ขุนเขาย่อมมีวันทลาย
สายน้ำย่อมมีวันเปลี่ยนทาง
แต่ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง
ญาณวชิระ
สำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมกับ บริษัท เมืองโบราณ จำกัด และบริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) จัดทำหนังสือ “ทศชาติ ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง” ฉบับ ญาณวชิระ เพื่อเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๙๐ พรรษา ๑๒ สิงหาคม ๒๕๖๕
ทศชาติ ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง
ฉบับ ญาณวชิระ
: ชาติที่ ๗ พระจันทกุมาร
ขันติ คือ อาภรณ์ประดับใจ
“พระองค์ พระราชทานพวกข้าพระองค์
ให้เป็นทาสขัณฑหาลปุโรหิต ยังจะดีเสียกว่าฆ่าพวกข้าพระองค์
เพราะถึงแม้ว่า จะถูกจองจําด้วยโซ่ใหญ่
พวกข้าพระองค์ ก็ยังพอจะเลี้ยงช้าง เลี้ยงม้า
ขนขี้ช้าง ขี้ม้า ให้เขาได้
หรือหากจะถูกเนรเทศออกจากแว่นแคว้น
พวกข้าพระองค์ ก็ยังเที่ยวขออาหารเลี้ยงชีวิตได้”
จันทชาดก เป็นชาดกที่พระพุทธเจ้าตรัสเล่าถึงเรื่องราวในอดีตชาติของพระองค์ เมื่อครั้งเกิดเป็นเจ้าชายจันทกุมาร ทรงมีปณิธานที่จะบําเพ็ญ “ขันติบารมี” แม้จะได้รับความทุกข์ทรมานจากความไม่เป็นธรรมอย่างไร ก็จะอดทน กล้ำกลืน ไม่คิดทําร้ายผู้ที่ทําร้ายตน
จันทกุมารชาดก ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก มหานิบาต และอรรถกถา ขุททกนิกาย ชาดก มหานิบาต
ขณะตรัสเล่าเรื่องจันทกุมารนั้น พระพุทธองค์ประทับอยู่ที่ภูเขาคิชฌกูฏ เนื่องจากพวกภิกษุสนทนากันเกี่ยวกับพระเทวทัตว่า พระเจ้าอชาตศัตรูเป็นเด็กหนุ่ม จึงมีพระทัยเบา หลงเชื่อพระเทวทัต ทรงทำปิตุฆาต โดยการปลงพระชนม์พระเจ้าพิมพิสารผู้เป็นพระชนก ด้วยการให้อดพระกระยาหาร และใช้มีดกรีดพระบาททั้งสองข้าง เพื่อไม่ให้พระชนกเสด็จพระดําเนินด้วยการจงกรม จนกระทั่ง สวรรคตในเวลาต่อมา แล้วอภิเษกพระองค์ขึ้นเป็นกษัตริย์แห่งแคว้นมคธ ครั้นครองราชย์แล้ว ถูกพระเทวทตยุยงให้ส่งพลธนูไปปลงพระชนม์พระบรมศาสดา
พระเจ้าอชาตศัตรูตรัสถามพระเทวทัตว่า ในเรื่องนี้พระองค์ควรจะต้องทำอย่างไร
พระเทวทัตขอให้พระเจ้าอชาตศัตรูระดมพลธนูมาเป็นจำนวนมาก จากนั้น คัดเอาเฉพาะที่ฝีมือดี ๆ แล้วส่งมาให้ตน พระเจ้าอชาตศัตรูทรงรับดำเนินการตามนั้น จึงให้เรียกระดมพลธนู เฉพาะพวกที่ยิงแม่น จำนวน ๕๐๐ คน คัดเลือกจากพลธนูเหล่านั้น ให้ได้พลแม่นธนู จำนวน ๓๑ คน แล้วรับสั่งว่า “พวกเจ้าจงทำตามคำสั่งของพระเถระ” ทรงส่งพลธนูไปรับคำสั่งจากพระเทวทัต
พระเทวทัตเรียกเฉพาะหัวหน้าพลธนูมาวางแผน แล้วสั่งการว่า “ท่านหัวหน้า ขณะนี้ พระสมณโคดม ประทับอยู่บนภูเขาคิชฌกูฏ พระองค์จะเสด็จจงกรมในที่พักกลางวันอยู่ตรงโน้น ส่วนท่านต้องไปซุ่มอยู่อีกด้านหนึ่ง ยิงพระสมณโคดมให้ตายด้วยลูกศรอาบยาพิษ แล้วค่อยหลบหนีออกมาอีกด้าน”
ครั้นวางแผนร่วมกันเสร็จแล้ว จึงส่งหัวหน้าพลธนูไป จากนั้น ได้ซ้อนแผน จัดวางกำลังพลธนูอีกชุดหนึ่ง ไว้ที่หนทางนั้น ๒ คน เพื่อฆ่าตัดตอน สั่งว่า “จะมีชายคนหนึ่ง เดินมาทางที่พวกท่านดักซุ่มอยู่ จงปลิดชีพชายคนนั้นเสีย แล้วกลับมาตามทางโน้น” แม้ในทางนั้น พระเทวทัตก็จัดวางพลธนูไว้ ๔ คน สั่งว่า “จะมีชาย ๒ คน เดินมาทางที่พวกท่านดักซุ่มอยู่ จงฆ่าชาย ๒ คนนั้นเสีย แล้วกลับมาทางโน้น” แม้ในทางนั้น พระเทวทัตก็จัดวางพลธนูไว้ ๘ คน สั่งว่า “จะมีชาย ๔ คน เดินมาตามทางที่พวกท่านดักซุ่มอยู่ จงฆ่าคนทั้ง ๔ เสีย แล้วกลับมาทางโน้น” แม้ในทางนั้น พระเทวทัตก็จัดวางกำลังคนไว้ ๑๖ คนเช่นกัน สั่งว่า “จะมีชาย ๘ คน เดินมาตามทางที่พวกท่านซุ่มอยู่ จงฆ่าคนทั้ง ๘ นั้นเสีย แล้วกลับมาทางโน้น”
การที่พระเทวทัตทำอย่างนั้น เพราะต้องการฆ่าปิดปากคนทั้งหมด เพื่อปกปิดกรรมชั่วของตน
ขณะนั้น หัวหน้าพลธนูจัดเตรียมอาวุธครบมือ ขัดดาบทางด้านซ้าย แล้วผูกแล่งธนูไว้ข้างหลัง จับคันธนูใหญ่ ที่ทำจากเขาแกะ ตรงขึ้นเขาคิชฌกูฏ ไปหลบซ่อนอยู่ตามจุดที่วางแผนเอาไว้ เห็นพระบรมศาสดาเสด็จจงกรมอยู่ จึงยกคันธนูขึ้น แล้วพาดลูกศร ดึงสายมา หมายใจว่า จะยิงพระตถาคต แต่ไม่สามารถยิงลูกศรออกไปได้ ด้วยพระศาสดา ทรงให้ขึ้นสายธนู ได้เท่านั้น แต่ให้ยิงลูกศรออกไปไม่ได้
หัวหน้าพลธนูนั้น เมื่อไม่สามารถยิงลูกศรออกไปได้ ทั้งลดคันธนูลงก็ไม่ได้ จำต้องยืนแข็งทื่ออยู่อย่างนั้น จึงลำบากกายอย่างยิ่ง เหมือนกระดูกสีข้างทั้ง ๒ จะหัก มีน้ำลายไหลยืดออกจากปาก ทั่วทั้งร่างกายเกิดอาการเกร็งแข็งกระด้าง เหมือนเครื่องยนต์ติดขัด จึงกลัวตายยืนอยู่
ลำดับนั้น พระบรมศาสดาทอดพระเนตรเห็นหัวหน้าพลธนูเหนื่อยล้าแล้ว จึงเปล่งพระวาจา ด้วยพระสุรเสียงอันไพเราะ ตรัสปลอบหัวหน้าพลธนู ให้เบาใจว่า “ท่านผู้เจริญ อย่ากลัวเลย จงเข้ามา ที่นี้เถิด” ในขณะนั้น อาการแข็งเกร็งของหัวหน้าพลธนูได้คลายออก จึงทิ้งอาวุธ เข้าไปหมอบลง เอาหัวซบแทบบาทมูลของพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ โทษล่วงเกิน ได้ตกถึงข้าพระพุทธเจ้าแล้ว ข้าพระองค์ ช่างโง่เขลานัก เป็นคนหลง เป็นคนบาป ข้าพระพุทธเจ้า มิได้รู้จักคุณของพระองค์ จึงได้มา ปลงพระชนม์ชีพของพระองค์ ตามที่พระเทวทัตเสี้ยมสอน ขอพระองค์โปรดยกโทษ แก่ข้าพระพุทธเจ้าเถิด” แล้วหัวหน้าพลธนู จึงนั่งลง ณ ที่อันสมควร
พระบรมศาสดาแสดงธรรมโปรดหัวหน้าพลธนู ให้บรรลุโสดาปัตติผลแล้ว ตรัสสอนว่า “เธอ จงอย่ากลับไปตามทางที่พระเทวทัตวางแผนให้ แต่จงไปเสียทางอื่น” แล้วส่งหัวหน้าพลธนูนั้นไป เมื่อพระบรมศาสดาส่งหัวหน้าพลธนูไปแล้ว พระองค์ได้เสด็จจากที่จงกรม ไปประทับนั่งอยู่ที่โคนไม้ต้นหนึ่ง
เมื่อพลธนูอีก ๒ คน ไม่เห็นหัวหน้าพลธนูกลับมาที่จุดนัดพบ ตามแผน ทั้งเวลาก็ผ่านไปนานจนผิดปกติ คิดว่า ทำไมชักช้านัก จึงออกเดินสวนทางไป ครั้นเห็นพระทศพล ก็เข้าไปถวายอภิวาท นั่งลงด้านหนึ่ง พระบรมศาสดาจึงแสดงธรรมโปรดพลธนูทั้ง ๒ คนนั้น ให้ได้บรรลุโสดาปัตติผลเช่นกัน ตรัสสอนว่า “เธอทั้ง ๒ อย่าเดินไปทางที่พระเทวทัตสั่งไว้ ให้หลบออกไปทางอื่น” แล้วส่งเขากลับไป
เมื่อพลธนูที่เหลือนอกนี้มานั่งเฝ้าในทำนองเดียวกัน ก็ทรงแสดงพระธรรมเทศนาโปรด ให้พวกเขา ได้บรรลุโสดาปัตติผล แล้วทรงส่งกลับไปโดยทางอื่นเช่นเดียวกัน
หัวหน้าพลธนูที่กลับมาถึงก่อน ได้เข้าไปหาพระเทวทัตแล้วรายงานว่า ตนไม่สามารถ ปลงพระชนม์ชีพของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ทรงมีอิทธิฤทธิ์มาก ทรงมีอานุภาพอันยิ่งใหญ่ แม้พลธนูที่เหลือ ก็กลับมาพบพระเทวทัต ในทำนองดียวกัน
