาพอดี กราบลาพระโพธิสัตว์ แล้วพานางอิรันทดี ขึ้นม้าอาชาไนย เหาะกลับไปในอากาศ ทันที
พระราชา ทอดพระเนตรเห็นวิธูรบัณฑิต ทรงปรีดาปราโมทย์ยิ่ง เสด็จลุกขึ้นสวมกอดวิธูรบัณฑิต ทรงเชื้อเชิญให้นั่งบนอาสนะท่ามกลางธรรมสภา ตรัสปฏิสันถารด้วยพระวาจาอันไพเราะว่า “ชาวแคว้นกุรุ ต่างพากันยินดี ที่ได้เห็นท่านกลับมา ท่านรอดพ้นจากมาณพ มาได้อย่างไร”
วิธูรบัณฑิตกราบทูลว่า “บุรุษที่พระองค์ตรัสเรียกว่า มาณพนั้น ไม่ใช่มนุษย์ แต่เป็นยักษ์ชื่อ “ปุณณกะ” อำมาตย์ของท้าวกุเวร พระนางวิมลา มเหสีของพญาวรุณนาคราช ผู้ครองนาคพิภพ มีพระประสงค์จะสดับธรรมกถาของข้าพระองค์ จึงบอกพญานาคราชว่า ปรารถนา ดวงหทัยของข้าพระองค์ พญานาค เข้าใจผิด จึงให้ปุณณกยักษ์ ซึ่งรักลูกสาวตน ไปนำดวงหทัยของข้าพระองค์มาเป็นข้อแลกเปลี่ยน จึงจะประทานนางอิรันทดีให้ ปุณณกยักษ์ จึงมาท้าพนัน เล่นสกากับพระองค์ ได้ข้าพระองค์ไปแล้ว พยายามฆ่าโดยประการต่าง ๆ แต่ก็ไม่อาจทำให้ข้าพระองค์ตายได้ ข้าพระองค์ จึงแสดงสาธุนรธรรมให้ฟัง จนมีจิตเลื่อมใส จะนำข้าพระองค์มาส่ง แต่ข้าพระองค์ ให้พาไปนาคพิภพ แสดงธรรมถวายพญาวรุณนาคราชและพระนางวิมลา จนเกิดความเลื่อมใส แม้พญานาค ก็ทรงยินดี ได้ประทานนางอิรันทดีแก่ปุณณกยักษ์
ปุณณกยักษ์ได้นางอิรันทดี ก็ดีใจ จึงบูชาข้าพระองค์ ด้วยแก้วมณี
เพราะเหตุแห่งนางอิรันทดี จึงทำให้ปุณณกยักษ์พยายามฆ่าข้าพระองค์ แต่ปุณณกยักษ์ได้อาศัยข้าพระองค์ จึงได้ภรรยาผู้งดงาม ข้าพระองค์ ได้แก้วมณีสำหรับพระเจ้าจักรพรรดิ จากปุณณกยักษ์ ข้าพระองค์ ขอถวายแก้วมณีนี้ แด่พระองค์”
พระราชา ตรัสเล่าพระสุบินนิมิตในเวลาจวนรุ่ง ให้ชาวพระนครฟัง ทำให้พระองค์ มั่นใจว่า อย่างไรเสีย วิธูรบัณฑิต ต้องกลับมาในเช้าวันนี้
ครั้นแล้ว พระองค์ได้รับสั่งอำมาตย์ ข้าราชบริพาร ตลอดจน อาณาประชาราษฎร์ ของพระองค์ ให้ทำการสักการะวิธูรบัณฑิต อย่างมากมาย ทรงให้ปลดปล่อยสัตว์ เนื้อ และนก ที่ถูกขังไว้ เพื่อดูเล่นในแคว้นของพระองค์ ทรงรับสั่งว่า
“ขอสัตว์ทั้งหลาย จงพ้นจากเครื่องกักขัง เหมือนวิธูรบัณฑิต เป็นอิสรภาพ พ้นจากเครื่องผูก พวกชาวไร่ ชาวนา จงงดการทำไร่ ทำนา ตลอดหนึ่งเดือน”
ทรงประกาศให้ชาวพระนคร จัดการสมโภชเป็นการใหญ่ ให้ทำบุญเลี้ยงสมณพราหมณ์ ให้งดเว้นการเที่ยวเตร่ดื่มสุรา ให้หญิงขายตัว งดขายบริการ ให้ทหารออกตรวจตราทั่วแผ่นดินอย่างเข้มงวด เพื่อไม่ให้มีการเบียดเบียนกันในระหว่างนี้ เมื่อวิธูรบัณฑิต ผ่านไปที่ไหน ประชาชนต่างพากันโบกธง โห่ร้องขึ้น ด้วยความยินดีเป็นที่ยิ่ง มิถิลานคร ได้มีงานมหรสพสมโภช ตลอดหนึ่งเดือน
พระโพธิสัตว์ แสดงธรรมแก่อาณาประชาราษฎร์ สั่งสอนพระราชา เหมือนกับสมัยที่พระพุทธเจ้าบำเพ็ญพุทธกิจ ทำบุญ ให้ทาน และรักษาอุโบสถศีล ตลอดอายุ เมื่อสิ้นชีวิตแล้วได้ไปเกิดในสวรรค์
ประชาชนชาวแคว้นกุรุทั้งหมด ตั้งต้นแต่พระราชา เชื่อฟังโอวาทพระโพธิสัตว์ พากันรักษาศีล ทำบุญ ให้ทาน ครั้นสิ้นชีวิต ได้ไปเกิดตามฐานะบุญและกรรมของตน
กลับชาติมาเกิดสมัยพุทธกาล
ครั้นพระบรมศาสดา ทรงตรัสเล่าเรื่องวิธูรบัณฑิตแล้ว จึงตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ไม่ใช่แต่ในชาตินี้ เท่านั้น แม้ในอดีตชาติ ตถาคต ก็สมบูรณ์ด้วยปัญญา ฉลาดในอุบาย เหมือนกัน มารดา บิดา ของบัณฑิต ในอดีตชาตินั้น กลับชาติมาเกิด เป็นมหาราชสกุล ในชาตินี้ ภรรยาใหญ่ ได้มาเกิด เป็นมารดาพระราหุล บุตรคนโต ได้มาเกิด เป็นพระราหุล พระนางวิมลา ได้มาเกิดเป็นพระนางอุบลวรรณา พญาวรุณนาคราช ได้มาเกิด เป็นพระสารีบุตร พญาครุฑ ได้มาเกิดเป็นพระโมคคัลลานะ ท้าวสักกเทวราช ได้มาเกิด เป็นพระอนุรุทธะ พระเจ้าธนัญชัยโกรัพยราช ได้มาเกิด เป็นพระอานนท์ ปุณณกยักษ์ ได้มาเกิด เป็นพระฉันนะ ม้ามโนมัยสินธพ ได้มาเกิดเป็นม้ากัณฐกะ บริษัท นอกจากนั้น ได้มาเกิด เป็นพุทธบริษัท ส่วนวิธูรบัณฑิต ในกาลนั้น เป็นเราตถาคต อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ในชาตินี้”