อยากปฏิบัติธรรมเข้มๆ แต่บางครั้งกิเลสก็หลอกเอาทำไงดี …
มีปัญหาด่วนๆ คาใจแก้ปัญหาไม่ได้ ถามมา
พระมหาขวัญชัย กิตติเมธี เมตตาตอบทุกคำถาม ค่ะ
Question
ถือศีลแปดว่ายน้ำได้ไหมคะ หมายถึงใส่ชุดกีฬาเรียบร้อยค่ะ
Answer โดย พระมหาขวัญชัย กิตติเมธี
ตอบ ก่อนจะตอบคำถามนี้ อยากให้ข้อมูลเกี่ยวกับ ศีล ๘ หรือศีลอุโบสถชัดเจนก่อน จึงขอยกข้อความโดยละเอียดที่ปรากฎในอุโปสถวรรค พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาตว่า
๑. พระอรหันต์ทั้งหลายละเว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ คือ วางทัณฑาวุธและศัสตราวุธ มีความละอาย มีความเอ็นดู มุ่งประโยชน์เกื้อกูลต่อสรรพสัตว์อยู่ตลอดชีวิต แม้เราก็ละเว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ คือ วางทัณฑาวุธและศัสตราวุธ มีความละอาย มีความเอ็นดู มุ่งประโยชน์เกื้อกูลต่อสรรพสัตว์อยู่ตลอดวันหนึ่งและคืนหนึ่งนี้ในวันนี้ เพราะองค์แม้นี้ เราชื่อว่าทำตามพระอรหันต์ทั้งหลายและอยู่จำอุโบสถอุโบสถเป็นอันประกอบด้วยองค์ที่ ๑ นี้
๒. พระอรหันต์ทั้งหลายละเว้นขาดจากการลักทรัพย์ คือ รับเอาแต่ของที่เขาให้ มุ่งหวังแต่ของที่เขาให้ ไม่เป็นขโมย เป็นคนสะอาดอยู่ตลอดชีวิต แม้เราก็ละเว้นขาดจากการลักทรัพย์ รับเอาแต่ของที่เขาให้ มุ่งหวังแต่ของที่เขาให้ ไม่เป็นขโมย เป็นคนสะอาดอยู่ตลอดวันหนึ่งและคืนหนึ่งนี้ในวันนี้ เพราะองค์แม้นี้ เราชื่อว่าทำตามพระอรหันต์ทั้งหลายและอยู่จำอุโบสถ อุโบสถเป็นอันประกอบด้วยองค์ที่ ๒ นี้
๓. พระอรหันต์ทั้งหลายละพฤติกรรมอันเป็นข้าศึกต่อพรหมจรรย์ คือประพฤติพรหมจรรย์ เว้นห่างไกลจากเมถุนธรรมอันเป็นกิจของชาวบ้านอยู่ตลอดชีวิต แม้เราก็ละพฤติกรรมอันเป็นข้าศึกต่อพรหมจรรย์คือ ประพฤติพรหมจรรย์ เว้นห่างไกลจากเมถุนธรรมอันเป็นกิจของชาวบ้านอยู่ตลอดวันหนึ่งและคืนหนึ่งนี้ในวันนี้ เพราะองค์แม้นี้เราชื่อว่าทำตามพระอรหันต์ทั้งหลายและอยู่จำอุโบสถ อุโบสถเป็นอันประกอบด้วยองค์ที่ ๓ นี้
๔. พระอรหันต์ทั้งหลายละเว้นขาดจากการพูดเท็จ คือ พูดแต่คำสัตย์ดำรงความสัตย์ มีถ้อยคำเป็นหลัก เชื่อถือได้ ไม่หลอกลวงชาวโลกอยู่ตลอดชีวิต แม้เราก็ละเว้นขาดจากการพูดเท็จ คือ พูดแต่คำสัตย์ ดำรงความสัตย์ มีถ้อยคำเป็นหลัก เชื่อถือได้ ไม่หลอกลวงชาวโลกอยู่ตลอดวันหนึ่งและคืนหนึ่งนี้ในวันนี้ เพราะองค์แม้นี้ เราชื่อว่าทำตามพระอรหันต์ทั้งหลายและอยู่จำอุโบสถ อุโบสถเป็นอันประกอบด้วยองค์ที่ ๔ นี้
๕. พระอรหันต์ทั้งหลายละเว้นขาดจากการเสพของมึนเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นเหตุแห่งความประมาทอยู่ตลอดชีวิต แม้เราก็ละเว้นขาดจากการเสพของมึนเมาคือสุราและเมรัย อันเป็นเหตุแห่งความประมาทอยู่ตลอดวันและคืนหนึ่งนี้ในวันนี้ เพราะองค์แม้นี้ เราชื่อว่าทำตามพระอรหันต์ทั้งหลายและอยู่จำอุโบสถ อุโบสถเป็นอันประกอบด้วยองค์ที่ ๕ นี้