พลแม่นธนูเหล่านั้นคิดกันว่า พวกตนอาศัยพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงรอดชีวิตมาได้ จึงชวนกัน ออกบวชในสำนักของพระศาสดาแล้ว ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ทุกรูป
ความเป็นไปของพระเทวทัตทั้งหมดนี้ ได้ปรากฏในหมู่ภิกษุสงฆ์
เปิดตำนานชีวิตพระเทวทัต
พระเทวทัต เป็นพระญาติของพระพุทธเจ้า ฝ่ายกรุงเทวทหะ ออกบวชพร้อมกับพระภัททิยะ พระอนุรุทธะ พระอานนท์ พระภัคคุ พระกิมพิละ ซึ่งเป็นพระญาติฝ่ายศากยวงศ์ กรุงกบิลพัสดุ์ และพระอุบาลี พนักงานภูษามาลาในราชสํานัก เมื่อพระเทวทัตบวชแล้ว เห็นลาภสักการะเกิดขึ้นในพระศาสนามาก จึงหลงติดในลาภ คิดการใหญ่ปรารถนาจะปกครองสงฆ์เสียเอง
เมื่อพระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรือง ชาวกรุงโกสัมพี ต่างถือจีวร เภสัช น้ำปานะ และดอกไม้ เครื่องสักการะบูชาไปวิหาร ต่างถามถึงพระพุทธเจ้า และพระเถระสําคัญ มีพระสารีบุตร เป็นต้น แต่ไม่มีใครถามถึงพระเทวทัตเลย
พระเทวทัตเกิดความน้อยเนื้อต่ำใจ คิดว่า เราก็เป็นกษัตริย์บวช พร้อมกับเจ้าศากยะเหมือนกัน แต่ไม่มีใครถามถึงเรา ควรทําให้ใครเลื่อมใส จะได้มีลาภสักการะอย่างองค์อื่นบ้าง พระเทวทัตนึกถึงพระเจ้าพิมพิสาร แต่พระองค์ก็บรรลุโสดาปัตติผลแล้ว มีศรัทธาตั้งมั่นต่อพระพุทธเจ้า ไม่สามารถทําให้พระองค์เลื่อมใสได้ แม้พระเจ้าปเสนทิโกศล ก็เช่นกัน ส่วนอชาตศัตรูกุมาร พระโอรสของพระเจ้าพิมพิสาร ยังเป็นเด็กหนุ่ม ยังไม่รู้คุณ และโทษอะไร หากทําให้พระองค์เลื่อมใสได้ ลาภสักการะเป็นอันมาก จะเกิดขึ้นตามมา
พระเทวทัต จึงออกจากกรุงโกสัมพี ไปยังกรุงราชคฤห์ เนรมิตกายเป็นกุมารน้อย มีอสรพิษ ๔ ตัว พันที่มือและเท้าทั้งสี่ ตัวหนึ่งที่คอ ตัวหนึ่งแผ่พังพานเป็นเทริดบนศรีษะ ตัวหนึ่งทําเฉวียงบ่าลงจากอากาศ ด้วยสังวาลย์งูนี้ นั่งบนพระเพลาของอชาตศัตรูกุมาร
ครั้นเห็นพระราชกุมารตกใจกลัว ก็ทูลว่า “อย่ากลัวเลย อาตมา คือ พระเทวทัต” พลันนั้นก็กลับกลายเป็นพระภิกษุ ทรงไตรจีวร ผู้สํารวม น่าเลื่อมใสเช่นเดิม ยืนอยู่ตรงพระพักตร์ ทําให้พระราชกุมารทรงเลื่อมใสด้วยอิทธิปาฏิหาริย์
ต่อมา พระราชกุมารก็ได้ไปพบพระเทวทัต ทั้งเวลาเช้า และเวลาเย็น พร้อมด้วยรถบรรทุก ภัตตาหาร เป็นจํานวนมาก ทําให้พระเทวทัตมีลาภสักการะเป็นอันมาก
พวกพระภิกษุซึ่งเดินทางมาจากกรุงราชคฤห์ เพื่อเข้าเฝ้าพระบรมศาสดา กราบทูลเหตุการณ์ต่าง ๆ ให้พระองค์ทราบ พระบรมศาสดา ตรัสเตือนพวกภิกษุว่า พวกเธอจงอย่าพอใจลาภสักการะเลย อชาตศัตรูกุมาร จะบํารุงเทวทัตไปได้กี่วัน ลาภสักการะที่เกิดขึ้นแก่เทวทัต ก็เพื่อฆ่าตนเท่านั้น แล้ว ตรัสย้ำว่า
“ผลกล้วยเกิดขึ้น ย่อมฆ่าต้นกล้วย ขุยไผ่เกิดขึ้น ย่อมฆ่าต้นไผ่ ขุยอ้อเกิดขึ้น ย่อมฆ่าต้นอ้อ ฉันใด ลาภสักการะ เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ย่อมฆ่าคนชั่ว เหมือนลูกม้าอัสดร ย่อมฆ่าแม่ของตนเอง ฉันนั้น”
พระเทวทัตทูลขอปกครองสงฆ์
ครั้นอยู่ต่อมา เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จกลับจากกรุงโกสัมพี มาประทับที่กรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ พระเทวทัตมีลาภสักการะมาก เกิดหลงในลาภ จึงอยากเป็นใหญ่ในหมู่สงฆ์ เพราะจิตคิดไม่ดี จึงทําให้ ฤทธิ์เสื่อม
ขณะพระพุทธองค์กําลังแสดงธรรม อยู่ที่พระเวฬุวันวิหาร พระเทวทัตได้เข้าไปกราบทูล ขอปกครองสงฆ์ด้วยตนเอง
แม้พระพุทธเจ้า จะตรัสห้ามถึง ๓ ครั้ง แต่พระเทวทัต ก็ยังกราบทูลเช่นนั้น ในที่สุด พระพุทธองค์ตรัสว่า “เทวทัต แม้แต่พระสารีบุตร และพระโมคคัลลานะ พระองค์ก็ยังไม่มอบให้ปกครองสงฆ์ แล้วไฉน พระองค์จะมอบให้พระเทวทัตปกครองสงฆ์” แล้วทรงตําหนิพระเทวทัตว่า ใช้สอยปัจจัยที่เขาถวาย เหมือนคนคอยกลืนกินน้ำลายที่เขาถ่มทิ้ง
พระเทวทัตน้อยใจว่า พระบรมศาสดาประจานตนท่ามกลางสงฆ์ แต่กลับทรงยกย่องพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ ขึ้นข่มตน จึงโกรธและผูกอาฆาตพระบรมศาสดา นับแต่นั้นมา
พระบรมศาสดารับสั่งให้สงฆ์ทํา ปกาสนียกรรม คือ กรรมอันสงฆ์ควรประกาศให้ประชาชนทราบถึงพฤติกรรมของพระเทวทัตว่า ทำไม่ถูกต้อง
พระเทวทัตน้อยเนื้อต่ำใจว่า เราถูกพระสมณโคดมกําจัดเสียแล้ว บัดนี้ เราจะทําให้พระองค์พินาศ
ต่อมา เมื่อพระเทวทัตไม่สามารถครอบงำสงฆ์ได้ จึงวางแผนด้านอาณาจักร ยุยงเจ้าชายอชาตศัตรูให้ปลงพระชนม์ พระเจ้าพิมพิสาร ผู้ทรงเป็นพระชนก แล้วอภิเษกพระองค์ ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ ส่วนพระเทวทัต ได้พยายามปลงพระชนม์พระพุทธเจ้า ด้วยหวังจะปกครองสงฆ์เอง
พระเทวทัตได้ส่งพลธนู ไปซุ่มยิงพระพุทธเจ้า เมื่อไม่สําเร็จ จึงขึ้นภูเขาคิชฌกูฏด้วยตัวเอง กลิ้งก้อนศิลาใหญ่ลงมา ด้วยหมายใจว่า จะปลงพระชนม์พระพุทธเจ้า ขณะที่ก้อนศิลากลิ้งลงมา ได้กระทบยอดบรรพตสองยอด ซึ่งเคลื่อนเข้ามาบดบัง สะเก็ดศิลากระเด็นมากระทบพระบาทพระพุทธเจ้า ทําให้ห้อพระโลหิต หมู่ภิกษุใช้แคร่หาม นําพระพุทธองค์ไปแวะพัก ณ มัททกุจฉิ อุทยานเชิงเขาคิชฌกูฏ แล้วนําพระองค์ไปยังชีวกัมพวัน หมอชีวกโกมารภัจจ์ได้ถวายการรักษา จนอาการดีขึ้น
จากนั้น พระเทวทัตได้ปล่อยช้างหลวงชื่อ “นาฬาคิรี” ซึ่งกำลังตกมัน ไปปลงพระชนม์ พระพุทธเจ้า พระอานนท์เถระยอมสละชีวิตออกขวางข้างหน้า พระพุทธองค์ทรงห้ามพระอานนท์ และแผ่เมตตาจิตไปสู่ช้างนาฬาคิรี เมื่อช้างหลวงได้สัมผัสเมตตาจิตของพระองค์ ก็หายเมา ลดงวงลง เดินเข้าไปหาพระพุทธองค์ หมอบลงตรงเบื้องพระพักตร์ พระพุทธองค์ทรงยกพระหัตถ์ขวาลูบกระพองช้างนาฬาคิรี ตรัสว่า “นาฬาคิรี เจ้าอย่าเข้ามาหาเราด้วยจิตคิดจะฆ่าเช่นนี้ เพราะนั้น เป็นต้นเหตุแห่งทุกข์ ผู้ทําร้ายพระพุทธเจ้า ย่อมไปสู่ทุคติ เจ้าจงอย่าประมาท เมื่อสิ้นชีพจะไปสู่สุคติได้”
ช้างนาฬาคิรีเอางวงสูดละอองธุลีพระบาทของพระพุทธองค์ แล้วพ่นลงบนกระพองของตน ย่อตัวถอยออกไปจนสุดสายตาที่แลเห็นพระพุทธเจ้า แล้วจึงหันหลังกลับไปสู่โรงช้าง
ประชาชนที่เห็นเหตุการณ์ ต่างวิพากษ์วิจารณ์กันว่า “การกระทําทั้งหมดนี้เป็นฝีมือพระเทวทัต แต่พระเจ้าแผ่นดิน ก็ยังคบภิกษุเช่นนี้อยู่อีก”
พระเจ้าอชาตศัตรู ทรงสดับเสียงเล่าลือวิพากษ์วิจารณ์ของประชาชน จึงรับสั่งให้ถอนสำรับอาหาร ที่เคยอุปัฏฐากพระเทวทัตคืนมา แล้วมิได้เสด็จไปอุปัฏฐากพระเทวทัตอีกเลย ประชาชนต่างหมดศรัทธา ไม่มีใครต้อนรับพระเทวทัต พระเทวทัตเสื่อมจากลาภสักการะ จึงวางแผนการใหม่ เป็นเหตุ แห่งสังฆเภท ทําสงฆ์ให้แตกจากกัน