๖. พระอรหันต์ทั้งหลาย ฉันมื้อเดียว ไม่ฉันตอนกลางคืน เว้นขาดจากการฉันในเวลาวิกาลอยู่ตลอดชีวิต แม้เราก็บริโภคมื้อเดียว ไม่บริโภคตอนกลางคืน เว้นขาดจากการบริโภคในเวลาวิกาลอยู่ตลอดวันหนึ่งและคืนหนึ่งนี้ในวันนี้ เพราะองค์แม้นี้ เราชื่อว่าทำตามพระอรหันต์ทั้งหลายและอยู่จำอุโบสถ อุโบสถเป็นอันประกอบด้วยองค์ที่ ๖ นี้
๗. พระอรหันต์ทั้งหลายละเว้นขาดจากการฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมดนตรี ดูการละเล่นอันเป็นข้าศึกแก่กุศล การทัดทรง ประดับ ตกแต่งร่างกายด้วยพวงดอกไม้ ของหอม และเครื่องประทินผิวอันเป็นลักษณะแห่งการแต่งตัวอยู่ตลอดชีวิต แม้เราก็ละเว้นขาดจากการฟ้อนรำขับร้อง ประโคมดนตรี ดูการละเล่นที่เป็นข้าศึกแก่กุศล การทัดทรงประดับ ตกแต่งร่างกายด้วยพวงดอกไม้ ของหอม และเครื่องประทินผิวอันเป็นลักษณะแห่งการแต่งตัวอยู่ตลอดวันหนึ่งและคืนหนึ่งนี้ในวันนี้เพราะองค์แม้นี้ เราชื่อว่าทำตามพระอรหันต์ทั้งหลายและอยู่จำอุโบสถ อุโบสถเป็นอันประกอบด้วยองค์ที่ ๗ นี้
๘. พระอรหันต์ทั้งหลายละเว้นขาดจากที่นอนสูงและที่นอนใหญ่ นอนบนที่นอนต่ำ คือ บนเตียงหรือบนที่นอนที่ปูลาดด้วยหญ้าอยู่ตลอดชีวิตแม้เราก็ละเว้นขาดจากที่นอนสูงและที่นอนใหญ่ นอนบนที่นอนต่ำคือ บนเตียงหรือบนที่นอน ที่ปูลาดด้วยหญ้าอยู่ตลอดวันหนึ่งและคืนหนึ่งนี้ในวันนี้ เพราะองค์แม้นี้ เราชื่อว่าทำตามพระอรหันต์ทั้งหลายและอยู่จำอุโบสถ อุโบสถเป็นอันประกอบด้วยองค์ที่ ๘ นี้
จากข้อความทั้งหมดนี้ เราอาจพิจารณาได้ว่า ไม่ได้กล่าวถึงการว่ายน้ำว่าผิด จึงไม่จำเป็นต้องพิจารณาว่าใส่ชุดเรียบร้อยจะผิดได้ ถ้าเป็นการถือปกติก็ถือว่า ทำได้ ไม่มีปัญหา แต่ถ้าถือเอาแบบละเอียด และพิจารณาอย่างละเอียด จะพบว่า
ก. ข้อความว่า “เราชื่อว่าทำตามพระอรหันต์ทั้งหลายและอยู่จำอุโบสถ” การปฏิบัติตามศีล ๘ นั้นจึงเป็นการทำตามพระอรหันต์จึงถือว่าเป็นการทดสอบการใช้ชีวิตแบบอริยะที่ประเสริฐ มีกิริยามารยาทสำรวมระวัง มีชีวิตที่ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ไม่ฟุ้งเฟ้อตามกิเลส ตามความต้องการหรือความอยาก
ข. ศีล ๘ นั้นสัมพันธ์กับสังคม และตัวเอง
โดยศีล ๔ ข้อแรกสัมพันธ์กับบุคคลรอบข้าง คือทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น และทำให้จิตใจตัวเองเศร้าหมอง ขณะที่อีก ๔ ข้อหลังเป็นการฝึกปฏิบัติต่อตนเอง
ผู้ที่ถือได้ ๔ ข้อแรกนั้นถือว่าทำให้สังคมอยู่ในความสงบ แต่อีก ๔ ข้อหลังนั้นเป็นเรื่องปฏิบัติเพื่อฝึกตนเอง นั้นถือว่าเป็นการฝึกให้เข้าใจความพอดีในชีวิต ได้รู้ว่าอะไรเป็นส่วนเกินที่ชีวิตอาจไม่ได้ต้องการจริงๆ แต่เป็นความอยากเท่านั้นที่ทำให้เราต้องมี ต้องเป็นแบบนั้น และได้รู้อีกว่าว่าชีวิตไม่ยุ่งเกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้ก็อยู่ได้ และจะได้ไม่สร้างความลำบากให้ตนเองในการแสวงหาจนลืมสิ่งที่สำคัญ เช่น ความดี เป็นต้น ในชีวิตจริงๆ ไป และเป็นการฝึกเพื่อลดละในสิ่งที่เกินพอดี หรือเกินกว่าความเป็นจริงในชีวิตไป