พระเทวทัตได้เข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ทูลขอข้อวัตรปฏิบัติอย่างอุกฤษฏ์ เพื่อให้พระบรมศาสดา บัญญัติให้ภิกษุสงฆ์ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ข้อวัตรปฏิบัตินั้น มี ๕ ประการ คือ
๑. ภิกษุทั้งหลายไม่พึงฉันปลาและเนื้อตลอดชีวิต
๒. ภิกษุทั้งหลายพึงอยู่ป่าเป็นวัตรตลอดชีวิต
๓. ภิกษุทั้งหลายพึงเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตรตลอดชีวิต
๔. ภิกษุทั้งหลายพึงใช้ผ้าบังสุกุลเป็นวัตรตลอดชีวิต
๕. ภิกษุทั้งหลายพึงอยู่โคนต้นไม้เป็นวัตรตลอดชีวิต
พระพุทธองค์ตรัสห้ามพระเทวทัต พร้อมให้เหตุผลว่า ทรงอนุญาตปลาและเนื้อที่บริสุทธิ์ ๓ ประการ คือ
๑. ไม่เห็นว่า เขาฆ่าเพื่อตน
๒. ไม่ได้ยินว่า เขาฆ่าเพื่อตน
๓. ไม่สงสัยว่า เขาฆ่าเพื่อตน
สําหรับการอยู่ป่าตลอดชีวิต การเที่ยวบิณฑบาตตลอดชีวิต การใช้ผ้าบังสุกุลตลอดชีวิต ทรงอนุญาตให้ถือข้อวัตรปฏิบัติเหล่านี้ ตามปฏิปทาของตนเองเป็นที่ตั้ง ภิกษุรูปใดต้องการถือปฏิปทาการอยู่ป่าเป็นวัตร เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร หรือถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ก็ให้ปฏิบัติตามนั้น ใครไม่ต้องการ ก็ไม่ต้องปฏิบัติ สําหรับประการสุดท้าย ทรงอนุญาตให้พระภิกษุอาศัยโคนไม้เป็นเสนาสนะได้เพียง ๘ เดือน นอกฤดูฝนเท่านั้น เนื่องจากการอยู่ป่าในฤดูฝน จะทําให้ภิกษุสงฆ์เกิดความลําบาก
ที่จริง พระเทวทัต ก็รู้ว่า ถึงอย่างไร พระพุทธเจ้าก็คงไม่ทรงอนุญาต ซึ่งจะได้เป็นช่องในการยกตนข่มท่าน เมื่อพระเทวทัตได้ยินว่า พระบรมศาสดาไม่ทรงอนุญาต จึงเกิดความดีใจที่สมกับความปรารถนาของตน ที่จะทําให้ประชาชนเห็นว่า ตนเป็นผู้มีข้อวัตรปฏิบัติที่เคร่งกว่าพระพุทธเจ้าจึงลุกจากอาสนะ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วกลับไปพร้อมพระภิกษุสาวกของตน
รุ่งขึ้นอีกวัน พระเทวทัตพร้อมด้วยพระภิกษุสาวก เข้าไปกรุงราชคฤห์ ประกาศให้ประชาชน ทราบความที่พระพุทธเจ้าไม่ทรงอนุญาตข้อวัตรที่เคร่งครัดที่ตนสมาทานและประพฤติปฏิบัติอยู่ คือ ไม่ฉันปลาและเนื้อ แต่จะฉันอาหารประเภทผักตลอดชีวิต อยู่ป่าใช้ชีวิตอย่างพระป่าตลอดชีวิต เที่ยวบิณฑบาต และต้องฉันในบาตรเท่านั้นตลอดชีวิต อาหารที่ถวายด้วยภาชนะอย่างอื่นซึ่งไม่ได้ใส่ลงไปในบาตรไม่ฉัน ใช้ผ้าบังสุกุลตลอดชีวิต ถ้าผ้าที่ชาวบ้านถวาย จะไม่ใช้สอย และอยู่โคนต้นไม้ตลอดชีวิต
คําประกาศนั้น ทําให้ประชาชนที่เบาปัญญา เข้าใจว่า พระเทวทัตเคร่งครัด ส่วนพระพุทธเจ้า มักมาก คิดถึงแต่ความสะดวกสบาย และทําให้พระภิกษุบวชใหม่ ที่มีปัญญาน้อย ยังไม่รู้ทั่วถึงพระธรรมวินัย พากันหลงเชื่อ ยอมตนเข้าเป็นพรรคพวกจํานวนมาก
เมื่อพระพุทธเจ้าทรงทราบ ให้พระเทวทัตมาเฝ้า รับสั่งถามเรื่องที่เกิดขึ้น พระเทวทัตรับว่า จริงตามนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า “เทวทัต เธออย่าพอใจการทําให้สงฆ์เกิดความแตกแยกเลย เพราะการทําให้สงฆ์แตกแยก มีโทษหนัก ผู้ใดทําให้สงฆ์แตกแยก ย่อมพบแต่ความทุกข์ และหมกไหม้ในนรกชั่วกัปชั่วกัลป์”
พระเทวทัตไม่ได้ใส่ใจโอวาทของพระพุทธองค์ ผลุนผลันไปจากที่นั้น เช้าวันต่อมา พระเทวทัต พบพระอานนท์ขณะกําลังบิณฑบาต ได้บอกความประสงค์ของตนว่า “อานนท์ นับตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ผมจะแยกทําอุโบสถสังฆกรรมจากพระผู้มีพระภาคเจ้า แยกจากหมู่ภิกษุสงฆ์”
เมื่อพระอานนท์กลับจากบิณฑบาต ได้นําความนั้นกราบทูลพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ทรงเปล่งอุทานว่า “คนดีทําความดีได้ง่าย แต่คนชั่วทําความดีได้ยาก คนชั่วทําความชั่วได้ง่าย แต่คนดีทำความชั่วได้ยาก”
ครั้นถึงวันอุโบสถ พระเทวทัตประกาศให้พระภิกษุเลือกเอาว่า “ข้อวัตรปฏิบัติทั้ง ๕ ประการนี้ ผู้ใดเห็นชอบ ผู้นั้นจงจับสลากเลือกเอา”
พระภิกษุ ผู้บวชใหม่ ชาวเมืองเวสาลี ประมาณ ๕๐๐ รูป ยังไม่รู้พระธรรมวินัย เข้าใจว่า นี้คือ ธรรม นี้คือ วินัย จึงเลือกข้อวัตรปฏิบัติตามพระเทวทัต ครั้นพระเทวทัตทําลายสงฆ์ให้แตกจากกันแล้ว ได้นำพระภิกษุผู้บวชใหม่ ๕๐๐ รูป หลีกไปทางตําบลคยาสีสะ
พระบรมศาสดาตรัสกับพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะว่า “หากพวกเธอยังมีความการุญ ในพระภิกษุผู้บวชใหม่เหล่านั้นอยู่ จงรีบไปนำพระภิกษุเหล่านั้น ซึ่งกําลังจะถึงความย่อยยับกลับมา” พระอัครสาวกทั้งสองจึงเดินทางตามไปที่ตําบลคยาสีสะ
พระเทวทัตเห็นพระอัครสาวกทั้งสองตามมา เข้าใจว่า พระอัครสาวกตามมาเพราะชอบใจ หลักธรรมของตน จึงนิมนต์ให้นั่ง
ขณะนั้น พระเทวทัตกําลังแสดงธรรมแก่พระภิกษุทั้งหลาย เลียนแบบตามอย่างพระพุทธเจ้า เชื้อเชิญพระสารีบุตรว่า “สารีบุตร บัดนี้ พระภิกษุสงฆ์ปราศจากความง่วงแล้ว ท่านจงแสดงธรรมกถาต่อจากเราเถิด เราเมื่อยหลัง จักนอนพักสักครู่หนึ่ง” เพราะพระเทวทัตเหน็ดเหนื่อย จึงขาดสติสัมปชัญญะ ผล็อยหลับไป
พระสารีบุตรได้กล่าวสอนพระภิกษุผู้บวชใหม่ ทั้งด้วยธรรมีกถา และการว่ากล่าวตักเตือน สั่งสอน ส่วนพระมหาโมคคัลลานะ ก็กล่าวสอนทั้งด้วยธรรมีกถาและการแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ เมื่อพระมหาเถระทั้งสองกล่าวสอนอยู่ พระภิกษุผู้บวชใหม่เหล่านั้น ได้ดวงตาเห็นธรรม เกิดความเลื่อมใส
จากนั้น พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ ได้นําพระภิกษุทั้ง ๕๐๐ รูปนั้น กลับไปยังพระเวฬุวันวิหาร กรุงราชคฤห์
พระโกกาลิกะ ซึ่งเป็นสาวกผู้ใหญ่ของพระเทวทัต ปลุกพระเทวทัตให้ลุกขึ้นกล่าวว่า “ลุกขึ้นเถิด ท่านเทวทัต พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ พาพระภิกษุเหล่านั้นไปแล้ว เราบอกท่าน แล้วว่า อย่าไว้ใจพระสารีบุตรกับพระโมคคัลลานะ เพราะทั้งสองมีเจตนาไม่ดี ลุอํานาจแห่งความปรารถนาลามก” ด้วยความฉุนเฉียว จึงเอาเข่ากระทุ้งยอดอกพระเทวทัต จนพระเทวทัต กระอักเลือดอุ่น
เพราะความตรอมใจ ทําให้พระเทวทัตอาพาธนานถึง ๙ เดือน และนับวันอาการก็ยิ่งทรุดหนักลงเรื่อย ๆ ในที่สุด ก็กลับได้สํานึก ต้องการเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ จึงขอร้องสาวกของตนที่ยังเหลืออยู่ ให้ช่วยนําไป พระภิกษุพวกนั้นกล่าวว่า “ท่านสร้างเวรสร้างกรรมกับพระพุทธเจ้าไว้มากนัก จึงไม่อาจนำท่านไปเฝ้าได้”
พระเทวทัตกล่าวว่า “อย่าทำให้เราพินาศเลย แม้เราจะผูกอาฆาตพระพุทธเจ้า แต่พระองค์ไม่มีความอาฆาตแม้ประมาณเท่าปลายผม เราจะไปขอขมาพระพุทธเจ้า”
แท้จริงแล้ว แม้พระเทวทัตจะทําเช่นนั้น แต่พระพุทธองค์ก็ทรงมีน้ำพระทัยต่อพระเทวทัต เสมอกับบุคคลทั่วไป เช่น นายขมังธนู โจรองคุลิมาล ช้างนาฬาคิรี และพระราหุล เป็นต้น
พระเทวทัตได้ร้องขอวิงวอนแล้ววิงวอนเล่า ให้พระภิกษุนําไปเฝ้าพระพุทธองค์ สาวกเหล่านั้น จึงเอาเตียงหามพระเทวทัตไปจากกรุงราชคฤห์ จนถึงกรุงสาวัตถี พระภิกษุทั้งหลายได้ทราบข่าว จึงเข้าไปกราบทูลให้พระบรมศาสดาทราบ
พระองค์ตรัสว่า “เทวทัตจะไม่มีโอกาสได้เห็นพระองค์อีกเลย ในชาตินี้”
แม้เหล่าพระภิกษุจะได้เข้าไปกราบทูลให้ทรงทราบเป็นระยะ ๆ ว่า “อีกประมาณหนึ่งโยชน์ พระเทวทัตก็มาถึงแล้ว อีกประมาณคาวุตหนึ่งแล้ว ขณะนี้ ใกล้จะมาถึงสระโบกขรณีแล้ว” พระพุทธองค์ก็ยังทรง รับสั่งเช่นเดิมว่า “แม้พระเทวทัตจะเข้ามาจนถึงพระเชตวัน พระเทวทัตก็จะไม่มีโอกาสได้เห็นพระองค์ในชาตินี้”
เมื่อสาวกนําพระเทวทัตมาใกล้พระเชตวัน วางเตียงลงริมฝั่งสระโบกขรณี ต่างก็ลงไปอาบน้ำในสระ พระเทวทัตรู้สึกอบอุ่นใจที่จะได้พบพระพุทธเจ้า พยายามพยุงกายลุกขึ้นจากเตียงเพื่อจะล้างหน้า พอวางเท้าลงบนพื้นดินเท่านั้น เท้าทั้งสองก็จมลงในแผ่นดิน ถูกธรณีสูบตั้งแต่ข้อเท้า เข่า เอว อก จนถึงคอ ในขณะที่คางจรดถึงพื้นดิน พระเทวทัตสํานึกผิด ได้กล่าวคําขอขมาพระพุทธองค์ เป็นครั้งสุดท้ายว่า “ข้าพระองค์ถวายกระดูกคางเป็นพุทธบูชา ขอถึงพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น ว่า เป็นที่พึ่ง”
ด้วยอานิสงส์ที่พระเทวทัตสํานึกผิด เปล่งวาจาขอถึงพระพุทธเจ้าว่าเป็นที่พึ่ง ก่อนมรณภาพนี้ ภายหลังจากชดใช้กรรมในอเวจีนรกแล้ว ในอนาคต พระเทวทัตจะได้ตรัสรู้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า นามว่า “อัฏฐิสสระ”
เรื่องที่พระเทวทัตพยายามส่งพลแม่นธนูไปปลงพระชนม์พระพุทธเจ้า จนธรณีสูบนั้น ได้ก่อให้เกิดความสังเวชใจ กลายเป็นเรื่องสนทนากันอย่างกว้างขวางในหมู่พระภิกษุสงฆ์ ตลอดจนประชาชนทั่วไป
พระศาสดาเสด็จออกจากที่บรรทม สดับเสียงสนทนาของภิกษุทั้งหลาย ด้วยพระโสตธาตุอันเป็นทิพย์ จึงเสด็จมายังโรงธรรมสภา ตรัสถามถึงเรื่องที่ภิกษุสนทนากัน ว่า “ภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในชาตินี้เท่านั้น ที่พระเทวทัตพยายามฆ่าคนเป็นอันมาก เพราะผูกเวรในเราผู้เดียว แม้ในชาติก่อน พระเทวทัตก็พยายามทําเช่นนี้” หมู่ภิกษุเกิดความสนใจ ทูลขอให้เล่าเรื่องราวให้ฟัง พระองค์จึงตรัสเล่าเรื่องจันทกุมาร ซึ่งเป็นเรื่องในอดีตชาติของพระองค์ ให้หมู่ภิกษุฟัง
กำเนิดพระจันทกุมาร
ในอดีตกาล สมัยนั้น กรุงพาราณสี มีชื่อว่า “ปุปผวดี” พระราชาผู้ปกครองแผ่นดินพระนามว่า “พระเจ้าวสวัตดี” พระองค์มีพระโอรสนามว่า “เอกราช” เมื่อพระเจ้าวสวัตดีทรงชราภาพแล้ว ได้สละราชบัลลังก์ ทรงอภิเษกพระราชโอรสขึ้นครองราชสมบัติ พระเจ้าเอกราชทรงตั้งพระโอรส พระนามว่า “พระจันทกุมาร” ดํารงตําแหน่งอุปราช ส่วนพราหมณ์ชื่อว่า “ขัณฑหาละ” ผู้เป็นอาจารย์ ทรงตั้งให้เป็นปุโรหิต
ครั้นอยู่ต่อมา พระราชาทรงเห็นว่า ขัณฑหาละ เป็นบัณฑิต มีความรอบรู้ เป็นผู้ถวายอนุศาสน์ อรรถธรรม แด่พระองค์ จึงให้ดํารงตําแหน่งผู้พิพากษาตัดสินอรรถคดีอีกตำแหน่งหนึ่งด้วย ขัณฑหาลพราหมณ์ อาศัยตําแหน่งผู้พิพากษา รับสินบน ใครให้สินบน ก็ตัดสินลําเอียงเข้าหาผู้นั้น
อยู่มาวันหนึ่ง ชายผู้แพ้คดีคนหนึ่ง ไม่ยอมรับในคําพิพากษา จึงยืนด่าอยู่ในศาลที่วินิจฉัยอรรถคดี ครั้นออกมาภายนอก เห็นพระจันทกุมาร จึงเข้าไปเฝ้า กราบลงแทบพระบาท ร้องห่มร้องไห้ ว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากคำพิพากษา ขัณฑหาละปล้นตนในการตัดสินคดี รับสินบนแล้วตัดสินให้ตนแพ้คดีความ
พระจันทกุมารปลอบโยนว่า “อย่ากลัวไปเลย” แล้วพาชายคนนั้น ไปยังศาลที่ทำการวินิจฉัยอรรถคดี ขอให้มีการรื้อฟื้นคดีขึ้นมาพิจารณาใหม่ พระองค์ทรงตรวจสอบหลักฐานแล้ว กลับคำพิพากษา ตัดสินให้ชายคนนั้นเป็นฝ่ายชนะคดี ประชาชนที่มาฟังคําพิพากษาต่างพากันแซ่ซ้องสรรเสริญ ดังกึกก้องไปทั่วพระนคร
พระราชาตรัสถามถึงเสียงโห่ร้องนั้น เจ้าหน้าที่กราบทูลให้ทรงทราบว่า พระราชกุมารตัดสินคดี ด้วยความเที่ยงธรรม ประชาชนจึงส่งเสียงสาธุการ พระราชาทรงปลาบปลื้มพระทัย เมื่อพระจันทกุมารเสด็จมาเฝ้า จึงตรัสถามถึงเรื่องการตัดสินคดีความ ทรงทราบว่า พระราชโอรสมีความยุติธรรม จึงมอบตําแหน่งการตัดสินคดี ให้เป็นผู้รับผิดชอบเพียงผู้เดียว
ด้วยแรงอาฆาต
ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา ขัณฑหาลพราหมณ์สูญเสียผลประโยชน์ที่เคยได้รับจากสินบน จึงผูกอาฆาตพระจันทกุมาร คอยจ้องจับผิดอยู่ ส่วนพระราชา ก็มีพระทัยไม่หนักแน่น
ใกล้รุ่งวันหนึ่ง พระองค์ฝันว่า ได้ทอดพระเนตรเห็นสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มีซุ้มประตู และกําแพง ประดับด้วยแก้ว ๗ ประการ ถนนหนทางราบเรียบงดงาม เวชยันตปราสาทสูงเทียมเมฆ มีสวนนันทวัน มีสระโบกขรณี น่าเบิกบานใจ เกลื่อนกล่นไปด้วยหมู่นางเทพอัปสรฟ้อนรํา ขับร้อง ประโคมดนตรี
ครั้นทรงตื่นบรรทม ประสงค์จะเสด็จไปสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ จึงทรงดำริว่า พรุ่งนี้ เมื่ออาจารย์มาเฝ้า จะถามถึงวิธีการที่จะไปเทวโลก แล้วจะทำตามวิธีที่อาจารย์บอก ทรงสรงสนานแต่เช้าตรู่ เสวยพระกระยาหารแล้ว ประทับนั่งรอพราหมณ์ปุโรหิต
ส่วนขัณฑหาลพราหมณ์ ไปเฝ้าพระราชาแต่เช้า ทูลถามถึงการบรรทมตามธรรมเนียม พระราชา ตรัสถามว่า “อาจารย์ ท่านเป็นผู้ฉลาด รอบรู้ คนทําบุญอย่างไร จึงจะได้ไปสวรรค์”
ที่จริง ปัญหานี้ พระเจ้าเอกราชต้องถามพระสัพพัญญูพุทธเจ้า สาวกของพระพุทธเจ้า หรือไม่ก็พระโพธิสัตว์ แต่พระองค์กลับตรัสถามขัณฑหาลพราหมณ์
ขัณฑหาลพราหมณ์ คิดว่า ได้โอกาสแก้แค้นศัตรูแล้ว เราจะฆ่าพระจันทกุมาร พระราชาตรัสถามถึงทางไปสู่สวรรค์ จึงบอกทางไปนรกว่า “ผู้จะไปเกิดในสวรรค์ ต้องทํา “อติทาน” คือ ทาน ที่ยิ่งใหญ่ กว่าการให้ทานทั้งปวง ต้องฆ่าคนที่ไม่ควรฆ่า”
พระราชาตรัสถามถึงทานที่ยิ่งใหญ่กว่าการให้ทานทั้งปวง เป็นอย่างไร ในโลกนี้ ใครคือคนที่ไม่ควรฆ่า พระองค์จะบูชายัญ ให้ทานตามที่บอกนั้น