สรุปคือ ศีล ๘ นั้นเป็นการฝึกตนเองตามแบบพระอรหันต์หรือพระอริยะที่มีกิริยามารยาทสำรวมระวัง ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น อีกทั้งยังเรียนรู้ที่จะเข้าใจความพอดีในชีวิต นำตัวเองไปสู่ความพอดี ไม่เกินเลยจากความจำเป็น
จากข้อสังเกตนี้จะพบว่า การว่ายน้ำหรือเล่นน้ำนั้นเป็นสิ่งจำเป็นหรือไม่
ขอยกสัก ๒ กรณี
กรณีที่ ๑ ในวัตถูปมสูตรว่าด้วยข้ออุปมาด้วยผ้า ในพระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่าถึงสุนทริกภารทวาชพราหมณ์กราบทูลว่า “ท่านพระโคดม คนจำนวนมากถือกันว่า แม่น้ำพาหุกาให้ความบริสุทธิ์ได้ คนจำนวนมากถือกันว่า แม่น้ำพาหุกา เป็นบุญสถาน อนึ่ง คนจำนวนมากลอยบาปกรรมที่ตนทำแล้วในแม่น้ำพาหุกา” พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า “พราหมณ์ ท่านจงอาบน้ำในศาสนาของเรานี้เถิด ท่านจงทำความปลอดภัยในสัตว์ทั้งปวงเถิด ถ้าท่านไม่พูดเท็จ ไม่เบียดเบียนสัตว์ ไม่ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ มีความเชื่อไม่ตระหนี่ ท่านจะไปยังท่าน้ำคยาทำไม แม้การดื่มน้ำจากท่าน้ำคยาจักมีประโยชน์อะไรแก่ท่าน”
กรณีที่ ๒ ในหัสสธัมมสิกขาบท ว่าด้วยการเล่นนํ้า ในพระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ภาค ๒ กล่าวถึง “ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์ เพราะเล่นน้ำ ที่ชื่อว่า เล่นน้ำ เพราะสาเหตุทำให้เกิดความรู้สึกต่อคนที่พบเห็นว่าไม่เหมาะสม ไม่สมควร คือ ภิกษุประสงค์จะเล่นน้ำจึงดำลง ผุดขึ้น หรือลอยในนํ้าลึกพอท่วมข้อเท้า ต้องอาบัติปาจิตตีย์” แต่มีเหตุที่ไม่ถือว่าผิด คือ ภิกษุไม่ประสงค์จะเล่นน้ำ ๒. ภิกษุลงน้ำแล้วดำลง ผุดขึ้น หรือลอยในนํ้าเมื่อมีเหตุจำเป็น ๓. ภิกษุจะข้ามฟากจึงดำลง ผุดขึ้น หรือลอยในนํ้า ๔. ภิกษุผู้ว่ายน้ำในคราวมีเหตุขัดข้อง
ถ้าเราปฏิบัติตามแบบพระอรหันต์ แม้จะถือศีล ๘ ก็ต้องคิดว่า การที่เราว่ายน้ำหรือเล่นน้ำนั้นกรณีแรกอาจจะไม่ต้องกล่าวถึง เพราะน้อยมากที่เราจาอบน้ำด้วยคิดแบบนั้น
แต่กรณีที่ ๒ นั้นชัดเจนว่า การที่เราถือศีล ๘ ย่อมไม่ต่างจากการปฏิบัติตามแบบอย่างที่พระอรหันต์ปฏิบัติมา ไม่ใช่เป็นข้อห้าม แต่เป็นข้อปฏิบัติที่ฝึกตนเองให้เห็นว่า ทุกอย่างที่จะทำนั้นต้องไม่เกินเลยจากปกติ แม้เราจะชื่อว่าไม่ได้ถือศีลอย่างพระภิกษุ แต่ลองนึกภาพดูว่าผู้ที่ถือศีล ๘ ยังปฏิบัติตนแบบเดิม ไม่ได้ฝึกเพื่อเรียนรู้ชีวิตแบบพอดี หรือมองว่าอะไรจำเป็น อะไรไม่จำเป็น ยังคงเล่น เที่ยวหรือใช้ชีวิตแบบที่ไม่ได้ฝึกตามแบบอย่างที่พระอรหันต์หรือพระอริยะท่านปฏิบัติกัน
อย่างนี้แม้เราจะชื่อว่า ผู้รักษาศีลอุโบสถได้ แต่เป็น “ศีลอุโบสถแบบธรรมดา”
แต่ถ้าจะรักษาศีลอุโบสถอย่างเคร่งขรัดที่เรียกว่า “อริยอุโบสถ” คืออุโบสถแบบพระอริยะ ก็ต้องทำตามแบบอย่างที่พระอรหันต์หรือพระอริยะท่านปฏิบัติตนนั่นเอง
เจริญพร
พระมหาขวัญชัย กิตฺติเมธี