ขัณฑหาลพราหมณ์กราบทูลว่า “ต้องบูชายัญ ด้วยการฆ่าพระราชโอรส พระราชธิดา พระมเหสี ชาวนิคม โคอุสุภราช และม้าอาชาไนย อย่างละ ๔ ตลอดจนสัตว์เหล่าอื่นอีก มีช้าง เป็นต้น อย่างละ ๔ ด้วยการตัดหัว เอาถาดทองคํา รองโลหิต เทลงในหลุมยัญ แล้วจะได้ไปเทวโลก การให้อาหาร และเครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น แก่สมณพราหมณ์ คนยากไร้ คนเดินทางไกล วณิพก และยาจก ทําได้ง่าย จึงไม่ได้เป็นทานที่ล่วงล้ำ ไปกว่าการให้ทาน ส่วนการฆ่าบุคคลที่ไม่ควรฆ่า แล้ว บูชายัญด้วยเลือดจากลําคอของคนเหล่านั้น นี้ชื่อว่า “อติทาน” เป็นทานที่ทําได้ยาก เพราะเป็นการสละอย่างยิ่งใหญ่”
การที่ขัณฑหาลพราหมณ์ให้จับคนอื่น ๆ และสัตว์ชนิดต่าง ๆ บูชายัญด้วย เพราะคิดว่า ถ้าจับเฉพาะพระจันทกุมารคนเดียว ผู้คนก็จะคิดว่า ตนผูกอาฆาตพระกุมาร จึงให้จับประชาชนด้วย จะได้ไม่เป็นที่สงสัย
พราหมณ์กราบทูลถามพระราชาว่า “ขอเดชะ พระองค์จะทรงบูชายัญที่ทําได้ยากนี้ได้หรือ” พระราชาตรัสว่า “ท่านเกรงว่า เราจะทําไม่ได้หรือ เราบูชายัญแล้ว จะไปสวรรค์” ขัณฑหาลพราหมณ์ทูลว่า “โดยมาก มนุษย์เป็นคนขี้ขลาด อ่อนแอ จึงบูชายัญไม่ได้ ขอพระองค์ โปรดให้รวบรวมสัตว์ มาชุมนุมไว้ในที่นี้ ข้าพระองค์จะเตรียมหลุมบูชายัญ”
ครั้นพราหมณ์กราบทูลดังนี้แล้ว จึงพาพรรคพวกของตนทั้งหมดเท่าที่มี ออกจากพระนคร ไปเตรียมหลุมบูชายัญ ปรับพื้นที่ให้ราบเรียบสม่ำเสมอ แล้วล้อมรั้วไว้
การที่พราหมณ์ล้อมรั้วหลุมยัญไว้ เพราะเกรงว่า สมณพราหมณ์ หรือผู้มีใจเป็นธรรม มาพบเข้า แล้วจะขัดขวางการกระทํานั้น พราหมณ์ในโบราณกาล จึงบัญญัติกฎการบูชายัญไว้ว่า หลุมยัญต้องล้อมรั้ว จึงจะถูกต้องตามพิธีกรรมแห่งการบูชายัญ
ชาวพระราชวังใน ได้ยินเช่นนั้น ก็พากันตกใจ ต่างโจษจันระเบ็งเซ็งแซ่ กล่าวขานไปทั่วพระราชวังว่า พระราชกุมาร และพระมเหสี จะถูกฆ่าบูชายัญ
ถูกจับบูชายัญ
พระเจ้าเอกราชทรงเรียกทหารมารับสั่ง ว่า “เราฆ่าพระโอรส พระธิดา และพระมเหสี บูชายัญ แล้วจะได้ไปสวรรค์ เจ้าจงไปควบคุมตัวพระจันทกุมาร พระสุริยกุมาร พระภัททเสนกุมาร พระสุรกุมาร และ พระวามโคตรกุมาร มารวมไว้ในที่แห่งเดียวกัน”
พวกทหารไปตําหนักพระจันทกุมารก่อนพระองค์อื่น ทูลให้ทรงทราบว่า “พระบิดา ทรงมีพระประสงค์จะฆ่าพระองค์บูชายัญ แล้วไปสวรรค์ จึงทรงรับสั่งพวกข้าพระองค์ มาควบคุมพระองค์ไป”
เจ้าชายจันทกุมารตรัสถามว่า “ใครแนะนําพระราชา ให้พวกท่านมาจับเรา” ทหารกราบทูลว่า “ขัณฑหาลพราหมณ์ พระเจ้าข้า”
เจ้าชายจันทกุมารตรัสถามว่า “พระองค์ทรงใช้ให้พวกท่าน มาจับเราเพียงคนเดียว หรือให้จับคนอื่นด้วย”
ทหารกราบทูลว่า “พระราชาโปรดให้จับคนอื่นด้วย พระองค์ทรงมีพระประสงค์จะบูชายัญ ด้วยสัตว์ชนิดต่าง ๆ ชนิดละ ๔ ตัว”
พระจันทกุมารคิดว่า พราหมณ์นี้ จองเวรเราคนเดียว มิได้จองเวรคนอื่น แต่เพราะสูญเสียผลประโยชน์จากการตัดสินคดีความ ก็จะฆ่าคนเป็นอันมาก เมื่อเราเข้าเฝ้าพระบิดา คนทั้งหมดก็จะพ้นภัย เจ้าชายจันทกุมารตรัสว่า “ถ้าเช่นนั้น ท่านจงทําตามพระราชบัญชาของพระเจ้าอยู่หัว เถิด” ทหารนําเจ้าชายจันทกุมาร มาประทับที่ท้องสนามหลวง แล้วไปควบคุมตัวพระราชกุมารอีก ๓ พระองค์ มาประทับรวมกัน
จากนั้น พระราชารับสั่งให้ทหารไปนําตัวพระธิดาทั้ง ๔ พระองค์ คือ เจ้าหญิงอุปเสนา เจ้าหญิงโกกิลา เจ้าหญิงมุทิตา และเจ้าหญิงนันทา ให้มาอยู่รวมกันกับพี่ชาย แล้วรับสั่งให้ไปควบคุมตัวพระมเหสี คือ พระนางวิชยา พระนางเอราวดี พระนางเกศินี และพระนางสุนันทา มาประทับรวมกับพระโอรสและพระธิดา
จากนั้น ทรงให้ทหารไปควบคุมตัวเศรษฐีทั้ง ๔ คน คือ ปุณณมุขคหบดี ภัททิยคหบดี สิงคาลคหบดี และวัฑฒคหบดี
เมื่อพระราชาให้ทหารไปจับกุมพระโอรส พระธิดา และพระมเหสีนั้น ทั่วพระนคร ไม่มีใครกล้าเอ่ยปากอะไรเลย
แต่เมื่อพระราชามีรับสั่งให้ควบคุมตัวเศรษฐีมาเท่านั้น ก็เกิดการต่อต้าน เนื่องจากเศรษฐีเป็นตระกูลใหญ่ มีเครือญาติ เพื่อนฝูง เกี่ยวพันกันเป็นอันมาก เมื่อเศรษฐีถูกจับกุมตัว ประชาชนจึงเกิดปฏิกิริยาต่อต้าน พากันกําเริบขึ้น กลายเป็นจลาจลไปทั่วพระนคร ได้มีการนัดชุมนุมกันตามท้องถนน และสวนสาธารณะ ปราศรัยคัดค้านกันว่า “เราจะไม่ยอมให้พระราชาฆ่าเศรษฐีบูชายัญ” แล้วพากันไปห้อมล้อมเศรษฐีเอาไว้ พวกเศรษฐีถูกห้อมล้อมด้วยหมู่ญาติและพวกพ้อง เบียดเสียด เกลื่อนกล่นไปด้วยบุตรและภรรยา รวมตัวกันเดินทางไปถวายบังคมพระราชา ขอประทานชีวิตไว้ แล้วขอให้ประกาศ ให้พวกตนเป็นทาส
แม้พวกคหบดี ตลอดจนบุตร ภรรยา และญาติพี่น้องของเศรษฐี อ้อนวอนขอชีวิตอยู่อย่างนี้ ก็หาได้ทําให้พวกทหารถอยกลับไปไม่ ยังควบคุมตัวเหล่าเศรษฐี ไปนั่งรวมกับพระราชกุมารตามรับสั่ง ของพระราชา
จากนั้น พระราชารับสั่งให้ทหารไปนําช้างต้น ๔ ตัว คือ ช้างอภยังกร ช้างนาฬาคิรี ช้างอัจจุคตะ ช้างวรุณทันตะ ม้าอัสดร ๔ ตัว คือ ม้าเกสี ม้าสุภมุข ม้าปุณณมุข ม้าวินตกะ และโคอุสภราช อีก ๔ ตัว คือ โคยูถปติ โคอโนชา โคนิสภะ โคควัมปติ มารวมกันไว้ ทรงรับสั่งทหารตระเตรียมการทุกอย่างให้พร้อม สําหรับการบูชายัญในวันรุ่งขึ้น ทรงให้แจ้งแก่พระโอรสและพระธิดาว่า วันนี้ จะเป็นวันสุดท้ายแล้ว
ในเวลานั้น พระชนนีและพระชนกผู้ชราภาพของพระเจ้าเอกราช ยังทรงพระชนม์อยู่ทั้ง ๒ พระองค์ พวกอํามาตย์จึงไปเข้าเฝ้ากราบทูลให้ทรงทราบว่า พระราชาทรงประสงค์จะใช้พระโอรส พระธิดา และพระมเหสี เป็นเครื่องบูชายัญ พระราชมารดารําพึงรําพันกรรแสงไห้ ทุบอก คร่ำครวญ เสด็จไปตรัสถามพระเจ้าเอกราชว่า “เขาว่า ลูกจะบูชายัญเช่นนี้ จริงหรือ”
พระราชากราบทูลว่า “เมื่อต้องฆ่าจันทกุมาร หม่อมฉันก็สละลูกทุกคนได้ เมื่อหม่อมฉันบูชายัญด้วยบุตรธิดาแล้ว จะได้ไปสวรรค์”
พระราชมารดาตรัสว่า “ลูกเอ๋ย ลูกอย่าเชื่อคําพูดเช่นนั้นเลย การเอาลูกบูชายัญ เป็นทางไปนรก ไม่ใช่ทางไปสวรรค์ ลูกจงให้ทาน อย่าได้เบียดเบียนสัตว์เลย นี่จึงจะเป็นทางไปสวรรค์” แล้วพระชนนีก็ตรัสเรียกพระราชาโดยประการต่าง ๆ ทั้งโดยนามและโดยโคตร เพื่อให้ได้สติ
พระราชาตรัสว่า “เสด็จแม่ คําแนะนําของอาจารย์ ต้องเป็นจริง หม่อมฉันจะฆ่าจันทกุมาร และ สุริยกุมาร หม่อมฉันจะบูชายัญด้วยบุตร ที่สละได้ยาก”
เมื่อพระราชมารดาทําให้พระราชาเชื่อไม่ได้ ก็กรรแสงไห้เสด็จหลีกไป แม้พระเจ้าวสวัตดี พระราชบิดา ผู้ชราภาพ ได้สดับเช่นนั้น ก็เสด็จมาซักถามเรื่องราวนั้น ทรงห้ามพระราชโอรส แม้พระเจ้าเอกราช ก็ทรงยืนยันเช่นเดิมว่า เมื่อพระองค์บูชายัญด้วยบุตรทั้งหลายแล้ว จะได้ไปสวรรค์
พระราชบิดาตรัสว่า “ลูกเอ๋ย ลูกอย่าได้หลงเชื่อคำพูดเช่นนั้นเลย คนฆ่าลูกแล้ว จะได้ไปสวรรค์ มีที่ไหน ลูกอย่าได้ฆ่าสัตว์ตัดชีวิตเลย จงมีราชบุตรห้อมล้อม ปกครองอาณาประชาราษฎร์ ปกครองกาสิกรัฐ ทำให้บ้านเมืองเจริญรุ่งเรือง โดยธรรมเถิด”
แม้พระราชบิดา ก็ไม่อาจห้ามพระเจ้าเอกราช ให้ทําตามพระราชดํารัสได้
พระจันทกุมารทรงดําริว่า เพราะเราคนเดียว ทําให้ผู้คนเดือดร้อนทั่วทั้งแผ่นดิน เราจะทูลวิงวอนพระราชบิดา ให้ปลดปล่อยอาณาประชาราษฎร์ จึงตรัสว่า “ขอพระองค์ อย่าได้ฆ่าพวกข้าพระองค์เลย โปรดพระราชทานพวกข้าพระองค์ทั้งหมด ให้เป็นทาสของปุโรหิตเถิด ถึงแม้พวกข้าพระองค์ ถูกท่านปุโรหิตจองจําด้วยโซ่ใหญ่ ก็ยังพอจะเลี้ยงช้าง เลี้ยงม้า ขนขี้ช้าง ขนขี้ม้าให้เขาได้ หรือหากเนรเทศพวกข้าพระองค์ออกจากแว่นแคว้น ก็ยังจะเที่ยวขอทานเลี้ยงชีวิตได้”
พระราชาได้ทรงสดับคําพร่ำวอนต่าง ๆ ของพระราชกุมารแล้ว ทรงเกิดความทุกข์ เหมือนอกจะแตก ทรงกรรแสงไห้ประกาศว่า “ไม่มีพ่อคนไหนฆ่าลูกในไส้ของตนได้ เราไม่ต้องการไปสวรรค์แล้ว ลูกพร่ำเพ้อ เพราะรักชีวิต ทําให้พ่อเป็นทุกข์เหลือเกิน พวกท่านจงปล่อยลูกเราเถิด พอกันที กับการเอาลูกบูชายัญ”
ครั้นพวกทหารได้ฟังพระดํารัสของพระราชาแล้ว ต่างก็ดีใจ ปล่อยพระราชบุตร อาณาประชาราษฎร์ ตลอดจนสัตว์ทุกชนิด
ฝ่ายขัณฑหาลพราหมณ์กําลังจัดเตรียมพิธีกรรมอยู่ในหลุมยัญอย่างประณีต ด้วยความรู้สึกสาสมใจว่า ได้แก้แค้นศัตรูแล้ว ทหารคนหนึ่ง ได้มาเย้ยหยันพราหมณ์ว่า “เฮ้ย ขัณฑหาละ ไอ้พราหมณ์ชั่ว พระราชา ทรงให้ปล่อยพระราชโอรส และพระราชธิดาไปแล้วโว้ย แกคงต้องเอา เลือดในคอของลูกเมียแกเอง บูชายัญแล้วละ”
ขัณฑหาลพราหมณ์รู้สึกโมโหสุดขีด คิดว่า นี่พระราชาทำอะไรลงไป ทรงเป็นบ้าไปแล้วหรือไง จึงลุกขึ้นวิ่งไปอย่างรีบเร่ง ราวกับคนถูกไฟประลัยกัลป์แผดเผา กราบทูลว่า “ขอเดชะ ผู้ที่บูชายัญเองก็ตาม แนะนําให้ผู้อื่นบูชายัญก็ตาม และผู้ที่อนุโมทนาผู้บูชายัญก็ตาม ย่อมไปสู่สวรรค์ ข้าพระองค์ทูลไว้ตั้งแต่ทีแรกแล้วมิใช่หรือว่า การบูชายัญเช่นนี้ ทําได้ยาก แต่พระองค์ ก็ยังยืนยันที่จะทํา เมื่อข้าพระองค์ตระเตรียมการบูชายัญไว้เสร็จแล้ว พระองค์กลับทรงล้มเลิกกลางคัน”
พระราชาไม่ทรงทราบว่า ขัณฑหาลพราหมณ์ผูกอาฆาตพระราชกุมาร ทรงเข้าใจว่า การบูชายัญ เป็นความชอบธรรม จึงทรงรับสั่งให้ทหารไปจับกุมพระราชกุมารกลับมาอีก
พระจันทกุมาร กราบทูลว่า “ขอเดชะ เมื่อข้าพระองค์เกิด พระองค์รับสั่งให้พราหมณ์มากล่าวคํามงคลแก่ข้าพระองค์ ก็ในกาลนั้น ขัณฑหาลพราหมณ์นี่เอง ตรวจตราลักษณะของข้าพระองค์ แล้วทํานายว่า พระราชกุมารพระองค์นี้ จะไม่ประสบภยันตรายนานาประการ ในระหว่าง พระราชกุมารพระองค์นี้ จะปกครองรัฐให้เจริญรุ่งเรืองสืบต่อจากพระองค์ คําพยากรณ์ของขัณฑหาลพราหมณ์ ฟังดูแล้ว ไร้เหตุผล ไม่สมกับที่กล่าวไว้ตั้งแต่ต้น โกหก หลอกลวง พระองค์ก็ทรงเชื่อเขา จะฆ่าลูกบูชายัญ โดยหาเหตุอันควรมิได้เลย
ก็แล้วทําไม จึงไม่ฆ่าพวกข้าพระองค์เสียตั้งแต่ยังเยาว์ จะได้ไม่ต้องมาประสบกับความเจ็บปวดใจ เช่นนี้ ครั้นเลี้ยงให้โตเป็นหนุ่มแล้ว มิได้คิดร้ายอะไรพระองค์เลย กลับรับสั่งให้ฆ่าเสีย
ขอพระองค์จงทรงพิจารณาดูเถิด เมื่อบ้านเมืองเกิดศึกสงคราม ชายแดนกระด้างกระเดื่อง มิใช่พวกบุตรเช่นข้าพระองค์หรอกหรือ ที่จะขึ้นคอช้าง ขึ้นหลังม้า มีอาวุธคู่กาย จู่โจมข้าศึกอยู่กลางสนามรบ บุตรเช่นนี้หรือ ที่ควรถูกฆ่าบูชายัญ แม่นกเพียรคาบหญ้ามาทํารัง ก็หวังจะทะนุถนอมลูกน้อยของตน ส่วนพระองค์กลับรับสั่งให้ฆ่าลูกในไส้
พระองค์ทรงเชื่อขัณฑหาลปุโรหิต วันนี้ ขัณฑหาลปุโรหิต ยังไม่ฆ่าพระองค์ เพราะยังมีพวกข้าพระองค์อยู่ แต่เมื่อเขากําจัดพวกข้าพระองค์ได้แล้ว ต่อไปก็จะฆ่าพระองค์ด้วย พระองค์พระราชทานบ้าน นิคม และโภคะ ให้พราหมณ์ แต่พราหมณ์นั้น ก็ยังคิดร้ายผู้ให้ข้าวน้ำเช่นนั้นได้ เพราะโดยมาก พวกพราหมณ์เป็นคนอกตัญญ” แล้วพระจันทกุมาร ก็อ้อนวอนอีกมากมาย
ครั้นพระราชา สดับคําพร่ำกล่าวของพระกุมารเช่นนั้น ก็โปรดให้ปล่อยพวกพระราชกุมารไปอีก
ขัณฑหาลพราหมณ์ มากล่าวอีกเช่นเคยว่า พระราชาทรงประสงค์จะบูชายัญ แต่กลับเป็นผู้สร้างความยุ่งยาก ให้กับพิธี ขอพระราชาอย่าให้มีอะไรมาเป็นอุปสรรคในการบูชายัญเลย ครั้นพระราชาถูกพราหมณ์กล่าวอย่างนี้ เพราะความที่เป็นคนหูเบา จึงรับสั่งให้จับกุมพระราชกุมาร กลับมาอีกครั้ง
พระจันทกุมารจึงย้อนคําพูดของพราหมณ์ว่า “ขอเดชะ ถ้าบูชายัญเช่นนี้แล้ว จะได้ไปสวรรค์จริงตามที่ขัณฑหาลพราหมณ์สอน ก็ให้พราหมณ์นั่นแหละ ทดลองเอาลูกเมียของตนบูชายัญก่อน พระองค์ค่อยบูชายัญภายหลัง แม้โภชนะมีรสอร่อย พระองค์จะเสวย ยังต้องให้คนอื่นลองชิมก่อน ก็นี่ความตายของลูกในไส้แท้ ๆ เหตุไร พระองค์จึงไม่โปรดให้คนอื่นทดลองก่อน
น่าแปลกใจ เมื่อรู้ว่า คนฆ่าบุตรและธิดาแล้ว จะได้ไปสวรรค์ ทำไมพราหมณ์ จึงไม่ฆ่าลูก ภรรยา และพวกญาติของตนเอง ถ้าฆ่าผู้อื่น แล้วจะได้ไปเทวโลก ฆ่าตนเอง คงได้ไปถึงพรหมโลก ฉะนั้น ก็ไม่ต้องฆ่าคนอื่นหรอก ฆ่าตนเองนั่นแหละ ดีที่สุด แต่พราหมณ์นี้ ไม่ทำอย่างนั้น กลับยุให้พระองค์ฆ่าพวกข้าพระองค์ ขอพระองค์ทรงทราบไว้เถิด พราหมณ์นี้ สูญเสียผลประโยชน์ในการตัดสินคดีความ เขาผูกอาฆาตข้าพระองค์ จึงทําเช่นนี้”
แม้พระจันทกุมาร จะกราบทูลเช่นนี้ ก็ไม่ได้ทําให้พระราชบิดาเปลี่ยนความตั้งใจ พระราชกุมาร จึงหันไปตรัสกับประชาชนที่ห้อมล้อมพระราชาว่า “พวกท่านทั้งหลายในพระนครนี้ ก็ล้วนรักลูก ไฉน จึงไม่กราบทูลพระราชา อย่าให้ฆ่าลูกในใส้ แม้เราเองก็ได้ทำประโยชน์ให้แก่พระราชา และได้ทำประโยชน์ให้แก่ประชาชน ทั้งประชาชนในพระนครนี้ ก็ไม่มีใครที่มีความแค้นเคืองต่อเรา แต่ทำไม จึงไม่มีใครช่วยกราบทูลทัดทานพระราชาให้เราเลย”
แม้เจ้าชายจันทกุมาร จะตรัสอย่างนี้ ก็ไม่มีประชาชนคนไหน กล้ากราบทูลทัดทานพระราชา จึงส่งพระชายาของพระองค์ ไปทูลวิงวอนพระราชาว่า อย่าฆ่าพระราชกุมารทั้งหลาย ผู้ไม่คิดทำร้ายต่อพระองค์ ผู้องอาจดุจพญาราชสีห์ ผู้เป็นความหวังของอาณาประชาราษฎร์
พระราชาไม่ทรงทอดพระเนตรดูสตรีเหล่านั้นเลย พระราชกุมารไร้ที่พึ่ง จึงบ่นเพ้อว่า “ทําไม เราจึงไม่เกิดในตระกูลช่างรถ ในตระกูลปุกกุสะ หรือในตระกูลพ่อค้า พระราชาจะได้ไม่รับสั่งให้ฆ่าเราบูชายัญ ทําไมหนอ เราต้องเกิดมาเป็นลูกกษัตริย์”
พระราชกุมารส่งพระชายาไปร้องขอพราหมณ์ว่า พวกเธอจงไปหมอบแทบเท้าท่านอาจารย์ ขัณฑหาละ จงอ้อนวอนว่า “ท่านอาจารย์ พวกเราไม่รู้ว่า มีความผิดอะไร ถ้าจันทกุมารทำอะไรผิดต่อท่าน โดยไม่รู้ตัว ก็ขอท่านยกโทษให้จันทกุมารด้วยเถิด”
จากนั้น เจ้าหญิงเสลาราชกุมารี น้องสาวของจันทกุมาร ผู้ที่พระราชากรุณามาก เห็นพี่ชายถูกนำไปบูชายัญ ไม่อาจอดกลั้นความโศกเศร้าได้ จึงไปกราบลงแทบพระบาทของพระราชบิดาร่ำไห้ คร่ำครวญว่า “เสด็จพ่อ พระองค์ปรารถนาสวรรค์ แล้วทําไม จึงต้องเอาเจ้าพี่ของลูก เป็นเครื่องบูชายัญ” แม้เช่นนั้น พระราชาไม่ทรงใส่ใจคําอ้อนวอนของพระนาง
จากนั้น เจ้าชายวสุละ พระโอรสของพระจันทกุมาร เห็นพระบิดาถูกจองจําได้รับทุกข์ จึงเข้าไปหมอบแทบพระบาทพระราชา กอดเข่าพระอัยกา ทูลวิงวอนขอชีวิตพระบิดา ร้องไห้คร่ำครวญ เกลือกกลิ้งไปมาอยู่เบื้องพระพักตร์ว่า “ขอเดชะ พระอัยกา หลานเป็นเด็ก ยังไม่โตเป็นหนุ่ม ต้องกําพร้าบิดา ขอพระอัยกาอย่าได้ฆ่าพระบิดาของหลานเลย”
พระราชาทรงสดับเสียงคร่ำครวญของหลาน เหมือนพระอุระจะแตก ทรงสวมกอดหลาน มีพระเนตรเต็มไปด้วยพระอัสสุชล ตรัสว่า “หลานรัก อย่าทุกข์ไปเลย ปู่จะปล่อยพ่อเจ้า พ่อเจ้าอยู่นี่ เจ้าจงไปพร้อมกับพ่อ เจ้าร้องอยู่อย่างนี้ ทําให้ปู่ทุกข์เหลือเกิน จงปล่อยพระราชกุมาร เราไม่ต้องการไปสวรรค์แล้ว”
ขัณฑหาลพราหมณ์ ก็มากล่าวอีกว่า ยัญนี้ทำได้ยาก เกิดขึ้นได้แสนยาก ขอจงอย่าให้อะไรมามีอุปสรรคต่อพิธีบูชายัญ แม้พระราชาก็ให้ทหารไปจับกุมพระราชกุมารตามคําของพราหมณ์ กลับมาอีกเหมือนเดิม
พราหมณ์คิดว่า พระราชาพระองค์นี้ เป็นคนใจเบา ประเดี๋ยวให้ปล่อย ประเดี๋ยวให้จับ หากมีเด็กมาอ้อนวอนอีก พระองค์ก็จะปล่อยพระราชบุตร เราจะพาเจ้าชายไปหลุมยัญเสียเลย จึงกราบทูลว่า “ข้าพระองค์ตระเตรียมยัญพร้อมทุกอย่างเสร็จแล้ว สมบูรณ์ด้วยรัตนชาติทั้งปวง บัดนี้ ได้เวลาแล้ว เชิญเสด็จเถิด เชิญพระองค์ทรงบูชายัญ จะได้ไปสวรรค์ บันเทิงพระหฤทัย”
เกิดจลาจลทั่วพระนคร
ในเวลาที่ทหารพาพระโพธิสัตว์ไปหลุมยัญ พระชายาของเจ้าชายจันทกุมาร และเจ้าชายสุริยกุมาร ก็ได้ออกจากพระราชนิเวศน์ เดินทางติดตามไปด้วย มีผมเผ้ารุงรัง ร้องไห้ คร่ำครวญ ต่างบ่นเพ้อรำพันไปตามทางว่าพระจันทรกุมารและพระสุริยกุมารใส่ชุดผ้าขาวจากแคว้นกาสี ใส่ต่างหู ลูบไล้ด้วยกฤษณาและจุณจันทน์ ถูกทหารนำตัวออกไปบูชายัญแล้ว เมื่อก่อนทั้ง ๒ พระองค์ ถูกทหารเชิญเสด็จโดยคอช้าง โดยหลังม้า โดยราชรถคันงาม ประดับด้วยเครื่องทอง แต่วันนี้ พระจันทกุมาร และพระสุริยกุมารทั้ง ๒ พระองค์ เสด็จด้วยเท้าเปล่า พระราชมารดาเป็นทุกข์เหลือเกิน ประชาชนต่างก็โศกเศร้า
เมื่อเจ้าหญิงเหล่านั้น ร้องไห้ คร่ำครวญอยู่ ทหารได้นําตัวเจ้าชายออกจากพระนครไปยังหลุมบูชายัญแล้ว ประชาชนทั่วทั้งพระนคร ชุมนุมประท้วงกัน เกิดจลาจลขึ้น หลั่งไหลออกจากพระนคร ตามเสด็จไปอย่างเนืองแน่น พราหมณ์เห็นฝูงชนมากเกินไป เกิดความหวาดกลัวว่า จะเกิดเหตุร้ายขึ้น จึงสั่งให้ปิดประตูพระนคร
เมื่อประชาชนออกจากพระนครไปที่หลุมยัญไม่ได้ ก็พากันไปชุมนุมในสวนแห่งหนึ่ง ภายในพระนคร ใกล้กําแพง ด้านที่จะประกอบพิธีบูชายัญ ส่งเสียงโห่ร้อง อื้ออึง ฝูงนกพากันตกใจ บินทะยาน ขึ้นท้องฟ้า ฝูงชนเห็นนกแตกตื่น จึงร้องเรียกนกนั้น ๆ พร่ำเพ้อเหมือนคนบ้าว่า “นกเอ๋ย ถ้าพวกเจ้า ต้องการเนื้อ ก็จงบินไปทางทิศตะวันออกแห่งปุปผวดีนคร ที่นั้น พระเจ้าเอกราช ผู้มีพระทัยเบา จะฆ่าพระโอรส พระธิดา พระมเหสี คหบดี ช้าง ม้า โคอุสุภราช และสัตว์อื่น ๆ บูชายัญ”
ประชาชนคร่ำครวญอย่างนี้แล้ว จึงเคลื่อนขบวนไปยังพระตําหนักพระโพธิสัตว์ ทําประทักษิณปราสาท แล้วมองดูพระตําหนัก เห็นเรือนยอด และพระราชอุทยาน ก็รู้สึกเงียบเหงาวังเวงใจ จึงคร่ำครวญโดยประการต่าง ๆ ว่า “นี่ปราสาทของพระองค์ นี่เรือนยอดของพระองค์ ล้วนทําด้วยทองคํา เกลื่อนกล่นด้วยพวงมาลัย งดงามยิ่ง นี่พระราชอุทยานมีดอกไม้บานสะพรั่งตลอดฤดูกาล ทั้งอโศก กรรณิการ์ แคฝอย มะม่วง สระโบกขรณี ดารดาษด้วยดอกบัวหลวง และบัวขาว งดงามวิจิตรด้วยลายเครือวัลย์ น่ารื่นรมย์ใจยิ่งนัก บัดนี้ พระโอรสทั้ง ๔ พระองค์ ถูกเขานําไปฆ่าแล้ว”
ครั้นประชาชนพร่ำเพ้อที่พระตําหนักแล้ว จึงพากันไปพร่ำเพ้อที่โรงช้าง โรงม้าว่า “นี่ช้างแก้ว นี่ม้าแก้ว พระลูกเจ้าเสด็จไปในรถคันนี้ ย่อมงดงามดังเทวดา บัดนี้ พระลูกเจ้าถูกเขานําไปฆ่าแล้ว อย่างไรหนอ พระราชาผู้มีพระทัยเบา จึงจะบูชายัญด้วยลูกในไส้ บ้านเมืองจะว่างเปล่าเงียบเหงา ไร้มนุษย์ พระนครจะกลายเป็นป่าใหญ่”
เมื่อประตูเมืองถูกปิด ประชาชนออกไปข้างนอกไม่ได้ ก็พากันชุมนุมโห่ร้องไปตามท้องถนนภายในพระนคร
ฝ่ายเจ้าชายจันทกุมารถูกนําตัวไปที่หลุมบูชายัญ พระมารดาพระโพธิสัตว์นามว่า “โคตมีเทวี” ซบลงแทบบาทพระราชา เกลือกกลิ้งไปมา ทูลขอประทานชีวิตพระโอรสว่า “หม่อมฉันจะเป็นบ้าแล้ว ถ้าเขาฆ่าลูกจันทกุมาร ชีวิตของหม่อมฉันก็จะหาไม่”
เมื่อพระนางโคตมีเทวีคร่ำครวญอยู่อย่างนี้ พระราชาก็ทรงนิ่ง ไม่ตรัสอะไร พระนางโคตมี จึงบอกลูกสะใภ้ทั้งหลายว่า “ลูกเราโกรธพวกเจ้าแล้วกระมัง จึงหนีจากพวกเจ้าไป เหตุไร พวกเจ้า จึงไม่นําสามีเจ้ากลับมา” เมื่อพระนางฆัฏฎิกา พระนางอุปริกขี พระนางโบกขรณี และพระนางภาริกา ผู้เป็นสะใภ้ ไม่รู้จะทำอย่างไร จึงสวมกอดมารดาพระโพธิสัตว์ ต่างร้องไห้คร่ำครวญอยู่อย่างนั้น
เมื่อพระมารดาพระโพธิสัตว์กับพระสุณิสา ไม่เห็นวิธีอื่นที่ดีไปกว่านี้ จึงกล่าวคาถาสาปแช่ง พราหมณ์ ว่า “ขัณฑหาละ เมื่อจันทกุมาร และสุริยกุมาร ถูกนําไปฆ่า เจ้าได้ฆ่าความหวังของประชาชน เราเกิดความโศกเศร้าใจเช่นไร ขอให้แม่ของเจ้า เมียของเจ้า จงประสบความเศร้าโศก ทุกข์ทรมานใจ เช่นเรา ขอให้แม่ของเจ้า ได้เห็นพวกลูก ๆ ของตน ตายต่อหน้า เช่นกับเรา”
ที่หลุมบูชายัญ แม้พระโพธิสัตว์ก็ทูลวิงวอนพระราชาอีกว่า “ขอพระองค์ อย่าได้ฆ่าพวกข้าพระองค์เลย หญิงผู้ต้องการบุตร แม้จะยากจนข้นแค้นเพียงไรก็ตาม หรือแม้แต่จะเป็นหญิงหมัน มีลูกไม่ได้ ก็ตาม ก็ยังบนบานศาลกล่าว ขอบุตรจากเทวดา บางคนตั้งครรภ์แล้ว ก็ปล่อยให้ลูกแท้ง ส่วนมารดาของหม่อมฉัน ดูแลครรภ์อย่างดี จนลูกเกิดมา แต่พระองค์ กลับรับสั่ง ให้ฆ่าลูกบูชายัญ ขอพระองค์อย่ารับสั่งให้ฆ่าพวกข้าพระองค์บูชายัญเลย”
แม้พระจันทกุมารจะทูลวิงวอนอย่างนี้ พระราชาก็ไม่ตอบอะไร พระโพธิสัตว์จึงหมอบลงแทบพระบาทของพระมารดา พลางร้องไห้ปริเทวนาการ ว่า “พระมารดาต้องทุกข์ทรมานใจ เพราะ เลี้ยงลูกมา ด้วยความลําบาก แต่ต้องมาถูกฆ่า ด้วยเหตุอันไม่ควร ลูกขอกราบพระบาทพระมารดา ขอพระราชบิดา จงได้ไปเทวโลกสมใจเถิด ขอพระมารดาทรงสวมกอดลูก แล้ว ประทานพระบาทให้ลูกได้กราบ บัดนี้ ลูกจะจากไปแล้ว คงทําให้พระมารดาโศกเศร้าตลอดไป”
พระมารดาพระโพธิสัตว์ทรงคร่ำครวญ พร่ำเพ้อว่า “มานี่เถิดลูกแม่ ลูกจงนุ่งผ้ากาสิกพัสตร์เนื้อละเอียด ประดับหัตถาภรณ์ ด้วยเครื่องประดับทองคําฝังมุกดาและแก้ว แม่จะประดับให้ลูกเป็นครั้งสุดท้าย”
บัดนี้ เจ้าหญิงจันทาเทวี ผู้เป็นอัครมเหสีของเจ้าชายจันทกุมาร หมอบลงแทบฝ่าพระบาทของพระราชา พลางพิไรรำพันว่า “พระองค์ไม่ทรงรักลูกแล้วหรือ”
พระราชาตรัสว่า “เรารักลูกทุกคน ไม่ใช่แค่ลูกที่เกิดจากโคตมีเท่านั้น แม้พวกเจ้าผู้เป็นสะใภ้ ก็เป็นที่รักของเราเช่นกัน แต่เราปรารถนาสวรรค์ จึงต้องฆ่าลูกของเรา”
เจ้าหญิงจันทากราบทูลว่า “ขอจงรับสั่งให้ฆ่าลูกเสียก่อน แต่อย่าทำลายดวงใจของลูกเลย ลูกจะได้ไม่เจ็บปวดทุกข์ทรมาน เพราะการจากไปของจันทกุมาร ลูกจะได้ไปอยู่กับจันทกุมารในปรโลก ถ้าพระองค์จะทรงทําบุญให้สมบูรณ์ ก็จงฆ่าหม่อมฉันทั้งสองพร้อมกัน”
พระราชาตรัสว่า “จันทา เจ้าอย่าทําอย่างนี้เลย ถึงเราบูชายัญด้วยบุตรของเราแล้ว พี่ผัว น้องผัวของเจ้า ก็ยังอยู่ จะทุกข์ร้อนไปทำไม เจ้าก็อยู่กับพวกเขาได้”
เมื่อพระราชาตรัสเช่นนั้น เจ้าหญิงจันทาเทวีไม่รู้จะทำอย่างไร จึงเอาฝ่ามือตีตัวเองรําพึงรําพัน ว่า “ทำไมพระองค์ตรัสเช่นนั้นได้ ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะมีชีวิตอยู่อีกต่อไป เราจะดื่มยาพิษ ตายตามจันทกุมารไป ไม่มีพระญาติหรือมิตรสหายคนใดเลย ที่มีหัวใจยึดมั่นในความดีพอ ที่จะกราบทูลทัดทาน ไม่ให้พระราชาฆ่าพระราชโอรส เชิญเถิด นี่ ลูกของหม่อมฉันทุกคน ขอจงเอา ลูกของหม่อมฉันไปบูชายัญด้วย พวกเราจะได้ตายไปพร้อมกัน ถ้าไม่ฆ่าลูกของหม่อมฉัน ก็จงปล่อยจันทกุมาร”
พระนางจันทาเทวีทรงคร่ำครวญเช่นนี้กับพระราชา เมื่อไม่ได้ผลอย่างไร จึงเสด็จไปยืนร้องไห้ อยู่กับพระโพธิสัตว์
เจ้าชายจันทกุมารตรัสปลอบเจ้าหญิงจันทาเทวี ว่า “จันทา เมื่อยังมีชีวิต เราให้อาภรณ์แก่เธอ มากมาย ล้วนแต่ของมีค่า ทั้งแก้วมุกดา แก้วมณี และแก้วไพฑูรย์ แต่วันนี้ เราจะให้อาภรณ์ติดกาย นี่จะเป็นของชิ้นสุดท้าย ที่เราจะให้เธอ”
เจ้าหญิงจันทาเทวีสุดที่จะกลั้นความเศร้าไว้ได้ พระนางร้องไห้พลางรําพันว่า “เมื่อก่อน พระศอพระองค์ สวมมาลาที่เบ่งบาน แต่วันนี้ พระศอพระองค์ จะถูกฟันด้วยดาบอันคม”
ขณะที่พระนางจันทาเทวีคร่ำครวญอยู่อย่างนั้น พิธีการทุกอย่างในหลุมยัญถูกเตรียมเสร็จเรียบร้อยแล้ว พวกอํามาตย์นําพระราชโอรสมา ให้ก้มพระศอ คุกเข่าลงนั่ง ขัณฑหาลพราหมณ์ น้อมถาดทองคําเข้าไปใกล้ แล้วหยิบดาบมาถือ ยืนอยู่ ด้วยตั้งใจว่า จะตัดคอพระราชกุมาร
พระนางจันทาเทวี ผู้เป็นพระราชธิดาของพระเจ้าปัญจาละเห็นดังนั้น ไม่มีที่พึ่งอื่นใดที่จะช่วยให้พระสวามี รอดพ้นจากการถูกฆ่าได้ จึงประคองอัญชลี ดําเนินเวียนไปในระหว่างประชาชน ที่ชุมนุมมุงดูกันอยู่ ทรงกระทําสัจกิริยา ตั้งสัตยาธิษฐานช่วยพระสวามี ว่า “ขัณฑหาละ ได้กระทํากรรมชั่วช้าเหลือเกิน นี่คือความสัตย์จริง ด้วยสัจจวาจานี้ ขอให้ข้าพเจ้า ได้อยู่ร่วมกับพระสวามี ด้วยเถิด อมนุษย์ ยักษ์ ทั้งสัตว์ที่มาเกิดแล้ว และที่กำลังจะมาเกิดก็ตาม เหล่าใด มีอยู่ในที่นี้ ทั้งเหล่าเทพเทวาบรรดามี ขอจงฟังคำของข้าพเจ้า ขอท่านทั้งหลาย จงช่วยเหลือข้าพเจ้า ให้ได้ อยู่ร่วมกับพระสวามี ขอจงคุ้มครองข้าพเจ้า ผู้ไร้ที่พึ่ง ขออย่าให้พวกข้าศึก ชนะพระสวามีของข้าพเจ้าเลย”
พราหมณ์ถูกรุมประชาทัณฑ์
พระอินทร์ทรงสดับเสียงคร่ำครวญของเจ้าหญิงจันทาเทวี ทรงทราบเรื่องนั้นแล้ว จึงฉวยเอาค้อนเหล็กมีเปลวไฟลุกโชติช่วง เสด็จมา กวัดแกว่ง ข่มขู่พระราชา ให้ปล่อยคนทั้งหลาย ว่า “พระองค์ จงจําไว้ อย่าให้เราตีหัวของเจ้าด้วยค้อนเหล็กนี้ อย่าได้ฆ่าลูกผู้ไม่คิดร้ายต่อตัวเอง เจ้าเคยเห็นที่ไหน คนฆ่าลูกฆ่าเมีย แล้วได้ไปสวรรค์”
ขัณฑหาลปุโรหิตและพระราชา ได้ยินเสียงพระอินทร์ ทั้งได้เห็นรูป เกิดความอัศจรรย์ใจ และหวาดกลัว จึงให้ปลดปล่อยสัตว์ทั้งหมด เมื่อสัตว์ทั้งหมด หลุดพ้นจากเครื่องจองจําแล้ว ฝูงชนซึ่งประชุมอยู่ในที่นั้น ก็ลุกฮือกันขึ้น ต่างช่วยกันรุมประชาทัณฑ์ เอาก้อนดิน ก้อนหิน ท่อนไม้ ขว้างปา ขัณฑหาลปุโรหิต จนถึงแก่ความตาย
ครั้นประชาชนรุมประชาทัณฑ์ขัณฑหาลพราหมณ์แล้ว ก็เริ่มกรูกันเข้าไปจะฆ่าพระราชา พระโพธิสัตว์สวมกอดพระบิดาไว้แน่น ไม่ให้ประชาชนทำร้าย ฝูงชนกล่าวว่า “พวกเรา จะไม่ฆ่าพระราชา แต่จะไม่ยอมให้เศวตฉัตร และไม่ยอมให้อยู่ในพระนคร เราจะให้พระราชา เป็นคนจัณฑาล แล้วไล่ให้ออกไปอยู่นอกพระนคร”
ฝูงชนช่วยกันถอดเครื่องทรงของพระราชา ให้สวมเสื้อผ้าย้อมด้วยน้ำฝาด ให้โพกผ้าที่พระเศียร ด้วยผ้าย้อมด้วยน้ำขมิ้น ทำให้เป็นจัณฑาล ส่งไปอยู่ที่หมู่บ้านคนจัณฑาล ส่วนใครที่ร่วมมือในการบูชายัญก็ตาม ใช้ให้บูชาก็ตาม สมรู้ร่วมคิดก็ตาม ให้ประหารชีวิตทั้งหมด
ครั้นจัดการกับคนกาลกิณีทั้งสองนั้นแล้ว ก็นําเครื่องราชาภิเษกมา อภิเษกพระจันทกุมาร ให้เป็นพระราชา ที่หลุมบูชายัญนั่นเอง
เมื่อสัตว์ทั้งปวง หลุดพ้นจากเครื่องจองจําแล้ว ประชาชนต่างโบกผ้าและโบกธง เพื่อประกาศ ความรื่นรมย์ยินดี ขณะที่พระจันทกุมาร เสด็จเข้าสู่พระนคร ต่างโห่ร้องไปตามท้องถนนทุกที่
พระโพธิสัตว์ ทรงเริ่มปฏิบัติบํารุงพระราชบิดา แม้พระราชบิดา ก็ไม่ได้เสด็จเข้าพระนคร เมื่อเสบียงอาหารหมด พระโพธิสัตว์ เสด็จไปปฏิบัติพระราชกรณียกิจในที่ต่าง ๆ ก็เข้าไปเฝ้าพระราชบิดา แต่มิได้ถวายบังคม ฝ่ายพระเจ้าเอกราช กระทําอัญชลี แล้วตรัสว่า “ขอพระองค์ จงทรงมีพระชนม์ยืนนาน พระเจ้าข้า”
เมื่อพระโพธิสัตว์ ตรัสถามว่า “พระบิดาขาดเหลือสิ่งใด” พระเจ้าเอกราชจึงทูลสิ่งที่ต้องการแล้ว พระโพธิสัตว์ ก็โปรดให้ถวายเงินเป็นค่าใช้จ่าย แก่พระบิดา
พระโพธิสัตว์ ครองราชสมบัติโดยธรรม ตลอดมา ครั้นสวรรคต ก็ได้ไปเกิดในเทวโลก
กลับชาติมาเกิดสมัยพุทธกาล
ครั้นพระบรมศาสดาทรงนําพระธรรมเทศนานี้มาแสดง แล้วทรงประกาศอริยสัจว่า “ภิกษุทั้งหลาย ไม่ใช่แต่ในชาตินี้เท่านั้น แม้ในอดีตชาติ พระเทวทัต ก็อาศัยเราเพียงผู้เดียว พยายามฆ่าคนเป็นอันมาก ขัณฑหาลพราหมณ์ ในอดีตชาติ ได้เป็นพระเทวทัต พระนางโคตมีเทวี เป็น พระมหามายา พระนางจันทาเทวี เป็น มารดาพระราหุล พระวสุละ เป็น พระราหุล พระเสลากุมารี เป็น พระอุบลวรรณาภิกษุณี พระสุรกุมาร เป็น พระอานนท์ พระวามโคตร เป็น พระกัสสปะ พระภัททเสนะ เป็น พระโมคคัลลานะ พระสุริยกุมาร เป็น พระสารีบุตร ท้าวสักกเทวราช เป็น พระอนุรุทธะ บริษัทในกาลนั้น ได้เกิดมาเป็นพุทธบริษัท ส่วนพระจันทกุมาร นั้น คือ เรา พระสัมมาสัมพุทธเจ้านั่นเอง”